3/29/10

สั่งซื้อ นารีนิยาม bookvirus ฟุ้ง 07


สั่งซื้อ นารีนิยาม - bookvirus ฟุ้ง 07

update 19 กรกฏาคม 2553

4 + 1 = 5 เรื่อง (เพิ่มเรื่องสั้นของ มาร์การ์เร็ต แอ็ตวูด จากแคนาดา แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง) 


เบิกม่านเรื่องสั้นหญิงเกินนิยาม  ต่อเนื่องจากเล่ม bookvirus ฟุ้ง 06 ก่อนหน้า - นางเพลิง

4 เรื่องของนักเขียนตัวจริงที่อยากให้คุณรู้จัก

4 บุญ 4 บาปจาก ญี่ปุ่น, อิหร่าน, บราซิล, อเมริกา  

1. นักว่ายน้ำ มิแรนดา จูลาย (แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร)
2. เกมที่ค้างคา โกลี ทารากี (แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง)
3. ม้าน้ำ ฮิโรมิ คาวาคามิ (แปลโดย มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ )
4. ลอกลายกุหลาบ แคลริซ ลิสเปคเตอร์ (แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์)

* * * พิมพ์จำนวนจำกัด เริ่มวางขายแล้ววันที่ 19 กรกฏาคม  - นารีนิยาม วางจำหน่ายเฉพาะที่ร้าน คิโนะคุนิยะ ห้างพารากอน และอิเซตัน (ราชประสงค์) * * *

3/25/10

นารีนิยาม bookvirus ฟุ้ง 07

นารีนิยาม bookvirus ฟุ้ง 07  

update 19 กรกฏาคม 2553

4 + 1 = 5 เรื่อง - เพิ่มเรื่องสั้นของ มาร์การ์เร็ต แอ็ตวูด จากแคนาดา แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง


เบิกม่านเรื่องสั้นหญิงเกินนิยาม  

4 นักเขียนตัวจริงที่อยากให้คุณรู้จัก

4 บุญ 4 บาปจาก ญี่ปุ่น, อิหร่าน, บราซิล, อเมริกา  

1. นักว่ายน้ำ มิแรนดา จูลาย (แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร)
2. เกมที่ค้างคา โกลี ทารากี (แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง)
3. ม้าน้ำ ฮิโรมิ คาวาคามิ (แปลโดย มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ )
4. ลอกลายกุหลาบ แคลริซ ลิสเปคเตอร์ (แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์)


ผ่านร้านหนังสือใกล้บ้าน อย่าลืม `bookvirus ฟุ้ง 06 “เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” ฉบับครบรอบ 100 ปีเรื่องเขย่าขวัญอมตะของ แอลเจอร์นอน แบล็ควูด สำนวนแปลอลังการของ แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks

และอย่าทอดทิ้งสาวอาภัพ “นางเพลิง” bookvirus ฟุ้ง 05 
3 เรื่องสั้นหญิงเกินขีดปรอทจากจีน, อังกฤษ และ เกาหลี 
ช่วยอุดหนุนสาวตาดำ ๆ “นางเพลิง” bookvirus ฟุ้ง 05 รวมทั้ง นารีนิยาม ได้ที่ร้าน คิโนะคุนิยะ ทั้ง 2 สาขา คืออิเซตัน เซ็นทรัลเวิล์ด และสาขาห้างพารากอน เริ่มจาก 19 กรกฏาคม เป็นต้นไป

หนังนักเรียนแลกเปลี่ยนกันดู ครั้งที่ 5


หลังจากคราวที่แล้วเจอสถาการณ์บ้านเมืองจนต้องเลื่อนไป ฟิ้วแคมป์ 34 ได้วันใหม่แล้วจ้า

มีนาคมนี้ขอเปิดพื้นที่ให้กับเหล่า นักเรียน-นักศึกษา

เหล่านักเรียน นักศึกษา ที่มีผลงานภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น, เอ็มวี, สารคดี, หนังทดลอง, แอนิเมชั่น, วิดีโออาร์ต, โมชั่นกราฟฟิก แล้วมีเวทีอยากโชว์ผลงานของตัวเองก็เชิญที่งานนี้ หลังจากฉายผลงานเสร็จ ก็จะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ร่วมงานอื่นๆ แบบกันเอง สบายๆ ชิลล์ๆ 

ส่วนใครไม่มีผลงาน แต่อยากมาดูเฉยๆ หรือมาร่วมแลกเปลี่ยน ก็ตามสบายเลยจ้ะ

ฟิ้วแคมป์ 34 : หนังนักเรีนแลกเปลี่ยนกันดู ครั้งที่ 5

วันพุธที่ 31 มีนาคม 2553

(ขออภัยที่ต้องเป็นวันพุธ แต่เนื่องจากคิวของ TK PARK ค่อนข้างแน่น และช่วงนี้ปิดเทอมอยู่ หวังว่าจะมีน้องๆ มาร่วมงานนะครับ)

ณ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ ห้องมินิเธียเตอร์ 2

เริ่มงานเวลา 13.00 เป็นต้นไป

งานนี้ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ขอแค่มากับตัวและผลงานก็พอ!!

ดูราย ละเอียดที่นี่จ้ะ
http://www.fuse.in.th/node/2835

 
ใคร สนใจมาร่วมงาน โปรดอ่านกฏิกาเล็กน้อย

* ผลงานไม่ควรยาวเกิน 10-15 นาที เพราะไม่งั้นจะกินเวลาคนอื่นเค้าน่ะจ้ะ ถ้ายาวเกินรบกวนตัดตัวทีเซอร์มา หรือใช้วิธี skip ตอนฉาย

* ทางทีมงานจะทำการเปิดหนังผ่านเครื่อง Notebook หากเป็นไปได้กรุณาตรวจสอบไฟล์ผลงานหรือแผ่นดีวีดีมาจากบ้านให้เรียบร้อย 

* อากาศในห้องค่อนข้างหนาว พกเสื้อหนาวมาด้วยก็ดีครับ 


ฟิ้ว แคมป์ คืออะไร?

ตอบ: ฟิ้วแคมป์ คือ เวทีเปิดกว้างให้ทุกคนได้มาโชว์ผลงานภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น หนังสั้น, เอ็มวี, สารคดี, โมชั่นกราฟฟิก ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นผลงานเลิศอลัง หรือผลงานแบบบ้านๆ เราก็ยินดีต้อนรับหมด ส่วนใครไม่มีงานมาแสดง ก็สามารถมาชม + แลกเปลี่ยนความเห็นได้จ้ะ

ฟิ้วแคมป์จะจัดเดือนละ 1 ครั้ง ประมาณเสาร์ที่สามของทุกเดือน โดยตอนนี้สถานที่หลักคือ TK PARK 

ฟิ้วแคมป์ บางทีก็จะมีธีมประจำเดือน (เช่น ความรัก, สยอง, เอ็มวี, สารคดี ฯลฯ) หรือบางทีก็อาจจะไม่มี ซึ่งรายละเอียดก็ติดตามได้ที่หน้านี้แหละจ้ะ

อ้อ! ข้อสำคัญ งานนี้ฟรีตลอดโปรแกรม (เย้)

แล้วพบกันนะครับ ^^ 

ติดตาม 'ฟิ้ว' ได้ที่ http://www.fuse.in.th

3/21/10

เว็นดิโก้ ฉบับครบรอบ 100 ปี และ ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ bookvirus + filmvirus

2 หนังสือใหม่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีนาคม 2553

ระหว่างเดือนสองเดือนนี้ ฟิล์มไวรัส และ บุ๊คไวรัส กำลังจะมีหนังสือใหม่ออกวางแผง เล่มแรกเป็นหนังสือแปลใหม่เอี่ยมของ แดนอรัญ แสงทอง ส่วนอีกเล่ม ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ เป็นเล่มที่ถูกดองไว้นาน ตั้งแต่งานหนังสือคราวก่อน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

เว็นดิโก้ ฉบับครบรอบ 100 ปี - หนังสือแปลเล่มใหม่ของ แดนอรัญ แสงทอง 

bookvirus ฟุ้ง 06 “เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” ฉบับครบรอบ 100 ปี 

“เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” เป็นหนังสือของ แอลเจอร์นอน แบล็ควูด ที่ แดนอรัญ แสงทอง ชื่นชมและอยากแปลมานาน จนเมื่อได้แปลแล้วก็เห็นว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต บัดนี้สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์และ bookvirus ได้ร่วมใจกันนำเสนอในโอกาสครบรอบ 100 ปีของหนังสือเล่มนี้ (1910-2010) ตัวเรื่องนั้นมีที่มาจากตำนานปรัมปราที่เล่าขานกันมานานเกี่ยวกับอสูรร้ายโฉบกระชากวิญญาณในป่าหิมะ ซึ่งชาวป่าต่างคุ้นเคยกันดี แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นหน้าตาแล้วรอดชีวิตกลับมาเล่าสู่กันฟัง 

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ: ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์
Filmvirus Collection 

จัดทำโดย สนธยา ทรัพย์เย็น, ทีฆะเดช วัชรธานินท์ และ กัลปพฤกษ์

รวมบทสัมภาษณ์คนทำหนังอิสระไทย 11 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ชัยชนะเล็ก ๆ ของคนทำหนังไทยนอกระบบสตูดิโอ 

ร่วมด้วยบทความแนะนำการติดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ลักษณะเฉพาะของแหล่งทุนแต่ละแห่ง พร้อมแนะนำตัวอย่างหนังนานาชาติที่ได้รับทุน

‘ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ’ เล่มนี้ แม้จะเป็นเกี่ยวกับคนทำหนังไทยล้วน ๆ แต่ก็น่าจะเหมาะอ่านเสริมกับ “ฟิล์มไวรัส เล่ม 5 – ฉบับ ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” ซึ่งเป็นเรื่องของคนทำหนังอินดี้ชาวต่างชาติได้พอเหมาะ (และแม้ไม่มี FILMVIRUS ออกมาอีกก็พอเรียกได้ว่าจบสวย) เพราะ ‘ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ’ เล่มนี้นั้นแตกต่างจาก ฟิล์มไวรัส เล่มก่อน ๆ ทั้งหมด ตรงที่ไม่ได้เจาะจงพูดถึงหนังเฉพาะในแง่สุนทรียศาสตร์เช่นดั่งเคย แต่กลับเปลี่ยนมาพูดถึงหนังในมุมของธุรกิจการลงทุนบ้าง ด้วยคาดการณ์ว่าเรื่องราวของตัวเลขอาจจะสื่อความกับชนหมู่มากได้ชัดเจนกว่า

กำหนดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ คือ 26 มีนาคม-6 เมษายน 2553 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

จำหน่ายที่บู้ทของ โอเพ่นบุ๊คส์ - โซน C1 บู้ท 009
วารสารหนังสือใต้ดิน อันเดอร์กราวด์ (โซน C2 บู้ท T27)
บู้ทอัลเทอร์เนทีฟไรเตอร์ (โซน C1 บู้ท M12)
และ ฟ้าเดียวกัน / อ่าน (โซน C1 บู้ท N39)

3/19/10

ละครคณะ 28 ปี 2529 - อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ


ตั้งแต่รถพังไปลพบุรีไม่ได้เลยกลายเป็นง่อย บังเอิญมาเห็นบัตรละครที่ดูครั้งแรกกับ จุ๋ม - สุมณฑา
ตั้งแต่ปี 2529 แน่ะ ถ้าจำไม่ผิด เป็นละครของคณะ 28 รัศมี เผ่าเหลืองทอง รู้สึกเป็นละครที่ทำจากเรื่อง The Visit of the Old Lady ของ Max Frisch

โมเลกุลในกรุงเทพ ฯ - ละครใหม่จาก บี-ฟลอร์


กรุงเทพมหานคร... แหล่งรวมความเจริญทางวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 
กรุงเทพมหานคร... นครในฝันที่ใครหลายๆ คนทั่วโลกใฝ่ฝันอยากมา
กรุงเทพมหานคร... นครในฝันที่ใครหลายๆ คนทั่วโลกอยากหนีออกห่าง
กรุงเทพมหานคร... แหล่งรวมความศิวิไลซ์แห่งสยามประเทศ
กรุงเทพมหานคร... ใครมาก็ต้องไปเดินสยาม
กรุงเทพมหานคร... ต่างชาติมาต้องไปเดินข้าวสาร
กรุงเทพมหานคร... มีวัดวาอารามที่สวยงามมากมาย
กรุงเทพมหานคร... แหล่งบันเทิงมอมเมาหาได้ง่ายดาย
กรุงเทพมหานคร... คืออะไรสำหรับคุณ

‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... การแสดงเดี่ยวของสมาชิกกลุ่มบีฟลอร์ ร่วมด้วยศิลปินรับเชิญจำนวนหนึ่ง
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... ได้รับแรงบันดาลใจจากกรุงเทพ
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... ไม่ได้เล่าผ่านภาษาพูด แต่เล่าผ่านภาษากาย
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... ไม่ได้อยากให้คุณรู้เรื่อง แต่อยากให้คุณรู้สึก
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... มีทุกคืน ตั้งแต่วันที่ 24-31 มีนาคม 2553 เวลาทุ่มครึ่ง
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... แบ่งนักแสดงเป็นสองกลุ่ม 
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... มีศิลปินรับเชิญวันละคน
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... จะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... อยากให้คุณมาดู
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... เกิดขึ้นที่ห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดีพนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55
‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... 300 บาท ดูได้หนึ่งคืน 500 บาทดูได้สองคืน 750 บาทดูได้ทุกคืน

‘โมเลกุลในกรุงเทพ’... หากไม่รู้เรื่องเลยว่าตกลงมันคืออะไร มีอธิบายข้างล่าง

โมเลกุลในกรุงเทพ คือ งานแสดงเดี่ยว โดย สมาชิกหลักของบีฟลอร์ และ ศิลปินรับเชิญว่าด้วย “กรุงเทพฯ”

วันและเวลา 24-31 มีนาคม 2553 (ทุกคืน 19.30 น.)
สถานที่ ห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท ๕๕ (บีทีเอส ทองหล่อ ทางออก๓)
บัตรราคา 300 บาท, 500 บาท, 750 บาท
ติดต่อจองบัตร 089-167-4039, 089-667-9539
Email bfloortheatre@ gmail.com

ดูตารางการแสดงที่ www.bfloortheatre.com

รายชื่อนักแสดง

กลุ่ม ก. ดุจดาว วัฒนปกรณ์, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, วรัญญู อินทรกำแหง, ศรุต โกมลิทธิพงศ์
กลุ่ม ข. ธีระวัฒน์ มุลวิไล, จารุนันท์ พันธชาติ, ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, นานา เดกิ้น

รายชื่อศิลปินรับเชิญ
ภัทรสุดา อนุมานราชธน, เทอรี่ แฮทฟิลด์, ธนพล วิรุฬหกุล, บัณฑิต แก้ววันนา 

เพลง โมเลกุลในกรุงเทพ โดย ศักรินทร์ ศรีม่วง 
ออกแบบโปสเตอร์ โดย เตชิต จิโรภาสโกศล

3/13/10

สมเกียรติ์ วิทุรานิช เลือกหนังแห่งทศวรรษ 80

จากบทความพิเศษ “หนังแห่งทศวรรษ 80”
ของนิตยสาร หนังและวีดีโอ ปีที่ 3 ฉบับที่ 38 / มีนาคม 2533
โดยบรรณาธิการ สุทธากร สันติธวัช

ในเล่มเชิญชวนคนทำหนัง นักวิจารณ์ บรรณาธิการ และผู้เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ อาทิ บัณฑิต ฤทธิ์กล, ทิวา สาระจูฑะ, กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, แจ๊สสยาม, สุภาพ หริมเทพาธิป, เดือนเพ็ญ สีหรัตน์, วิสูตร พูลวรลักษณ์, อังเคิล, ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล, มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์, สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ ฯลฯ คัดเลือกหนังนานาชาติที่ชอบ ยกเว้นหนังไทย ซึ่งสร้างระหว่างปี 1980-1989

ในที่นี้ขอสรุปเฉพาะ สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้เขียนบท “ไอ้ฟัก” ซึ่งมีผลงานกำกับ “ฝากฝันไว้เดี๋ยวจะเลี้ยวมาเอา”, “มะหมาสี่ขาครับ” (ร่วมกำกับ), และล่าสุด “October Sonata รักนี้ที่รอคอย” ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ นิตยสารสตาร์พิคส์, แฮมเบอร์เกอร์ อวอร์ดส์ และ ชมรมวิจารณ์บันเทิงประจำปี 2552


*** 11 อันดับหนังแห่งทศวรรษ 80 คัดเลือกโดย สมเกียรติ วิทุรานิช ***

1. Night of the Shooting Stars (1982)
เปาโล และวิตตอริโอ ตาวียานี่ กำกับ

เป็นเรื่องที่ดูแล้วดูอีกไม่เบื่อ ดูแล้ว 3 หน ก่อนดูนี่ไม่ได้มีการคาดหวังเลย ไม่รู้เลยว่าจะเป็นอะไร ดูในห้องเรียน หนังของพี่น้องตาวียานี่ นี่ผมไม่เคยดูมาก่อนเลย ดูเรื่องนี้แล้วไปเอาเรื่องเก่าๆ ของเขามาดู สงสัยว่าพี่น้องกันนี่ทำไมถึงได้ช่วยงานกันได้มากเป็นคู่แฝดขนาดนี้ ส่วนใหญ่คนจะมีอีโก้ อันนี้ไม่มี ชอบสไตล์ของหนังเป็นแนวสุกๆ ดิบๆ มีอะไรที่ห่ามนิดๆ คือตัวแสดงมันเอาชาวบ้านธรรมดามาร่วมเล่นแล้วทำให้มีชีวิตจิตใจ ไม่มีลักษณะเป็นแอ็คติ้งมาก เค้าไม่ทิ้งเทรดมาร์คของหนังอิตาเลียน ลักษณะ Neo-Realism อยู่ในหนังเรื่องนี้เยอะเหมือนใครอีกคนที่ทำ Tree of Wooden Clogs (ของ Ermanno Olmi) ประทับใจเกือบทุกฉากตั้งแต่ฉากที่มีคนเปิดแผ่นเสียงเพลงชาติของอเมริกัน แล้วหลอกว่าทหารอเมริกันมาแล้ว ชาวบ้านก็แตกตื่นแห่ออกไปกัน แล้วก็มีบางคนเค้าเอากล้องส่องทางไกลออกไปดูแล้วก็บอกว่า เห็นแล้ว เห็นคนอเมริกันมาแล้ว คิดไปเองต่างๆ นานา เล่นกับความ panic ของชาวบ้าน พอทหารเยอรมันบุกก็วิ่งเข้าบ้าน เหตุการณ์เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ช่วงนั้นระส่ำระสาย เรื่องนี้ตัวละครทุกตัวเหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือก ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งตั้งแต่ต้นเลย เลือกระหว่างอยู่กับที่หรือเดินทางไปหาทหารอเมริกัน อันที่สองต้อง เลือกว่าจะเป็นฝ่ายทหารเยอรมันหรือจะเป็นฝ่ายตนเอง

เค้าค่อนข้างจะปล่อยอิสระให้ตัวละครคือทำให้ตัวละครมีชีวิตจิตใจ มีเลือดเนื้อจริงๆ การ move ของตัวละครดีมากเลย ไม่มีลักษณะ Blocking แต่มันมี Area ให้ตัวละครเคลื่อนไหวได้เยอะ ส่วนใหญ่จะถ่ายเป็นภาพกว้างไม่เน้นโคลสอัพมาก ฉากรบใน เจ็ดเซียนซามูไร จะคอมโพสเป็น artistic มากกว่าเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้เจาะลึกถึงความเป็นมนุษย์ได้มากกว่า รู้สึกว่าฉากรบอย่างนี้พอฆ่ากันแล้ววิ่งกลับไปใหม่ อุ๊ย ! นี่มันพ่อเราพี่เราอย่างเนี้ย คือไม่มีอะไร definite ในหนังเรื่องนี้ตัวละครทำไปเพราะไม่รู้สึกตัวว่าจะต้องป้องกันตัวเองหรือว่าอะไร

2. Pixote (1981)
เฮคเตอร์ บาเบนโก กำกับ

ชอบหนังหนักที่ไม่ยัดเยียด เอานักแสดงที่ไม่ใช่นักแสดงอาชีพมาเล่นอีกเหมือนกัน โดยเฉพาะตัวเด็กเนี่ย เหมือนหนังของ วิตตอริโอ เดอ สิก้า (The Bicycle Thieves) ในเมื่อเรามีบุคคลที่ตรงกับคาแร็คเตอร์ของหนัง ทำไมไม่เอาตัวที่เป็นคาแร็คเตอร์จริงๆ มาเล่น

3. The Purple Rose of Cairo (1985)
วู้ดดี้ อัลเลน กำกับ

พูดไม่ได้ เป็นอะไรที่มันซับซ้อน เป็นอะไรที่เล่นกับ Illusion และ Reality เล่นระหว่าง
ภาพบนจอโดดลงมามีชีวิตจิตใจและกับคนที่มีชีวิตจิตใจเข้าไปในภาพ มันสวนทางกัน เพราะตัว มีอา ฟาร์โรว์ (ซีซีเลีย) คิดว่ามันไม่มีอิสระไง มันจะหนีโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปในโลกมายาโลกภาพยนตร์ แต่ตัวพระเอกเองเนี่ยมันก็คิดว่ามันไม่มีอิสระ เพราะมันถูกบังคับกำหนดชะตากรรมจากคนเขียนบท มันก็เลยบอกซีซีเลียว่ามันรู้ว่าพระเจ้าคือใคร พระเจ้าก็คือคนที่เขียนบทให้มันเล่นในหนังเรื่องนี้แหละ คือทั้งสองคนเป็นคนที่ไม่มีอิสระเลย คือต่างคนก็ต่างอยากจะหาความเป็นอิสระให้กับตัวเอง


คิดทันทีเลยว่าวู้ดดี้ อัลเลน เป็นคนรักหนัง เล่นกับภาพบนจอหนังเล่นกับชื่อหนังของ ฌอง-ลุค โกดาร์ อย่างเนี้ย Everyman for Himself หรือว่าเล่นกับ White Telephone เนี่ยซึ่งเป็นยุคหนึ่งของหนังอิตาเลียน ซึ่งเขาจะเรียกหนังประเภทฝันเฟื่องน้ำเน่าว่า White Telephone แล้วมันก็ให้ซีซีเลียพอเข้าไปในจอหนังปุ๊บเนี่ย มันก็ตะโกนเลยโอ้โหฉันชอบโทรศัพท์สีขาวนี่มากเลย ฉันฝันอยากจะครอบครองโทรศัพท์สีขาวนี้มานานแล้ว วันนี้ก็ได้สมใจแหละเข้าไปในหนังน้ำเน่าเข้าไปในจอเลย เรื่องนี้มีอะไรเยอะนะเป็นการทำเรื่องที่ซับซ้อนให้ออกมาดูง่ายๆ แต่ก็ยังคงความคมลึกอยู่ในหนัง ซึ่งนั่นแหละเป็นฝีมือที่วู้ดดี้ อัลเลน ทำได้ดีที่สุด แล้ววู้ดดี้ก็อย่าพยายามเป็น อิงมาร์ เบิร์กแมนเลยเป็นยังงี้แหละดีแล้ว มีส่วนของ เบิร์กแมนบ้าง มีส่วนของคนโน้นคนนี้บ้าง แต่ว่าคงความเป็นวู้ดดี้ไว้ดีกว่า ชอบเรื่องนี้มากกว่า Annie Hall อาจจะเป็นเพราะว่ามันพูดถึงหนังจริงๆ คนนี้หลงเข้าไปในหนังคือเป็นคนที่บ้าหนังด้วยกันอย่างเนี้ย วันๆ ก็หมกตัวในโรงหนัง


4. Blue Velvet (1986)
เดวิด ลินช์ กำกับ

ลึกลับ มันมีสองมิติจริงๆ เลย มิติในช่วงกลางวันเป็นชีวิตธรรมดาเรียบๆ ง่ายๆ ชาวบ้าน ธรรมดาทั่วไป พอตกกลางคืนปุ๊บเนี่ยมันเหมือนเข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถจะหาคำตอบให้กับมันได้ว่า มันเป็นโลกอะไร แต่มันเป็นโลกที่เราต้องค้นหามัน โลกพิศวง ฉากที่ไม่ลืมเลย ฉากที่กล้องทะลวงเข้าไปในรูหู หูที่ตกอยู่กับพื้น ซึ่งเดวิด ลินช์ นี่มีจิตนาการที่มันกว้างไกลมาก ทำอะไรแบบที่เราไม่คิดน่ะ ทำออกมาได้สมดุลดีไม่เกินไม่ขาด อย่างเช่น อยู่ๆ เดนนิส ฮอปเปอร์ โมโหขึ้นมาก็เอาออกซิเจนขึ้นมาสูด หรือว่าขณะที่มันคุยกันอยู่ในบ้านมีผู้หญิงเรียนเต้นรำเป็นแบ็คกราวน์ดเป็นความแอบสแตรคที่ดูดี องค์ประกอบในฉากก็ให้ความวังเวง


ที่เดวิด ลินช์ ขยายความบ้าของเขาอย่างไม่มีขอบเขตได้เพราะว่า ดีโน เดอ ลอเรนตีส บอกว่าถ้าคุณต้องการคุม Artistic ของหนังทั้งเรื่องนะ คุณก็ต้องตัดเงินเดือนของตัวเองและทุนให้น้อยลง ทำให้ออกมาเป็นของตัวเองได้ดีที่สุด ไม่ต้องมีโปรดิวเซอร์มาคุมว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และหนังเรื่องนี้ก็ออกมาได้ดี

5. Paris, Texas (1984)
วิม เวนเดอร์ส กำกับ

ชอบการค้นหาของตัวเอกในเรื่องทราวิส แกค้นหาอะไรบางอย่าง แกรู้นะ แกต้องการค้นหาอะไรบางอย่าง ความหมายของชีวิตบางอย่าง แต่ใครถามว่าแกค้นหาอะไร แกไม่สามารถจะตอบได้ หนัง Road Movie มีเสน่ห์ มีฉากเด่นที่กล่าวถึงมากที่สุดก็คือฉากในห้องโทรศัพท์ เหมือนกับว่าสองคนมันสื่อสารกันไม่ได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีแล้วก็ไม่เข้าใจกัน ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้จนหน้าแทบจะชิดกันได้ แต่ก็สัมผัสกันไม่ได้ สิ่งที่ทราวิสไม่เจอก็เพราะอย่างนี้แหละคือว่าในโลกชีวิตประจำวันทุกวันนี้ คนเราถึงแม้จะอยู่ใกล้กันเห็นหน้ากัน แต่ก็ขาดการติดต่อสื่อสารอยู่กับความโดดเดี่ยว เขาถึงต้องการเดินทางค้นหาว่าเขาต้องการอะไร เรียกง่ายๆ ว่าเค้าเองกับความต้องการเค้าเองก็ติดต่อสื่อสารกันไม่ได้เหมือนกัน เรื่องนี้เอาเส้นทางรถไฟเห็นเป็นแบ็ดกราวน์อยู่เรื่อยๆ เหมือนกับชีวิตคือการเดินทางไม่มีสิ้นสุดน่ะ เมื่อไหร่ถึงจุดสิ้นสุดเหมือนกับนั่นแหละหมดแล้วสิ้นสุดของชีวิต

จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือก่อนที่มันจะเข้าไปหานาตาชา ตึกๆ เนี้ยเป็นตึกที่เป็นรูปภาพของเทพีสันติภาพ แต่คนที่อยู่ในโลกนี้ไม่มีใครมีเสรีภาพเลย อยู่ในห้องเป็นพวกผู้หญิงบริการ ทุกคนอยู่ในกระจกสร้างจินตนาการได้ แต่ไม่สามารถสัมผัสได้ เป็นตึกที่เข้าไปเพื่อสร้างจินตนาการแล้วออกมา ตอนจบเค้าสร้างสัมพันธ์กับลูกชายได้แต่เป็นลักษณะที่หลุดพ้น ถ้าติดอยู่กับอะไรบางอย่างเท่ากับเค้าสิ้นสุดการค้นคว้า แต่นี่เค้าไม่สิ้นสุด เพราะเค้าสามารถจะตัดหลายๆ สิ่งออกไปได้คือ ความไม่ติดพันกับสิ่งที่ตนเองรัก รักกับเมียก็ตัดไปได้ ลูกเค้าก็ตัดออกไปได้ สังเกตอย่างตอนต้นเรื่องตอนที่เค้าพยายามหาน้ำกิน อยู่ในทะเลทรายมีความแห้งแล้ว น้ำไม่มีให้เค้ากิน แล้วก็การติดต่อสื่อสารกับเมียเค้าซึ่งอยู่ใกล้ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อกันได้
ชอบอีกอย่างคือ แม้เขาจะไม่เขียนเป็นบทหนังให้เรียบร้อยก่อน แต่มีความเป็นเอกภาพ สไตล์หนังเนี่ยเค้าจะใช้ลองช็อตตลอด ไวด์เองเกิลทั้งเรื่อง ตอนต้นเรื่องเค้าสับสนน่ะใช่ แต่กลับไปตอนจบเนี่ยเค้าเข้าใจอะไรมากขึ้น แต่เค้ายังรู้ว่าอะไรไม่สมบูรณ์ยังต้องการค้นคว้าอะไรกันต่อไป ถ้าพูดถึงลักษณะ American Dream หนังเรื่องนี้ก็มีเยอะนะ อย่างรูปวาดเทพีสันติภาพใช่มั๊ย เราเห็นเสื้อที่ลูกเค้าใส่มีธงชาติอเมริกัน และช่วงที่เค้าคอยแม่ ลูกเค้าเอากล้องส่องดูเห็นธงชาติอเมริกันโบกพลิ้วอยู่กลางอากาศ ชื่อเรื่องก็บอกว่า Paris, Texas บอกความไกลซึ่งอยู่ใกล้ในที่เดียวกันด้วย เหมือนกับว่าลักษณะของปารีส แต่ไม่ใช่ปารีสในฝรั่งเศสจริงๆ ปารีสนี่อยู่ในแท็กซัส ชื่อมันเป็น Conflict กัน

6. Empire of the Sun (1987)
สตีเว่น สปีลเบิร์ก กำกับ

บรรยากาศตอนที่ดูน่ะสมบูรณ์มาก ภาพตรึงอารมณ์เลย การที่สปีลเบิร์กต้องการทำงานให้เพอร์เฟ็คผมว่าเค้ามีความตั้งใจที่สูงมาก ถึงแม้ว่าหนังของเค้าจะไม่ใช่งานที่ดีที่สุดในสายตาของนักวิจารณ์หลายๆ คน แต่สปีลเบิร์กมีความพยายามดิ้นรนเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเค้าเป็นคนที่น่าสนใจคือว่าเค้าพยายามมีองค์ประกอบของหนังดีๆ แต่เค้าคำนึงถึงตลาด ยังหาสองจุดกึ่งกลางระหว่างงานคุณภาพและหนังตลาด แต่ละภาพของสปีลเบิร์กเค้ามีความหมายมากๆ เลย ดูแต่โปสเตอร์ก็พอแล้ว ดวงอาทิตย์ดวงโตสีแดงนะความรุนแรง จะเห็นว่าเครื่องบินมันตกใช่ไหม จะมีควันลอย ดูไกลๆ นะเหมือนกับขนนก มันเป็นความแข็งแกร่งที่มีความนุ่มนวลอยู่ในนั้นมันเหมือนกับตัวเด็ก เด็กคนนี้มีความเป็นอินโนเซ้นท์มากเลย แต่ว่าอยู่ท่ามกลางสงครามเหมือนกับว่าชีวิตอยู่ในค่ายกักขัง ชีวิตแข็งกร้าวเหมือนเด็กในเรื่อง Pixote คือเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย

ดวงอาทิตย์ก็เหมือนธงญี่ปุ่นโดยเฉพาะตอนแรกเราเห็นศพลอยน้ำมาใช่มั้ย เด็กคนนี้มันแบบสะสมกระดาษสะสมเครื่องบินอะไรเนี่ย ตอนหลังที่เค้าหมดความเป็นเด็กของเค้าไปเนี่ย เค้าทิ้งกระเป๋าที่เค้าสะสมมาทุกอย่างเนี่ยทิ้งลงน้ำไป เหมือนกับตอนแรกที่เราเห็นศพลอยน้ำมาเลย เค้าทิ้งความเป็นเด็กเค้าไปแล้ว เค้าหมดแล้วตายจากไปแล้วทีนี้เค้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

และโดยเฉพาะดวงตาของเด็กคนนี้นะตอนจบเรียกว่ากระชากหัวใจ ยกผลประโยชน์ให้คนแต่งหน้าด้วย แววตาของเด็กคนนี้นะไม่เหมือนของเด็กเลยเหมือนของคนแก่ แล้วชอบสปีลเบิร์กอยู่อย่างหนึ่งคือเห็นความบริสุทธิ์ของเด็กน่ะ คือยังมองอะไรในสายตาของเด็กได้ดีน่ะ อย่างเช่นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กญี่ปุ่นกับเด็กตัวเอกแบ่งแอปเปิ้ลให้กินอะไรเนี่ย คือมีความกระจุ๋มกระจิ๋มของเด็กๆ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะมองไม่ถึง แต่สปีลเบิร์กเป็นผู้ใหญ่ที่มองอะไรในสายตาของเด็กได้เก่ง คือการผจญภัยในตอนที่เห็นเครื่องบินแทนที่จะหลบเนี่ยมันวิ่งเข้าไปหาเครื่องบิน จะสัมผัสเครื่องบินคล้ายๆ กับ อี.ที. (E.T.) ช่วงที่ว่าเด็กมนุษย์โลกกับมนุษย์ต่างดาวจะสัมผัสกัน เป็นเรื่องของเด็กที่เดินทางสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้ดีเรื่องหนึ่ง

7. Late Summer Blues (1986)
หนังอิสราเอล

ชอบดูหนังแปลกๆ ดูหนังของประเทศต่างๆ ทำให้รู้ทัศนคติ รู้ว่าคนในชาติเนี้ยว่าเค้าคิด
ยังไง และหนังก็ส่อวัฒนธรรมของคนในชาตินั้นมาซึ่งน่าสนใจมาก ถ้าเราติดกับหนังของชาติใดชาติหนึ่งจะจำกัดความคิดเรามาก อย่างหนังเรื่องนี้ หนังเล็กๆ ทุนน้อย ใช้สมองมาก ยังคิดถึงหนังไทยเลยว่าทุนเค้าไม่มากกว่าเราแน่นอนเลย โลเกชั่นก็ไม่กี่แห่ง แต่เค้าเข้าใจทำ โอเค. เค้าอาจจะมีวัตถุดิบเหนือกว่าเรา คือปัญหาการเมืองเค้ามีเยอะ เนื้อเรื่องประเภท sensitive อย่างนี้มันหาได้ง่ายไม่เกี่ยวกับสนามรบนะเรื่องนี้ เห็นแต่กลุ่มวัยรุ่นที่กำลังจะจบการศึกษา แต่ว่าแทนที่จะได้ทำงานกลับต้องไปเป็นทหาร หนังไม่โชว์อะไรใหญ่โต เป็นลักษณะโชว์เนื้อเรื่องมากกว่า

คาแร็คเตอร์เรื่องนี้น่าสนใจมากมีสามมิติในตัวละครหมด คือว่าแต่ละคนที่ไปเนี่ย เพราะว่าโรงเรียนเค้าจะมีการปลูกฝังความรักชาติใช่มั้ย ว่าการไปตายเพื่อชาติเป็นสิ่งที่แบบว่ามีเกียรติมากลักษณะนี้ แต่ว่ามีตัวละครตัวนึงล่ะที่เค้าไม่เห็นด้วย เค้าแอนตี้สงคราม เค้าบอกเค้าไม่ใช่คนขี้ขลาดนะ แต่เค้าไม่ชอบสงคราม เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไปตายโดยเปล่าประโยชน์ ชื่อเรื่องเนี่ยบอกถึงช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงฤดูร้อน เพราะว่ามีตัวละครตัวหนึ่งเป็นโรคเบาหวานไม่สามารถจะเป็นทหารได้ แล้วตัวละครตัวเนี้ยจะบันทึกเหตุการณ์ของเพื่อนที่จากไป สนามรบหรือช่วงที่มีสังสรรค์กันสนุกสนานเนี่ยเค้าจะบันทึกด้วยกล้อง 8 มิล เนี่ยคือเสน่ห์มากที่สุดของหนังเรื่องนี้คือ จะตัดสลับกับภาพ 8 มิล โดยเฉพาะมีฉากๆ นึงที่ตัวละครคนหนึ่งกำลังจะจากไป แล้วพ่อมันก็ไปโอบมันเนี่ยแล้วเค้าก็ถ่ายไปที่หน้าพ่อคนนี้ ถ้าเกิดฉากนี้นะถ่ายโดยใช้กล้อง 35 มิล เราจะไม่ได้อารมณ์เท่ากับใช้กล้อง 8 มิล ซึ่งใช้มือถือถ่ายเป็นช่วงสั้นๆ อารมณ์มันให้ต่างกันเยอะเลย เพราะพอเป็นกล้อง 8 มิลปุ๊บ เรารู้สึกว่าเป็นสารคดีหรือเหตุการณ์จริงมากกว่าเหมือนกับเรื่อง Paris, Texas น่ะกล้อง 8 มิลที่ถ่ายตอน นาตาชา คินสกี้ ไปเที่ยวกับลูกอะไรเนี่ย ดูแล้วสมจริงมากกว่า เป็นชีวิต มีช่วงหนึ่งที่เค้าไปชายทะเลก่อนไปเป็นทหารเนี่ยคืนนั้นเขาสนุกสนานกันมากเลยแล้วก็หลับไป พอรุ่งเช้าขึ้นมานะทุกคนเปลี่ยนหมดเลย เหมือนเรื่อง Knife in the Water ของ โรมัน โปลันสกี้ ที่มีอยู่ช่วงตัวละคร 3 ตัว ความสัมพันธ์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอรุ่งเช้าขึ้นมาเนี่ย คาแร็คเตอร์เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเลย

8. Nostalghia (1983)
อังเดร ทาร์คอฟสกี้ กำกับ

ผมชอบ ทาร์คอฟสกี้ ก็ตรงที่เค้าให้ความสำคัญกับตัวมนุษย์มาก เค้าพยายามจะศึกษาในตัว
คน แม้กระทั่งในตัวละครที่เป็นคนบ้าเนี่ย แต่ตัวพระเอกต้องการจะศึกษาเค้าต้องการจะเข้าใจเค้า พระเอกคิดถึงประเทศรัสเซียที่เขาจากมาก็จริง แต่อีกประเด็นหนึ่งเนี่ยพระเอกก็ห่างเหินกับตัวเองด้วยเช่นกัน เหมือนที่ทาร์คอฟสกี้เขียนไว้ในหนังสือ Sculpting in Time เค้าไม่ได้ห่างเหินจากบ้านเมืองอย่างเดียว แต่เค้าห่างเหินจากตัวเอง เค้าไม่เข้าใจเหมือนกับ อิงมาร์ เบิร์กแมนน่ะ ส่วนใหญ่ตัวละครในหนัง เบิร์กแมนจะถามเลยว่า พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า แล้วเราอยู่เพื่ออะไร ถ้าพระเจ้าไม่มีจริงเหมือนกับตัวละครในเรื่องนี้ ซึ่งพยายามศึกษาค้นคว้า ซึ่งหนักกว่าตัวละครทราวิสในเรื่อง Paris, Texas แล้ว ทราวิสไม่ตั้งคำถามไม่อะไรเลย เค้าค้นหาของเขาเอง

ทาร์คอฟสกี้ เค้าบอกว่า ภาพทุกภาพของเค้าเนี่ยเค้าแเช่ภาพนาน บางทีภาพบางภาพของเค้าไม่ใช่ symbolic อะไรเลย แต่เค้าต้องการให้คนดูหนังเนี่ยได้ซาบซึ้งกับความงดงามของภาพ ต้องการให้ซาบซึ้งในอานุภาพของมัน นักดูหนังของเราเนี่ยฉาบฉวยมากเพราะว่าสไตล์ของหนังเปลี่ยนแปลงไป มีการตัดที่เร็วขึ้นเหมือนมิวสิควีดีโอ ถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์ของคนสร้างว่าต้องการอะไร ประเภทของหนังเป็นอย่างไร ความน่าเบื่อก็ไม่มี แต่ถ้าเราต้องการดูหนังประเภทที่เราเคยดู หนังประเภทที่ดูแล้วดูอีกเนี่ยเราก็อย่าไปดูเรื่องนี้เลยเพราะว่าเรื่องนี้ไม่เหมือนกับหนังทั่วๆ ไปที่มีอยู่ นักสร้างหนังพวกนี้จะไม่อยู่กับที่ ต้องการค้นคว้า ต้องการแสวงหาอะไรอยู่เรื่อยๆ เป็นการสูญเสียนักสร้างหนังที่ดีๆ ไปคนหนึ่งกับการตายของเขานะ และเราต้องการนักสร้างหนังอย่างนี้ด้วย นักสร้างหนังที่พยายามสวนทางกับความต้องการของคนดูเพราะว่าเราต้องการสิ่งนี้มาบาลานซ์กัน ถ้าทุกคนแห่ตามกันเนี่ย เสร็จเลย จุดจบของภาพยนตร์ เพราะเราจะไม่มีอะไรที่แปลกใหม่อีกแล้ว เพราะเราไม่มีใครที่กล้าหาญพอ

9. Painted Faces (1988)
หนังฮ่องกง

ฉากจบทำได้เยี่ยมมาก สะเทือนใจมากก็ฉากจบนี้แหละ รู้สึกว่าคนทำหนังคนนี้ทำหนังเป็นจริงๆ เพราะโอเคตอนจบนี้ ครูเค้าไปสหรัฐแล้ว เค้ามีความมั่นคงแล้ว เค้าขึ้นเรือที่ใหญ่กว่าเรือที่มั่นคง แต่ลูกศิษย์เค้าเจ็ดคนเนี่ยอยู่ในเรือลำเล็กๆ กลางทะเลซึ่งมีคลื่นเหมือนกับเค้าต้องฝ่าชะตากรรมอะไรกันต่อไป เหมือนเราอยากรู้ว่าอนาคตของลูกศิษย์เจ็ดคนเนี่ยจะไปต่อยังไง ซึ่งเราเห็นตัวอย่างแล้วจากเพื่อนขอ งหงจินเป่า ที่เป็นบ้าไป คนนั้นไม่สามารถรับสภาพที่เปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะบาลานซ์ตัวเองได้บนคาน ตอนที่เล่นงิ้วจะต้องบาลานซ์ตัวเองบนคานซึ่งหมิ่นเหม่แล้วก็ร่วงลงมา คนอื่นต้องบาลานซ์ตัวเองกับวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง
จริงๆ ที่โรงควรจะฉายช่วงท้ายเครดิตด้วย ช่วงที่ลูกศิษย์แต่ละคนประสพความสำเร็จ ช่วงนี้มีความสำคัญต่อเรื่องมาก

10. Moonstruck (1987)
นอร์แมน จิวิสัน กำกับ

ชอบ Movement ของเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะว่า จิวิสัน เป็นผู้กำกับละครเวทีมาก่อน เขาได้เปรียบทางด้านนี้ การใช้ภาษาร่างกายของเรื่องนี้ดี เวลาคนอิตาเลียนพูดจะมีภาษามือ ภาษาร่างกายอยู่แล้วท่าทางออกหมด แล้วเรื่องนี้ตัวละครเล่นได้ธรรมชาติหมดเลยอย่างตัวพ่อพูดว่า Bad luck… Bad Luck แล้วทำมือเหมือนเขาปีศาจซึ่งคนอิตาเลียนจริงๆ ชอบทำกัน ชอบประการแรกเพราะอย่างนี้ ประการที่สองคือเป็นหนังตลกเป็นเนื้อเรื่องที่ทำได้ตลก ตลกจริงๆ อย่างบทคนแก่ซึ่งหมดเสน่ห์ยังต้องการหาความหมายให้ตัวเองเรียกความเป็นหนุ่มกลับมา มีเมียหลายๆ คนอะไรอย่างเนี้ย ซึ่งเมียของเขาก็สันนิษฐานว่า เนี่ยเพราะมันกลัวความตาย ซึ่งน่าจะจริงน่ะเป็นหนังเรื่องที่พูดกับความตายตลอดเวลา เริ่มต้นมาก็มีคนตายแล้วและยังบอกอีกว่าฝีมือมันดีที่แต่งคนตายให้ดูสวยได้ ก็เหมือน จิวิสัน เนี่ยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับความตายเนี่ยได้ออกมาตลกและน่ารัก

และฉากจบนะให้เห็นความสัมพันธ์ของครอบครัวนะซึ่งอเมริกันนี่ขาดมากเลย ความเป็นครอบครัวคนอเมริกันไม่ค่อยมีไง ต่างคนต่างแยกย้ายกันอยู่เนี่ย แต่หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญมากเลย ตอนจบภาพ Portrait ไล่ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ภาพที่แขวนตามฝาผนัง ความเป็นครอบครัวซึ่งอเมริกันไม่ค่อยมี และคนไทยเราถึงแม้จะมีแต่เราก็ชักจะเลียนแบบฝรั่งมากเข้าไปทุกที เพราะเราคิดว่าการเป็นฝรั่งนี่มันดีไปหมดซะทุกอย่าง แล้วเราอีกหน่อยก็จะเป็นอย่างนี้แหละ จะเป็นตัวของตัวเอง จะมีแต่ตัวของตัวเอง ไม่มีลักษณะอะไรที่เป็นเพื่อส่วนรวม

11. Betty Blue 37.2 Le Matin (1986)
ฌอง – ฌาคส์ เบเนกซ์ กำกับ

โป๊สะใจดี รู้สึกว่าตัวละครสองตัวเนี้ยจะเข้าหากันแบบไม่มีหน้ากาก ไม่มีอะไรต้อง
ปิดบังน่ะ มีความเป็นธรรมชาติมากเลย ไม่มองอะไรในแง่ร้ายนะ มองอะไรในแง่ดีตลอด พระเอกเป็นคนแบบไม่มีความทะเยอทะยานสูงไง แล้วตัวนางเอกนี่เธอมีความทะเยอทะยานสูงไง แล้วตัวนางเอกแทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่เป็น Symbolic เลย เพราะเราไม่รู้แบ็คกราวน์ดที่มาของตัวละครนี้เลย แต่มาเพื่อที่จะสร้างพลังสร้างความมั่นใจให้พระเอก


อย่างตอนจบนี่ใช่มั้ย พอตัวนางเอกตายปุ๊บเนี่ย พระเอกก็เริ่มจะมีความมั่นใจในตัวเองและเริ่มหยิบงานเขียนที่ตัวเองทิ้งไปนานกลับขึ้นมาใหม่ แล้วก่อนตายเนี่ยพระเอกแต่งชุดเป็นผู้หญิงเพื่อเข้าไปช่วยตัวนางเอกในโรงพยาบาล แทบจะเรียกได้ว่าตัวนางเอกคือ Symbolic แล้วพระเอกกับนางเอกเนี่ยตอนนี้สามารถจะเป็นตัวๆ เดียวกันแล้ว ตอนนี้พระเอกไม่ต้องพึ่งพานางเอกอีกแล้ว พระเอกสามารถยืนอยู่ตามลำพังตนเองได้ ตัวนางเอกก็เฝดหาย ตายไป ฉากพังกำแพงบ้านเนี่ยดูเหมือนพระเอกต้องการจะพังกำแพงสิ่งกีดขวางการติดต่อกับตัวนางเอก ไม่ต้องการให้มีสิ่งกีดขวางอยู่ในบ้าน นั่นก็อีกอย่างที่ทำไมต้องให้ตัวละครทั้งสองเปลือยกันอยู่เรื่อยๆ ความแท้จริงไม่มีอะไรที่หลอกลวง สิ่งปิดบังปกปิดคือเสื้อผ้า อาจจะเป็นข้อแก้ตัวของคนดูหนังสำหรับผมก็ได้

Diva งานเรื่องก่อนของเขาผมก็ชอบ แต่ชอบเรื่องนี้มากกว่าเพราะมันเล่นกับคนน่ะ ความเป็นมนุษย์

Cracks - a film by Jordan Scott

Cracks หนังของ Jordan Scott ลูกสาวของ Ridley Scott ที่ทำหนังเด็ดดวงกว่าพ่อหลายร้อยเท่า



3/8/10

อ่านผู้หญิง อ่านบทละคร โดย พระจันทร์เสี้ยว

ข่าวประชาสัมพันธ์

พระจันทร์เสี้ยวการละคร ภูมิใจเสนอ โครงการอ่านบทละคร #3
อ่านผู้หญิง
ชมการอ่านบทละครเรื่องเล่าของผู้หญิงโดยผู้หญิงนักการละคร
ปัณณทัต โพธิเวชกุล, จารุนันท์ พันธชาติ, ฟารีดา จิราพันธุ์, ภาวิณี สมรรคบุตร, นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ, ปานรัตน กริชชาญชัย, ปอรรัชม์ ยอดเณร, อรุณโรจน์ ถมมา, สุกัญญา เพี้ยนศรี, สินีนาฏ เกษประไพ

จัดแสดง วันที่ 13-14 มีนาคม 2553 เวลา 15.00 และ 19.30 น.
@ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ (BTS ทองหล่อ)

ชมฟรีไม่เก็บบัตร
สำรองที่นั่ง (รอบละ 40 ที่นั่ง)
โทร 083 995 6040, 081 259 6906
www.crescentmoontheatre.com