12/14/07

รักทั้งหลายใน ‘รักแห่งสยาม’

รักของตัวละครทั้งหลายใน ‘รักแห่งสยาม’
โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’
kalapapruek@hotmail.com


น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรกเลยกระมัง ที่แม้ว่ามันจะมีข้อบกพร่องชวนให้วิพากษ์วิจารณ์มากมายขนาดไหน แต่ด้วยพลังแห่งความบริสุทธิ์จริงใจที่หนังมีอยู่อย่างล้นหลาย กลับทำให้ผู้เขียนจำต้องวางปากกาเลิกคิดที่จะตำหนิติติงใด ๆ เพื่อจะได้ปล่อยใจติดตามเรื่องราวของตัวละครอย่างใกล้ชิด คุณสมบัติวิเศษที่ทำให้ ‘รักแห่งสยาม’ เป็นงานที่น่าประทับใจเสียยิ่งกว่าหนังไทยเรื่องไหน ๆ ก็คือความมีชีวิตจิตใจของตัวละครนำเกือบทั้งหมด ที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าพวกเขามีตัวตนโลดแล่นอยู่รอบตัวเราจริง ๆ มิได้เป็นเพียงตัวละครที่ทำหน้าที่ส่งทอดเรื่องราวให้ดำเนินไปอย่างที่จะเห็นได้บ่อยครั้งในหนังเรื่องอื่น ๆ และเมื่อพวกเขาเหล่านั้นสามารถก้าวพ้นจากการเป็นตัวละครในหนังธรรมดา ๆ กลายมาเป็นบุคคลที่มีลมหายใจกันจริง ๆ ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนไม่สามารถจะไปถือสาหาความกับความลักลั่นไม่สมบูรณ์ในเรื่องราวชีวิตของพวกเขาอีกได้ นอกจากจะร่วมสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขามีต่อกันฉัน ‘มนุษย์’

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้เอง ผู้เขียนจึงจำต้องขออนุญาตละเว้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของเนื้อหาและการกำกับ แล้วหันมาบอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อตัวละครทั้งหลายที่ได้ผลัดกันมาเรียงร้อยให้ ‘รักแห่งสยาม’ กลายเป็นอีกบทหนึ่งแห่งความน่าภูมิใจที่พิสูจน์แล้วว่า หนังไทยก็สามารถที่จะ ‘ละเอียดอ่อน’ ได้ไม่แพ้หนังชาติไหน ๆ เหมือนกัน

มิว เด็กหนุ่มจิตใจดีที่หลงใหลในเสียงดนตรี เขาได้รับการปลูกฝังจาก ‘อาม่า’ ผู้มีความเชื่อว่า เราสามารถบอกกล่าวความในใจต่าง ๆ ผ่านเสียงเพลงได้ ดังที่อากงของมิวเคยใช้เสียงเปียโนแสดงความคิดถึงต่ออาม่า ด้วยความผูกพันที่มีต่ออาม่าอย่างลึกซึ้ง ทำให้ มิว ไม่ยอมย้ายไประยองกับพ่อแม่หลังอาม่าตาย แต่เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงลำพัง เขาได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนจนมีโอกาสได้ออกอัลบั้ม แต่เมื่อผู้จัดการสั่งให้ทางวงแต่งเพลงเกี่ยวกับความรัก ความคิดสร้างสรรค์ของมิวก็ถึงกับตีบตัน แรงบันดาลใจหนึ่งเดียวที่จะทำให้เขาสามารถแต่งเพลงนี้ได้ ก็คือการได้สัมผัสกับความรักด้วยตัวของเขาเอง

โต้ง เด็กชายที่เติบโตมาในครอบครัวคาทอลิกที่อบอุ่น เขาอาศัยอยู่กับพ่อ แม่ และ ‘แตง’ พี่สาว แถมยังเป็นเพื่อนบ้านของมิว แต่เมื่อแตงได้หายตัวไปจากการเดินป่ากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ครอบครัวของโต้งก็ร่ำที่จะแตกสลาย พวกเขาต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่เพื่อลืมเหตุการณ์ในอดีต ความเจ็บปวดนี้ทำให้โต้งไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต เป็นผลให้เขาต้องเผชิญกับความรู้สึกสับสนภายในใจอยู่ตลอดเวลา

อาม่า หญิงชราที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูให้ความอบอุ่นแก่มิวเสมอมา ก่อนที่จะต้องจากเขาไปในช่วงที่มิวกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจฝังลึกให้กับมิวได้รุนแรงนัก



หญิง เด็กสาวข้างบ้านที่แอบหลงรักมิววัยหนุ่มอย่างหัวปักหัวปำ เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มิวหันมาสนใจเธอ

โดนัท แฟนสาวของโต้งที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และต้องการให้โต้งให้ความสำคัญแก่เธออยู่ตลอดเวลา

กร พ่อของแตงและโต้ง ที่ต้องกลายเป็นคนขี้เหล้า หลังจากรับไม่ได้ที่ตนเองเป็นเหตุให้แตงต้องหายสาบสูญ

สุนีย์ แม่ของแตงและโต้ง ที่นอกเหนือจากจะต้องทำใจกับการจากไปของลูกสาวแล้ว เธอยังต้องแบกรับภาระในการดูแลทั้งสามีขี้เหล้าและลูกชายวัยรุ่นอีกด้วย

จูน หญิงสาวผู้ดูแลวงของมิวที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับแตงราวกับเป็นคนคนเดียวกัน จูนรับข้อเสนอของสุนีย์ด้วยการแสร้งรับบทบาทเป็น แตง เพื่อทำให้ กร มีอาการดีขึ้น เป็นเหตุให้เธอได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านของโต้ง

***** บทวิเคราะห์ตัวละครต่อไปนี้ มีการเปิดเผยความลับของหนัง *****
แม้ว่า ‘รักแห่งสยาม’ จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้อย่างหลากหลาย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องราวความสัมพันธ์ของ มิว และ โต้ง ดูจะเป็นประเด็นที่สำคัญและสร้างความแปลกใหม่ให้กับตัวหนังได้มากที่สุด มิว เป็นเด็กหนุ่มที่มีจิตใจรักชอบเพศเดียวกัน เขารู้สึกผูกพันกับ โต้ง มาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก ๆ เมื่อเขาได้กลับมาพบกับ โต้ง อีกครั้ง เขาจึงไม่ลังเลที่จะเลือกโต้งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพลงรักบทใหม่ที่เขากำลังจะแต่งขึ้น ในขณะที่ โต้ง อาจจะยังแลดูสับสนอยู่กับจิตใจของตนเองอันเป็นผลมาจากความทุกข์โทมนัสในครอบครัว เขารู้ดีว่า โดนัท ไม่ใช่คนที่เขาจะมีความสุขด้วยได้ แต่ความรักความห่วงใยที่เขาได้รับจากมิวต่างหากคือสิ่งที่เขาต้องการในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้เองโต้งจึงไม่สามารถจะหาคำตอบให้ตัวเองได้เสียทีว่าเขา ‘เป็น’ อะไรกันแน่ จริงอยู่ที่โต้งอาจมิได้เกิดความรู้สึกใด ๆ เมื่อได้สวมกอดกับหญิง แต่ในเมื่อสิ่งที่เขาต้องการคือ ‘ความรัก’ มิใช่ ‘ความใคร่’ เขาจึงควรเลือกที่จะอยู่กับคนที่สามารถมอบความรู้สึกอันล้ำค่านี้ให้แก่เขาได้มากกว่ามิใช่หรือ? แม้ว่าใครคนนั้นจะเป็น ‘ผู้ชาย’ เหมือนกับเขาก็ตาม



ความรักความผูกพันระหว่าง มิว และ โต้ง ดูจะเป็นส่วนที่ละมุนละไมมากที่สุดในหนัง เมื่อพวกเขาต่างก็มีในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังต้องการ ถึงแม้ว่าฉาก ‘จูบ’ ของทั้งคู่อาจจะดูเลยเถิดไปยังเขตแดนของความกำหนัดใคร่ที่อาจจะทำให้หลาย ๆ คนต้องบ่ายหน้าหนี แต่ด้วยความไม่ประสีประสาที่ทั้งคู่แสดงออกมา มันก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วว่าจูบนั้นมันก็เป็นเพียงแค่การทดลองของโต้งเพื่อหาคำตอบให้ตัวเองอีกวิธีหนึ่งเท่านั้น เพราะเขาเองก็ให้คำตอบกับมิวไม่ได้เหมือนกันว่า ณ เวลานั้นเขารู้สึกอย่างไร การแสดงของน้องวิชญ์วิสิฐ และ น้องมาริโอ้ ของหนังในช่วงนี้ ทำได้ดีชนิดที่นักแสดงรุ่นพี่ ๆ ควรจะต้องศึกษาเป็นตัวอย่างกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะน้องมาริโอ้ผู้รับบทเป็นโต้งที่สามารถสะท้อนความรู้สึกสับสนว้าวุ่นในจิตใจผ่านทางสีหน้าและแววตาได้อย่างดิบดีแถมยังมีมิติเชิงลึก ส่วนน้องวิชญ์วิสิฐเองก็รับบทเป็น มิว เด็กหนุ่มผู้อ่อนไหวแต่หัวใจเต็มไปด้วยความอบอุ่นได้ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในฉากสำคัญที่เขาร้องเพลง ‘กันและกัน’ ให้กับโต้งด้วยเสียงของตัวเองนั้นมันช่างซาบซึ้งได้พลังเกินกว่าจะหาคำมาพรรณนากันจริง ๆ



ข้างฝ่ายสองสาววัยรุ่นซึ่งอาจจะมีบทบาทน้อยกว่า แต่ก็เรียกได้ว่ายังมีความน่าสนใจอยู่ในตัวเหมือนกัน ก็คือ ตัวละคร ‘หญิง’ และ ‘โดนัท’ สำหรับ หญิง นั้น ดูจะเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการทั้งทางด้านความรู้สึกและความลึกทางการแสดงได้มากกว่าใครเพื่อน จากเด็กสาวบ๊องแบ๊วที่วัน ๆ ก็เอาแต่หาวิธีการไร้สาระที่จะทำให้มิวหันมาสนใจเธอให้ได้ แต่ทันทีที่เธอรู้ความจริงเกี่ยวกับ มิว หญิง ก็เปลี่ยนมาเป็นตัวละครที่มีมิติน่าสนใจได้อย่างผิดหูผิดตา ช่วงที่เธอพยายามช่วยให้ มิว กับ โต้ง ได้สมหวังในความรักซึ่งกันและกันนั้น เธอซ่อนความเจ็บปวดร้าวลึกไว้ใต้ใบหน้าเปื้อนยิ้มได้อย่างน่าเห็นใจเหลือเกิน ส่วน โดนัท นี่ผู้เขียนต้องขอนับถือผู้กำกับ ชูเกียรติ จริง ๆ ที่กล้าเลือกเอาเด็กสาวรูปสวยที่วัน ๆ เอาแต่แต่งเนื้อแต่งตัวและมองเห็นชายหนุ่มเป็นเพียงเครื่องประดับเดินได้ที่จะต้องมีไว้ข้างกายอยู่ตลอดเวลา มาเป็นตัวละครคู่ขั้วกับ หญิง โดนัท น่าจะเป็นตัวแทนของเด็กสาวที่พบเห็นได้แถวสยามโดยทั่วไป ที่ถือเอารูปโฉมภายนอกเป็นเรื่องใหญ่โดยไม่สนใจว่าภายในจะกลวงโบ๋ขนาดไหน ผู้เขียนยังนึกไม่ออกเลยจริง ๆ ว่าถ้าผู้หญิงอย่างโดนัท ได้มาเห็น ‘ตัวเอง’ ในหนังเรื่องนี้แล้วพวกเธอจะมีความรู้สึกอย่างไรกันบ้าง

ตัวละครสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ สุนีย์ แม่ที่แม้ว่าอาจจะแลดูแข็งกร้าวไปบ้างในบางช่วง แต่มันก็เป็นความแข็งกร้าวอันจำเป็นที่จะทำให้เธอประคับประคองครอบครัวต่อไปได้ สินจัย รับบทเป็นสุนีย์ ได้อย่างดีเยี่ยมโดยไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในช่วงตอนที่เธอไม่ได้พูดจาอะไร แต่แววตาของเธอกลับบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้อย่างหมดจดครบถ้วน ฉากเรียกอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถออกตามหาโต้ง บทสนทนากับมิว และช่วงที่เธอต้องยิ้มรับคำตอบจากลูกชายข้างต้นคริสต์มาส สินจัยก็สามารถทำให้เรารู้สึกถึงคำว่า ‘หัวอกแม่’ ได้จนไม่อาจจะฝืนน้ำตา จะมีเพียงแค่บางช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ที่บทหนังหรือผู้กำกับเองไม่ได้ให้รายละเอียดเชิงบุคลิกแก่สุนีย์อย่างเพียงพอ แต่สินจัยก็ยังใช้ความเป็นมืออาชีพมาช่วยกลบช่องว่างเหล่านั้นได้จนไม่มีอะไรน่าเกลียด

รายที่ดูเป็นปริศนาและช่วยสร้างกลิ่นอายแบบเหนือจริงในเรื่องราวที่เน้นความสมจริงได้อย่างมีสีสันก็คือ จูน ผู้ดูแลวงที่มีใบหน้าคล้ายแตงราวกับถอดมาจากพิมพ์เดียวกัน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือเธอเหมือนจะรู้เรื่องราวรายละเอียดในอดีตของครอบครัวนี้อย่างที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ แม้ว่าในตอนจบหนังเหมือนจะบอกอย่างกลาย ๆ ว่า จูน ไม่ใช่ แตง แต่จากข้อความ ปล. ส่งท้ายที่เธอเขียนถึงสุนีย์ ว่า “ฉันไม่ใช่คนที่คุณคิดหรอก” ก็ยังชวนให้สงสัยขึ้นมาได้อีกว่า “คนที่คุณคิด” นั้น คือ แตง หรือจูน กันแน่? แต่ถ้าเป็นอย่างหลังนี่หนังก็คงจะหนักหน่วงขึ้นอีกอักโขหากตัวละครอย่าง ‘แตง’ เลือกที่จะทิ้งครอบครัวนี้ไปมีชีวิตของตัวเองจริง ๆ แม้โดยโครงเรื่องแล้วบทบาทของ จูน หรือ แตงในคราบของจูนจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า ‘ของขวัญ’ ที่มิวนำพามาให้ครอบครัวของโต้งในช่วงเวลาของเทศกาลคริสต์มาส แต่ด้วยความโดดเด่นทางการแสดงของ เฌอมาลย์ ก็ยังทำให้บทบาทลึกลับนี้มีอะไรที่ชวนให้ติดตามได้อย่างน่าสนใจ


ตัวละครเพียงสองรายที่ผู้เขียนรู้สึกมีปัญหาไม่สามารถจะมีความรู้สึกร่วมไปด้วยได้ ก็คือ กร และ อาม่า ซึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากตัวบทเองที่จัดวางตัวละครไว้ค่อนข้าง over เกินความจริงไปสักนิด ตัวละคร กร ดูจะจ่อมจมอยู่กับความผิดในอดีตมากเกินไปจนดูไม่สมเหตุสมผลทางจิตวิทยา ส่วน อาม่า เองก็ยังแลดูเป็นตัวละครในอุดมคติจนไม่สามารถรู้สึกได้ถึงความมีชีวิตจิตใจ ยิ่งได้รับแรงหนุนจากการแสดงแบบประดิษฐ์ฟูมฟายไร้มิติเชิงลึก ของทั้ง ทรงสิทธิ์ และ พิมพ์พรรณ ด้วยแล้ว ทำให้ตัวละครที่ควรจะมีน้ำหนักสำคัญทั้งสองนี้ยังไม่สามารถก้าวข้ามจากการเป็นตัวละครถ่ายทอดเรื่องราวมาเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจจริง ๆ เหมือนตัวละครอื่น ๆ ที่รายล้อมได้เลย

นอกเหนือจากตัวละครหลักแล้ว ตัวละครประกอบทั้งหลายอย่างน้อง ๆ วง August และ กลุ่มเพื่อนของโต้งและหญิง ก็ยังมีส่วนช่วยเติมสีสันและความไพเราะให้กับหนังได้อย่างมีชีวิต พวกเขาล้วนแสดงออกและพูดคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติราวกับกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในสยามสแควร์กันจริง ๆ แถมยังทำหน้าที่ถ่ายทอดมิตรภาพแห่งความเป็น ‘เพื่อน’ ที่คอยดูแลห่วงใยให้ความสำคัญกันยามที่ใครคนใดกำลังจมอยู่ในห้วงทุกข์ได้อย่างอ่อนโยน



แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจต่อ ‘รักแห่งสยาม’ มากที่สุด ก็คือ พลังแห่งการมองโลกในแง่ดี ที่สะท้อนถึงความบริสุทธิ์อ่อนใสในวัยเยาว์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจยิ่งนัก ผู้เขียนเพิ่งจะรู้สึกตัวเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ว่าตนเองได้ห่างเหินจากการมองโลกในแง่ดีเช่นนี้มาเป็นเวลานาน อาจจะด้วยประสบการณ์ในวัยผู้ใหญ่ที่ทำให้บางครั้งเราต้องทำความรู้จักกับการมองโลกในมุมร้ายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานระวังระไว แต่การได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้กลับทำให้ช่วงเวลาในวัยเยาว์เก่า ๆ เหล่านั้นได้หวนคืนกลับมาอีกครั้ง ‘รักแห่งสยาม’ จึงเป็นหนังที่จะต้องดูด้วยสายตาของ ‘วัยรุ่น’ อย่างแท้จริง วัยที่สามารถมองเห็นถึงคุณค่าความหมายอันบริสุทธิ์ใสซึ่งซุกซ่อนอยู่ในท่วงทำนองของเพลง pop ที่เรียบง่าย แต่จะฝังลึกอยู่ในใจเราตลอดไปตราบชั่วกาลนาน . . .

บทความโดย กัลปพฤกษ์
พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ FLICKSTICAL หนังสือพิมพ์ FLICKS ฉบับที่ 219 วันที่ 7-13 ธันวาคม 2550

4 comments:

FANCY_JOY said...

อ่านแล้วอยากดูจังเลยจ๊ะ จอยฟังวิทยุจากเมืองไทย ได้ยินคนคุยกันฮือฮาชื่นชมหนังเรื่องนี้มากๆ แต่ก็ได้ยินหลายฝ่ายบ่นตรึมเหมือนกันว่าเป็นหนังเกย์นะ ฝ่ายที่รักหนังก็บอกว่ามันไม่ใช่หนังเกย์ (โว้ย) มันเป็น coming of age ต่างหาก

ได้ยินเพื่อนคนนึงเล่าเหมือนกันว่า มีผู้ชมในโรงส่วนหนึ่งเดินออกจากโรงด้วย ตอนที่มีฉาก "เกย์ๆ" (จอยยังไม่ได้ดูนะก็เลยไม่รู้ว่าเป็นไง) แย่อ่ะ คนไทยบางกลุ่มชอบ sensitive เกิน

Filmvirus said...

คนไทยมีข้อแม้เยอะ อย่างหนังเก่าไป พระเอกนางเอกหน้าเกลียด ไม่เคยได้ยินชื่อหนัง ตัวอย่างไม่น่าสนใจ ซีจีเอฟเฟคท์น้อยไป ไม่มันส์ หนังสยองขวัญทำไมผีไม่ออกสักที ฉายไกลบ้านไปลำบาก ไม่มีคนไปดูเป็นเพื่อน หรือเพื่อนกับเว็บบอกไม่ได้เรื่อง รอเช่าแผ่นคุ้มกว่า

สำหรับคนชอบดูหนังฮอลลีวู้ดคลาสสิก ได้ยินคำว่าเก่าไปนี่ซึ้งกินใจหรือยัง

Filmvirus said...

อ้อ พี่ไปดู I am Legend มาแย้ว โอเค ตื่นเต้นพอใช้ได้ ถึงจะมีตอนขัดหูขัดตาบ้าง แย่ตรงที่ว่าหนังมันออกมาหลัง 28 Weeks Later, The Descent, Children of Men พวกผีกัดอย่ากัดตอบหลังโลกแตกมันคล้ายกันมาก

แต่ภาพเมืองนิวยอร์คไม่มีคนนี่โรแมนติคดี ไม่แน่นะ ถ้าพี่เป็น วิล สมิธ อาจจะชอบอยู่ที่นั่นก็ได้

อ้อ คราวนี้ก็ขายนาฬิกา แต่เป็นยี่ห้อ แฮมิลตั้น ของอเมริกา ในแฮนด์บิลโฆษณาหราเลย สงสัยเพราะพระเอกพึ่งนาฬิกาเป็นสำคัญ ลืมไปแล้วว่าฉบับชาร์ลตั้น เฮสตั้น แสดงใช้นาฬิกาหลายฉากหรือเปล่า

ไม่รู้ว่าคนทำเป็นญาติกับ โรเบิร์ต เดอ นีโร เปล่า หรือเป็นมุขวงใน เพราะมีฉากที่ วิล สมิธ เปิดตู้แล้วเห็นรูป Goodfellas กับแผ่นพับ Tribeca เพราะหนังก็เกี่ยวข้องกับย่าน Tribeca ที่เดอนีโรมีออฟฟิศ และจัดเทศกาลหนัง Tribeca ด้วย

FANCY_JOY said...

อ้าว ไปดู I am Legend มาแล้วเหรอจ๊ะ เอ้อจริงอย่างที่พี่ว่านะ มันออกมาหลังหนังพวกยุค apocalyptic คนดูก็เลยไม่ฮือฮา จอยว่าเนื้อเรื่องเนี่ย บางคนอาจจะบ่นๆ ว่าคล้ายกับ 28 days later เลยมั้งเนี่ย (คนรอดชีวิตคนเดียว เมืองร้าง ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด)

นิวยอร์คที่ไม่มีคน พี่ว่าโรแมนติคเหรอ จอยว่าสำหรับพี่สนนะ เมืองไหนก็ได้ที่ไม่มีคน มีแต่หนัง หนังสือ ก็โรแมนติคสำหรับพี่ทุกเมืองแน่เลย

ว่าแล้วเชียวว่ามันต้องมี product placement น่าสังเกตุนะพี่ว่า พวกหนังแอ็คชั่นเนี่ย ไม่นาฬิกาก็ต้องเป็นรถ อย่างอื่นมันแทรกสินค้าลำบาก (เอ้อ มือถือ ก็น่าจะได้)