9/23/07

Alphaville

Godard 's Alphaville
นำแสดงโดย Eddie Constantine, Anna Karina
กำกับโดย : Jean-Luc Godard
บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน


ในโลกอนาคต เสียงบรรยาย ที่ออกมาจากปากชายกล่องเสียงชำรุด กล่าวทำนองว่า “บางครั้ง ความเป็นจริงซับซ้อน เกินกว่าจะสื่อสารได้ด้วยการบอกเล่า ทว่า ตำนานจะทำหน้าที่แต่งแต้ม ให้มันออกรส มีเสน่ห์ จนขจรกระจายไปทั่วโลก”

ออกจะเป็นประโยค ที่มีเนื้อหาใจความที่ได้ยินกันมาบ่อย และฟังดูเหมาะแก่การเป็นประโยค เปิดตัวหนังย้อนยุค เชิดชูบุคคลในตำนาน มันเป็นประโยคที่เปิดตัว ตัวละครที่ชื่อว่าสายลับ เลมมี่ คอชั่น (รับบทโดยเอ็ดดี้ คอนสแตนติน) อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ มีบางอย่างไม่ชอบมาพากลซุ่มรอสายลับเลมมี่ อาคันตุกะ จากต่างแดน เมืองชื่อคุ้น นูวา ยอร์ค เขามาถึง อัลฟ่าวิลล์ ด้วยมาดสุขุม ใบหน้าไร้ความรู้สึก เข้าพักในโรงแรมโดยการปลอมตัวเป็นนักข่าวชื่อ อีวาน จอห์นสัน



สายลับเลมมี่ เป็นคนที่มีอุปนิสัยกักขฬะ สอดรับกับใบหน้า หลักฐานปรากฏชัดจากการที่ เขาปฏิเสธที่จะให้ทิปแกเด็กยกกระเป๋าแถมยังไล่ไปไกลๆ เขาแสดงทัศนคติตรงไป-ตรงมาและค่อนข้างโผงผาง มีท่าทีรังเกียจ ไม่รับบริการจากแม่สาวนักยั่วยวนมืออาชีพประจำโรงแรม และ เมื่อผู้บุกรุกเรียกร้องให้เขาสุภาพกับผู้หญิง พร้อมทั้งถามว่า “ไม่ชอบเธอคนนี้หรอกหรือ” เขาถามตอบว่า “แล้วน้องสาวแกล่ะ” เขาเล่นงานผู้บุกรุกอย่างไร้ความปราณี เห็นได้ชัดว่าสายลับคอชั่น เป็นสิ่งแปลกปลอมของเมืองนี้


แต่ระหว่าง-ความแปลกประหลาดของเมืองนี้ กับ-ความแปลกปลอมของเขา เป็นเรื่องที่เพิ่งเริ่มเผยตัวเอง ภารกิจต่อมาของเขาคือต้องไปพบคนสองคน คนหนึ่งคือ อองรี ดิคสัน สายลับคนก่อนที่ถูกส่งตัวมา บัดนี้ถูกกลืนไปกันคนในอัลฟ่าวิลล์ ส่วนอีกคนคือ ศาสตราจารย์ ฟอนบรอน


สาวสวยชื่อ นาตาชา ฟอนบรอน (รับบทโดย อันนา คาริน่า คู่ชีวิตของโกดาร์ในช่วงเวลานั้น เธอผูกขาดบทนางเอกในหนังของเขาหลายเรื่อง) มาขอพบสายลับเลมมี่ เธอมีนามสกุลเดียวกับบุคคลที่เขาต้องการตัว เขาอดสงสัยไม่ได้ว่าเธอมีความสัมพันธ์อะไรกับศาสตราจารย์ ฟอนบรอน และก็ได้รู้ในที่สุดว่าเป็นบิดาของเธอ


สายลับเลมมี่ ออกอุบายว่าตนต้องเขียนถึงบิดาเธอ พร้อมทั้งออกปากให้เธอเป็นฝ่ายนัดพบให้ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงตัวเขาเข้าไปสู่เรื่องประหลาดในอัลฟ่าวิลล์ เราได้รู้ว่า นาตาชา สาวสวยแห่งอัลฟ่าวิลล์ไม่รู้จักคำว่า “รัก” เมื่อใดที่เธอตอบว่า “ใช่” เธอจะตอบมันพร้อมกับการส่ายหน้า (ขัดแย้งกับอาการคนทั่วไปอย่างน่าอึดอัด) เธอเล่าให้ฟังว่าคนในเมืองนี้ถูกห้ามแสดงความรู้สึก ข้อห้ามที่ใครฝ่าฝืนและถูกจับได้จะได้รับโทษหนัก


นักสืบคอชั่น มีโอกาสได้เป็นสักขีพยานในการประหารชีวิตผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นผู้ชายจำนวนมาก เข้าแถวยาวเหยียดรอรับการประหารที่แสนพิสดาร มีคนดูยืนปรบมือเหมือนเป็นมหรสพ เจ้าหน้าที่อธิบายว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนถูกประหารจะมีอัตราส่วนอยู่ที่ชาย 50 คนต่อผู้หญิง 1คน ชายคนหนึ่งถูกประหารเพราะร้องไห้เสียใจที่สูญเสียภรรยา สายลับ เลมมี่ ถูกสอบสวนโดยคอมพิวเตอร์ (เสียงเดียวกับเสียงบรรยาย) และถูกส่งตัวไปศูนย์ควบคุม เพื่อซักถามอย่างละเอียดโดยหัวหน้าวิศวกร


สายลับเลมมี่ ได้ทราบข้อเท็จจริงในที่สุดว่า อัลฟ่าวิลล์ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า อัลฟ่า60 ระบบการทำงานของมันออกแบบขึ้นตามแนวคิด ปรัชญาในการปกครองของศาสตราจารย์ ฟรอนบรอน อัลฟ่า60 ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ธรรมดา มันสามารถคิดได้เอง มันสามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ธรรมดา ให้เหนือมนุษย์ (กลายเป็นเครื่องจักรแห่งอนาคต) มันล้างสมอง มนุษย์จากต่างแดน มาแล้วมากมาย โดยเฉพาะคน สวีเดน เยอรมัน และอเมริกัน (ไม่ยักกะมีคนฝรั่งเศสแฮะ) ใครที่ล้างสมองไม่ได้ ก็จะถูกสังหารเสีย


อัลฟ่า 60 กำลังคิดการใหญ่ ด้วยการชิงเป็นฝ่ายประกาศสงครามกับต่างแดนเสียก่อน ด้วยรู้ว่า เมื่อใดที่ต่างแดนล่วงรู้ถึงความเป็นไปในอัลฟ่าวิลล์ ที่นี่ก็จะตกเป็นเป้าโจมตีอย่างแน่นอน เมื่อสายลับ เลมมี่ เข้าไปถึงศูนย์ควบคุมอัลฟ่า 60 เขารู้ว่า อัลฟ่า 60นั้น มีแนวคิดคล้ายคลึงกับจอมเผด็จการ ฮิตเลอร์ (ก่อนหน้านี้ ในลิฟท์ แผงควบคุมมีปุ่มเขียนว่า SS เมื่อกดปุ่มนั้นก็จะได้พบกับศาสตราจารย์ ฟอนบรอน) สายลับเลมมี่สร้างความปั่นปวนให้กับอัลลฟ่า60ด้วยการร่ายกวีให้มันฟัง เขาพยายามหลบหนีจากอัลฟ่าวิลล์ โดย พาตัว นาตาชา ผู้แตกต่างจากคนอื่นๆ ใน อัลฟ่าวิลล์ไปด้วย


นี่เป็นหนังวิทยาศาสตร์ จะว่าไปแล้ว หากใครเคยเห็นภาพนิ่งของหนังเรื่องนี้ ก็คงยากที่จะนึกออกว่า จะเป็นหนังวิทยาศาสตร์ไปได้อย่างไรหนอ ความชาญฉลาดในการสร้างสร้างสรรค์นี้แล จะเปลี่ยน แต่งแต้มตำนานให้พิสดารโดยไม่ต้องหวังพึ่งพาเพียงงานสร้างให้สิ้นเปลืองหมดเปลือง หมดเงินไปโข แต่ก็ได้แค่หนังวิทยาศาสตร์ไร้มิติ แนวคิดสำเร็จรูป


หลายฉากในอัลฟ่าวิลล์นั้น เข้าใจว่า โกดาร์ ต้องการอิงกับหนังเรื่องอื่นอย่างจงใจ อย่างเช่น ฉากเปิดตัวนาตาชา ฟอนบรอน ที่คล้ายคลึงกับฉากเปิดตัว มารี ในเรื่อง To Have and Have Not ของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ อย่างกับแกะโคลนนิ่ง มารี ถามหาไม้ขีดไฟ ทันทีที่ปรากฎตัวหน้าห้องของกัปตัน แฮร์รี่ มอร์แกน ซึ่งรับบทโดย ฮัมฟรีย์ โบการ์ท ส่วน นาตาชา ถามหาไฟจุดบุหรี่ แล้วก็ได้ไฟจุดบุหรี่จากไฟแช็กที่ถูกจุดขึ้นอย่างพิสดาร (จุดด้วยปืน) หรือว่าการแต่งกายของสายลับ เลมมี่ คอชั่น ที่เป็นลักษณะเดียวกับตัวละครในหนังฟิล์มนัวร์อเมริกันยุค 40


ความคล้ายคลึงที่ถูกนำมาพลิกแพลงจนเข้ากับหนังตัวเองอย่างแนบเนียน แถมยังเรียบเรียงมุมมองจนเกิดภาษาหนังใหม่ๆ ทำให้หนัง โกดาร์ แตกต่างจากหนังลอกเลียนขี้ขโมย ที่ทำไปเพื่อการค้า-ผลกำไร เพียงถ่ายเดียวอย่างสิ้นเชิง


กล้องทำหน้าที่จับภาพเหมือนแทนสายตาของคนแปลกหน้า สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตามากมายในอัลฟ่าวิลล์ ก็คือ ด้านของฉากแอคชั่นที่ฉลาดเล่น ช่างคิด แม้เราจะไม่เห็นภาพทั้งหมดในระหว่างราวีกัน แต่คนดูแทบทุกคนก็คงพอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างนั้น ภาพที่เห็น แม้น้อยนิด แต่ก็เพียงพอสำหรับการเล่าเรื่อง จนต้องสงสัยว่า โกดาร์ คิดมันได้อย่างไรหนอ


หนังอย่าง อัลฟ่าวิลล์ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า บรรดาขุนพล เฟรนช์นิวเวฟนั้นชอบทารุณ เหน็บกัดผู้หญิง อย่างไม่ค่อยจะไว้หน้ากันนัก มีหลักฐานหลายฉาก ในหนังหลายเรื่อง ที่ใช้มัดมือได้ว่า พวกเขาให้บทบาทผู้หญิงในหนัง เป็นได้แค่ นังเพศยา (เฟรนช์นิวเวฟ ซึ่งได้แก่ François Truffaut, Jean-Luc Godard, Jacques Rivette, Claude Chabrol, and Eric Rohmer จะมีก็เพียง Rohmerเท่านั้นที่มอบภาพลักษณ์ที่ดีและสุภาพกับผู้หญิงในหนังของเขา เรื่องราวเหล่านี้ จะขยายความให้ฟังกันในลำดับถัดไป)


บางทีพวกเขาอาจจะแค่พยายามแสดงให้เห็นว่า ความสัตย์ซื่อต่อตัวเองนั้นสำคัญเพียงไร ความเป็น ออเตอร์ นั้นต้องเผยกันทุกด้าน ไม่ใช่หน้าบ้านแอคท่าเป็นสุภาพบุรุษ แต่พอผลุบไปหลังบ้านกลับแอบซ้อมภรรยา


สำหรับส่วนที่อัลฟ่าวิลล์แสดงให้เห็นว่าให้อิทธิพลกับหนังรุ่นต่อๆ มานั้น มีปรากฏให้เห็นตั้งแต่ต้นจนจบ ที่ชัดที่สุดก็คือมุมมองของ เควนติน ทาเรนติโน เล็กๆ น้อยๆ ประเภทไฟกระพริบใน Kill Bill หรือว่าฉาก นาตาชา เล่าเรื่องตลกนั้น ชวนให้นึกถึงฉากหนึ่งใน Pulp Fiction ของเขา เสียนี่กระไร

อ่านความสัมพันธ์ที่ Alphaville มีผลต่อนิยาย After Dark ของ ฮารุกิ มูรากามิ (Haruki Murakami): http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/murakami-and-godard.html

ฮารุกิ มูรากามิ กับผลงานเรื่องสั้นสุดหวง 2 เรื่อง ที่เขายินยอมให้สร้างเป็นภาพยนตร์:http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/bookvirus_14.html

No comments: