8/31/07

ALEXANDER KLUGE (ตอน 1)

Alexander Kluge
ภูผาแห่ง NEW GERMAN CINEMA (ตอน 1)
โดย อุทิศ เหมะมูล

คอลัมน์นี้เคยเอ่ยถึงหนังจากประเทศเยอรมันมาก็มาก มีไม่น้อยที่กล่าวถึงหนังจากกลุ่ม New German Cinema (1960-1980) ซึ่งนักสร้างหนังรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้นที่นักดูหนังรู้จักกันดีคือ Rainer Werner Fassbinder, Werner Herzog, Volker Schlöndorff และ Wim Wenders ถึงเวลาแล้วที่จะทำความรู้จักกับอีกหนึ่งหักหอกคนสำคัญ นั่นคือผู้กำกับ Alexander Kluge ผู้กำกับผู้เป็นเสมือนคนทำคลอดกลุ่ม New German Cinema ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีบทบาทและสถานภาพหลากหลายที่น่าสรรเสริญซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป เขาเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งผู้หลบอยู่ในเงาของประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมแห่งเยอรมนี ที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำความรู้จักและเข้าใจ ผลงานและตัวตนของเขามากพอ



คอลัมน์นี้จึงขอเปิดพื้นที่ให้กับอีกหนึ่งผู้กำกับด้อยโอกาส ที่นักดูหนังทั้งหลายน่าจะรับเขาไว้ในอ้อมใจ เราจะทำความรู้จักเขาอย่างคร่าวๆ ผ่านกิจกรรมกับผลงานที่เขาสร้างไว้จำนวนหนึ่ง ด้วยบทความ 4 ตอนจบ

อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ศิลปินมากพลังความสร้างสรรค์ผู้นี้ มีบทบาทเป็นทั้งผู้กำกับหนัง นักเขียน นักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้ผลักดันการแจ้งเกิดของผู้กำกับเยอรมันเลือดใหม่ ทว่าบทบาทที่คนทั่วไปรู้จักกันดีคือ นักเขียนกับนักสร้างหนัง ในฐานะนักเขียนคลูเก้อมีผลงานตีพิมพ์ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Group 47 (Gruppe 47) กลุ่มวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของเยอรมันสมัยนั้น ซึ่งนักเขียนสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Heinrich Böll (พลเรือนเหมือนกัน) Günter Grass (กลองสังกะสี) นักเขียนสองท่านนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม Erich Kästner (เอมิลยอดนักสืบ) Siegfried Lenz ฯลฯ




ส่วนในบทบาทนักสร้างหนังนั้น คลูเก้อเริ่มต้นขยับขยายบทบาทตัวเองจากนักเขียนสู่นักวิชาการ ผู้มีบทความแถลงไขความเป็นไปของสังคมเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเสียงสำนึกที่เปิดเผยให้เห็นความน่าละอายใจในฐานะส่วนหนึ่งของคนเยอรมันกระทำต่อชาวโลกในช่วงสงคราม คลูเก้อก็มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับกึนเทอร์ กราสส์ ผู้เรียกร้องให้ชาวเยอรมันเผชิญหน้ากับความละอายใจด้วยความสำนึกเสียใจ


บ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนต่างหันหน้าหนีความพ่ายแพ้ย่อยยับและบ้างก็ไม่ยอมรับผิดกับสิ่งที่ฮิตเล่อร์ผู้นำของพวกเขาได้ทำไว้ผ่านระบบนาซีเยอรมัน ในฐานะตัวแทนเลือดใหม่แห่งศิลปวัฒนธรรม คลูเก้อเรียกร้องให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความจริงที่ปรากฏ เฉพาะอย่างยิ่งมหรสพด้านภาพยนตร์ก่อนการเกิด New German Cinema นั้น หนังเยอรมันย้อนกลับไประลึกถึงความรื่นรมย์รุ่มรวยในศตวรรษก่อน ความเรียบง่ายเพียงพอแบบภูมิใจในถิ่นเกิด หนังตลกเบาสมอง และหนังเพลง ซึ่งพร้อมใจกันหันหน้าหนีความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคมขณะนั้น


ในเวลานั้นคลูเก้อมีหนังสั้นเรื่อง BRUTALITY IN STONE หนังสั้นเกี่ยวกับความน่าขนพองสยองเกล้าของสถาปัตยกรรมอาณาจักรไรท์ของฮิตเล่อร์ (จะขอพูดถึงในวาระต่อไป) ซึ่งได้รับความสนใจ เสียงชื่นชม และรางวัลจากเทศกาลหนัง สื่อมวลชนจากต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจการเคลื่อนไหวของนักสร้างหนังเลือดใหม่แห่งเยอรมันบ้างแล้ว เหตุดังนี้เอง ต่อมา คลูเก้อและกลุ่มพวกพ้องที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงได้เขียนบทความ ‘แถลงการณ์โอเบอร์เฮาเซ่น’ เพื่อเปิดที่ทางให้กับนักสร้างหนังรุ่นใหม่มีพื้นที่ทางสังคมและได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพิ่มมากขึ้น

แถลงการณ์ดังกล่าวประกาศ ณ เทศกาลหนังสั้นนานาชาติเมืองโฮเบอร์เฮาเซ่น วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1962 โดยมีกลุ่มผู้กำกับเลือดใหม่ 26 คนร่วมลงนามเรียกร้อง ซึ่งประโยคสุดท้ายของถ้อยแถลงการณ์ กลายเป็นประโยคประวัติศาสตร์หนังเยอรมันไปทันที

"The old cinema is dead. We believe in the new cinema"
(หนังรุ่นเก่าตายแล้ว เราเชื่อในหนังของคนรุ่นใหม่)

รัฐบาลเยอรมันสนองรับแถลงการณ์ดังกล่าวโดยจัดตั้ง Board of Young German Film ในปี 1965 ให้งบประมาณในการสร้างหนังจำนวนหนึ่งในแต่ละปี ทั้งนี้อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอนุมัติผลงาน และพร้อมผลิตผลงานออกสู่สายตาชาวโลกให้เห็นถึงศักยภาพของหนังเยอรมันเลือดใหม่


นี่คือที่มาของ New German Cinema โดยมีแกนนำคนสำคัญอย่าง อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อเป็นตัวขับเคลื่อน คลูเก้อมองเห็นความสำเร็จอย่างล้นหลามผ่านหนังของเพื่อนพ้องสมาชิกอย่าง Aguirre, the Wrath of God ของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก Fear Eats the Soul และ The Marriage of Maria Braun ของ ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ King of the Road และ The American Friend รวมถึง Paris, Texas ของวิม เวนเดอร์ส กระทั่ง The Tin Drum ของ โฟลเกอร์ ชเลินดอล์ฟ

ในส่วนผลงานของคลูเก้อเองที่สร้างขึ้นในสายกระแสนี้ก็คือ Yesterday Girl หนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขาในปี 1966 ที่ประสบความสำเร็จบนเวทีนานาชาติไม่แพ้กัน ทั้งรางวัลในเทศกาลหนังเยอรมนีบ้านเกิดตัวเอง และเวนิซฟิล์มฯ



แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกาลต่อมาๆ ชื่อชั้นของอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อกลับค่อยๆ เงียบหาย ค่อยๆ หลบเร้นตัวเองอย่างเอียงอายไปอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพื่อนสมาชิก จนนานวันเข้าชื่อของเขาก็ถูกกลบกลืนไปกับกาลเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยหลายเหตุปัจจัย ประการแรกสุดคลูเก้อให้ความใส่ใจอย่างเข้มเครียดจริงจังกับสภาพสังคมการเมืองของบ้านเกิด จนเปรียบประหนึ่งเล่นบทนักวิจัยแห่งชาติ มากกว่าจะเปิดตัวเองไปสู่ประเด็นที่เป็นสากล เช่นสภาวะอารมณ์ความรู้สึกร่วมสากลที่สังคมโลกสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ประการต่อมา หนังของคลูเก้อมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างยิ่ง ซึ่งยากแก่การได้ใจคนดูหมู่มาก ยากแก่การเข้าถึงและตีความ ด้วยเป็นนักทดลองด้านภาพยนตร์ (ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังเพี้ยนลึกของ ฌอง ลุค โกดาร์)


หนังของคลูเก้อมีการเล่นแง่ เลียนล้อ เล่นกับอารมณ์หลากหลายซึ่งจงใจไม่ปะติดปะต่อเรื่องราว ไม่เหมือนหนังทั่วไปที่สามารถตามติดไปได้ตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบเรื่อง คลูเก้อเล่นกับหนังของเขา เช่นเดียวกับนักเล่นแร่แปรธาตุ ผู้หยั่งหาความเป็นไปได้อันหลากล้นทางคุณสมบัติของภาพยนตร์ มากกว่าจะใช้ศักยภาพเพียงเล่าเรื่องลำดับความ

หนังของเขาจึงกลายเป็นจักรวาลทุนน้อยมากกระบวนทัศน์ เป็นแหล่งรวมประเด็นต่างๆ ประดามี ข้อสงสัย ข้อนำเสนอ ข้อชี้แย้ง นำหนังเล่าเรื่องมาเล่าสลับกับภาพประวัติศาสตร์จริงๆ ต่อจากนั้นเบี่ยงเบนไปเล่านิทานเทพนิยาย แทรกคั่นด้วยข้อเขียน คำคม ฯลฯ แต่ทั้งหลายเหล่านี้มีจุดร่วมอย่างหนึ่งก็คือ เขากำลังบอกเล่าประวัติศาสตร์กระจัดกระจาย ที่ยึดโยงขึ้นมาเป็นที่อยู่ที่ยืนของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่มองหาจุดหมายอันเป็นคุณค่าของชีวิต


ความกระจัดกระจายที่ยากแก่การเชื่อมโยงนี้เอง เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังของคลูเก้อ เร้นหายจากการรับรู้ของนักดูหนังไปในที่สุด ทว่าในทางศิลปะแล้ว หนังของคลูเก้อโดดเด่นเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ มากไปกว่านั้น เขาสามารถ ‘เก็บความ’ อันเป็นไปทางสังคมได้อย่างชวนครุ่นคิดและรู้สึกรู้สา

ตอนหน้าเราจะพิจารณาหนัง 4 เรื่อง ต่างยุคสมัยของคลูเก้อ ผ่านผลงานอย่าง BRUTALITY IN STONE, YESTERDAY GIRL, OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE และ THE POWER OF EMOTION น้อยหนึ่งมากกว่าที่กล่าวมาแล้ว ลักษณะโดดเด่นเพิ่มเติมอย่างหนึ่งในหนังคลูเก้อคือ ความมีอารมณ์ขัน ความประชดประชันปราดเปรื่อง และความรื่นรมย์สมสง่า อันมีครบถ้วนในบุรุษเช่นอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ผู้มากปัญญาญาณ

หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Movie Time ติดต่อกัน 4 ฉบับ ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม-19 สิงหาคม 2550

หรืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ โดย สนธยา ทรัพย์เย็น ได้ในฟิล์มไวรัส เล่ม 2

ติดตามชมโปรแกรมภาพยนตร์ของ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ในเดือนกันยายน 2550 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/edward-yang-alexander-kluge.html
และที่เว็บ onopen
http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/2084



ALEXANDER KLUGE (ตอน 2)

Alexander Kluge (ตอน 2)
(เริ่มต้นจาก) ซากสถาน สู่วิญญาณพเนจรของวารวัน

โดย อุทิศ เหมะมูล

หลังจากเกริ่นถึงประวัติคร่าวๆ ถึงผู้กำกับอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อไปเมื่อฉบับที่แล้ว ตอนนี้เราจะมาพิจารณาหนังทั้ง 4 เรื่องของเขา โดยเริ่มต้นจากหนังเรื่องแรก ซึ่งเป็นหนังสั้นกึ่งสารคดีความยาวประมาณ 11 นาที เรื่อง BRUTALITY IN STONE หนังเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยว่าเป็นจุดกำเนิดให้เรามองเห็น โลกทัศน์ของคลูเก้อที่จะดำเนินอย่างแน่วแน่แข็งขันต่อไป ในการนำเสนอประเด็นสภาพสังคม การเมือง ยุคต่อๆ มาของเยอรมัน ซึ่งทอดตัวอยู่ภายใต้เงาของความย่อยยับหลังสิ้นสุดการปกครองของพรรคนาซี


อย่างที่เกริ่นไปฉบับที่แล้ว คลูเก้อเรียกร้องให้คนเยอรมันหันมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่คนเยอรมันเคยเป็นส่วนหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่านั้นคือการสังกัดพรรคนาซีเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเล่อร์ บัดนี้ชาวเยอรมันกลับได้รับความปราชัยสองครั้งซ้อน หนึ่งคือพ่ายแพ้สงคราม สองนั้นเป็นประจักษ์พยานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว คลูเก้อเรียกร้องว่านี่คือสิ่งที่เราไม่อาจหลบเร้นและทำหลงลืมไปได้ หากแต่ต้องหันหน้ามาเผชิญกับความละอายใจอย่างสง่าผ่าเผย

BRUTALITY IN STONE (1961) – ซากสถานแห่งความทะนงตน
หนังจับภาพให้คนดูพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ถึงสถานบัญชาการของพรรคนาซีเยอรมันที่ถูกสร้างขึ้น ณ เมืองนืนแบร์ก โดยหวังจะให้เป็นศูนย์กลาง นครชาวอารยันที่ฮิตเล่อร์หวังใจไว้ หลังความพ่ายแพ้จากสงคราม สถานบัญชาการนี้กลายกลับเป็นอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นหลังดูต่างหน้า เพื่อระลึกถึงความรโหฐานอันน่าครั่นคร้าม ความโอฬารที่น่าขนพอง ความเลือดเย็นของสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างด้วยหินผาซึ่งได้จารึกเลือดเนื้อและความตายของคนหลายแสนคนไว้ในสถาปัตยกรรมนั้น หนังขาวดำเรื่องนี้ฉายฉานโครงสร้างที่เคยรุ่งโรจน์ของมัน เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอ-โรแมนติกที่ตระหง่านง้ำฟ้า



ขณะที่ภาพพาเราสำรวจผ่านขั้นบันได เสาหิน โค้งเพดาน ห้องหับรโหฐาน และต้นเสาที่ยืนเรียงเป็นแถวแนวดั่งทหารองค์รักษ์แสนเกรียงไกร ก็ตัดสลับด้วยเสียงบรรยายอย่างแสนเย็นชาแห่งที่มาของมัน อีกทั้งยังมีเสียงของฮิตเล่อร์ที่ที่ปลุกระดมคนในชาติซึ่งพวกเขาต่างพากันขานรับอย่างพร้อมเพรียง มีเสียงของผู้บังคับบัญชาการแห่งค่ายเอาท์วิทช์ และรายงานการบันทึกซึ่งแจกแจงถึงการกระทำอันเหี้ยมโหดต่อนักโทษชาวยิว ดังนี้ภาพสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ถูกแทรกด้วยเสียงบรรยายของการกระทำอันเลือดเย็น เกิดเป็นความขัดแย้งทางภาพและเสียง ที่ให้ผลต่อการรับรู้ของคนดูในเชิงภาพหลอกหลอน

มากไปกว่านั้นหนังยังพาเราไปดูแบบร่างของสถาปัตยกรรมที่ออกแบบต้นร่างโดยฮิตเล่อร์ จากนั้นถูกขยายเป็นพิมพ์เขียว และอาณาจักรโมเดล ซึ่งหากแล้วเสร็จมันจะกลายเป็นนครที่ยิ่งใหญ่นครหนึ่ง อีกเช่นกันที่แทรกเสียงบรรยายของฮิตเล่อร์ที่ส่อนัยว่า หากเมืองเหล่านี้จะแล้วเสร็จได้ บ้านเมืองจะต้องถูกทำลายทิ้งเสียก่อน ต้องอพยพผู้คนออกไป เพื่อให้อาณาจักรนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น


ภาพและเสียงใน BRUTALITY IN STONE นี้เองส่งผลสะท้านสะเทือนใจต่อการรับรู้ของผู้คน ดึงความทรงจำอันโหดเหี้ยมทารุณนั้นย้อนกลับมาอยู่เบื้องหน้าอีกครั้ง ตอนจบของหนังฉายฉานให้เห็นเศษซากหักพังบางส่วนของมัน แม้เราจะรับผู้ว่าบัดนี้มันเป็นเพียงอนุสรณ์สถานไปแล้วยังไงก็ตาม ทว่าความสูญเสีย เลือดเนื้อวิญญาณ เสียงร่ำไห้ และความหวาดผวานั้น กลับยังแฝงฝังอยู่ในคราบไคลของชั้นหินอย่างไม่อาจลบเลือน

นี้เองคือประวัติศาสตร์ที่คนเยอรมันต้องเผชิญหน้า ประวัติศาสตร์ที่ต้องข้ามพ้นอาการหลอกหลอน สู่การตระหนักถึงการมีอยู่ของอดีต และจะดำเนินชีวิตนับจากจุดนี้อย่างไรต่อไปในอนาคต


YESTERDAY GIRL (1966) วิญญาณพเนจรของวารวัน
‘สิ่งที่แยกเราออกจากวันวานไม่ใช่ห้วงเหว แต่เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป’


นี่คือถ้อยคำขึ้นต้นก่อนหนังเข้าเรื่อง YESTERDAY GIRL หนังยาวเรื่องแรกของคลูเก้อ สานต่อแนวความคิดเดิมเรื่องการเผชิญหน้ากับอดีต ตัวละครที่ต้องรับมือกับภาระทางประวัติศาสตร์อย่างไร้แรงแข็งขืน แต่หาใช่ว่าตัวละครจะไม่พยายามนำพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือจุดหมายที่สูงส่งกว่า

หนังเล่าเรื่องของหญิงสาวชาวยิวผู้ต้องตกระกำลำบากอันเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากช่วงหลังสงคราม นาม อนิต้า กี (Anita G.) สาวซื่อเดียงสา ผู้พาตัวเองออกมาจากเยอรมันตะวันตกมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่ฝั่งตะวันออก ทว่าสภาพสังคมไม่มีที่เหยียบยืนให้เธอเสียแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นยิวตกอับยังพ่วงฐานะเพศหญิง ในสภาพสังคมทั้งหลายแหล่ที่ถูกปกครองโดยเพศชาย ถึงอย่างนั้นอนิต้า กี ก็ไม่เคยแห้งเหือดความหวัง แม้ชีวิตจะต้องถูกเปลี่ยนมือจากอำนาจความเป็นเพศชายในสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า


หลังมาเร่ร่อนอยู่ฝั่งตะวันออก เธอถูกจับข้อหาลักเล็กขโมยน้อย ผู้พิพากษานั่งร่ายความผิดตามตัวบทกฎหมายโดยแทบไม่เคยพิจารณาความจำเป็นของเธอ อนิต้าถูกควบคุมความประพฤติ พอได้งานที่มั่นคงทำกลับถูกไล่ออก พอได้ลิ้มรสความรักเอาใจใส่ก็เป็นเพียงเมียเก็บของคนอื่น มากกว่านั้นเมื่อเธอตั้งท้องกับเขา เขาก็ผลักไสเธอ ชีวิตสิ้นทางแต่ไม่เคยร้างหวัง อนิต้าไล่คว้าจับเอาเท่าที่เธอจะคาดหวังได้จากชีวิต (หรือได้เท่าที่สังคมจะเจียดให้ได้) แต่สุดท้ายเธอก็ต้องเข้าพึ่งพารัฐในสถานดูแลมารดานอกสมรส


เรื่องราวเหล่านี้ตัวผู้เขียนบทความพยายามยึดโยงให้เห็นเป็นเรื่องราวลำดับความ ซึ่งที่จริงแล้ว YESTERDAY GIRL ของคลูเก้อมีลักษณะแผกไปจากการลำดับความให้รู้เรื่องอย่างสิ้นเชิง นอกจากการเล่าเรื่องที่แทรกคั่นด้วยบทบรรยายนิรนาม (เสียงของคลูเก้อเอง) ที่ทั้งบอกให้เราเห็นใจอนิต้า หรือบรรยายสถานการณ์เฉยๆ หรือเสียงบรรยายเย็นชาจงใจไม่ให้คนดูรู้สึกร่วมกับอนิต้ามากนัก ล้วนเป็นจังหวะที่แปลกใหม่ในการเล่นล้อกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูทั้งสิ้น

ตัวหนังที่เข้มข้นด้วยดราม่าและความเครียดเขม็งทางสภาพการณ์ คลูเก้อกลับสับซอยหนังออกเป็นชิ้นๆ แล้วแทรกคั่นด้วยเรื่องราวที่ (บางครั้ง) ไม่เกี่ยวกับตัวเรื่องเอาเลย เช่นการใส่การ์ตูนภาพเกี่ยวกับช้างแมมมอธ เหล่านี้เป็นเสมือนคู่ตรงข้ามของอารมณ์กลับด้าน ซึ่งเล่นล้อขนานไปกับตัวเรื่อง โดยประหนึ่งมีนัยว่า ในความไร้หวังอนิต้าก็ยังมีความหวัง ในเรื่องดราม่าเข้มข้นก็ยังมีภาพฝันดั่งเทพนิยาย ในความสมจริงที่หนังพยายามนำเสนอ คลูเก้อก็สะกิดคนดูตลอดว่ามีบางอย่างที่โป้ปดและเห็นแย้งได้ และในสภาพการณ์ที่คับขันนั้นก็มีอารมณ์ขันที่งอกงามอย่างน่าฉงนใจ


ภาพของอนิต้า กีแบกกระเป๋าเร่ร่อนไปตามเมืองต่างๆ บนถนนหนทางอ้างว้างและไร้คนสนใจ กลายเป็นภาพเอกลักษณ์หนึ่งของหนังเยอรมันสมัยนั้น อันเป็นตัวแทนของคนที่พยายามจะเดินทางออกจากอดีต ที่แม้จุดจบแล้วจะไม่สำเร็จ แต่เธอก็มีหัวจิตหัวใจแห่งความพยายาม เป็นภาพแทนของจิตวิญญาณพเนจรผู้ไถ่ถอนตนเองจากวารวัน

และสิ่งที่อนิต้า กีใน YESTERDAY GIRL ได้เปิดประตูไว้นี้ คนที่จะสานต่อ ยืนหยัดอย่างแข็งขัน จนเรียกได้ว่าสำเร็จในระดับหนึ่งนั้นคือ หญิงสาวนามโรสวิธา บรอนสกี้ ในหนังปี 1973 เรื่อง OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE

ALEXANDER KLUGE (ตอน3)

Alexander Kluge (ตอน3)
OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE
คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย

โดย อุทิศ เหมะมูล

‘คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย’ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ กล่าวประโยคนี้ เมื่อหนังหลายเรื่องที่ผ่านมาของเขา ส่วนใหญ่แล้วตัวนำเรื่องล้วนเป็น เพศหญิง เพศหญิงซึ่งพยายามหาที่ทางให้กับตัวเองในเยอรมันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าเธอพยายามอย่างยิ่งที่จะหาพันธะและจุดหมายให้ตัวเอง แม้นว่าสิ่งที่พวกเธอเลือกกระทำนั้นอาจยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หรือหาความชัดเจนทางจุดหมายแทบไม่ได้ ทว่าเหล่าเธอก็ลงมือทำ ลองผิดลองถูก ซึ่งความผิดพลาดนั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต


การดิ้นรนทั้งอนิต้า กี ใน YESTERDAY GIRL และ โรสวิธา บรอนสกี้ ใน OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE นั้นถูกกลุ่มเฟมินิสต์ต่อต้านและผลักไส เพราะการกระทำอันเหลือรับ (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) และทัศนะของคลูเก้อเอง ที่แม้จะนำเพศหญิงมาเป็นตัวละครนำ แต่เขาก็เหมือนจะกลั่นแกล้งเธอ วางตำแหน่งพวกเธอไม่ให้ได้รับชัยชนะทุกคราวไปในหนังของเขา เหล่านี้กลายเป็นจุดอ่อนให้หนังของคลูเก้อถูกโจมตี ทว่าที่จริงแล้ว เพศหญิงในหนังของเขามีนัยยะที่น่าขบคิดมากกว่าความเป็นเพศ เหล่าเธอคือภาพแทนของเยอรมันยุคเก่าที่เยอรมันยุคใหม่ต้องการปัดภาระรับผิดชอบ

มากยิ่งไปกว่านั้น เจตนาของคลูเก้อที่คมคายยิ่งกลับถูกบิดผันมองไปอีกทางอย่างน่าเสียดาย เพราะ OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE ถูกสร้างขึ้นมาจากผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคลูเก้อเองกับออสการ์ เน็กท์ อันว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงและสถานภาพทางสังคม คลูเก้อเห็นว่า บทบาทของผู้หญิงทั้งในสถานภาพครอบครัวก็เต็มด้วยความขัดแย้ง และทางสังคมเองก็จำกัดบทบาทไม่ให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้เต็มที่ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ได้รับเสรีภาพแท้จริงทั้งในครอบครัวและทางสังคม ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงถูกควบคุมอยู่ร่ำไปในสังคมเยอรมัน

นี่เองเป็นผล ‘บีบ’ ให้พวกเธอแสดงตัวออกมาเพื่อหาที่ทางให้แก่ตัวเอง และการพยายามหาที่ทาง/จุดหมายนี้เอง ก็เป็นได้ทั้ง การเรียกร้องเสรีภาพ การขัดขืน การเห็นแย้ง และการประชดประชันที่ยอกใจสังคมเยอรมัน


“เพื่อจะมีลูกได้เพิ่มขึ้น โรสวิธาจึงทำงานในคลินิกทำแท้ง”
บทเปิดเรื่อง OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE ด้วยเสียงบรรยายของคลูเก้อที่ขัดแย้งทางการรับรู้ของคนดู (อันเป็นลักษณะอย่างเอกของคลูเก้อ ที่ทั้งแสดงความเห็นใจและผักไสตัวละครในรูปประโยคเดียวกัน) ทว่าส่อนัยยะประชดประชันอย่างแสบสันต์

โรสวิธา บรอนสกี้ คุณแม่ลูก 3 วัย 29 ปี ต้องทำงานในคลินิกทำแท้งเพื่อมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ขณะที่ ฟรั้นซ์ บรอนสกี้ สามีของเธอไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวใดๆ เลย เขาสนใจแต่ตัวเองกับงานวิจัยในฐานะนักศึกษา วันๆ เก็บตัวเงียบทำตัวเป็นศาสตราจารย์อยู่ในห้องกับงานวิจัยตลอดชีพของเขา ปล่อยโรสวิธากับลิงทโมน 3 หน่อเจี้ยวจ้าวไปตามประสา และฟรั้นซ์เองก็คอยเอาแต่ต่อว่าโรสวิธาที่ไม่รู้จักดูแลบ้านและลูกๆ เพื่อที่เขาจะได้ทำงานวิจัยอย่างมีสมาธิ



จุดแตกหักของครอบครัวนี้มาถึง เมื่อเพื่อนร่วมงานในคลินิกทำแท้งเกิดทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ผู้ทำแท้งมีอาการติดเชื้อจนเรื่องแดงถึงมือกฎหมาย โรสวิธาโดนหางเลขไปด้วยเมื่อตำรวจมาค้นบ้านของเธอ โรสวิธาให้ฟรั้นซ์ออกรับหน้าแล้วเธอก็แจ้นไปทำลายเครื่องมือทำแท้งซึ่งเป็นหลักฐานอย่างช่ำชอง จุดนี้เองที่ทำให้โรสวิธามองเห็นความเหลือทนของชีวิต เธอลุกขึ้นมาเรียกสิทธิของตัวเองบ้าง โดยเริ่มจากการประชดประชันสามี หากเขาทำงานวิจัยได้ เธอเองก็ย่อมจะทำได้เหมือนกัน

และนับจากนี้ไปโรสวิธากับเพื่อนของเธอก็หันหน้าเข้าสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นนักกิจกรรมปกิณกะที่สังคมแห่งเพศชายเห็นเป็นเรื่องชวนขัน
ฟรั้นซ์ต้องยอมไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในฐานะนักวิจัยของโรงงานที่ชื่อ Beauchamp & Co

ส่วนโรสวิธาเดินหน้าเต็มตัวในฐานะนักกิจกรรม เมื่อเธอไปพบข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับสถิติการตายของเด็กถึงวันละ 3 คน เธอก็คิดสะระตะไปถึงจำนวนมากมาย หากคำนวณเป็นเดือนเป็นปีออกมา เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเธอ จึงได้นำความเข้าพบบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ถึงเหตุร้ายดังกล่าว โรสวิธาเรียกร้องว่าข่าวนี้ต้องขึ้นหน้าหนึ่ง ไม่ใช่เอาไปไว้ในกรอบเล็กๆ ข้างในหนังสือพิมพ์ ฝ่ายบรรณาธิการกลับเห็นขำต่อข้อเรียกร้องของเธอ อีกประเด็นหนึ่งที่เธอเห็นสำคัญก็คือการที่คนใช้แรงงานต้องกินไส้กรอกทุกวี่วันนั้น ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ สะท้อนให้เห็นสุขภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคน โรสวิธานำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อ Beauchamp & Co บริษัทต้นเหตุ แต่ก็ได้รับความขบขันในฐานะเธอเป็นตัวตลกหยุมหยิมกลับคืนมาดุจกัน

“ภาพรวม เราต้องมองภาพรวม” ตัวแทนบริษัทกล่าวขึ้น “เราไม่สนใจเรื่องหยุมหยิม เราต้องมองภาพรวม” นัยความนี้สะท้อนให้เห็นทัศนะของเพศชาย ซึ่งผลักข้อเรียกร้องของโรสวิธาให้กลายเป็นเรื่องหยุมหยิมของเพศหญิง


มันอาจจะเป็นเรื่องหยุมหยิมของผู้ชาย แต่สำหรับโรสวิธาแล้วทำให้เธอมีหลักยึดและค้นพบจุดหมายในชีวิต มีที่เหยียบยืนทางสังคม แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กจ้อยแต่เธอก็ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์นี้

แต่อุดมการณ์ที่ว่าย้อนกลับมาทำร้ายสถานภาพของครอบครัวเธอ เมื่อโรสวิธายืนหยัดกัด Beauchamp & Co ไม่ปล่อย ทางบริษัทก็เลยไล่ฟรั้นซ์ออกจากงานแต่เพียงผู้เดียว ครอบครัวบรอนสกี้ระส่ำระสาย ทางเลือกชีวิตระหว่าง ความมีกินกับอุดมการณ์เข้าปะทะกันอย่างจัง ทว่าโรสวิธาตัดสินใจเลือกหนทางอย่างสง่างามยิ่งแล้ว ที่สามารถตอบโจทย์ช่างประชดประชันของคลูเก้อได้อย่างลึกซึ้งคมคาย

โรสวิธายอมขายไส้กรอก (ที่เธอหยิบเป็นประเด็นมาประท้วง) เพื่อยังรายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกัน กระดาษแถลงการณ์ปลุกระดมคนงานก็สอดแนบไปกับกระดาษห่อไส้กรอกนั้นด้วย นี่จึงเป็นปฏิบัติการบ่อนเซาะเงียบๆ ที่โรสวิธาพอจะยืนหยัดได้ – แม้จะถูกสังเกตการณ์จากสายลับคนหนึ่งอยู่ก็ตาม

OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE ถือเป็นชัยชนะอย่างหนึ่งทางการต่อสู้ของอุดมการณ์ ในท่ามกลางสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เพศหญิง และนี่ถือว่าประเด็นที่คลูเก้อนำเสนอได้ทำสำเร็จแล้ว



หนังเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่นๆ ของคลูเก้อที่ยังคงความมีลูกล่อลูกชนกับคนดู เฉพาะอย่างยิ่งการให้ตัวละครสบตากับคนดูซึ่งหน้านั้น ยิ่งตอกย้ำให้คนดูเป็นส่วนหนึ่งของผู้รู้เห็นโดยปริยาย

อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ ทั้ง YESTERDAY GIRL และ OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE นักแสดงนำหญิงในบท อนิต้า กี กับโรสวิธา บรอนสกี้นั้นคือ อเล็กซานดร้า คลูเก้อ น้องสาวแท้ๆ ของตัวผู้กำกับเอง (และเธอยังจะโผล่มาอีกในหนังหลายๆ เรื่องของเขา) และการได้อเล็กซานดร้ามาเล่นให้นี้ นอกเหนือจากความเข้มข้นในตัวหนังแล้ว การช่างประชดประชัน การเห็นแย้งในตัวเอง การเอาใจและผลักไสตัวละครตลอดเวลา กลับช่วยให้เรารู้สึกถึงการ ‘สัพยอก’ ในฐานะของมิตรภาพ อันส่งผลดีในการเล่นนอกบทอยู่บ่อยครั้ง

การสัพยอกนี้ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนดู ไม่ใช่ในฐานะโลเลเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่รู้สึกดีเมื่อเราได้รับการปฏิบัติอย่างคนใกล้ชิด ซึ่งเสน่ห์ประหลาดนี้เอง กลายกลับเป็นไวยากรณ์เฉพาะทางภาษาหนังของคลูเก้ออย่างแยบยลและได้ใจ

ALEXANDER KLUGE (ตอน 4 - ตอนจบ)

Alexander Kluge (ตอน 4 - ตอนจบ)
THE POWER OF EMOTION
ฤทธานุภาพแห่งอารมณ์รู้สึก

โดย อุทิศ เหมะมูล


THE POWER OF EMOTION คือภาพยนตร์ในปี 1983 ของคลูเก้อ อันนับเป็นหนังขนาดยาวช่วงหลังของเขา ซึ่งนับจากปลายทศวรรษ 80 เป็นต้นไป คลูเก้อหันไปผลิตรายการทีวีอันเกี่ยวกับประเด็นการเมือง ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมถึงหนังสั้นอีกหลายเรื่องจนกระทั่งปัจจุบันนี้

สังเกตได้ว่าหนังช่วงหลังๆ ของเขาเต็มด้วยท่าทีนิ่งขรึม สุขุมรอบคอบในการหยิบจับประเด็นมาพิจารณาอย่างจริงจัง แตกต่างจากหนังช่วงแรกๆ ที่ท่าทีลำดับเรื่องฉับไว เล่าความเร็วไม่รั้งรอคนดู (ในแบบหนังของฌอง-ลุค โกดาร์) เฉพาะอย่างยิ่งใน THE POWER OF EMOTION นั้น หนังนำพาคนดูให้ติดตรึงกับหลากภาพต่างๆ ที่ร้อยเรียงมานำเสนอ ซับซาบอารมณ์รู้สึก ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความครุ่นคิดพินิจนึกในแต่ละฉากแต่ละตอนที่ไหลล่องมาเป็นกระสาย การดูหนังเรื่องนี้จึงมีลักษณะแบบ ‘รู้สึกไปคิดครุ่นไป’ ตลอดเวลาจนจบเรื่อง

ท่าทีชัดแจ้งอย่างนักวิจัยและนักทดลองของคลูเก้อ ปรากฏโดดเด่นในหนังเรื่องนี้เอง ด้วยว่าตัวชื่อหนังก็แสดงเจตนาในการทำความเข้าใจ พลังอำนาจทางอารมณ์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกผู้คน ด้วยการไล่เรียงประวัติศาสตร์มหรสพ อันเป็นสนามทางอารมณ์รู้สึกที่ทรงอิทธิพลยิ่งต่อผู้คน โดยยกละครเวทีในโรงโอเปร่าเฮาส์อันเป็นตัวแทนของศตวรรษที่ 19 และสื่อภาพยนตร์อันเป็นตัวแทนของศตวรรษที่ 20 มาสืบย้อนลำดับความ



ทำไมอารมณ์รู้สึกจึงสำคัญต่อมนุษย์นัก? นั่นคือคำถาม แต่ที่มากกว่านั้นคือ มนุษย์ทุกผู้ล้วนต่างอยากเห็นบทสรุปที่เต็มด้วยความปีติสุขชื่นมื่น ขณะที่โศกนาฏกรรมความสูญเสียกลับสร้างผลสะเทือนตรึงใจได้มากกว่า ดังนั้นวิถีของอารมณ์ที่ว่ามานี้ จึงกลายเป็นแก่นความสำคัญให้กับมหรสพทุกแขนงที่อยู่ในการรับรู้ของเรา ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เจ้าตัวอารมณ์นี้เองที่ใช้ขับเคลื่อนทุกอย่าง ส่งผลให้มันกลายเป็นอำนาจย่างหนึ่งในการโน้มนำคนดู และอำนาจที่ว่านี้เองที่คลูเก้อใช้ตั้งคำถาม วิเคราะห์ และสำรวจ ผ่านทางประวัติศาสตร์มหรสพทรงอิทธิพล 2 สิ่ง คือ ละครโอเปร่า กับ ภาพยนตร์ ในฐานะศิลปะที่เข้ามา ‘บริหารจัดการ’ ตัวเรื่องให้กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม/คนดู อย่างทรงประสิทธิภาพได้อย่างไร

สำหรับคนดู สุดท้ายแล้วมหรสพทุกอย่างมีนัยแห่งความสุขในบั้นปลาย แต่สิ่งที่จู่จับคนดูคือวิบากกรรมระหว่างทาง ทุกคนต่างรู้บทสรุป แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการได้เห็น กระบวนการรับมือกับสภาวการณ์ดังกล่าวของตัวละครไม่ว่าจะในหนังหรือบนเวที กระบวนการจัดการนี้เองคือสิ่งที่ ‘ขับ’ อารมณ์ให้ ‘เคลื่อน’ ไป อันกลายเป็น ท่วงท่า การเคลื่อนไหว ดั่งทำนองและนาฏกรรมบนเวที/จอภาพ


THE POWER OF EMOTION ประกอบขึ้นมาจากภาพหลายส่วนเสี้ยว และเรื่องราวแตกต่างกันหลายสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน หากแต่ยึดโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในฐานะที่มันเป็นบริบทต่างๆ อันประกอบกันเข้าเป็นมหรสพชนิดหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่า หนังแบ่งเป็นตอนๆ โดยให้ชื่อตอนว่า การแสดง การถ่ายทำ บทสนทนา การจัดแสง ฉาก ฯลฯ

ส่วนตัวเรื่องราวกระจัดกระจายในหนังนั้นประกอบกันขึ้นด้วยโศกนาฏกรรมหลากชนิด วิธี และวีถีในการจัดการ มันมีทั้งภาพสารคดีเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารซึ่งมีคนกระโดดลงมาสิ้นชีพยังพื้นถนนเบื้องล่าง ฟุตเตจจากหนังเงียบเกี่ยวกับความตายของเด็กคนหนึ่ง และเกี่ยวกับฉากการพุ่งรบอลังการในดินแดนอียิปต์ จนล่วงมาถึงช่วงสงครามโลก เรื่องเล่าด้วยภาพเกี่ยวกับการล่มสลายของนครบาบิลอน ตัดสลับกับภาพสวยสดในแสงตะวันยามอรุณในเมืองเยอรมนี การตามติดการฝึกซ้อมและแสดงจริงของคณะนักแสดงโอเปร่า

อีกทั้งเรื่องที่คลูเก้อถ่ายทำขึ้นใหม่เพื่อสอดแทรกเข้าไปอีก 3-4 เรื่อง อันได้แก่เรื่องการพิจารณคดีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่ฆ่าสามีด้วยปืน พร้อมกับการไต่สวนที่วกวนหาจุดสรุปความไม่ได้ เกี่ยวกับเซลล์แมนคนหนึ่งที่นึกคะนองพาหญิงสาวที่กินยานอนหลับหวังฆ่าตัวตายไปชำเราในป่าร้าง และเกี่ยวกับแก็งมาเฟียกลุ่มหนึ่งที่ฆาตกรรมชายต่างด้าวเพื่อฉกเพชรไป หลากเรื่องราวทั้งหลายนี้ถูกเล่าความที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน หากแต่ให้คนดูได้พินิจรู้สึกไปกับแต่ละสถานการณ์ที่เหล่าตัวละครประสบ รับมือ และเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร


คำถามที่เป็นแก่นความสำคัญในหนังเรื่องนี้อยู่ตอนต้นเรื่อง เมื่อนักแสดงโอเปร่าคนหนึ่งถูกถามว่า “ทั้งๆ ที่ แสดงโอเปร่าเรื่องนี้มาตั้ง 84 รอบแล้ว ทำไมยังแสดงสีหน้าและอารมณ์แห่งความหวังได้ในองค์ที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าในองค์ที่ 5 จะเป็นจุดจบที่โหดเหี้ยมทารุณ” นักแสดงคนนั้นตอบวกไปวนมาพลอยให้คนถามงงตามไปด้วย เพราะว่าเขาไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ในคำถามนี้ แม้คำตอบจะส่อนัยว่า คนดูชอบตอนจบที่โหดร้าย ทว่านัยความในการตอบวกวนนั้นสะท้อน ‘ความไม่สำคัญของบั้นปลาย’ เพราะจุดจบเป็นสิ่งที่เราคาดหวังจะรู้กันได้ดีอยู่แล้ว ในมหรสพนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่ระหว่างทางต่างหาก เฉกเช่นชีวิตคนเรา ในท้ายที่สุดแล้วทุกคนล้วนต้องตาย แต่สำคัญคือ ตายอย่างไรต่างหาก

คำตอบของนักแสดงโอเปร่านี้พ้องเกี่ยวกับอีกตอนหนึ่ง อันเป็นเรื่องการพิจารณาไต่สวนคดีของหญิงวัยกลางคน เมื่ออัยการซักจำเลยอยู่นั่นแล้วเพื่อจะรู้ให้ได้ว่าเธอฆ่าสามีอย่างไร คำที่เธอตอบก็ออกจะวกวนพอกัน เรื่องตอนนี้จึงมีนัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคำที่ถามนักแสดงโอเปร่า เมื่อคำซักค้านกลายสถานะเป็นเรื่องเล่า และข้อเท็จจริงเองกลับดิ้นรอดไปสู่เรื่องแต่ง

ดังนี้แล้วก็จะเห็นว่า ใน THE POWER OF EMOTION นั้น การร้อยเรียงเรื่องราวในลักษณะสับคละ ส่งผลยังความคลุมเครือและการแปรสภาพระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ซึ่งสอดพ้องกับวิธีการอันเชี่ยวชำนาญของคลูเก้อเองที่ชอบวางตัวเองในหลายสถานภาพ (ในเสียงบรรยายเรื่อง) มีทั้งตั้งข้อสังเกต สนับสนุน เห็นแย้ง แล้วยังเล่นสนุกในการพากย์ทับหนังเงียบจนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่ ทว่าทั้งหมดนี้ ไม่ว่ามันจะดำรงอยู่ทางฝักฝ่ายใดก็ล้วนขึ้นตรงต่อพลังทางอารมณ์รู้สึกที่มีผลกระทบต่อผู้คนทั้งสิ้น


ทั้งหมดนี้คือภาพตัวแทนอย่างคร่าวๆ ของผู้กำกับยิ่งยงแห่งเยอรมัน ภูผาแห่งกลุ่ม New German Cinema นาม อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ผู้ถูกหลงลืมไปอย่างน่าเสียดาย บทความ 4 ตอนนี้คงทำหน้าที่เชิดชูความสามารถของเขาได้เพียงระดับหนึ่ง มากไปกว่านั้นคือหวังใจว่านักดูหนังที่แท้ จะให้การต้อนรับและเปิดใจให้กับหนังของคลูเก้อไม่มากก็น้อย

วาระของบทความนี้เขียนขึ้นเนื่องจากทราบมาว่า เทศกาล Venice Film Festival ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหา – 8 กันยา 2007 นี้ เป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของเทศกาล ซึ่งทางผู้จัดได้อนุมัติให้ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ สร้างภาพยนตร์เรื่องพิเศษเพื่อร่วมฉลองความยิ่งใหญ่ยาวนานของเทศกาลหนังเวนิซ ซึ่งเป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก รวมทั้งยังได้จัดฉายผลงานเก่าของ คลูเก้อ แบบ retrospective เพื่ออุทิศงานครั้งนี้ให้กับเขาอีกโสตหนึ่งด้วย อีกทั้งในปีหน้าสถาบันเกอเธ่เตรียมการจะจัดนิทรรศการและเชิดชูเกียรติอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ

มากไปกว่านั้นคงได้เห็นผลงานเรื่องสั้นของเขาในเร็ววันที่กำลังเตรียมการจัดแปลเป็นภาษาไทย อีกทั้งดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เองก็เตรียมจัดฉายหนังของคลูเก้อในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข่าวแว่วมาว่า นักดูหนังอาจได้พบกับ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อตัวจริง (ยังไม่เป็นที่ตอบรับแน่นอน) อย่างไรก็ตามขอขอบคุณ สถาบันเกอเธ่ (The Goethe Institute) และ ฟิล์มไวรัส (filmvirus) ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล มา ณ ที่นี้ด้วย.

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Movie Time ติดต่อกัน 4 ฉบับ ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม-19 สิงหาคม 2550

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ได้ใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 2

โปรแกรมภาพยนตร์ของ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ในเดือนกันยายน 2550 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/edward-yang-alexander-kluge.html
และที่เว็บ onopen
http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/2084