12/23/09

ปะทุ 15 ปี DK Filmhouse (FILMVIRUS)

ฉลองผ่าน 13 ปีไปหยก ๆ แต่หลังคริสต์มาสนี้เราก็จะผ่าน 14 ปีไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่น่าเชื่อว่า ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่เปิดทำการเมื่อปี 2538 มาบัดนี้กำลังจะขึ้นปีที่ 15 แล้ว! นี่เราอยู่เกะกะคนไทยมานานขนาดนี้แล้วเหรอเนี่ย

ปีนี้เราไม่มีทุนรอนที่จะจัดฉลองพิเศษแฮปปี้เบิร์ธเดย์หรืออะไร แต่ก็อยากจะขอบคุณเพื่อน น้อง ๆ และคนดูหนังทุกคนที่ทำให้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ยืนหยัดยาวนานมาจนป่านนี้ ที่จริงแว่วจะจอดไปตั้งแต่สองปีที่แล้ว แต่ก็ดันทุรังไปได้เรื่อยเปื่อย ก็เพราะแรงถีบหลังที่สมาชิกจัดหาให้มาแท้ ๆ

ระหว่างนี้ออฟฟิศ filmvirus ที่มีพนักงานเฝ้าดูแลกันอยู่แค่สองคน คือผม กับโมรีมาตย์ กำลังวางแผนเปลี่ยนอาชีพกันอย่างขวักไขว่ ด้วยตระหนักดีว่าลีลาชีวิตแบบเดิม ๆ คงมีแต่อนาคตที่จบลงแบบเฉาเอ้ย เฉาหว่า บทบาทการดูหนัง ทำหนังสือหนังคงจะต้องยุติให้เด็ดขาดเสียที ให้สมกับที่เคยอ้างไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนการจัดโปรแกรมหนังก็คงต้องฝากฝังไว้กับ บิ๊ก, กัลปพฤกษ์, filmsick, CelineJulie, เต้ และ อาดาดล แห่งว้าวซีนีมาเธค ที่จะสืบสานกันไปตามกำลังมี โดยไม่ลืมว่าคนเหล่านี้และชาวฟิล์มไวรัสทั้งหมดไม่เคยได้รับสินจ้าง หรือรายได้เงินเดือนแต่อย่างใด และคงต้องขอเสียงปรบมือให้คนเหล่านั้นด้วย ณ ที่นี้

แม้ว่าหนังสือหนัง filmvirus จะจบชุดไปแล้ว (เว้นแต่เล่ม “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” กับเล่ม “อังเดร ทาร์คอฟสกี้” ที่จะอยู่ดองเค็มเสี้ยมใจคนทำต่อไปอีกนาน) แต่ถ้าคนชอบเรื่องสั้น-วรรณกรรมแปลยังให้การสนับสนุนติดตามอ่าน เราก็หวังว่าจะได้ออก BookVirus ออกมาอีกเป็นระยะอีกสัก 2-3 เล่ม เท่าที่กำลังมี ความเห็นของคนอ่านเท่านั้นที่จะเป็นกำลังใจให้คนทำ (ไม่ใช่เรื่องเงินที่เราต้องปลงมานานแล้ว) หวังว่าอ่านแล้วคิดยังไง ไม่ชอบอย่างไรก็วานบอกได้เสมอ no hard feelings อย่าเงียบงันเมินชา ชอบหนังเรื่องใดที่ฉาย อ่านเรื่องใดที่ชอบ-ไม่ชอบ เราก็ไม่เคยได้รู้

กับ 15 ปีที่เรากำลังจะเริ่มนับ สำหรับเสียงต่อว่าจากบางท่าน เราคงต้องขออภัยอย่างยิ่ง หากหนังที่เราเชียร์ สร้างความขุ่นข้องหมองใจและรบกวนการดูหนังของท่านให้หมดความสุข ขอยืนยันว่าทั้งหมดที่เราทำไปมิใช่การปั้นคดีความ หรือการมุ่งหวังเอาเท่ส่วนตัว (อันหารับประทานได้ไม่) แต่เป็นเพียงการพยายามให้ความสำคัญ และให้เกียรติกับหนังด้อยโอกาสและแรงงานดี ๆ ที่ถูกละเลยเท่านั้น ท่าทีอาจปริ่มล้นเกินปริมาณไปบ้างล้วนเป็นข้อจำกัดส่วนตัว อย่าได้ถือสาเป็นตายกับมาตรฐานมนุษย์เดินดินฉี่เหนียวเลย

นักทำหนังแนว essay film นาม Peter Thompson (ความสุขของป๋าดัน)


“perhaps the most original and important Chicago filmmaker you never heard of.”
Jonathan Rosenbaum


หนังแนว essay film ของคนทำหนังชาวชิคาโก- Peter Thompson
เชียร์โดย Michael Almereyda
Top Ten Artforum April 2009
http://www.chicagomediaworks.com/2mediawks/3media_shaman/shamanreviews.html

12/22/09

Hooray to Kido Skie


Hooray to Kido Skie

ขอบคุณน้องใหญ่ ดีใจที่ได้เจอตัวจริง ซึ้งน้ำใจมากหลาย พี่ไม่เคยเห็นมีใครด่า “ทุเรศ” ได้น่ารักขนาดนี้

ชมภาพขยายของ Kido Skie ได้ที่นี่

http://filmvirus.wordpress.com/2009/11/14/kido-skie-%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%a7%e0%b8%a7/

12/20/09

หนัง The Yellow Handkerchief ฉบับญี่ปุ่น, ฉบับ สรพงศ์ ชาตรี, ฉบับอเมริกัน Kristen Stewart

หนัง The Yellow Handkerchief เวอร์ชั่นญี่ปุ่น, ไทย, อเมริกัน


เพิ่งรู้ว่าหนังญี่ปุ่นของผู้กำกับ โยจิ ยามาดะ (Yoji Yamada) ที่แท้ทำมาจากนิยายอเมริกันของ Pete Hamill

'The Yellow Handkerchief' ('Shiawase no kiiroi hankachi') หนังญี่ปุ่นปี 1977 ที่เป็นหนัง Road Movie ขายซึ้งเกี่ยวกับการเดินทางชายสอง หญิงหนึ่ง ที่กำกับโดย โยจิ ยามาดะ (โทร่าซัง และ My Son) และเคยถูกสร้างเป็นหนังไทยเรื่อง “ถ้าเธอยังมีรัก” (2524) ของ มจ. ชาตรี เฉลิมยุคล เรื่องที่มี สรพงศ์, เนาวรัตน์ และมี ตุ๊กตา จินดานุช กับ ปัญญา นิรันดร์กุล ซึ่งเป็นบทประกอบที่โดดเด่นมาก (วัยรุ่นที่เกิดไม่ทัน เห็นหน้า ปัญญา คงนึกถึงแต่รายการ ชิงร้อยชิงล้าน และ ทศกัณฑ์)

ส่วน 'The Yellow Handkerchief' ฉบับอเมริกันของผู้กำกับชาวอินเดีย Udayan Prasad ที่เพิ่งฉายปีนี้ ได้ใบบุญของ Kristen Stewart นางเอก Twilight ทำให้พระเอกดังรุ่นเก๋าอย่าง William Hurt ลืมตาเห็นแสงเดือนดาวอีกครั้ง ได้ปรักบกับ Maria Bello ไม่งั้นคงต้องนอนหง่าวขึ้นหิ้งถูกดองไปอีกนาน

Western - Asian Connection
ตลกดี นิยายอเมริกันไปทำเป็นหนังญี่ปุ่นก่อน เสร็จแล้วกลายเป็นหนังไทย แล้วก็ถูกยืมชื่อไปเป็นซีรี่ส์เกาหลี กว่าจะถูกสร้างเป็นหนังอเมริกันครั้งแรกก็ในทศวรรษนี้ (โดยผู้กำกับอินเดีย) อย่างนี้ยกให้เป็นหนังแห่งทศวรรษเลยดีไหม

12/19/09

Young Love

Young Love


Kärleken Väntar ของ Kent
Dedicated to More Life, Less Film GMBH and all energetic filmlovers

http://www.youtube.com/watch?v=syR0msLOI_w&feature=channel

12/18/09

Bad Lieutenant: Port of New Orleans บุกเชียงใหม่


ชาวเหนือทั้งหลายจงระวัง Werner Herzog และ Nicholas Cage เข้าฉายแล้วที่ วิสต้า กาดสวนแก้ว

อ่านรายละเอียดที่: http://dkfilmhouse.blogspot.com/2009/09/bad-lieutenant-port-of-call-new-orleans.html

12/17/09

Noah Buschel : Who is He?


Noah Buschel

ไม่รู้ว่าคนนี้คือใคร ทำหนังอะไร แต่ชอบที่เขาเขียนในนิตยสาร Filmmaker http://filmmakermagazine.com/webexclusives/2009/11/loneliness-of-long-distance-filmmaker.php

12/15/09

หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” เล่มเดียวในโลก

เมื่อของปลอมกลายเป็นของแท้ หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” เล่มเดียวในโลก

ในที่สุดก็พิมพ์เสร็จสมบูรณ์ - แบบหนึ่งเดียวคนนี้


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าคนทำหนังสือจะต้องกลายเป็นโจรเสียเอง
พิมพ์พันเล่มก็ไม่ได้ พิมพ์ร้อยเล่มก็ไม่ดี ก็ขอพิมพ์มันแค่เล่มเดียวพอ
ทำมันเป็นเล่มปกแข็ง กระดาษอาร์ต พร้อมภาพสีและขาวดำ


แล้ว ฟิล์มไวรัส ก็บรรลุถึงสัจธรรมที่ว่า ป่วยการที่จะทำหนังสือโดยนึกถึงแต่คนอ่านและคนอื่นเป็นที่ตั้ง คงจะดีกว่าเยอะ หากเปลี่ยนบทบาทเป็นโจร เอ๊ย คนทำหนังเสียเอง แล้วดูแลตัวเองให้รอดคงเป็นการพอ

ตลกดีกับข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เล่มเดียว ก็อปปี๊เดียว ที่ไม่มีวางขาย แต่ก็ดันมีข้อมูลบรรณานุกรมพร้อมสรรพสำหรับหอสมุดแห่งชาติ ครบทั้ง บาร์โค้ดและ ISBN อย่างนี้ก็ถือเป็นหนังสือโดยถูกกฏหมายเหมือนกันใช่ไหม ถึงแม้มันจะเป็นลูกบ้าสิ้นคิดเที่ยวเดียวของคนทำก็ตามเถอะ

ขายสองร้อยมันขายยาก (ไม่น่าศรัทธาด้วย) เอาเป็นว่าขายสองพัน - ซื้อไหม?

Martin Donovan: Surviving Desire


Martin Donovan

ได้ดู Surviving Desire ของ Hal Hartley อีกรอบ และเห็นหน้า มาร์ติน โดโนแวน อีกครั้ง

เวลานี้คอหนังรู้จัก หลี่คังเช็ง ในหนังของ ไฉ่มิ่งเหลียง แต่ใครจำ มาร์ติน โดโนแวน ได้บ้าง ทั้งคู่เคยสร้างชื่อเสียงขึ้นมาในยุคไล่เลี่ยกันมาก

มาร์ติน โดโนแวน ที่เคยเป็นดาราคู่บุญของ Hal Hartley คนที่แสดงประกบกับ เอเดรียนน์ เชลลี่ ใน Trust

เรียกได้ว่าใครเห็นหน้า มาร์ติน โดโนแวน ต้อง นึกถึงหนังของ Hal Hartley เช่นเดียวกับดู Denis Lavant แล้วต้องนึกถึงหนังของ Leos Carax


มาบัดนี้ ไม่น่าเชื่อว่า Hal Hartley เลิกทำหนังหันไปกำกับโอเปร่า ส่วน มาร์ติน โดโนแวน หลังจาก Portrait of A Lady กับ เจ๊ เจน แคมเปี้ยน และ Insomnia ของ Christopher Nolan แล้วก็เล่นแต่หนังทีวี

* * * อ้อมีเล่นเรื่องนี้ด้วย เพิ่งนึกออก มาร์ติน เล่นกับ ไอรีน จาค็อบ ใน The Pornographer: A Love Story เรื่องนี้ก็ชอบ ถึงตัวหนังจะไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงเท่าไหร่ เคยมาฉายในงานบางกอกฟิล์มหรือเวิล์ดฟิล์มด้วย ผู้กำกับ Alan Wade ก็มา ใครที่ชอบ Three Colors: Red น่าจะโอเคกับ ไอรีน จาค็อบในเรื่องนี้ ปัญหาคือ มาร์ติน กับ ไอรีน ดูไม่มี chemistry ระหว่างกันเลย หรือจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ไอรีน หรือดารายุโรปส่วนใหญ่มักจะไม่เคยเล่นหนังพูดภาษาอังกฤษแล้วดูกลมกลืนเป็นคนรักกับใครได้เลย ไม่ว่าจะเป็น Willlem Dafoe, Bill Pullman หรือ Lawrence Fishburne * * *

หนังของ Hal Hartley ที่มีออกวีซีดีลิขสิทธิ์ในบ้านเรา ไม่มีหนังที่ มาร์ติน เล่นสักเรื่อง แต่กลับมีแค่เรื่อง The Unbelievable Truth (สาปสาวสวาท) และ No Such Thing (จอมปีศาจตะลุยเมืองป่วน) เรื่องแรก มี เอเดรียนน์ เชลลี่ ประกบกับ โรเบิร์ต จอห์น เบิร์ค ส่วนเรื่องหลัง มีเบิร์ค แสดงกับ ซาร่าห์ พอลลี่ย์ อีกทั้งยังมี เฮเลน เมียร์เรน กับ จูลี่ คริสตี้ ด้วย (ก็ ซาร่าห์ เธอรู้จักกับ จูลี่จากทำงานเรื่องนี้แล้วชวนกันไปทำ Away from Her จนได้ดิบได้ดีกันไปทั้งคู่)

12/12/09

Men in The Dunes: หนังร่วมสร้างจีน-ญี่ปุ่น The Warrior and The Wolf


Men in The Dunes: หนังร่วมสร้างจีน-ญี่ปุ่น The Warrior and The Wolf

Wolverines Double Bill

The Warrior and The Wolf (狼災記) + Twilight New Moon

The Warrior and The Wolf หนังใหม่ของ เถียนจวงจวง (Tian Zhuangzhuang-ผู้กำกับ The Horse Thief และ The Blue Kite) ขยายเรื่องสั้นของ Inoue Yasushi โดยแต่งเรื่องเพิ่มเติมแปะหัวท้าย

ดูจอใหญ่ที่สกาลา ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (เริ่มแล้วเมื่อวาน 10 ธันวาคม)

12/11/09

ดองเค็ม หนังสือ "ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ"

ยังถูกแช่งแข็งไม่ได้ออกทันงานหนังสือเดือนตุลาคม และตอนนี้ยังเลื่อนพิมพ์ออกไปโดยไม่มีกำหนด

หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” หนังสือลูกหลง หรือลูกนอกสมรสในเครือ filmvirus ที่กะจะมาส่งท้ายให้อ่านคู่กับ หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” (ฟิล์มไวรัสเล่ม 5) เพราะเล่ม “ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” นั้นเกี่ยวกับการทำหนังงบน้อยของคนต่างชาติ แต่เล่มใหม่นี้เกี่ยวกับคนทำหนังไทยที่ได้รับทุนต่างชาติ

ขายไม่ออกก็รู้สึกผิด ไม่ได้พิมพ์ก็กลัวทีมงานตี๊บ

นับวันการทำหนังสือยิ่งดูเป็นสิ่งไร้เกียรติและไร้ค่าลงไปทุกที อนาคตช่างมืดมนโดยแท้

เรื่องของคนไม่กราบฝรั่ง Ing K. Strikes back!


คนไม่กราบหมาฝรั่ง (ไม่ใช่หมากฝรั่ง) แต่หมายถึง ฝรั่งหมาๆ และกระทรวงเพาะสุนัข

(ภาพประกอบ: อิ๋ง เค ที่ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์)

12/1/09

I Comme Icare (I for Icarus) แผนสังหารประธานาธิบดี – คารวะ DVD ของทริปเปิ้ลเอ็กซ์ฟิล์ม และคุณ สุชาติ วุฒิชัย แห่งเครือ Apex

I for Icarus) แผนสังหารประธานาธิบดี

บันทึกโดย filmvirus

ชื่อเรื่อง I Comme Icare (I for Icarus)
ชื่อไทย “ฆ่าประธานาธิบดี” / “แผนสังหาร”

ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องอัพบล็อกอยู่หลายที เพราะเบื่อภาษาตัวเองจนจะอ้วก แต่ก็อยากจะให้กำลังใจคนเผยแพร่หนังดี ๆ สักหน่อย

ภาพปกชวนนึกถึงเรื่อง The Day of the Jackal หนังสือของ Frederick Forsyrth และหนังของ Fred Zinnemann ที่มีฉากดักยิงประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ แต่พอเห็นแผ่นดีวีดี I for Icarus ชัดตาก็ขนลุกซู่ เพราะนี่คือหนังที่รอมานานแล้ว หวังนานเหลือหลายว่าเมื่อไรจะได้ดูอีก รอนานจนคิดว่าต้องกลับไปเกิดใหม่เสียแล้ว

I Comme Icare หรือ I for Icarus หนังฝรั่งเศสที่นำแสดงโดย อีฟส์ มองตองด์ (Yves Montand) อดีตเด็กปั้นและหวานใจของซูเปอร์ซิงเกอร์- เอดิธ เพียฟ (Edith Piaf เจ้าของเพลงอมตะและที่มาหนังประวัติชีวิต La Vie En Rose) ก่อนที่เขาจะไปกลายเป็นคู่ชีวิตของ ซีโมน ซินญอเรต์ (Simone Signoret / Room at the Top) ดาราหญิงคนแรกของฝรั่งเศส (ที่ได้รางวัลออสการ์ก่อน จูเลียต บิโนช- Juliet Binoche) และต่อมา อีฟส์ ก็ไปมีสัมพันธ์ลึกล้ำกับ มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) ตอนที่เธอยังอยู่กินกับนักเขียนดัง Arthur Miller เจ้าของ “อวสานเซลส์แมน” และ “The Crucible” (ก็อสสิปสตาร์พอไหม?)

เรื่องนี้เห็นที่กล่องเขียนว่าเข้าฉายไทยที่โรงสกาล่าปี 2524 ตอนนั้นยังเด็กเกินกว่าที่จะไปดูโรง แต่ได้ดูตอนที่นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดฉายประมาณปี 2527 (?) ฉายที่หอประชุมเล็ก เป็นฟิล์มเก่า ๆ มาฉาย ติดใจจนตอนไปฝรั่งเศสยังไปซื้อโปสเตอร์หนังมาเก็บ ที่ตอนแรกประทับใจมากเพราะทำให้นึกถึงหนังมินิซีรี่ส์ฮ่องกงเรื่องหนึ่งที่เคยดูก่อนหน้านั้น ที่ชื่อว่า “แผนสังหาร” หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เรื่องที่มี จูเจียง พระเอกเจ้าเก่าหนังทีวีชุด “ฤทธิ์มีดสั้น” นำแสดง หนังฮ่องกงลอกเรื่องลอกบทฉบับฝรั่งเศสกันแบบแนบเนื้อสุด ๆ คือในเรื่องมีการฆ่าปิดปากผู้นำคนหนึ่ง จากนั้นก็มีการฆ่าปิดปากคนในเหตุการณ์ที่อยู่ในภาพถ่ายทีละคน ก็นั่นแหละมาจากหนัง I for Icarus เรื่องนี้เอง ซึ่งว่ากันว่าได้แรงบันดาลใจมาจากคดีสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้อีกทีหนึ่ง ซึ่งหนัง JFK ของ โอลิเวอร์ สโตน ที่สร้างยุคหลังก็มีอะไรคล้ายคลึงกับเรื่องนี้ไม่น้อย แต่ของฝรั่งเศสก็แน่นอน สุขุมนุ่มลึก แค่ชื่อเรื่องที่อ้างถึง Icarus ในตำนานปรณัมกรีกที่ เทพไอคารัส ทำปีกขี้ผึ้งบินหาดวงอาทิตย์จนปีกละลายก็กินขาดแล้ว ยิ่งฉากตอนจบลุ้นดี เป็นภาพถ่ายเลนส์เทเลโฟโต้ไกลจากอีกตึกหนึ่งไปที่ห้องทำงานของ อีฟส์ มองตองด์ ในอีกตึกหนึ่ง

ก็นั่นแหละ ใครชอบหนังอาชญากรรมแนวสมคบร่วมเห็น รู้เป็นรู้ตายแบบที่อเมริกาชอบสร้างในช่วงยุค 70 แนววอเตอร์เกตระแวงวรรณ ก็ต้องดู

ไม่ต้องกลัวว่า I for Icarus เป็นหนังฝรั่งเศสดูยาก ถ้าดูยากฉายในเมืองไทย แล้วจะมีคนชอบจดจำได้เยอะแยะเหรอ คนไทยชอบหนัง 2 ประเภท คือหนังบันเทิงกับหนังมีประเด็น ยิ่งถ้ามีสองอย่างอยู่ในร่างเดียวก็ลอยลำ ชอบธรรมลอยลิ่วทั้งขึ้นทั้งล่อง หนังอาร์ตประเภทที่ดูกำกวมหาจับประเด็นไม่ติด ระวังตัวไว้เถอะ (ฮ่า เกิดเป็นหนังนี่ยากแท้แสนเข็ญ)

หนังประเภทนี้ที่ทำดี ๆ ก็ เช่น The Parallax View ที่ วอร์เรน เบ็ตตี้ แสดง (มีแผ่นลิขสิทธิ์แล้ว) หรือ All The President’s Men- โรเบิร์ต เรดฟอร์ด / ดัสติน ฮอฟแมน (มีแผ่นลิขสิทธิ์แล้วเช่นกัน) นอกจากสองเรื่องยอดเยี่ยมของ อลัน เจ พาคูล่า แล้วก็มี Three Days of the Condor- หนังของซิดนี่ย์ พอลแลคผู้ล่วงลับ ที่ เรดฟอร์ด ประกบกับ เฟย์ ดันนาเวย์ แต่พอ ซิดนี่ย์ พอลแลค มาทำแนวใกล้เคียงกัน The Interpreter ให้ นิโคล คิดแมน กับ ณอน เพนน์ เล่น ก็กลับออกมาแกน ๆ ไม่รู้เพราะยุคสมัยมันไม่เสริมอารณ์หรือเปล่า

คนไทยรุ่นก่อนหลายคนที่ดูเรื่อง I For Icarus นี้ยังจำได้ไม่ลืม ถึงได้หามาทำดีวีดีจนได้ ซึ่งเท่าที่ตอนนี้เช็คดูเห็นมีแผ่นลิขสิทธิ์ออกมาแค่ 2 แห่ง คือแผ่นฝรั่งเศส (ที่ไม่มีบรรยายอังกฤษ) ส่วนแผ่นของ Koch Lorber ในแคนาดามีบรรยายอังกฤษ แต่ในอเมริกาบริษัท Koch Lorber คงไม่มีลิขสิทธิ์การผลิต (ยกเว้นต้องนำเข้า) ส่วนของไทยคงจะมาจากแผ่นของ Koch Lorber เนี่ยแหละ (หรือว่าโหลดเอา) แต่ก็ถือว่าทำการบ้านมาดี คุณภาพภาพดูนุ่มๆ ไม่คมชัดมากนัก เทียบเป็นน้องของดีวีดียี่ห้อ Criterion Collection ไม่ได้ แต่เท่านี้ก็บุญโขแล้ว

I For Icarus เป็นฝีมือกำกับ-เขียนบทและอำนวยการสร้างของ อองรี แวร์นุยล์ (Henri Verneuil) มือเก่าที่ทำหนังมาตั้งแต่โน่นปี 1947 ขณะที่นักวิจารณ์ฝรั่งเศสบ้านเขาเอง ไม่ค่อยยกย่อง หรือถือว่ามีคุณค่าความลึกซึ้งสักเท่าไร มองข้ามตัวตนในหนัง (ความเป็น auteur) ของเขาที่ซ่อนรูปและไม่ชัดเจนนักในยูนิฟอร์มหนังตลาด (จนคนทำหนังฝรั่งเศสหัวก้าวหน้ารุ่นคลื่นลูกใหม่ยุค 60 อย่าง Truffaut, Godard มองข้ามเขาไปเลย หรือถ้าเขียนถึงก็คงเสียดสีแสบสันต์) ส่วนหนึ่งเพราะหนัง แวร์นุยล์ ขายดาราดัง ๆ หลายเรื่องมีลักษณะเป็นหนังที่ผสมกับแนวทางของหนังตลาดอเมริกัน แต่เล่าเรื่องเนิบนาบกว่า รู้สึกว่าที่อังกฤษกับอเมริกาในยุคหนึ่งชื่อเสียงเขาค่อนข้างดีมาก ฮอลลีวู้ดเคยเชิญเขาไปทำหนังด้วย เห็นว่าไปทำหนังกับดาราอย่าง ชาร์ลส์ บรอนสัน, แอนโธนี่ ควินน์ และ เอวา การ์ดเนอร์ ซึ่งเป็นดาราดังยุคนั้น แต่ไม่รู้ว่าจัดเป็นหนังอเมริกันแท้ ๆ แค่ไหน เพราะเห็นชื่อหนังในกลุ่มนี้ก็เป็นภาษาฝรั่งเศส

เมื่อก่อนเคยพยายามหาดูหนังของ แวร์นุยล์ หลายเรื่อง แต่ได้ดูไม่มากนัก เท่าที่ได้ดูก็ค่อนข้างชอบเป็นส่วนใหญ่ เขาทำหนังตลาดแนวแอ็คชั่นอาชญากรรมเก่ง ยิ่งพวกหนังที่ดาราฝรั่งเศสหัวแถวอย่าง ฌอง-ปอล เบลมองโด, อแลง เดอลอง, ฌอง กาแบ็ง, ลิโน เวนตูรา และ ปาตริค เดอแวร์ เรียกว่าสนุกมีสาระ ดีคนละแบบกับหนังอาร์ตยุโรปฮาร์ดคอร์อื่น ๆ ที่ฉายกันตามคอร์สภาพยนตร์และเทศกาลหนัง น่าสังเกตว่า แวร์นุยล์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักข่าวนั้นมักจะเขียนบทเอง หรือร่วมเขียนบทเองแทบทุกเรื่อง (รวมทั้ง I for Icarus เรื่องนี้ที่คิดเรื่องและเขียนบทดั้งเดิมเอง) มีอยู่หลายเรื่องเหมือนกันเป็นหนังที่สร้างจากนิยาย แล้วบางทีได้คนเขียนบทเก่ง ๆ หรือมีเขียนบทพูดชั้นเซียน (ฝรั่งเศสชอบจ้างคนมาช่วยทำบทพูด) อย่าง Michel Audiard พ่อของ Jacques Audiard ที่ทำหนัง The Beat that My Heart Skipped ซึ่งออกแผ่นบ้านเรา แล้วก็มี Francis Veber คนนี้เก่งมากมีอารณ์ขันดี เขียนบทและกำกับหนังที่บ้านเราพอจะคุ้นเคยอย่าง Le dîner de cons หรือ The Dinner Game แล้วก็ Les fugitifs / Three Fugitives (นิค โนลเต้) ที่เขาเอามารีเมค และบทหนัง The Birdcage (โรบิน วิลเลี่ยมส์ / ยีน แฮ็คแมน) รวมทั้งบทหนัง My Father the Hero (เฌราร์ด เดอปาดิเญอ / มารี กิลแล็ง) อีกกระทงหนึ่ง

ในหนังมีประเด็นที่พูดถึงความถูกต้องของผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลระดับสูง โดยเทียบเคียงกับการทดลองในห้องแล็บวิทยาศาสตร์ที่คนสองคน ซึ่งเดิมนั้นมีความเสมอภาคกัน แต่ครั้นเมื่อถูกสลับจัดวาง ให้คนหนึ่งกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ณ การทดลองทรมานกรรมในนามที่เรียกชื่อว่า “บรรทัดฐานชอบธรรมระหว่าง ครู-ศิษย์”

บทหนังพูดชัดเจนว่าความชอบธรรมของกฏของผู้ปกครองและความถูกต้องของกฏหมู่ คือคำตอบและข้ออ้างที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะคล้อยตาม ไม่ว่าจะเพื่อปฏิเสธความผิด ความรับผิดชอบ จะเป็นเพราะเพื่อถืออำนาจเบ็ดเสร็จ หรือความสะใจซาดิสม์ของตัวเองก็ตาม ทั้งหลายทั้งมวลนี้ คนทุกคนอย่างเราท่าน ๆ อาจจะตกอยู่ในฐานะไม่แตกต่างกันเลยในท้ายสุด แล้วพร้อมจะเลือกทำ หรือพูดอย่างไรก็ได้ เพื่อแลกกับเงิน ความอยู่รอด หรือเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นหนูหรือกระต่ายทดลองเสียเอง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาระดับศีลธรรมในใจให้ดูสะอาดสะอ้านที่สุดในสายตาคนภายนอก ขนาดที่ว่าแม้แต่ตัวบทพระเอก คือ อีฟส์ มองตองด์ เอง ก็ยังต้องตรวจสอบตาชั่งใจในวิธีการของตัวเองที่ผ่านมาตลอดทั้งเรื่องด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่า อีฟส์ มองตองด์ ได้บทเด่นเรื่องนี้พอ ๆ กับที่เคยแสดงหนังรางวัลออสการ์ปี 1969 เรื่อง Z

ราวยุค 70 หนังฝรั่งเศสเคยเฟื่องในไทยเอาการ สังเกตเห็นจากดาราเก่าอย่า อแลง เดอลอง, เบลมองโด้ มีหนังออกแผ่นหลายเรื่อง ทั้งวีซีดี และดีวีดี เหมาหนังแอ็คชั่นแทบครบชุด (ไม่ยักกะมีหนังดราม่าหนัก ๆ แฮะ-ขอเพลงได้ไหมเนี่ย?) ไม่แปลกที่หนัง Borsalino และ Borsalino and Co. ซึ่งสองหนุ่มเล่น จะกลายเป็นต้นแบบของหนัง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” รวมทั้งหนังแบบนักฆ่าหน้าหยก หรือเซียนโจรกรรม แนวประมาณหนัง ฌอง-ปิแอร์ เมลวิลล์ เรื่อง Le Samourai (เวอร์ชั่นญาติสนิทคือ The Killer ของ จอห์น วู), Bob Le Flambeur (ฉบับรีเมค The Good Thief คือ นิค โนลเต้), The Red Circle (จอห์นนี่ โต๋ แห่ง Election เพิ่งดัดแปลงใหม่เป็น Vengeance หนังลูกครึ่งฝรั่งเศสฮ่องกง) หรือ The Sicilian Clan หนังดีอีกเรื่องของ อองรี แวร์นุยล์ ที่มีฉากเครื่องบินแลนดิ้งบนถนนใหญ่

เสียดายหนัง 3 เรื่องที่เคยชื่นชมไม่น้อยของ Alain Corneau คือ Serie Noire http://snoreandguzzle.com/?p=447 , Le choix des armes และ Police Python 357 http://dearcinema.com/police-python-357-by-alain-corneau-422 ทั้งสามเรื่องคงไม่เคยเข้ามาฉายเมืองไทย (2 เรื่องหลังนี้ อีฟส์ มองตองด์ แสดง) แอบหวังว่าจะมีใครออกดีวีดีในบ้านเราสักหน่อย

เปิดหมวกคารวะบริษัททริปเปิ้ลเอ็กซ์ฟิล์ม
ว่าง ๆ ค่ายทริปเปิ้ลเอ็กซ์ xxx หรือ Triple X Film อย่าลืมออกหนังดี ๆ ออกมาอีกล่ะ เห็นความตั้งใจแล้วน่านับถือ สมควรสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นหนังแอ็คชั่น มีตั้งแต่หนังไทย เช่น ไอ้หนุ่มตังเก, มนต์รักลูกทุ่ง, เรือนแพ, วิวาห์ลูกทุ่ง, เพื่อนคู่แค้น, หนังคาวบอยจังโก้, ลีแวน คลิฟ, บั๊ด สเปนเซอร์ หนังเบลมองโด้ หนังอแลง เดอลอง, มาร์ค ดามอน, มอนต์โกเมอร์รี่ วู้ด, หนังกำลังภายใน (รวมทั้งหนัง Dragon Inn ของ คิงฮู), “ขอรอยยิ้มสักนิด” (Your Smiling Face) หนังนินจา หนังเทวดาท่าจะบ๊องส์ หนังแขก โชเล่ย์, บัตเตอร์ฟลาย (เปีย ซาโดร่า ฉายาหน้าประถม นมมหาลัย), ไอ้โล้นแม็กนั่ม, หนัง “นักฆ่าเพลินสวาท” หรือ Summertime Killler ที่ คริสโตเฟอร์ มิทชั่ม ลูกชาย โรเบิร์ต นำแสดงกับ โอลิเวีย ฮัสซี่ย์ (หลังจาก Romeo and Juliet เธอแสดงกับคริสโตเฟอร์ และกรุง ศรีวิไล ในหนัง “ตัดเหลี่ยมเพชร”- H-Bomb / Operation Alpha) ไล่ไปถึงหนังคลาสสิกของ อากิระ คุโรซาว่า แบบ 7 เซียนซามูไร, ราโชมอน อะไรนั่นเลย

เรียกได้ว่ามีตั้งแต่เรือแจวยันเรือรบว่างั้นเถอะ บางเรื่องอย่าง I for Icarus นี่ฝรั่งเองยังหายาก นี่ขนาดไม่มีซับไตเติ้ลอังกฤษ ซาวด์แทร็คฝรั่งเศสล้วน ๆ หาซื้อไม่ได้ แผ่นของฝรั่งเศสเองของหมดหรือไร จนต้องมาสั่งซื้อกับคนหัวการค้าในเมืองไทยที่ไปประกาศขายแผ่นเมดอินไทยแลนด์ใน e-bay

ค่ายนี้ดูจะเป็นคนเก่าคนแก่ที่สะสมหนังและรักหนังจริง ๆ มีรูปโปสเตอร์ต้นฉบับสมัยที่ฉายเมืองไทยให้ดู ทำภาพไวด์สกรีน หรือภาพสโคป ไม่สุกเอาเผาถ่านแบบค่ายอื่น ๆ มีซาวด์แทร็ค มีคำบรรยายไทย (ว้าว)-มีพากย์ไทยให้เลือก ที่เด็ดคือ เรื่อง I for Icarus นอกจากเสียงของ พันธมิตร แล้วยังมีเสียงพากย์โบราณแบบพากย์กันสองคนทั้งเรื่อง กรรณิการ์-อมรา ให้เลือกอีกแน่ะ ฟังดูประหลาด ๆ หน่อยนึง ลองไปหาแผ่นดูที่ร้านบูมเมอแรงทุกสาขา ร้านอมรมูวี่ หรือร้าน CAP ร้านแถวฟอร์จูนรัชดา ไม่รู้ต่างจังหวัด คงหายาก (เชียงใหม่ หรือภูเก็ตมีไหม?) เพราะวัยรุ่นอาจไม่ชอบหนังเก่า หรือไม่ชอบปก เพราะปกไม่ cool พอ แต่แบบนี้ก็ดูมีเสน่ห์ดีอยู่แล้ว หรือจะลองทำปกหน้าหลังคนละแบบ ปกทันสมัยล่อตาด้านหนึ่ง แล้วเก็บโปสเตอร์ไว้ด้านหลังก็ได้

ใครชอบภาพโฆษณาหนังเก่า ๆ ที่เคยเข้าฉายเมืองไทยลองค้น หน้า ศาลาเฉลิมรักษ์ บทต่าง ๆ ในบล็อก “นิมิตวิกาล” นี้ (เช่น จังโก้ จอมสังหาร) http://twilightvirus.blogspot.com/2008/08/blog-post_26.html และตามหนังสือ ฟิล์มไวรัส เล่มเก่า ๆ จากเล่ม 1 ถึงเล่ม 4 (สางสำแดง)

แต่ขอติบริษัททริปเปิ้ลเอ็กซ์นิดหนึ่ง เครดิตภาษาอังกฤษหลังปกที่มีรูปแบบตายตัว น่าจะแก้ให้ถูกต้อง เพราะจะผิดตามกันไปถึงอนาคต คือ เครดิต Writer by และ Director by ควรแก้ใหม่เป็น Written by และ Directed by หรือใช้ Writer และ Director แล้วเน้นชื่อผู้กำกับ-คนเขียนบทเป็นตัวดำเน้นสี ส่วนเรื่องเครดิตคนเขียนบทของ I for Icarus ก็ควรแก้ให้ถูกคือ Henri Verneuil และ Henri Decoin

ขอติหน่อย แต่ก็ปลื้มใจมากที่หนังแบบนี้มีทำออกมาให้ดูกัน ขอโฆษณาให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน เห็นทำแพ็คเกจ หารูปโปสเตอร์เก่าสไตล์ไทยมาพิมพ์ อาจจะไม่ไฉไล หรือดีไซน์โดดเด้งที่สุด แต่ก็มีเอกลักษณ์ไม่มีที่อื่นอีกแล้วในโลกที่ซ้ำแบบ ก็ภาวนาขอยกย่องให้อยู่นาน ทนแดดทนฝน อย่าถอดใจไปเสียก่อน ดูเราคนทำหนังสือหนัง-หนังสือวรรณกรรมแบบ ฟิล์มไวรัส-บุ๊คไวรัส สิ ทำไปก็มีแต่แล้งตาย หาที่ขายก็ยาก หาคนอ่านก็น้อย แถมไม่มีเสียงตอบรับอีก เฮ้อ เพลียพะยะค่ะ

ปล. ไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิดซื้อหนังเรื่องนี้มาฉายในเมืองไทย เข้าฉายที่สกาล่า ต้องขอบอกว่าที่คนไทยได้ดูในวันนั้น และได้ดูอีกในวันนี้ ก็เพราะความดีของเขาคนนั้น และที่มีโรงเปิดฉาย ไม่แน่ใจว่าเป็นความดีความชอบส่วนหนึ่งของเขาคนนี้ไหม คุณ สุชาติ วุฒิชัย ครีเอทีฟแห่งเอเพ็กซ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Nikita, Leon, The Piano, The Lover ในเมืองไทย เจ้าของเสียงพากย์นุ่ม ๆ ให้โฆษณาหลายเรื่องในอดีต (รวมทั้งโฆษณาสวนนงนุชดั้วยมั้ง) เขาเคยกำกับหนังเรื่อง “น้ำค้างหยดเดียว” ที่ถ่ายแฟลตดินแดง ห้วยขวางสมัยเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ใสปิ๊ง แฟลตเก่าของ เคี้ยง-ไพสิฐ ตอนนั้นหนังเรื่องนี้ฉีกแนวหนังไทยมากหลาย เนื้อเรื่องก็ไม่แจ่มใส ดาราก็ใหม่ ทีมงานใหม่ มุมกล้องใหม่ เจ๊งเจ็บตัวแบบใหม่ ๆ คุณสุชาติ เลยกำกับหนังแค่เรื่องเดียว

ที่งานเทศกาลหนัง European Film Festival ปีนี้ยังเห็นคุณสุชาติโผล่มาดูหนังอิตาเลี่ยน อุ่นใจที่เห็นยังแข็งแรงและแวะมาดูหนังพวกนี้อีก

(บางส่วนของบทความนี้จะดัดแปลงลงนิตยสาร Vote ฉบับกลางเดือนธันวาคม 2552)

Mute Music

Quote of the day

Nevertheless, articulating the connection between music and the outer world remains devilishly difficult. Musical meaning is vague, mutable, and, in the end, deeply personal. Still, even if history can never tell us exactly what music means, music can tell us something about history. My subtitle is meant literally; this is the twentieth century heard through its music.

from The Rest is Noise: Listening to the Twentieth Century
by Alex Ross

(ภาพประกอบจากเทศกาลละครกรุงเทพปี 2552 / ขอขอบคุณไลต์เฮาส์พับลิชชิ่งสำหรับหนังสือทรงคุณค่า)

11/21/09

โปสการ์ดโปรแกรมหนังของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) งาน Art Square 2009

โปสการ์ดหนังของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่งาน Art Square 2009 จัดพิมพ์เสร็จแล้ว

แวะรับได้เลยที่หอศิลป์จามจุรี และตู้แจกโปสการ์ดของ Take It Card

*** นักทำหนังสั้นไทยคนไหนที่มีชื่อพิมพ์บนโปสการ์ดแล้วยังไม่ได้ส่งหนังมาให้ กรุณาติดต่อ filmsick@gmail.com และจัดส่งหนังมาโดยด่วน***


Art Square จตุรัสศิลป์ 7 ที่หอศิลป์จามจุรี ถัดจากมาบุญครอง (ฝั่งตรงข้ามอุเทนถวาย) ดูแผนที่ได้ที่นี่:
http://jamjureeartgallery.blogspot.com/

โปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่งาน Art Square จตุรัสศิลป์ ครั้งที่ 7
ชมฟรี ภาพยนตร์ฉายกลางแจ้งหน้าหอศิลป์ ฉายเวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป

ภาพยนตร์วันที่ 15 ธันวาคม
Onechanbara +
Sukeban Deka

ภาพยนตร์วันที่ 16 ธันวาคม

Tetsuo 2 (Shinya Tsukamoto) +
Bad Taste (Peter Jackson)

ภาพยนตร์วันที่ 17 ธันวาคม

WILD TYPE : FILMVIRUS SHORTS! โปรแกรมหนังสั้นคัดสรรประจำปี 2552 ฉบับ ชุดเล็ก!
รวมมิตรหนังสั้นคัดสรรตกสำรวจประจำปี 52 คัดเลือกโดย ราชินีนักดูหนัง Madeleine de Scudery และทาสรับใช้โลกมืดจากบ้านนา filmsick

โปรแกรมที่1
(92 นาที )
ของเหลวที่หลั่งจากกาย (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) 41 นาที
ฆาตรกรรมสวาท ประหลาดน่านฟ้า ทำให้คนหายตัวไป (เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง) 21 นาที
ต้อม (ศุภิสรา กิตติคุณารักษ์) 30 นาที

โปรแกรมที่ 2 (118 นาที)
มธุรส (ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์) 22 นาที
ตอนบ่ายตายคนเดียว( ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ) 6 นาที
กาลนิรันดร์ (อิสระ บุญประสิทธิ์) 30 นาที
สีบนถนน (วีรพงษ์ วิมุกตะลพ) 62 นาที

โปรแกรมภาพยนตร์ของ Filmvirus เดือนพฤศจิกายน ที่ The Reading Room: http://dkfilmhouse.blogspot.com/2009/10/filmvirus-meets-kafka-and-straub-at.html

อีแอบศิลปะ


ไม่แน่ใจว่าคำต่อไปนี้จริงเท็จแค่ไหน แต่ชอบรูปประโยคมากกว่าเนื้อความ

“ศิลปะวางตัวของมันอยู่ในที่ซ่อนเสมอ กล่าวคือถ้ามันได้ก่อเกิดขึ้นมาอย่าง ‘มีชีวิต’ มันก็จะแสดงตัวของมันออกมา ไม่ว่าจะก้าวไปอยู่ในกาละเทศะแบบใดก็ตาม”

สิงห์สนามหลวง
เนชั่นสุดสัปดาห์, 23 ตุลาคม 2552


(ภาพประกอบ-ดุจดาว วัฒนปกรณ์ โรงละครพระจันทร์เสี้ยว)

ภาษา B-Floor การแสดงชุด Displacement…ผิดที่ผิดทาง

Displacement…ผิดที่ผิดทาง

บทสนทนาภาษาร่างกาย ของผู้หญิงสองคน ว่าด้วยภาวะภายใน และ ความรู้สึก ‘ผิดที่ผิดทาง’ เมื่อบางสิ่งถูกแทนที่ด้วยบางอย่าง

‘จารุนันท์ พันธชาติ’ และ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ นักแสดงและผู้กำกับฯ จากกลุ่มละครบีฟลอร์ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานการแสดงที่เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “หากไม่ใช่ที่นี่ คุณคิดว่าคุณควรจะอยู่ที่ไหน?” สู่กระบวนการสลับผลัดกันกำกับฯ โดยมุ่งไปที่การตอบสนองต่อผลงานที่อีกฝ่ายได้ตั้งต้นเอาไว้ ซึ่งเป็นประสบการณ์เดียวกับการพูดคุยของคนสองคนที่บางครั้งเห็นด้วย บางครั้งทุ่มเถียงขัดแย้ง บางครั้งเกิดภาวะนิ่งงัน และบางครั้งอาจมีการขัดแทรกกันเกิดขึ้น ก่อนจะรื่นไหลหรือแตกหักไปสู่บทสนทนาใหม่ๆ ที่อาจตอบคำถามที่ตั้งต้นไว้ได้ หรือ สร้างคำถามใหม่ให้ขบคิดเพิ่มเติม

สร้างสรรค์และแสดงโดย - จารุนันท์ พันธชาติ และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

จัดแสดงที่ - Bfloor Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ
ตั้งแต่ วันอังคารที่ 15- ศุกร์ ที่18 และ อังคาร 22- ศุกร์ 25 ธันวาคม เวลา 19.30 น. บัตรราคา 300 บาท จองบัตรได้ที่ 089 667 9539

email: bfloor@bfloortheatre.com รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.bfloortheatre.com/

** Displacement…ผิดที่ผิดทาง เป็นผลงานชิ้นที่ 4 เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 10 ปี ของบีฟลอร์ ในโครงการ the next fresh thing

เกี่ยวกับผู้กำกับฯ

จารุนันท์ พันธชาติ ร่วมก่อตั้งกลุ่มบีฟลอร์ ในปี พ.ศ. 2542 มีผลงานร่วมกับบีฟลอร์ ในฐานะนักแสดง ผู้เขียนบท ผู้กำกับ และ ผู้อำนวยการผลิต ปัจจุบันเป็น Associate Artistic Director ของกลุ่ม จารุนันท์ มีผลงานการแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์, อเมริกา, ฝรั่งเศส, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ มีผลงานเขียนบทละครเวที เช่น ยามพลบ, ไฟล้างบาป, Suicide Buddy และบทแอนิเมชั่น
ผลงานกำกับละครเรื่อง Nowhere Now Here, 2000, คนพันธุ์สุข, ยามพลบ, ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์ , Suicide Buddy ในปี 2551 ร่วมกับนิกร แซ่ตั้ง กำกับละครเรื่อง กึ่งสุขกึ่งดิบ ได้รับรางวัล จุดประกายศิลปะการละครดีเด่น ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2551 ล่าสุด กำกับการแสดงชุด “ไทยจ๋า” ให้กับกลุ่มละครใบ้เบบี้ไมม์

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เริ่มแสดงอาชีพร่วมกับ ดรีมบ็อกซ์ ในละครเรื่อง ทึนทึก และ กุหลาบสีเลือด จากนั้นเข้าร่วมกลุ่มบีฟลอร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ในฐานะนักแสดง ใน Crying Century และมีผลงานการแสดงในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และ อังกฤษ


นอกจากเป็นนักเต้น นักแสดง พิธีกร และผู้กำกับ ดุจดาว จบปริญญาโทด้านจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว จาก Goldsmiths University of London และเป็นนักบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว (Dance Movement Psychotherapist) คนแรกของเมืองไทย


ไม่เพียงทำงานด้านละคร ดุจดาวยังมีความสนใจในการนำงานทัศนศิลป์ และ วีดีโอ อาร์ต มาเป็นส่วนประกอบในงานแสดง ผลงานที่สะท้อนความสนใจดังกล่าว ปรากฏในงานกำกับเรื่อง Left Out: a body talk from inside, Something Else: an experiential performance ให้กับ บีฟลอร์ และ งาน โซโล่ เพอร์ฟอร์แมนซ์ memoment.
--------------------------------------------------------------------------

เกี่ยวกับกลุ่มละครบีฟลอร์


10 ปีบีฟลอร์: THE NEXT FRESH THING


นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา กลุ่มละครบีฟลอร์ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการละครร่วมสมัยของไทย ด้วยทิศทางในการนำเสนอผลงานที่โดดเด่น และกลวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่ผนวกเอาการเคลื่อนไหวของร่างกายเข้ากับงานสื่อผสม จนกลายเป็นผลงานที่มีความท้าทายทางศิลปะและเชิงความคิด ผลงานของบีฟลอร์มักหยิบยกเอาประเด็นสังคมมาพูดถึง หลายครั้งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและเหตุการณ์ที่ถูกปกปิด ซ่อนเร้น หลายครั้งเป็นการสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ผลงานของบีฟลอร์ได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเคยได้รับเชิญให้ไปแสดงตามงานเทศการละครต่างๆ อยู่เสมอ เช่น สิงคโปร์, วอนจู, โตเกียว, ไทเป, โซล, ไคโร, เอดินเบิร์ก, ไมอามี่ และนิวยอร์ก
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มละครบีฟลอร์ได้ยืนหยัดสร้างงานด้วยความเชื่อมั่นที่จะค้นหาและพัฒนาไอเดียรวมถึงมุมมองอันสดใหม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปีของกลุ่มละครบีฟลอร์ในปีนี้ เรามีความภูมิใจที่จะนำเสนอผลงาน 4 ชิ้นใหม่ล่าสุด เป็น 4 รสชาติที่มีความสดและหลากหลาย จาก 4 สมาชิกหลักของบีฟลอร์ที่ผู้ชมจะได้พบภายในปีนี้ : ธีระวัฒน์ มุลวิไล, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, นานา เดกิ้น และจารุนันท์ พันธชาติ


Enjoy the ride!

11/20/09

Suicide drive in


“Destiny, I think, is not what lies in store for you; it’s what is already stored up inside you-and it’s as patient as death.”

Geoff Dyer, On The Roof, Granta 80


“I'm not interested in writing short stories. Anything that doesn't take years of your life and drive you to suicide hardly seems worth doing.”

Cormac McCarthy
จากบทสัมภาษณ์โดย John Jurgensen, The Wall Street Journal
http://online.wsj.com/article/SB10001424052748704576204574529703577274572.html

11/19/09

Folly and Metaphor


“The folly of mistaking a metaphor for a proof is inborn in us” Paul Valéry


(an uncorrected quote from Ray Bradbury’s Fahrenheit 451)

"Stupidity is overwhelming" Anonymous with a Code

11/15/09

โปรแกรมหนัง DOC DAYS และงานแนะนำหนังสือ ‘วัยเยาว์อันสิ้นสูญ’

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์, สถาบันเกอเธ่ และสำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขอเชิญชม และรับฟังเสวนา


DOC DAYS และงานแนะนำหนังสือ ‘วัยเยาว์อันสิ้นสูญ’


ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 ถึง 17 มกราคม 2553 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)
Admission Free
* * *Many Thanks to the Goethe Institute for providing films. * * *


วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2552

12.30 น. The Society of the Spectacle (France, 88min, 1973) กำกับโดย Guy Debord
Guy Debord เป็น นักทฤษฎีมาร์กซิสม์และนักเขียนชาวฝรั่งเศสเจ้าของตำราวิชาการเล่มคลาสสิกอย่าง Society of the Spectacles Comments on the Society of the Spectacle เคยเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Lettrist International และเป็นผู้นำกลุ่ม Situationist International ที่มีอิทธิพลต่อการนำประท้วงในปี 1968 นอกจากนั้นเขายังทำหนังหลายเรื่องที่มีลักษณะผสมระหว่างหนังสารคดีและแนวอวงการ์ดตามแนวทางของ Lettrist International หนังของ Guy E. Debord สร้างจากหนังสือของเขาเองในชื่อเดียวกันเกี่ยวกับกระบวนการบริโภคของสังคมทุนนิยมที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน

14.15 น. Critique de la separation (France, 20min, 1961) กำกับโดย Guy Debord
Howlings in Favour of de Sade (France, 64min, 1952) กำกับโดย Guy Debord

15. 45 น. Why should I buy a bed when all that I want is sleep? (Germany, 53 min, 1999) กำกับโดย Nicholas Humbert / Werner Penzel +
Lax Readings (2006 / 13 นาที)

สารคดีเกี่ยวกับกวีชาวนิวยอร์ค Robert Lax ที่ระหกระเหินไปมาระหว่างยุโรปและอเมริกา เคยทั้งเขียนบทวิจารณ์และบทหนังในฮอลลีวู้ด โดยแนวทางของเขามีผลต่อนักเขียนและกวีกลุ่มบีทเจอเนอเรชั่น อย่าง Jack Kerouac และ Allen Ginsberg.


****** โปรแกรมพิเศษ งานแนะนำหนังสือ Lord of the Flies (วัยเยาว์อันสิ้นสูญ) ******
จัดโดยไลต์เฮาส์พับลิชชิ่งและ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2552
12.30 น. Lord of the Flies (1963) Peter Brook กำกับ 92 นาที (บรรยายอังกฤษ)
14.15 น. Lord of the Flies (1990) Harry Hook กำกับ 90 นาที (บรรยายไทย)

ภาพยนตร์สองเวอร์ชั่นที่สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิกของ William Golding ปัจจุบันแปลและตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ “วัยเยาว์อันสิ้นสูญ” โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮ้าส์ เรื่องราวของกลุ่มเยาวชนที่ติดค้างบนเกาะร่วมกันกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ในบรรดาผู้ปกครองของพวกเขานั้นไม่มีผู้ใดรอดชีวิต เหลือเพียงความรับผิดชอบและการต่อสู้เพื่ออยู่รอดแบบดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ต้นกำเนิดของหนังญี่ปุ่นเรื่องดัง Battle Royale ที่หันไปมุ่งเน้นเฉพาะด้านความรุนแรง อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องนี้บ้างบางส่วน

ฉบับหนังขาวดำปี 1963 ที่กำกับโดย Peter Brook ผู้กำกับละครเวทีชั้นนำชาวอังกฤษ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองหนังยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ส่วนฉบับหนังสีปี 1990 ที่สร้างใหม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Young Artists Award ในสาขานักแสดงเยาวชนประเภทดารานำเดี่ยวและหมู่คณะ

(ร่วมเสวนาโดย กมลทิพย์ สิทธิกรโอฬารกุล บรรณาธิการไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง และ
คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการ –นักเขียน และบรรณาธิการ onopen online

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2552
12.30 น. I Love Dollars (Netherlands, 140min, 1986) กำกับโดย Johan van der Keuken,

15.15 น. Lucebert, Time and Farewell (Netherlands, 52min, 1994) กำกับโดย Johan van der Keuken

Johan van der Keuken เป็นนักเขียน ช่างภาพและคนทำหนังสารคดีชาวดัทช์ ผู้มีผลงานกว่า 55 เรื่อง เคยชนะรางวัลในเทศกาลหนังยุโรปหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งเคยได้รับรางวัลเกียรติยศผลงานทั้งชีวิตที่ประเทศกรีซและอเมริกา เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2001

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2553
12.30 น. The Eye Above the Well (Netherlands, 94min, 1988) กำกับโดย Johan van der Keuken

14.30 น. A Moment’s Silence (Netherlands, 10min,1963) กำกับโดย Johan van der Keuken,
Beauty (Netherlands, 22min,1963) กำกับโดย Johan van der Keuken
+
The Unanswered Question, On Animal Locomotion (Netherlands, 16min,1994)
กำกับโดย Johan van der Keuken

11/11/09

โปรแกรมพิเศษ งานแนะนำหนังสือ Lord of the Flies (วัยเยาว์อันสิ้นสูญ)

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขอเชิญชมและร่วมรับฟังเสวนา

Lord of the Flies (วัยเยาว์อันสิ้นสูญ)


ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)




โปรแกรมพิเศษ งานแนะนำหนังสือ Lord of the Flies (วัยเยาว์อันสิ้นสูญ)
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2552
12.30 น. Lord of the Flies (1963) Peter Brook กำกับ 92 นาที (บรรยายอังกฤษ)
14.15 น. Lord of the Flies (1990) Harry Hook กำกับ 90 นาที (บรรยายไทย)

ภาพยนตร์สองเวอร์ชั่นที่สร้างจากวรรณกรมคลาสสิกของ William Golding ปัจจุบันแปลและตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ “วัยเยาว์อันสิ้นสูญ” โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮ้าส์ เรื่องราวของกลุ่มเยาวชนที่ติดค้างบนเกาะร่วมกันกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ในบรรดาผู้ปกครองของพวกเขานั้นไม่มีผู้ใดรอดชีวิต เหลือเพียงความรับผิดชอบและการต่อสู้เพื่ออยู่รอดแบบดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ต้นกำเนิดของหนังญี่ปุ่นเรื่อง Battle Royale ที่มุ่งเน้นเฉพาะด้านความรุนแรง อาจจะมีต้นตอจากวรรณกรรมเรื่องนี้

ฉบับหนังขาวดำปี 1963 ที่กำกับโดย Peter Brook ผู้กำกับละครเวทีชั้นนำชาวอังกฤษ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองหนังยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ส่วนฉบับหนังสีปี 1990 ที่สร้างใหม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Young Artists Award ในสาขานักแสดงเยาวชนประเภทดารานำเดี่ยวและหมู่คณะ

(ร่วมเสวนาโดย กมลทิพย์ สิทธิกรโอฬารกุ บรรณาธิการไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง,
คุณ สฤณี อาชาวานันทกุล นักวิชาการ –นักเขียน และบรรณาธิการ onopen online และ คุณ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากนิตยสาร Bioscope)
* * * เสวนาหลังการฉายภาพยนตร์รอบสอง * * *

11/6/09

Alain Tanner Retrospective ที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์มกรุงเทพครั้งที่ 7

Alain Tanner Retrospective ที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์มกรุงเทพครั้งที่ 7
http://www.worldfilmbkk.com/news/23/Retrospective:-Alain-Tanner.html

หนังใหม่น่าดูหลายเรื่องเข้าฉายในงาน 7th World Film Festival of Bangkok มีหนังหลายเรื่องมาหลอกล่อ ทั้งหนังของคนเก่าแก่ที่ติดตามกันมานาน และหนังที่วอนขอ อย่าง Philippe Grandrieux (A Lake) http://www.worldfilmbkk.com/films/31/Lake,-A.html, Tsai Ming Liang (Face) http://www.worldfilmbkk.com/films/4/Face.html, Ulrike Ottinger (The Korean Wedding Guest) http://www.worldfilmbkk.com/films/59/Korean-Wedding-Chest,-The.html, João Pedro Rodrigues (To Die Like A Man) http://www.worldfilmbkk.com/films/21/To-Die-Like-a-Man.html, Julio Bressane (The Rat Herb) http://www.worldfilmbkk.com/films/41/Rat-Herb,-The.html กับหนังนักเรียนของสถาบัน Cal arts Shorts http://www.worldfilmbkk.com/films/100/CalArts-Shorts:-Portrait-Documentaries-from-Womens-Perspective..html และก็อีกหลายชื่อที่ไม่คุ้นหู แต่ก็นะ บางทีคนเราก็ชอบย้อนกลับไปหาความทรงจำประทับใจเดิม ๆ ถึงเขาจะไม่ทำหนังใหม่อีกแล้ว อยากดูแล้วดูอีก ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ คราวนี้ก็คงต้องกลับไปดูโรงอีกเพื่อฟื้นความทรงจำ

Alain Tanner
หรือ อแลง ตองแนร์ ผู้กำกับชาวสวิสที่เป็นหัวหอกของหนังสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกับ Claude Goretta (คล้อด กอเร็ตตา) ในช่วงทศวรรษ 70 อันที่จริงเขาเคยเป็นหนึ่งในกลุ่ม Free Cinema ที่อังกฤษทำเรื่อง Nice Time (1957) กับ Claude Goretta มาก่อนจะแยกดังเดี่ยวในยุคหลังเสียอีก

โอกาสดีมากที่คนไทยจะได้รู้จักหนังของเขา เพราะหนังของเขาแทบไม่เคยมาฉายเลย แม้แต่ตามสถาบันวัฒนธรรมทั้งหลายแหล่ หนังของเขาที่มาเข้าฉายในงานครั้งนี้มี 6 เรื่อง คือ Charles, Dead or Alive (1969), The Salamander (1971), Jonah Who Will be 25 in The Year 2000 (1976), Messidor (1979), Light Years Away (1981) และ In The White City (1983)

ผมเคยดูแค่ 3 เรื่องในจำนวนนี้ คือ The Salamander , Jonah Who Will be 25 in The Year 2000 และ In The White City แต่ก็เป็นหนังที่ผมชอบมากทั้ง 3 เรื่อง โดยรวมแล้วสไตล์หนังทั้งสามเรื่องจะค่อนข้างแตกต่างกันมาก หนังสองเรื่องแรกเขียนบทโดย John Berger นักเขียน / จิตรกรและนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักจากหนังสือชื่อ Ways of Seeing ที่กลายเป็นตำราประจำวิชาสิลปะ ซึ่งเดิมนั้นเขียนประกอบรายการศิลปะชื่อเดียวกันของเขาที่ฉายทางโทรทัศน์ช่อง BBC

เรื่อง The Salamander ผมเคยเขียนลงนิตยสาร Bioscope (ปกแฟนฉัน) ไปครั้งหนึ่งในการแนะนำ หนังสารคดีนอกรีต – ฉบับเอกเขนกแตกขนบ เรื่องนี้เกี่ยวกับผู้ชายสองคนที่ร่วมกันเขียนบทโดยใช้ตัวอย่างคดีของผู้หญิงคนหนึ่งที่ยิงลุงเป็นแบบ แต่พอไปรู้จักตัวเธอจริง ๆ ชีวิตของเธอก็ดูต่างจากที่เขาคาดไว้พอดู เรื่องก็จะเล่าให้เห็นความจริงบ้าง จินตนาการบ้าง แต่พอเล่าไปมาก็ไม่รู้อันไหนจริงกว่าหรอก ไม่สำคัญด้วยมั้ง แต่หนังจะดูตลกเพราะเห็นผู้ชายสองคนนี้ถกเถียงกันและมึน ๆ งงบ้างเมื่อต้องรับมือกับผู้หญิงตัวจริง อันนี้อาจเล่าไม่ถูกต้องนัก เพราะไม่ได้ดูเรื่องนี้นานแล้ว

ส่วนเรื่องที่สาม Jonah Who Will be 25 in The Year 2000 เรื่องนี้เคยแนะนำลง Bioscope เช่นกัน (ในฉบับ "หนังที่ทักษินควรดู") สองหนุ่มนักเขียนบทจาก The Salamander กลับมาร่วมแสดงกันอีก พร้อมกับคณะนักแสดงเก่ง ๆ อีกหลายคน (บางคนจากหนังเรื่องก่อนหน้านั้นด้วย) ที่เด่นก็คือ หมิว หมิว (Miou Miou) ดาราฝรั่งเศสที่คนคุ้นหน้าจากหนังตลกเพี้ยน ๆ ของ Bertrand Blier กับสาวอีกคน Myriam Mézières ที่ตอนหลังไปรับบทเด่นใน A Flame in My Heart หนังร้อนผ่าวขาวดำปี 1987 ของ ตองแนร์

เรื่อง Jonah นี้ฟังชื่ออาจนึกถึงหนังวิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ แต่รับรองว่าดูแล้วรู้สึกร่วมได้ แม้จะไม่เข้าใจสถานการณ์สังคมของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงนั้น ก็นี่เป็นหนึ่งในหนังคลาสสิกที่มีพลังความเป็นมนุษย์สูงมาก มองดูคนทำงานอาชีพต่าง ๆ ทั้งชาวนา ทั้งคนทำงานออฟฟิศ เรื่อยไปจนถึงครอบครัวของเจ้าหนู โยนาห์ (Jonah หรือ Jonas) ที่จะเติบโตต่อไปในปี 2000 สำหรับหนังเรื่องนี้นักวิชาการ นักสังคม กับกูรูผู้รู้ทั้งหลายที่ชอบเสนอฉลาดตามกระทู้ ในเรื่องการอยู่ร่วมสังคมใต้ฟ้าเดียวกัน หรือชาว onopen ควรจะสละเวลาไปดู เพราะน่าจะดูแล้วชุ่มฉ่ำใจได้ไม่ยาก แม้หนังจะคุยกันทั้งเรื่องก็เถอะ

ส่วน In The White City ผมไม่เคยลืมว่าดูเรื่องนี้ครั้งแรกที่ไหน เพราะมันเป็นหนึ่งในหนังพิเศษเฉพาะ นั่นคือโรงหนัง Gate ที่ย่าน Notting Hill ในลอนดอนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ดูควบกับ Nostalghia ของ Andrei Tarkovsky จำได้ว่าประทับใจมากกว่าหนัง ทาร์คอฟสกี้ เสียอีก เรื่องนี้ บรูโน่ กั๊นซ์ (The American Friend, Wings of Desire, Downfall) นำแสดง เป็นกะลาสีเรือที่ไปเตร็ดเตร่ในลิสบอน โปรตุเกส ในมือติดกล้องถ่ายหนัง 8 มม. ไปตลอด เห็นอะไรก็ถ่ายส่งไปที่บ้านให้เมียดู แทนที่จะเขียนไปคุย หรือกลับไปหาเธอ เนื้อเรื่องไม่มีอะไรเป็นแนว road movie แต่ดูเป็น poetic กว่าหนัง วิม เวนเดอร์ส ทั่วไป สำหรับคนที่ชอบบรรยากาศเหงา ๆ สื่อสารกับใครไม่ได้ น่าจะรับไหว หนังไม่ถึงกับป็อปขนาด Wong Kar Wai แต่ก็ไม่ยากเกินไป

In The White City หนังเรื่องนี้ถ่ายได้บรรยากาศวิเวกมาก ควรดูเป็นฟิล์มในโรงหนัง จะเห็นเกรนแตก ๆ ของหนัง 8 มม. สวยเหลือเกิน

โปรดิวเซอร์เรื่องนี้คือ Paolo Branco ที่อำนวยการสร้างหนังดี ๆ ให้ผู้กำกับเยอะแยะ ไม่เชื่อลองดูรายชื่อ เช่นหนังของ Manoel de Oliveira, Cedric Kahn, Raoul Ruiz, Olivier Assayas, Chantal Akerman, Barbet Scroeder, Werner Schroeter, Sharunas Bartas, Pedro Costa, Peter Handke, Andrzej Zulawski, Valeria Bruni-Tedeschi, Luc Moullet, Philippe Garrel, Mathieu Amalric, João Botelho, André Téchiné, João César Monteiro และ Wim Wenders


พิเศษอีกอย่างในงาน คือ ฌอง ลุค บิโด (Jean-Luc Bideau) ดาราชื่อดังชาวสวิสที่แสดงนำในหนังของตองแนร์ หลายต่อหลายเรื่อง ก็จะมาปรากฏตัวให้ได้ยลด้วย

ดูก่อน อ่านทีหลัง
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด อ่านบทความของ ‘กัลปพฤกษ์’ เกี่ยวกับหนังของผู้กำกับ Alain Tanner ได้ในนิตยสาร Filmax ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้: http://www.worldfilmbkk.com/news/23/Retrospective:-Alain-Tanner.html

11/2/09

ผลพวงแห่งความคับแค้น - หนังสือ Filmvirus เล่ม 1- เล่ม 5 และ Bookvirus เล่ม 1-เล่ม 5


หนังสือ Filmvirus เล่ม 1- เล่ม 5 และ Bookvirus เล่ม 1-เล่ม 5

ทุกเล่มในสต็อคของ กาจับโลง (Bookvirus ฟุ้ง 03), สนธิสัญญาอสูร (Bookvirus ฟุ้ง 04), นางเพลิง (Bookvirus ฟุ้ง 05) มีวางขายที่ ร้านคิโนะคุนิยะ สาขาห้างพารากอน และ อิเซตัน (เซ็นทรัลเวิล์ด) เท่านั้น และไม่มีวางร้านอื่นในกรุงเทพ ฯ

กรุณาช่วยอุดหนุนสร้างกำลังใจในการจัดทำเล่มต่อไป เนื่องด้วยงบประมาณจำกัด และหากสามารถช่วยออกเสียงคอมเมนท์ ชอบหรือไม่ชอบเรื่องไหนด้วยก็ยิ่งดี

10/31/09

โปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่งาน Art Square จตุรัสศิลป์ ครั้งที่ 7

Filmvirus Wild Type at Jamjuree Gallery


โปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่งาน Art Square จตุรัสศิลป์ ครั้งที่ 7
ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2552 ในงานมีขายของที่ระลึก การแสดงดนตรี และการฉายภาพยนตร์

Art Square จตุรัสศิลป์ 7 ที่หอศิลป์จามจุรี ถัดจากมาบุญครอง (ฝั่งตรงข้ามอุเทนถวาย) ดูแผนที่ได้ที่นี่:
http://jamjureeartgallery.blogspot.com/

ชมฟรี ภาพยนตร์ฉายกลางแจ้งหน้าหอศิลป์ ฉายเวลาประมาณ 18.00 น. - 18.30 น. เป็นต้นไป

ภาพยนตร์วันที่ 15 ธันวาคม
Onechanbara +
Sukeban Deka

ภาพยนตร์วันที่ 16 ธันวาคม

Tetsuo 2 (Shinya Tsukamoto) +
Bad Taste (Peter Jackson)

ภาพยนตร์วันที่ 17 ธันวาคม


ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (Filmvirus) ภูมิใจเสนอ WILD TYPE : FILMVIRUS SHORTS! โปรแกรมหนังสั้นคัดสรรประจำปี 2552 ฉบับ ชุดเล็ก!
รวมมิตรหนังสั้นคัดสรรตกสำรวจประจำปี 52 เช่นเคย คัดเลือกโดย ราชินีนักดูหนัง Madeleine de Scudery และทาสรับใช้โลกมืดจากบ้านนา filmsick โปรแกรมยักษ์นั้นยังมาไม่ถึง แต่เราขอส่งชุดเล็ก หัวกะทิมาเรียกน้ำย่อยทุกท่านก่อนดังรายการต่อไปนี้!


โปรแกรมที่ 1 (92 นาที )
ของเหลวที่หลั่งจากกาย (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) 41 นาที
ฆาตรกรรมสวาท ประหลาดน่านฟ้า ทำให้คนหายตัวไป (เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง) 21 นาที
ต้อม (ศุภิสรา กิตติคุณารักษ์) 30 นาที

โปรแกรมที่ 2 (118 นาที)
มธุรส (ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์) 22 นาที
ตอนบ่ายตายคนเดียว( ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ) 6 นาที
กาลนิรันดร์ (อิสระ บุญประสิทธิ์) 30 นาที
สีบนถนน (วีระพษ์ วิมุกตะลพ) 62 นาที

10/30/09

ปลุกผีคอมมิวนิสต์แห่งบ้านนาบัว- กระทบไหล่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ลิเวอร์พูล

ปลุกผีคอมมิวนิสต์แห่งบ้านนาบัว
PRIMITIVE INSTALLATION @ FACT LIVERPOOL
รายงานเบื้องลึกเบื้องหลังงานแสดงศิลปะชุดล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

(ภาพประกอบจาก kickthemachine.com)

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

(ภาพ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล @ FACT Liverpool
บริเวณหน้าร้านหนังสือและ DVD ที่เต็มไปด้วยผลงานของเขา)


ทันทีที่ทราบข่าวว่างานแสดงศิลปะชุด Primitive ของคุณ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จะมาเปิดการแสดงที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๒๔ กันยายน – ๒๙ พฤศจิกายน ศกนี้ ผู้เขียนก็รีบจับจองตั๋วรถไฟเตรียมตัวเดินทางไปร่วมชมการแสดงในทันที โดยได้เลือกวันที่คุณอภิชาติพงศ์จะเดินทางมาบรรยาย masterclass เล่าถึงที่มาที่ไปรวมทั้งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนั่นคือวันที่ ๒๔ กันยายน ซึ่งเป็นวันที่เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมงานเป็นวันแรกนั่นเอง และด้วยความที่ผู้เขียนเองเคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองลิเวอร์พูลมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อครั้งเดินทางมาประเทศอังกฤษครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๒ โน่น การเดินทางกลับไปอีกครั้งในปีนี้จึงไม่ต้องวางแผนท่องเที่ยวเตร็ดเตร่เดินชมบ้านชมเมืองอะไรนักเพราะได้พบได้เห็นไปพอควรแล้ว เหลือก็แต่ต้องปรับหูให้คุ้นชินกับสำเนียง Scouse ของชาว ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ ที่ทั้งหนักและเหน่อชนิดสามารถทลายความมั่นใจทักษะในการฟังของบรรดา ‘เซียน’ ภาษาอังกฤษทั้งหลายได้อย่างราบคาบเลยทีเดียว!

เมื่อถึงวันเดินทางผู้เขียนก็ได้กะประมาณเวลาเอาไว้ให้ถึงเมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ แห่งนี้ก่อนเริ่ม masterclass ประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ๆ เมื่อเก็บข้าวของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ก็จัดการกางแผนที่ออกเดินทางตามหา FACT Liverpool หรือ Foundation for Art and Creative Technology แห่งเมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานอย่างไม่รอช้า ลัดเลาะเสาะหาอยู่ประมาณ ๑๕ นาทีผู้เขียนก็มาถึงสถานที่ จึงได้เห็นกับตาตัวเองว่ามันเป็นอาคารชุมนุมกิจกรรมทางศิลปะซึ่งมีทั้ง gallery และโรงภาพยนตร์ขนาดย่อมอีกสองโรงที่ใหญ่โตโอ่อ่าพอใช้ ยิ่งเมื่อได้เข้าไปดูข้างในก็เห็นผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วมชมงาน ณ สถานที่แห่งนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยในส่วนของการแสดงผลงานชุด Primitive ของคุณอภิชาติพงศ์นั้นจะอยู่ใน gallery ชั้นหนึ่งและสองของตัวอาคาร แต่สำหรับกิจกรรมการ masterclass ก็จะย้ายไปจัดที่โรงภาพยนตร์บริเวณชั้นสามแทน

(ภาพอาคาร FACT Liverpool ศูนย์แสดงงานศิลปะร่วมสมัยอันโอ่อ่าน่าเยี่ยมชม)
จริง ๆ แล้วงานแสดงชุด Primitive นี้ได้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์โลกไปก่อนแล้วที่ Haus der Kunst ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถาบันที่สนับสนุนการสร้างงานชิ้นนี้ร่วมกันกับ FACT Liverpool และ Animate Project แห่งกรุงลอนดอน การเดินทางมาเปิดการแสดงที่เมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ ในโอกาสนี้จึงนับเป็นรอบปฐมฤกษ์ของสหราชอาณาจักรเลยทีเดียว โดยต่อจากนี้คุณอภิชาติพงศ์ก็จะนำงานชุดเดียวกันไปจัดแสดง ณ Musee d’Art moderne de la Ville de Paris ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

เอาหละเมื่อมาถึงสถานที่และได้หยิบสูจิบัตรงานมาศึกษาดูรายละเอียดกันคร่าว ๆ แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ก็ขอเดินชมงานไปตามลำดับที่ผู้จัดเขา set ไว้ก็แล้วกันนั่นคือเริ่มต้นที่ Gallery1 บริเวณชั้นล่างก่อน แต่ยังไม่ทันที่จะได้เดินเข้าไปก็ต้องมาจ๊ะเอ๋กับจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ซึ่งกำลังฉาย music video เพลง ‘ฉันยังคงหายใจ’ หรือ ‘I’m Still Breathing’ จากอัลบัมชุด ‘ทิงนองนอย’ ของวง โมเดิร์นด็อก ฝีมือการกำกับโดยคุณอภิชาติพงศ์เองตั้งดักวางอยู่ตรงหน้า gallery และเมื่อดนตรีเริ่ม intro เราก็จะเห็นเด็กหนุ่มชาวบ้านจำนวนยี่สิบกว่านายต่างวิ่งกรูกันไปบนถนนดินแดงในท้องที่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ชวนให้ได้สงสัยกันเหลือเกินว่าพวกเขาจะรีบไปไสกันเบิ๊ดละนออ้ายเอ้ย! แต่วิ่งไปวิ่งไปก็ไม่เห็นว่าจะถึงจุดหมายปลายทางสักที จนหลายคนเริ่มมีอาการหมดแรงล้มลงไปหอบแฮ่ก ๆ นอนกองตับแลบอยู่ตรงทุ่งหญ้าข้างทาง ปล่อยให้เสียงดนตรีกระหึ่มดังด้วยจังหวะจะโคนที่รุกเร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ข้างฝ่ายชายหนุ่มที่ยังมีแรงวิ่งต่อนั้น เมื่อเห็นรถกระบะเปิดท้ายคันหนึ่งกำลังแล่นอยู่เบื้องหน้าพวกเขาก็พากันกระโจนขึ้นท้าย ‘ให้พวกข่อยห้อยไปด้วย!’ กันเป็นการใหญ่ จากนั้นก็ถอดเสื้อวาดลวดลายลีลาเต้นแร้งเต้นกาไปตามเสียงดนตรีที่ยิ่งทวีความคึกคักกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แสดงพละกำลังของชายหนุ่มวัยฉกรรจ์ชนิด hormone testosterone ทะลักพล่านท่วมล้นจนเต็มคันรถเลยทีเดียว! อืม...ก็นับว่าเป็น music video เชียร์แขกที่เรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าใคร ๆ ที่แวะผ่านมาทางนี้ต่างก็ต้องหยุดดูว่าผู้บ่าวเหล่านี้เขาครึกครื้นเฮฮาเป็นบ้าเป็นหลังกันด้วยเรื่องอะไร?

หลังเปิดประเดิมกันไปอย่างคึกคักด้วย music video เพลงแรกแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะได้เข้าไปชมผลงานใน Gallery หมายเลข ๑ กันสักที ซึ่งในส่วนของ gallery นี้ อภิชาติพงศ์ก็ได้จัดแสดงผลงานต่าง ๆ ในความมืด โดยจากพื้นที่ของ gallery ที่ค่อนข้างกว้างขวางนั้นก็มีการแบ่งผนังห้องทั้งสี่ด้านสำหรับฉาย video installation รวมทั้งสิ้น ๕ ชิ้น โดยในส่วนกลาง gallery นอกจากจะใช้เป็นที่วางเก้าอี้พับสำหรับให้ผู้ชมได้นั่งชม video ในแต่ละจอแล้ว ก็ยังมีโครงโลหะสำหรับติดตั้งลำโพงตั้งวางอยู่ และพื้นที่ว่างบริเวณกลางโครงโลหะนั้นก็มีการใช้ดวงไฟสีแดงสาดแสงส่องลงมาเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ลองเดินเข้าไปสัมผัสกับสภาวะ ‘infra-red’ หรือ การตกอยู่ภายใต้โลกสีแดงด้วยตัวเองกันอีกด้วย แต่ก่อนจะไปเล่นแปลงกายเป็นวานรสุครีพกายโกเมน ก็ขอเดินชม video installation ในแต่ละจอกันก่อนว่ามีอะไรให้ดูกันบ้าง


สำหรับจอใหญ่สุดบนผนังด้านซ้ายของทางเข้านั้นก็เป็น video ที่ชื่อ ‘Nabua’ ซึ่งก็จะแสดงภาพสถานที่ต่าง ๆ ของหมู่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในยามค่ำคืนที่ตกเป็นเป้าของสายฟ้าฟาดอสุนีบาตที่ทะลุกราดมาถึงพื้นปฐพีก่อให้เกิดประกายไฟพร้อมกลุ่มควันกันแบบไม่วายเว้น แต่ถึงแม้จะถูกรบกวนด้วยเสียงปะทุเปรี้ยงของประจุไฟฟ้ากันอย่างไร ชาวบ้านนาบัวทั้งหลายก็ดูจะไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก พวกเขากลับแต่งเนื้อแต่งตัวออกมานั่งดูชมประกายไฟกันอย่างสุขใจ ไม่เห็นจะมีใครหวั่นกลัวว่ามันจะฟาดลงมาบนกะลาหัวเลยสักนิด จากนั้น video ก็จะตัดภาพไปให้เห็นปรากฏการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้น ณ จุดต่าง ๆ จนเกือบจะทั่วหมู่บ้าน


หมู่บ้านสายฟ้าฟาด ใน ‘Nabua’
(ภาพประกอบจาก kickthemachine.com)

ส่วนจอถัดมาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าก็จะเป็น video เงียบ ชื่อ ‘An Evening Shoot’ แสดงภาพนายทหารพราน ๓-๔ นายกำลังฝึกซ้อมยิงปืนจากภายในบ้านไม้หลังหนึ่ง จากนั้นจึงตัดภาพไปยังชายหนุ่มซึ่งกำลังเดินไม่รู้ไม่ชี้อิโหน่อิเหน่อยู่ตามลำพังกลางทุ่ง ก่อนจะสะดุดล้มลงไปในทันใดราวกับถูกทำร้ายด้วยคมกระสุนปืน และถึงแม้ว่าจะภาพในจอนี้จะมิได้มีเสียงประกอบอะไรใด ๆ แต่เสียงฟ้าฟาดจากในจอ Nabua ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ก็ดูจะสร้างเสียง effect ให้กับการฝึกซ้อมยิงปืนปริศนา ณ เวลาสายัณห์ในจอ ‘An Evening Shoot’ นี้ได้อย่างเข้าทีเลยทีเดียว


กลับหลังหันมาดูอีกจอฝั่งตรงข้ามกันบ้าง สำหรับจอนี้ก็เป็น video สารคดีเงียบชื่อ ‘Making of the Spaceship’ ถ่ายทอดเบื้องหลังการสร้างยานอวกาศรูปทรงรีหน้าตาพิลึกร่วมกับชาวบ้านนาบัว เริ่มกันตั้งแต่การช่วยกันออกแบบยานอวกาศลักษณะต่าง ๆ ก่อนจะมาลงเอยกันที่รูปทรง ellipsoid จากนั้นจึงเริ่มขึ้นโครงโลหะ ปะปิดกันด้วยแผ่นไม้ แล้วใช้กระดาษทรายขัดผิวให้เรียบมันเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ โดยระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ของการสร้างยานลำนี้ อภิชาติพงศ์ก็ได้ถ่ายทอดกิจกรรมสัพเพเหระอื่น ๆ ของเหล่าวัยรุ่นแห่งบ้านนาบัวที่มาช่วยกันสร้างยานสลับกันไปอย่างไม่เร่งร้อนอีกด้วย


เสร็จจากการสร้างยานก็หันกลับไปดูอีกจอของฝั่งตรงข้ามที่ชื่อ ‘A Dedicated Machine’ คราวนี้เราก็จะได้เห็นกันด้วยตาว่ายานอวกาศที่เหล่าชาวบ้านนาบัวช่วยกันสร้างขึ้นมานั้นมันมิได้เป็นแค่โครงเหล็กหุ้มไม้ที่ทำไว้เป็น prop เพื่อความกิ๊บเก๋เท่านั้น หากมันสามารถดิ่งลอยขึ้นกลางอากาศได้จริง ๆ แม้ว่าจะต้องทิ้งตัวกลับลงมาอยู่ตำแหน่งเดิมภายในเวลาไม่ถึงนาที ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนี้ท่ามกลางฉากหลังของทุ่งป่าในเวลาพลบค่ำ แต่เมื่อดูไป ๆ ยานอวกาศลำนี้ก็ไม่เห็นมีทีท่าจะพุ่งทะยานมุ่งหน้าไปทิศไหนสักกะที เลยต้องปล่อยให้มันเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับแรงโน้มถ่วงอยู่อย่างนี้ไปตามลำพังก็แล้วกัน


และแล้วก็มาถึงจอสุดท้ายของ Gallery 1 นั่นคือจอที่ตั้งชื่อไว้ว่า ‘Primitive’ จอนี้ดูจะผิดแผกไปจากใครเพื่อนเนื่องจากมันประกอบไปด้วย video สองจอต่อกันตามแนวตั้ง โดยแต่ละส่วนก็จะถ่ายทอดเนื้อหาที่ต่างกันไปไม่ได้มีอะไรสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตรง สำหรับภาพที่ปรากฏอยู่ในทั้งสองจอของ video ชุด ‘Primitive’ นี้ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการติดตามการใช้ชีวิตของบรรดาเด็กหนุ่มแห่งบ้านนาบัวทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขาก็ประกอบไปด้วยการสวมใส่ชุดทหารแล้วเล่นรุมถอดกางเกงกันท่ามกลางพวยควันกลางทุ่งหญ้าด้วยอารมณ์คึกคะนอง การขับรถ motorcycle ไปชมวิวกันที่ประตูกักน้ำ พอตกกลางคืนพวกเขาก็ใช้ยานอวกาศที่ช่วยกันสร้างมาอาศัยเป็นที่เรียงรายหลับนอนโดยมีการติดไฟสีแดงประดับไว้ไม่รู้ว่าเพราะต้องการไล่ตะขาบยุงริ้นไรหรือด้วยเหตุผลอื่น
แต่ shot ติดตาที่ไม่สามารถจะลืมได้เลยก็คือ ภาพของปิศาจหน้าผีในชุดห่มขาวที่กำลังยืนหันหน้าอำลาดวงสุริยายามสนธยาอยู่อย่างสงบนิ่ง ครู่หนึ่งผีตนนั้นก็กลับหลังหันเดินตัดทุ่งไปตามแนวชายป่า แต่ไม่ทราบว่าไปสะดุดกระบอกตะไลหรือไฟพะเนียงอะไรเข้าจึงเกิดเป็นประกายไฟลุกขึ้นมาอย่างฉับพลัน ผ้าขาวที่ห่มร่างปริศนานั้นจึงลุกขึ้นเป็นเปลวเพลิงในขณะที่เจ้าของร่างยังคงเดินต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น! พักหนึ่งเมื่อไฟลามไหม้ผืนผ้าจนจะกลายเป็นผืนถ่านไปหมดแล้ว ร่างนั้นจึงได้สลายกลายเป็นอากาศธาตุไปราวกับไม่เคยมีตัวตนมาก่อน! เห็น shot นี้แล้วก็ชวนให้ต้องขนลุกซู่ ด้วยไม่รู้ว่าคุณอภิชาติพงศ์ ไปร่ายมนต์อัญเชิญภูตผีมาจากป่าช้าวัดไหนจึงสามารถรับบทเป็นตัวเองใน video จอนี้ได้อย่างสมจริงยิ่งนัก


(การแบ่งจอบนและจอล่าง ใน ‘Primitive’)

และระหว่างที่ video กำลังวนแสดงภาพต่าง ๆ เหล่านี้ไปเรื่อย ๆ นั้น ก็จะมีเสียงพากษ์เป็นภาษาอีสานขึ้นมาเป็นระยะ พูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ สะเปะสะปะกันไปฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เท่าที่พอจับได้ก็จะมีการว่าถึงการเดินทางข้ามเวลาไปทั้งในโลกอดีตและอนาคต การพยากรณ์สภาพของยานอวกาศลำนี้ว่าต่อไปคงไม่พ้นมีเถาวัลย์และตะไคร่ปกคลุมจนทั่ว การทำ passport ปลอม การส่งสินค้ายังแดนไกล เจ้าหญิงในความฝันที่ตัวดำดั่งผิวควาย และเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมายที่รวม ๆ แล้วคงไม่ได้ตั้งใจจะให้ผูกโยงอะไรมากนัก หมดจากจอ ‘Primitive’ นี้แล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นการแสดงใน Gallery 1 แต่ก่อนจะผละออกไปผู้เขียนไม่ลืมลองไปยืนทำตัวแดงอยู่ ณ ตำแหน่งที่เขาส่องไฟไว้สักหนึ่งครู่ ซึ่งก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้เข้าไปอยู่ในตู้ Incubator เร่งเวลาสำหรับฟักไข่อย่างไรอย่างนั้น แต่เมื่อเหลียวดูนาฬิกาแล้วเหลือเวลาก่อนจะเริ่ม masterclass อีกเพียง ๓๐ นาที ผู้เขียนจึงต้องรี่ออกจาก Gallery 1 เพื่อไปดูอะไร ๆ ใน Gallery 2 ได้ทัน

ขึ้นบันไดตรงมาแล้วหันหน้าไปทางด้านซ้ายก็จะเห็นทางเข้า Gallery 2 ซึ่งดูจะมีขนาดเล็กกว่า Gallery 1 อยู่เกือบครึ่ง ใน Gallery 2 นี้ก็จะมีการจัดแสดงงานกันในความมืดเช่นเดียวกัน โดยในภายในโถงใหญ่ของ gallery นั้นก็จะเป็นการฉายผลงานอันถือเป็น hi-light ของการแสดงนั่นคือภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ หรือ ‘A Letter to Uncle Boonmee’ ความยาว ๑๗ นาทีที่โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัล Grand Priize จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นนานาชาติแห่งเมือง Oberhausen มาได้หมาด ๆ ว่าแล้วก็ขอดูให้ฉ่ำตาหน่อยเถิดว่ามันจะวิลิศมาหราสมคำร่ำลือได้ขนาดไหน เปิดฉากขึ้นมาสิ่งแรกที่ปรากฏก็คือภาพจากมุมมองภายในของหน้าต่างบานเกล็ดของบ้านไม้ในชนบทหลังหนึ่ง จากนั้นกล้องก็ค่อย ๆ เคลื่อนไปสำรวจสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ภายในบ้านโดยเฉพาะภาพถ่ายของบรรพบุรุษ ใบประกาศเกียรติคุณ ปฏิทิน โปสเตอร์ดารา และอื่น ๆ นานาอีกสารพัดด้วยจังหวะจะโคนอันแช่มช้อยลอยละล่องอย่างเสรีไปตามส่วนต่าง ๆ ของบ้านที่ไร้ร้างผู้อยู่อาศัย โดยในระหว่างการสำรวจนี้ก็จะมีการอ่านจดหมายด้วยสำเนียงเสียงอีสานของชายผู้ไม่ปรากฏโฉมหน้าคลอประกอบไปด้วย ถ้อยความในจดหมายเขียนถึงคุณลุงที่ชื่อ ‘บุญมี’ ด้วยเนื้อหาทำนองว่า “ผมมาอยู่ที่นี่ได้สักระยะหนึ่งแล้ว ผมอยากจะเห็นชีวิตของลุงเป็นหนัง ผมจึงเสนอโครงการหนังเกี่ยวกับการระลึกชาติ แต่บ้านในแถบนาบัวนี้ไม่เหมือนกับบ้านที่ผมเขียนไว้ในบทหนังเลย บ้านของลุงเป็นอย่างไรกันนะ? มีวิวสวย ๆ แบบนี้หรือเปล่า? ไม่แน่หรอกนะบางส่วนของบ้านเหล่านี้อาจจะคล้ายกับบ้านของลุงก็ได้“ เมื่อชายคนแรกบรรยายเนื้อความในจดหมายจบลง ภาพการเลื่อนไหลไปสำรวจส่วนต่าง ๆ ของบ้านก็ยังดำเนินต่อไปแต่ในคราวนี้จะมีเสียงชายอีกคนหนึ่งมาอ่านข้อความในจดหมายนั้นซ้ำอีกครั้งด้วยสำเนียงอีสานเหมือนกันแต่ด้วยเนื้อเสียงที่ต่างออกไป เมื่อทวนเนื้อหาจนจบแล้วเราจึงได้เห็นพลทหารหน้าเหลี่ยมนายหนึ่งกำลังนั่งทานอะไรสักกะอย่างอยู่บนเรือนก่อนจะเขวี้ยงเศษลงไปให้สุนัขใต้เรือนได้กินต่อ หนังตัดภาพมาที่ภายในตัวบ้านอีกครั้งโดยคราวนี้เราจะได้พบเห็นสถานการณ์อันน่าประหลาดใจชวนให้ต้องสงสัยเมื่อลิง gorilla ตัวหนึ่งกำลังนอนเอกเขนกอยู่ภายในมุ้งสีชมพู! แต่ดูเหมือนผู้กำกับอภิชาติพงศ์จะไม่ได้ตื่นเต้นอะไรไปกะเราด้วย เขาก็ยังสั่งให้กล้องเคลื่อนที่ต่อไปราวไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจอะไรนักหนา แล้วแฉลบมาสำรวจเมียงมองบ้านอีกหลังที่นายทหารประมาณ ๓-๕ นายกำลังช่วยกันใช้จอบขุดอะไรบางอย่างอยู่ แต่ยังไม่ทันรู้ว่าพวกเขากำลังเจาะหาหรือปลูกพืชผักชนิดใด กล้องก็ไถลไปสำรวจส่วนอื่น ๆ ของตัวบ้านต่อเสียแล้ว ปล่อยให้พวกเขาเว้าอีสานคุยกันต่อไปในระดับเสียงที่ฟังไม่ได้ศัพท์นัก
แต่เอ๊ะ! แล้วนั่น! ใครอุตริเอาไก่ไปอบฟางในโอ่งน้ำใบใหญ่ เอ๊ย! ไม่ใช่! นั่นมันยานอวกาศแห่งบ้านนาบัวนี่นา! เห็นตั้งหรากลางกลุ่มควันตรงลานหลังบ้านก็นึกว่าอะไร แถมเล่นโผล่ออกมาแบบหน้าตายไม่เปิดโอกาสให้รู้ที่มาที่ไปจึงยิ่งชวนให้หลากใจว่า เออ! หมู่บ้านนี้มีอะไรแปลกดีพิลึกดีเนาะ! มิทันไรเสียงคำรามของเครื่องยนต์รถ motorcycle ก็ดังขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ก่อนจะต่อด้วยเสียงบรรยายที่แทรกขึ้นมาขณะกล้องกำลังกวาดรูปถ่ายใบหน้าของผู้ที่เคยอยู่อาศัย “ห้องนี้เคยมีทหารมาอาศัยอยู่ พวกเขาฆ่าและทรมานชาวบ้าน จนชาวบ้านทนไม่ไหวต้องหนีเข้าป่า . . .” อืมบรรยากาศชักจะเริ่มวังเวงจนน่ากลัวซะแล้วแฮะ แต่ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ก็ไม่ได้สืบสานเรื่องราวอะไรใด ๆ ต่อไป หากนำพาคนดูออกจากบริเวณบ้านไปสำรวจแนวป่าใกล้ ๆ ที่ ๆ เราจะได้เห็นทั้งลิง gorilla ตัวใหญ่ ศาลพระภูมิรกร้าง ฝอยละอองอะไรบางอย่างที่ปลิวละล่องเป็นทางอยู่เหนือยอดไม้ ซึ่งก็อาจเป็นได้ทั้งปุยนุ่น ละอองเกสรดอกไม้ กองทัพยุงหรือฝูงแมงหวี่อพยพ! ก่อนที่ความมืดจะเข้าปกคลุมจนมองไม่เห็นอะไรในที่สุด

อืม! และนั่นก็คือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ ที่เมื่อดูจบแล้วก็อดไม่ได้ที่จะตะลึงพรึงเพริดไปกับลีลาอันแสนจะวิจิตรบรรเจิดของหนัง ซึ่งถึงแม้ว่าโดยเนื้อหาแล้วมันจะไม่ได้นำเสนออะไรออกมาเป็นรูปธรรม แต่ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ก็ยังสามารถหยิบจับ ‘วิญญาณ’ แห่งสถานที่เหล่านั้นมาบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มได้อย่างทรงพลังจนน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง ด้วยทักษะและฝีไม้ลายมือในเชิงการกำกับที่สามารถเทียบชั้นระดับบรมครูอย่าง Michelangelo Antonioni หรือ Wim Wenders ได้แบบไม่น้อยหน้าเลยทีเดียว

หลังอิ่มเอมไปกับหนังสั้นเรื่องนี้แล้ว ก็ได้เวลาลุกขึ้นเหลียวซ้ายแลขวาว่ามีอะไรให้ดูใน Gallery 2 นี้อีกบ้าง และเมื่อหันกลับไปบริเวณใกล้ ๆ ประตูเข้า gallery ก็เห็นมีซอกหลืบเล็ก ๆ อยู่ซอกหนึ่งส่องแสงรำไรชวนให้ได้เข้าไปดูว่ามีอะไรอยู่ไหมหนอ? แต่ยังไม่ทันได้เดินเข้าไปก็ต้องสะดุ้งตกใจกับปิศาจยักษ์ร่างใหญ่ที่ยืนจังก้าน่าเกรงขามอยู่ในความมืด! ก็พุทโธ่ถัง! ใครหนอช่างมือพิเรนทร์ใช้ถ่านดำมาวาดรูปภูติผีเล่นบนผนังในความมืดให้ต้องตกอกตกใจกันแบบนี้! ว่าแล้วก็รีบเดินหนีไปด้วยความหวาดกลัวว่าเงาตะคุ่มที่สูงใหญ่จนท่วมหัวนั้นมันอาจมิได้เป็นเพียงแค่ภาพเขียน! ครั้นเดินลัดเข้าไปในหลืบที่ว่าจนสุดทางก็จะมีห้องเล็ก ๆ รูปสี่เหลี่ยมจุตรัสขนาดประมาณวาเศษ ๆ อยู่อีกห้องหนึ่ง โดยในห้องนี้ก็จะมีจอภาพฉาย music video ประกอบเพลงที่ชื่อ ‘Nabua Song’ ซึ่งก็เป็นเพลงที่ชาวบ้านรายหนึ่งได้แต่งและร้องขึ้นมาเองแบบง่าย ๆ ด้วยเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวคือ guitar โปร่ง โดยเนื้อหาของเพลงนั้นก็จะเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เสียงปืนแตกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ชาวบ้านนาบัวได้หยิบปืนขึ้นมาต่อสู้ปะทะกับทหารกวาดล้าง communist จากฝ่ายรัฐบาลเป็นครั้งแรก โดยในส่วนของ music video เพลงนี้ก็เป็นอะไรที่ ‘ลุงทุนและสร้างสรรค์’ มาก เพราะตลอดทั้งเพลงเราจะได้เห็นแต่เพียงใบหน้าของทหารหน้าเหลี่ยมรายเดิมจาก ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ กำลังนั่งเหม่อเปิบข้าวเหนียวปิ้ง (ถ้ามองไม่ผิด) อยู่ตามลำพัง! ซึ่งก็นับเป็นอะไรที่แปลกหูแปลกตาดีเหมือนกันเพราะคงไม่มีใครเคยคิดฝันว่าจะได้เห็นผู้กำกับสุดติสท์อย่างอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มีอุดมการณ์สร้างสรรค์งานในแนว ‘เพื่อชีวิต’ อะไรแบบนี้กะเขาได้ด้วย!

เสร็จจาก music video เพลง ‘Nabua Song’ แล้ว ก็เป็นอันจบกระบวนในส่วนงานแสดง installation ชุด Primitive ทั้งหมดแต่เพียงเท่านี้ แต่ในสูจิบัตรงานก็มีระบุข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยว่ายังมีผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้อีกสองชิ้น นั่นคือ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Phantoms of Nabua’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ online ที่ทุกท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมกันได้ที่ website: http://www.animateprojects.org/films/by_date/2009/phantoms และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง ‘Uncle Boonmee, A Man Who Can Recall His Past Lives’ ซึ่งยังไม่ได้ถ่ายทำแต่มีกำหนดออกฉายในช่วงปีหน้า
เมื่อเหลียวดูนาฬิกาอีกครั้งก็ได้เวลา ๑๖.๐๐ น. จึงต้องรีบไปรอคิวเข้าร่วมฟัง masterclass กะเขาก่อนแล้ว ขึ้นบันไดวนมาอีกหนึ่งชั้นก็จะถึงบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ที่ใช้เป็นสถานที่ บรรยาย ซึ่งก็น่ายินดีที่กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สนใจยืนออเข้าร่วมฟังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ดูเหมือนข้างในจะยังจัดการอะไรไม่เรียบร้อยดี เจ้าหน้าที่พนักงานจึงต้องร้องขานให้ท่านทั้งหลายโปรดอดใจรออีกสักครู่ สักพักประตูก็เริ่มเปิด เห็นคุณอภิชาติพงศ์และผู้ดำเนินรายการนั่งโต๊ะอยู่หน้าเครื่อง computer laptop บริเวณมุมล่างขวาของจอ ผู้เขียนก็หาที่นั่งเหมาะ ๆ บริเวณกลางโรง ในขณะที่คุณอภิชาติพงศ์ก็กำลังจัดเตรียม file ที่จะใช้ประกอบการบรรยายอยู่ เมื่อผู้สนใจเข้ามานั่งกันในโรงภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การบรรยาย masterclass จึงเริ่มต้นขึ้น

หลังจากแนะนำชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่เรียบร้อย คุณอภิชาติพงศ์ก็เริ่มต้นการบรรยายด้วยการฉาย video art เปิดประเดิมเป็นการให้พรแก่ทั้งผู้ชมและคุณอภิชาติพงศ์เอง โดย video ที่เลือกนำมาฉายนั้นก็เป็น video ที่ชื่อ ‘Emerald’ หรือ ‘มรกต’ ซึ่งเคยออกแสดงในประเทศไทยไปแล้ว หลังฉายจบ คุณอภิชาติพงศ์ ก็ได้กล่าวว่าจริง ๆ แล้วเขาตั้งใจจะฉาย video เรื่อง ‘The Anthem’ แต่เนื่องจากแผ่นมีปัญหาจึงไม่สามารถฉายได้ เลยเลือกฉายเรื่อง ‘Emerald’ นี้แทน ซึ่งคุณอภิชาติพงศ์ก็หวังว่าน่าจะเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงแนวทางในเชิงศิลปะของเขาได้ดีชิ้นหนึ่ง หลังให้พรกันไปด้วยผลงาน video สั้นแล้ว คุณอภิชาติพงศ์ก็ได้ชี้แจงว่าจะแบ่งเนื้อหาของการบรรยายออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะเป็นการกล่าวถึงประสบการณ์ในสายงาน Art Installation ของคุณอภิชาติพงศ์เองว่าเคยมีผลงานในลักษณะใดอย่างไรมาก่อนบ้าง และในส่วนครึ่งหลังก็จะเป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมาเป็นไปรวมถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานชุด Primitive นี้โดยตรง
สำหรับในส่วนของการบรรยายถึงงาน Art Installation ชุดอื่น ๆ ของคุณอภิชาติพงศ์นั้น เนื้อหาก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่คุณอภิชาติพงศ์เคยได้รวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ สัตว์วิกาล โดยกลุ่ม filmvirus จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks จึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีก คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้เองจากในหนังสือเล่มนั้น แต่ส่วนที่สองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาเป็นไปของงานชุด Primitive นี้ดูจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่หลายประการ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ได้รับทราบรับฟังกันในส่วนนี้

การบรรยายในช่วงที่สองนี้คุณอภิชาติพงศ์ได้เล่าถึงจุดกำเนิดของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชุด Primitive โดยเริ่มต้นจากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ชื่อ คนระลึกชาติได้ ที่คุณอภิชาติพงศ์ ได้รับจาก พระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงประสบการณ์การระลึกชาติของนายบุญมี ผู้เคยเป็นทั้งนายพราน เป็นเปรต เป็นกระบือและโค ก่อนจะมาเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาตินี้ คุณอภิชาติพงศ์ รู้สึกประทับใจในเรื่องราวของนายบุญมีมาก โดยเฉพาะความสามารถในการจดจำอดีตของตัวเองได้ในหลากหลายภพชาติ เขาจึงเริ่มต้นออกเดินทางตามหาลูกหลานของลุงบุญมีในท้องที่ถิ่นอีสานเพื่อสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลุงบุญมีให้ได้มากที่สุด โดยในระหว่างการเดินทางนั้น คุณอภิชาติพงศ์ ได้พบกับหญิงสาวจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อ้างว่าเธอสามารถระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นลูกชายของครอบครัวต่างหมู่บ้านครอบครัวหนึ่งซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย โดยสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือหญิงสาวรายนั้นสามารถเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวต่างหมู่บ้านนั้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำแม้จะไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนเลยก็ตาม

หลังจากนั้น คุณอภิชาติพงศ์ ก็ได้เดินทางสำรวจท้องถิ่นอีสานต่อไปเพื่อตามหาร่องรอยของลุงบุญมี กระทั่งเขาได้มาถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นั่นก็คือหมู่บ้านนาบัว ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ความทรงจำครั้งอดีตเพราะมันคือสมรภูมิการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านตาดำ ๆ กับทหารปราบปราม communist ที่จบลงด้วยการสังเวยชีวิตในวันเสียงปืนแตกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ คุณอภิชาติได้เล่าถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้ฟังว่า บ้านนาบัวเป็นหมู่บ้านที่ถูกทางรัฐบาลคาดเป้าว่าเป็นแหล่งกบดานของเหล่า communist และถึงแม้พวกเขาจะไม่รู้ว่า communist คืออะไร แต่ชาวบ้านนาบัวก็กลับถูกกล่าวหาจากรัฐบาลว่าเป็นพรรคพวกเดียวกับกลุ่ม communist อยู่เสมอ พวกเขาถูกจับตามองในทุกฝีก้าว ถูกทหารจากฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจฆ่าและข่มขืนอย่างโหดร้ายทารุณ จนผู้คนในหมู่บ้านนาบัวทนไม่ไหว ต้องหนีตายเข้าป่าไปสมทบกับฝ่าย communist อย่างไม่มีทางเลือก กระทั่งวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ จึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่าง communist ชาวบ้านกับฝ่ายทหารรัฐบาลเป็นครั้งแรก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย หลังเหตุการณ์เสียงปืนแตกในครั้งนั้น หมู่บ้านนาบัวก็ถูกจับตามองจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีการส่งกองกำลังทหารมาควบคุมสถานการณ์เพิ่มเติมอีกหลายนาย สถานการณ์จึงยิ่งทวีความเลวร้ายเป็นผลให้ชาวบ้านหนีตายเข้าป่ากันมากขึ้น
กระทั่งยี่สิบปีผ่านไปเมื่อสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตคลี่คลาย สภาวะการณ์ความตึงเครียดในหมู่บ้านนาบัวจึงเริ่มทุเลาเบาบาง ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยออกจากป่ากลับมาอาศัยในหมู่บ้านกันตามเดิม แต่สำหรับในยุคนี้ พ.ศ. นี้ เหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นดูจะไม่ได้รับความใส่ใจจากคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านนาบัวเท่าไรนัก พวกเขาต่างอยากจะฝังลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป และอดีตที่กำลังจะกลายสภาพเป็นความทรงจำที่ถูกลืมของหมู่บ้านนาบัวนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์งานชุด Primitive ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล


(ภาพคุณอภิชาติพงศ์แสดงภาพถ่ายจุดที่เกิดการยิงกันจนเสียชีวิตครั้งแรกในหมู่บ้านนาบัวท่ามกลางความมืด)

อืม! เมื่อได้ฟังความเป็นมาเป็นไปของแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้แล้ว ผู้เขียนก็เริ่มจะ ’กระจ่าง’ ในอะไร ๆ ขึ้นมาอีกเยอะ ก็แหม! คุณพี่ท่านเล่นถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ผ่านผลงานกันด้วยความทรงจำและความประทับใจโดยไม่ยอมบอกเล่าอะไรให้ได้เรื่องได้ความ เลยต้องตามมานั่งฟังการบรรยาย masterclass ในครั้งนี้นี่แหละจึงจะรู้ว่า ‘บ้านนาบัว’ ‘คนหนุ่ม’ ‘ชุดทหาร’ ‘ยานอวกาศ’ ‘ผี’ และ ‘สีแดง’ มันเกี่ยวข้องอะไรกันอย่างไร แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะที่เหตุการณ์การต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านนาบัวแห่งนี้ จะไม่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในวงกว้างเท่าไรนักจนจักต้องกลายเป็นตำนานที่ถูกหลงลืมไปกับกาลเวลาได้ง่าย ๆ ต้องขอบคุณคุณอภิชาติพงศ์ที่นอกจากจะกระตุ้นให้เราได้หันมารับรู้และใส่ใจต่อความเป็นไปในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอันนี้แล้ว เขายังมีส่วนในการร่วมบันทึกความรู้สึกต่อเหตุการณ์ผ่านผลงานที่สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องถึงการมีอยู่ของเหล่าวีรบุรุษนักสู้จากบ้านนาบัวแห่งนี้กันอีกด้วย

คุณอภิชาติพงศ์บรรยายถึงเบื้องลึกเบื้องหลังแรงบันดาลใจต่อผลงานชุด Primitive นี้จนจวนเจียนจะหมดเวลาการ masterclass ที่ยาวนานเกือบ ๒ ชั่วโมง แทบไม่เหลือเวลาให้ผู้ชมได้ซักถามคำถาม และเมื่อการบรรยายสิ้นสุดลง ผู้เขียนก็รีบจัดการเก็บข้าวของเดินลงไปปราศรัยทักทายกับคุณอภิชาติพงศ์ในฐานะคนรู้จักที่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน ทันทีที่ยกมือไหว้คุณอภิชาติพงศ์ก็ดูจะตกอกตกใจว่าผู้เขียนโผล่มาถึงเมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ นี้ได้อย่างไร? แต่น่าเสียดายที่หลังจากการ masterclass ที่ FACT Liverpool นี้แล้ว คุณอภิชาติพงศ์จะต้องรีบเดินทางไปบรรยายที่พิพิธภัณฑ์ Tate Liverpool ต่อ ผู้เขียนจึงไม่มีโอกาสได้พูดคุยอะไรกับคุณอภิชาติพงศ์มากนัก กิจกรรมในวันแรกนี้จึงต้องสิ้นสุดลงด้วยการกล่าวอำลาคุณอภิชาติพงศ์ไปโดยปริยาย

สำหรับวันต่อมาเนื่องจากผู้เขียนยังมีเวลาว่างในช่วงเช้าก่อนจะเดินทางกลับกรุงลอนดอนในเวลา ๑๔.๐๐ น. จึงตัดสินใจกลับไปยัง FACT Liverpool อีกครั้งเพื่อชมภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ และผลงานอื่น ๆ อีกสักหนึ่งรอบ เมื่อไปถึงสถานที่ตรงกับเวลาเปิด ๑๐.๐๐ น. พอดี จึงรี่ไปชม ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ ก่อนที่จะต้องรอวน loop แต่ถึงแม้ว่าจะตั้งใจมาดูอย่างสงบในช่วงเช้า ก็ยังไม่วายมีฝรั่งหนึ่งนายมาเป็นเพื่อนร่วมดูกับผู้เขียนอีกจนได้ เมื่อหนังจบผู้เขียนเริ่มเปิดประเด็นปราศรัยทักทายเพื่อสอบถามว่ารู้สึกอย่างไรกับหนังที่เพิ่งดูจบไปบ้าง คุยกันไปคุยกันมาจึงได้รับทราบว่าฝรั่งนายนั้นเป็นคนทำหนังชาวเยอรมันที่สนใจและติดตามผลงานของคุณอภิชาติพงศ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด แถมยังนับถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างผลงานของเขาเองอีกด้วย ฝรั่งเยอรมันผู้นี้มีนามกรว่า Mario Pfeifer โดยเขาได้ให้ความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ เอาไว้ดังนี้

“มันสวยงามและสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างมาก ผมชอบมิติทางด้านพื้นที่โดยเฉพาะวิธีที่อภิชาติพงศ์นำเสนอออกมา ทั้งในส่วนของการเคลื่อนกล้อง และการแทรก shot นิ่งเป็นระยะ ๆ ผมชอบความว่างเปล่า การที่หนังไม่ต้องอาศัยการแสดงหรือตัวละครเลย สิ่งต่าง ๆ ในหนังถูกสื่อสารด้วยวัตถุจากมุมภายในซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก นอกจากนี้ในส่วนของการบรรยายยังมีการใช้วิธีถ่ายทอดสารเดียวกันแต่ต่างน้ำเสียง อภิชาติพงศ์ไม่เพียงแต่จะสนใจเฉพาะตัวสารที่เสนอแต่เขาให้ความสำคัญต่อวิธีในการนำเสนอสารเหล่านั้นออกมาด้วย โดยรวมแล้วจึงเป็นเรื่องน่าทึ่งที่เขาสามารถถ่ายทอดภาพชนบทห่างไกลในรูปแบบของการผลิตภาพยนตร์ศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลงตัว”

หลังพูดคุยกับคุณ Mario Pfeifer เสร็จแล้วผู้เขียนก็เดินลงบันไดเพื่อไปยัง Gallery 1 ชั้นล่าง เมื่อหันไปทางร้านกาแฟก็เหลือบไปเห็นคุณอภิชาติพงศ์กำลังร่ำลากับฝรั่งอีกท่านหนึ่งอยู่พอดี ไม่รอช้าผู้เขียนรีบแทรกตัวเข้าไปทักทายกับคุณอภิชาติพงศ์อีกครั้ง โดยคราวนี้ไม่รีรอที่จะขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของหมู่บ้านนาบัวรวมถึงการสร้างสรรค์งานในโครงการ Primitive ชุดนี้ด้วย ซึ่งคุณอภิชาติพงศ์ก็กรุณาเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้พูดคุยและซักถามเพิ่มเติมในช่วงรับประทานอาหารเที่ยงก่อนผู้เขียนจะเดินทางกลับ จึงใคร่ขออนุญาตปิดท้ายรายงานการแสดงงานศิลปะชุด Primitive ในครั้งนี้ ด้วยบทสัมภาษณ์จากปากคำเจ้าตัวคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กันเสียเลย

บทสัมภาษณ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานชุด PRIMITIVE
Café @ FACT Liverpool

‘กัลปพฤกษ์’ : ในหนังเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ จะมีการกล่าวถึงทั้งในส่วนที่คุณอภิชาติพงศ์ กำลังเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นเสนอโครงการ และส่วนที่บอกว่าได้ทุนจากอังกฤษแล้ว ในส่วนนี้มีลำดับความเป็นมาอย่างไร คุณอภิชาติพงศ์ ได้ไปสำรวจพื้นที่ก่อนจะได้รับทุน หรือได้รับทุนก่อนแล้วจึงไปสำรวจพื้นที่ ช่วยเล่ารายละเอียดด้านที่มาที่ไปนี้ให้ฟังหน่อย

อภิชาติพงศ์ : จุดเริ่มต้นจริง ๆ ผมสนใจมาตั้งแต่ตอนจะทำหนังเรื่องใหม่เรื่อง ‘ลุงบุญมีผู้ระลึกชาติ’ เมื่อ ๓-๔ ปีมาแล้ว ซึ่งมันได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ คนระลึกชาติได้ แต่ก็ไม่ได้เอามาตรง ๆ นะ จะเป็นการดัดแปลงมากกว่า คือเนื้อหามันเกี่ยวข้องกับความทรงจำ ผมสนใจเรื่องความทรงจำอยู่แล้ว ทั้งความทรงจำที่ถูกทำให้หายไป เสียงหรือความคิดที่ถูกทำให้หายไป ซึ่งมันสามารถไปเชื่อมโยงกับการเซ็นเซอร์ของเมืองไทย ไม่เฉพาะภาพยนตร์ แต่ว่าหลาย ๆ อย่าง ซึ่งบางครั้งผมรู้สึกว่าเราพูดหรือทำอะไรบางอย่างไม่ได้ ก็เลยสนใจว่า เนี่ย! คนนี้เขาจำได้เป็นร้อย ๆ ปีตั้งหลายชาติ ก็เลยเขียนเป็นบทหนังยาวขึ้นมา แต่การทำหนังอย่างนี้มันหาทุนยากมาก ต้องใช้เวลา พอดี Simon Field กับ Keith Griffiths ที่เป็น producer ให้ ‘แสงศตวรรษ’ เขามี contact ในแวดวงศิลปะอยู่ อย่าง Keith นี่ก็เคย produce งานให้ Brothers Quay
วันหนึ่ง Simon กับ Keith ก็บอกว่ามีเงินทุนสำหรับงานศิลปะนะแต่ไม่ใช่ภาพยนตร์ ผมก็บอกว่า อืม! สนใจมาก เพราะอยากทำเรื่องความทรงจำกับการถูกทำให้หายไป ตอนนั้นก็เลยเดินทางไปแถวอีสาน เพราะว่าเท่าที่ผ่านมานอกจากเรื่อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ กับ ‘บ้านผีสิง’ แล้ว ผมไม่ได้ลงพื้นที่จริง ๆ ในภาคอีสานเลย แล้วหนังของผมก็ไม่ได้พูดอีสานด้วย ผมเองก็ไม่ได้พูดอีสาน เพราะไม่ได้เติบโตอย่างนั้น แต่ว่ามันน่าสำรวจในที่ที่เราโตมา ก็เลยเดินทาง แล้วได้ผ่านไปยังหมู่บ้านนาบัว ซึ่งก็รู้อยู่ว่าเป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ แต่ว่าอยากจะรู้มากกว่านั้น คือลงไปเพื่อได้ยินจากชาวบ้านที่เขาประสบจริง ๆ แล้วผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าตกใจที่ทางการไม่ได้ขอโทษ และไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมีนโยบายแลกเงินแลกที่ดินกับอาวุธเพื่อให้ชาวบ้านออกจากป่า แต่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบในแง่ของสภาพจิตใจที่พวกเขาทำกับชาวบ้าน หรือความชั่วร้ายที่ทางการและชาวบ้านอาสาสมัครช่วยปราบ communist กระทำด้วยความมือหนัก ทั้งฆ่า ข่มขืน ขโมยวัวควายชาวบ้านไปกิน ซึ่งผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ทำให้คนไทยมันด้านชา มันเป็นการถูกกระทำแล้วไม่ได้เรียกร้องอะไร ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะตอนนั้นและหมู่บ้านนั้น มันเกิดขึ้นทั่วไปจนถึงปัจจุบัน ในแง่ที่เราก็รู้อยู่ว่าคนมองภาพตำรวจทหารชั่วขนาดไหน คนเรามันก็มีทั้งดีทั้งชั่ว แต่ว่าถ้าคุณมีด้านลบกับคนในเครื่องแบบแล้ว มันเพราะอะไร ทำไมมันไม่เกิดการปรับปรุงขึ้นมา จะได้ไม่ต้องมาสร้างภาพกันอีก
นี่คือแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่อยากรู้จักกับคนพื้นถิ่นที่นี่ และอยากทำงานร่วมกัน แต่ไม่อยากพูดตรง ๆ ในเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้น เพราะว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้เจอโดยตรง ผมเองก็ไม่ได้เจอโดยตรง แต่ผมสนใจด้านการแต่งตัว เพราะมันเกาหลีมาก สนใจดนตรีที่พวกเขาฟัง เพราะมันมีอะไรที่ผมเชื่อมโยงได้ หนังต่าง ๆ ที่ผมทำนี่มันจะต้องมีอะไรที่เป็นส่วนตัวที่ผมสามารถเชื่อมโยงได้ อย่างผมคงไม่สามารถทำหนังเกี่ยวกับเดือนตุลาฯ ได้เพราะผมไม่มีประสบการณ์โดยตรง

‘กัลปพฤกษ์’ : ด้วยความที่คุณอภิชาติพงศ์ ไม่ต้องการพูดเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นโดยตรง องค์ประกอบทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จึงมีบทบาทเป็นเพียงกลิ่นอายที่สอดแทรกไว้ในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างเสื้อยืดของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีสัญลักษณ์รูปดาวแดง (สัญลักษณ์ของอุดมการณ์แบบ communist) และรอยสักที่มือของเด็กหนุ่มอีกคนที่เป็นรูปสวัสติกะ (swastika- สัญลักษณ์รูปกากบาทปลายหักของพรรคนาซีเยอรมัน)?
อภิชาติพงศ์ : จริง ๆ เสื้อยืดกับรอยสักพวกนั้นเขามีเองอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นความจงใจ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ของ communist แต่ก่อนมันถูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็น fashion ที่ไม่ได้มีความหมายเดิมอีกแล้ว ซึ่งมันก็เกิดขึ้นทั่วโลก แต่มันน่าสนใจที่มันเกิดขึ้นที่นาบัวแห่งนี้ ซึ่งปู่หรือพ่อแม่ของบางคนถูกฆ่าตาย

‘กัลปพฤกษ์’ : ขอวกกลับไปที่หนังสือ คนระลึกชาติได้ เพราะเห็นปกแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก อยากรู้ว่าเนื้อหาข้างในเป็นอย่างไรบ้าง?
อภิชาติพงศ์ : หนังสือเล่มนี้เป็นพระเขียนเกี่ยวกับเรื่องของคุณลุงบุญมีที่เขามาทำสมาธิที่วัด คุณลุงอยู่หนองบัวลำภู แต่เขามาทำสมาธิที่วัดป่าแสงอรุณที่ขอนแก่นแล้วเล่าให้พระฟัง พระก็เขียนขึ้นมาเพื่อสอนใจคนว่าให้ทำดีอย่าทำชั่วอะไรอย่างนั้น
‘กัลปพฤกษ์’ : อย่างนี้จะมีการเชื่อมโยงในแต่ละภพชาติด้วยหรือเปล่า? เช่นตอนที่เขาเกิดเป็นนายพรานเขาทำอะไรไว้ พอเขาเกิดใหม่เป็นเปรตแล้วได้รับผลอะไร? (ปกหนังสือระบุว่านายบุญมีเคยเกิดเป็น นายพราน-เปรต-กระบือ-เปรต-โค ก่อนจะมาเกิดเป็นมนุษย์)
อภิชาติพงศ์ : ไม่ได้ละเอียดมากขนาดนั้น ไม่ได้บอกเหตุผลมากว่าเพราะอะไร แต่ที่น่าสนใจคือเวลาที่เขาพูดถึงเปรต มันไม่มีภาพเปรตที่หิวโหยตลอดเวลา แต่ว่ามันเป็นเปรตที่อยู่ในโลกของการเสพสุข เสพกามตลอดเวลา แล้วเขาติดในสภาพเปรตจนไม่อยากเกิดใหม่ด้วยซ้ำ นี่คือจุดที่ผมชอบ มันไม่ได้เป็นอะไรที่เราเคยคิดไว้เกี่ยวกับเปรตเลย


‘กัลปพฤกษ์’ : ขอถามเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้บันทึกเกี่ยวกับบ้านนาบัวบ้าง เนื่องจากคุณอภิชาติพงศ์ ได้ลงไปสอบถามข้อมูลจากฝ่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปากคำเจ้าตัว แต่แน่นอนถ้าเราศึกษาข้อมูลที่เป็นทางการจากฝ่ายรัฐบาลมันย่อมไม่มีการบันทึกถึงเหตุการณ์ที่ทหารฝ่ายปราบ communist ทำร้ายชาวบ้านอย่างที่คุณอภิชาติพงศ์ได้เล่าไว้แต่จะให้ข้อมูลในอีกลักษณะหนึ่งแทน แม้กระทั่งข่าวหนังสือพิมพ์ก็ดูจะรายงานถึงเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลด้วยซ้ำว่าพวก communist นั่นแหละที่เป็นฝ่ายเริ่มต้นความรุนแรงก่อน เมื่อเจอกรณีข้อมูลขัดแย้งกันแบบนี้ คุณอภิชาติพงศ์จะจัดการอย่างไร?

อภิชาติพงศ์ : มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเป็นกลาง แต่มันมีหลักฐาน มีคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ พูดว่า มีทหารมาตั้งฐานอยู่ที่วัดในหมู่บ้าน แล้วต้องมีการ stamp มือ ต้องมีการดื่มน้ำสาบาน เอาปืนเอาระเบิดมือแช่น้ำแล้วบังคับให้ชาวบ้านดื่มน้ำสาบานว่าไม่ใช่ communist ซึ่งมันจะจริงไม่จริงผมไม่สนใจ แต่ผมสนใจส่วนที่เขาบอกว่าทหารฆ่าแล้วก็ตัดคอพวกเขา ซึ่งตัวชาวบ้านเองก็ตัดคอทหารเหมือนกัน คือผมไม่ได้มองว่าฝ่ายไหนดีฝ่ายไหนไม่ดี แต่ผมมองว่าวิธีการจัดการของรัฐบาลมันรุนแรงเกินไป มันไม่ใช่วิธีการที่จะปฏิบัติกับคน
จากการที่คุยกับชาวบ้าน ถ้ามีการถามว่าคุณเป็น communist หรือเปล่า แล้วคุณตอบว่าใช่คุณก็ถูกฆ่าเลย ถ้าไม่ใช่คุณก็ถูกตี คุณไม่มีทางเลือก คุณก็ต้องออกไปเข้าป่า พวกเขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า communist คืออะไร พวกเขาเข้าไปเพื่อหนีตาย แล้วการที่จะมีชีวิตอยู่ได้มันก็ต้องมีการร่วมกลุ่ม พวกเขาเลยต้องเข้าร่วมกับกลุ่ม communist เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะมาอ้างไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องฆ่าคนพวกนี้ มันเป็นวิธีการที่หนักมือไป มันป่าเถื่อน ไม่ว่าสองฝ่ายจะพูดต่างกันอย่างไร แต่ในเมื่อมันมีคนตายขนาดนี้ ถึงคุณจะฆ่าเขาในแง่ที่เขามีอาวุธ และคุณฆ่าเขาเพราะป้องกันตัวเอง ยังไงคุณก็ต้องออกมาขอโทษ ในฐานะที่เขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง และเขาก็เสียภาษีจ้างคุณให้ปกครองแม้จะมีความคิดต่างกัน นี่ก็คือเหตุผลที่ตั้งชื่องานชุดนี้ว่า Primitive ด้วย เพราะว่ามันล้าหลังเหลือเกินทั้งคนกระทำและผู้ถูกกระทำ และไม่ใช่แค่เหตุการณ์บ้านนาบัวนี้เท่านั้น แม้แต่ในปัจจุบันนี้มันก็ยังเป็นอยู่ และที่สำคัญคือเราลืมกันง่ายเหลือเกิน

‘กัลปพฤกษ์’ : อืม ถ้าเช่นนั้นจริง ๆ แล้วชื่อ Primitive นี่ก็สะท้อนถึงความเป็นไปในบ้านเรานี่เอง นอกจากชื่ออังกฤษแล้วโครงการนี้มีตั้งชื่อไทยเอาไว้ด้วยไหม?

อภิชาติพงศ์ : ไม่มีครับ ใช้ชื่อ Primitive เลย แต่เวลาขอทุนที่ต้องใส่ชื่อไทยก็จะใช้ว่า ‘ดึกดำบรรพ์’

‘กัลปพฤกษ์’ : คุณอภิชาติพงศ์ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านที่บ้านนาบัวนานแค่ไหน?
อภิชาติพงศ์ : ก็ร่วม ๆ ๖ เดือน ช่วงแรกนี่คือช่วงที่ไปสัมผัสพูดคุยกับชาวบ้าน แต่ช่วงที่ถ่ายทำจริง ๆ จะเป็นช่วง ๒ เดือนสุดท้าย

‘กัลปพฤกษ์’ : มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งในงานชุดนี้ ที่ผลงานทั้งหมดไม่ได้เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคุณอภิชาติพงศ์เพียงคนเดียว แต่จะมีการร่วมกันกับชาวบ้านนาบัวเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ด้วย เช่นการช่วยกันออกแบบยานอวกาศ หรือกระทั่งการแต่งและร้องเพลง ‘Nabua Song’ ที่นำมาจัดแสดงด้วย คุณอภิชาติพงศ์มองในจุดนี้อย่างไร?

อภิชาติพงศ์ : จริง ๆ ผมไม่ได้มองเป็นงานสร้างสรรค์อะไรเลยนะ ผมมองว่ามันเป็นเกมที่ผมเล่นกับเด็กบ้านนาบัวมากกว่า มันเหมือนเป็นกิจกรรมที่เราทำร่วมกันแล้วใช้ video เป็นสื่อในการบันทึกเท่านั้นเอง ไม่ถึงกับเป็นผลงานสร้างสรรค์ขนาดอะไรนั้น
‘กัลปพฤกษ์’ : อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือในหนังและ video art ชุด Primitive นี้จะมีการเล่นกับ special effect ค่อนข้างเยอะมาก แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วงานจะยังมีความดิบอย่างเป็นธรรมชาติอยู่ อยากทราบว่าคุณอภิชาติพงศ์มีการ balance ระหว่าง special effect กับความเป็นธรรมชาติอย่างไรให้ออกมาลงตัว?
อภิชาติพงศ์ : ส่วนตัวแล้วผมจะชอบงาน special effect จากหนังเก่า ๆ โดยเฉพาะหนังผีฮ่องกงหรือหนังตระกูล ‘บ้านผีปอบ’ ที่เราจะรู้สึกได้เลยว่ามีทีมงานคอยวาดสายฟ้าผ่าลงบนแผ่นฟิล์มไปทีละเฟรม ผมเลยเน้นให้งานของผมมีความรู้สึกแบบ handmade อย่างนี้อยู่ด้วย และจากใน video จะเห็นชาวบ้านมุงดูการระเบิดกันในระยะใกล้ ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการเชิญชวนให้พวกเขามาร่วมดูปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่มีส่วนผสมของทั้งความสนุกและความรุนแรงอยู่ด้วยกันซึ่งก็ถือเป็น theme หลักของโครงการนี้ ส่วนคนดูก็จะสัมผัสได้ถึงกระบวนการในการทำหนังที่มีทั้งส่วนที่เป็นการแสดงซึ่งเป็นของจริง และส่วนของงาน post-production ซึ่งเป็นส่วนสังเคราะห์

‘กัลปพฤกษ์’ : หลังจากงานศิลปะชุดนี้แล้ว คุณอภิชาติพงศ์ จะมีภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง ‘ลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้’ หรือ ‘Uncle Boonmee: A Man Who Can Recall His Past Lives’ ด้วย ตอนนี้ขั้นตอนการเตรียมงานไปถึงไหนแล้ว ได้ทุนสร้างครบแล้วหรือยัง จะเริ่มถ่ายทำช่วงไหน และคิดว่าเมื่อไหร่เราจะได้ดูกัน?
อภิชาติพงศ์ : บทหนังอย่างที่บอกว่าผมเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุนสร้างตอนนี้ได้มาจำนวนหนึ่งซึ่งคิดว่าพอที่จะเริ่มต้นถ่ายทำได้ ก็จะเริ่มถ่ายกันวันที่ ๑๕ ตุลาคม ที่จะถึงนี้ หนังน่าจะตัดเสร็จราว ๆ เดือนมีนาคมปีหน้า แต่กว่าจะได้ฉายก็คงจะเป็นช่วงปลายปี
‘กัลปพฤกษ์’ : หนังเรื่องนี้จะถ่ายทำที่นาบัวด้วยหรือเปล่า? แล้วคุณอภิชาติพงศ์ได้บ้านที่ถูกใจแล้วหรือยัง?
อภิชาติพงศ์ : ผมพยายามหาบ้านที่นาบัวแต่ก็ไม่เจอหลังในฝันเลย แต่ตอนนี้ผมได้ location ที่ถูกใจอยู่ที่จังหวัดเลย ผมเลยต้องสร้างหน้าต่าง กำแพง ระเบียงอะไรเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ให้ตรงกับส่วนประกอบของบ้านตามที่ผมชอบจากการเดินทางท่องภาคอีสาน

‘กัลปพฤกษ์’ : แล้วในส่วนของงานชุด Primitive นี้จะมีโอกาสได้จัดแสดงที่ประเทศไทยแบบครบชุดบ้างไหม? เพราะเนื้อหาของมันเป็นอะไรที่ควรจะเผยแพร่ให้คนไทยได้ร่วมรับรู้อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในส่วนของประวัติศาสตร์ที่กำลังจะถูกลืม
อภิชาติพงศ์ : คงยังไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาคือการจัดงานแบบนี้มันต้องขอความร่วมมือเยอะมาก จากประสบการณ์ที่มาจัดที่นี่ทำให้รู้ว่าทั้งสถานที่ อุปกรณ์และความช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ มันต้องพร้อมจริง ๆ ซึ่งผมห่วงว่าที่เมืองไทยจะไม่ใครยอมเหนื่อยกับเราด้วย
‘กัลปพฤกษ์’ : แต่ถ้ามีผู้สนใจอยากจะร่วมจัดจริง ๆ คุณอภิชาติพงศ์ก็ไม่ขัดข้องที่จะจัดแสดงงานชุดนี้ในประเทศไทย แม้ว่าเนื้อหาบางส่วนจะพาดพิงถึงเรื่องทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น?
อภิชาติพงศ์ : ไม่ครับ ไม่ได้ห่วงเรื่องนั้น ถ้ามีใครอยากให้จัดจริง ๆ ผมก็ยินดี
‘กัลปพฤกษ์’ : แต่ทราบว่าเร็ว ๆ นี้หนังสั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ จะมีฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ด้วย?
อภิชาติพงศ์ : อ๋อ! ใช่ครับ ถ้าสนใจก็ไปดูจากงานนี้ก่อนได้ . . .

หมายเหตุ: งานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ หรือ World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ ๗ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ติดตามรายละเอียดการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี ได้จาก website <http://www.worldfilmbkk.com/>


ขอขอบคุณคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นอย่างสูงที่เอื้อเฟื้อทั้งเวลาสำหรับการสัมภาษณ์และภาพประกอบ



(บางส่วนของบทความนี้จะตีพิมพ์ในนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนพฤศจิกายน)