4/23/13

Flicker รีวิวนิยายของ Theodore Roszak โดย ธีรพัฒน์ งาทอง

หมายเหตุจากฟิล์มไวรัส: 

1.  นับจากนิยายเรื่อง Flicker ได้รับการตีพิมพ์ภาษาไทยในปี 2003 นี่น่าจะเป็นเพียงครั้งที่สองที่มันได้รับการเขียนถึงอย่างเต็มใจ ขอบคุณผู้เขียน ธีรพัฒน์ งาทอง ที่ทำให้ฝันของบรรณาธิการเป็นจริง หลังจากรอคนอ่านแบบนี้มานาน ยังจำความรู้สึกครั้งแรกสมัยที่อ่านมันตอนออกภาษาอังกฤษใหม่ ๆ และพยายามยัดเยียดให้หลายคนอ่าน (และพยายามจะพิมพ์มันตั้งแต่ก่อนออก "คุยกับหนัง" และ "ฟิล์มไวรัส เล่ม 1" / 2541)  แต่อาจจะเป็นเพราะความหนาของมัน หรือตัวหนังสือมันอาจต้องการคนหมกมุ่นกับหนังมากพอสมควร หลายคนจึงอ่านไม่จบจนป่านนี้


2.   Flicker ยังเหมาะเสมอที่จะอ่านในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ภาษาหนังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน อย่าลืมว่ามันไม่ใช่แค่นิยาย แต่มันเป็นทั้งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ (จริงและลวง) เป็นทั้งทฤษฎีหนัง และคำทำนายที่ตลกและล้ำกว่านิยาย  The Da Vinci Code ที่ออกตามาทีหลังเสียอีก


3.  ที่จริงเคยเขียนเชิงอรรถของ Flicker ไว้ด้วย แต่ถ้ารวมไว้ด้วยในเล่มมันจะหนากว่านี้เยอะ และคงไม่มีวันได้พิมพ์


4.  ภาพประกอบข้างล่างอาจไม่ตรงกับบทความโดยตรง แต่เลือกให้ใกล้เคียงกับบรรยากาศหนังในนิยาย 

     (โปรดสังเกตภาพกางเขนมอลตีสที่มีความสำคัญมากในเรื่อง)


5.  เคยบอกหรือยังว่า Flicker เป็นหนังสือที่ตอบที่มาของคำว่า "Filmvirus" ได้ดีที่สุด

6.   อย่าลืมอ่านเรื่องสั้น The Devil's Plaything ซึ่งเป็นส่วนเสริมของนิยายเรื่อง Flicker ใน Filmvirus 04 สางสำแดง




FLICKER (Theodore Roszak , 1991)

รีวิวนิยายของ Theodore Roszak

โดย  ธีรพัฒน์ งาทอง





ผมพบกับFlicker ครั้งแรกในร้านเบอร์เกอร์คิง สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ พี่สาวของผมซิ้อมาให้จากร้าน Kinokuniya หลังจากเราไปดูหนังขาวดำอินเดียมาด้วยกัน น่าเสียดายที่บรรยากาศของร้านอาหารในตอนนั้น ช่างไม่เข้ากันกับความคัลต์ของปกหนังสือเล่มนี้เลย 

ผมดองFlicker ทิ้งไว้ในชั้นหนังสือนานพอสมควร กว่าจะมีอารมณ์หยิบมันขึ้นมาอ่าน เริ่มต้นจากคำนิยมโดยคุณสนธยา ทรัพย์เย็น ที่เขียนเอาไว้ดีมากๆ และคำนิยมนั้นก็ทำให้ผมรู้ว่า คุณสนธยา คลั่งไคล้นิยายเล่มนี้เอามากๆ และหลังจากอ่านไปได้ประมาณ 80 หน้า ผมก็เริ่มหลงใหลมันอย่างหัวปักหัวปำ ราวกับถูกดึงลงไปอยู่ในหน้ากระดาษเก่าๆคัลต์ๆของหนังสือเล่มนี้ ผมอ่านมันในทุกที่ พกติดตัวไปเสมอ เมื่อมีโอกาสก็จะนั่งจมจ่อมอยู่กับมันเป็นเวลาหลายนาที หรือบางครั้งก็หลายชั่วโมง






เรื่องราวว่าด้วยนายโจนาธาน เกตส์ นักศึกษาภาพยนตร์ ของUCLA ที่หลงใหลในศิลปะภาพยนตร์ และมีโรงหนังขาประจำเป็นโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์ นามว่า "เดอะ คลาสสิค" ซึ่งมีคู่รักคู่หนึ่งเป็นเจ้าของกิจการ แคลร์ แคลริสซา สวอนน์ และชาร์คกี จากเด็กหนุ่มหัวทื่อ ที่ไม่เข้าใจอะไรใน Hiroshima Mon Amour แม้แต่นิดเดียว ได้รับการฝึกสอนภูมิความรู้ภาพยนตร์จากแคลร์ คอร์สพิเศษอันแสนพิสดาร ด้วยการมีเซ็กส์ไประหว่างการอธิบายทฤษฎีต่างๆ และการปลูกฝังเรื่องราวบ้าๆจากชาร์คกี้ อย่าง ภาพยนตร์ประดิษขึ้นมาในสมัยอัศวินเทมพลาร์ มีสัญลักษณ์ของพวกเขาอยู่ในเครื่องฉาย คือ Maltese Cross ซึ่งเป็นตัวกลไกสำคัญในการทำให้เกิดภาพยนตร์ ความถี่หลอมรวม ของดวงตามนุษย์ ซึ่งทำให้เราเห็นภาพนิ่งๆกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ (กลไกภาพติดตา) 





จนวันหนึ่ง ด้วยความบังเอิญอย่างถึงที่สุด โจนาธานมีโอกาสได้ดูหนังลับแล ของ Max Castle นักทำหนังผู้อาภัพชาวเยอรมัน ที่เริ่มทำหนังตั้งแต่ยุคสมัย German Expressionist จนย้ายมาอยู่อเมริกา และทำหนังเกรดบีทุนต่ำมากมาย อันล้วนแล้วแต่ถูกผู้คนมองข้ามไป จะยกเว้นก็เพียงแคลร์ และเขาเท่านั้น ที่ค้นพบอะไรบางอย่างจากหนังของ แม็กซ์ 







ในขณะที่แคลร์ตีตัวออกห่างจากหนังคาสเซิล โจนาธานกลับยิ่งถลำลึกเข้าไปในหนังของเขามากขึ้น ค้นพบอะไรบางอย่าง ทั้งเทคนิคแพรวพราวของแม็กซ์ ที่ซ่อนบางสิ่งบางอย่างไว้ในหนังของเขา และทำให้เกิดผลต่อจิตใต้สำนึกของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว หนังกลายเป็นเครื่องมือที่สามารถก่ออาชญากรรมได้ รวมทั้งเรื่องราวต่างๆในหนังของเขา ที่มีประเด็นบางอย่างเกี่ยวพันกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ ยิ่งสาวลึก ยิ่งทำให้เขาค้นพบว่า หนังบางเรื่องที่กลายเป็นหนังคลาสสิค หรือเป็นหนังของผู้กำกับในตำนาน ล้วนผ่านมือของเขามาแล้วทั้งสิ้น ลามปามไปกระทั่งหนังตำนานอย่าง Citizen Kane และ maltese Falcon รวมทั้งเรื่องราวเบื้องหลังจอฉายอันมืดดำเกี่ยวกับองค์กร ลูกกำพร้าแห่งพายุ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิต และหนังของแม็กซ์ แคสเซิลเอาไว้
เมื่อผมอ่านถึงส่วนที่เป็นเรื่องราวของลูกกำพร้าแห่งพายุ ผมหวนกลับไปคิดถึงเรื่องเล่าจากปากของเพื่อนคนหนึ่ง ที่ได้พูดถึงลัทธิ Free Mason เอาไว้ โดยเขาเล่าอธิบายเรื่องราวต่างๆได้เหมือนหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับที่รอสแซคอธิบายถึงลูกกำพร้าแห่งพายุไว้ทีเดียว




มีองค์กรยิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังในทุกๆสิ่งที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ : อัศวินเทมพลาร์ เป็นชนกลุ่มแรกๆที่คิดค้นระบบธนาคารขึ้นมา นั่นทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมหาศาลที่จะควบคุมอะไรต่างๆบนโลกได้
เช่นเดียวกับที่ รอสแซค พูดเล่าย้อนถึง อัศวินเทมพลาร์กับภาพยนตร์ แต่เขายังย้อนกลับไปยิ่งกว่า ไปจนถึงสมัยพระเยซู หรือก่อนหน้านั้น (ชาวบาบิโลเนียน) 






เพื่อนของผมเล่าว่า Freemason มีอิทธิพลอยู่หลังวงการการเมือง วงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีใดๆบนโลกใบนี้ทั้งสิ้น แล้วเขาก็หยิบแบ๊งค์ 1000 เยนของญี่ปุ่นให้ดู กล่าวว่า "ญี่ปุ่นเนี้ย มีประวัติเกี่ยวพันกับ Freemason มานานมาก" แล้วเขาก็เริ่มสาธยาย "รหัสลับ" ที่ซ่อนอยู่ในแบ๊งค์ อันเป็นสัญลักษณ์ ของ Freemason ให้ฟัง 






1.ภาพของโนงูจิ ฮิเดโยะ บนธนบัตร
http://3.bp.blogspot.com/-7WwyGZQyNu0/T5hSMP7vI_I/AAAAAAAAYLw/GLM8OhNQOLs/s1600/1000_yen_banknote_2004.jpg
เขาปิดให้ดูว่าใบหน้าของโนงูจินั้น มีเพียงซีกซ้ายซีกเดียวเท่านั้น ที่เป็นใบหน้าจริงของเขา ซีกขวา ไม่ใช่ ซีกขวาเป็นภาพที่มิดกว่า และน่ากลัวกว่า ตามหลักคำสอนสำคัญของfreemason ที่ว่า ทุกสิ่งมีสองขั้วเสมอ ขาวและดำ ทุกสิ่งมีอยู่สอง ตรงกับลัทธิประหลาดใน Flicker ที่นับถือว่า พระเจ้ามีอยู่สององค์ หรือกระทั่งการขับเคี่ยวทำสงครามของแสงและเงามืดในขณะแห่งการฉายภาพยนตร์ อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง Flicker ซึ่งมันคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ 





2.นัยที่ซุกซ่อนบนธนบัตร
http://3.bp.blogspot.com/-TyIz4bYc8CM/Tgqp-Bzb1gI/AAAAAAAAADc/jjIVnVzra4g/s1600/site-eye-book.gif
ถ้าเราเอาแบ๊งค์ 1000 เยน ไปส่องกับแสงแดด (ตามรูป http://aniota.s54.xrea.com/temp/yarisugi10.jpg )
เราจะพบว่า ดวงตาข้างซ้ายของโนงูจิจะทาบทับอยู่กลางภูเขาไฟฟูจิพอดี ซึ้งเหมือนกันกับสัญลักษณ์ดวงตาที่อยู่กลางวงเวียนและไม้ฉากของพวก Freemason (รูปบน) เช่นเดียวกันกับกลวิธีการซ่อนภาพสยองขวัญ ภาพความเลวร้ายของการมีชีวิต การถือกำเนิด สัญลักษณ์นกประจำลัทธิคาร์ธาของพวกลูกกำพร้า ในหนังของแม็กซ์ คาสเซิล การซ่อนไว้ให้เห็น ใช้พลังของมันเข้าครอบงำมนุษย์ไว้ และประกาศตัวตนให้โลกได้เห็น (แม้จะในวิธีการที่แยบยลเกินไป) ทั้งหมดนี้ล้วนแต่คล้ายกันมาก ผมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวใน Ficker กับ freemason 






จากคนที่เคยขำกับเรื่องเล่าของเพื่อนและคิดว่ามันคงเป็นสิ่งไร้สาระ เช่นเดียวกับที่โจนาธานไม่เชื่อในสิ่งที่ชาร์คกี้ได้เล่าให้ฟัง ตอนนี้ ผมเริ่มจะหลงเชื่อเรื่องราวที่เพื่อนผมเล่ากับ ลัทธิ Freemason อยู่ไม่ใช่น้อย 






แต่ดูเหมือนเรื่องราวใน Flicker จะไปได้ใกลกว่านั้น เมื่อเรื่องอุปโลกน์ เรื่องราวความจริง ต่างผสมปนเปกันไปหมด บางตัวละครในเรื่องมีตัวตนจริง บางตัวที่คิดว่าน่าจะมีจริงกลับไม่มี และมันยิ่งหนักข้อเข้าไปอีก เมื่อมันมีการโม้อย่างสนุกสนานเกี่ยวกับเรื่องราวของลัทธิ ที่ถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และแสวงหาโลกที่ไม่มีการให้กำเนิดลูกอีกต่อไป สร้างมนุษย์ในอุดมคติภายใต้การควบคุมที่สมบูรณ์แบบ เรื่องราวของภาพยนตร์ ที่กล่าวว่ามีมาตั้งแต่ยุคสมัย 2000 กว่าปีก่อน และศาสนจักรมองว่ามันเป็นเครื่องมิอของปิศาจ เพราะมันหลอกลวงมนุษย์ หรือพระเยซูไม่มีเลือดเนื้อที่แท้ ความจริงเป็นภาพฉายเช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ องค์กรลูกกำพร้า ที่อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์สำคัญๆต่างๆบนโลกหลายครั้ง รวมทั้งยังอุปโลกน์ว่าโรคเอดส์กำเนิดขึ้นจากองค์กรนี้ เพื่อป้องกันการให้กำเนิดบุตรของมนุษยชาติ 







อีกมากมายหลากหลายเรื่องราวที่สนุกและฟังดูแล้วมีเค้ามูลความจริง หรือเขียนออกมาได้สมจริง เพราะหนังสือเล่มนี้เริ่มเผยแพร่ในปี 1991 แต่เล่าเรื่องในช่วงปี 1960-1970 และลากมาถึงช่วง 80ในตอนท้ายๆของเรื่อง มันจึงทำหน้าที่อุปโลกนฺแต่งเติมเรื่องราวที่ยังไม่เกิดในตอนนั้นได้สนุกสนานเหลือเกิน

อีกทั้ง นิยายที่ดูจะดำดิ่งเตร่งเครียดเล่มนี้ กลับสนุกสนาน และมีมากมายหลายตอนที่ออกจะขำกลิ้งในมุขร้ายๆของรอสแซค ฉากเซ็กส์โจ่งแจ้งหลายครั้ง จะเรียกมันว่าเป็นนิยายคัลต์ ก็คงไม่ผิดอะไรนัก ตัวละครหลายตัวน่าสนใจและเหมือนกับว่าจะมีการอิงมาจากคนจริงๆในยุคสมัยนั้น 






มีหลายตอนในหนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบมากๆ อย่างตอนที่โจนาธานพาพลพรรคขี้เมาของชาร์คกี้ไปร่วมด้วยช่วยกันขนฟิล์มหนังจากท้ายรถของเศรษฐีคนนั้น เพียงเพื่อจะเอาฟิล์มหนังเรื่อง Les Enfant Du Paradis แต่พอตอนเช้าดันได้ฟิล์มของ แม็กซ์ มาซะอย่างนั้น มันเป็นตอนที่ฮามากๆ

รวมทั้งตอนฉายเวเนเชียน มาเจนตา ผมดูไม่ออกว่า รอสแซค รังเกียจหรือชอบหนังทดลองกันแน่เพราะรู้สึกว่าเขาจะเขียนให้พวกนักทำหนังทดลองและหนังทดลอง เป็นหนังโง่ๆชุ่ยๆ และตลกขึ้นมาทันที ไม่เว้นกระทั่ง แอนดี วอร์ฮอล





แคลร์ ก็เป็นตัวละครอีกคน ที่มีความคิดแบบหัวกบฎ เธอจะไม่ชอบงานสำคัญๆที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชื่นชมกัน อย่าง Jules et Jims และ Psycho แต่ชอบงานเรื่องอื่นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือรัศมีน้อยกว่าของผกก.คนนั้นๆ

อีกอันนึงที่ฮามากๆ คือกลุ่มลัทธิ ประสาทสัญวิทยาของฝรั่งเศส นำโดย วิคตอร์ แซงต์ ซีร์ นอกจากแนวคิดของพวกนี้จะเหมือนพวกเนิร์ดวิชาการหลุดโลกแล้ว มันยังทำให้เราได้คิดต่อว่า จริงๆแล้ว หนังเป็นแค่เรื่องของภาพที่เคลื่อนไหวติดต่อกันจนหลอกตาเรา และมันเป็นแค่นั้นจริงๆหรือที่เราต้องศึกษา 




ในทางหนึ่ง มันก็เป็นดั่งการวิพากษ์หน้าที่และความสามารถของภาพยนตร์ เมื่อรอสแซคทำให้ ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือของพวกคาธาร์ ไว้ต่อกรกับพวกคริสต์ และพลังของมันมีมากล้นเหลือ จนอาจเป็นอาชญากรรมได้ และมันกำลังจะขยายพื้นที่ของมันมากขึ้น ทั้งการที่ภาพยนตร์กำลังจะเข้าไปอยู่ในบ้านทุกหลัง ทุกแห่ง และการที่ภาพยนตร์มีความรุนแรงโจ่งแจ้ง ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนชาชินกับความรุนแรง เหมือนเป็นการทำนายอนาคต โดยรอสแซค ว่าในที่สุด หนังจะสะกดจิตมนุษย์เราได้ พวกเราทุกคนจะถูกครอบงำภายใต้อำนาจของภาพยนตร์ ใช่ มันสวยงาม อย่างที่แคลร์บอกไว้ในตอนท้าย ว่ามันมีอะไรมากกว่า บท การถ่ายภาพจัดแสง มันอยู่ลึกลงไปอีก ณ ตรงนั้น มันคือความงดงาม แน่นอนว่า มีความงดงาม ย่อมมีความชั่วร้าย และเมื่อมันทำให้เห็นว่า เบื้องหลังของภาพยนตร์ มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าระบบใดๆ คอยคุมบังเหียนอยู่ มันยิ่งทำให้เราคลางแคลงใจต่อวงการหนัง มันน่ากลัว ปิดบัง มืดมิด และแปดเปื้อนเหลือเกิน 






อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือแนวคิดของลัทธิพวกคาธาร์ในFlicker มันเป็นแนวคิดที่ท้าทายและน่าสนใจมากๆๆๆๆๆๆๆ มันเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการตัดเชื้อร้ายที่จะนำความวุ่นวายมาสู่โลก รวมทั้งหาวิธีการที่จะหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ลง ผมรู้สึกเห็นด้วย หรืออย่างน้อยก้เห็นด้วย ว่าแนวคิดนี้มันน่าสนใจดี การมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งเลวร้าย ชีวิตที่แท้จริงของเราถูกกักกขังไว้ในคุกที่ชื่อว่าร่างกาย โลกใบนี้แหละ คือนรก ไม่มีนรก เพราะนรกมันมีตั้งแต่เราเกิดมาบนโลกแล้ว





ตอนหลังของเรื่องเหมือนจะเป็นอีกตอนที่รอสแซคทำนายโลกในอนาคตและโลกภาพยนตร์ในปัจจุบันนี้ไว้ได้ใกล้เคียงกับเรื่องจริงมาก ผ่านการมาถึงของ ไซมอน ดังเคิล กับหนังของเขา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนังรุนแรงของไซมอน กลับเป็นหนังที่มีอยู่จริงในทุกวันนี้ มนุษย์เราจะโง่ลง ปราศจากความคิดในการดูหนังมากขึ้น ภาพยนตร์พัฒนามาเป็นความบันเทิงในที่ส่วนตัวอย่างบ้าน ในขณะที่หนังของแม็กซ์ ซุกซ่อนความรุนแรงเอาไว้ และชักจูงจิตใจมนุษย์ให้ห่อเหี่ยวในความเป็นไปของชีวิต และการมีเพศสัมพันธ์ ไซมอนโยนความรุนแรงและความหดหู่เข้าหาเราซึ่งๆหน้า และจะพัฒนาไปสู่โลกทั้งใบ





ในตอนสุดท้าย ที่โจนาธานถูกนำไปปล่อยทิ้งไว้ที่เกาะ นั่นเป็นตอนที่หดหู่ใจที่สุดของเรื่องราวทั้งหมด ในตอนท้าย ดูเหมือนเขาจะลืมกาลเวลาไปหมดแล้ว เขาเริ่มเขียนบันทึกความทรงจำ ที่ดูเหมือนมันจะเป็นที่มาของนิยายเรื่อง Flicker นี้นั่นเอง เขาคาดหวังเพียงว่า นิยายเล่มนี้ มันจะไปโผล่ให้นกเพนกวินได้เห็นกันเพียงเท่านั้น ราวกับเรากำลังอยู่ในโลกที่มีแต่การกักขัง หมดอิสรภาพ เราสู้อะไรมันไม่ได้ นอกจากยอมรับมันแต่โดยดีเท่านั้นเอง

เรื่องน่าสนใจอีกเรื่องนึงใน Flicker คือ วันคริสมาสต์ ปี 2014 จะเป็นวันที่พวกคาธาร์ทำการระเบิดโลกทั้งใบให้เป็นจุล ซึ่งมันก็คือปีหน้านี้เอง เป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะต่อการอ่าน flicker ของผมจริงๆ





หลังจากอ่านจบ ผมไม่อยากจะอ่านหนังสือปรัชญาของกฤษณมูรติ หรือของใครหน้าไหนอีกเลย ผมรู้สึกหดหู่ ขันขื่น และเชื่อในความเชื่อบ้าคลั่งของลัทธิคาธาร์นั้นจริงๆ จะทำยังไงต่อไป ผมจะมองภาพยนตร์ต่างไปจากเดิมไหม ผมจะรู้สึกอย่างไร เมื่อต้องมาชม Citizen Kane และ Maltese Falcon ผมจะหยุดดูภาพทีละเฟรมไหม ผมต้องสร้างอนามอร์ฟิค มัลติฟิลเตอร์ (หรือแซลลี่แรนด์) มาใช้ในการชมหนังพวกนั้นไหม และจะเป็นอะไรหรือไม่ หากผมเชื่อว่า หนังของ แม็กซ์ คาสเซิล มีอยู่จริง ในขณะที่หนังของไซมอน ดังเคิล มีอยู่ทั่วไปในโลกใบนี้แล้ว แลัวหนังของคาสเซิลล่ะ บางทีมันอาจจะถูกซุกซ่อนอยู่ที่ใดสักแห่งในโลกใบนี้ อาจอยู่ในบ้านลับของรอสแซคก็เป็นได้ บางที หลุยส์ บรูค แฟรนนี่ ลิพสกี และโอลกา เทลล์ อาจจะมีตัวตนจริง แต่ถูกลบเลือนออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยฝีมือของพวกลูกกำพร้า หรือบางที รอสแซคอาจไปเก็บนิยายเรื่องนี้ได้ขวดแก้วหลายใบ ที่ลอยอยู่กลางทะเลในขั้วโลกใต้ เราไม่มีวันรู้ ว่าสิ่งที่เราอ่าน เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องโม้แตก เพราะทุกอย่างอาจถูกซ่อนไว้ ซ่อนอยู่ในหน้าหนังสือ700 กว่าหน้านี้ มัยนอาจจะเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่รอดพ้นจากการทำลายเก็บกวาดของพวกลูกกำพร้าด้วยปัจจัยบางอย่าง บางทีหาก Flicker ถูกทำลาย ความจริงของพวกลูกกำพร้าอาจจะได้รับการเปิดเผย แต่ไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่มีวันรับรู้ ผมไม่อาจแยกความจริง ความลวงใดๆออกได้อีกในเวลานี้ เหมือนกับภาพยนตร์ ภาพนิ่ง24 เฟรมต่อวินาที ราวกับว่าภาพที่เห็นเป็นภาพความจริง น่าตื่นตะลึง แต่ก็ลวงตาเราพอกัน ที่แท้ก็เป็นแค่ภาพนิ่ง ตาของเรานั่นแหละที่ทำให้มันเคลื่อนไหวได้



มีฉากหนึ่งที่บ่งบอกช่วงเวลาของโจนาธานได้พอสมควร นั่นคือ เขาบอกว่า เขาไม่ได้พบกับแคลร์มานานถึง 15 ปี ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เขาอยู่กับแคลร์ ก็คือตอนที่เขาทำธีสิสป.ตรี คงจะมีอายุประมาณ 22 ปี หลังจากนั้น 15 ปีก็คงอายุ 37 ในปี 1976 บวกเวลาเผื่อๆไว้อีก ก็หน้าจะมีอายุ อยู่ ที่ 38 ปี ถ้าจนถึงปี 2014 โจนาธานจะมีอายุ 76 ปี ส่วนแม็กซ์ คาสเซิล เมื่อปี 1937 เขาอายุประมาณ 18 2014 เขาก็คงมีอายุ 105 ปี ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกคาธาร์ อายุยืน น่าสนใจว่าถ้าหากเขาทั้งสองหว่านล้อมพวกผู้ดูแล และออกมาจากเกาะได้ในสักปี 2005 ช่วงที่กล้องดิจิตอลเริ่มเฟื่องฟู เรื่องราวจะไปต่อเช่นไร อยากเขียน flicker ภาคสองจัง