บทความโดย FILMSICK
เราหลายคน อาจรู้จัก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในฐานะเสาหลักของแวดวงวรรณกรรมไทย เขาคือนักอ่าน นักเขียน จากยุค 6 ตุลา อดีต กองบรรณาธิการ และ บรรณาธิการ นิตยสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ นิตยสารว่าด้วย การเมืองและสังคม เล่มสำคัญ ที่มีผู้ตั้งต้น คือ ส. ศิวรักษ์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว (ซึ่งนอกจากเขา ยังมี เพื่อนในกลุ่ม อย่าง สุรชัย จันทิมาธร และ วินัย อุกฤษฎ์ ) ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ก่อนที่เหตุการณ์ 6 ตุลา จะทำให้ทุกคนแตกกระสานซ่านเซ็น
จนเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป สุชาติ สวัสดิ์ศรี กลับมาเป็นบรรณาธิการให้กับ หนังสือ โลกหนังสือ นิตยสารว่าด้วยแวดวงวรรณกรรม และในที่สุดคลี่คลายมาเป็น ช่อการะเกด หนังสือรวมเรื่องสั้นรายสามเดือนที่เคยสร้างจุดตั้งต้นของนักเขียนอย่าง กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ไปจนถึง วินทร์ เลียววาริณ
หลังจาก ช่อการะเกด ปิดตัวลงไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว สุชาติ สวัสดิ์ศรี ยุติบทบาทเชิงวรรณกรรม ลงไป ด้วยข้อสงสัยในความมีอยู่ของ –พลังวรรณกรรม-
โดยในส่วนของนิยายทัศนศิลป์นั้น มันคือการเขียนนิยายเรื่องหนึ่งโดยใช้ภาพวาด แทนตัวหนังสือ เล่าเรื่อง นิยายทัศนศิลป์สองเรื่องนี้ประกอบด้วย เรื่อง ครั้งหนึ่งครั้งนั้นในใจข้า และ อาณาจักรแห่งเงา ซึ่งเป็นภาพที่วาดด้วยเกรยองบนสมุดเย็บติดกันเป็นเล่ม นับพันภาพ โดยแบ่งตอนด้วยข้อความ ภาพคือเนื้อหา และข้อความคือกุญแจในการเชื่อมร้อย เอื้อให้ผู้ชมสร้างเรื่องเล่าส่วนตัวขึ้นมาเองจากภาพที่เห็นในส่วนของหนังทดลอง สุชาติ สวัสดิ์ศรี เลือกทำหนังที่ดูเป็นส่วนตัวมาก ๆ
หนั้งสั้นของ เขา เริ่มต้นจากภาพซึ่งมองจากมุมของศิลปิน มันเริ่มจากความงาม เขาคว้าจับความงามโดยอาศัยกล้อง ประสานร่วมกับความทรงจำส่วนตัว แล้วค่อยแสดง –ความงาม-ออกมา โดยละทิ้ง หรือกดให้เรื่องเล่าลดความสำคัญลงไปอยู่ในระดับสุดท้าย
สเริงระบำดำรู (DANCING MOON) หนังอุทิศให้กับสองนักเขียนเรื่องรักเรื่องใคร่ผู้ยิ่งยงแห่งวงการวรรณกรรมอย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และ อุษณา เพลิงธรรม โดยชื่อเรื่องมาจากชื่อของหนังสือเล่มหนึ่งในชุดใหญ่ ของ อุษณา เพลิงธรรม ที่เน้นไปทางเรื่องอีโรติค ตัวหนังสือนั้น ก็ตามความหมายแปลตามคำนั่นเอง ภาพนิ่งของความเคลื่อนไหวแห่งแสงจันทร์ หนังใช้ภาพถ่าย วาดกล้อง โดยมีดวงจันทร์ เป็นแหล่งกำเนิดแสง เกิดเป็นเส้นสีขาว เริงระบำในจังหวะตัดภาพตามจังหวะเป่า TRUMPET ของ MILES DAVIS ว่ากันว่าในทางหนึ่ง หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึง ภาพลายเส้นที่ใช้เป็นปกเมื่อครั้งแรกตีพิมพ์ นั่นเอง *
ความลับในสวนศรี (SECRET GARDEN) ภาพสะท้อนกระจกในวงแสง ภาพซ้ำๆ เสมือนถ่ายผ่านกระจกที่แบ่งเป็นช่อง ปรากฏเป็นภาพซ้ำๆ ต่อเนื่องสร้างเป็นริ้วลายใหม่ ๆของสวนหลังบ้าน ของเขาเอง
ความลับในสวนศรี (SECRET GARDEN) ภาพสะท้อนกระจกในวงแสง ภาพซ้ำๆ เสมือนถ่ายผ่านกระจกที่แบ่งเป็นช่อง ปรากฏเป็นภาพซ้ำๆ ต่อเนื่องสร้างเป็นริ้วลายใหม่ ๆของสวนหลังบ้าน ของเขาเอง
ฝนโปรยคำ (AFTER THE RAIN FALL) กล้องพาเราไปเขม้นมองเม็ดฝนที่เกาะอยู่บนจอกแหน ภาพของเม็ดฝนบนพื้นเขียวและการวาดกล้องราวกับการเดินทางลึกเข้าไป ถอยออกมา เคลื่อนขึ้นและลง ในเสียงดนตรีที่ฟังราวเสียงฝน ฝนโปรยแล้ว ส่วนคำนั้น ผู้ชมจำต้องคิดขึ้นในหัวเอง
กัลปาวสาน (THE LONG SILENCE) หนังอุทิศให้กับ เรืองอุไร –กรุณา กุศลาลัย อาจารย์ผู้แปลงานของ รพินทรนารถ ฐากูร สู่นักอ่านชาวไทยมาช้านาน แลตัวหนังนั้นเปิดตัวด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับความตายจากหนังสือ คีตาญชลี ภาพที่เห็นปรากฏคือภาพฉายของใบหน้ารูปสลักอันอ่อนโยน วิบไหวในแสงแดดบ่าย จากมุมใกล้ มุมไกล ซ้อนภาพซ้ำเป็นริ้วลาย ท่ามกลางความเงียบอันสุขสงบ รูปปั้นในทางหนึ่งดูคล้ายพระพุทธรูปหรือการนิพพาน แต่ในทางหนึ่งมันก็ดูคล้ายร่างคนตาย ร่าง(หรือจิต) ที่เคยเคลื่อนไหวตลอด กลับสงบนิ่งลงแล้ว มีเพียงโลกเบื้องนอกที่ยังคงวิบไหวไปเช่นนั้น เป็นการเชื่อมโยงความตายเข้าไปสู่ภาวะอันเป็นนิรันดร์ และเป็น กาลอวสานของชีวิต
ข้างในกับข้างนอก (JOURNEY TO THE END OF THE NIGHT) ภาพตัดสลับระหว่าง แสงสีขาวเรื่อเรืองเบลอพร่าในความมืด กับภาพถ่ายจากท้ายขบวนรถไฟในยามอรุณรุ่ง ตัดสลับ ข้างในอันมืดมิด กับข้างนอกอันคือรุ่งอรุณ
ผู้แคะเนื้ออกจากเหล็ก (THE BODY GATHERER) หนังสั้นสุดหลอนในความยาวสองนาทีเศษ ตัดสลับภาพจากหนังของ STAN BRAKHAGE เจ้าพ่อหนังทดลองชาวอเมริกัน และ ถ้อยคำจาก “ บทเพลงของชายผู้แคะเนื้ออกจากเหล็ก “ ของผู้กำกับเอง ภาพสีช้ำ กับเสียงที่เมื่อเปล่งออกมาจะไม่หายไป ราวกับกักเก็บให้ก้องสะท้อนไปมาในกล่อง ก่อบรรยากาศหลอกหลอนเข้มข้น นับเป็นหนังที่ให้อารมณ์หนักหน่วงกว่าหนังเรื่องใดในชุดนี้
ฝันร้ายในคืนฤดูร้อนของหนังสงคราม ไทย- อเมริกัน (MIDSUMMER NIGHTMARE THAI AMERICAN MOVIE) หนังเริ่มต้นจากภาพของหนัง PREDATOR ของ อาร์โนลด์ ชวาร์ซเซเน็กเกอร์ รัวกระสุน อย่างบ้าคลั่ง ก่อนที่จะตัดไปสู่ภาพฟิล์มเลอะสีของหนัง STAN BRAKHAGE คลอด้วยเสียงเล่าของชายคนหนึ่งที่ถูกยิง ย้อนแย้งความเร้าใจในโรคบ้าสงครามของหนังอเมริกันได้อย่างน่าสนใจ เสียงเล่าความเจ็บปวดถูกยืดออกจนแทบฟังไม่ได้ศัพท์ และกลับมาชัดเจนในประโยคสุดท้าย สะท้อนข้อความสำคัญ ซึ่งส่งต่อให้ขยายความในหนังเรื่องต่อไป
ไม่มีอะไรให้ดู (DON’T EVEN THINK ABOUT IT!) สารภาพโดยความสัตย์ หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังที่ผมชอบที่สุดในรอบปีนี้ ตัวหนังคือภาพปะติดของเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทย นับจาก คณะราษฎร์ประการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปจนถึง 19 กันยา 49 ภาพร่างคร่าวคล้ายสารคดีพิมพ์นิยม ที่สะท้อนอุดมการณ์การเมือง แบบเหน็บแนม ความเป็นประชาธิปไตยแบบไทย หากแต่มันน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเราพิจารณา ภาพจากข่าวเหล่านั้นประกอบร่วมกับเสียงดนตรีพื้นหลัง ซึ่งทำหน้าที่ย้อนแย้งกันอยู่ ภาพในหนังคือความเป็นจริง และเสียงที่เราได้ยิน หากตระหนักถึงบทเพลง เราจะพบว่า มันคือกระแสสังคมที่เป็นไป หรือกล่าวอย่างง่ายมันคือการครอบงำภาพด้วยกระแสเสียง อันถูกทำให้เป็นอุดมการณ์ มวลชน ! (ยกตัวอย่างง่ายๆ ภาพการปราบปรามนักศึกษาเมื่อครั้ง 6 ตุลา ใช้เพลงประกอบเป็น เพลง หนักแผ่นดิน ! เพลงคลั่งชาติ ที่สะท้อนอุดมการณ์ที่รัฐพยายามจะบอกให้เชื่อว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ นำมาสู่การปราบปรามอย่างไร้ปราณีในเช้าวันนั้นราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์! ) และหากนี่คือบันทึกประวัติศาสตร์ หนังเสียดสีอย่างรุนแรงในบางฉากเมื่อหนังขึ้นข้อความ ตัดต่อความทรงจำ ไว้อาลัยแด่ผู้ล่วงลับ แล้วเฟดหน้าจอเป็นสีบางสี สะท้อนภาพความอีหลักอีเหลื่อ ปิดบังซ่อนเร้นของประวัติศาสตร์ไทย ที่หลายเรื่อง (โดยเฉพาะเรื่องที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้)ยังมีความลึกลับดำมืด ซ่อนเร้นอยู่ และคนทั้งประเทศ ยินดี ตัดต่อความทรงจำของตน! หนังจบภาพด้วยพวงหรีดไว้อาลัยให้กับระบอบประชาธิปไตย และประชาชนผู้ทนทุกข์ก้มหน้าติดดิน โดยส่วนตัวนี่คือหนังการเมืองที่รุนแรงที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยดูมา
แน่นอน ไม่อะไรให้ดู นอกจากรูและความเปลี่ยนแปลง ตลอด 75ปี อันล่วงผ่าน สิ่งที่ใฝ่ฝันนั้น อย่าฝันเลย! (DON’T EVEN THINK ABOUT IT) และนี่คือหนังที่มอบแด่ ส.ศิวรักษ์
มนัส เศียรสิงห์ (“RED” AT LAST) หนังเรื่องสุดท้ายในชุดที่ว่าด้วยการเมือง หนังเล่าเรื่องของชายชื่อ มนัส เศียรสิงห์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาอาศัยภาพจากเหตุการณ์จริง ตัดต่อเข้ากับเรื่องเล่า และ คำให้สัมภาษณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยส่วนตัวนี่คือหนังที่มีเรื่องราวที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุดในชุดด้วยเทคนิคแบบง่ายและดั้งเดิม แต่ที่สำคัญ ส่งสารได้อย่างทรงพลัง RED ในชื่อภาษาอังกฤษ ไม่ได้หมายความเพียง ชื่อเล่น ของมนัส แต่ยังหมายถึงสีเลือด ที่มาถึงในท้ายที่สุด!
บทเพลงแห่งความรื่นรมย์ (SONG OFJOY) เป็นหนังส่วนตัวที่เปิดตัวด้วยเสียงสายฝนแล้วเลือนไปสู่ร่างเปลือยเปล่าของหญิงสาว ตัดสลับกับภาพของ คิงคอง ในหนังเรื่อง KING KONG ของ PETER JACKSON กลายเป็นหนังอีโรติค ที่พูดถึงเพศชายผู้หยาบเถื่อน และ เพศหญิงที่นุ่มนวลอ่อนโยน บทเพลงแห่งความรื่นรมย์ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเพลงรักของหญิงชายนั่นเอง หนังดูคล้ายบันทึกความหวามไหวในวัยเด็กที่เขามีต่อสตรีเพศ
บนเส้นทางขนานคู่ (TO EVERYTHING THERE IS A REASON) หนังสั้นเรื่องสุดท้ายในชุดที่ฉายภาพจากสารคดีให้เห็นความงามในธรรมชาติ ที่งดงามยิ่งกว่าภาพเขียนใดๆ ประกอบเพลง TURN TURN TURN ที่มีเนื้อหาว่าด้วยวันเปลี่ยนเวียนหมุนไป เป็นหนังสั้นที่สวยที่สุดในชุดนี้หากมองหนังสั้นชุดนี้แยกเป็นเรื่อง เราอาจรู้สึกว่าบางเรื่องแทบจะไม่มีแก่นสารอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้จับต้อง ถึงขั้นเป็นเพียงการคว้าจับภาพประหลาด มาทดลองด้วยดวงตาอันเยาว์วัย ที่ใคร่รู้ว่าหากนำภาพเช่นนี้มาตัดต่อขึ้นเป็นภาพเคลื่อนไหวจะเป็นเช่นไร
แต่แน่นอน สายตาเช่นนั้น เมื่อมองจากชื่อและชั้น ย่อมต้องเลือกคัดเอาเนตรวิถีที่น่าสนใจ สวยสดงดงามออกมาเล่าอย่างไรก็ดี เมื่อมองการเรียงลำดับของหนังทั้งหมดร้อยเป็นชุดเดียวกัน เรากลับพบว่าหนังเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นหน่วยย่อยในการเล่า – ประวัติศาสตร์ส่วนตัว- ผ่านรูปแบบ –ห้วงคำนึง- อันรางเลือน และรื่นรมย์เราอาจแบ่งช่วงของหนังเสียใหม่ โดยเริ่มต้นช่วงแรก จาก ‘ห้องเสน่หา’ ไปสิ้นสุดที่ ‘ข้างในกับข้างนอก’ หนังทั้ง 6 เรื่องนี้ ดูยากเต็มไปด้วยภาพที่ไม่เล่าเรื่อง คล้ายแนวคิดเชิงนามธรรม แต่โดยส่วนตัว ผมพบว่านี่คือ ภาพสะท้อน ความเยาว์วัยของตัวศิลปินเอง (ในหนังชุดนี้ คุณ สุชาติ แทนหนังตัวเองด้วยคำว่า ‘จิตรกรรมวีดีทัศน์’ นั่นหมายความว่าในทางหนึ่งมันคืองานจิตรกรรม ที่อาศัยจอหนังและความเคลื่อนไหวต่างเฟรม) เป็นการเล่าเรื่อง ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น การงานอันเป็นที่รัก (ห้องเสน่หา , ฝนโปรยคำ ) สิ่งที่รักนั่นคืองานวรรณกรรม (สเริงระบำดำรู , กลัปาวสาน) คนรัก (ห้องเสน่หา, ความลับในสวนศรี) จวบจนกระทั่งมาจบที่ข้างในกับข้างนอก หากหนังชุดต้นทั้งหมด คือ – ข้างใน - ชุดต่อมาก็คือ - ข้างนอก -ผู้แคะเนื้อออกจากเหล็ก อึงอลด้วยเสียงของเมือง และบอกเล่า เรื่องราวนอกตัวศิลปิน ก่อนที่ ‘ฝันร้ายในคืนฤดูร้อน ฯ’ โยงใยไปสู่ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสงครามและส่งลูกต่อให้กับ ‘ไม่มีอะไรให้ดู’ และ ‘มนัส เศียรสิงห์’
อันแสดงทัศนะทางการเมืองของศิลปินอย่างเข้มข้น และรวดร้าว เฉกเช่นผู้ผ่านทางมา และถูกต้องหนามไหน่ในหนทางมาแล้ว มองย้อนกลับไป (ต่างจากมุมมองในขณะนั้นของนักทำหนังสั้นไทยหลายคน ที่เล่นประเด็นการเมืองได้น่าสนใจ)
(2 ภาพบนจาก มนัส เศียรสิงห์ - ภาพล่างคือภาพบันไดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จาก มนัส เศียรสิงห์)
ในขณะที่หนังชุดสุดท้าย คืนคลายไปสู่ภาวะสงบนิ่ง บทเพลงแห่งความรื่นรมย์ ย้อนรำลึกถึงฝันหวานเยาว์วัยในลักษณะการถวิลหา อดีตอันรัญจวน และอบอุ่น (ในส่วนนี้ทำให้นึกถึง ‘สเริงระบำดำรู’ ที่รัญจวน ใจยิ่ง) ในขณะที่ ‘แม่ไม้’ อาศัยเรื่องเล่าของผู้อื่นในการคลี่คลายมุมมองที่มีต่อโลก ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนไปไกลกว่า
ในขณะที่ ‘บนเส้นทางคู่ขนาน’ คือบทสรุปของหนังทั้งหมดที่ได้ดูมา เมื่อศิลปินค้นพบว่า ที่แท้อาจคือความว่างเปล่า อาจคือฤดูกาลอันหมุนไหมไม่สิ้นสุดเท่านั้นน่าทึ่งที่หนังทดลองของ คุณสุชาติ เต็มไปด้วยความหนุ่มสาว ที่มีหัวใจใฝ่ทดลองความเป็นไปได้ของภาพและเสียง มากกว่า ที่จะเป็นหนังนิ่งๆ ของคนผ่านชีวิตมานาน แม้การทดลองหลายครั้งไม่ได้ประสบผลสำเร็จยอดเยี่ยม และเป็นส่วนตัวจนเข้าถึงยาก ยิ่งหากฉายให้คนที่ไม่รู้จักตัวคุณ สุชาติ มาก่อนเลยได้ชมก็อาจได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างแบบสุดขั้ว แต่โดยรวมนี่เป็นหนังทดลองชุดที่น่าตื่นตา จากคนทำที่ยังคงน่าตื่นเต้นในความไม่หยุดนิ่ง จนเมื่อดูจบแล้ว อดตั้งคำถามกลับไปยังนักทำหนังหนุ่มสาว ถึงความกล้าคิดกล้าทำ กล้าจะแสวงหาหนทางใหม่โดยไม่ต้องหวั่นกลัวเพื่อไปให้ไกลกว่ากับดักที่ตัวเองสร้างขึ้น
ปล. ไม่มีอะไรให้ดู เป็นหนังที่ผมชอบที่สุดในปี 2550 นับจากเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ครับ·
ขอบคุณ ข้อมูลจาก วันเสาร์ เชิงศรี
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในการจัดฉายหนังทดลองและวีดีโอ อาร์ตของสุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2550 ที่ Bookhemian Cinematheque ของร้านหนัง(สือ)๒๕๒๑ จัดพร้อมการเสวนา -จักรวาลวิทยาของสุชาติ สวัสดิ์ศรี โดย กลุ่มนักเขียนภูเก็ต และและอาจารย์จาก คณะนิเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต
โปรแกรมหนังทดลองชุดนี้ได้จัดฉายอีกครั้ง พร้อมการร่วมสนทนากับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคมศกนี้ เวลา 13.00 น. และวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2550 เวลา 17.30 น. โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 5 ที่โรงภาพยนตร์ Esplanade
ย้อนอ่านบทความ ศิลปวิถี: จากบทร้อยกรองสู่หนังทดลอง ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรีของ กัลปพฤกษ์ ที่ http://www.onopen.com/2007/02/1428
เพิ่มเติมเกี่ยวกับ โลกหนังสือ และร้านหนังสือ ดวงกมล ของ สุข สูงสว่าง ยุคปัจจุบันได้ที่
บทความโดย Filmsick
No comments:
Post a Comment