8/31/07

ALEXANDER KLUGE (ตอน 2)

Alexander Kluge (ตอน 2)
(เริ่มต้นจาก) ซากสถาน สู่วิญญาณพเนจรของวารวัน

โดย อุทิศ เหมะมูล

หลังจากเกริ่นถึงประวัติคร่าวๆ ถึงผู้กำกับอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อไปเมื่อฉบับที่แล้ว ตอนนี้เราจะมาพิจารณาหนังทั้ง 4 เรื่องของเขา โดยเริ่มต้นจากหนังเรื่องแรก ซึ่งเป็นหนังสั้นกึ่งสารคดีความยาวประมาณ 11 นาที เรื่อง BRUTALITY IN STONE หนังเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยว่าเป็นจุดกำเนิดให้เรามองเห็น โลกทัศน์ของคลูเก้อที่จะดำเนินอย่างแน่วแน่แข็งขันต่อไป ในการนำเสนอประเด็นสภาพสังคม การเมือง ยุคต่อๆ มาของเยอรมัน ซึ่งทอดตัวอยู่ภายใต้เงาของความย่อยยับหลังสิ้นสุดการปกครองของพรรคนาซี


อย่างที่เกริ่นไปฉบับที่แล้ว คลูเก้อเรียกร้องให้คนเยอรมันหันมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่คนเยอรมันเคยเป็นส่วนหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่านั้นคือการสังกัดพรรคนาซีเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเล่อร์ บัดนี้ชาวเยอรมันกลับได้รับความปราชัยสองครั้งซ้อน หนึ่งคือพ่ายแพ้สงคราม สองนั้นเป็นประจักษ์พยานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว คลูเก้อเรียกร้องว่านี่คือสิ่งที่เราไม่อาจหลบเร้นและทำหลงลืมไปได้ หากแต่ต้องหันหน้ามาเผชิญกับความละอายใจอย่างสง่าผ่าเผย

BRUTALITY IN STONE (1961) – ซากสถานแห่งความทะนงตน
หนังจับภาพให้คนดูพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ถึงสถานบัญชาการของพรรคนาซีเยอรมันที่ถูกสร้างขึ้น ณ เมืองนืนแบร์ก โดยหวังจะให้เป็นศูนย์กลาง นครชาวอารยันที่ฮิตเล่อร์หวังใจไว้ หลังความพ่ายแพ้จากสงคราม สถานบัญชาการนี้กลายกลับเป็นอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นหลังดูต่างหน้า เพื่อระลึกถึงความรโหฐานอันน่าครั่นคร้าม ความโอฬารที่น่าขนพอง ความเลือดเย็นของสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างด้วยหินผาซึ่งได้จารึกเลือดเนื้อและความตายของคนหลายแสนคนไว้ในสถาปัตยกรรมนั้น หนังขาวดำเรื่องนี้ฉายฉานโครงสร้างที่เคยรุ่งโรจน์ของมัน เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอ-โรแมนติกที่ตระหง่านง้ำฟ้า



ขณะที่ภาพพาเราสำรวจผ่านขั้นบันได เสาหิน โค้งเพดาน ห้องหับรโหฐาน และต้นเสาที่ยืนเรียงเป็นแถวแนวดั่งทหารองค์รักษ์แสนเกรียงไกร ก็ตัดสลับด้วยเสียงบรรยายอย่างแสนเย็นชาแห่งที่มาของมัน อีกทั้งยังมีเสียงของฮิตเล่อร์ที่ที่ปลุกระดมคนในชาติซึ่งพวกเขาต่างพากันขานรับอย่างพร้อมเพรียง มีเสียงของผู้บังคับบัญชาการแห่งค่ายเอาท์วิทช์ และรายงานการบันทึกซึ่งแจกแจงถึงการกระทำอันเหี้ยมโหดต่อนักโทษชาวยิว ดังนี้ภาพสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ถูกแทรกด้วยเสียงบรรยายของการกระทำอันเลือดเย็น เกิดเป็นความขัดแย้งทางภาพและเสียง ที่ให้ผลต่อการรับรู้ของคนดูในเชิงภาพหลอกหลอน

มากไปกว่านั้นหนังยังพาเราไปดูแบบร่างของสถาปัตยกรรมที่ออกแบบต้นร่างโดยฮิตเล่อร์ จากนั้นถูกขยายเป็นพิมพ์เขียว และอาณาจักรโมเดล ซึ่งหากแล้วเสร็จมันจะกลายเป็นนครที่ยิ่งใหญ่นครหนึ่ง อีกเช่นกันที่แทรกเสียงบรรยายของฮิตเล่อร์ที่ส่อนัยว่า หากเมืองเหล่านี้จะแล้วเสร็จได้ บ้านเมืองจะต้องถูกทำลายทิ้งเสียก่อน ต้องอพยพผู้คนออกไป เพื่อให้อาณาจักรนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น


ภาพและเสียงใน BRUTALITY IN STONE นี้เองส่งผลสะท้านสะเทือนใจต่อการรับรู้ของผู้คน ดึงความทรงจำอันโหดเหี้ยมทารุณนั้นย้อนกลับมาอยู่เบื้องหน้าอีกครั้ง ตอนจบของหนังฉายฉานให้เห็นเศษซากหักพังบางส่วนของมัน แม้เราจะรับผู้ว่าบัดนี้มันเป็นเพียงอนุสรณ์สถานไปแล้วยังไงก็ตาม ทว่าความสูญเสีย เลือดเนื้อวิญญาณ เสียงร่ำไห้ และความหวาดผวานั้น กลับยังแฝงฝังอยู่ในคราบไคลของชั้นหินอย่างไม่อาจลบเลือน

นี้เองคือประวัติศาสตร์ที่คนเยอรมันต้องเผชิญหน้า ประวัติศาสตร์ที่ต้องข้ามพ้นอาการหลอกหลอน สู่การตระหนักถึงการมีอยู่ของอดีต และจะดำเนินชีวิตนับจากจุดนี้อย่างไรต่อไปในอนาคต


YESTERDAY GIRL (1966) วิญญาณพเนจรของวารวัน
‘สิ่งที่แยกเราออกจากวันวานไม่ใช่ห้วงเหว แต่เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป’


นี่คือถ้อยคำขึ้นต้นก่อนหนังเข้าเรื่อง YESTERDAY GIRL หนังยาวเรื่องแรกของคลูเก้อ สานต่อแนวความคิดเดิมเรื่องการเผชิญหน้ากับอดีต ตัวละครที่ต้องรับมือกับภาระทางประวัติศาสตร์อย่างไร้แรงแข็งขืน แต่หาใช่ว่าตัวละครจะไม่พยายามนำพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือจุดหมายที่สูงส่งกว่า

หนังเล่าเรื่องของหญิงสาวชาวยิวผู้ต้องตกระกำลำบากอันเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากช่วงหลังสงคราม นาม อนิต้า กี (Anita G.) สาวซื่อเดียงสา ผู้พาตัวเองออกมาจากเยอรมันตะวันตกมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่ฝั่งตะวันออก ทว่าสภาพสังคมไม่มีที่เหยียบยืนให้เธอเสียแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นยิวตกอับยังพ่วงฐานะเพศหญิง ในสภาพสังคมทั้งหลายแหล่ที่ถูกปกครองโดยเพศชาย ถึงอย่างนั้นอนิต้า กี ก็ไม่เคยแห้งเหือดความหวัง แม้ชีวิตจะต้องถูกเปลี่ยนมือจากอำนาจความเป็นเพศชายในสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า


หลังมาเร่ร่อนอยู่ฝั่งตะวันออก เธอถูกจับข้อหาลักเล็กขโมยน้อย ผู้พิพากษานั่งร่ายความผิดตามตัวบทกฎหมายโดยแทบไม่เคยพิจารณาความจำเป็นของเธอ อนิต้าถูกควบคุมความประพฤติ พอได้งานที่มั่นคงทำกลับถูกไล่ออก พอได้ลิ้มรสความรักเอาใจใส่ก็เป็นเพียงเมียเก็บของคนอื่น มากกว่านั้นเมื่อเธอตั้งท้องกับเขา เขาก็ผลักไสเธอ ชีวิตสิ้นทางแต่ไม่เคยร้างหวัง อนิต้าไล่คว้าจับเอาเท่าที่เธอจะคาดหวังได้จากชีวิต (หรือได้เท่าที่สังคมจะเจียดให้ได้) แต่สุดท้ายเธอก็ต้องเข้าพึ่งพารัฐในสถานดูแลมารดานอกสมรส


เรื่องราวเหล่านี้ตัวผู้เขียนบทความพยายามยึดโยงให้เห็นเป็นเรื่องราวลำดับความ ซึ่งที่จริงแล้ว YESTERDAY GIRL ของคลูเก้อมีลักษณะแผกไปจากการลำดับความให้รู้เรื่องอย่างสิ้นเชิง นอกจากการเล่าเรื่องที่แทรกคั่นด้วยบทบรรยายนิรนาม (เสียงของคลูเก้อเอง) ที่ทั้งบอกให้เราเห็นใจอนิต้า หรือบรรยายสถานการณ์เฉยๆ หรือเสียงบรรยายเย็นชาจงใจไม่ให้คนดูรู้สึกร่วมกับอนิต้ามากนัก ล้วนเป็นจังหวะที่แปลกใหม่ในการเล่นล้อกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูทั้งสิ้น

ตัวหนังที่เข้มข้นด้วยดราม่าและความเครียดเขม็งทางสภาพการณ์ คลูเก้อกลับสับซอยหนังออกเป็นชิ้นๆ แล้วแทรกคั่นด้วยเรื่องราวที่ (บางครั้ง) ไม่เกี่ยวกับตัวเรื่องเอาเลย เช่นการใส่การ์ตูนภาพเกี่ยวกับช้างแมมมอธ เหล่านี้เป็นเสมือนคู่ตรงข้ามของอารมณ์กลับด้าน ซึ่งเล่นล้อขนานไปกับตัวเรื่อง โดยประหนึ่งมีนัยว่า ในความไร้หวังอนิต้าก็ยังมีความหวัง ในเรื่องดราม่าเข้มข้นก็ยังมีภาพฝันดั่งเทพนิยาย ในความสมจริงที่หนังพยายามนำเสนอ คลูเก้อก็สะกิดคนดูตลอดว่ามีบางอย่างที่โป้ปดและเห็นแย้งได้ และในสภาพการณ์ที่คับขันนั้นก็มีอารมณ์ขันที่งอกงามอย่างน่าฉงนใจ


ภาพของอนิต้า กีแบกกระเป๋าเร่ร่อนไปตามเมืองต่างๆ บนถนนหนทางอ้างว้างและไร้คนสนใจ กลายเป็นภาพเอกลักษณ์หนึ่งของหนังเยอรมันสมัยนั้น อันเป็นตัวแทนของคนที่พยายามจะเดินทางออกจากอดีต ที่แม้จุดจบแล้วจะไม่สำเร็จ แต่เธอก็มีหัวจิตหัวใจแห่งความพยายาม เป็นภาพแทนของจิตวิญญาณพเนจรผู้ไถ่ถอนตนเองจากวารวัน

และสิ่งที่อนิต้า กีใน YESTERDAY GIRL ได้เปิดประตูไว้นี้ คนที่จะสานต่อ ยืนหยัดอย่างแข็งขัน จนเรียกได้ว่าสำเร็จในระดับหนึ่งนั้นคือ หญิงสาวนามโรสวิธา บรอนสกี้ ในหนังปี 1973 เรื่อง OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE

No comments: