8/31/07

ALEXANDER KLUGE (ตอน3)

Alexander Kluge (ตอน3)
OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE
คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย

โดย อุทิศ เหมะมูล

‘คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย’ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ กล่าวประโยคนี้ เมื่อหนังหลายเรื่องที่ผ่านมาของเขา ส่วนใหญ่แล้วตัวนำเรื่องล้วนเป็น เพศหญิง เพศหญิงซึ่งพยายามหาที่ทางให้กับตัวเองในเยอรมันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าเธอพยายามอย่างยิ่งที่จะหาพันธะและจุดหมายให้ตัวเอง แม้นว่าสิ่งที่พวกเธอเลือกกระทำนั้นอาจยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หรือหาความชัดเจนทางจุดหมายแทบไม่ได้ ทว่าเหล่าเธอก็ลงมือทำ ลองผิดลองถูก ซึ่งความผิดพลาดนั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต


การดิ้นรนทั้งอนิต้า กี ใน YESTERDAY GIRL และ โรสวิธา บรอนสกี้ ใน OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE นั้นถูกกลุ่มเฟมินิสต์ต่อต้านและผลักไส เพราะการกระทำอันเหลือรับ (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) และทัศนะของคลูเก้อเอง ที่แม้จะนำเพศหญิงมาเป็นตัวละครนำ แต่เขาก็เหมือนจะกลั่นแกล้งเธอ วางตำแหน่งพวกเธอไม่ให้ได้รับชัยชนะทุกคราวไปในหนังของเขา เหล่านี้กลายเป็นจุดอ่อนให้หนังของคลูเก้อถูกโจมตี ทว่าที่จริงแล้ว เพศหญิงในหนังของเขามีนัยยะที่น่าขบคิดมากกว่าความเป็นเพศ เหล่าเธอคือภาพแทนของเยอรมันยุคเก่าที่เยอรมันยุคใหม่ต้องการปัดภาระรับผิดชอบ

มากยิ่งไปกว่านั้น เจตนาของคลูเก้อที่คมคายยิ่งกลับถูกบิดผันมองไปอีกทางอย่างน่าเสียดาย เพราะ OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE ถูกสร้างขึ้นมาจากผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคลูเก้อเองกับออสการ์ เน็กท์ อันว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงและสถานภาพทางสังคม คลูเก้อเห็นว่า บทบาทของผู้หญิงทั้งในสถานภาพครอบครัวก็เต็มด้วยความขัดแย้ง และทางสังคมเองก็จำกัดบทบาทไม่ให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้เต็มที่ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ได้รับเสรีภาพแท้จริงทั้งในครอบครัวและทางสังคม ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงถูกควบคุมอยู่ร่ำไปในสังคมเยอรมัน

นี่เองเป็นผล ‘บีบ’ ให้พวกเธอแสดงตัวออกมาเพื่อหาที่ทางให้แก่ตัวเอง และการพยายามหาที่ทาง/จุดหมายนี้เอง ก็เป็นได้ทั้ง การเรียกร้องเสรีภาพ การขัดขืน การเห็นแย้ง และการประชดประชันที่ยอกใจสังคมเยอรมัน


“เพื่อจะมีลูกได้เพิ่มขึ้น โรสวิธาจึงทำงานในคลินิกทำแท้ง”
บทเปิดเรื่อง OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE ด้วยเสียงบรรยายของคลูเก้อที่ขัดแย้งทางการรับรู้ของคนดู (อันเป็นลักษณะอย่างเอกของคลูเก้อ ที่ทั้งแสดงความเห็นใจและผักไสตัวละครในรูปประโยคเดียวกัน) ทว่าส่อนัยยะประชดประชันอย่างแสบสันต์

โรสวิธา บรอนสกี้ คุณแม่ลูก 3 วัย 29 ปี ต้องทำงานในคลินิกทำแท้งเพื่อมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ขณะที่ ฟรั้นซ์ บรอนสกี้ สามีของเธอไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวใดๆ เลย เขาสนใจแต่ตัวเองกับงานวิจัยในฐานะนักศึกษา วันๆ เก็บตัวเงียบทำตัวเป็นศาสตราจารย์อยู่ในห้องกับงานวิจัยตลอดชีพของเขา ปล่อยโรสวิธากับลิงทโมน 3 หน่อเจี้ยวจ้าวไปตามประสา และฟรั้นซ์เองก็คอยเอาแต่ต่อว่าโรสวิธาที่ไม่รู้จักดูแลบ้านและลูกๆ เพื่อที่เขาจะได้ทำงานวิจัยอย่างมีสมาธิ



จุดแตกหักของครอบครัวนี้มาถึง เมื่อเพื่อนร่วมงานในคลินิกทำแท้งเกิดทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ผู้ทำแท้งมีอาการติดเชื้อจนเรื่องแดงถึงมือกฎหมาย โรสวิธาโดนหางเลขไปด้วยเมื่อตำรวจมาค้นบ้านของเธอ โรสวิธาให้ฟรั้นซ์ออกรับหน้าแล้วเธอก็แจ้นไปทำลายเครื่องมือทำแท้งซึ่งเป็นหลักฐานอย่างช่ำชอง จุดนี้เองที่ทำให้โรสวิธามองเห็นความเหลือทนของชีวิต เธอลุกขึ้นมาเรียกสิทธิของตัวเองบ้าง โดยเริ่มจากการประชดประชันสามี หากเขาทำงานวิจัยได้ เธอเองก็ย่อมจะทำได้เหมือนกัน

และนับจากนี้ไปโรสวิธากับเพื่อนของเธอก็หันหน้าเข้าสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นนักกิจกรรมปกิณกะที่สังคมแห่งเพศชายเห็นเป็นเรื่องชวนขัน
ฟรั้นซ์ต้องยอมไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในฐานะนักวิจัยของโรงงานที่ชื่อ Beauchamp & Co

ส่วนโรสวิธาเดินหน้าเต็มตัวในฐานะนักกิจกรรม เมื่อเธอไปพบข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับสถิติการตายของเด็กถึงวันละ 3 คน เธอก็คิดสะระตะไปถึงจำนวนมากมาย หากคำนวณเป็นเดือนเป็นปีออกมา เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเธอ จึงได้นำความเข้าพบบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ถึงเหตุร้ายดังกล่าว โรสวิธาเรียกร้องว่าข่าวนี้ต้องขึ้นหน้าหนึ่ง ไม่ใช่เอาไปไว้ในกรอบเล็กๆ ข้างในหนังสือพิมพ์ ฝ่ายบรรณาธิการกลับเห็นขำต่อข้อเรียกร้องของเธอ อีกประเด็นหนึ่งที่เธอเห็นสำคัญก็คือการที่คนใช้แรงงานต้องกินไส้กรอกทุกวี่วันนั้น ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ สะท้อนให้เห็นสุขภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคน โรสวิธานำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อ Beauchamp & Co บริษัทต้นเหตุ แต่ก็ได้รับความขบขันในฐานะเธอเป็นตัวตลกหยุมหยิมกลับคืนมาดุจกัน

“ภาพรวม เราต้องมองภาพรวม” ตัวแทนบริษัทกล่าวขึ้น “เราไม่สนใจเรื่องหยุมหยิม เราต้องมองภาพรวม” นัยความนี้สะท้อนให้เห็นทัศนะของเพศชาย ซึ่งผลักข้อเรียกร้องของโรสวิธาให้กลายเป็นเรื่องหยุมหยิมของเพศหญิง


มันอาจจะเป็นเรื่องหยุมหยิมของผู้ชาย แต่สำหรับโรสวิธาแล้วทำให้เธอมีหลักยึดและค้นพบจุดหมายในชีวิต มีที่เหยียบยืนทางสังคม แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กจ้อยแต่เธอก็ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์นี้

แต่อุดมการณ์ที่ว่าย้อนกลับมาทำร้ายสถานภาพของครอบครัวเธอ เมื่อโรสวิธายืนหยัดกัด Beauchamp & Co ไม่ปล่อย ทางบริษัทก็เลยไล่ฟรั้นซ์ออกจากงานแต่เพียงผู้เดียว ครอบครัวบรอนสกี้ระส่ำระสาย ทางเลือกชีวิตระหว่าง ความมีกินกับอุดมการณ์เข้าปะทะกันอย่างจัง ทว่าโรสวิธาตัดสินใจเลือกหนทางอย่างสง่างามยิ่งแล้ว ที่สามารถตอบโจทย์ช่างประชดประชันของคลูเก้อได้อย่างลึกซึ้งคมคาย

โรสวิธายอมขายไส้กรอก (ที่เธอหยิบเป็นประเด็นมาประท้วง) เพื่อยังรายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกัน กระดาษแถลงการณ์ปลุกระดมคนงานก็สอดแนบไปกับกระดาษห่อไส้กรอกนั้นด้วย นี่จึงเป็นปฏิบัติการบ่อนเซาะเงียบๆ ที่โรสวิธาพอจะยืนหยัดได้ – แม้จะถูกสังเกตการณ์จากสายลับคนหนึ่งอยู่ก็ตาม

OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE ถือเป็นชัยชนะอย่างหนึ่งทางการต่อสู้ของอุดมการณ์ ในท่ามกลางสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เพศหญิง และนี่ถือว่าประเด็นที่คลูเก้อนำเสนอได้ทำสำเร็จแล้ว



หนังเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่นๆ ของคลูเก้อที่ยังคงความมีลูกล่อลูกชนกับคนดู เฉพาะอย่างยิ่งการให้ตัวละครสบตากับคนดูซึ่งหน้านั้น ยิ่งตอกย้ำให้คนดูเป็นส่วนหนึ่งของผู้รู้เห็นโดยปริยาย

อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ ทั้ง YESTERDAY GIRL และ OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE นักแสดงนำหญิงในบท อนิต้า กี กับโรสวิธา บรอนสกี้นั้นคือ อเล็กซานดร้า คลูเก้อ น้องสาวแท้ๆ ของตัวผู้กำกับเอง (และเธอยังจะโผล่มาอีกในหนังหลายๆ เรื่องของเขา) และการได้อเล็กซานดร้ามาเล่นให้นี้ นอกเหนือจากความเข้มข้นในตัวหนังแล้ว การช่างประชดประชัน การเห็นแย้งในตัวเอง การเอาใจและผลักไสตัวละครตลอดเวลา กลับช่วยให้เรารู้สึกถึงการ ‘สัพยอก’ ในฐานะของมิตรภาพ อันส่งผลดีในการเล่นนอกบทอยู่บ่อยครั้ง

การสัพยอกนี้ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนดู ไม่ใช่ในฐานะโลเลเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่รู้สึกดีเมื่อเราได้รับการปฏิบัติอย่างคนใกล้ชิด ซึ่งเสน่ห์ประหลาดนี้เอง กลายกลับเป็นไวยากรณ์เฉพาะทางภาษาหนังของคลูเก้ออย่างแยบยลและได้ใจ

No comments: