12/14/07

Werner Schroeter เดชแห่งจัดจ้าน ตอน 1 (Filmvirus Special)

Werner Schroeter - เดชแห่งจัดจ้าน (ตอน 1)

Filmvirus Special*

แปลจากภาษาเยอรมันโดย เฉิดฉวี แสงจันทร์
พิมพ์ครั้งแรกที่นี่ นิมิตวิกาล - filmvirus








(หมายเหตุ: ส่วนใหญ่ผลงานของ ชเรอเท่อร์ เป็นหนังสี แต่ภาพประกอบผลงานแรก ๆ ของเขาที่ ฟิล์มไวรัส หาได้นั้นนำมาจากภาพในนิตยสาร)

แวร์เนอร์ ชเรอเท่อร์ (หรือออกเสียง ชรือเตอร์) เป็นผู้กำกับเยอรมันที่อุดมไปด้วยความขัดแย้ง เพราะทั้งได้รับความศรัทธาอย่างสูงในเยอรมนี แต่ขณะเดียวกันก็เป็น 1 ในผู้กำกับเยอรมันที่ถูกมองข้ามบ่อยที่สุดในประเทศตัวเอง (ทำนองเดียวกับ Herbert Achternbusch, Helma Sander Brahms, Helke Sander, Robert Van Ackeren ฯลฯ) อีกทั้งยังเป็นคนทำหนังเยอรมันที่นานาชาติมีโอกาสได้ทำความรู้จักน้อยที่สุดคนหนึ่ง (อาจจะยกเว้นก็แต่ในฝรั่งเศส และญี่ปุ่นเท่านั้น) ต่อให้ใครต่อใครตั้งแต่ ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์, แวร์เนอร์ แฮร์โซก หรือกระทั่ง วิม เวนเดอร์ส ซึ่งเป็นหัวกะทิของ New German Cinema ต่างก็ยกย่องเขาเป็นเบอร์ต้น ๆ ของบรรดาคนทำหนังเยอรมัน ขนาดที่ ฟาสบินเดอร์ ยังเคยประกาศว่า คงมีสักวันที่โลกจะตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของ ชเรอเท่อร์














ชเรอเท่อร์ ทำหนังและกำกับละครโอเปร่าในลีลาสุดขั้ว แสดงออกทางสีสันอารมณ์อย่างสุดสวิง ห่างไกลจากความเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด การบอกเล่าถึงหนังผิดประหลาดพิลึกพิลั่นของเขา โดยที่ผู้ชมไม่มีโอกาสรับรู้ด้วยตนเอง นั้นดูจะเป็นไปไม่ได้เลย
หลายคนอาจขลาดแขยงกล่าวว่าดั่งนั้นจะสรรมาหาประโยชน์ใด แต่นั่นแหละหนาคือ ทุกข์และกรรมของผู้อ่าน ฟิล์มไวรัส ที่ล้วนครั้งหนึ่งเคยประสบเคราะห์แสวงหนังหาชมยากจากหนังสือ ฟิล์มไวรัส เล่มก่อน ๆ แต่แล้วไง หนังเฒ่าทารก ฌอง-ลุคโกดาร์, ลามะอังเดร ( ทาร์คอฟสกี้) - หนุ่มเรื้อน จอห์น วอเตอร์ส หรือ มือกระบี่สันโดษ มิเคลันเจโล อันโตนีโอนี่ ก็มีดีวีดีให้เกลื่อนกลาด สุดแต่ใจใฝ่แสวง ขนาดหนัง เฟรด เคเลเม็น กับ นีน่า เม็นเคส ไม่มีออกแผ่น เพื่อนเราก็ยังอุตส่าห์ร่อนไอพ่นล่ำบิ๊กมาให้ชมถึงในโรงภาพยนตร์เอสพลานาดซีเนเพล็กซ์


เทศกาลหนัง ชเรอเท่อร์ ในแบบเกือบครบชุด พร้อมกับตัวจริงที่เดินทางมาไทย เคยจัดฉายที่สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ ฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว และในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทาง ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ก็เคยนำฟิล์ม 16 มม. มาจัดฉายให้ชมกันไปบางเรื่อง เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร้านเฮมล็อค (Malina กับThe Death of Maria Malibran) หวังว่าในโอกาสหน้าที่ต่างประเทศคงจะมีหนังของเขาผลิตจำหน่ายในรูป DVD บ้างในเร็ววัน
แต่ข่าวดีก็คือเมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว (2006) ได้มีหนังสือวิเคราะห์งานของ ชเรอเท่อร์ ออกจำหน่ายเป็นเล่มแรกในภาษาอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า Allegorical Images: Tableau, Time and Gesture in the Cinema of Werner Schroeter ของสำนักพิมพ์ Intellect Ltd. แต่งโดย Michelle Langford ซึ่งนับว่าออกช้าไปถึง 2 ทศวรรษ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ ถ้าคำนึงถึงว่า แม้กระทั่งขณะนี้หนังของชเรเทอร์ ก็ไม่เคยถูกซื้อไปจัดจำหน่ายในรูปแบบใด ๆ ในอเมริกา









