Liv Ullmann’s Changing
Liv Ullmann and Ingmar Bergman
อีกฟากหนึ่งของความฝัน: บันทึกความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงคนหนึ่ง
ลิฟ อุลมานน์ เขียน
แปลจาก Changing
คันธา ศรีวิมล แปล
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2530
เมื่อ 20 ปีก่อนหนังสือเล่มนี้เคยติดอันดับเบสต์เซลเลอร์และแปลเป็นไทยขายมาแล้ว ทั้งๆ ที่ ลิฟ อุลมานน์ ก็ไม่ได้มีหนังมาฉายในบ้านเรามากมาย อาจจะมีก็แต่หนัง 2 ภาคของ Jan Troell เรื่อง The Emigrants หรือ The New Land ที่ได้เข้าชิงออสการ์หลายรางวัล หรือไม่ก็หนังฮอลลีวู้ดเช่น Lost Horizon หรือ Pope Joan ที่ไม่มีใครจดจำกันอีกแล้วกระมัง
ช่วงที่เธอเริ่มไปแสดงหนังฮอลลีวู้ด เธอกำลังอยู่จุดสูงสุดในชีวิตการแสดงเพราะผลงานหนังของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ยอดผู้กำกับระดับเทพของสวีเดน (และของโลก) แม้ว่าทั้งคู่จะอายุแตกต่างกันถึง 20 ปี แต่ก็มีสัมพันธ์รัก และร่วมงานกันอย่างเข้าขา จนสร้างงานระดับยอดไว้เยอะ แถมไม่น้อยยังได้เข้าชิงรางวัลที่อเมริกา อาทิ Hour of the Wolf, Shame และ Persona และ Face to Face
ในหนังสือชีวประวัติที่เธอเขียนเองคือเล่ม Changing (เล่ม 2 ชื่อ Choices ไม่มีผู้แปลไทย) เธอบันทึกถึงการทำงาน และสัมพันธ์รักเข้มข้นรุนแรงระหว่างเธอกับ อิงมาร์ เบิร์กแมน ผู้กำกับอารมณ์ร้าย ความรักที่ทำให้ทั้งคู่ต่างฝ่ายต่างทิ้งคู่เดิมของตนเองมาอยู่ร่วมกัน จนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แต่ 5 ปีต่อมาก็พบว่าสามารถรักและเคารพกันได้ดีกว่าเมื่อต่างแยกกันอยู่
อย่างไรก็ตามทั้งคู่ยังคงความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อนสนิทแนบแน่น แถมยังร่วมงานทำหนัง ให้กำลังใจและคำปรึกษากันตลอด โดยเฉพาะยามที่ ลิฟ อุลมานน์ หันมามือรุ่งในด้านการกำกับหนังดีอย่าง Sofie (1992) และ Faithless (2000) อีกทั้ง อุลมานน์ ก็กลับมาร่วมแสดงหนังของ เบิร์กแมนอยู่เป็นระยะ ยิ่งครั้งสำคัญก็เช่น Cries and Whispers, Scenes from a Marriage, The Magic Flute, Face to Face , The Serpent’s Egg, Autumn Sonata และ Saraband (หนังภาคต่อ 30 ปีต่อมาของ Scenes from a Marriage)
และนี่คือบางส่วนของ “อีกฟากหนึ่งของความฝัน” สำนวนแปลของ คันธา ศรีวิมล หนังสือเล่มนี้น่าจะขายดีพอสมควรในเมืองไทย เพราะ 5-6 ปีต่อมาเคยมีการพิมพ์ซ้ำ บังเอิญผมมีรูป ลิฟ อุลมานน์ เป็นปกบทหนังเรื่อง Face to Face เขามาขอยืมไปทำปกพิมพ์ครั้งใหม่เป็นกระดาษปอนด์สวยไฉไลกว่าเดิม แต่จนบัดนี้ผมก็ยังไม่ได้รับเล่มพิมพ์ใหม่ไว้เก็บเป็นที่ระลึก
เอาเป็นว่า คุณผู้อ่านน่าจะหาได้ไม่ยาก ไม่ปกใดก็ปกหนึ่ง ตอนนี้เลยลงแค่ปกเก่า ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ให้ดูก่อน
อ้อ ในเล่มมีพูดถึง บีบี แอนเดอร์สัน, เออร์แลนด์ โจเซฟสัน สมาชิกกลุ่มละคร-หนังของเบิร์กแมน อันลือลั่น และบรรยากาศการทำงานกับเจ้าปรมาจารย์อันลือลั่น มุมมองความรักที่ละเอียดอ่อน และชีวิตส่วนตัวของ อุลมานน์ ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง คนชอบเบิร์กแมน จำต้องหามาอ่านให้ได้ทีเดียว ส่วนคนที่ไม่สนใจเรื่องหนัง คุณค่าในทางจิตใจของชีวิตผู้หญิงทำงานที่ต้องรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมในสังคม ก็น่าจะคุ้มค่าแล้วในการศึกษาหาอ่าน ขนาดผมเองเลิกชอบหนังเบิร์กแมนมานานแล้ว ยังรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์มาก
*********************************************************************************************************
นานตราบเท่าที่ฉันใช้ชีวิตอยู่บนเกาะ ฉันเฝ้าแต่คิดว่า ฉันคงจะสามารถฝ่าข้ามความโดดเดี่ยวและค้นพบอีกด้านหนึ่งของเขา
เรารู้จักกันและกันมากเหลือเกิน บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเราคล้ายคลึงกันมากเกินไป
บางครั้งเขาก็พูดว่าเราเป็นเช่นนั้น
ฉันเคยใฝ่ฝันถึงการรวมเข้าด้วยกันอันยิ่งใหญ่ และมั่นใจว่าเราสามารถบรรลุถึงจุดนั้น
แต่ความแตกหักก็นำมาสู่ความโดดเดี่ยวในตอนท้าย และฉันก็ได้รู้ว่าสิ่งนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นเลย
แล้วบางสิ่งบางอย่างในตัวฉันก็แตกร้าว
เด็กสาวที่อยู่ภายในตัวฉันร้องไห้คร่ำครวญ เธอทำให้ฉัน ซึ่งมีอายุสามสิบ กลับไปเป็นเด็กสาวน้อยๆ อายุสิบสามอีกครั้ง
จวบจนกระทั่งฉันไม่มีน้ำตาอีกแล้ว และตระหนักดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีชีวิตอยู่เหมือนเช่นว่าชีวิตของฉันจะบรรลุสมประสงค์ได้ก็เฉพาะโดยบุคคลอีกผู้หนึ่ง ไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาแหล่งหลบภัยในบุคคลผู้อื่นจากสิ่งที่เป็นความว้าเหว่และความไม่มั่นคง ของฉัน
อิงมาร์ ไม่ได้อยู่ในชีวิตของฉันดังเช่นก่อนหน้านี้อีกต่อไปแล้ว นั่นคือข้อเท็จจริง ซึ่งไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ทว่าฉันก็ยังคงมีตัวฉันเอง สัมพันธ์กับการมีตัวตนอยู่ของฉัน ทุกสิ่งภายในตัวฉันที่จะต้องก้าวต่อไป
ฉันคิดถึงการปรากฏตัวในแต่ละวันของอิงมาร์ แต่ฉันก็รู้ว่าฉันมีมิตรภาพของเขา และมันขึ้นอยู่กับฉัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ต้องการมากที่สุด ที่จะค้นพบจุดใหม่ของความสัมพันธ์ที่เราทั้งสองต่างก็สามารถพบกันได้
ด้วยพลังทั้งหมดที่ฉันมีอยู่ ฉันสร้างสะพานที่ทอดข้ามระหว่างเรา และภายหลังจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีขึ้น
ช่วงเวลาหนึ่งเราเคยโทรศัพท์ถึงกันวันละหลายครั้ง ฉันจะอ่านความเรียงเก่าๆ ของฉันให้เขาฟัง ส่วนเขาก็จะเปิดแผ่นเสียงที่เขาโปรดปรานให้ฉันฟัง
ความรักมีอยู่หลายโฉมหน้า
No comments:
Post a Comment