โดย สนธยา ทรัพย์เย็น filmvirus@yahoo.com

หนุ่มเจ้ยฝากฝีมือระบือโลกมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วเมื่อกองทุนฮิวเบิร์ต บาลส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ออกทุนสร้าง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ หนังขาวดำรูปแบบพิสดารซึ่งแจ้งเกิดที่เทศกาลหนังร็อตเตอร์ดาม เพราะนี่คืองานที่สะท้อนลักษณะศิลปะแนวร่วมด้วยช่วยคิดไว้ได้อย่างน่าตื่นตา ไร้รูปแบบเรื่องเล่าตายตัวทั่วไป มีเพียงกล้อง 16 มม. ที่เจ้ยแบกกล้องตามถ่ายชาวบ้านของแต่ละภาคทั่วไทย รู้เห็นชีวิตประจำวันสุดแสนธรรมดาของเขาเหล่านั้น ก่อนที่หนังจะก้าวข้ามไปมาระหว่างประสบการณ์จริงกับเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ หนังข่าว ทอล์คโชว์ และจินตนาการมหัศจรรย์ ที่โยนลูกเต๋าให้มนุษย์เดินดินแต่ละราย ได้มีโอกาสด้นสดแต่งเติมนิทาน (คนละ) เรื่องเดียวกัน ซ้ำยังชี้ว่าประสบการณ์ทางศิลปะนั้นแชร์กันได้ ไม่ใช่วรรณะห่างเหินระหว่างหน้ากล้อง หลังกล้อง และคนดู
นักแสดงมือสมัครเล่นของหนังเจ้ย ซึ่งหน้าตาผิวพรรณห่างไกลจากมาตรฐานดาราผิวไข่มุก เป็นกลุ่มคนที่สื่อละครทีวีหรือหนังใหญ่ทั้งหลายแทบจะไม่มีวันมอบคิวให้สิทธิ์และโอกาส ผลงานถัดจากนั้นคือ ‘สุดเสน่หา’, ‘สัตว์ประหลาด’และ ‘แสงศตวรรษ’ ซึ่งยังคงล้อมรายด้วยกลุ่มดาวโนเนม ยิ่งมีแต่ตอกย้ำว่าที่ทางของหนังก้าวไกลไม่ได้มีแค่เพียงการเล่าเรื่อง เร้าอารมณ์ มอบคติสอนใจ เป็นปากเสียงของชุมชน อวดฉลาดด้วยสไตล์กล้องหรือบทพูดคมคาย หรือสั่งเสียคนดูด้วยศีลธรรมอัดเม็ด เจ้ย นั้นชอบเล่นล้อเรื่องจริงกับเรื่องมายาอยู่เสมอ แถมยังกล้าปฏิเสธการผูกขาดจากระบบดารา ค่ายหนัง หรือแม้กระทั่งเงินบาท อีกทั้งบทหนังสำเร็จรูป หรือบทประพันธ์ดัดแปลง ที่เคยเป็นเครื่องการันตีหนังไทยคุณภาพ ก็หาใช่ข้อแม้สำคัญอีกต่อไป

หลายคนล้อเลียนเจ้ย ว่าดัดจริตทำหนังดูยาก บ้างก็หาว่าทำหนังไม่เป็น บ้างก็หาว่าทำหนังเอาใจฝรั่งหัวสูง ซึ่งข้อกล่าวหากลุ่มนี้ผมพอเข้าใจได้ เพราะว่าหนังเจ้ยไม่เคยเน้นเล่าเรื่องราว หลายฉากเป็นเพียงภวังค์ ความคิดฝันที่ไหลเลื่อนไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งเอื้อนเอ่ยทิ้งน้ำหนักสละสลวยดั่งนักกลอนเอก คนดูหลายคนจึงอาจอึดอัดใจ หากนำแว่นการดูหนังวิเคราะห์วรรณกรรมตามหลักสูตรมาใช้วัดคุณค่า เช่น การพัฒนาตัวละคร สร้างความขัดแย้ง โครงสร้างเรื่องเล่า 3 องก์ ตลอดจนการคลี่คลายเรื่องแบบตีสรุป พร้อมคติธรรม
น่าเสียดายที่เราคนดูหนัง กลับคุ้นเคยกับภาพชีวิตไทยชาวบ้านในลักษณะงดงามพาฝัน สังคมแย้มยิ้มปรองดอง หรือไม่ก็อิงแอบหาหนังที่ทุกอณูชีวิตจะต้องระห่ำใจมาร ขันแข่งแก่งแย่งจนทำให้พวกเราละเลยความเรียบง่ายประจำวันของชีวิต ตื่นตูมปฏิเสธฉากพระเล่นกีต้าร์ แพทย์เกิดอารมณ์เพศ หมอจิบเหล้าซึ่ง เจ้ย นำเสนอในลักษณะไม่ขับเน้น ไม่จับจ้อง ไม่หวังกระตุ้นต่อมอารมณ์ตุ้มติ่ม ต่างกันโลดจากที่ โกยผีแต๋ว หมอซ้งติงต๊อง เท้าพระพรมหน้าโยม และตลกหยาบโลนได้กระหน่ำโสตประสาทคนดูหนังไทยมานับโกฏิปี

หากเราไม่นั่งเกร็งกับการดูหนังประเภทเอาความจนเกินไป เรื่องราวครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ นั้นอาจจะไม่ใช่ภาระหนักหนานัก ลองมองใหม่ดูบ้างว่าเจ้าครึ่งหลังของหนัง 2 เรื่องนั้นอาจเป็นแค่ภาพกลับ / สลับร่าง / แปลงร่าง ที่มีทั้งความเหมือนและความต่างของบุคคล หรือกลุ่มตัวละครเดียวกัน และมันสะท้อนภาพฝัน ความโหยหาที่พลิกผันคาบเกี่ยวระหว่างความทรงจำกับแฟนตาซี เพราะหนังนั้นเป็นได้ทั้งภาพจริงและภาพเปรียบเปรย ขออย่ายึดถือตายตัวกับภาพถ่ายของจริงจนเกินงาม เพราะศิลปะของแท้นั้นมีคุณสมบัติทางนามธรรมที่สามารถถ่ายทอด “ให้เห็นในสิ่งที่ไม่ได้โชว์ให้เห็น” คล้ายคำคมของ โจนาธาน สวิฟต์

อนาถใจนักว่าการรอคอยมานานกว่า 20 ปีของผม วันที่คนไทยฝีมือระดับ Master ของโลกจะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ สมกับที่หนังลีลากวีเรื่อง ‘สัตว์ประหลาด’ และ ‘แสงศตวรรษ’ นั้นงดงามทัดเทียมกับกลอนภาพชั้นครูเรื่อง The Mirror ของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้, Amarcord ของ เฟลลีนี่ และ Persona ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ทำไมประเทศนักเลงใจเสี่ยอย่างเราจึงขาดนายทุนไทยใจกล้า ทำไมเราต้องเสียดสีถากถางเจ้ยเพียงเพราะหนังเขาไม่สอพลอคนดู ทำไมเราจึงผลักไสเขาไปดิ้นรนหาการอุปการะจากต่างชาติ ซ้ำยังไม่มีโอกาสฉายผลงานฉบับสมบูรณ์ให้คนไทยด้วยกันได้ชมในโรงภาพยนตร์อีกต่างหาก
---แล้วเราก็ทำบาปกับอัจฉริยะตัวจริงอีกครั้ง....และอีกครั้ง เช่นเดียวกับคนไทยมีฝีมือรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งยากจะเลี้ยงโต ซ้ำรังแต่จะหาพื้นที่ยืนของตัวเองได้อย่างยากเย็น ครั้นเมื่อยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเองได้เมื่อไร ก็คงต้องเตรียมตัวถูกทวงบุญคุณว่าการเป็นคนไทยที่ดีนั้น ต้องพลีกายถวายท้ายให้แผ่นดินแม่บ้าง
(ตีพิมพ์ใน : กรุงเทพธุรกิจ ฯ คอลัมน์จุดประกาย วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2550)
1 comment:
ไม่รู้มีคนบอกพี่แล้วยังว่า ในหนังเรื่อง “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” เอ๊ย ไม่ใช่ ในหนังเรื่อง รักสามเศร้า (THE LAST MOMENT) (2008, Yuthlert Sippapak, B+) ตัวละครในหนังอ่านหนังสือ “สัตว์วิกาล” ด้วย
Post a Comment