9/16/11

10 อันดับปี 2011 ของ Filmvirus กับปรากฏการณ์แห่งปีของหนัง-หนังสือ และการแสดงสด


10 อันดับหนังสือชอบอ่าน หนังชอบดู และการแสดงสุดปลื้ม

ไม่ต้องรอให้สิ้นปีหรอกประสก ทั้งหมดมาจากความชอบและความลำเอียงส่วนตัวล้วน ๆ แถมบางอันดับ รวมทั้งหนังสือสองเล่มแรกที่กำหนดออกก่อนสิ้นปีนี้ ข้าเจ้ายังมีส่วนรู้เห็นกันแบบเห็น ๆ

1. "โรคแห่งความตาย" Malady of Death (La Maladie de la Mort) โดย Marguerite Duras


นิยายขนาดสั้นภาษาตระการจิตของ มาร์เกอริต ดูราส (เขื่อนกั้นแปซิฟิก, แรกรัก / คนรักจากโคลอง -The Lover) เล่มประหลาดล้ำอันเป็นที่รักยิ่งเหลือคำพรรณนา - ว่าจะได้พิมพ์ตั้งแต่ปี 2540 คราว FILMVIRUS 1 แต่แล้วก็แห้วยาว (ไอดา อรุณวงศ์ เคยแปลบทสั้น ๆ ใน BOOKVIRUS 02) แต่คราวนี้แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดย อารารย์ บัณฑูร ราชมณี (อาจารย์ที่ธรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์) และพิมพ์สำเร็จเสร็จสิ้นโดยแกนนำ ไอดา มีนามสกุล “วารสาร อ่าน”

2. หอสมุดบาเบล และเรื่องสั้นอื่น ๆ โดย Jorge Luis Borges เป็นไปได้สูงทีเดียวที่ท่านที่เคยอ่านเรื่องสั้นของ บอรเฆส ใน Bookvirus 02 และ "เพชฌฆาตข้างถนน" ที่ มหาแดนอรัญ แสงทอง แปล จะไม่ชอบเรื่องของบอรเฆสแนวที่มีในเล่มหอสมุดบาเบลนี้ แต่หากใครเรียกตัวเองว่าชอบอ่านงานวรรณกรรมแล้วไม่เคยลิ้มลองงานบอรเฆสในแนว "อ่านเอกภพ ท่องวงกตสมอง" ท่านอาจถูกปัญญาชนและนักศึกษาวรรณคดีมองซ้ำหัวจรดเท้าหลายรอบทีเดียว งานเล่มนี้น่าเกรงขามขนาดที่ท่านแดนอรัญยังปรารภว่าแปลยากที่สุด

เรื่องสั้นของท่านอภิมหา บอรเฆส เรื่องที่อ่านยากและแปลยาก คงมีแต่ สิงห์ สุวรรณกิจ นี่แหละ ที่กล้าแปลจนเป็นความภูมิใจนำเสนอของ BOOKVIRUS ภายใต้หัวเรือของหมอนิล (คำนิยมโดย อาจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา)

3. Eternity (ที่รัก) ภาพยนตร์ของ ศิวโรจณ์ คงสกุล หนังเล็กใกล้หัวใจที่ไม่ทะยานอยากเกินไกลเอื้อม โคตรมหาอุตริภูมิโภคเลยครับที่ได้ไปบันทึกภาพประทับใจในกองถ่ายหนังเรื่องนี้

4. เส้นด้ายในความมืด (A Thread in the Dark) ละครเวทีจาก พระจันทร์เสี้ยวการละคร ร่วมกับเดโมเครซี สตูดิโอ กำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ ขอบคุณผู้กำกับและทีมนักแสดงที่เข้มข้นซึ่งนำเสนอบทละครของ เฮลล่า ฮัสเซ่อ ที่กลับหัวกลับหางตำนานเทพเจ้ากรีกแบบแมนแมนเสียใหม่ จนต้องตระหนักซึ้งซึ่งสัจธรรมที่ขลาดเขลาของตัวเราเอง

5. รสแกง (Taste of Curry) จารุนันท์ พันธชาติ นำทีมเพื่อน B-Floor มาปรุงรสได้แซ่บหลาย เป็นการกระชับรวมพื้นที่การแสดงและคนดูได้อย่างใกล้ชิดถึงครัวเรือน

6. Flu-Fool ภาค 1 และ 2 การแสดง performance ชั้นเยี่ยมที่ยอดเยี่ยมไม่กลัวหลังเดี้ยง นำทีมโดย คาเงะ - ธีระวัฒน์ มุลวิไล มือหนึ่งแห่งคณะละคร B-Floor

7. ต้นฉบับไม่มีวันมอดไหม้ (The Master and Margarita) ของสำนักพิมพ์ Earnest เรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติที่เดียวที่งานอมตะเล่มเขื่องของ Mikhail Bulgakov ได้พิมพ์ออกมาเป็นภาษาไทย ครั้งหนึ่งมีเพื่อนเคยให้ช่วยติดต่อหาคนแปลเล่มนี้ด้วย แต่ก็ดีแล้วที่ไม่สวนกันให้ผิดใจกันเปล่าแปล้ นับถือ Earnest ที่ทำออกมาสำเร็จ สำหรับ BOOKVIRUS แล้ว ใครพิมพ์ออกมาก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าไปรอเจ้ายักษ์ใหญ่ค่ายอื่น ๆ ที่มีแต่รอเงกแหงแก๋

8. โรงฆ่าสัตว์หมายเลข 5 (Slaughterhouse 5) ของ Kurt Vonnegut ขำขื่นกับจินตนาการบรรเจิดของนักเขียนอารมณ์ขันรุ่นลายครามที่เพิ่งแปลไทยเป็นครั้งแรก โดย คุณ นพดล เจ้าเก่าแห่งมูรากามิ ปีนี้มีแปล บัลกาคอฟ กับ ฟอนเนกุธ สองเล่มนี้ก็นอนตาหลับได้แล้วครับ (สนพ. Earnest)

9. ฟิล์มไวรัส และ Sydney Underground Film Festival ฉายหนังโป๊ของน้องหมาแสนอุบาทว์ คลาสซี่ Porndogs ของ Greg Blatman ที่ The Reading Room และมี ไกรวุฒิ จุลพงศธร และ filmsick จัดคุยกับผู้กำกับ เกร๊ก ต้องขอบคุณหนูเกี๊ยว แห่งเดอะ รีดดิ้งรูม สวรรค์น้อย ๆ ที่ทำให้งานฉายหนังซึ่งไม่รู้จักคำว่าขอสปอนเซอร์นี้เป็นไปได้จริง (ฉายงานนี้ไม่ยิ่งใหญ่เท่าคราวฉายหนังมหากาพย์ของ Lav Diaz ที่หอศิลป์กรุงเทพ ฯ แต่ภูมิใจกว่าฉายหนัง “ตรรกะสังสรรค์” อีก)

10. อนุทินรัก แอร์ฤกค์ โรห์แมร์ (Eric Rohmer) กัลปพฤกษ์ ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นจริงได้ด้วยความรักแท้ ๆ น่าเสียดายหากคอหนังยังไม่เคยดูหนังของ โรห์แมร์ หนังอาจหายาก (แต่หาดาวน์โหลดไม่ยาก) แต่เชื่อขนมกินได้ว่าหาซื้อเล่มนี้ยังยากกว่า

9/11/11

เรื่องของยอดบรรณาธิการ

นิตยสาร a day คัดเลือกบรรณาธิการหนังสือหัวแถวของทุกวงการ



คู่หูตุนาหงันแห่งนิตยสารหนังจัดหนัก Bioscope – สุภาพ และ ธิดา

มหาตำนานบรรณาธิการ “โลกหนังสือ” และ “ช่อการะเกด” (กับบทบาทใหม่นักทำหนังทดลอง และ 1 ใน 5 นักเขียนโจทย์หนังโดมิโน่) - สุชาติ สวัสดิ์ศรี / สิงห์สนามหลวง

(ภาพจาก a day magazine)

9/7/11

ทีนทับ ทีนท้อง (รักจัดหนัก)

ทีนทับ ทีนท้อง

โดย ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์

วันที่ผมไปดู ‘รักจัดหนัก’ นั้นเป็นวันแรกที่หนังเข้าฉาย ภายในโรงมีคนไม่ถึงกับหนาตา ประมาณว่าเกือบครึ่งโรง เหลียวมองไปรอบกายพบว่ามีแต่นักศึกษาเต็มไปหมด พวกน้องๆ มากันเป็นทีม ส่วนผมฉายเดี่ยวและน่าจะเป็นคนที่แก่ที่สุดในโรง สองชั่วโมงของการดูหนังครั้งนี้มีเสียงหัวเราะคิกคัก รวมถึงการแซวหนังเป็นระยะๆ อย่างเบาๆ พองามคลออยู่ตลอด ผมไม่ได้รำคาญนะครับ แต่กลับรู้สึกว่ามันสนุกชวนให้รื่นเริง เหมาะกับโทนของหนังเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นบรรยากาศในการดูหนังที่สนุกเป็นพิเศษครั้งหนึ่ง

ผมอยากเรียก รักจัดหนัก ว่าเป็นงาน ‘หริมลอง’ เพราะมันเกิดจากการผลักดันของ สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการบริหารนิตยสารหนัง Bioscope ที่อยู่มาวันนึงเกิดของขึ้น นึกอยาก ‘ออกไปเดิน’ เขาจึงออกไปเดินอยู่ปีกว่าๆ และผลที่ได้กลับมาก็คือ รักจัดหนัก หรือในชื่อภาษาอังกฤษแสนสะดุดใจว่า Love, Not Yet

เป็นเวลาหลายปีที่สุภาพคอยเป็นกำลังสนับสนุนให้เกิดโปรเจ็กต์หนังสั้นที่มีประเด็นทางสังคมขึ้นมามากมาย เมื่อถึงจุดอิ่มที่เขาบอกว่า หนังสั้นไม่เป็นสาธารณะเพียงพอ เข้าไปไม่ถึงกลุ่มคนดู และหนังยาวน่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้ประเด็นสาธารณะถูกโยนสู่สาธารณะได้ดีกว่า เขาก็ไม่ลังเลที่จะทำมันทันที และประเด็นแรกที่เขาหยิบขึ้นมาทำก็แรงทันที เพราะมันว่าด้วยเรื่อง ‘วัยรุ่น กับท้องที่ไม่พร้อม’

และผลตอบรับแรกที่ รักจัดหนัก ได้รับก็แรงทันทีเช่นกัน เมื่อทีเซอร์แรกของมันถูกปล่อยสู่โลกออนไลน์ได้ไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงดี

มันโดนข้อกล่าวหาในมาตรา ‘เป็นพิษร้ายบ่อนทำลายโลกและศีลธรรมอันดีงาม รวมถึงยั่วยุ เสนอแนะ ผลักดัน และนำทางเยาวชนไปสู่หนทางอันผิดบาป’ จากบรรดาคณะผู้ปกครองผู้ห่วงใยในบุตรหลาน สังคม และประเทศชาติบ้านเมือง

ผมมักจะแปลกใจอยู่เสมอนะครับ เวลามีใครออกมาต่อว่าหนังในลักษณะแปลกๆ ง่าย ๆ เช่นนี้ อย่าว่าแต่คณะนักเต้นแร้งเต้นกาเหล่านี้ได้ดูไปเพียงหนังตัวอย่างสั้นๆ เท่านั้น ก็ออกมาวินิจฉัยกันเสียแล้ว ถ้าดูหนังจบแล้วไม่พอใจ อยากด่าก็ว่าไปอย่าง ผมจึงอยากเรียนถามไปยังท่านเหล่านี้ว่า ถ้าลูกรักวัยเรียนของคุณตั้งท้อง หรือไปทำให้ใครท้อง พวกท่านจะทำอย่างไร? คิดง่ายๆว่าเป็นเพราะลูกเราไปดู Love, Not Yet มาอย่างนั้นหรือ? ถ้ามันง่ายขนาดนั้นก็ล่ามโซ่ ใส่ปลอกคอลูกคุณไว้กับบ้านเถอะครับ เพราะอะไร ๆก็ล้วนเป็นภัยร้ายต่อลูกคุณได้ทั้งสิ้น วันนึงถ้าเกิดลูกของคุณเอามีดไปไล่ฟันใครเข้า คุณก็คงโทษว่าเป็นเพราะลูกคุณไปดู Conan The Barbarian มา...ใช่มั้ยครับ?

กล่าวโดยรวม รักจัดหนัก เป็นเรื่องรักสามคู่ที่พูดถึง วัยรุ่น เซ็กส์ และท้องอันไม่พึงประสงค์ แม้ทั้งสามตอนจะพูดถึงสิ่งเดียวกัน แต่มีประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละตอน มีความหนักหน่วงไม่เท่ากัน แต่ล้วนเป็นปัญหาที่ใหญ่ยิ่งในชีวิตของวัยรุ่นไม่แพ้กัน หากเปรียบเป็นมวย นี่ก็คงเป็นมวยชิงแชมป์ทั้งสามคู่ แม้จะมีพิกัดอยู่คนละรุ่น แต่สำหรับตัวนักชกแล้ว ความโหดล้วนไม่เป็นรองกัน

รุ่นเฟเธอร์เวท : แอน VS วิท
ไปเสม็ด เสร็จเมนส์ไม่มา

ปัญหาเล็กๆเช่น ‘เมนส์ไม่มา’ นี้ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที เมื่อมันมีองค์ประกอบเสริมคือ ‘ไม่ได้คุม’
นี่คือปัญหาพื้นฐานที่สุดที่คู่รักครึ่งโลกล้วนเคยประสบพบเจอมา บ้างก็โชคดี บ้างก็โชคร้าย ที่พึ่งสุดท้ายของคู่รักที่กำลังเผชิญกับปัญหาแบบนี้ก็คือ ชุดตรวจการตั้งครรภ์

แอน (ศิตา มหารวิเดชากร) และวิท (ศิศรินทร์ ผลยงค์) กำลังรอ รอเพื่อให้ถึงระยะเวลาที่ตรวจแล้วได้ผลชัวร์ แต่บางครั้งการรอโดยไม่รู้ชะตากรรมก็โหดร้ายยิ่งกว่าการทราบผลเสียอีก ทั้งสองจะผ่านช่วงเวลาแห่งความเครียดนี้ไปได้อย่างไร? คู่หวานจะยังคงความหวานอยู่ได้หรือไม่? หากท้องแล้วจะทำยังไง? คงไม่มีใครตอบได้นอกจากแอนและวิท

รุ่นมิดเดิลเวท : อิ๋ง VS ม่อน
เป็นเมียไม่ง่าย เป็นแม่ยิ่งไม่ง่าย

อิ๋ง (วรรณิศร เลาหมนตรี) กับม่อน (รัชพล แย้มแสง) อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างจังหวัด ในหมู่บ้านแบบนี้ใครทำอะไรที่ไหน ทุกคนจะรู้กันหมด ไม่มีใครปิดบังอะไรใครได้ ดุจดั่งทุกคนเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันก็ปาน

บ้านอิ๋งเป็นร้านชำวิปโยค เป็นแหล่งช็อปปิ้งประจำหมู่บ้าน เป็นร้านอาหาร เป็นจุดนัดพบ และเป็นดิสโก้เธคในยามค่ำคืน

อิ๋งกับม่อนผ่านขั้นตอนการรอผลมา 9 เดือนแล้ว ม่อนตัดสินใจรับผิดชอบกับพุงกลมๆ ของอิ๋ง และย้ายมาอยู่ที่บ้านอิ๋ง ทั้งสองคือคู่รักคู่หลบประจำหมู่บ้าน ไม่มีใครเห็นทั้งสองมาเนิ่นนานแล้ว เพราะอิ๋งและม่อนเอาแต่หลบอยู่ในห้องด้วยความอับอาย ไม่ยอมพบเจอใครทั้งสิ้น แต่จะหลบได้นานแค่ไหน? ความรักจะดำเนินต่อไปอย่างไร? ใครจะลากพวกเค้าออกมา? และในเมื่อสองคนช่วยกันยังล้างตูดเด็กไม่สะอาด แล้วทั้งสองจะเป็นพ่อแม่ชนิดใดกัน? คงมีแต่เวลาเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์

รุ่นเฮฟวี่เวท : นัท VS ราฟฟี่
ทอมแฮ้ง ทอมแท้งไม่แท้ง

นัท (อริสสรา เลอมวณ) ยืนอยู่ที่จุดกึ่งกลางระหว่างแอนและอิ๋ง อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของนัทนั้นหนักที่สุดในสามคู่ เธอท้องเพราะเหล้า เสียตัวให้ราฟฟี่ด้วยความเมา มิใช่ความรัก หนำซ้ำเธอยังเป็นทอมอีกต่างหาก แต่เธอก็กล้าพอที่จะบอกเรื่องนี้กับแม่ ซึ่งอาจเป็นเพราะแม่เธอเป็นคนใจเย็น ใจดี และเป็นผู้ฟังที่ดี (ผมชอบ จินตหรา สุขพัฒน์ ในบทนี้มากๆครับ) แม้ทั้งสองจะมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับทางออก แต่นั่นก็ดีกว่าที่จะต้องเก็บเงียบไว้มิใช่หรือ?

หากฟังแต่เนื้อเรื่องของ รักจัดหนัก คุณอาจเข้าใจว่านี่เป็นหนังดราม่าสุดซีเรียส ไม่นะครับ มันเป็นหนังที่ตลกมาก เพียงแต่มันเป็นตลกอันขมขื่น ผสมอารมณ์ขันกับความเศร้าใส่ลงในขวดเดียวกัน แล้วเขย่าจนเนื้อเนียนน่ากิน เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆครับ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่านี่เป็นหนังที่หวังดีและจริงใจกับวัยรุ่นที่สุดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ชอบหนังไทยมากขนาดนี้มานานแล้ว ดีใจครับที่มีผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าให้กำลังใจเกิดขึ้นอีกหกคนแล้ว

หลังจากหนังจบลงมีเสียงครางฮือมาจากกลุ่มวัยรุ่นเบาๆ พอมาย้อนคิดดูแล้วผมเชื่อว่าเสียงฮือนั้นมาจากลักษณะที่เป็นปลายเปิดของหนัง ซึ่งดีจังครับ หนังมันจะได้ไม่จบอยู่แค่ในโรง

ดูแล้วอยากทำหนังบ้างครับ

ผู้กำกับแต่ละตอนใน “รักจัดหนัก”
ไตเติลซีเควนซ์ : เมธัส ฉายชยานนท์
ไปเสม็ด : ไพรัช คุ้มวัน / ภาส พัฒนกำจร
เป็นแม่เป็นเมีย : อนุชิต มวลพรม
ทอมแฮ้ง : อินทิรา เจริญปุระ / ชาคร ไชยปรีชา

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร Vote กันยายน 2554)

9/5/11

เส้นด้ายในความมืด....จงประคองเส้นด้ายแห่งสัจจะสู่แสงปลายทาง




ฟิล์มไวรัส นิยมคนที่กล้าจับงานละครอิงโบราณ ไม่ว่าจะเป็นกรีก อังกฤษ แล้วปรุงใหม่สไตล์ modern แบบที่ Derek Jarman เคยทำหนังจากละครของ Christopher Marlowe และ Shakespeare ในรูปแบบ modern dress มาแล้ว และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกของ A Thread in the Dark ในรูปแบบการแสดงแบบ modern dress

...เส้นด้ายในความมืด
A Thread in the Dark
Original play by Hella Haasse
แปลโดย ศรวณีย์ สุขุมวาท
กำกับการแสดงโดย สินีนาฏ เกษประไพ / พระจันทร์เสี้ยวการละคร

“การนิ่งเงียบคือการยอมรับ”

การไม่ตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจ คือการสมรู้คนผิด
การร่วมหัวจมท้ายกับคนและคำโกหก คือการสมคิดปกปิดความจริง

ถ้า Ibsen, Strindberg และ R. W. Fassbinder ให้คำจำกัดความของผู้หญิงยุคก้าวหน้าใต้การปกครองในศตวรรษต่าง ๆ ได้อย่างงดงามแล้ว เฮลล่า ฮัสเซ่อ (Hella Haasse) ก็ได้ให้นารีนิยามอีกบทที่น่าทึ่งไม่น้อยไปกว่า และนี่คือละครแห่งปีที่ครบถ้วนทุกเฉดสีทางพฤติกรรม มากมุมด้วยวิถีการตีความที่เหมาะเหม็งกับการเมืองทุกยุคสมัย

ละครของ เฮลล่า ฮัสเซ่อ นักเขียนชาวดัทช์ เป็นงานชิ้นเอกอีกเรื่องที่ สินีนาฏ เกษประไพ นำเสนอได้อย่างแยบคายและทรงพลัง ด้วยบทละครที่สะท้อนภาพกลวงโบ๋ของเหล่าวีรบุรุษและผู้ปกครอง ซึ่งกู่ก้องสถาปนาปักฐานอำนาจตัวเองอยู่บนไหล่ประชาชื่น (มื่น) ได้ถึงทุกวันนี้ด้วยคำลวง หนทางแห่งความจริงซึ่งเลือกที่จะเร้นกายดีกว่า ถ้ามันนำมาซึ่งผลประโยชน์และความอยู่รอดของบัลลังก์อำนาจ มันเป็นดั่งศิลายักษ์ที่แม้แต่ความรักและเส้นด้ายอันบอบบางยังไม่อาจนำทางออกจากความมืด ศรัทธาและความบริสุทธิ์ที่หวังจะแลกมาซึ่งสัจธรรมเป็นของฟุ่มเฟือยที่โลกไม่ต้องการ แต่อย่างไรคนที่ซื่อสัตย์กับตนเองก็ยังใฝ่หา แม้รู้ว่าปลายทางอาจเป็นเพียงฝันแล้ง

ฟิล์มไวรัส ขอแซ่ซ้องแก่ผู้ที่ยังคงศรัทธา แม้จะแพ้พ่าย

อย่าพลาดชมเด็ดขาด
เช็ครอบและวันแสดงได้ที่:
http://twilightvirus.blogspot.com/2011/08/thread-in-dark.html

เกี่ยวกับผู้แต่งบทละคร Hella Haasse: http://en.wikipedia.org/wiki/Hella_Haasse

Eternally Yours ศิวโรจณ์ คงสกุล

เชียร์กันแบบไม่กลัวออกนอกหน้า "ที่รัก" หนังของ ศิวโรจณ์ คงสกุล หนังรักหัวใจจริงไม่มีตู่หลอกกัน หนังของหัวใจที่อยากให้ชม ไม่ต้องแอ็คอาร์ตปรัชญา beginners อ่อนหัดเหมือนหลักสูตร Philosphy MV 101 = หนังปาล์มทอง Tree of Life

"ที่รัก" พร้อมเข้าฉายที่ SF เซ็นทรัลเวิล์ด 8 กันยายนนี้ (แบบจำกัดรอบ)

อ่านบทสัมภาษณ์ ศิวโรจณ์ และนักแสดง “ที่รัก” ได้ที่:
http://www.onopen.com/filmvirus/11-02-03/5720

Eternally Yours
อินดี้แต่แมส

THIRD CLASS CITIZEN ร่วมกับโรงภาพยนตร์ SF WORLD CINEMA ขอเสนอ

THIRD CLASS CINEMA 029 : ETERNALLY YOURS
(Sivaroj Kongsakul Retrospective)

THIRD CLASS CINEMA 029 : ETERNALLY YOURS ฉายหนังสั้นของ ศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘ที่รัก’ (Eternity) ที่คว้ารางวัลไทเกอร์อวอร์ดส์จากเทศกาลภาพยนตร์ร็อตเตอร์ดาม และมีกำหนดฉายในโครงการ Director’s Screen 2011 ที่เอสเอฟเวิลด์ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน เป็นต้นไป

ในงานจะเป็นการจัดฉายภาพยนตร์สั้นของศิวโรจณ์เพื่อให้เห็นถึงตัวตนและพัฒนาการของเขาก่อนจะมาทำหนังยาวเรื่อง ‘ที่รัก’ โปรแกรมนี้มีหนังเรื่องสำคัญ เช่น ‘เหมือนเคย’ (Always) ที่ได้รับรางวัลชมเชยและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลหนังสั้นมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 11 (ปี 2550) และ ‘เสียงเงียบ’ (Silencio) ได้รับรางวัล Jury Mention จากเทศกาลหนังแคลร์มองต์เฟอร์รองด์ครั้งที่ 30 (ปี 2551) ซึ่งถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์สั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะนี้ศิวโรจณ์กำลังพัฒนาบทภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของเขาที่ชื่อว่า ‘อรุณกาล’ โดยช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา เขาได้ไปใช้ชีวิตที่กรุงปารีสในโครงการศิลปินพำนัก The Residence’s by Festival de Cannes-Cinefoundation ของเทศกาลหนังเมืองคานส์

ชมหนังของศิวโรจณ์ พร้อมพูดคุยกับเขา ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2554 เวลา 16.00 เป็นต้นไป ณ ลานชั้นบน ร้าน Eat@Double U โรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 9 (ดูรายละเอียดสถานที่ที่ http://thirdclasscitizen.exteen.com/third-class-venues)

งานนี้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่ต้องสำรองที่นั่ง มาที่งานได้เลยจ้า

รายละเอียดเพิ่มเติม
http://thirdclasscitizen.exteen.com/
http://www.facebook.com/thirdclasscitizen

สอบถามเพิ่มเติมที่ 089-685-5253

9/4/11

เทศกาลหนัง 70 มม.


ในยุคที่โรงหนังทั่วโลกเห่อดิจิตอลและกำลังจะเลิกฉายฟิล์ม
แต่ปลายเดือนนี้-เดือนหน้า ที่เมืองซีแอ็ตเติล เขาจัดเทศกาลหนัง 70 มม. - ฟิล์มขนาดยักษ์ที่หาโรงฉายได้ยากนักกระทั่งในเมืองนอก

ฉายหนังอย่าง The Sound of Music, West Side Story, คลีโอพัตรา, How the West was won, Lawrence of Arabia, My Fair Lady, Tron, Baraka (รวมทั้ง Playtime ของ ฌ้ากส์ ตาติ)

เว็บไซต์ : http://seattlecinerama.com/761/70mm-film-fest/