7/7/13

บันทึกเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Trace กำกับโดย Tayfur Aydin (บทความโดย Picahaya Anantarasate)

Trace (Directed by Tayfur Aydin /2011)

บทความโดย Picahaya Anantarasate





ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ดูจากภายนอกเธอแต่งตัวเป็นสาวเร็กเก้ ไว้ผมเดร็คร็อค มีรอยสัก เราเจอกันที่ผับแห่งหนึ่ง เราคุยด้วยกันหลายเรื่อง จนเมื่อสนิทพอที่จะเรียกว่าเป็นเพื่อนได้ เธอก็เล่าพื้นเพดั้งเดิมของตัวเอง…..เธอมีเชื้อสายของชาวอูรังลาโว้ย

อูรังลาโว้ย (Orang Laut) เป็นชาวเลกลุ่มใหญ่ที่มีถิ่นฐานบนเกาะสิเหร่ และที่หาดราไวย์ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต จนถึงทางใต้ของเกาะพีพีดอน เกาะจำ เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่, เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล และบางส่วนอยู่ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย
ชาวเลกลุ่มอูรังลาโว้ยมีภาษาที่แตกต่างกับกลุ่มมอแกนและมอแกลน แม้จัดอยู่ในตระกูลออสโตรนีเชียน เช่นเดียวกัน พิธีกรรมสำคัญของอูรังลาโว้ยคือ การลอยเรือ "ปลาจั๊ก" เพื่อกำจัดเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชน
ในปัจจุบัน ชาวเลกลุ่มอูรังลาโว้ยตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร หันมาประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่น ๆ ซึมซับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และเรียกขานตัวเองว่า ไทยใหม่ 


นี่คือข้อมูลหลักๆที่ผมหาได้จากอินเตอร์เน็ต หลังจากการสนทนากับเธอในดงบุหรี่และเหล้าบั๊กเก็ต
ผมไม่ได้นึกถึงเรื่องราวของเพื่อนผมเลย จนกระทั่งผมได้ดู Trace ของ Tayfur Aydin

Tayfur Aydin กำกับภาพยนตร์เรื่อง Trace เรื่องราวเกี่ยวกับ ครอบครัวชาวเคอร์ดิชที่อาศัยอยู่ในตุรกี ประกอบด้วยคุณย่า พ่อ และลูกๆ 


อยู่มาวันหนึ่งคุณย่าประสบอุบัติเหตุ ต้องเข้าโรงพยาบาล หมอบอกว่าอาการหนัก แต่ก็ให้กลับมาพักผ่อนพร้อมกำชับญาติผู้ป่วยให้ดูแลอย่างใกล้ชิด

คุณย่าพูดกับลูกชายของหล่อนว่า เธอคือไม้ใกล้ฝั่ง สิ่งสุดท้ายที่เธอปรารถนา คือการพาร่างกายเธอไปฝังในดินแดนถิ่นเกิด พ่อเลยตัดสินใจไปจองตั๋วรถไฟ พร้อมกับสั่งให้ลูกชาย/หลานย่า ไปด้วย ลูกชาย/หลานย่าก็ไปทั้งๆที่ไม่เต็มใจเพราะเพิ่งโดนผู้หญิงฟันแล้วทิ้ง

การเดินทางด้วยรถไฟ พาตัวละครที่เป็นคน 3 รุ่น ลดเลี้ยวออกไปจากเมือง พาผู้ชมออกห่างจากจุดศูนย์กลางของความเจริญมากขึ้นๆ ภูมิประเทศทุรกันดาร ทั้งสามใช้เวลาบนรถไฟจนแทบจะเหมือนไร้จุดสิ้นสุด
มันคงจะเป็นหนังที่ Feel Good หรือ Nostalgia ได้ง่ายๆ คน 3 รุ่น ที่ออกเดินทาง แล้วปรับความเข้าใจ ตอนจบก็คงจะกอดกัน ร่ำไห้กัน ใต้แสงตะวันเรืองรอง


จุดพลิกผันเกิดขึ้น ตอนที่คุณย่าตายระหว่างทาง......คิดว่าเป็นไคลแม็กซ์ใช่มั้ย ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่าผมสปอยด์ ผมว่าความคิดของผู้อ่านก็ดูจะมักง่ายเกินไปสักนิด เพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะนี่ไม่ใช่หนังที่พูดถึงการกลับบ้านเพื่อจะพบกับความสุขที่กำลังรอคอย เมื่อพ่อกับลูก พยายามพาศพย่าใส่โลงแล้วพากลับบ้านเกิด หนังก็ได้เปิดเผยความจริงอันชวนอัปยศอดสูว่า นี่คือหนังที่จะพาผู้ชมไปสัมผัสบาดแผลทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ของกลุ่มชนชาติที่โดนถีบกระทืบให้กลายเป็นประชากรชั้นล่างทางสังคม กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ที่ชนกลุ่มใหญ่ดูแคลนและเหยียดหยามด้วยคำว่า “Kafir” ที่แปลว่า พวกนอกรีต จนพวกเขาต้องพยายามปิดซ้อน Identity ของพวกเขาเองไว้เป็นความลับ

นี่คือหนังที่สร้างความปวดร้าวที่เป็นสากลในความรู้สึกของคนดู โดยไม่ต้องไถ่ถามถึงพื้นเพชาติกำเนิด ขอเพียงใจคนดูเปิดกว้างพอที่จะรับทราบถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง 


ผมโชคดีเป็นอย่างมาก ที่การดูในครั้งนี้ ดูพร้อมกับผู้ชมราวๆ 60 ชีวิต ที่ห้องสมุด Reading Room สีลมซอย19 โดยได้รับเกียรติจากผู้กำกับ คุณ Tayfur ได้มาร่วม Q&A ด้วย (ต้องขอบคุณ คุณอิบราฮิม และ พี่ภาณุ อารี ที่ช่วยเป็นผูก เอ๊ย! เป็นล่าม ให้นะครับ)

จากการซักถามข้อสงสัยต่างๆ ผมพบว่า ตัวผู้กำกับเอง ก็เป็นชาวเคอร์ดิช ในช่วงวัยเด็ก เขาก็มีคำถามมากมายจากการที่ผู้อื่นล้อเลียนเหยียดหยามในชาติพันธุ์ของตัวเอง เหมือนเขาโตขึ้น จึงเริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตน จนในที่สุดก็กลายมาเป็นหนังเรื่อง Trace

นั่นคงเป็นเหตุผลที่ว่า ยามเมื่อผมมองเข้าไปในดวงตาของเขา แฝงด้วยความทระนงในเลือดเนื้อชาติพันธุ์ของตนเอง Tayfur ได้กล่าวอีกว่า เขามีความมุ่งหมายที่จะส่งสารบางอย่างสู่ผู้คน โดยเฉพาะกับคนชาติเดียวกันว่า จงภูมิใจเถิดในเลือดที่ไหลเวียนในกาย ภูมิใจที่จะประกาศเชื้อสายของตน ไม่ว่าถิ่นฐานและอัตลักษณ์จะต่างกัน แต่พวกเราก็อยู่อาศัยในสังคมเดียวกันได้อย่างเท่าเทียม ปราศจากการกดขี่เหยียดหยาม

มีเรื่องราวมากมายจาการพูดคุยกันที่ผมคงไม่สามารถเล่าให้ครบถ้วนได้ แต่สิ่งนึงซึ่งสถิตย์อยู่ในใจตลอดการดูหนังคือ ถึงผมจะไม่รู้จักชาวเคอร์ดิชมาก่อน (หลังจากนี้คงต้องหาหนังสิอมาอ่านเพิ่มเติม) ไม่เคยรู้จักขนมเตอร์กิชดีไลท์มาก่อน (ขนมอร่อยมาก) ไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตุรกี ที่มีเรื่องของการไล่ฆ่าจนแทบจะล้างเผ่าพันธุ์ในประวัติศาสตร ผมก็แอบปาดน้ำตา ยามหนังเดินทางมาถึงฉากสุดท้ายและความลับบางอย่างได้ถูกเปิดเผย

สิ่งที่ถูกเปิดเผยออกมา เป็นบริบททางประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุด

ตอนนั้นเอง ที่ผมนึกถึงเพื่อนเร๊กเก้ ชาวอูรังลาโว้ย
ในสังคมบ้านเรา เราแทบจะไม่ได้เรียนรู้ในเอกลักษณ์ท้องถิ่นของตัวเองเลย นับตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล หากผมไม่ถาม ผมก็คงไม่มีทางรู้ว่า ผมมีเพื่อนเป็นชาวอูรังลาโว้ย เป็นชาวส่วย เป็นชาวกระเหรี่ยง เป็นชาวมอญ
โดยลึกๆ ย่าผมมีเชื้อสายเป็นชาวมอญ ย่าเล่าหลายๆเรื่องเกี่ยวกับประเพณีชาวมอญที่ทั้งชีวิตผมไม่เคยได้สัมผัส จนกระทั่งย่าตาย ผมก็ไม่เคยได้รับรู้ชาติพันธุ์ของตัวเองจริงๆเลย
ผมไม่เคยเรียกตัวเองว่า ไทย-มอญ , ไทย-จีน หรือ ไทย-มอญ-จีน
ผมโดนโปรแกรมมาให้เรียกตัวเองว่า คนไทย


ประวัติศาสตร์ของขนกลุ่มน้อยต่างๆ ถูกโหมกระหน่ำด้วยความคิดของรัฐไทย ที่ต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชาวกระเหรี่ยงที่ต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ชาวมอแกนที่วิถีชีวิตของพวกเขาต้องโดนทั้งนโยบายของภาครัฐและเอกชนขีดเขี่ยไปสู่การเป็นกลุ่มคนชายขอบ ที่ต้องอาศัยการรับบริจาดจนแทบจะทำลายวิถีชีวิตเดิมไปหมดแล้ว

ในที่สุด เพื่อการยอมรับในสังคม ก็ต้องปลอมแปลงตัวเองไปสู่การเป็น ไทยใหม่
เราจะอยู่โดยภาคภูมิในอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ตัวเอง โดยไม่ต้องเอาคำว่า “ชาติ” มากรอกหูไปวันๆได้หรือไม่ ? เราจะยอมรับความต่างของมนุษย์โดยไม่ต้องเอามาตรฐานของ “รัฐไทย” มากำหนดได้หรือไม่ ? เราจะอยู่กันโดยไม่ต้องแบ่งแยกคนนี้ไทยคนนั้นคนที่อื่นอย่างปกติในสังคมได้หรือไม่

คุณ Tayfur ทิ้งแผ่นดีวีดี หนังเรื่อง Trace ไว้ที่ Reading Room สีลมซอย 19
ขอเชิญมายืม จากนั้นก็ดู แล้วไตร่ตรองเอาเองเถอะครับ