ชเรอเท่อร์ เคยร่วมแสดงในหนังสั้นเรื่อง Alabama: 2000 Light Years ของ วิม เวนเดอร์ส ส่วน ดาเนี่ยล ชมิด (Daniel Schmid) ผู้ร่ายบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ก็เป็น 1 ในผู้กำกับหนังอาร์ตเฮ้าส์ของเยอรมนีเช่นกัน อีกทั้งยังเคยทำหนังกับ ชเรอเท่อร์ และร่วมแสดงใน The American Friend ของ เวนเดอร์ส อีกด้วย
-บันทึกโดย Filmvirus -
บทสัมภาษณ์ แวร์เนอร์ ชเรอเท่อร์ (Werner Schroeter)
โดย ดาเนียล ชมิด (Daniel Schmid)
(บทสัมภาษณ์นี้ประมาณปี 1980)





เป็นหน้าที่ทางสังคมของศิลปะหรือที่จะไม่เข้าหาสังคม แต่ต่อต้านสังคมหรือไม่ข้องเกี่ยวกับสังคมเลย พูดง่ายๆก็คือ หน้าที่ทางสังคมที่คุณกำลังทำอยู่นี้คือการที่จะต่อต้านสังคม หรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคมหรือ
มีคำพูดของใครสักคนที่ผมเห็นว่าดีมากๆคือ ในสังคมวัตถุนิยมชนชั้นกลางนั้นมีฐานะสองอย่างที่ยังคงมีขอบเขตของเสรีภาพอยู่บ้าง คือของอาชญากรและของศิลปิน และผมเห็นด้วยเต็มกับความเห็นที่ว่าฐานะทั้งสองนี้มีขอบเขตที่ก้ำกึ่งกันอยู่ และไม่ใช่เพราะการมีอาชีพทางศิลปะเป็นเรื่องแปลกพิเศษอะไรเลย อย่างที่เราก็ได้เห็นตัวอย่างกันในเยอรมันตะวันออกสมัยเป็นคอมมิวนิสต์ว่า ศิลปะสามารถถูกทำให้เป็นงานราชการได้เมื่อประชาชนไม่เรียกร้องในสิ่งที่เหมาะควร และมีการจำกัดขอบเขตที่ได้ผล

......คือ ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะแสดงออกถึงการโหยหาในชีวิตที่มีอยู่ของเขา ซึ่งจริงๆแล้วการโหยหาก็คือความปรารถนานั่นเอง...ผมเชื่อว่าความปรารถนาแต่ต้นของมนุษย์มีจุดหมายอยู่ที่ความรู้สึกในชีวิตที่เป็นสุขสนุกสนานหรืออะไรๆ แบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ แต่มนุษย์จะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ถ้าการติดต่อมีสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นเป็นไปได้ด้วยดี ในความหมายแท้ๆ และดั้งเดิมของคำว่า “สังคม” ผมจึงไม่เห็นว่าศิลปะเป็นเรื่องของการต่อต้านสังคม

ผมเห็นศิลปะเป็นการจัดตั้งทางสังคมดังในกรีกโบราณ ผมเห็นศิลปะเป็นความวิบัติหายนะของการโหยหาที่ไม่เคยได้สัมผัสในชีวิต แต่ผมเห็นว่าอาชีพที่มีลักษณะสร้างสรรค์ก็เป็นศิลปะด้วยเหมือนกันสำหรับผม การสร้างถนน การประดิษฐ์เครื่องยนต์ การค้นพบเพนนิซิลินรักษาซิฟิลิสหรือโรคจากแบคทีเรียอื่นๆนับพันโรค ผมถือว่านั่นเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมเป็นที่สุด มันต้องแยกกันให้ออกระหว่างขอบเขตของงานทางสังคมที่จำกัดตายตัวแน่นอนตามความหมายของสังคมเรา และจินตนาการว่าสังคมมนุษย์ควรเป็นอย่างไรเป็นคำจำกัดความ

และถ้ายึดเอาอย่างหลังเป็นเกณฑ์ ผมขอพูดว่าศิลปะผูกพันปนเปอยู่ในเรื่องราวทางสังคมเต็มที่ ดั่งอาชญากรรมที่เป็นการแสดงออกของความรู้สึกอัดอั้นตันใจในสังคมอย่างอาจหาญมากกว่าการซื้อรถเบ๊นซ์รวดเดียวสามคันอะไรแบบนั้น อย่างเช่นว่าถ้าผมตะโกนด่าใครสักคนว่า “ไม่เห็นหรือวะว่าเอ็งทำไม่เป็น ไอ้โง่” แล้วเขาฉวยมีดมาตัดคอหอยผมเข้า ผมจะถือว่านั่นเป็นการแสดงออกของชีวิตทางสังคมที่สำคัญมากกว่าการที่เขาจะไปเขกหัวลงเอากับลูกน้องหรือกับเมีย – ที่สอดคล้องกับสังคมแบบวัตถุนิยมที่ผัวเมียต่างเพศกัน

ผมเชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ ทางเพศนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับลัทธิวัตถุนิยมอย่างมาก และพร้อมที่จะจินตนาการถึงสิ่งที่ปรารถนาในแง่ของวัตถุแค่นั้น ผมจึงคิดว่าการชอบเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ดึงดูดใจสำหรับคนที่เรียกกันว่า “ศิลปิน” เพราะพวกนี้เป็นพวกที่ปฏิเสธระบบที่ให้คุณค่าทางวัตถุแต่เดิมอยู่แล้ว ที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งสำหรับคนที่มีจิตใจสร้างสรรค์ก็จะเริ่มพัฒนาการต่อต้านขึ้นในใจกับการที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับหญิงในฐานะที่ตนเป็นชายตามคุณค่าปกติธรรมดาในสังคมที่เรามีชีวิตอยู่ และต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

เท่าที่ผมเห็น การรักร่วมเพศไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางจิตวิทยา แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางสังคมต่อสิ่งแวดล้อมแบบวัตถุนิยม เพราะฉะนั้นการรักร่วมเพศเลยพบได้บ่อยมากขึ้นในแวดวง “พวกศิลปินที่มีชื่อ” ที่จริงๆ แล้วก็มีมาแต่โบราณกาลโดยตลอด...อย่างไรก็ดี ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะเนื้อแท้ทางจิตที่ละเมียดละไมกว่าทางสังคมที่ทำให้เราทำไป ที่เราไม่ยอมรับมันก็เพราะสังคมที่เรามีชีวิตอยู่ได้เรียบเรียงการบรรลุเป้าทางสังคมเหล่านี้มาเป็นข้อเรียกร้อง และด้วยเหตุนั้นเองที่คนจะสร้างสรรค์ได้

.. คนจะสร้างสรรค์ได้ก็เพราะมีการโหยหาไขว่คว้าควบคู่ไปกับการปฏิเสธ การโหยหาคว้าไขว่จะพัฒนาตัวของมันเองขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิเสธสภาพรอบๆ ตัวที่เรามีชีวิตอยู่ ถ้าผมพึงพอใจในสังคมที่เป็นอยู่โดยไม่มีความหวังในชีวิต ผมก็จะไม่มีเรื่องที่โหยหาอยากไขว่คว้าให้ได้มา และก็จะไม่พัฒนาในทางกามสุนทรีย์อย่างมากก็แค่เรื่องทางเพศที่ดำเนินไปตามแบบที่ว่า เรากินขนมปังก้อนนี้วันนี้ พรุ่งนี้ก็จะกินก้อนนี้อีก และมะรืนนี้เราจะเดินทางไปพักร้อนกันตามระบบที่เป็นอยู่













เราจะนำช่วงเวลาที่ก้าวร้าวหรือเต็มไปด้วยความก้าวร้าวทั้งหมดมาใช้ได้ไกลขนาดไหนเพื่อที่จะผลักดันให้ขบวนการสร้างสรรค์ก้าวไปข้างหน้า










ผมเชื่อว่าความก้าวร้าวถ้าไม่สูญเสียความรู้สึกร่วมต่อสิ่งต่างๆรอบข้าง คือไม่แยกออกไปอย่างโดดเดี่ยวแล้ว ย่อมเป็นขบวนการที่มีค่ามาก ผมไม่มีความข้องใจในการใช้ความก้าวร้าว แต่ต้องไม่ใช่แบบ “ฉันตกต่ำเพราะไอ้ห่าคนนั้น ฉันจะฆ่ามัน” นั่นไม่ใช่ความก้าวร้าวแต่เป็นเรื่องของการเยียวยาทางสังคม

การปฏิเสธความก้าวหน้าอาจจะมีลักษณะก้าวร้าวได้
นั่นเป็นความก้าวร้าวในแง่ลบ เราสามารถตอบโต้การปฏิเสธแข็งขืนด้วยความเฉยเมยหรือความเป็นมิตรได้...ความเฉยเมยเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดที่ทำได้..สำหรับผมแล้วความเฉยเมยเป็นการวางตัวที่มีเหตุจากคนอื่นที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม หรือใครก็ตามที่สำหรับคุณเป็นคนที่น่ากลัวตั้งแต่ต้น หมายความถึงมีอันตรายสำหรับคุณ

...ความเฉยเมยเป็นส่วนที่แข็งแรงของระบบที่ฝังลึกลงไปในทางลบ มันเป็นเรื่องของการไม่ตัดสินใจ เป็นอาการตามสัญชาตญาณ แม้ว่าสังคมอุตสาหกรรมจะไม่มีสัญชาตญาณตามความหมายดั้งเดิมเหลืออยู่อีกแล้ว ความเฉยเมยสำหรับผมคือการอ้างถึงความเป็นธรรมชาติที่ผิดๆ ที่สูญไปนานแล้ว ไม่มีทางเป็นไปได้ในการที่จะทำเฉยเมยไม่รู้ไม่ชี้ในโลกปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมองเห็นตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม

ในยามที่ลัทธิต่างๆ อ่อนแรงลง(ยกเว้นของคอมมิวนิสต์)ที่คนแต่ละคนจะถูกคุกคามผ่านระบบกดขี่ที่ยิ่งสมบูรณ์แบบมากขึ้นทุกที กระบวนการทางศิลปะก็จะต้องถูกนำทางในการค้นหาความสมบูรณ์สูงสุดอย่างเต็มกำลังยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามการเมืองถูกทำให้มีอำนาจที่สมบูรณ์แทนความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างคน จนทำให้เกิดหายนะอย่างเช่นการเมืองของฮิตเล่อร์ที่มุ่งเป้าหมายแก้ปัญหาตอนจบซึ่งหมายถึงการรวบอำนาจสมบูรณ์ เราจะสามารถพูดถึงการเมืองที่ถูกจูงใจด้วยความสุนทรีย์ได้มากแค่ไหน
สำหรับผม การเมืองของ ฮิตเล่อร์ ในประการแรกเป็นเรื่องการรับมือกับความขัดแย้ง หมายความว่าการชี้ให้เห็นโลกเป็นสีดำขาวตัดกันเพื่อที่เราจะสามารถรับรู้ถึงสีขาวได้ การเมืองเรื่องแบ่งแยกเชื้อชาติมีฉากหลังทางจิตวิทยานับได้เป็นพันอย่าง เช่นว่าความขัดแย้งเรื่องยิวกับพลังอำนาจที่เพิ่มขึ้นถูกนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องทางการค้าด้วย

...นี่คือความกลัวธรรมดาๆ ต่อการสูญเสียสภาพความเป็นจริงไปที่รุนแรงมากในหมู่ชนที่เน้นอย่างเป็นบ้าเป็นหลังถึงการขัดแย้งทางอำนาจ ซึ่งได้ถูกประเพณีของสังคมเรานั่นเองสร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพราะการมีอำนาจกลายเป็นคุณค่าที่พึงปรารถนาที่ตั้งไว้เป็นเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายความรัก สำหรับผม ฮิตเล่อร์ คือคนที่พยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการโกลาหลอลเวง (อย่างในละครหุ่นกระบอกของตัวตลกคัสเปอร์) ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณขั้นผิดปกติ แม้ว่าเท่าที่เห็นเขาก็ไม่ตรงกับภาพพจน์เลย
ปกติธรรมดาเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในวงครอบครัวเท่านั้น แบบ..ถ้าฉันทำให้มันแข็งขึ้นไม่ได้ก็กลายเป็นคนอื่นผิด ถ้าสังวาสไม่ได้ก็เป็นความผิดคนอื่นไป นี่คือแนวคิดทั้งหมดของฮิตเล่อร์และมันก็ได้ผลเต็มที่ เพราะดูแล้วก็ไม่มีใครในเยอรมันที่สังวาสเป็น ด้วยเหตุนี้เองปัญหาการไร้พลังความสามารถจึงถูกผลักไสไปสู่คำถามเรื่องเชื้อชาติได้อย่างง่ายดาย แต่แน่ละว่าการสูญเสียสภาพความเป็นจริงที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นเป็นตัวผลักดันอยู่เบื้องหลัง เพราะว่านั่นคือการสูญเสียสภาพความเป็นจริงทั้งมวลแท้ๆ ถ้าคิดว่า ฉันสามารถแก้ปัญหานั้นได้ถ้าฉันฆ่าประชาชนและก็จัดการฆ่าหมู่ขึ้นมา
(กรุณาอ่านต่อ ตอนที่ 2: http//twilightvirus.blogspot.com/2007/12/werner-schroeter-2.html)

No comments: