12/30/08

13 ปีแห่งความหลังใคร

13 ปีฟิล์มไวรัส

งานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ระหว่างวันที่ 9 -28 มกราคม 2552 ที่หอศิลป์จามจุรี (ถัดจากห้างมาบุญครองเดินข้ามไฟแดงไปนิดเดียว)

ปีนี้เป็นปีแรกที่เรามีจัดฉลอง ตั้งแต่เกิดมาแม้แต่งานวันเกิดตัวเองยังไม่เคยจัด งานนี้คงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ตัวงานคงไม่มีอะไรมากมาย คล้ายกับงานนิทรรศการกิจกรรมการฉายหนัง + การทำหนังสือหนัง Filmvirus ที่ผ่านมาตลอด 13 ปีเสียมากกว่า (ดูเหมือนงานของพวกหลงตัวเองยังไงก็ไม่ทราบ) แต่นอกจากพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ผู้จัดทำทีมงาน แล้วถ้าได้พบปะคนอ่าน-คนดูหนังด้วยก็ยิ่งดี ว่าง ๆ ก็มาทักทายกันนะคร้าบ

รายละเอียดงานไม่มีอะไรเป็นทางการ ประมาณ 18. 00 น. วันที่ 9 มกราคม เปิดงาน แล้วหลังจากนั้นก็คงฉายหนังสั้น ๆ กันเล็กน้อย เอาเฉพาะที่หาดูยากและเอาแต่ใจเป็นพิเศษ อย่างหนังสั้นของ Ulrike Ottinger, Louise Bourque, Bill Viola VDO Art มิวสิควีดีโออะไรต่าง ๆ เอาเป็นว่ายังไม่ระบุตายตัวแล้วกัน เพราะฉายหนังกันมานาน 13 ปีแล้ว แทบไม่ค่อยได้คุยกับคนดู วันงานทั้งทีไม่อยากเน้นฉายหนังมาก

อมตะหนังดังจากสหภาพโซเวียตแดนอดีต

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม


THE CLASSIC SOVIET UNION CINEMA

Original Stories & Literary Adaptations

อมตะหนังดังจากสหภาพโซเวียตแดนอดีต

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 11 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2552 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

โปรแกรมเดือนมกราคม 2552:

จากวรรณกรรมสู่แผ่นฟิล์ม LITERARY ADAPTATIONS


อาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552

A Tribute to Anton Chekov

12.30 น. The Lady with the Dog (1960) กำกับโดย Iosif Kheifits

14.00 น. My Tender and Affectionate Beast (1978) กำกับโดย Emil Loteanu


อาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2552

12.30 น. They Fought for Their Motherland (1975) กำกับโดย Sergei Bondarchuk

15.00 น. Journey Beyond Three Seas (1957) กำกับโดย Vasili Pronin และ Khwaja A. Abbas


อาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2552

12.30 น. The Forty-First (1956) กำกับโดย Grigori Chukhrai

14.30 น. The Flight (1970) กำกับโดย Alexandr Alov และ Vladimir Naumov


โปรแกรมเดือนกุมภาพันธ์ 2552:

เรื่องเล่าแห่งยุคสมัย THE ORIGINAL STORIES


อาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552

The Georgian Gems

12.30 น. April (1961) กำกับโดย Otar Iosseliani

13.30 น. Repentance (1987) กำกับโดย Tengiz Abuladze


อาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552

12.30 น. Freeze-Die-Come to Life! (1989) กำกับโดย Vitali Kanevsky

14.30 น. The Asthenic Syndrome (1989) กำกับโดย Kira Muratova


อาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552

12.30 น. Siberiade: Saga I (1979) กำกับโดย Andrei Konchalovsky

15.00 น. Siberiade: Saga II (1979) กำกับโดย Andrei Konchalovsky


ขอขอบคุณ ROGER TONGE สำหรับภาพยนตร์บางเรื่องในโปรแกรมนี้


เรื่องย่อภาพยนตร์

The Lady with the Dog (1960)

จากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Anton Chekov ผู้กำกับ Iosif Kheifits นำมาถ่ายทอดลงสู่แผ่นฟิล์มได้อย่างมีรสนิยมจนทำให้เรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างหนุ่มธนาคารผู้มั่งคั่งและหญิงสาวผู้จูงสุนัขซึ่งต่างก็มีคู่ครองแล้วกลายเป็นความปรารถนาอันแสนบริสุทธิ์จนต้องหยุดคิดถึงความผิดบาปกันทีเดียว ติดตามผลงานการแสดงอันยอดเยี่ยมของสองนักแสดงคู่ขวัญ Iya Savvina และ Alexei Batalov (ผู้กำกับเรื่อง The Overcoat) ที่จะทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมใด ๆ จำต้องหมดความหมายไปเมื่อบุพเพสันนิวาสได้นำพาคู่แท้ให้มาบรรจบพบรัก หนึ่งในหนังที่แฟน ๆ In the Mood for Love ของ Wong Kar-Wai ไม่ควรพลาดชม!


My Tender and Affectionate Beast (1978)

สร้างจากนิยายเรื่อง The Shooting Party ของ Anton Chekov ซึ่งเคยมีแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย กำพล นิรวรรณ ด้วยชื่อ ‘ฆ่าปริศนา วันล่าสัตว์’ โดยสำนักพิมพ์รหัสคดี เล่าเรื่องราวระหว่าง Sergei ผู้ดีหนุ่มใหญ่กับ Olenka สาวรุ่นวัยสิบหกที่เป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่ม ๆ ทั้งหลายในละแวกนั้น เมื่อ Olenka ได้ตอบตกลงแต่งงานกับ Urbenin เจ้าของที่ดินแก่อ้วน(แต่รวย) หนุ่ม ๆ ทั้งหลายจึงต้องพบกับอาการอกหักฝันสลาย แต่หลังจากเธอได้พบและรู้จักกับ Sergei Olenka ก็ได้สารภาพกับ Sergei ว่าเธอรักเขาแต่เพียงผู้เดียว วันหนึ่งเมื่อกระสุนปริศนาจำนวนหนึ่งนัดลั่นดังขึ้น ชะตาชีวิตของตัวละครเหล่านี้ก็ล้วนมีอันต้องเปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในภาพยนตร์แนวแนวเมโลดราม่าที่ทำออกมาเสียจนดูดีมีรสนิยม


They Fought for Their Motherland (1975)

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ Mikhail Sholokhov ถ่ายทอดเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1942 ทัพทหารโซเวียตกำลังล่าถอยด้วยความอ่อนแรง แต่เมื่อทัพนาซีเริ่มบุกรุกเมืองสตาลินกราด กำลังทัพที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดก็รวบรวมแรงใจครั้งสุดท้ายต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินแม่จนทัพนาซีไม่สามารถตีนครได้ หนังสงครามเชิดชูวีรบุรุษชาติที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์และเลือดเนื้อห่างขั้วจากลีลาอภิมหาฟุ้งฝันแบบ Hollywood กันอย่างสิ้นเชิง


Journey Beyond Three Seas (1957)หนังร่วมทุนสร้างระหว่างโซเวียตและอินเดียผลงานการกำกับโดย Vasili Pronin และ Khwaja A. Abbas ที่หยิบยกเอาหนังสือบันทึกการเดินทางค้าขายจากยุโรปไปยังอินเดียในช่วงปี ค.ศ.1466-1472 ของ Afanasy Nikitin มาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างยิ่งใหญ่อลังการ นำแสดงโดยนักแสดงฝ่ายชาย Oleg Strizhenov จากโซเวียตและนักแสดงฝ่ายหญิง Nargis จากอินเดีย เดิมทีหนังลูกผสมเรื่องนี้มีการสร้างทั้งในฉบับภาษารัสเซียและฮินดูควบคู่กัน แต่ฉบับที่จะนำมาฉายนี้เป็นฉบับที่รวมเอาช่วงตอนของทั้งสอง version มาเรียบเรียงใหม่จนกลายเป็นหนังฉบับสมบูรณ์


The Forty-First (1956)

สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ Boris Lavrenyov บอกเล่าเรื่องราวในช่วงสงครามกลางเมืองในรัสเซีย เมื่อกองทัพ Red Army กำลังโซซัดโซเซอยู่ท่ามกลางพายุกลางทะเลทรายแคสเปี้ยนอันกว้างใหญ่ไพศาล Maria Filatovna ทหารหญิงกล้าหนึ่งเดียวในทัพที่เอาชีวิตข้าศึกมาแล้วจำนวน 40 ราย ได้จับตัวร้อยโท Vadim Nikolayevich จากทัพ White Army ไว้หลังจากที่เธอยิงเขาพลาดเป้า เมื่อทหารหญิงแกร่งกับร้อยโทหนุ่มจำต้องพลัดหลงอยู่ด้วยกันตามลำพังความรู้สึกห่วงหาอาทรกันตามประสามนุษย์ต่างเพศจึงเริ่มก่อตัวขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายภาพโดย Sergei Urusevsky ผู้เคยฝากผลงานอันน่าตื่นตะลึงอย่าง The Cranes Are Flying เอาไว้แล้ว


The Flight (1970)

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้วคงจะมีแต่ชาติโซเวียตเท่านั้นที่พอจะทำหนังในระดับ Epic ได้น่าตื่นตาและตื่นใจไม่แพ้ Hollywood ภาพยนตร์เรื่อง The Flight โดย Alexandr Alov และ Vladimir Naumov คงจะใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี จากบทประพันธ์ของ Mikhail Bulgakov ผู้กำกับทั้งสองได้บอกเล่าถึงความพ่ายแพ้ของทัพ White Army ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซียช่วงปี ค.ศ. 1918-1921 ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าขุนมูลนายและชนชั้นสูงทั้งหลายต้องอพยพหนีออกจากประเทศไปอย่างหมดท่า หนังบอกเล่าประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของรัสเซียด้วยลีลาขรึมขลังอลังการไปด้วยการกำกับภาพอันงดงามละลานตาในระดับน่าทึ่ง


!April (1961)

ผลงานภาพยนตร์ขนาดย่อมเรื่องแรกของผู้กำกับจอร์เจียผู้โด่งดัง Otar Iosseliani เล่าเรื่องราวเสียดสีเสียดแสบแบบน่ารักของคู่รักหนุ่มสาวที่มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขตามอัตภาพกันอยู่แล้ว แต่การรุกคืบแห่งลัทธิบริโภคนิยมก็ยังไม่วายทำให้พวกเขาเกิดความละโมบโลภมากอยากได้อะไร ๆ เพิ่มเติม จนในที่สุดความไม่รู้จักพอเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาทำให้ทั้งคู่ต้องระหองระแหงกัน หนังเกือบไร้บทสนทนาความยาว 45 นาทีเรื่องนี้เคยถูกแบนจากทางการโซเวียตมาแล้ว


Repentance (1987)

หนังตลกเย้ยหยันแดกดันการเมืองสุดวายป่วงฝีมือการกำกับของ Tengiz Abuladze หลังเสร็จสิ้นพิธีศพของ Varlam Aravidze นายกเทศมนตรีเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแคว้นจอร์เจีย ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นเมื่อศพของเขาถูกขุดขึ้นมาแล้วนำไปวางพิงต้นไม้ในสวนของบุตรชายของเขาอย่างมีปริศนา และไม่ว่าบรรดาญาติจะพยายามนำศพของ Varlam Aravidze กลับไปฝังใหม่เท่าไร ศพของเขาก็ต้องถูกขุดขึ้นมาเสียทุกครั้ง วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบตัวมือดีที่ก่อเหตุประหลาดนี้ได้ เธอเป็นสตรีและเราจะได้ร่วมฟังคำให้การของเธอไปพร้อม ๆ กันว่าทำไมเธอจึงต้องจองเวรกับ Varlam Aravidze ถึงขนาดนี้ หนังเรื่องนี้สร้างเสร็จในปี 1984 แต่ถูกทางการโซเวียตแบนอยู่สามปีจึงจะมีโอกาสได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 1987 และสามารถคว้ารางวัล Grand Prize of the Jury มาได้


Freeze-Die-Come to Life! (1989)

ภาพยนตร์ขาวดำที่นำพาเราไปสัมผัสกับชีวิตของ Valerka ลูกชายโสเภณีและ Galia เด็กหญิงขายน้ำชาจากไซบีเรียที่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองเหมืองแร่เล็ก ๆ อันสุดเส็งเคร็งเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1947 ในขณะที่หมู่บ้านยังเต็มไปด้วยรัสเซียอพยพและเชลยศึกชาวญี่ปุ่น เด็กทั้งสองได้คิดเกม Freeze, Die, Come-to-Life! ขึ้นมาเล่น ซึ่งสุดท้ายการเล่นเกมแบบเด็ก ๆ นี้ก็ได้นำพาพวกเขาให้เข้าไปพัวพันกับอาชญกรรมจริงที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ


The Asthenic Syndrome (1989)

หนังสุดเหวอของผู้กำกับหญิง Kira Muratova เล่าเรื่องราวการเผชิญหน้ากับความสูญเสียของ Natasha หญิงสาวที่ต้องกลายเป็นม่ายหลังสามีตาย ก่อนที่จะผลักเธอออกมาให้รู้จักกับ Nikolai ครูหนุ่มผู้เย็นชาท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการเมืองภายใต้การปกครองของ Mikhail Gorbachev กลายเป็นหนังสุดพิสดารพันลึกที่พลิกผันหักมุมบิดมิติตัวละครได้อย่างแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ หนังเรื่องนี้ได้เข้าร่วมประกวดและสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินปี 1990 ได้สำเร็จ


Siberiade (1979) กำกับโดย Andrei Konchalovsky

ก่อนที่ Edgar Reitz จะทำหนังร่ายประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเยอรมันนีในหนังชุดขนาดยาวเรื่อง Heimat (1984) นั้นผู้กำกับ Andrei Konchalovsky (Runaway Train)ได้เคยทำหนังแนวทางเดียวกันความยาว 5 ชั่วโมงที่เล่าถึงชะตาชีวิตครอบครัวไซบีเรียสองตระกูลตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษมาจนถึงปลายยุค 1970s กินเวลาถึงสามช่วงอายุคนตั้งแต่การสร้างถนนเชื่อมต่อกับความเจริญในรุ่นที่หนึ่ง มาถึงการเฟื่องตัวของระบอบคอมมิวนิสต์ในรุ่นที่สอง จนถึงการค้นพบบ่อน้ำมันใต้สุสานฝังศพของบรรพบุรุษของทายาทรุ่นที่สาม นับเป็นหนังที่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็นชนชาติไซบีเรียร่วมสมัยที่ทรงพลังมากที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัล Grand Prize of the Jury ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 1979

12/24/08

Interview Vimukthi Jayasundara in Bangkok, Thailand


เห็น Filmsick เขียนถึง The Forsaken Land ผู้ชนะรางวัล camera d' or ร่วมกับ Miranda July (เจ้าของหนัง Me and You and Everyone We Know) ไว้ที่บล็อก

http://filmsick.exteen.com/20081224/the-forsaken-land-vimukthi-jayasundara-2005


เกือบลืมไปเลยว่าเคยสัมภาษณ์เขาที่กรุงเทพ ไว้ในนิตยสาร Pulp และที่นี่: http://www.onopen.com/2007/02/1844

สัมภาษณ์ Vimukthi Jayasundara ที่เทศกาลภาพยนตร์ World Film Festival , กรุงเทพ ฯ ตุลาคม 2548

- สนธยา ทรัพย์เย็น สัมภาษณ์ -

filmvirus@yahoo.com


แม้ว่า จะไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังศรีลังกาได้อวดโฉมบนเวทีโลก แต่บนเวทีภาพยนตร์เมืองคานส์ในเดือนพฤษภาคมปี 2548 เพียงปีเดียว ก็ได้มีหนังจากศรีลังกาเข้าร่วมงานถึง 2 เรื่อง คือหนังของ Supath Devapriya เรื่อง Against the Tide และ The Forsaken Land ของ วิมุคติ จายาซุนดารา (Vimukthi Jayasundara) ซึ่งรายหลังนี่ไม่ได้ฉายโชว์อย่างเดียว แต่รับเชิญให้เข้าประกวดโดยเฉพาะ

การ ก้าวขึ้นเวทีเมืองคานส์ ปี 2548 ของ วิมุคติ จายาซุนดารา เพื่อรับรางวัลจากมือกรรมการอย่าง อับบาส เคียรอสตามี่ ผู้กำกับอิหร่านระดับมาสเตอร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก เป็นการประกาศก้าวย่างมั่นคงในฝีมือการเขียนบทและกำกับของหนุ่มหน้าใหม่ชาว ศรีลังกาวัย 27 ปี โค่นคู่แข่งระดับเกจิโลกรุ่นก่อนอีกหลายคน

รางวัล ที่หนังของ วิมุคติ The Forsaken Land ได้รับนั้นคือรางวัลหนังยอดเยี่ยมเรื่องแรกสำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ (รางวัลกล้องทองคำ ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Camera d’ Or มอบคู่ร่วมกับ Me and You and Everyone We Know ของ มิแรนด้า จูลาย / Miranda July) แต่แท้จริงด้วยวัยเพียงเท่านี้ของ วิมุคติ เขากลับเคยมีผลงานหนังสั้นซึ่งเข้าตากรรมการเมืองคานส์มาก่อนแล้ว นั่นทำให้บทหนัง The Forsaken Land ได้รับทุน Prince Claus Film Grant ปี 2004 เป็นเงินจำนวน 15,000,00 ยูโร ช่วยให้การขอทุนสนับสนุนจากสถานีโทรทัศน์ Arte จากฝรั่งเศส / เยอรมนี และที่อื่น ๆ สะดวกง่ายดายขึ้นอีกมาก

นับ จากภาพเปิดเรื่องเห็นแขนลึกลับโผล่ขึ้นมาจากหนองน้ำ ที่ใครได้ชมคงยากจะลืมเลือน ตามด้วยภาพต่อมาที่ถ่ายทอดบรรยากาศโล่งร้างในชนบทแห่งหนึ่ง ซึ่งไอระอุจากสงครามกลางเมืองยังไม่จางหาย ดังกับว่าทุกหัวระแหงต่างตกอยู่ในอาการสลัวลืมไร้ทางออก ตัวเอกของเรื่องเป็นยามรักษาการเฝ้าเขตทหารละแวกนั้น เขาอาศัยอยู่กับภรรยา และพี่สาวในกระท่อมคับแคบ วันคืนที่ผ่านมีแต่การรอคอยที่น่าเบื่อหน่าย แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากขบวนรถทหารที่หากิจกรรมคึกคะนองทำเป็นการฆ่าเวลา คราบกิเลสตัณหาเหนียวเหนอะตัวไหลระบาดลามทุ่ง ไม่ต่างกับกลิ่นคาวเลือดซึ่งคละคลุ้งไปทั่วจิตใจอันด้านชา ระเหยเรียงเคียงคลอกับเสียงประกาศข่าวทางวิทยุเรื่องศพนิรนามจำนวนนับพัน

หลัง จากความสำเร็จที่เมืองคานส์ หนังของ วิมุคติ ได้ฉายที่ศรีลังกาบ้านเกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ในโรงภาพยนตร์ย่านสำคัญถึง 5 โรง แต่แล้วก็ถูกนายทหารระดับสูงกล่าวหาว่า วิมุคติ เป็น “ผู้ก่อการร้าย” โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และสหพันธ์ภาพยนตร์ศรีลังกาบีบให้ถอดหนังออกจากโปรแกรม จากนั้นวิมุคติกับผู้อำนวยการสร้างจึงประท้วง ขอถอดหนังจากโรงย่อยอื่น ๆ ที่ยังเหลือด้วยตัวเอง หลังจากฉายได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์

ถัดจากการ ฉาย 2 รอบให้ชาวกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 20 ตุลา และ 23 ตุลาคม ซึ่งเปิดชนวนให้ชาวศรีลังกาในโรงหนังทะเลาะกับ วิมุคติ The Forsaken Land ได้รับรางวัลหนังยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังเวิลด์ฟิล์ม ผมในฐานะคณะกรรมการตัดสินคนหนึ่งแม้จะไม่ได้เทคะแนนให้เท่ากับหนังเปรู เรื่อง Days of Santiago ที่มีลีลาสมถะ (และดูด้อยกว่าทางชั้นเชิง) แต่ก็ยอมรับในความสามารถล้นเหลือและอนาคตยาวไกลของหนุ่มคนนี้ซึ่งถือว่า มหัศจรรย์ทีเดียวเมื่อเทียบกับหนังเอเชียแทบทั้งหมด นับว่าน่าทึ่งที่ชาวไทยจำนวนหนึ่งมีโอกาสสัมผัสหนังของเขา ก่อนที่จะได้ไปฉายในโปรแกรมปกติของประเทศอังกฤษและอเมริกาเสียอีก (แม้กระทั่งวันนี้ที่ผมพิมพ์ต้นฉบับ) หวังเพียงว่าการโหวตหนังเรื่องนี้เป็น 1 ในสุดยอดหนังเด่นจากเมืองคานส์และ 1 ใน 10 ของปี 2005 โดย แกวิ่น สมิธ บ.ก. นิตยสาร Film Comment ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (2006) จะช่วยให้เส้นทางจัดจำหน่ายสดใสขึ้น เมื่อนั้นแหละนักวิจารณ์อังกฤษและอเมริกันจึงจะได้สัมผัสของจริงเสียที

วิ มุคติ สละเวลาสำหรับการสนทนาอย่างเป็นกันเองไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง อย่างน้อยก็มีเขาคนหนึ่งที่มีคำชื่นหูให้กับหนังสั้นสึนามิของผม เราพูดคุยถึงเรื่องราวน้อยใหญ่นับไม่ถ้วน การพูดคุยบางเรื่องอาจจะยืดเยื้อเกินไปบ้าง แต่ก็หวังว่าคงมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างตามสมควร

(ประมาณ 20% ของบทสัมภาษณ์นี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Pulp ฉบับที่ 33 ปี 2549)

 
....................

สนธยา คุณได้ไปไหนมาบ้างครับ

วิมุคติ ยังไม่ได้ไปไหนครับ วนอยู่แต่รอบ ๆ กรุงเทพฯ

สนธยา ไม่ได้ออกไปต่างจังหวัด ?

วิมุคติ ยังครับ

สนธยา นี่คือการมาเมืองไทยครั้งแรกหรือครับ ?

วิมุคติ ใช่ครับ มีอะไรน่าดูเยอะแยะ แต่คงไม่มีเวลา

สนธยา จากที่ผมอ่านประวัติคุณมา คุณเรียนที่สถาบันภาพยนตร์-โทรทัศน์ที่อินเดียใช่ไหม ?

วิมุคติ จริง ๆ ผมไม่ได้ไปลงเรียนหลักสูตรอะไร ผมแค่ไปดูหนัง หอภาพยนตร์ของอินเดียเป็นสถานที่ที่ดีมาก ๆ ผมได้ดูหนังดี ๆ เยอะมาก เขามีหนังเก็บไว้หลายพันเรื่อง ผมก็ซึมซับจากตรงนั้นมา

สนธยา คุณหมายความว่าการหาดูหนังที่นั่นนั้น ดีกว่าการดูหนังในศรีลังกา ?

วิมุคติ มันค่อนข้างยากที่จะหาหนังดูในศรีลังกา เพราะเราไม่มีสถานที่ให้ไปดูหนัง มีแต่ในเทศกาลหนังอย่างเดียว

สนธยา จริงหรือครับ.........แต่เท่าที่ผมอ่านมาจาก International Film Guide เล่มเก่า ๆ เขาบอกว่า ศรีลังกา เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของเอเชียที่มีการจัดตั้งระบบโรงหนังไว้ฉายหนังซึ่ง อยู่นอกเหนือจากกระแสตลาดทั่วไป อันที่เรียกกันว่า Sixth Circuit

วิมุคติ มันไม่มีอย่างนั้นอีกแล้ว

สนธยา แต่มันเคยมี ?

วิมุคติ ใช่ครับ มันเป็นระบบที่ดีมาก ๆ ระบบจัดจำหน่ายในศรีลังกาเคยมีแบบอย่างดีโดดเด่นรัฐบาลและองค์กรประเทศเป็น คนดูแล มันเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดจำหน่ายหนังโดยไม่ผ่านการดูแลของพวกเขา หนังศิลปะทั้งหลายก็อยู่ในการดูแลของพวกเขาด้วย แต่เมื่อประมาณ 5 ปีมานี้เอง รัฐบาลก็ยกเลิกการดูแลในส่วนนี้และโอนให้เอกชน ตอนนี้บริษัทจัดจำหน่ายจึงตกเป็นของเอกชนทั้งหมด

สนธยา ไม่ใช่ของรัฐอีกต่อไป ?

วิมุคติ นั่นแหละครับ มันถึงมีแต่หนังตลาดทั่ว ๆ ไปให้ดู

สนธยา แล้วคนที่เคยดูหนังศิลปะพวกนั้นล่ะ เขาทำยังไงครับ ? เขาไปดูที่ไหนกัน ?

วิมุคติ ถ้าเป็นหนังอาร์ตเฮ้าส์ ก็ยังฉายได้ แต่อาจจะมีฟิล์มฉายแค่ 12 ก็อปปี้ จะฉายไม่ได้มากโรงเท่าไหร่ ก่อนหน้านั้นอาจมีฟิล์มฉายได้ถึง 25-30 ก็อปปี้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นไปไม่ได้ หนังจะมีฉายเฉพาะแค่โรงชั้นรอง ไม่ใช่โรงหนังใหญ่ ๆ

สนธยา แล้วไม่มีใครบ่นอะไรเลยหรือครับ ?

วิมุคติ ตอนนี้มันยากแล้วล่ะ เพระตอนนี้บริษัทหนังที่ทำหนังฉายก็ได้สตางค์จากหนังใหญ่ ๆ กันเป็นล่ำเป็นสัน เราไม่สามารถบอกให้เขาหยุดหรือพอแล้วได้หรอก........ก่อนหน้านี้เมื่อ 5-6 ปีก่อน เรามีภาวะ crisis ที่หนังอาร์ตกลายเป็นหนังอาร์ตจ๋าแบบแย่ ๆ

สนธยา หนังอาร์ตแบบเสแสร้ง

วิมุคติ ใช่ครับ คนก็เลยไม่อยากไปดูหนังอาร์ตพวกนี้ เขาก็เลิกไปดู หนังอาร์ตจ๋าพยายามสร้างเทรนด์มากไป หลังจากที่พวกเขามอบให้หน่วยงานเอกชนเข้ามาดูแล เขาก็ทำโรงหนังสมัยใหม่แบบทันสมัยที่มีมาตรฐานดีขึ้น จากนั้นโรงหนังก็ต้องมีจำนวนคนดูหนังเท่านั้นเท่านี้ จึงจะคุ้มทุน บริษัทจัดจำหน่ายก็อยากได้อย่างนั้น

สนธยา หนังอาร์ตก็เลยถูกกำหนดให้ฉายน้อยลงกว่าแต่ก่อน ?

วิมุคติ ครับ

สนธยา คุณถึงต้องไปอินเดียเพื่อดูหนัง ?

วิมุคติ ใช่ครับ



สนธยา คุณไม่ได้เรียนด้านเทคนิคการทำหนังที่อินเดียเลยหรือครับ ?

วิมุคติ เปล่าครับ แค่ทฤษฎี เน้นไปที่การศึกษาสุนทรียศาสตร์มากกว่า

สนธยา แล้วคุณก็ทำสารคดี เรื่อง Land of Silence คุณอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเกี่ยวกับอะไร ?

วิมุคติ เป็นหนังสารคดีขาวดำที่เกี่ยวกับทหารพิการที่ผ่านสงคราม ผมถ่ายหนังในโรงพยาบาลของค่ายทหาร สถานดูแลพักฟื้น เป็นหนังที่ค่อนข้างเดินเรื่องเรียบ ๆ เงียบ ๆ เพราะว่าคนพวกนี้ไม่รู้วิธีที่จะอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง หนังของผมออกจะเป็นแนว ค่อนข้างทดลอง เป็นหนังขาวดำที่เน้นสีขาว มากกว่าสีดำ

สนธยา แล้วใครออกทุนให้ ? รัฐบาล ?

วิมุคติ ใช่ ได้ทุนรัฐบาล

สนธยา แล้วคุณก็ทำหนังสั้น Vida pour L’ Amour (2003)?

วิมุคติ หลังจากนั้นผมไปเรียนที่ฝรั่งเศส ไปเรียนที่โรงเรียนศิลปะ

สนธยา ที่ปารีสเหรอครับ?

วิมุคติ ที่เมืองลีล (Lille) ทางเหนือของฝรั่งเศส ผมเรียนที่นั่น 2 ปีครึ่ง

สนธยา ถ้างั้นคุณก็พูดฝรั่งเศสได้

วิมุคติ ครับ ๆ ผมถ่ายหนังสั้น 28 นาทีเรื่อง Vida pour L’ Amour เป็นหนังที่ผมทำตอนเรียนจบโรงเรียนศิลปะ หนังทั้งเรื่องไม่มีบทพูด ออกแนวทดลองนิดหน่อย ผมถ่ายเรื่องนี้ทั้งในศรีลังกาและฝรั่งเศส มีหนังสองเรื่องประกอบกัน เนื้อเรื่องมีความต่อเนื่องรับส่งกัน ครูที่ปรึกษาของผมคือ ไฉ่มิงเหลียง (ไฉ่มิ่งเหลียง ก็นำหนังใหม่ The Wayward Cloud มาร่วมงานเวิล์ดฟิล์มด้วย – สนธยา)

สนธยา อ้าว ! จริงเหรอครับ ถ้างั้นคุณก็รู้จักกันมาก่อนแล้วสิ

วิมุคติ ครับ รู้จักกันดี

สนธยา เขาไปสอนที่ฝรั่งเศส ?

วิมุคติ ครับ เขาเป็นครูผม สอนผมปีหนึ่ง

สนธยา เขาพูดฝรั่งเศสได้ ?

วิมุคติ พูดไม่ได้

สนธยา แต่เขาถ่ายหนังที่ฝรั่งเศสเรื่องหนึ่งนี่ครับ (เรื่อง What’s Time Is It There ? – สนธยา)

วิมุคติ เขาจะมีล่ามคอยแปลตลอดเวลา

สนธยา คุณเป็นคอหนังมาก่อนเป็นคนทำหนังใช่มั้ย ?

วิมุคติ ผมเป็นนักเขียนให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เป็นนักวิจารณ์หนัง จากนั้นผมก็ทำงานให้บริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์ในโคลัมโบ

สนธยา คุณถ่ายหนังโฆษณาด้วยหรือเปล่า ?

วิมุคติ ครับ ถ่ายเยอะมากเลย ผมเขียนบทหนังโฆษณาทีวีก็เยอะ ผมทำงานโฆษณามา 5 ปี

สนธยา แล้วคุณเขียนเรื่องสั้น นิยาย อะไรพวกนั้นบ้างไหม

วิมุคติ เปล่า ๆ ผมเขียนแค่บทความ บทวิจารณ์ บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ วิเคราะห์ศิลปวัฒนธรรม การเมืองอะไรทำนองนั้น

สนธยา แล้วคุณถึงได้ทำหนังสารคดี ถ้างั้นคุณมองหนังศรีลังกาโดยรวมว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณจัดตัวเองอยู่ตรงไหนในวงการหนังศรีลังกา ?

วิมุคติ ผมเป็นคนศรีลังกาเต็มตัวนะ ผมเกิดและเติบโตที่นั่นในชนบท จัดเป็นบ้านนอกคนหนึ่ง ผมมาที่โคลัมโบ อยู่ในเมือง เพราะงั้นผมจึงมักจะมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชนชั้นกลางเสมอ เทียบกับคนเมืองผมเป็นคนค่อนข้างเปิดเผยกว่ามาก ประเด็นปัญหาที่ผมเจอหนักในตอนนี้ต่างมาจากกลุ่มชนชั้นกลางกลุ่มนี้ แต่ผมหมายถึงกลุ่มชนชั้นกลางรุ่นใหม่นะ ชนชั้นกลางรุ่นเก่าจะชอบผมมาก กลุ่มเก่าที่มีการศึกษาจะรับผมได้ แต่กลุ่มใหม่คอสโมโปลิแตน คนพวกนี้เป็นนักธุรกิจ เซลส์แมน นักลงทุน จะไม่ชอบผม จริงๆ แล้วพวกเขาก็มาจากต่างจังหวัดเหมือนผมนี่แหละ พวกเขาไม่ชอบให้ผมถ่ายทอดภาพคนต่างจังหวัดในด้านลบ พวกเขาต้องการเฉพาะมุมมองสวยงามด้านบวก

สนธยา Exotic

วิมุคติ ใช่ครับ แต่ผมรู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร พวกเขามองว่าผมถ่ายทอดภาพศรีลังกาให้ชาวโลกเฉพาะในด้านแย่ ๆ นี่เป็นแก่นของข้อถกเถียงที่ผมกำลังโดนกล่าวหา จริง ๆ แล้วผมรู้ว่าผมกำลังพูดอย่างจริงใจและเปิดกว้าง ในมุมหนึ่งผมถ่ายทอดความเป็นตัวของผมอย่างหมดจด

สนธยา คุณมองตัวเองเทียบกับนักทำหนังรุ่นก่อนของศรีลังกายังไง?

วิมุคติ The Forsaken land ได้รับการยอมรับจากคนทำหนังทุกรุ่น ตั้งแต่แรกผมได้รับการยอมรับจาก เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ (Lestor James Peries) เขามองว่าหนังของผมเป็นจุดสื่อต่อทางประวัติศาสตร์ของหนังศรีลังกา เหมือนกับว่าทุกคนยอมรับกับหนังเรื่องนี้ พวกเขาเข้าใจและยอมรับมันดี จริง ๆ แล้วคนทำหนังร่วมสมัยส่วนใหญ่กับตัวผมมีช่องว่างระหว่างวัยห่างกันถึง 15 ปี มันเป็นช่องว่างที่ห่างมาก พวกเขาไม่ค่อยใส่ใจกับผมนัก แต่พวกเขาก็คิดว่าผมโอเค

สนธยา พวกเขาไม่อิจฉาคุณเหรอ ?

วิมุคติ ก็คงมีบ้าง อาจจะมีบ้างที่เขาเสียดายว่าไม่ได้ไปเมืองคานส์ หรืองานเทศกาลหนังนานาชาติ แต่คนทำหนังรุ่นเก่ากว่านั้น อย่าง เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ จะชอบผมมากกว่า มองผมเหมือนลูกชาย รุ่นกลางอาจจะไม่ค่อยสนิทใจกับผมมากนัก

สนธยา เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ ยังมีชีวิตอยู่อีกหรือครับ ?

วิมุคติ ยังอยู่ครับ เขาชอบหนังผมนะ เขายังเขียนชมหนังผมเลย แต่เขาแก่มากแล้ว อายุประมาณ 86 – 87 ปี

สนธยา ผมเคยได้ยินว่าเขาชอบแสดงความชื่นชมคนรุ่นใหม่ ๆ

วิมุคติ เขาเป็นคนทำหนังเอเชียรุ่นเดอะคนเดียว อย่าง สัตยาจิต เรย์ , อากิระ คูโรซาว่า ที่ยังเหลืออยู่ เขาไม่มีหนังเด่นๆ มาอย่างน้อย 15 ปี แล้ว เพราะเขาทำหนังไม่ดีก็จำนวนหนึ่ง เพราะตัวเขาเองก็แก่แล้ว ก็ไม่มีคนในสังคมสนับสนุนเขาอีก แต่ถึงอย่างไรเขาก็เคยเป็นหนึ่งในผู้กำกับชั้นยอดของเอเชีย

สนธยา ผมคิดว่าผมเคยดูหนังของเขาแค่เรื่องเดียว

วิมุคติ เหรอ จริงเหรอ เรื่องไหนล่ะ

สนธยา คิดว่าเรื่องนี้น่ะ ชี้ให้ดูชื่อ (Gamperliya / Changes in the Village)

วิมุคติ อ๋อ Gamperliya ใช่ ๆ

สนธยา วิคเตอร์ (เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ประธานเทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม – สนธยา) เคยเอามาฉายครั้งหนึ่ง

วิมุคติ จริงเหรอครับ เรื่องนั้นน่ะ หนังดี เก่ามากแล้ว คุณชอบมั้ย ?

สนธยา ผมว่าดีนะ

วิมุคติ คล้าย ๆ สัตยาจิต เรย์

สนธยา ดีครับ แต่ถ้าเทียบกับ สัตยาจิต เรย์ สงสัยว่าผมจะชอบ สัตยาจิต เรย์ มากกว่า

วิมุคติ ใช่แหละ เขาต้องถือเป็นอันดับสองรองจาก สัตยาจิต เรย์ อยู่แล้ว

สนธยา คุณมองเขาเป็นแบบอย่างด้วยมั้ย ?

วิมุคติ ใช่ ๆ เขาเป็นคนทำหนังศรีลังกาคนแรกที่ออกไปทำหนังนอกสตูดิโอ เรานับเขาเป็นบิดาของหนังศรีลังกา แต่เดิมหนังของเราที่เราดูกันก็คือหนังอินเดียนั่นเอง ในยุคแรกคนศรีลังกาทำหนังทุกเรื่องที่อินเดีย เราต้องไปถ่ายหนังในสตูดิโอที่บอมเบย์ หรือ Maddras เราแค่ทำหนังเรื่องเดียวกันให้ออกมาเป็นภาษาของเรา

สนธยา พากย์เสียงศรีลังกาใส่เข้าไป ?

วิมุคติ ไม่ใช่พากย์ เขาถ่ายหนังเรื่อง ๆ เดียวกันพร้อม ๆ กัน แต่สลับเปลี่ยนใส่ดาราของศรีลังกาเข้าไปแทนของอินเดีย หนังก็ออกมาสไตล์เดียวกัน เนื้อเรื่องอินเดียแบบเดิม แต่ก็อปปี้ออกมาแล้ว เปลี่ยนหน้าคนเล่น เป็นวิธีการทำหนังแบบเก่าของอินเดียที่ทำหนังสำหรับฉายในภาษาท้องถิ่นหลาย ๆ ภาษา ดังนั้นหนังศรีลังการุ่นแรก ๆ ก็ไม่ต่างจากหนังอินเดียเลย แต่ เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ เป็นคนแรกที่เป็นขบถออกไปทำหนังนอกสตูดิโอ เอากล้องออกไปถ่ายข้างถนน ตามหมู่บ้าน

สนธยา แล้วคนทำหนังพวกนี้ล่ะ? (ชี้ชื่อคนทำหนังศรีลังกาที่จดมา)

วิมุคติ (ดูรายชื่อที่ผมให้) อ๋อ คนนี้เก่งนะ Dharmasene Pathirajah (ผลงานเช่น Ponmanie) หลังจากยุคของ เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ ก็มีคนนี้คนหนึ่ง เพราะ เลสเตอร์ เจมส์ ก็คล้าย ๆ กับสัตยาจิต เรย์ ตรงนี้ คือ ชอบทำหนังเกี่ยวกับชนบท เรียกได้ว่าเป็นคนที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติก็ว่าได้ แต่ Dharmasene Pathirajah นี่เป็นคนทำหนังฝ่ายซ้าย เขาค่อนข้างเป็นขบถ ทำหนังเกี่ยวกับความลำบากของคนหนุ่มสาวยุค 60-70 การปรับตัว ความอ้างว้างเดียวดายอะไรทำนองนั้น......Sumitha Peries เธอเป็นภรรยาของ เลสเตอร์ เธอทำหนังดังหลายเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง ประเด็นเฟมินิสต์.......แต่คุณยังไม่มีรายชื่อคนทำหนังที่เก่ง ๆ อีกหลายคน ผมเขียนให้ไหม ?

สนธยา ดีเลยครับ......สรุปแล้ว คุณมองเห็นจุดเชื่อมต่อของตัวเองในยุคนี้กับยุคก่อนหน้า ?

วิมุคติ ครับ

สนธยา ที่ผมถามนี่ก็เพราะ ในฐานะที่เป็นคนไทย ผมแทบไม่ศรัทธากับคนทำหนังไทยทั้งในยุคนี้และยุคก่อน (ยกเว้นความชอบความเอ็นดูที่ผมมีกับหนังไทยบางเรื่อง) เราไม่เคยมีหนังที่เป็นแนวทางศิลปะที่แท้จริงมาก่อน เราเพิ่งเริ่มมีหนังศิลปะจริง ๆ ก็แค่เรื่องสองเรื่องเมื่อไม่นานมานี้ เช่น หนังอย่างของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

วิมุคติ (เขียนชื่อคนทำหนังให้ 2 ชื่อ) ครับ มีแค่คนทำหนัง 2 คนนี้เป็นคนสำคัญมากของหนังศรีลังกาในยุคนี้ จริงๆ แล้วที่ผมได้ทำหนังเรื่องแรกนี่ก็เป็นเพราะพวกเขา เพราะหลังจากยุค 80 มานี้ หนังศรีลังกาก็เรียกได้ว่าหายสาบสูญไปเลย แต่คนทำหนังศรีลังกา 2 คนนี้กลับมาพร้อมกับหนังที่ถ่ายทอดมุมมองใหม่ของสังคมศรีลังกา เป็นมุมมองใหม่ที่ห้าวหาญมาก ทั้งในเรื่องเพศและเรื่องการเมือง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองนี่ขาดไม่ได้

สนธยา คุณออกเสียงชื่อของพวกเขายังไง ?

วิมุคติ อโศกา ฮันดากามา (Asoka Handagama / ผลงานเช่น Flying with One Wing เรื่องราวของหญิงสาวที่แต่งตัวเป็นชายออกไปเผชิญโลกแล้วถูกจับได้ – สนธยา), Prsanna Vithanage (ผลงานเช่น The August Sun ฉายในเทศกาลหนังที่รอตเตอร์ดาม – สนธยา)

สนธยา ทำไมคุณถึงเลือกว่าต้องไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ?

วิมุคติ ผมคิดว่ามีแต่ในฝรั่งเศสที่มีผู้อำนวยการสร้างหนังศิลปะ นักศึกษา คนมีความรู้เรื่องภาพยนตร์ และศิลปินอยู่เยอะ อย่างในประเทศอื่นเขาจะเน้นหนักไปในทางธุรกิจมากกว่า เขาก็จะคุยกันแต่เรื่องการจัดจำหน่ายหนัง เรื่องเงิน เรื่องธุรกิจมากกว่าศิลปะ แต่ที่ฝรั่งเศสเขาจะสนใจเรื่องการทำหนังล้วน ๆ แล้วคนทำหนังคนโปรดของผม อย่าง อิงมาร์ เบิร์กแมน, อังเดร ทาร์คอฟสกี้, เฟรเดอริโก้ เฟลลีนี่, ปิแอร์ เปาโล พาโซลีนี่ พวกเขาก็ล้วนเป็นคนยุโรปทั้งสิ้น และในฝรั่งเศสพวกเขาก็ได้รับการยอมรับนับถือดี ผมก็เลยคิดว่าผมต้องไปที่ฝรั่งเศส (หัวเราะ)

สนธยา แล้วคุณเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ศรีลังกาหรือครับ ?

วิมุคติ ใช่ครับ ก็แค่นิดหน่อย 2 เดือนเอง แล้วก็ไปเรียนเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศสอีกที แต่จริง ๆ แล้ว ผมก็ยังไม่เก่งภาษาฝรั่งเศสนะ แต่ผมก็เข้าใจพอที่จะเอาตัวรอดได้

สนธยา คุณเป็นนักอ่านด้วยมั้ย ?

วิมุคติ ครับ ๆ แต่หนักไปในด้านวรรณกรรมนะครับ ผมชอบอ่านนิยาย ปรัชญาศาสนาพุทธ

สนธยา คุณชอบอ่านงานของนักเขียนคนไหนเป็นพิเศษไหม ?

วิมุคติ ก็มีของคนศรีลังกาคนหนึ่ง เขาเพิ่งตายไปได้ไม่นาน

สนธยา คุณช่วยเขียนชื่อของเขาให้หน่อยสิครับ

วิมุคติ Simon Nawagathygama

สนธยา คุณชอบเขามากเป็นพิเศษ ?

วิมุคติ เขาก็คล้าย ๆ คนอย่าง มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez)

สนธยา แต่งเรื่องเกี่ยวกับชีวิตบ้านนอกชนบท อะไรอย่างนี้ ?

วิมุคติ แต่ว่ามีเนื้อหาออกปรัชญาเยอะนะ งานเขียนของเขาเหมือนกับการทำสมาธิ เขาเพิ่งตายไปเมื่อไม่นานมานี้ ตอนอายุราว ๆ 65 ได้ เขาเป็นคนเพี้ยน ๆ หน่อย ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ถ้าตั้งใจหาตัวเขาจะหาไม่เจอ แต่บางทีเขาก็อยู่ตามถนนหนทาง เขาเป็นนักล่าสัตว์ พ่อเขาก็เป็นนักล่าสัตว์ในชนบทด้วยเหมือนกัน ปรัชญาชีวิตของเขาเชื่อว่า สายพันธ์ของความเป็นมนุษย์นั้นสืบทอดมาจากเทือกเถาเหล่ากอที่เปื้อนเลือด เราเห็นความป่าเถื่อนในตัวมนุษย์ เรายังเป็น มนุษย์นักล่า

สนธยา เขาเป็นคนชนบทที่เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับชนบท เขามีสไตล์แนว magic realism หรือเปล่า ?

วิมุคติ เขาไม่เคยเชื่ออะไร แต่ในแง่หนึ่งเขาก็เชื่อทุกอย่างด้วยเหมือนกัน อย่างเขาสามารถเล่าถึงนิสัยของสัตว์หรือ ธรรมประพฤติ มันยากจะอธิบายถึงตัวของเขาอย่างแท้จริงได้.......แต่ผมก็ชอบนักเขียนต่าง ชาติด้วยเหมือนกันนะ นักเขียนอย่าง มิลาน คุนเดอร่า (Milan Kundera), บูโลสกี้ นักเขียนรัสเซีย (ชื่อคล้าย ชาร์ลส์ บูโคว์สกี้ / Charles Bukowski ที่เป็นนักเขียนอเมริกัน – สนธยา), การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, นักเขียนอัฟริกันที่เพิ่งได้รางวัลโนเบลเมื่อไม่นานมานี้ (เขานึกชื่อไม่ออก เข้าใจว่าหมายถึง เจ. เอ็ม คูทซี่ / J.M. Coetzee- สนธยา)

สนธยา แล้วคุณได้เจอตัวจริงไหม Simon นักเขียนศรีลังกาคนนั้น?

วิมุคติ ในแง่หนึ่งก็เรียกได้ว่าสนิทเลยด้วยซ้ำ แต่ผมพูดไม่ได้นะว่าเขาจะรู้จักผมเพราะเราเจอกัน กินเหล้าด้วยกัน หลังจากนั้นถ้าเจอกันอีก เขาก็จะจำหน้าผมไม่ได้ (หัวเราะกัน) เราอาจจะนั่งคุยกัน 3-4 วัน แต่คุยกันไปอยู่ ๆ แล้วเขาก็จะนึกไม่ออกว่าผมเป็นใคร เขาเป็นคนพิลึกมาก ๆ

สนธยา เหมือนในหนัง ชาร์ลี แชปปลิน ใช่มั้ย ? City Lights ?

วิมุคติ ใช่ ๆ เลย (หัวเราะ)

สนธยา แต่ก็น่าสนใจที่คุณเอ่ยถึง คุนเดอร่า เพราะ คุนเดอร่า ชอบคุยกับตัวเอง

วิมุคติ ใช่ บทพูดในความคิด

สนธยา แต่ ในมิติที่ต่างกัน.......ผมคิดว่าคุณคงชอบหนังของ มิเคลันเจโล่ อันโตนีโอนี่ (Michelangelo Antonioni) มาก ๆ ด้วยเหมือนกัน

วิมุคติ อืมม์.....(ลากเสียงดัง) ชอบมาก คนเคยเปรียบหนังของผมกับ Zabrislie Point ด้วย

สนธยา ผมแทบไม่เชื่อสายตาว่าหนังจากศรีลังกาจะถ่ายภาพได้งามปานนี้ แล้วตากล้องของคุณนี่เป็นคนศรีลังกาด้วยหรือเปล่าครับ ?

วิมุคติ ใช่ครับ เขารักหนังมาก จริง ๆ เขาก็เหมือนผม เรามีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็ก ๆ ที่ชอบไปดูหนังตามสถานทูต หรือสถาบันวัฒนธรรมต่างชาติ

สนธยา เหมือนอย่าง สถาบันเกอเธ่ สมาคมฝรั่งเศส อะไรอย่างนี้ ?

วิมุคติ พวกคนบ้าหนังด้วยกันที่เห็นมีฉายหนังที่ไหนไม่ได้ ก็ยกพวกไปดู ถ้าเห็นกล้องถ่ายหนังก็จะสนอกสนใจ คอยเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เขาเป็นคนอย่างงั้น

สนธยา แล้วเขาอายุพอ ๆ กับคุณเลยมั้ย ?

วิมุคติ เปล่าครับ เขาแก่กว่าผม ตอนนี้ผมว่าเขาอายุสัก 35-36 ปี

สนธยา The Forsaken Land นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เขาถ่ายหรือเปล่าครับ ?

วิมุคติ เปล่าครับ นี่เป็นเรื่องที่สอง เขามาจากวงการหนังโฆษณา เขาทำมิวสิควิดีโอและหนังโฆษณาหลายเรื่อง

สนธยา คุณคอยควบคุมกล้องอะไรเองด้วยหรือเปล่า ?

วิมุคติ ครับ แต่ก็ไม่ถึงกับคุมเข้มตลอด เพราะเรารู้ใจกันดี เราเคยทำหนังโฆษณาด้วยกันมาก่อน เรื่องเทคนิคกล้องต่าง ๆ เราผ่านกันมาหมดแล้ว ดอลลี่ แทร็คกิ้ง แต่เราเห็นพ้องต้องกันว่าเบื่อหน่ายกับเทคนิคใหม่ ๆ ที่รุงรัง คนส่วนใหญ่ยังบ้าเทคนิคกันอยู่

สนธยา คุณใช้แสงน้อยมาก ๆ ภาพดูมีพลัง แต่บางครั้งก็มืดมาก ๆ จนแทบมองรายละเอียดไม่เห็น

วิมุคติ ใช่ครับ

สนธยา ตัวพระเอกที่เดินถือปืนไปมาในตอนเปิดเรื่อง เขากำลังทำอะไรอยู่กันแน่ ?

วิมุคติ ฉากนี้ผมถ่ายขึ้นทีหลัง หลังจากตัดต่อหนังหยาบ ๆ ครั้งแรก มีอยู่สองฉากนี้ผมถ่ายหลังจากการตัดต่อครั้งแรก เพราะหลังจากดูหนังแล้ว ผมรู้สึกว่าหนังยังขาดหายอะไรไปบางอย่าง ผมอยากได้อะไรเพิ่มมาอีกอันหนึ่งก็คือตัวเอกกลับมาพร้อมกับรอยเลือด ในหนังคุณจะเห็นว่าตัวเอกกลับบ้านมาพร้อมกับรอยเลือดบนพื้น

สนธยา อ้อ ใช่ ๆ

วิมุคติ นั่นก็ฉากหนึ่ง ฉากสำคัญมากแล้วก็ฉากนี้ฉากแรก ผมถ่าย 2 ฉากนี้ในโลเกชั่นเดียวกัน ในฉากแรกนั้นเขามองหาอะไรบางอย่างบนพื้น ซึ่งอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างก็ได้

สนธยา เช่น ระเบิด ?

วิมุคติ ระเบิด.....แร่.....หรืออะไรบางอย่างที่ชวนสงสัย น่าสนใจ ทำให้คุณสนใจว่าเขากำลังทำอะไรกันแน่

สนธยา หรืออาจจะเป็นว่า เขาเดินไปเดินมาโดยที่ไม่ได้คิดอะไรเฉพาะเจาะจง

วิมุคติ ครับ ๆ ผมชอบให้เขาเดินไปเดินมา (หัวเราะกัน)

สนธยา เป็นฉากที่ดูดีมาก ๆ ครับ.......แล้วตกลงเลือดบนพื้นที่เราเห็นในหนังนั้นของใครกันแน่ ?

วิมุคติ มันก็เป็นปริศนาไง

สนธยา แล้วภาพแรกสุดที่เปิดเรื่องล่ะ เป็นภาพมีดหรือดาบใช่ไหม ?

วิมุคติ ไม่ใช่ครับ อันนั้นมันหลอดนีออน

สนธยา จริงเหรอครับ ผมดูเป็นมีดดาบหรืออะไรสักอย่างสะท้อนแสง

วิมุคติ มีด ? ไม่ใช่ครับ มันแค่หลอดไฟ (หัวเราะกัน) คุณคงเห็นไม่ชัด

สนธยา ครับ มันมืดมาก...... แล้วผู้หญิงคนที่มีอายุหน่อย เธอเป็นพี่สาวพระเอกใช่ไหม ? คุณอยากจะอธิบายหน่อยไหมว่าทำไมเธอถึงได้ฆ่าตัวตาย หรือคุณอยากให้คิดเอาเองมากกว่า ?

วิมุคติ อ้า......ผมไม่รู้จะอธิบายว่าไง แต่มันก็ไม่ใช่แบบการฆ่าตัวตายในโลกความจริงแบบทั่ว ๆ ไป ผมอยากจะพูดถึงวงจรชีวิตมากกว่า ถ้าคุณยังจำได้ในเสียงบรรยายจะพูดถึง “เจ้านกน้อย” และการกำเนิดเกิดใหม่ คล้าย ๆ กับว่าผมอยากจะบอกว่าได้เวลาเสียที่ที่เราจะหยุดได้แล้ว แต่ถึงมันจะเป็นตอนจบของหนัง วงจรชีวิตก็ยังดำเนินสืบต่อไป ตัวเธอก็เป็นคนเคร่งศาสนานะ เธอเชื่อเรื่องภพหน้า ตายแล้วเกิดใหม่ ตัวเธอเองก็อยากย้ายไปอยู่ที่ ๆ มีที่พึ่งพาทางใจมากกว่านี้

สนธยา ไปอยู่ในเมือง

วิมุคติ ใช่



สนธยา เธอคงมองหางานด้วย แล้วผู้ชายบางคนก็อาจทำอะไรเธอไม่ดี ? แต่นั่นก็เป็นปริศนาอีกอันหนึ่งที่ทิ้งให้คนดูตอบ

วิมุคติ (หัวเราะ)

สนธยา ผมไม่รู้เรื่องปูมหลังประวัติศาสตร์ศรีลังกามากนัก เรื่องสงครามกลางเมืองหรืออะไร ? แล้วคุณเคยพูดว่าอยากจะถ่ายทอดสถานการณ์ระหว่างสงครามกับสันติภาพใช่มั้ย ?

วิมุคติ ครับ

สนธยา แล้วโลเกชั่นที่คุณถ่ายนี่ใช่ทางเหนือของศรีลังกาไหม ?

วิมุคติ ไม่ใช่ครับ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เราสร้างฉากขึ้นมาใหม่ มันเป็นแค่ทุ่งโล่ง ๆ ที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาจากทะเลเมื่อ 6 ปีก่อนเอง

สนธยา เหมือนกับเกาะอย่างนั้นเหรอ ? ล้อมรอบด้วยเกาะ ?

วิมุคติ ครับ

สนธยา รวมทั้งบ้านที่เขาอาศัยด้วยใช่ไหม ?

วิมุคติ ครับ สีของบ้านหลังนั้นมันดูประหลาดไหมล่ะครับ เหมือนกับจุดเริ่มต้นของโลกยังไงยังงั้น เราสร้างฉากทุกอย่างที่นั่น ทั้งบ้าน ปลูกต้นไม้ เสาไฟ.....อ้อ แต่เสาไฟมีอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว มันมีค่ายพักทหารอยู่ไม่ห่างจากแถวนั้นมาก

สนธยา แล้วมีชาวบ้านอาศัยอยู่แถวนั้นมั้ย ?

วิมุคติ เปล่าครับ ไม่มีใครอาศัยเลย

สนธยา แล้วทำไมคุณถึงจำเพาะเจาะจงต้องถ่ายทำที่นั่นด้วยล่ะครับ ?

วิมุคติ เพราะว่าผมจะได้ควบคุมทุกอย่างได้ตามที่ต้องการไง วางบ้านตรงนี้ มีทิวทัศน์ไกลให้ทอดตา มีถนนสายเล็ก ๆ ผมกำหนดทุกอย่างได้แบบสถาปนิก คุมให้หนังมีจังหวะแบบช้าเนิบ หาจังหวะพอดีให้รถเมล์ขับมาถึง พระเอกเดินมาได้จังหวะ.......

สนธยา อิสระมากขึ้นด้วย ไกลจาก.......

วิมุคติ อิสระมากขึ้น เพราะไกลจากคน (หัวเราะ)

สนธยา แล้วคุณควบคุมเรื่องตัดโทนสี แยกสีหนังอะไรอย่างนี้หรือเปล่า ?

วิมุคติ ครับ แต่เราไม่ได้ทำในห้องแล็บ พอเราถ่ายฟิล์มเสร็จ เราโอนภาพลงวีดีโอ HD แล้ว ก็แยกสี แล้วก็โอนภาพกลับมาที่ฟิล์มใหม่ มันเป็นระบบที่เรียกว่า......(นึก) มันอยู่ในรูปของมันฝรั่ง.......คุณจะใส่สี เพิ่มสีอะไรลงไปก็ได้ เท่าที่คุณต้องการ (เขียนรูปอธิบายเทคนิคซึ่งผมไม่เข้าใจอยู่ดี – สนธยา) มันจะเป็นช่อง ๆ

สนธยา แบบม่านไอริส วงกลม ๆ ในหนังเงียบ

วิมุคติ อะไรทำนองนั้น ผมพยายามไม่ปล่อยให้ขอบจอมีแสงเข้า ผมพยายามตัดขอบแสงขอบเฟรมไม่ให้ออกมาเป็นทรงเหลี่ยม

สนธยา คุณได้ทุนทำหนังจากฝรั่งเศส แล้วเงินของพวกเขามีผลต่อวิสัยทัศน์ของคุณบ้างหรือเปล่า ?

วิมุคติ คุณหมายถึงเงินของใครนะ ? เงินทั้งหมด ?

สนธยา มีทุนจากศรีลังกาด้วยหรือเปล่า ?

วิมุคติ มี แต่ก้อนเล็กมาก ส่วนใหญ่ด้านแรงงานจะเป็นของศรีลังกาเสียมากกว่า บางคนทำงานแบบไม่ได้สตางค์ เพื่อนผมหลายคนทำฟรีเลยนะ เงินที่ได้มาก็ทำให้หนังเป็นหนังอิสระอย่างแท้จริง เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ใครจะได้ผลประโยชน์อะไรมากนัก ไม่มีผู้อำนวยการสร้างที่จะคอยมานั่งสั่งผม ผมต้องรับผิดชอบความผิดพลาดของผมเอง ตอนครั้งแรกที่ผมเห็นหนังตัดฉบับแรก ผมผิดหวังมากเลย มันไม่ใช่แบบที่ผมหวังเลย มันมีแต่ฉากยาว ๆ 7 นาที, 5 นาที, 8 นาที แบบเนี้ย แล้วจะตัดทุกอย่างเข้าด้วยกันอีท่าไหน ?

สนธยา จริงเหรอครับ ?

วิมุคติ ครับ.....มันเหมือนกับภาพจิ๊กซอว์ไงครับ ลองต่อใส่ตรงนี้ดู ไม่เวิร์ค ลองใหม่ใส่ตรงนี้ก็ยังไม่ใช่ จะตัดตรงกลางระหว่างซีนก็ไม่ได้ด้วย มันเป็นงานที่ท้าทายมากจริง ๆ แล้วก็จะหวังให้คนอื่นมาช่วยคุณก็ไม่ได้ด้วย คุณต้องหาตัวตนภายในของ คุณเองให้เจอ มันเป็นหนังอิสระอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่มีผู้อำนวยการสร้างหน้า ไหนจะกล้ายอมรับการท้าทายลักษณะนี้ ถ้าผมจะหวังชัยชนะอะไรได้ก็ไม่ใช่ในเรื่องเงิน แต่เป็นในตัวงานเองในฐานะคนทำงานศิลปะ มันอยู่ที่ว่าผมทำงานศิลปะจริง ๆ หรือเปล่า สิ่งที่ผู้อำนวยการสร้างได้ก็คงจะเป็นตรงนั้น ไม่ใช่ตัวเงินเป็นหลัก เพราะถ้าหวังแค่ที่ตัวเงิน ก็หมายความว่าเขาจะสูญเสียหมดทุกอย่าง

 



จาก The Forsaken Land

 

สนธยา แล้วจะมีสักวันที่คุณทำหนังเพื่อธุรกิจล้วน ๆ บ้างไหม ?

วิมุคติ (หัวเราะ) ผมก็ไม่รู้นะ ผมไม่คิดหวังว่าจะเป็นอย่างงั้นนะ แต่ถ้าสักวันผมทำ ผมก็จะทำหนังทุนหนาในแนวเอพิค ผมชอบหนังเอพิคนะ มีฉากขี่ม้า 800 ตัว

สนธยา แล้วฉากร้องเพลง เต้นระบำล่ะ เอาไหม ?

วิมุคติ ไม่ ไม่เอาแบบนั้น ผมอยากได้อย่างหนังของ อากิระ คุโรซาว่า มากกว่า

สนธยา ฉากสงครามแบบ Kagemusha

วิมุคติ ใช่ แบบฉากรบ ผมชอบแบบนั้นมากกว่า นั่นคงเป็นแนวหนังที่คนในวงกว้างทั่วไปจะรับได้มากที่สุด เท่าที่คนอย่างผมจะสามารถทำออกมา

สนธยา ขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้อยู่

วิมุคติ ครับ เพราะหนังใหญ่ ๆ ทั่วไปนี่เต็มไปด้วยเม็ดเงินจำนวนมากมหาศาล สำหรับหนังพวกนั้นน่ะเป็นหนังเพื่อธุรกิจจริง ๆ ผมว่าคนยังต้องการที่จะถูกทำให้แปลก ใจนะ.......แต่ผมน่ะเกลียดมากที่จะครอบงำอารมณ์คนดู ผมไม่อยากที่จะควบคุม คนดูเพื่อหวังผลทางรายได้ ผมไม่ชอบแบบนั้น ถ้าเราจะจัดการครอบงำคนดู เราจะทำเพื่อผลทางศิลปะเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเงิน

สนธยา แล้วคนฝรั่งเศสไม่ได้มีข้อกำหนดมาบังคับเรื่องการใช้ทีมงานฝรั่งเศส ตากล้องหรืออะไรทำนองนั้น ?

วิมุคติ ไม่ ๆ

สนธยา แต่คุณต้องตัดหนังที่ฝรั่งเศสใช่มั้ยครับ ?

วิมุคติ ครับ แต่ผมก็คิดว่าดีนะ บางทีมันอาจจะมีช่วงที่ไม่ดีบ้าง แต่ไม่รู้นะ ระบบมันมีเส้นของมันเองอยู่ อย่างฝรั่งต่างชาติมาศรีลังกา เขาก็ไม่เข้าใจระบบงานของหนังศรีลังกาหรอก วิธีการแบบของเขามันก็ใช้กับของประเทศผมไม่ได้ ผมสามารถบริหารมันในเชิงที่ดูเป็นนามธรรมเอามาก ๆ แล้วบอกเขาว่า ในศรีลังกาคุณทำแบบนี้ไม่ได้หรอก เช่นว่า นายทุนฝรั่งเศสทำอะไรไม่ได้เลยในหนังศรีลังกา มันคนละระบบงานกัน พวกเขาไม่รู้จะวางที่ทางของตัวเองยังไง มันไม่ใช่ระบบที่เขาคุ้นเคย ผมใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ได้ สำหรับนายทุน เขาทำได้ก็แต่รอดูผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนอื่น อย่าง ถ่ายทำ หาตัวนักแสดง เขามายุ่มย่ามไม่ได้เลย เหมือนเสกของวิเศษไง เขาต้องเชื่อมั่นในตัวผมอย่างมาก ๆ เขาเห็นก็แต่ตอนเป็นจอสีขาว ๆ แล้วผมก็เสกหนังจากท้องฟ้ามาขึ้นจอเรียบร้อย

สนธยา เวลาคุณขอทุน คุณส่งโครงการเรื่องย่อคร่าว ๆ หรือ ส่งบทหนังที่เสร็จเรียบร้อยไปขอทุน ?

วิมุคติ ผมมีบท แต่ที่สำคัญมากกว่าก็คือ เจตนารมณ์ของคนทำหนังเอง บทหนังของผม จริง ๆ แล้วก็สั้นมาก ๆ แต่ผมมีคำอธิบายเพิ่มเติม มีภาพถ่าย ภาพวาดที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม อย่างคุณก็แค่เขียนว่า เออ มี ผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ แต่นั่นไม่พอ เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่า มันหมายความว่าอะไร ชายคนหนึ่งเดินในท่านั้นท่านี้ คนอ่านบทก็อาจจะไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร ผมจึงต้องมีคำอธิบายขยายความ เพราะพวกเขายังไม่ได้เห็นหนัง ถ้าดูหนังแล้วจะเข้าใจ แต่แค่อ่านบทจะมองไม่ออก
สนธยา หนังคุณมีบทพูดน้อยมาก ๆ ครับ

วิมุคติ ครับ ๆ

สนธยา คุณบอกว่า ตอนแรกคุณมองไม่ออกว่าจะตัดหนังออกมายังไง นั่นหมายความว่าหนังที่ออกมาดูต่างจากเดิมอยู่ไม่น้อย ?

วิมุคติ ครับ บทก็ทำมาไว้ให้ใช้แต่ตอนถ่าย ไม่ใช่ไว้ใช้ตอนตัดต่อ บทหนังไม่มีบทบาทอะไรตอนหลังอีกแล้ว

สนธยา ไม่มี แม้กระทั่งนักแสดง ?

วิมุคติ จะใครก็ตามเถอะครับ เพราะว่าถ้าแค่อ่านบทหนัง คุณจะไม่เข้าใจภาพและความหมายโดยรวม คุณก็คงเห็นแต่ฉากสวย ๆ บทที่เขียนดี แต่คุณจะไม่เข้าใจตัวที่มาที่ไปจริง ๆ ของเรื่อง มันจึงดีกว่าที่ผมจะต้องแจกแจงข้อมูลเพิ่มเติมให้คนที่เตรียมกองถ่าย เพราะเขาก็อยากจะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในโลเกชั่น ก็เท่านั้น ผมคิดว่าบทมีไว้ก็แค่เพื่อถ่ายหนังอย่างเดียว มันไม่ควรจะมีผลอะไรกับขั้นตอนการตัดต่อ

สนธยา ที่มีผลก็เฉพาะในส่วนของบทพูด

วิมุคติ ครับ

สนธยา แล้วคุณถ่ายเยอะมากกว่าที่อยู่ในบทไหม ?

วิมุคติ ไม่ครับ

สนธยา แต่โครงสร้างบทยังอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า ?

วิมุคติ เปล่าครับ แตกต่างกันมาก ๆ

สนธยา คุณย้ายนั่นไปโน่น

วิมุคติ มันค่อย ๆ ลงรูปในตัวมันเอง

สนธยา แต่มันดูลงตัวสมบูรณ์แบบเอามาก ๆ

วิมุคติ บทหนังนั้นไม่ควรจะถือเป็นเด็ดขาด ตัวบทแค่นำคุณไปสู่การทำหนัง แต่ขณะที่ทำหนัง มันก็คือหนัง คุณต้องพยายามดูว่าตอนนี้เฉพาะหน้า คุณมีอะไรอยู่และต้องทำอะไรต่อไปบ้าง ถ้าคุณเห็นว่ามันขาดอะไร แต่ยังพยายามยื้อคงตัวบทดั้งเดิมไว้ มันก็จะกลายเป็นว่า คุณพลาดไปทั้งอัน มันเหมือนกับคำตรัสของพระพุทธเจ้า (ถึงผมจะไม่ใช่คนพุทธก็ตาม แต่ผมก็ชอบในคำสอน) ทำนองที่ว่า “ถ้าคุณพยายามจะไปถึงที่หมายที่ใดสักแห่ง ก็จงเลือกหาพาหนะที่เหมาะสมที่สุดกับตัวคุณ ถ้าคุณจะไปออกทะเล คุณก็ต้องโดยสารเรือ ถ้าไปทางพื้นดิน คุณก็ควรจะใช้รถ” ประมาณนี้แหละ ก็ถ้าคุณต้องไปทางน้ำ แล้วคุณจะดื้อดึงเอาเรือไปขึ้นบนถนนทำไม เวลาที่คุณพบความจริง คุณก็ต้องหาทางอยู่กับความจริงให้ได้ บทหนังก็เช่นกัน มันมีประโยชน์ก็แต่กับการเตรียมกองถ่ายเท่านั้น หลังจากนั้น คุณก็ไม่ต้องพึ่งมันแล้ว แต่ในขั้นตอนแรก ถ้าไม่มีบท มันก็เดินก้าวแรกไม่ได้ คุณต้องมีอะไรเป็นตัวเริ่มก่อน

สนธยา คุณต้องเปิดพร้อมที่จะรับไอเดียใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

วิมุคติ ใช่ ไอเดียทุกอย่างที่วิ่งเข้ามา

สนธยา ถ้าคุณเล่าให้ผมฟังก่อนหน้านี้หลายปี ผมคงไม่เข้าใจ แต่ตอนผมทำหนังสึนามินั่น ผมก็ไม่ได้เขียนบทหนังก่อนไปถ่าย แค่ด้นสดถ่ายไปเรื่อยไปตามสัญชาตญาณเท่านั้น ถ่ายทำวันเดียว

วิมุคติ คุณเข้าใจมากขึ้นว่าหนังมันเป็นยังไง (หัวเราะ) บทหนังของผมไม่ได้ดูเป็นบทหรอกนะ ผมเป็นคนเขียนบทที่แย่ ไม่ได้หลักการเอาเสียเลย บทของผมมันก็แค่กระดาษเอกสาร ไม่เหมาะสำหรับอ่านอย่างเพลิดเพลิน จริง ๆ ผมก็เป็นคนเขียนหนังสือที่ใช้ได้แหละ ถ้าผมมีปัญหา ผมก็ทำเรื่องย่อให้มันดูดี เขียนให้มันเป็นเรื่องสั้นที่งาม ๆ คนก็ชอบถามว่า แล้วผมจะถ่ายหนังออกมาได้ไง มีตั้งหลายอย่างที่ถ่ายออกมาไม่ได้ มันก็ถูกแหละ แต่นี่มันหนังไง ถ้าใครอยากได้เรื่องสั้นสวย ๆ ผมก็เขียนให้ได้ ทำให้มันเป็นงานประพันธ์ไว้อ่าน ซึ่งเป็นศิลปะคนละแขนงกัน

สนธยา ส่วนใหญ่นักเขียนมักจะไม่ใช่นักจินตนาการภาพที่ดีเหมือนคนทำหนัง

วิมุคติ ครับ ครับ

สนธยา แล้วคุณมีความมั่นใจอย่างนี้อยู่เสมอเหรอว่าจะลุยตามสัญชาตญาณของตัวเอง

วิมุคติ ครับ มันแปลกนะ ตั้งแต่ตอนอายุ 18 ผมก็ทำหนังความยาว 1 ชั่วโมงแล้ว

สนธยา ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในรายชื่อ IMDB

วิมุคติ ไม่ใช่ ๆ เป็นหนังถ่ายวีดีโอ หนังเล็ก ๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว เป็นหนังขนาดสั้นสำหรับฉายทางทีวี ถ่ายภาพคนจนตามท้องถนน เรื่องนี้ถูกสถานีโทรทัศน์ปฏิเสธไม่ให้เข้าฉายด้วยคำอ้างว่า “ขาดความเป็นดราม่า” มันทำให้ผมต้องถามตัวเองอยู่หลายครั้งว่าชีวิตผมนี้มีความเป็นดราม่าเพียง พอแล้วหรือยัง (หัวเราะ) ที่ศรีลังกานี่บางแห่งมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย พวกเขาอ้างว่ามันไม่ดูเป็นดราม่าเพียงพอ เพราะไม่มีอะไรเป็นพิเศษเกิดขึ้นในหนังเลย แต่ผมว่าจริง ๆ แล้วไอ้ความไม่มีอะไรนี่แหละที่เป็นดราม่า ผมชอบนะปรัชญาอันนี้ที่พวกเขาให้ผมมา “ขาดความเป็นดราม่า” (หัวเราะ)

สนธยา แต่ตอนที่คุณทำหนังเรื่องแรก คุณไม่เคยลังเลเลยใช่ไหมว่าคุณจะทำได้ถึงหรือเปล่า?

วิมุคติ ไม่มีนะ ปกติผมก็เป็นคนที่มั่นอกมั่นใจตัวเองอยู่แล้ว ผมทำลงไปแล้วก็ตัดสินใจ โอเค ถ้ามันล้มเหลว ผมก็จะเผชิญหน้ากับมัน ผมไม่แคร์ ยังไงผมก็ทำอย่างอื่น นอกจากไอ้นี่ไม่ได้นี่ แม้กระทั่งตอนนี้ ผมก็คิดว่ากับหนังเรื่องหน้ามันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราต้องพบประสบการณ์ใหม่ ๆ ทุกวันที่ทำให้หนังใหม่ ๆ ทุกเรื่องที่ทำก็เปรียบได้ว่าเป็นเหมือนหนังเรื่องแรก ผมจะไม่เอาอะไรจากหนังเรื่องก่อนไปลงที่หนังเรื่องหน้า ผมก็แค่ไปเผชิญหน้ากับโลกความจริงในฐานะของคนใหม่เท่านั้นเอง แต่จริง ๆ มันก็ไม่ใช่แค่ตัวผม เพราะเบื้องหลังผมก็ยังมีประวัติศาสตร์ย้อนนับไปเป็นพัน ๆ ปี อย่างประวัติศาสตร์ศิลปะ อะไรต่าง ๆ ผมจึงไม่กลัวอะไรเลย ผมเตรียมตัวมาพร้อม อาวุธก็ครบมือ ผมมาพร้อมกับศิลปะของมนุษยชาติที่อยู่ข้างหลังผม (หัวเราะ) แล้วถ้ามีความล้มเหลวเกิดขึ้น มันก็ไม่ใช่แค่ความล้มเหลวที่จบลงที่ผม มันก็ต้องย้อนกลับไปหาทางด้านหลัง ย้อนไปในอดีตอีกที จะว่าไปแล้ว ความล้มเหลวก็นับว่าสำคัญในการที่คุณจะรู้ว่า คุณทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าข้อจำกัดทางความสามารถทางข้อมูลของคุณนี้มีแค่ไหน

สนธยา คุณพอใจที่จะถูกมองในฐานะศิลปินสากล โดยที่ไม่มีข้อจำกัดมากนักเหมือนกับที่คนบ้านคุณบางคนอาจจะอยากจำกัดให้คุณ เป็นแค่คนทำหนังศรีลังกา โดยพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ให้คุณแล้วก็บีบบังคับให้คุณอยู่ ณ จุดนั้น ๆ .......

วิมุคติ จริง ๆ มันก็ไม่ใช่ว่า ผมอยากหรือไม่อยากเป็นอะไร เนื่องจากว่าสื่อหรือรูปแบบที่ผมเลือกใช้นั้นคือ ศิลปะภาพยนตร์ ตัวศิลปะหนังเองนั้นก็ถือเป็นศิลปะที่อยู่เหนือขอบเขตของชนชาติอยู่แล้ว มันมีตัวตนอยู่ทุกหนทุกแห่งให้คนทั่วโลกดูได้ สัมผัสได้ จะเอามันไปฉายที่ไหนในโลกก็ได้หมด ผมจะเป็นศิลปินที่ไหนใน โลกก็ว่าได้ มันไม่ใช่แค่ตัวผมคนเดียว แต่มันคืองานของผม ศิลปะของผม ดังนั้นภาพยนตร์จึงเรียกร้องให้ผมมีที่ยืนที่ไหนก็ตามบนโลก จะฉายให้ใครดูก็ได้ ใครจะพูดถึงมันยังไงก็ได้ ฉายได้ตั้งแต่เขมร ทวีปอเมริกาเหนือ หรือที่ไหนในโลก ผมอยากจะพูดว่า ผมเป็นคนเอเชียมากกว่าเป็นคนศรีลังกา เพราะว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่เล็กมาก ๆ ทั้งวัฒนธรรม มรดกตกทอด และทุกสิ่งทุกอย่างทำให้ผมเป็นคนเอเชีย ที่จริงผมจะอ้างว่าผมเป็นศิลปินสากลก็ได้ แต่มันดูควรจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อศิลปะของโลกทั้งใบมากกว่านั้น ผมเลือกที่จะบอกว่าผมเป็นคนเอเชียดีกว่า เราอยู่ในช่วงเวลาที่คนเอเชียมีโอกาสแสดงออกทางศิลปะภาพยนตร์มากกว่าในอดีต มีโอกาสที่จะพูดเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น คนเอเชียมีเรื่องราวนับพันที่จะพูดออกมา เรามีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมมากพอที่จะทำอย่างนั้นได้ เราอยู่ในหลักแหล่งที่เป็นผู้สรรค์สร้าง ความคิด ปรัชญา เรื่องราวต่าง ๆ ทุกด้าน แต่เรากลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้งอกงามเลย นั่นแหละทำไมเราจึงต้องทนรับทุกข์เข็ญถึงเพียงนี้ เราเป็นพวกที่เสียสละเกินควร เสียสละก็เป็น เรื่องที่ดี แต่เราควรจะช่วยกันพยุงให้ความคิด และรับฟังผลสะท้อนกลับเพื่อนำไปสู่การเติบโต คิดถึงตัวเองให้มากขึ้นด้วย นี่มันสำคัญมากนะ ทั้งหลักศาสนาทุกศาสนาก็มาจากแถบเอเชียเกือบทั้งหมด

สนธยา เวลาที่คุณโชว์พาสปอร์ตให้โลกดู คุณก็จะรู้สึกภูมิใจได้

วิมุคติ ใช่เลย ผมว่าวันหนึ่งเราน่าจะมีพาสปอร์ตรวมเป็นของคนเอเชียนะ (หัวเราะกัน)

อาจจะไม่เหมือนของคนยุโรป แต่นั่นก็คงจะมีความหมายอะไรบางอย่าง

สนธยา ก็อาจจะมีสักวัน แต่คงยากหน่อย

วิมุคติ ใช่ ๆ เพราะมีวัฒนธรรมต่างกันหลายชาติมาก

สนธยา แล้วตอนนี้คุณมีปัญหาอะไรเหรอครับ ผมไม่ค่อยตามข่าวมากนัก แต่เห็นในข่าวเมื่อคืนที่มีคนศรีลังกามาดูหนังของคุณแล้วโวยวาย

วิมุคติ อ๋อ ใช่ ๆ ....... นี่มันเป็นหนังที่ถือว่าใหม่มากสำหรับหนังศรีลังกา ออกจะแปลกแหวกแนวหน่อยสำหรับพวกเขา เวลาที่คนไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง มันก็ไม่ต่าง จากการเห็นสัตว์พันธุ์ประหลาดอะไรสักอย่าง ตอนแรกที่คุณเห็นมัน คุณก็ตกใจ หรือกลัวว่ามันจะทำร้าย....พวกเขาไม่รู้จักผม เหมือนกับคนเพิ่งเจอสัตว์แปลกอะไร อย่างไดโนเสาร์ แต่ก็ไม่ใช่ไดโนเสาร์เสียทีเดียว ผมไม่ได้หมายถึงตัวผมนะ ผมหมายถึงงานของผมที่ดูพิลึก ๆ และใหญ่กว่าที่เขาเคยเห็น ผมก็บอกพวกเขาว่า นี่มันเป็นฟอสซิลที่ฝังอยู่ลึกเป็นชาติในพื้นดิน เป็นไข่ที่แตกฟองออกมาเป็นตัวสัตว์ ผมอยากให้พวกเขาได้รู้ว่า ไอ้ฟอสซิลที่เขาเห็นงอกออกมาจากดินนั่นแหละ ที่แท้จริงเป็นของพวกเขาเอง เป็นฟอสซิลที่ฝังตัวนับเป็นพัน ๆ ปีจนเจ้าของลืมไปแล้ว

สนธยา จากดินของพวกเขาเอง

วิมุคติ ใช่ ๆ ของ ๆ ตัวเองที่โผล่ออกมาแล้ว ทำไมไม่ลองเชื่อใจไอ้สัตว์ตัวนี้ดูล่ะ แต่ผมก็รู้ว่าจะขอให้พวกเขาลองเชื่อใจเจ้าสัตว์ตัวนี้คงไม่ได้ ต้องคอยดูท่าทีมันก่อน หรือว่าเขาจะฆ่ามันดี แต่พวกเขาก็คงเข้าใจแหละว่า งานของผมก็เป็นเหมือนกับสัตว์เลี้ยงของพวกเขา เขาควรจะเข้าใจว่าคุยกับสัตว์เลี้ยงได้ (หัวเราะ) หรือไม่ก็ยอมรับมันได้ในวันหนึ่งข้างหน้า คุณคิดว่าเขาไม่เข้าใจความตั้งใจของผม สิ่งที่ผมพยายามจะพูดซึ่งไม่ใช่แนวสาระที่เห็นแจ่มชัด พวกเขาก็มองมันเป็นด้านลบเอามาก ๆ หาว่าผมทำหนังการเมือง พูดด้านแย่ ๆ ที่บิดเบือนเกี่ยวกับการทหารของศรีลังกา เพราะเขาไม่เข้าใจหนังเอาเลย ก็เหมือนกับนักวิจารณ์แหละที่ไม่เข้าใจหนังเอาเลย ไม่รู้ว่าจะวิเคราะห์กันอีท่าไหน ปกติแล้ว นักวิจารณ์หนังในศรีลังกาจะคุ้นกับเรื่องเล่าเดิม ๆ ที่เขียนเรื่องย่อให้เล่าได้ แต่ในกรณีหนังของผมมันไม่ใช่ มันเป็นครั้งแรกในศรีลังกาเลยนะที่เรามีกลุ่มนักวิจารณ์ฝ่ายมาร์กซิสม์ สังคมนิยมที่ชอบเรื่องความเป็นจริง สะท้อนการดิ้นรนมีชีวิตของชาวบ้าน อีกด้านก็พวกชาตินิยมที่มุ่งมั่นสร้างภาพพจน์ความรักชาติเป็นปึกแผ่น สองฝ่ายนี้เมื่อในอดีตจะขัดแย้งกันตลอด พอฝ่ายหนึ่งชมหนังเรื่องหนึ่ง อีกฝ่ายจะต้องออกมาโจมตีว่าหนังแย่ แต่กับหนังผม คราวนี้พวกเขาเห็นพ้องกันดี (หัวเราะกัน) เพราะพวกเขาไม่เข้าใจหนังอะไรแบบนั้น พวกเขาเขียนวิจารณ์ออกมาแบบเดียวกัน หาว่าหนังของผมมันไม่ใช่ความจริง ก็หนังมันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงสักหน่อย คราวนี้พวกเขาเลยกอดคอเป็นพวกกัน....ผมก็คงจะได้รับการตอบรับแย่ ๆ อีกเยอะ เวลาที่คุณมองปัญหาซับซ้อน ในสังคมศิลปะแบบนี้ มันก็ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการเมืองเท่านั้น ตอนนี้ทางกองทัพที่มีปัญหากับผมก็มองว่าหนังมันแย่ต่อภาพพจน์ทางการทหาร คนดูรายนั้นที่โรงหนังก็ตั้งคำถามทำนองนี้

สนธยา แล้วคุณได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจจากกลุ่มเพื่อนนักสร้างหนังบ้างไหม ?

วิมุคติ แน่ล่ะครับ คนในวงการหนังส่วนใหญ่ก็เข้าข้างผมนะ คนอย่าง เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ แล้วก็คนรุ่นก่อน ๆ มีกำลังใจจากหลาย ๆ แห่งเลย ปกติเรื่องหนังจะไม่มีแบบนี้ แต่ปัญหาคราวนี้ก็คือ มีคนอยู่ไม่น้อยที่ต่อต้านตัวหนัง คนที่ต่อต้านทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดูหนังเลยด้วยซ้ำ คิดกันเอาเอง คุณเข้าใจมั้ย ไม่ใช่แค่ว่าจะเข้าหาคนดูต่างกลุ่มกันยังไง

สนธยา แล้วอะไรกันแน่ครับที่เขาต่อต้าน

วิมุคติ เขาไม่ได้พูดในแง่ศิลปะเลย เขาไม่รู้วิธีที่จะพูดถึงศิลปะหนังแบบนี้ หลัก ๆ ก็คือผมไม่ได้นำเสนอภาพประเทศศรีลังกาในภาพที่สวยสดงดงาม คือ ผมเสนอภาพที่ไม่ดีของศรีลังกาต่อสายตาของชาวต่างชาติ เสนอไอเดียผิด ๆ อีกประการหนึ่งก็คือ ผมกำลังสร้างภาพยนตร์ที่เสนอมุมมองที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสงคราม เขามองว่าผมช่วยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬในทางอ้อม แล้วถ่ายทอดภาพพจน์ของกองทัพรัฐบาลในด้านร้าย ๆ

สนธยา ปัญหามันไม่ได้อยู่เกี่ยวกับสไตล์ของหนังซึ่งออกมาค่อนข้างช้าหรือครับ ?

วิมุคติ ไม่เกี่ยวครับ เขาก็คุ้นกับหนังแนวที่เล่าเรื่องช้า ๆ อยู่แล้ว แม้แต่ในอินเดีย หนังภาษาฮินดีสมัยใหม่ก็ไม่ได้เล่าเรื่องฉับไวอะไรมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเมโลดราม่า ซึ่งก็เป็นข้อดีด้วยเหมือนกัน ถ้าเทียบกับที่อื่น ๆ นะที่เคลื่อนไหวเร็วมากไป ส่วนในยุโรปเขาคุ้นกับหนังอาร์ตช้า ๆ อยู่แล้ว แต่กับหนังบอลลีวู้ดของอินเดียก็มีหนังช้า ถึงจะช้าคนละแบบกันก็เถอะ เพราะเป็นแบบเมโลดราม่า บางคนบอกว่าเหมือนถูกหนังผมตบหน้าเอา

 



จาก The Forsaken Land

 

สนธยา แต่ผมว่าหนังไทยกว่า 99% เป็นหนังที่เล่าเรื่องรวดเร็ว

วิมุคติ จริงเหรอ แต่ไม่รวมหนังของ อภิชาติพงศ์ ?

สนธยา เขาเป็นข้อยกเว้น......แล้วหนังคุณเรื่องนี้ได้ฉายในศรีลังกาประมาณอาทิตย์หนึ่งใช่ไหมครับ ?
วิมุคติ 2 อาทิตย์ครับ

สนธยา แล้วคุณก็ถอนหนังออกมาเป็นการประท้วง ?

วิมุคติ ครับ เราถอนหนังออกจากโรงเอง เพราะว่าช่วงนี้ในศรีลังกาเป็นช่วงที่มีภาวะที่อ่อนไหวทางการเมือง อาจจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ เราก็เลยเอาหนังออกจากโรง เรามีปัญหากับบริษัทจัดจำหน่ายไม่ใช่น้อย ๆ เพราะไม่มีใครเต็มใจอยากจะช่วย สื่อเองก็กลัว เพราะมันกลายเป็นหนังอื้อฉาว เราก็เลยเอาหนังออกมาเก็บไว้ก่อน ไม่อยากขายหนังในทางฉาวโฉ่ พอมาตอนนี้กลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากดูหนังขึ้นมา เพราะอาทิตย์แรกคนยังไม่ไปดูกัน พอมีเป็นข่าวในอาทิตย์ที่สอง คนก็เริ่มสนใจ แต่เราก็รีบเอาหนังออก ฉะนั้นจึงยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ดู ที่เรายังไม่ฉายก็เพื่อรอจังหวะให้คนรับมันได้ดีขึ้นในฐานะของงานศิลปะ ไม่ใช่ฐานะของหนังการเมือง หรือหนังฉาวโฉ่ เราจะดึงหนังไว้จนกระทั่งจบกระแสการเลือกตั้ง รอให้รัฐบาลใหม่เข้ามา สังคมสงบเรียบร้อยกว่านี้ เราจะได้ออกฉายใหม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว บางทีอาจจะมีคนทำหนังระดับนานาชาติเปิดสัมมนาพูดคุยถกเถียงกัน

สนธยา ดองหนังแบบนี้ แล้วผู้อำนวยการสร้างจะไม่เสียหายเหรอครับ ?

วิมุคติ เสียครับ ตอนนี้เสียหายไป 30,000 เหรียญสหรัฐ เงินจำนวนนี้ก็ถือว่าไม่ใช่น้อย ๆ

สนธยา เพราะคุณจะมีโอกาสหารายได้มากทีเดียว ถ้าฉายช่วงที่เป็นกระแสข่าว

วิมุคติ ก็ใช่ ๆ เราจะรอดู แล้วหวังว่าคราวหน้าจะได้ทุนคืน (หัวเราะ)

สนธยา อย่างนี้ไม่โดนดีวีดีผีตัดหน้าไปก่อนหรือครับ ที่ศรีลังกามีดีวีดีผีไหมครับ ?

วิมุคติ มีครับ มีออกมาอยู่แล้ว

สนธยา แล้วหนังคุณเรื่องนี้ก็มีออกมา

วิมุคติ มีทุกหนทุกแห่งแหละครับ

สนธยา อ้าว จริงเหรอครับ

วิมุคติ ตามตลาดมืดของอินเดียก็มีแล้ว......แต่คุณภาพดีวีดีมันก็แย่มาก ๆ ด้วย หนังแบบนี้ทำลงดีวีดี คุณจะเห็นภาพอะไรได้ เพราะมันมืดมาก คนที่ดูก็หงุดหงิด หนังแบบนี้ต้องผลิตดีวีดีกันแบบประณีต พวกเขาจะไม่ได้สัมผัสตัวหนังจริง ๆ หรอก

สนธยา แต่พวกที่ชอบตามกระแสข่าวก็จะไปหามาดู

วิมุคติ พวกเขาก็คงหามาดูจนได้ แต่หลาย ๆ คนก็คงรอดูฟิล์ม 35 มม. ที่โรง แหละน่ะ ยังไงผมก็จะพยายามบอกว่านั่นมันเป็นแค่เงาของหนัง มันไม่ใช่ตัวหนังจริง ๆ ถ้าจะดูของจริงต้อง ดูฟิล์ม 35 มม.

สนธยา ถ้าได้ก็คงดี.......แต่ผมนึกไม่ออกว่าไทยจะมีหนังศิลปะแนวเนิบนาบอย่างของ คุณ หรืออาจจะรวมถึงหนังศรีลังกาของคนอื่น ดูแล้วในเมืองไทยไม่น่าจะมีกลุ่มคนดูหนังพวกนี้เพียงพอ อย่างที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์มนี่ก็คงไม่ช่วยอะไรมากนัก เพราะผมว่าคนที่มาดูส่วนใหญ่ก็มีแต่ชาวต่างชาติเสียมากกว่า

วิมุคติ ครับ มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีนะ ผมว่าประเทศไทยเริ่มต้นได้ดีนะ เพราะว่าหนังไทยยังไม่ได้กลายเป็นธุรกิจล้วน ๆ ยังมีคุณค่าแบบอย่างที่เป็นตัวของตัวเอง มีศิลปะของตัวเองในหลาย ๆ แขนง

สนธยา คุณหมายถึงศิลปะประเพณีเก่าแก่

วิมุคติ ครับ

สนธยา แต่ไม่ใช่ในด้านหนัง ?

วิมุคติ คุณก็ย้อนกลับไปได้ คนจะได้รู้ว่าชีวิตสามารถที่จะรื่นรมย์ได้มากกว่านี้ ด้วยสื่อภาพยนตร์ เราสามารถดื่มด่ำไปถึงไหถึงไหนได้มากมาย ให้พื้นที่ในใจมีที่ว่างให้หนังได้ถูกทบทวน อะไรคือคุณภาพชีวิตที่แท้จริง ? การไปกินอาหารในภัตตาคาร การอ่านหนังสือ คิดวางแผนจะทำอะไรในวันพรุ่งนี้ แต่พวกเขาไม่มีพื้นที่สำหรับภาพที่มีคุณค่า ภาพดี ๆ ที่คุณต้องสร้างขึ้นในความคิดของคน การที่มีเทศกาลหนังขึ้นมาก็ดี มีสื่อมวลชน รัฐบาล เห็นดีเห็นงาม อ้า เทศกาลหนังนี่ดีนะ

สนธยา แต่ประเทศไทยทำหนังมามากกว่า 100 ปีอีก มากกว่าประเทศคุณอีกมั้ง ?

วิมุคติ ครับ



สนธยา เท่าที่ผ่านมา เราไม่เคยมีวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรง อย่างหนังสือหนัง หรืออะไรก็มีน้อย ผมว่าประเทศคุณน่าจะมีให้ศึกษามากกว่า

วิมุคติ ครับ

สนธยา แล้วมันแปลกมั้ย ว่าประเทศคุณเพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศมาได้ไม่นานนัก.....กี่ปีแล้วนะ ?

วิมุคติ ใช่ ๆ ก็ไม่นาน แค่ 50 ปี

สนธยา แต่คุณก็มีคนทำหนังมีฝีมืออย่าง เลสเตอร์ เจมส์ เพอรี่ส์ กับคนอื่น ๆ ที่ไปไกลระดับนานาชาติ

วิมุคติ ครับ หนังศรีลังกานั้นค่อนข้างแข็งแรง พวกเขาเล็งเห็นว่าภาพยนตร์นั้นสำคัญต่อประเทศชาติ

สนธยา คุณคิดว่าศิลปะเก่าก่อนของคุณเป็นหลักแข็งแรงสำหรับศิลปะหนังศรีลังกามั้ย ? อย่างงานวรรณกรรมอะไรก็แข็งแรงอยู่ก่อน?

วิมุคติ ครับ ๆ แต่สำหรับตอนนี้มันคงไม่เป็นยังงั้นแล้วล่ะ หนังของผมได้ทำให้หลาย ๆ คน ช็อคกันไปบ้าง ในแง่ที่ว่าศิลปะควรจะทำตัวอย่างไรถึงจะเหมาะสม เขาคาดหวังให้ศิลปะรับใช้การเมือง แต่ศิลปะก็คือศิลปะแหละ ไม่ใช่การเมืองสักหน่อย

สนธยา คุณคิดยังไงบ้างเกี่ยวกับเทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์
วิมุคติ ผมมองว่ามันก็เป็นเทศกาลหนังน้องใหม่อายุยังน้อย ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเทศกาล หนังประเทศคุณ ผมหวังและคาดว่าหนังของประเทศนี้จะไปได้อีกไกลทีเดียว ผมได้ยินมาว่าแล็บฟิล์มในกรุงเทพฯ นี่มีคุณภาพสูง ผมว่าผมคงต้องมาใช้บริการที่นี่แน่ ๆ ผมว่านี่คงเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ผมจะพึ่งพาได้ ยังไงผมก็ต้องแวะมากรุงเทพฯ บ่อย ๆ เป็นแน่ ผมว่าผมมีแนวร่วมที่ดี คนอย่าง อภิชาติพงศ์ เป็นต้น ผมไม่ได้โดดเดี่ยวเดียวดายอะไร คนทำหนังในไต้หวัน ในเอเชียหลายคนที่เอาการเอางาน เราน่าจะรักษาแนวร่วมอันดีนี้เอาไว้ต่อไป

สนธยา คุณได้ดูเรื่อง Tropical Malady แล้วใช่มั้ย ?

วิมุคติ ผมได้ดูหนัง อภิชาติพงศ์ 2 เรื่องนะ Blissfully Yours กับ Tropical Malady

สนธยา แล้วคุณชอบไหม ?

วิมุคติ ชอบครับ

สนธยา แล้วคุณเจอตัวเขาหรือยัง ?

วิมุคติ เจอแล้วครับ เราเป็นเพื่อนกันด้วย

สนธยา คุณไปรู้จักเขาที่ไหน ?

วิมุคติ 2 สัปดาห์ก่อนที่เทศกาลหนังเมืองปูซานที่เกาหลี เรากลายเป็นเพื่อนสนิทกันเลย แล้วพอผมมานี่ ผมก็เจอเขาอีก เจอที่ไนท์คลับด้วย

สนธยา แล้ววิคเตอร์ ล่ะ คุณเจอเขาครั้งแรกที่ไหน?

วิมุคติ ผมเจอเขาครั้งแรกที่นี่แหละ คุยกันก่อนหน้านี้ทางอีเมล์

สนธยา โดยรวมผมพอใจงานของคุณมาก.... แต่ที่ผมมีติดใจบางอย่างเกี่ยวกับตัวละคร ทำไมก็ไม่รู้ ผมคิดว่าคนเอเชียจะไม่แสดงปฏิกิริยาบางอย่างแบบที่เห็นในหนัง

วิมุคติ คุณหมายความว่า ในความเป็นจริง คนเอเชียจะไม่แสดงออกแบบนั้น ? คุณหมายความว่าการแสดงดูเป็นแนวทางฝรั่งใช่มั้ย ?

สนธยา นิดหน่อย การแสดงนั้นดูละเมียดละไม ได้พลังทีเดียว แต่ผมไม่รู้จะอธิบายว่ายังไง....เออ คุณได้ดูหนังเวียดนามของ ตรัน อาน ฮุง ไหม ? เรื่อง Scent of a Green Papaya

วิมุคติ ครับ ๆ นั่นก็หนังเรื่องแรกด้วยเหมือนกันนี่ใช่มั้ย ?

สนธยา ผมเกลียดหนังเรื่องนั้นมาก ๆ

วิมุคติ ผมนึกไม่ค่อยออกนะหนังเรื่องนั้น เคยดูมานานมาก

สนธยา แล้วเขาก็ทำอีกเรื่องเกี่ยวกับคนถีบจักรยานใน Cyclo ที่มีเหลียงเฉาเหว่ยแสดงสไตล์หนังของเขามันออกฝรั่งเศสมากจนหาความเป็นคน เอเชียแทบไม่เจอ แต่สำหรับผม หนังของคุณเหมือนอยู่ตรงกลาง (หัวเราะ) สำหรับผมมันไม่ได้ดูเป็นคนเอเชียสักเท่าไหร่ ในเรื่องปฏิกิริยาที่ตัวละครมีต่อกัน มันไม่ได้ดูโอเว่อร์เกินไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ไม่ได้กลายเป็นหนังยุโรปไปเลย

วิมุคติ คนศรีลังกาที่แสดงก็ไม่ใช่มืออาชีพ......ผมว่าผมเข้าใจที่คุณหมายถึงนะ อาจเป็นเพราะผมตัดส่วนที่ดูเป็นเมโลดราม่าออกไป แต่ผมก็ชอบที่จะคงความจริงข้างในเราไว้ สิ่งที่ไม่ยอมแสดงออกมา อย่างคนเราวันหนึ่งมีเวลา 24 ชั่วโมง บางคนเลือกที่จะใช้เวลา.....โอ้ (อุทาน เมื่อเห็น อภิชาติพงศ์ เดินขึ้นบันไดเลื่อนไป).....ส่วนใหญ่อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ๆ วันหนึ่งตามหมู่บ้านหรือในเมืองอาจจะนั่งอยู่ด้วยกันสัก 10 ชั่วโมง เพราะคนเอเชียยังไม่เหมือนฝรั่ง ยังมีความเป็นกลุ่มก้อนอยู่สูง ชอบอยู่รวมๆ กัน แต่ผมก็คิดว่า เรามีเวลาอย่างน้อย 10 ชั่วโมงที่เป็นช่วงเวลาที่อ้างว้างหงอยเหงา นั่นคือข้อโต้แย้งของผม บางทีงานศิลปะของเราอาจยังไม่ยอมรับว่าผู้ คนนั้นมีชีวิตหงอยเหงา ตัวคนเอเชียเราเองยังไม่ได้ค้นพบชีวิตเวิ้งว้างของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมฝรั่งก็คือ คนรู้สึกเคว้งคว้างอ้างว้างกันตลอด 24 ชั่วโมง แต่ของเรานั้นสลับเหงา สลับรวมกลุ่ม อย่างละ 10 ชั่วโมง ดังนั้นจากที่เราเห็นตามหนังเอเชียส่วนใหญ่ คือเราแบ่งปันทุกข์สุขกัน ดื่มกิน หัวเราะสังสรรค์ เราจึงยังไม่ค้นพบชีวิตเงียบเหงาอีกด้านหนึ่งที่เรามี แต่ผมก็เข้าใจประเด็นที่คุณพูดนะ อาจจะเป็นปัญหาที่ผมต้องขบคิดให้มากขึ้นก็ได้ ผมไม่ควรจะแสดงแต่ภาพด้านที่เปล่าเปลี่ยววิเวก ผมควรที่จะนำเสนอภาพของชีวิตชุมชนด้วย ผมก็พยายามใส่ไปฉากหนึ่ง ฉากที่ทหารเขาร้องเพลง แต่มันก็ไม่พอ ในหนังเรื่องหน้า ผมหวังว่าคงจะค้นพบด้านอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน

 
(Vimukthi Jayasundara ขณะรับรางวัล Best Film ที่เทศกาลภาพยนตร์ World Film Festival , กรุงเทพ ฯ ตุลาคม 2548)




 

 

สนธยา คุณอย่ามองว่าเป็นข้อผิดพลาดนะ มันไม่ใช่

วิมุคติ คุณพูดถูกแล้ว มันไม่ใช่ข้อผิดพลาด เพราะหนังมันเกี่ยวกับความอ้างว้างเดียวดาย ตัวละครเหล่านี้ไม่ได้สื่อสารกัน

สนธยา มันคล้ายเป็นพื้นที่ระหว่างรอยต่อ

วิมุคติ สำหรับหนังเรื่องหน้า จะไม่ใช่แบบนี้ ผมยังไม่รู้ ต้องคิดต่อไป.....ผมเห็นด้วยว่าผมเข้าใจอะไรบางอย่าง

สนธยา มันก็เหมือนกับคนไทย ถึงผมจะชอบหนังยุโรปมาก แต่ผมก็รู้สึกว่า ถ้าเป็นหนังไทย มันอาจจะใช้วิธีการแสดงแบบเดียวกันไม่ได้

วิมุคติ แล้วกับหนังของ ไฉ่มิ่งเหลียง ล่ะ คุณว่าไง แบบนั้นน่ะเหงาเต็มรูปเลย

สนธยา ครับ บางเรื่องผมก็ชอบนะ แต่ว่าถ้าเปรียบกับหนังของคุณกับหนังศรีลังกาอื่น ๆ หนังพวกนั้นก็คงเป็นเมโลดราม่ามากกว่าหนังของคุณใช่มั้ย

วิมุคติ แหงล่ะครับ แม้แต่หนังคลาสสิกก็ตามเถอะ บางทีปัญหามันอาจอยู่ที่ สำหรับคุณมันดูแปลกใหม่ เพราะคุณไม่เคยรู้จักกับหนังอย่างของผม ซึ่งอาจะเป็นแนวใหม่ อาจเป็นครั้งแรกที่ได้ดูหนังแบบนี้ หนังที่ไม่มีเพลงและการร้องเพลง

สนธยา ผมว่าคนเอเชียดูกระตือรือร้น ร่าเริง มีสีสัน อยู่ไม่สุข มีปฏิกิริยาโต้ตอบกันตลอดเวลา ผมก็อยากเห็นหนังที่คนไทยอยู่นิ่ง ๆ เหมือนกัน แต่ผมก็คงจะรู้สึกว่ามันไม่ได้ดูเหมือนในชีวิตจริง

วิมุคติ ผมหมายถึงมันเป็นชีวิตในด้านของชุมชนไง นั่นมันก็ด้านหนึ่ง แต่อีกด้านเวลาที่คนเหงา ความอ้างว้างเดียวดายมันเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นคนยุโรปหรือคนเอเชีย

สนธยา แล้วในกรณีหนังคุณก็มีตัวละครน้อยมาก ๆ ด้วย (หัวเราะ)

วิมุคติ ครับ นั่นแหละ.......แต่ก็นะ ผมควรที่จะใส่เพิ่ม......

สนธยา แต่ยังไงก็ตาม ผมก็ชอบหนังคุณแหละ มันเป็นหนังที่น่าทึ่งมาก ๆ

วิมุคติ แต่ผมไม่ใช่คนฝรั่งเศสเลยนะ (หัวเราะ)

สนธยา ครับ ผมรู้ (หัวเราะ) จากประวัติของคุณมันก็ไม่ใช่

วิมุคติ ผมไปอยู่ฝรั่งเศสมาแค่ 3 ปีเอง ผมไม่คิดว่าการอยู่ที่นั่นแค่ 3 ปี จะกลายเป็นคนฝรั่งเศสไปได้ ยังไงผมก็ยังพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ดี (วิมุคติ รับโทรศัพท์พูดภาษาศรีลังกา เอ่ยชื่อ อเมริกา ยุโรป และ โรมัน โปลันสกี้ ก่อนวางหู)

สนธยา ขอโทษที่รบกวนเวลาคุณมานาน

วิมุคติ ผมเพิ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับโทรทัศน์ศรีลังกา

สนธยา ทางโทรศัพท์ เมื่อกี้เหรอครับ (หัวเราะ)

วิมุคติ ครับ
สนธยา ในหนังคุณสื่อว่า ตัวคนแก่นั้นถูกตีโดยตัวพระเอกใช่มั้ย

วิมุคติ มันก็ทำนองนั้นแหละ คุณไม่รู้ชัดว่าใครกันแน่ที่ถูกฆ่ายัดกระสอบ ซึ่งเป็นนามธรรมมาก ปัญหาก็คือนักวิจารณ์ต้องการรู้ว่า ใครกันที่อยู่ในกระสอบ แต่ไอเดียผมก็คือ เรื่องของความรู้สึกผิดบาป คุณจะฆ่าคนผิดได้ยังไง คุณจะทำลงไปได้ไง ถ้าตัวคุณเองก็ผิดบาป คุณฆ่าคนผิด แล้วก็เริ่มกังวลใจว่าคุณฆ่าคนมามากมาย เพื่อน ศัตรูในสงคราม ใครก็ได้ในโลก มันเป็นเรื่องล่อแหลมมาก ซึ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกานานกว่า 10 ปีแล้ว มากกว่า 80,000 คน หายไประหว่างสงคราม ไม่มีใครที่รู้จริงว่าใครฆ่าใคร หรือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เป็นศพไร้ญาติที่ไม่รู้ว่าใคร ไม่มีบัตรประชาชน ไม่รู้ใคร คือฆาตกร เป็นเรื่องนามธรรมในอากาศ

สนธยา อย่างที่มีคำพูดจากทางวิทยุอะไรอย่างนี้ในตอนจบ

วิมุคติ ที่บอกว่า มีคนมากมายสูญหายไปลึกลับ

สนธยา บางทีข้อนี้ ผมอาจจะไม่ควรถาม แต่ผมเพิ่งเจอข้อความในอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับของเหลวสีขาวบนพื้นที่เด็กผู้หญิงเอามาแตะลิ้น

วิมุคติ อ้อ! (อุทานยาว) คุณไปเจอมาแล้วสิที่มีถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณเห็นแล้วใช่มั้ย

สนธยา (หัวเราะ) ครับ เห็นแล้ว ผมไม่ได้คิดไปในด้านนั้นสักนิด แต่มีบางคนที่ทะลึ่งมองไปในแง่นั้น

วิมุคติ ไม่ใช่เลย นั่นเป็นสีทาบ้านจริง ๆ นี่เป็นปัญหาของคนที่พยายามอ่านหนังมากเกิน ไป จริง ๆ ผมยังไม่ได้เห็นเว็บที่ว่านี้หรอกนะ แต่จะลองเข้าไปดู มันแย่นะ แต่ผมก็ปล่อยไว้ เพราะมันดูจะอื้อฉาวใช้ได้เหมือนกัน ในหนังมีขวดเคมีภัณฑ์ไวไฟ มีอาวุธเยอะแยะที่พวกทหารใช้ ในหนังมี ขวดที่ล้มอยู่........รายละเอียดมันเยอะนะ.........แล้วไอ้อสุจิน่ะมันจะ อยู่ในสภาพของเหลวได้นานไม่เกิน 5 นาที น่าสนใจนะ ผมว่าจะเชิญด็อกเตอร์ในศรีลังกามาอธิบายว่า มันจะอยู่ในอากาศอย่างนั้นได้ไหม (หัวเราะกัน)

สนธยา ผมเข้าใจดีว่า คุณคงอยากจะทิ้งบางอย่างไว้เป็นปริศนา แต่ไอ้เจ้าสิ่งๆ นี้มัน......(หัวเราะ)

วิมุคติ มันไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะคิดกันไปได้ยังไง (หัวเราะ) ในหนังก็ไม่ได้สื่อให้เห็นผู้ชายผู้หญิงในฉากนั้นสักหน่อย มันเป็นไปได้อย่างไร แปลกพิกลจริง ๆ แน่ล่ะ มันมี ภาพผู้หญิงเปลือยบนผนัง แต่แหมคิดกันไปได้ นั่นมันบนผนัง นี่มันบนพื้น

สนธยา พวกเขาหาว่าคุณเป็นโรคจิต

วิมุคติ พวกนั้นไม่ชอบหนังอยู่แล้ว

สนธยา นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่คนจ้องกล่าวหาจะล่าตัวคุณเหมือน ซัลมาน รัชดี (นักเขียนอังกฤษเชื้อสายอินเดียที่เคยถูกฝ่ายอิสลามประกาศล่าหัว – สนธยา).... เขาจ้องหาเรื่อง หาประเด็นโจมตีได้ทุกอย่าง

วิมุคติ ใช่ ๆ หาอะไรมาโจมตีได้ตลอด ทุกอย่างที่เล่นงานผมได้ เรื่องเล็กเรื่องน้อย

สนธยา ขอบคุณมาก ๆ ครับที่คุณอุตส่าห์สละเวลา ผมซาบซึ้งใจมากที่คุณสละเวลามาคุยด้วย

วิมุคติ ครับ ดีนะครับ ผมดีใจที่คนไทยจะรู้จักงานของผม ผมชอบมากกว่าเยอะ แทนที่จะพิมพ์แค่เป็นภาษาอังกฤษ

สนธยา แต่มันก็ยากที่หนังสือแบบนี้จะอยู่รอดได้

วิมุคติ ครับ ผมเข้าใจครับ แต่มันก็เป็นหลักฐานที่ดี จะได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เหมือน Cahiers du Cinema อะไรทำนองนั้น ความจริงก็น่าจะดีที่เราจะมีหนังสือ หรือนิตยสารอะไรเกี่ยวกับหนังของเอเชียหรือภูมิภาคนี้ ผมไม่รู้ว่าคุณเคยได้ยินชื่อนิตยสาร Cinemaya หรือเปล่า ซึ่งถ้าจะมีอีกเล่มหนึ่งออกมา พิมพ์ในกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นเสียหายนี่ ต้องลองคุยกับ วิคเตอร์ ดู ว่าจะหาทุนทำออกมาได้ไหม

สนธยา ผมคิดว่ามันคงทำออกมาเป็นธุรกิจไม่ได้

วิมุคติ ก็ไม่ต้องถึงกับเป็นธุรกิจอะไร แค่มีทุนจากสายการบินหรืออะไร แต่มันก็คงยากใช่มั้ย

สนธยา อภิชาติพงศ์ อาจจะอยากทำมากกว่า คงไม่ใช่ วิตเตอร์ มั้ง

วิมุคติ ผมว่าเขาคงไม่มีเวลามากนักหรอก

สนธยา ถ้างั้นก็คงอีกนานแน่ ๆ

12/22/08

Fred Kelemen แท็คทีมอีกครั้งกับ Bela Tarr

Fred Kelemen คนที่เคยรับชวนมา Masterclass ให้เรากระอักไปตอนปีก่อน เขียนทักทายฟิล์มไวรัสมาช่วงต้นเดือนนี้ว่ากำลังรอกำหนดเปิดกล้องหนังใหม่ของ Bela Tarr ซึ่งเลื่อนไปเรื่อย ๆ เพราะปัญหาหลายอย่าง กระทั่งไม่รู้ว่าจะเปิดกล้องได้ก่อนสิ้นปีนี้ไหม

นี่จะเป็นการทำงานของ Fred Kelemen ในฐานะตากล้องให้ Bela Tarr ครั้งที่สอง ถัดจาก The Man from London (หนังอะไรจะลองเทคขนาดนั้น) ก็หวังว่าคงจะโชคดีได้ถ่ายให้เสร็จตามกำหนด อย่าให้ผู้อำนวยการสร้างต้องฆ่าตัวตายไปอีกหน (แบบคราวก่อน) ไม่งั้นตัว Fred Kelemen เองก็รอไม่ไหวเหมอนกัน เพราะมีคิวสอนภาพยนตร์ในอิสราเอลต่อกลางปีหน้า

แหม คราวนั้นพากย์สดละครเวทีของ Fred Kelemen มันส์จริง ๆ ลืมไม่ลง

12/16/08

Filmvirus ฉบับ The Mammoth Encyclopedia

Filmvirus ฉบับ The Mammoth Encyclopedia
กลับจากถ่ายหนังที่ลพบุรีมาอย่างสะบักสบอม แต่แฟนหนังสือฟิล์มไวรัสที่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดบอกว่าอยากให้ทำ ฟิล์มไวรัส เล่มใหม่ออกมาอีก แถมยังควักเงินให้ 2,000 (สองพัน) เฮ้ย ไม่เอาแล้ว สองพันพิมพ์หนังสือไม่ได้หรอก แต่ก็ชวนให้คิด เออ ถ้ามันลำบากหาร้านหนังสือให้ขาย ซ้ำยังยากจะหาคนซื้อ ทำไมไม่พิมพ์แค่ 50 เล่ม (ห้าสิบเล่ม-ใช่เลย) ทำแค่จำนวนคนอ่าน ไม่ได้พิมพ์เพื่อวางขาย ทำขึ้นเฉพาะสำหรับคนที่บ้าพอที่จะแชร์ค่าพิมพ์หนังสือทั้งหมดด้วยตัวเอง (และคนอ่านสัก 50 คน) ตัดค่าสายส่ง ค่ารับฝากหน้าร้าน ค่ารถ ค่าตามทวงเงิน ปลอดภัยจากการโดนโกง (แต่ก่อนอื่นเราต้องโกงค่าอาร์ตเวิร์ค โกงค่าเรื่องนักเขียน)


(Detektiv)

หนังสือก็ดูดีเหมือนของสะสม แบบปกแข็งเดินทอง มีรูปสี ความหนาไม่ต่ำกว่าสองพันหน้า รวมงานวิจารณ์ของนักวิจารณ์หนังไทยทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ในรอบ 30 ปี รวมฮิตกันแบบหลาย ๆ คน เอาสัก 30 คนขึ้นไป คนละหลาย ๆ ชิ้น แบ่งเป็นหมวด ๆ ตามประเภทหนังที่เราจัดเอง (ไม่ใช่แค่หนังสยองขวัญ หนังตลก หนังการ์ตูน) ทำให้มันเป็นของสะสมไปซะ ยังงี้เป็นไร แต่ถ้ามีเสี่ยหรือทุนที่ไหนมาช่วยออกเงิน เราก็จะพิมพ์เพิ่มให้มากขึ้นอีกนิด ลงขอบคุณชื่อสปอนเซอร์ให้ เสร็จแล้วก็มอบฟรีแก่ห้องสมุดในต่างจังหวัดบางแห่ง ช่างหัวคนกรุงเทพ ปะไร

ขออภัยที่คุณอ่านมาในย่อหน้าข้างต้น Filmvirus เล่มที่ว่า มันเป็นจินตนาการล้วน ๆ ไม่ใช่เรื่องจริง (ยกเว้นเรื่องไปลพบุรี)

12/12/08

3rd Class Cinema Greatest Hit

THE GREATEST HIT!
: THIRD CLASS CINEMA 2008-2008


เลือดใหม่ไฟแรงจากกลุ่ม Third Class Cinema เป็นหัวแรงแข็งขันช่วย FILMVIRUS จัดโปรแกรมพิเศษคอลเลคชั่นผู้กำกับน่าจับตากับการฉายหนังกลางแปลงที่งาน ART SQUARE VI ที่กำลังจะจัดขึ้นที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 17-19 ธันวาคม โดยในงานจะมีขายของจากนักศึกษาและงานดนตรี รวมถึงฉายหนังจากการบรรจงเลือกของกลุ่ม Third Class Cinema โดยตัวงานนั้นเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.-21.00 น.

โปรแกรมพิเศษปิดท้ายปีที่ว่านี้คือ THE GREATEST HIT! : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008 อันเป็นการรวบรวมหนังบางเรื่องที่เคยฉายใน THIRD CLASS CINEMA (และแถมหนังใหม่เล็กๆอีก 2 เรื่อง) มารวมฮิตฉายใหม่กันอีกสักรอบ เผื่อคนเคยพลาดจะอยากมาดู หรือคนที่ไม่เคยดูจะอยากมาชม และนี่คือรายชื่อหนังที่จะจัดฉายครับท่าน


โปรเจคท์ 2008

New year again (03 นาที)

ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ

ห่านน้อยคอยรัก (10 นาที)

อาทิตย์ อัสสรัตน์

Boy Genius (12 นาที)

ทศพล บุญสินสุข

(04 นาที)

(04 นาที)

ตุลพบ แสนเจริญ

Vocal Instruction (01 นาที)

The Return (05 นาที)

Tales of Swimming Pool (13 นาที)


กลุ่ม MIT OUT SOUND FILMS

Parallel Journey (07 นาที)

อนุสาวรีย์แห่งความรัก (10 นาที)


วีระศักดิ์ สุยะลา

คืนเปลี่ยวในซอยตรวจ (15 นาที)

โปรเจคท์ REMAKE-ABLE

เวลาแห่งความสุข (11 นาที)

เวลาแห่งความทุกข์ (10 นาที)

รวม 105 นาที

THE GREATEST HIT! : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008 จะฉายใน วันพฤหัสที่ 18 ธันวาคม เวลา 18.00 น. วันเดียวรอบเดียว ที่ลานตรงหอศิลป์จามจุรี และ เข้าชมฟรี ครับ

และยังมีหนังเรื่องอื่นๆ ของกลุ่มฟิล์มไวรัสให้ชมอีกด้วย (ทุกโปรแกรมเริ่ม 18.00 น.)
อาทิ 17 ธันวาคม มี I-San Special(อีสาน สเปเชี่ยล คืนพระจันทร์เต็มดวง) กับThe One- Armed Machine Girl (อีสาวแขนปืนกล) // 18 ธันวาคม ก็ THE GREATEST HIT : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008 ต่อด้วย Suspiria // 19 ธันวาคม ฉาย คืนหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง และ Demons


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://dkfilmhouse.blogspot.com/2008/11/art-square-6.html

ดูทางไปหอศิลป์จามจุรี ที่ http://www.baankoolkids.com/images/mp2.jpg

ติดต่อสอบถาม 089-685-5253