8/31/07

ALEXANDER KLUGE (ตอน 4 - ตอนจบ)

Alexander Kluge (ตอน 4 - ตอนจบ)
THE POWER OF EMOTION
ฤทธานุภาพแห่งอารมณ์รู้สึก

โดย อุทิศ เหมะมูล


THE POWER OF EMOTION คือภาพยนตร์ในปี 1983 ของคลูเก้อ อันนับเป็นหนังขนาดยาวช่วงหลังของเขา ซึ่งนับจากปลายทศวรรษ 80 เป็นต้นไป คลูเก้อหันไปผลิตรายการทีวีอันเกี่ยวกับประเด็นการเมือง ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมถึงหนังสั้นอีกหลายเรื่องจนกระทั่งปัจจุบันนี้

สังเกตได้ว่าหนังช่วงหลังๆ ของเขาเต็มด้วยท่าทีนิ่งขรึม สุขุมรอบคอบในการหยิบจับประเด็นมาพิจารณาอย่างจริงจัง แตกต่างจากหนังช่วงแรกๆ ที่ท่าทีลำดับเรื่องฉับไว เล่าความเร็วไม่รั้งรอคนดู (ในแบบหนังของฌอง-ลุค โกดาร์) เฉพาะอย่างยิ่งใน THE POWER OF EMOTION นั้น หนังนำพาคนดูให้ติดตรึงกับหลากภาพต่างๆ ที่ร้อยเรียงมานำเสนอ ซับซาบอารมณ์รู้สึก ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความครุ่นคิดพินิจนึกในแต่ละฉากแต่ละตอนที่ไหลล่องมาเป็นกระสาย การดูหนังเรื่องนี้จึงมีลักษณะแบบ ‘รู้สึกไปคิดครุ่นไป’ ตลอดเวลาจนจบเรื่อง

ท่าทีชัดแจ้งอย่างนักวิจัยและนักทดลองของคลูเก้อ ปรากฏโดดเด่นในหนังเรื่องนี้เอง ด้วยว่าตัวชื่อหนังก็แสดงเจตนาในการทำความเข้าใจ พลังอำนาจทางอารมณ์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกผู้คน ด้วยการไล่เรียงประวัติศาสตร์มหรสพ อันเป็นสนามทางอารมณ์รู้สึกที่ทรงอิทธิพลยิ่งต่อผู้คน โดยยกละครเวทีในโรงโอเปร่าเฮาส์อันเป็นตัวแทนของศตวรรษที่ 19 และสื่อภาพยนตร์อันเป็นตัวแทนของศตวรรษที่ 20 มาสืบย้อนลำดับความ



ทำไมอารมณ์รู้สึกจึงสำคัญต่อมนุษย์นัก? นั่นคือคำถาม แต่ที่มากกว่านั้นคือ มนุษย์ทุกผู้ล้วนต่างอยากเห็นบทสรุปที่เต็มด้วยความปีติสุขชื่นมื่น ขณะที่โศกนาฏกรรมความสูญเสียกลับสร้างผลสะเทือนตรึงใจได้มากกว่า ดังนั้นวิถีของอารมณ์ที่ว่ามานี้ จึงกลายเป็นแก่นความสำคัญให้กับมหรสพทุกแขนงที่อยู่ในการรับรู้ของเรา ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เจ้าตัวอารมณ์นี้เองที่ใช้ขับเคลื่อนทุกอย่าง ส่งผลให้มันกลายเป็นอำนาจย่างหนึ่งในการโน้มนำคนดู และอำนาจที่ว่านี้เองที่คลูเก้อใช้ตั้งคำถาม วิเคราะห์ และสำรวจ ผ่านทางประวัติศาสตร์มหรสพทรงอิทธิพล 2 สิ่ง คือ ละครโอเปร่า กับ ภาพยนตร์ ในฐานะศิลปะที่เข้ามา ‘บริหารจัดการ’ ตัวเรื่องให้กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม/คนดู อย่างทรงประสิทธิภาพได้อย่างไร

สำหรับคนดู สุดท้ายแล้วมหรสพทุกอย่างมีนัยแห่งความสุขในบั้นปลาย แต่สิ่งที่จู่จับคนดูคือวิบากกรรมระหว่างทาง ทุกคนต่างรู้บทสรุป แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการได้เห็น กระบวนการรับมือกับสภาวการณ์ดังกล่าวของตัวละครไม่ว่าจะในหนังหรือบนเวที กระบวนการจัดการนี้เองคือสิ่งที่ ‘ขับ’ อารมณ์ให้ ‘เคลื่อน’ ไป อันกลายเป็น ท่วงท่า การเคลื่อนไหว ดั่งทำนองและนาฏกรรมบนเวที/จอภาพ


THE POWER OF EMOTION ประกอบขึ้นมาจากภาพหลายส่วนเสี้ยว และเรื่องราวแตกต่างกันหลายสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน หากแต่ยึดโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในฐานะที่มันเป็นบริบทต่างๆ อันประกอบกันเข้าเป็นมหรสพชนิดหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่า หนังแบ่งเป็นตอนๆ โดยให้ชื่อตอนว่า การแสดง การถ่ายทำ บทสนทนา การจัดแสง ฉาก ฯลฯ

ส่วนตัวเรื่องราวกระจัดกระจายในหนังนั้นประกอบกันขึ้นด้วยโศกนาฏกรรมหลากชนิด วิธี และวีถีในการจัดการ มันมีทั้งภาพสารคดีเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารซึ่งมีคนกระโดดลงมาสิ้นชีพยังพื้นถนนเบื้องล่าง ฟุตเตจจากหนังเงียบเกี่ยวกับความตายของเด็กคนหนึ่ง และเกี่ยวกับฉากการพุ่งรบอลังการในดินแดนอียิปต์ จนล่วงมาถึงช่วงสงครามโลก เรื่องเล่าด้วยภาพเกี่ยวกับการล่มสลายของนครบาบิลอน ตัดสลับกับภาพสวยสดในแสงตะวันยามอรุณในเมืองเยอรมนี การตามติดการฝึกซ้อมและแสดงจริงของคณะนักแสดงโอเปร่า

อีกทั้งเรื่องที่คลูเก้อถ่ายทำขึ้นใหม่เพื่อสอดแทรกเข้าไปอีก 3-4 เรื่อง อันได้แก่เรื่องการพิจารณคดีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่ฆ่าสามีด้วยปืน พร้อมกับการไต่สวนที่วกวนหาจุดสรุปความไม่ได้ เกี่ยวกับเซลล์แมนคนหนึ่งที่นึกคะนองพาหญิงสาวที่กินยานอนหลับหวังฆ่าตัวตายไปชำเราในป่าร้าง และเกี่ยวกับแก็งมาเฟียกลุ่มหนึ่งที่ฆาตกรรมชายต่างด้าวเพื่อฉกเพชรไป หลากเรื่องราวทั้งหลายนี้ถูกเล่าความที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน หากแต่ให้คนดูได้พินิจรู้สึกไปกับแต่ละสถานการณ์ที่เหล่าตัวละครประสบ รับมือ และเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร


คำถามที่เป็นแก่นความสำคัญในหนังเรื่องนี้อยู่ตอนต้นเรื่อง เมื่อนักแสดงโอเปร่าคนหนึ่งถูกถามว่า “ทั้งๆ ที่ แสดงโอเปร่าเรื่องนี้มาตั้ง 84 รอบแล้ว ทำไมยังแสดงสีหน้าและอารมณ์แห่งความหวังได้ในองค์ที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าในองค์ที่ 5 จะเป็นจุดจบที่โหดเหี้ยมทารุณ” นักแสดงคนนั้นตอบวกไปวนมาพลอยให้คนถามงงตามไปด้วย เพราะว่าเขาไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ในคำถามนี้ แม้คำตอบจะส่อนัยว่า คนดูชอบตอนจบที่โหดร้าย ทว่านัยความในการตอบวกวนนั้นสะท้อน ‘ความไม่สำคัญของบั้นปลาย’ เพราะจุดจบเป็นสิ่งที่เราคาดหวังจะรู้กันได้ดีอยู่แล้ว ในมหรสพนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่ระหว่างทางต่างหาก เฉกเช่นชีวิตคนเรา ในท้ายที่สุดแล้วทุกคนล้วนต้องตาย แต่สำคัญคือ ตายอย่างไรต่างหาก

คำตอบของนักแสดงโอเปร่านี้พ้องเกี่ยวกับอีกตอนหนึ่ง อันเป็นเรื่องการพิจารณาไต่สวนคดีของหญิงวัยกลางคน เมื่ออัยการซักจำเลยอยู่นั่นแล้วเพื่อจะรู้ให้ได้ว่าเธอฆ่าสามีอย่างไร คำที่เธอตอบก็ออกจะวกวนพอกัน เรื่องตอนนี้จึงมีนัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคำที่ถามนักแสดงโอเปร่า เมื่อคำซักค้านกลายสถานะเป็นเรื่องเล่า และข้อเท็จจริงเองกลับดิ้นรอดไปสู่เรื่องแต่ง

ดังนี้แล้วก็จะเห็นว่า ใน THE POWER OF EMOTION นั้น การร้อยเรียงเรื่องราวในลักษณะสับคละ ส่งผลยังความคลุมเครือและการแปรสภาพระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ซึ่งสอดพ้องกับวิธีการอันเชี่ยวชำนาญของคลูเก้อเองที่ชอบวางตัวเองในหลายสถานภาพ (ในเสียงบรรยายเรื่อง) มีทั้งตั้งข้อสังเกต สนับสนุน เห็นแย้ง แล้วยังเล่นสนุกในการพากย์ทับหนังเงียบจนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่ ทว่าทั้งหมดนี้ ไม่ว่ามันจะดำรงอยู่ทางฝักฝ่ายใดก็ล้วนขึ้นตรงต่อพลังทางอารมณ์รู้สึกที่มีผลกระทบต่อผู้คนทั้งสิ้น


ทั้งหมดนี้คือภาพตัวแทนอย่างคร่าวๆ ของผู้กำกับยิ่งยงแห่งเยอรมัน ภูผาแห่งกลุ่ม New German Cinema นาม อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ผู้ถูกหลงลืมไปอย่างน่าเสียดาย บทความ 4 ตอนนี้คงทำหน้าที่เชิดชูความสามารถของเขาได้เพียงระดับหนึ่ง มากไปกว่านั้นคือหวังใจว่านักดูหนังที่แท้ จะให้การต้อนรับและเปิดใจให้กับหนังของคลูเก้อไม่มากก็น้อย

วาระของบทความนี้เขียนขึ้นเนื่องจากทราบมาว่า เทศกาล Venice Film Festival ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหา – 8 กันยา 2007 นี้ เป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของเทศกาล ซึ่งทางผู้จัดได้อนุมัติให้ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ สร้างภาพยนตร์เรื่องพิเศษเพื่อร่วมฉลองความยิ่งใหญ่ยาวนานของเทศกาลหนังเวนิซ ซึ่งเป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก รวมทั้งยังได้จัดฉายผลงานเก่าของ คลูเก้อ แบบ retrospective เพื่ออุทิศงานครั้งนี้ให้กับเขาอีกโสตหนึ่งด้วย อีกทั้งในปีหน้าสถาบันเกอเธ่เตรียมการจะจัดนิทรรศการและเชิดชูเกียรติอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ

มากไปกว่านั้นคงได้เห็นผลงานเรื่องสั้นของเขาในเร็ววันที่กำลังเตรียมการจัดแปลเป็นภาษาไทย อีกทั้งดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เองก็เตรียมจัดฉายหนังของคลูเก้อในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข่าวแว่วมาว่า นักดูหนังอาจได้พบกับ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อตัวจริง (ยังไม่เป็นที่ตอบรับแน่นอน) อย่างไรก็ตามขอขอบคุณ สถาบันเกอเธ่ (The Goethe Institute) และ ฟิล์มไวรัส (filmvirus) ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล มา ณ ที่นี้ด้วย.

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Movie Time ติดต่อกัน 4 ฉบับ ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม-19 สิงหาคม 2550

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ได้ใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 2

โปรแกรมภาพยนตร์ของ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ในเดือนกันยายน 2550 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/edward-yang-alexander-kluge.html
และที่เว็บ onopen
http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/2084

No comments: