6/30/08

Herbert Achternbusch on You Tube

Herbert Achternbusch on You Tube

เห็นหน้า แฮร์แบร์ท อัคช์แทรนบุช ครั้งสุดท้าย ตอนรับเชิญผู้กำกับ Aki Kaurismaki ไปนำเสนอหนังตัวเองที่ฟินแลนด์ จนกลายเป็นเพื่อนซี้นั่งงัดข้อ-ซดเบียร์กันออกทีวี

แต่ตอนนี้นักทำหนังเยอรมันคนเก่งเลิกทำหนัง-แสดงหนังกลายเป็นศิลปินวาดภาพ ใครที่เคยดูเทศกาลหนังของเขาที่ฉายที่เกอเธ่ และของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ จัดที่ธรรมศาสตร์ แล้วรู้สึกคิดถึงลองไปดูตัวอย่างหนังและสัมภาษณ์เขาได้ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=U9sdfF3HY_U
ซึ่งเป็นภาพจากการจัด Retrospective ฉายหนังของเขาทั้งชุดที่งานเทศกาลหนังเมืองมึนเช่นครั้งล่าสุด (Munich Film Festival ปี 2008)

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Achternbusch ผู้กำกับที่ถูกหลงลืมในรุ่น New German Cinema (แต่นอกสังกัด) ได้ใน Bookvirus เล่ม 1 หนังวรรณกรรม (A = Achternbusch)

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Servus Bayern ของ Herbert Achternbusch

6/25/08

"รักบังตา" (Love Invisible)

พระจันทร์เสี้ยวการละคร เสนอ

"รักบังตา" (Love Invisible)


ไม่สำคัญจะเห็นว่ารักหรือไม่เพราะใจได้รู้ว่ารักแล้วรัก เป็นจุดเริ่มต้นของหัวใจ แต่อาจเป็นจุดจบของบางเรื่องราวเพราะ...


รัก ไม่ได้เกิดกับคนทุกคน แต่คนส่วนใหญ่ต้องการมันรัก ไม่ตอบรับกับคนทุกคน แต่มีเพียงแค่บางคนที่ได้รับรัก ไม่สมหวังกับคนทุกคน แต่คนบางก็วิ่งไล่ตาม

มุมมองเรื่องรักของใครบางคนที่หัวใจไม่ไร้รัก
เขียนบท กวินธร แสงสาคร และ สินีนาฏ เกษประไพ กำกับโดย กวินธร แสงสาคร

วันเวลาแสดง27,28,29 มิถุนายน 2551 4,5,6 กรกฎาคม 2551รอบเวลา 19.30 น. / เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.30 น.(รวม 10 รอบ)

แสดงที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Spaceอยู่ในอาคาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่ออ (ลงสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ)


บัตรราคา 250 บาท (นักเรียน,นักศึกษา 200 บาท)

ติดต่อสอบถามที่ 081 259 6906 และ 081 612 4769

ดูรายละเอียดโปรแกรมที่ http://www.crescentmoontheatre.com/

6/19/08

ศิลปะแนวนวลตอง

โปรแกรมงานศิลปะของคุณนวลตองที่น่าสนใจ

มีใครคนหนึ่งเคยบอกว่า
ชมภาพเขียนของ “ นวลตอง ” ครั้งใด
จะเย็นชื่นฉ่ำ เสมือนฝนตกโดนใจ ทุกครั้งไป

Nualtong Prasarnthong ( Nual )

นวลตอง ประสานทอง ​(นวล)
นักวาดภาพประกอบอิสระ

นวลตอง ประสานทอง สาวบัญชี
ที่ค้นพบตัวเองว่า รักการวาดภาพประกอบมากกว่าการจัดวางตัวเลข
จบบัญชีจากจุฬาฯ และไปต่อโท ด้าน art ที่ ประเทศอังกฤษ
เป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์ แต่ยังไม่เท่าเสน่ห์ของภาพประกอบ
งานที่เธอทำด้วยความรัก
มีงานวาดภาพฝีมือเธอมากมาย ในนิตยสารอย่างสม่ำเสมอ
และภาพประกอบแบนด์ดัง อยู่เป็นเนื่องๆ
เคยมีนิทรรศการเดี่ยวและคู่มาแล้วหลายครั้ง
แต่ครั้งนี้ นิทรรศการเดี่ยว NYMPH by NUALTONG

ภาพนางไม้ หญิงสาวที่เป็นแรงบันดาลใจ

ด้วย สีอะครีลิค กว่า30 ภาพ สวยล้ำลึกและ น่าค้นหา
ที่... j gallery j-avenue ซอยทองหล่อ
กำหนดการเปิดงาน ในวันที่12 มิถุนายน เวลา 18.00 น.

(จัดแสดงภาพตั้งแต่ วันที่ 12-25 มิถุนายน )

นวลตอง ขอเชิญคุณมาร่วมเป็นเกียรติในงานนี้ค่ะ

กิ๊บเก๋จุ๊บๆ มีของกุ๊กกิ๊กน่ารักน่าเก็บน่าสะสม
งาน nymph ต่างๆ ให้เลือกสรรในงานด้วยนะคะ
อาทิ สร้อยคอ ผ้าพันคอ สมุดรวมภาพวาด ฯลฯ ค่ะ
รื่นรมย์ชมภาพฝัน อร่อยไปกับสารพัน iberry

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ลัลตรา (แตงโม) 081-988-6062

6/16/08

ทำไมคนไทยจึงควรทะนุถนอม เจ้ย อภิชาติพงศ์

ทำไมคนไทยจึงควรทะนุถนอม เจ้ย อภิชาติพงศ์
โดย สนธยา ทรัพย์เย็น filmvirus@yahoo.com

เถียงกันไม่จบเรื่องความเหมาะสมของ 4 ฉากใน ‘แสงศตวรรษ’ (โดยผู้ชำนาญการทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดูหนัง) จนลืมสาระสำคัญว่าน่าจะเกิดประโยชน์กว่าไหม หากเราจะหันมาพิจารณาว่าอะไรที่ทำให้ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นคนทำหนังชาวไทยที่สมควรได้รับการเอาใจใส่และให้การสนับสนุนส่งออก ไม่แพ้นักกีฬาทีมชาติ แชมป์ฟิสิกส์เยาวชน ศิลปินแนวอนุรักษ์สยาม และสาวไทยผิวเข้ม

หนุ่มเจ้ยฝากฝีมือระบือโลกมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วเมื่อกองทุนฮิวเบิร์ต บาลส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ออกทุนสร้าง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ หนังขาวดำรูปแบบพิสดารซึ่งแจ้งเกิดที่เทศกาลหนังร็อตเตอร์ดาม เพราะนี่คืองานที่สะท้อนลักษณะศิลปะแนวร่วมด้วยช่วยคิดไว้ได้อย่างน่าตื่นตา ไร้รูปแบบเรื่องเล่าตายตัวทั่วไป มีเพียงกล้อง 16 มม. ที่เจ้ยแบกกล้องตามถ่ายชาวบ้านของแต่ละภาคทั่วไทย รู้เห็นชีวิตประจำวันสุดแสนธรรมดาของเขาเหล่านั้น ก่อนที่หนังจะก้าวข้ามไปมาระหว่างประสบการณ์จริงกับเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ หนังข่าว ทอล์คโชว์ และจินตนาการมหัศจรรย์ ที่โยนลูกเต๋าให้มนุษย์เดินดินแต่ละราย ได้มีโอกาสด้นสดแต่งเติมนิทาน (คนละ) เรื่องเดียวกัน ซ้ำยังชี้ว่าประสบการณ์ทางศิลปะนั้นแชร์กันได้ ไม่ใช่วรรณะห่างเหินระหว่างหน้ากล้อง หลังกล้อง และคนดู


นักแสดงมือสมัครเล่นของหนังเจ้ย ซึ่งหน้าตาผิวพรรณห่างไกลจากมาตรฐานดาราผิวไข่มุก เป็นกลุ่มคนที่สื่อละครทีวีหรือหนังใหญ่ทั้งหลายแทบจะไม่มีวันมอบคิวให้สิทธิ์และโอกาส ผลงานถัดจากนั้นคือ สุดเสน่หา’, ‘สัตว์ประหลาด’และ ‘แสงศตวรรษ’ ซึ่งยังคงล้อมรายด้วยกลุ่มดาวโนเนม ยิ่งมีแต่ตอกย้ำว่าที่ทางของหนังก้าวไกลไม่ได้มีแค่เพียงการเล่าเรื่อง เร้าอารมณ์ มอบคติสอนใจ เป็นปากเสียงของชุมชน อวดฉลาดด้วยสไตล์กล้องหรือบทพูดคมคาย หรือสั่งเสียคนดูด้วยศีลธรรมอัดเม็ด เจ้ย นั้นชอบเล่นล้อเรื่องจริงกับเรื่องมายาอยู่เสมอ แถมยังกล้าปฏิเสธการผูกขาดจากระบบดารา ค่ายหนัง หรือแม้กระทั่งเงินบาท อีกทั้งบทหนังสำเร็จรูป หรือบทประพันธ์ดัดแปลง ที่เคยเป็นเครื่องการันตีหนังไทยคุณภาพ ก็หาใช่ข้อแม้สำคัญอีกต่อไป

เจ้ย ทำหนังด้วยวิญญาณของนักค้นคว้าตลอดกระบวนการทำหนัง เขาสนุกกับการค้นหามากกว่าการค้นพบ อันว่านักแสดงชาวบ้าน ทีมงาน โลเกชั่น เรื่องราวที่พร้อมจะสับเซ็ทถ่ายเทไปมานั้น ต่างก็มีอิทธิพลต่อตัวหนังได้ตลอดเวลา ทั้งยังช่วยให้เขามองเห็นตัวเองและคนรอบข้างได้ชัดเจนขึ้น เป็นการเก็บรายละเอียดสัมผัสทางอารมณ์ เฝ้ามองอารมณ์ขันเรียบง่ายในชีวิตแบบพื้น ๆ ซึ่งยืดหยุ่นกว่าการยึดติดกับบริบททางความคิดที่วางแผนตายตัวล่วงหน้า เพราะนั่นอาจหมายถึงการพลาดโอกาสเปิดตาใสมองโลกอย่างพิศวงตื่นรู้ ไวต่อการสังเกตการณ์ ปลอดจากนิสัยชอบตัดสินถูกผิด เพราะการเป็น ‘นักเรียนชีวิต’ รับฟังธรรมชาติ วัฏจักรความเป็นอยู่ ความเชื่อของผู้คนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และที่สำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่าก็คือ การดูหมิ่นเหยียดหยาม เยาะเย้ยเสียดสี เปิดโปงความงมงาย ความชั่วร้ายของบุคคล และองค์กรใดนั้นช่างห่างไกลเหลือเกิน ทั้งจากตัวหนัง ความสนใจ และบุคลิกนิสัยของเจ้ย เท่าที่ผมได้รู้จักมาตั้งแต่ตอนลั่นกล้อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’


หลายคนล้อเลียนเจ้ย ว่าดัดจริตทำหนังดูยาก บ้างก็หาว่าทำหนังไม่เป็น บ้างก็หาว่าทำหนังเอาใจฝรั่งหัวสูง ซึ่งข้อกล่าวหากลุ่มนี้ผมพอเข้าใจได้ เพราะว่าหนังเจ้ยไม่เคยเน้นเล่าเรื่องราว หลายฉากเป็นเพียงภวังค์ ความคิดฝันที่ไหลเลื่อนไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งเอื้อนเอ่ยทิ้งน้ำหนักสละสลวยดั่งนักกลอนเอก คนดูหลายคนจึงอาจอึดอัดใจ หากนำแว่นการดูหนังวิเคราะห์วรรณกรรมตามหลักสูตรมาใช้วัดคุณค่า เช่น การพัฒนาตัวละคร สร้างความขัดแย้ง โครงสร้างเรื่องเล่า 3 องก์ ตลอดจนการคลี่คลายเรื่องแบบตีสรุป พร้อมคติธรรม

น่าเสียดายที่เราคนดูหนัง กลับคุ้นเคยกับภาพชีวิตไทยชาวบ้านในลักษณะงดงามพาฝัน สังคมแย้มยิ้มปรองดอง หรือไม่ก็อิงแอบหาหนังที่ทุกอณูชีวิตจะต้องระห่ำใจมาร ขันแข่งแก่งแย่งจนทำให้พวกเราละเลยความเรียบง่ายประจำวันของชีวิต ตื่นตูมปฏิเสธฉากพระเล่นกีต้าร์ แพทย์เกิดอารมณ์เพศ หมอจิบเหล้าซึ่ง เจ้ย นำเสนอในลักษณะไม่ขับเน้น ไม่จับจ้อง ไม่หวังกระตุ้นต่อมอารมณ์ตุ้มติ่ม ต่างกันโลดจากที่ โกยผีแต๋ว หมอซ้งติงต๊อง เท้าพระพรมหน้าโยม และตลกหยาบโลนได้กระหน่ำโสตประสาทคนดูหนังไทยมานับโกฏิปี

คงวิเศษนัก หากเราเปิดใจว่า หนังนั้นสามารถมีอิสระเฉไฉได้ดั่งปลายพู่กัน เราควรใจกว้างยอมรับว่าหนังที่ดีไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดให้สรุปความ ถกเถียงปรัชญา ตีแผ่บุคลิกตัวละครอย่างเจาะลึก เพราะบางครั้งแค่การเดินเคียงคู่ แอบฟังตัวละครเกี้ยวพากันอย่างละเมียดละไมชั่วครู่ยามก็น่าจะเพียงพอแล้ว หนังที่มีค่าไม่จำเป็นต้องตอบคำถามสำคัญ สู่รู้ไปทุกเรื่อง หรือห่วงใยมนุษยชาติอย่างออกหน้าโอเวอร์ เพราะไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล ทหาร พระ เกย์ นักร้อง หรือหญิงชาวบ้านวัยกลางคน ทุกคนก็เป็นเพียงหลายชีวิตที่พบปะทักทาย แลกเปลี่ยนความเห็น พูดคุยหยอกเอินกันได้ แม้แต่หมอโรงพยาบาลซึ่งกำลังรักษาหลวงพี่ (ใน ‘แสงศตวรรษ’) ก็อาจสลับตำแหน่งกลายเป็นลูกค้ายาแผนโบราณของพระท่านได้เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นอารมณ์ขันในชีวิตพื้น ๆ ที่ชาวบ้านเจนตา เพียงแค่คนเราไม่ตั้งแง่ วางมาดเท่เป็นรูปปั้นพนักงานตัวอย่างกันตลอด 24 ชั่วโมง ทุกคนก็สามารถนั่งขำกันอย่างสมสุข เช่นเดียวกับคนดูหนัง 200 กว่าคนที่ชม ‘แสงศตวรรษ’ ในรอบสื่อมวลชน

หากเราไม่นั่งเกร็งกับการดูหนังประเภทเอาความจนเกินไป เรื่องราวครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ นั้นอาจจะไม่ใช่ภาระหนักหนานัก ลองมองใหม่ดูบ้างว่าเจ้าครึ่งหลังของหนัง 2 เรื่องนั้นอาจเป็นแค่ภาพกลับ / สลับร่าง / แปลงร่าง ที่มีทั้งความเหมือนและความต่างของบุคคล หรือกลุ่มตัวละครเดียวกัน และมันสะท้อนภาพฝัน ความโหยหาที่พลิกผันคาบเกี่ยวระหว่างความทรงจำกับแฟนตาซี เพราะหนังนั้นเป็นได้ทั้งภาพจริงและภาพเปรียบเปรย ขออย่ายึดถือตายตัวกับภาพถ่ายของจริงจนเกินงาม เพราะศิลปะของแท้นั้นมีคุณสมบัติทางนามธรรมที่สามารถถ่ายทอด “ให้เห็นในสิ่งที่ไม่ได้โชว์ให้เห็น” คล้ายคำคมของ โจนาธาน สวิฟต์

เอกลักษณ์ของหนังเจ้ย คือย้ำให้เราตระหนักถึงความมหัศจรรย์ของโลกที่ฟ้าประทานโสตประสาท ดวงตา หู ให้เรารับรู้โลกสวยงาม รู้สึกถึงความลึกลับ ปริศนา อันตราย มนต์เสน่ห์ของจินตนาการและธรรมชาติ โดยใช้สื่อภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวที่เหมาะเหม็งในการบันทึกภาพชีวิตของคนยุคใหม่ อย่างยากที่ศิลปะแขนงอื่นจะทำได้เทียมเท่า และในตอนจบของหนัง แสงศตวรรษ ก็เช่นเดียวกับ ดอกฟ้า ที่เจ้ย ถอยโฟกัสออกจากกลุ่มตัวละครสมมติ กลับไปหาความงามในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน (และทีมงานหลังกล้อง) ด้วยการทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกันในสวน คล้ายกับที่ เฟเดริโก้ เฟลลีนี่ เคยนำตัวละครในโลกจินตนาการของเขาออกมาเดินนวยนาดบนแคทวอล์ควงกลม เพื่อสะท้อนวงจรสุขนาฏกรรมทบบรรจบในตอนท้ายของ 8 ½ (แปดครึ่ง)

อนาถใจนักว่าการรอคอยมานานกว่า 20 ปีของผม วันที่คนไทยฝีมือระดับ Master ของโลกจะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ สมกับที่หนังลีลากวีเรื่อง ‘สัตว์ประหลาด’ และ ‘แสงศตวรรษ’ นั้นงดงามทัดเทียมกับกลอนภาพชั้นครูเรื่อง The Mirror ของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้, Amarcord ของ เฟลลีนี่ และ Persona ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ทำไมประเทศนักเลงใจเสี่ยอย่างเราจึงขาดนายทุนไทยใจกล้า ทำไมเราต้องเสียดสีถากถางเจ้ยเพียงเพราะหนังเขาไม่สอพลอคนดู ทำไมเราจึงผลักไสเขาไปดิ้นรนหาการอุปการะจากต่างชาติ ซ้ำยังไม่มีโอกาสฉายผลงานฉบับสมบูรณ์ให้คนไทยด้วยกันได้ชมในโรงภาพยนตร์อีกต่างหาก
---แล้วเราก็ทำบาปกับอัจฉริยะตัวจริงอีกครั้ง....และอีกครั้ง เช่นเดียวกับคนไทยมีฝีมือรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งยากจะเลี้ยงโต ซ้ำรังแต่จะหาพื้นที่ยืนของตัวเองได้อย่างยากเย็น ครั้นเมื่อยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเองได้เมื่อไร ก็คงต้องเตรียมตัวถูกทวงบุญคุณว่าการเป็นคนไทยที่ดีนั้น ต้องพลีกายถวายท้ายให้แผ่นดินแม่บ้าง

(ตีพิมพ์ใน : กรุงเทพธุรกิจ ฯ คอลัมน์จุดประกาย วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2550)

6/5/08

เทศกาลภาพยนตร์และการสัมมนาเรื่องความพิการ 2008


แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทยนิตยสาร BIOSCOPE และภาคีเครือข่ายฯ

ขอเชิญร่วมงาน Disability Film Festival & Seminar 2008

เทศกาลภาพยนตร์และการสัมมนาเรื่องความพิการ 2008


+ 5 หนังสั้นเข้ารอบสุดท้าย จากการประกวดหนังสั้น หัวข้อ ความพิการ

+ 5 สุดยอดหนังนานาชาติ ที่เล่าเรื่องความพิการทั้งบันเทิงและบันดาลใจ

+ สัมมนาเชิงวิชาการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องคนพิการ

+ นิทรรศการ งานวิจัย จำหน่ายสินค้า จากคนพิการ

และกิจกรรมแสดงความสามารถของคนพิการ อีกมากมาย

วันที่ 20-21 มิถุนายนนี้ เวลา 10.00 - 19.00 น. ณ Hall โรงแรม Centara Grand และห้อง Lotus Suite 1-7 ชั้น 22 เซ็นทรัลเวิลด์


ชวนดูหนังดี หาดูฟรีที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว!!!

- In the land of the Deaf :สารคดีเกี่ยวกับเด็กหูหนวก

- Music Within : หนังที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้พิการทางการได้ยิน

- Emmanuel Gigt : สารคดีของคนขาพิการที่ปั่นจักรยาน

- Every Little Thing : สารคดีการรักษาผู้พิการทางจิตด้วยศิลปะ


*หนังทุกเรื่องมีซับไตเติ้ลภาษาไทยสำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางงวันและอาหารว่างในวันงานโดยส่งชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ มาที่ fuse.bioscope@gmail.comภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2551

6/3/08

101 มนัสรำลึก :ฉายหนัง คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง


101 มนัสรำลึก :ฉายหนัง คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง

เนื่องในวันที่ 10 มิถุนายน 2551 จะครบวาระ ครบ 101 ปี มนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสันผู้ตีพิมพ์เรื่องสั้นหลายร้อยเรื่องตลอดชีวิตการทำงาน เจ้าของเรื่องสั้นอย่าง จับตาย ท่อนแขนนางรำ และ ซาเก๊าะ

ร้านหนัง(สือ) 2521 ชวนชม ‘คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง' ภาพยนตร์สั้นโดย ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ สร้างจากเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นแห่สยามประเทศ ฉายพร้อมกันทั้งเหนือ - ใต้ (ที่เชียงใหม่ ฉายที่'ร้านเล่า') ชมก่อนกรุงเทพ แบบป่าล้อมเมือง พร้อมร่วมวงเสวนา ‘มนัสรำลึก' กับนักเขียนภูเก็ต ในวันที่ 10 มิถุนายน 2551 19.00 น.

19.00น. : ชม คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง หนังสั้นจากเรื่องสั้นของ มันส จรรยงค์
19.40 น. : เสวนา BOOKCLUB ครั้งที่ 1 ‘ มนัส จรรยงค์ รำลึก ‘ กับ อ.เสน่ห์ วงศ์กำแหง , วันเสาร์ เชิงศรี ขวัญยืน ลูกจันทร์ และ สมชาย บำรุงวงศ์ นักเขียนชาวภูเก็ต

พร้อมกันนี้ ร้านหนัง(สือ) 2521 ขอชวนเชิญ นักอ่าน นักดูหนัง และ ผู้สนใจทุกท่าน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมทั้ง นำหนังสือของมนัส จรรยงค์ ในมือท่าน มาแลกเปลี่ยน เพื่อจัดนิทรรศการ ปกหนังสือมนัส จรรยงค์ แบบวันเดียวจบ!

พบกันที่ ร้านหนัง(สือ)2521 วันอังคารที่ 10 มิถุนายนนี้ หนึ่งทุ่มตรงเป็นต้นไป!