9/11/07

ลุงแซม – ปู่ยุโรป The State of Films

ลุงแซม – ปู่ยุโรป
เดอะ สเตท ออฟ ฟิล์มส

โดย สนธยา ทรัพย์เย็น


(จากบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร FILMVIEW ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536)

โอกาสดีมาถึงอีกครั้ง เทศกาลหนังครั้งสำคัญครั้งใหญ่สำหรับคนไทย จากที่จัดกันทุกปีมีเพียงเทศกาลหนังประชาคมยุโรปซึ่งรวมหนังหลายๆ ชาติเข้าด้วยกัน คราวนี้หนังดีจาก 5 ชาติ ได้เข้ามาใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นกว่าครั้งอื่นๆ ทั้งเรื่องสถานที่ฉาย และหัวข้อร่วมซึ่งผู้สนใจศึกษาหนังยากจะมองข้ามได้

เพราะเป็นที่ถกเถียงกันเหลือเกินสำหรับความเป็นไม้เบื่อไม้เมาของหนังอเมริกัน หนังยุโรปศิลปะแท้ๆ หรือพาณิชย์ศิลป์ ข้อดีข้อด้อยของจุดยืนหนังแต่ละกลุ่ม รสนิยมการดูหนังของคนดูเศรษฐกิจและปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เกิดลักษณะต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้มองเข้าใจปรากฏการณ์หนังโดยรวมได้อย่างยุติธรรมรอบคอบมากขึ้น เพื่อป้องกันการด่วนตัดสินความดีงามของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด


ลองพิจารณาหนังอเมริกันที่คัดเลือกเข้ามาฉายก่อน ล้วนเป็นงานของผู้กำกับเอกคือ
ดักกลาส เซิร์ค, เพรสตั้น สเตอร์เจส, จอห์น ฟอร์ด, ฟริทซ์ ลัง (แลง), อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค และ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส ประกอบด้วยหนังหลากแนวต่างกัน (แม้หนังคาวบอย 2 เรื่องก็แตกต่างกันมากทั้งสไตล์และความคิด)


หนังกลุ่มนี้เป็นหนังตัวอย่างพื้นฐานที่ส่งอิทธิพลสืบต่อมากับหนังมาตรฐานทั่วไป เป็นทั้งแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการทำหนังรุ่นใหม่ๆ และขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนบุพการีที่เด็กรุ่นหลังอดไม่ได้จะต้องแสดงปฏิกิริยาขัดขืน แสดงความคิดรูปแบบใหม่ๆ ที่เขาเห็นเหมาะออกมาเทียบเคียงบ้าง ความรัก ความเคารพ ความชังจึงผสมผสานกันอยู่ไปมาเช่นนี้เสมอๆ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปมชนิดหนึ่ง (สมมุติเรียกปมโอดีปุส)

ปมชนิดนี้เรียกได้ว่าเกิดขึ้นทุกหัวระแหงรอบโลกแม้แต่ในเอเชีย โดยเฉพาะยุโรปซึ่งฟุบหนักไม่น้อยจากสงครามโลก 1-2 ต้องยกความเป็นมหาอำนาจให้ประเทศอายุเยาว์อย่างอเมริกา วัฒนธรรม ศิลปะในยุโรปแต่ละประเทศที่พัฒนามายืนยาวก็ถูกดูดกลืนย่อยเข้าเป็นศิลปะอเมริกันทีละน้อยๆ

เรื่องยืดยาวต้องย้อนอดีตนี้เริ่มที่ ผู้กำกับเยอรมันซึ่งยกขบวนอพยพไปทำหนังในอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งแรก (เทศกาลหนังผู้กำกับเยอรมันในฮอลลีวู้ดซึ่งยาวนานที่สุดที่เคยจัดมาในกรุงเทพฯ ยืนยันข้อนี้ได้ดี) กับเหตุต่อเนื่องในสงครามยุคนาซีช่วยให้ยุคทองของหนังเยอรมันยุคเอ็กซ์เพรซชั่นนิสท์ปิดฉากลง ก่อนจะไปก่อตัวใหม่ในรูปแบบที่คลี่คลายแล้วในงานฟิล์มนัวร์ หนังเขย่าขวัญ สยองขวัญฯลฯ


ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่ทรุดฮวบมากในช่วงสงคราม แม้จะมีงานเด่นๆ ออกมาบ้างก็ตามที ผู้กำกับฝรั่งเศสบางคนอย่าง ฌอง เรอนัวร์ ซึ่งบุกไปถึงฮอลลีวู้ด แม้จะเอาตัวรอดในสงครามทำเงินได้ก็ยังเรียกว่าไม่สบชะตาสมพงษ์สักเท่าใด จนกลับมาสร้างงานที่เป็นอิสระมากขึ้นในฝรั่งเศสอีกครั้ง


อิตาลีเช่นกันถึงแม้จะมีหนังที่เป็นความเชิดหน้าชูตามานาน แต่ก็เกือบจะจมอยู่ในหนังน้ำเน่าประเภทที่เรียกว่า White Telephone อยู่ตลอด ถ้าไม่ใช่เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุด โรแบร์โต้ รอสแซลลีนี่ขวนขวายหาฟิล์มถ่ายผสมเล็กผสมน้อยจนเกิดหนัง Rome, Open City นำขบวนนีโอเรียลลิสม์ (ทั้งแท้และเทียม) ออกมาตีตลาดโลก เกิดการกระตุ้นงอกงามลักษณะหนังหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตลกแบบอิตาเลียนรุ่นใหม่ หนังส่วนตัวตบหน้าสังคมของ เฟลลีนี่-อันโตนีโอนี่ หนังลีลากวีของ ปิแอร์ เปาโล พาโซลีนี่ และอื่นๆ อีกหลายคน

หรือกระทั่งมาถึงแนวคาวบอยสปาเก็ตตี้ของ เซอร์จิโอ เลโอเน่ ซึ่งย้อนรอยฟอร์มดั้งเดิมอเมริกันมาแปรสภาพ ใส่ความดิบเถื่อนเข้ามาค้านกับลักษณะผิดถูกขาวจัดดำจัดของหนังคาวบอยส่วนใหญ่


ตามด้วยหนังการมุ้งการเมืองแบบ แบร์นาโด้ แบร์โตลุคชี่ ซึ่งช่วงหลังดูเหมือนจะยอมขายตัวสลัดสำนึกอิตาเลียนไปจนหมด และหากจะนับรวมยอดถึงความขัดแย้งของอิตาเลียนอเมริกันในหนัง The Godfather ของ คอปโปล่า กับหนังบางเรื่องของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ จะได้ภาพรวมชัดสมบูรณ์มากขึ้น

อังกฤษเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีปัญหาในการดำรงลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะมากกว่าประเทศอื่น ส่วนหนึ่งเพราะการใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นสากล จึงเป็นการง่ายแต่ไหนแต่ไรให้สตูดิโออเมริกันชักจูงทำหนังร่วมกัน นำดาราอเมริกันมาร่วมแสดง ถ่ายทำในโรงถ่ายอังกฤษซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่า

และแม้ว่าประเทศอังกฤษ (ที่ถูกควรเรียกประเทศเครือจักรภพอังกฤษ) จะมีคนทำหนังฝีมือดีหลายคน แต่ก็เป็นลักษณะความสามารถของกลุ่มทีมงานเสียมากกว่า โดยที่ดึงรากฐานวรรณกรรมคลาสสิก (รวมของชาวไอริชด้วย) หรือพึ่งพามือเขียนบทเก่งๆ จากวงการละครเวทีเป็นอันมาก

แต่อย่างไรเสีย ผู้กำกับอังกฤษก็เป็นสินค้าส่งออกที่ดีมาตลอดทุกยุคสมัยสืบถึงปัจจุบัน เหตุผลหนึ่งคืออังกฤษมีผู้กำกับแนว auteur น้อยจึงไม่ติดความเป็นตัวของตัวเอง ยืดหยุ่นได้มากกว่าในงานรับจ้างทำตามใบสั่งทั้งหลาย เหลือเพียงคนทำหนังบางคนซึ่งไม่ถูกซื้อตัวไป และปักใจทำงานเพื่อตอบรับเนื้อหาของสังคมตน


งานเอกในช่วงทศวรรษ 60 ของอังกฤษกลุ่ม Free Cinema ที่จะจัดฉายในงานครั้งนี้แสดงสำนึกในการใช้ประโยชน์จากตัวอย่างของหนังนีโอเรียลลิสม์อิตาลี หนังกลุ่มคลื่นลูกใหม่ (Nouvelle Vague) ของฝรั่งเศสอยู่อย่างเห็นได้ชัด นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อังกฤษปลดปล่อยอิสระมากขึ้นจากสไตล์ละคร จนเกิดกระตุ้นการสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากกว่าเดิม

หัวหอกสำคัญซึ่งทำให้หนังยุโรปกลับมารุ่งเรืองเทียบเคียงหนังอเมริกัน คงต้องยกยอดอันดับหนึ่งให้หนังอิตาลี่ ตามมาติดๆ คือ หนังกลุ่มคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส (ผลงานฉายประกอบงานนี้เป็นตัวอย่างคืองานของ คล้อด ชาโบรล, เอริค โรห์แมร์ กับ ฌอง-ลุค โกดาร์)


คนกลุ่มนี้เริ่มต้นจากดูหนัง เขียนบทความหนัง วิจารณ์-รีวิวหนัง แสดงหนังตลอดถึงทำหนังด้วยตนเองอย่างครบวงจร นอกจากจะรู้เห็นเบื้องใน-นอกวงการหนังโดยตลอด ยังมีโลกทัศน์ที่กว้างขวาง สนใจศิลปะหลายหลาก อ่านหนังสือหนังหาทุกชนิด ทั้งวรรณกรรมคลาสสิกยุโรป และนิยายอาชญากรรมอเมริกัน (ที่ในอเมริกาเองถูกตีค่าเป็นหนังสือขยะ) กระทั่งทำหนังออกมาหลายเรื่องที่พาดพิงเกี่ยวโยงถึงสำนึกคนฝรั่งเศสต่อคนอเมริกัน


บางทีก็ทำหนังเนื้อเรื่องใกล้เคียงอเมริกันมาก แต่ต่างกันในแง่เนื้อหา ตัวอย่างเช่นหนังอาชญากรรมของ อแลง เดอลอง-ฌอง ปอล เบลมองโด้ เรื่อง Borsalino ทั้ง 2 ภาค ที่เป็นต้นแบบให้หนังทีวีฮ่องกงชุด ‘เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้’


หรือตัวอย่างชัดมากเร็วๆ นี้ เรื่อง La Femme Nikita ซึ่งบทสรุปหนังเป็นเรื่องการปฏิเสธความรุนแรง ทั้งๆ ที่ตัวหนังเกี่ยวกับความรุนแรงโดยตรงมาตลอดทั้งเรื่อง ฉากแอ็คชั่นในหนังบางฉากอาจเลี่ยงไม่แสดงฉากฆ่าฟัน แต่ส่อเป็นนัยถึงความโหดร้าย และตัดต่อให้เห็นก่อนการลงมือฆ่าและหลังฆ่าเป็นหลัก

แต่ปมรัก ปมชังฮอลลีวู้ด อย่างไรยังคงเป็นปมดินแดนในฝันของคนทำหนังหลายๆ คนที่จะได้ทำหนังราคาแพงๆ สร้างงานเพื่อเข้าหาคนดูกลุ่มใหญ่ บางทีก็เป็นเช่นความฝันอันแสนหวาน หากชะตาจะต้องกำหนดให้โอดีปุสฆ่าพ่อไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือร้ายก็ตาม

น่าแปลกที่หนังยุโรปพยายามเข้าใกล้คนอเมริกันอย่างจงใจมากเท่าใด ผลลัพธ์มักจะไม่ออกมาสมหวังกันทุกฝ่าย (ทั้งด้านศิลปะกับการเงิน) เช่นทำหนังพูดภาษาอังกฤษเอาใจอเมริกัน หรือผนึกพลังรวมดาราดัง ผู้กำกับ คนเขียนบท ตากล้องดังๆ ไม่ได้ช่วยประกันความสำเร็จแต่อย่างใด

ดูอย่างกรณีหนังนีโอเรียลลิสม์อิตาลีที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อหนังพบความสำเร็จ อเมริกันก็ยื่นมือเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียทำให้เสียนิสัย ดารา ผู้กำกับ เช่น วิตตอริโอ เดอ สิก้า ไปทำหนังเนื้อหาอเมริกันแท้ หรือการหาประโยชน์จากนีโอเรียลลิสม์จนเกิดนีโอเรียลลิสม์เทียมล้นตลาด นักแสดง เช่น มาร์แชลโล่ มาสโตรญานนี่, ฌอง ปอล เบลมองโด้, แคธรีน เดอเนิฟ, โซเฟีย ลอเรน พากันไปโผล่หน้าพร้อมๆ กับ ชาร์ลส์ บรอนสัน, โตชิโร มิฟูเน่ อย่างสนุกสนาน เหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการวิกฤตเรียกได้ว่า ปรากฏการณ์อินเตอร์พุดดิ้ง กลายเป็นขนมอบรวมรสที่อบไม่สุก

ย้อนกลับมาที่เยอรมัน คนที่รู้สึกผิดบาปที่สุดในปมชนิดนี้คงไม่พ้น วิม เวนเดอร์ส เพราะไม่ว่าเขาจะหนีความเป็นเยอรมันไปที่ใด เขาก็ต้องยอมรับว่าเขาหนีมันไปไม่พ้น ความขัดแย้งชนิดนี้เกิดจากความชมชอบวัฒนธรรมอเมริกัน ความฝันจะทำหนังอเมริกันแท้จึงเข้ากันไม่ได้กับระบบความคิดแบบยุโรปของเขา

ครั้นเขาจะแลหาที่พึ่งจากหนังเยอรมันยุคเก่าๆ ก็ไม่สามารถสัมพันธ์กันได้ติดอย่างที่ควรเป็น เพราะสมบัติที่คนเยอรมันจะภูมิใจได้อย่าง แอร์นส์ท ลูบิทช์, บิลลี่ ไวล์เดอร์, ฟริทซ์ ลัง หรือ ดักกลาส เซิร์ก ก็โอนสภาพไปหาเนื้อหาเรื่องราวสังคมอเมริกันอยู่ที่ฮอลลีวู้ดโน้น อย่างไรก็ตามผลงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวฝรั่งเศสช่วยเป็นตัวอย่างที่ดี ให้เขามองเห็นวิธีแสดงความรัก ความชังต่อหนังอเมริกันออกมาได้สำเร็จ


The State of Things ของ วิม เวนเดอร์ส น่าจะเป็นตัวอย่างเหมาะสมในการศึกษางานของเวนเดอร์สและช่วยส่องให้เห็นเงื่อนขัดแย้งของปมอเมริกัน-ยุโรปได้ดีที่สุดอันหนึ่ง แม้จะไม่ได้จัดรวมกลุ่มเข้ามาฉายในเทศกาลนี้ด้วยก็ตาม


หนังเกี่ยวกับปัญหาการถ่ายหนังชื่อ The Survivors ของทีมงานนานาชาติในโปรตุเกสเข้าใจว่าเป็นเนื้อเรื่องไซ-ไฟ โลกอนาคตเกี่ยวกับผู้รอดชีวิตหลังสงครามโลกครั้งสุดท้าย ตัวผู้กำกับ ฟรีดริช ชาวเยอรมันกับทีมงานรวมรสแนวอินเตอร์พุดดิ้ง ไม่สามารถจะถ่ายหนังให้จบเรื่องได้เนื่องจากช็อตเงิน ผู้อำนวยการสร้างชาวอเมริกันชื่อ กอร์ดอน หายตัวไปอย่างลึกลับไม่มีใครรู้ที่อยู่

ขณะที่เหตุการณ์ผ่านไปวันๆ อย่างน่าเบื่อหน่ายเต็มไปด้วยปัญหาส่วนตัวของแต่ละคน รวมถึงผู้กำกับเอง คงจะมียกเว้นก็แต่ตัวละครเด็กที่แสดงในหนัง The Survivors ที่ไม่มีปัญหาหนักใจเช่นพวกผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในที่สุด ฟรีดริช รอต่อไปไม่ไหวต้องเดินทางกลับไปอเมริกาตามหา กอร์ดอน หลังจาก เวตติ้งฟอร์โกโดต์ อยู่นานเขาก็พบ กอร์ดอน เข้าจนได้ กอร์ดอน ตอนนี้มีสภาพไม่ต่างจากคนจรจัดข้างถนนสักเท่าใด เขาอาศัยอยู่ในรถบ้านเคลื่อนที่ของเพื่อนคนหนึ่ง โดยละทิ้งความฝันความหวังใดๆ ในอนาคตการทำหนังอย่างจำนน



หนังพยายามแสดงความเข้าใจต่อความคิดคนยุโรป คนอเมริกันอย่างยุติธรรมมากที่สุด ตัวกอร์ดอน เองก็เป็นคนชอบดูหนัง รักหนัง รักงานที่ตนเองทำ เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ให้โอกาสผู้กำกับยุโรปที่ตนสนใจได้สร้างหนังตามต้องการ เพื่อทำหนังดีในอุดมคติ

และแม้ว่าศิลปะแท้นั้นน่าใฝ่ฝันหา แต่ความจริงนั้นเล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะหาใครอยากดูหนังของ ฟรีดริช ประเภทอ้อยสร้อยจับตาดูความเป็นไปในชีวิต มองสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาอย่างสนอกสนใจ โดยไม่ยึดติดเนื้อเรื่องสนุกสนานเป็นหลัก แถมยังใช้ฟิล์มขาวดำถ่ายหนังอีกด้วย ความต้องการทำหนังศิลปะแท้ๆ ของเขาคงจะต้องหาทางประนีประนอมกับอุตสาหกรรมหนังอเมริกันจึงจะอยู่รอดต่อไปได้ในฮอลลีวู้ด เป็นเรื่องที่พึ่งพาทั้งฝีมือ โชคชะตา และความฟลุคทีเดียว ถ้าหวังงานใกล้ความสมบูรณ์ออกมาสักชิ้น


The State of Things พูดถึงการเผชิญหน้าของการทำหนังอเมริกัน และยุโรปทั้งทางตรงทางอ้อม มีนักแสดงรับเชิญอย่าง โรเจอร์ คอร์แมน (ราชาหนังเกรดบีผู้ให้โอกาสแรกแก่คอปโปล่า, สกอร์เซซี่, โจนาธาน เด็มมี่ ฯลฯ ได้เกิด) แซมมวล ฟูลเลอร์ ผู้กำกับอเมริกันฝีมือดีที่ฮอลลีวู้ดเมินรับเชิญเล่นหนังให้ วิม เวนเดอร์สมาก่อนใน The American Friend (บทหัวหน้าแก๊งสเตอร์ราชาหนังโป๊)

นอกจากนั้นยังมีการอิงหนังแบบอื่นๆ เช่นเดียวกับหนังทุกเรื่องของ เวนเดอร์ส มีทั้งการหวนหาความงามศิลปะหนังเก่าในอดีตของ จอห์น ฟอร์ด อยู่ 2-3 ฉาก หนังเดินทางอาชญากรรมที่กอร์ดอนอ้างและขาดไม่ได้ แสดงรากเหง้าของ ฟรีดริชเอง เมื่อไปยืนโทรศัพท์ในฮอลลีวู้ดแล้วพบว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนฟุตบาธที่มีชื่อผู้กำกับเก่า ฟริทซ์ ลัง


เข้าใจว่าหนังเรื่องนี้คงมีบางส่วนจากความสัมพันธ์ของ เวนเดอร์ส และ คอปโปล่า อยู่บ้าง ตามประวัติแล้วหลังจาก เวนเดอร์ส ทำหนัง The American Friend เสร็จ ก็ได้รับเชิญจาก คอปโปล่า ให้ไปอเมริกากำกับหนัง Hammett ซึ่งเกี่ยวกับนักเขียนนิยายอาชญากรรมชื่อ แฮมเม็ตต์ (อ้างอิงบางส่วนจากประวัติและงานเขียนของ แดชเชียล แฮมเม็ตต์ ตัวจริง)

ช่วงนั้น คอปโปล่า ร่ำรวยจากหนัง The Godfather 2 ภาคจนตั้งสตูดิโอของตัวเองนาม Zoetrope Studio ตั้งใจจะให้เป็นยูโธเปียของนักทำหนังทุกคน รวมคนเก่งทั่วโลกหลายคนมาทำหนังในระบบล้ำยุคสุดยอด บุคคลส่วนหนึ่งนอกจาก เวนเดอร์ส ก็มี ไมเคิล พาวเวลล์, อากิระ คุโรซาว่า, แวร์เนอร์ แฮร์โซก และ ฌอง ลุค-โกดาร์ แต่ฝันหรูกลายเป็นฝันร้ายความคิดแบบยุโรปขัดแย้งกับอเมริกัน ประกอบกับหนัง คอปโปล่าเองเรื่องต่อๆ มาอย่าง One From the Heart และ Apocalypse Now สร้างหนี้สินมหันต์จนต้องขายฝันไปแทบยกสตูดิโอ

หนำซ้ำ คอปโปล่า ยังเคยมีรถตู้หรือรถบ้านเคลื่อนที่แบบในหนัง The Conversation ของเขา จนกลายเป็นมุขล้อตัวละคร กอร์ดอน ที่อ้วนลงพุงนอนอยู่ในรถบ้านเคลื่อนที่ใน The State of Things นี้ (หรือล้อนายพันเคิร์ท ซึ่งปรากฎตัวตอนท้ายเรื่อง Apocalypse Now) กอร์ดอนพูดเยาะเย้นตัวเองให้ฟรีดริช ฟัง “พวกเราเป็นพวกที่รอดชีวิต (survivors)”



ก่อนหน้าหนัง The State of Things 1 ปี มีหนังที่ว่าด้วยปัญหาการสร้างหนังเรื่องหนึ่งคือ Passion ของ ฌอง-ลุค โกดาร์ แตกต่างที่หนังของโกดาร์ ดูจะเป็นปัญหาส่วนตัวและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเรื่องปัญหาของระบบการสร้างหนังพาณิชย์ศิลป์ แต่หนัง 2 เรื่องมีจุดร่วมคือพูดถึงความขัดแย้งของจิตสำนึกในการที่จะเล่าเรื่อง ตามแบบมาตรฐานหนังอเมริกันทั่วไป


โดย เจอร์ซี่ ผู้กำกับ (ในหนังซ้อนหนัง) เรื่อง Passion ปฏิเสธที่จะยอมรับว่า ในการทำหนังนั้น เนื้อเรื่องเป็นสิ่งจำเป็นมาก่อนสิ่งอื่น เพราะ One must live stories before inventing them ส่วน ฟรีดริช ใน The State of Things กลับมองว่า Stories only exists in stories ขณะที่ชีวิตผ่านไป โดยไม่เห็นความจำเป็นต้องทำให้เป็น stories ไปแปลกที่ กอร์ดอน จะพูดว่า “ถ้าฉันทำหนังเรื่องเดียวกันนี้กับผู้กำกับอเมริกันเป็นหนังสีซะ ป่านนี้ฉันก็รวยเละไปแล้ว”

ในตอนจบหนัง กอร์ดอน และฟรีดริช ร่ำลากันโดยไม่มีความผิดใจเป็นส่วนตัว จู่ๆ ก็มีกระสุนลึกลับยิงถูกกอร์ดอนตายไปต่อหน้าต่อตา ฟรีดริชรีบหยิบกล้องถ่ายหนัง 8 มิลขึ้นมาสู้ต่างปืน แต่ก็ถูกยิงล้มลงด้วยเช่นกัน ภาพสุดท้ายของหนังเป็นภาพจากกล้อง 8 มิล ในมือของ ฟรีดริชจับภาพรถบนถนนที่วิ่งออกไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นรถของใคร ของฆาตกรหรือไม่อย่างไร

กอร์ดอนเห็นด้วยกับฟรีดริชว่าความตายเป็นเนื้อหายอดนิยมของหนัง รองลงมาคือเรื่องรัก บางทีอาจจะหมายถึงความตาย ความรักของหนังด้วย

เพลงที่กอร์ดอนร้องในรถบ้านมีเนื้อว่าดังนี้

Hollywood never been place people had it so good
Like Hollywood, like Hollywood
What do you do with your days, what do you do with your days
In Hollywood, in Hollywood
What do you do with your nights, what do you do with your nights
In Hollywood…….

ใช่ ฮอลลีวู้ด ปมความรัก-ความชัง ซึ่งต่างกันเหลือเกิน แต่ก็อาจสับสนแยกกันออกยากเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน รักมากชังมากเท่าใด ก็ยังไม่วายหลงเสน่ห์ของฮอลลีวู้ด

หมายเหตุท้ายเรื่อง: หนังอเมริกัน หนังยุโรป หรือหนังทั่วโลก ต่างมีอิทธิพลต่อกันและกันมาตลอด ทั้งทางตรงทางอ้อม บ้างผสมกลมกลืนย่อยแล้วเป็นเนื้อเดียวเข้ากับเนื้อหาสังคมสไตล์เฉพาะหนังนั้นๆ ส่วนบางเรื่องเป็นการลอกเลียนแบบอย่างซื่อๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือหนังสำคัญทุกเรื่องของแต่ละชาติไม่อาจขาดสำนึก กลิ่นอายประเด็นสังคม ประวัติศาสตร์ อารมณ์ขัน มุมมองเฉพาะสะท้อนพื้นเพความเป็นมาของผู้สร้างจนได้ในที่สุด ซึ่งแน่นอนผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะออกมาเมื่อแสดงในรูปลักษณ์จิตใต้สำนึกบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติ มิใช่การฝืนยัดเยียด หรือสั่งทำเอาแต่ตามใจชอบ
--------------------------------------------------------------------------------------------
พิเศษ: Passion มีโปรแกรมฉายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 16 กันยายนนี้
ดูโปรแกรมหนังของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ได้ที่

No comments: