The Authorized Movie version of 2 Haruki Murakami’s short stories
เป็นที่รู้กันว่า ฮารุกิ มูรากามิ หวงงาน และไม่ค่อยแฮปปี้นักกับการที่คนอื่นอยากซื้อเรื่องสั้นเขาไปทำเป็นหนัง แต่ก่อนหน้าที่เรื่องสั้น Tony Takitani จะกลายเป็นหนังโด่งดังในอเมริกา ก็เคยมีชายคนหนึ่งที่เคยทำหนังมูรากามิได้ดี และได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวมาแล้ว ซ้ำยังไม่ใช่ครั้งเดียว แต่ 2 ครั้งเสียด้วย
นาโอโตะ ยามากาว่า เป็นชายสุดเฮงคนนั้น เขาถ่ายหนัง 16 มม. 2 เรื่องจากงานเรื่องสั้นของมูรากามิ มาตั้งแต่ปี 1982 และ 1983 คือ Attack on the Bakery (Panya Shugeki) และ A Girl, She is 100 Percent (Hyaku Percent no Onna no Ko) น่าเสียดายว่าหนังทั้ง 2 เรื่องนี้แทบไม่ได้รับการเผยแพร่นอกประเทศญี่ปุ่นเลย
สำหรับ Attack on the Bakery (ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันยังไม่เคยมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ) นั้นเป็นคนละเรื่องกับอีกเรื่องที่ชื่อคล้ายกันและเป็นตอนต่อ นั่นคือเรื่องThe Second Bakery Attack ที่ตีพิมพ์ในเล่ม The Elephant Vanishes (คงยังไม่มีแปลไทย)
Attack on the Bakery เล่าเรื่องของหนุ่มกรรมาชนตกงาน 2 คนที่รู้สึกถึงความหิวโหยในกระเพาะของตนอย่างสุดฤทธิ์เดช พร้อม ๆ กับที่หน่ายเข้าเส้นถึงชีวิตว้างของตัวเอง ทั้งคู่จึงตกลงใจพกมีดปล้นร้านเบเกอรี่ หวังกินให้หนำใจ แต่แล้วก็ต้องมาเสียเวลากับลูกค้าสาวที่มัวแต่เลือกไม่ถูกว่าจะซื้อ ครัวซองส์ หรือ ขนมปังไส้มะนาว เสร็จแล้วก็ต้องต่อรองกับเจ้าของร้านที่เป็นคอมมิวนิสต์ ว่าหาก 2 หนุ่มสามารถทนฟังเพลงคลาสสิกของว้ากเนอร์ (ซึ่งทั้งคู่รับไม่ได้) ก็จะอนุญาตให้ตุนของกินโดยไม่มีการขัดขืนแต่อย่างใด
ยกย่องกันว่าด้วยความยาวเพียง 17 นาทีนั้น Attack on the Bakery ถือเป็นงานมาสเตอร์พีซได้ทีเดียว มันไม่ได้ซื่อสัตย์กับตัวเรื่องเดิมทุกกระเบียดนิ้ว เพราะมันค้นพบภาษาภาพยนตร์ที่อิ่มเต็มด้วยอารมณ์ขันและลูกล่อลูกชน และนี่เองอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังได้รับรางวัลกรังปรีซ์ที่เทศกาลหนังเมลเบิร์นในแคนาดา
ด้วยผลงานหนังสั้นที่โดนใจของนักเขียนดัง จากนั้น มูรากามิ จึงยอมเปิดไฟเขียวให้ ยามากาว่า หยิบงานเขียนอีกเรื่องมาทำ นั่นคือเรื่องสั้นเรื่องดัง A Girl, She is 100 Percent
ผลงานความยาว 11 นาทีเรื่องนี้ยิ่งดูเป็นงานเป็นการขึ้นอีกโข คนทำหนังใช้ทั้งเทคนิคภาพเคลื่อนไหว ผสมภาพนิ่ง งานภาพย้อมสี สลับกับขาวดำ เพื่อมาเล่าเรื่องที่โดนใจวัยรุ่นทั่วโลกมาแล้ว กับประสบการณ์การเดินสบตากันครั้งเดียวระหว่างชาย-หญิงบนถนนฮาราจูกุ และแม้ว่าเขาทั้งสองจะไม่ได้เอ่ยปากทักทายกันเลยด้วยซ้ำ จินตนาการที่เด็กหนุ่มพาไปก็ย้อนกลับไปทบทวนชั่ววินาทีสั้น ๆ นั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ฉงนสงสัยในใจว่าป่านนี้พวกเขาคงกลายเป็นแฟนกันไปแล้ว หากกล้าจีบสาวคนนั้นตั้งแต่แรก และนั่นอาจหมายถึงโอกาสสำคัญแห่งชีวิตที่หลุดลอยไปโดยไม่มีวันหวนคืน
เกี่ยวกับประวัติของ นาโอโตะ ยามากาว่า นั้นเขาเรียนจบมหาวิทยาลับวาเซดะเช่นเดียวกันกับ มูรากามิ และตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาได้อ่านเรื่อง Attack on the Bakery สมัยที่ มูรากามิ เคยเขียนไว้ในจุลสารของมหาวิทยาลัย เขาก็เล็งเห็นแววการแปลงเป็นหนังทันที ทีแรกหลังจากที่ มูรากามิ ยินยอมให้ทำหนังไม่นาน มูรากามิ เกิดมีลังเลเล็กน้อยว่ากูคิดผิดเปล่าวะ แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ เมื่อได้ชมผลงาน หลังจากนั้นเมื่อ ยามากาว่า มาขอลิขสิทธิ์อีกเรื่องเอาไปทำ มูรากามิ จึงไม่ลังเลอีก
ยามากาว่า นั้นเคยเป็นนักวาดและแต่งการ์ตูน มังงะ ระดับแถวหน้าของญี่ปุ่นก่อนมาทำหนัง เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เติบโตเข้าวงการหนังมาจากการเรียนรู้ดูหนังเยอะ ต่างจากรุ่นก่อน ๆ ที่เติบโตมาจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ หลังจากทำหนังสั้นมูรากามิ ไป เขาได้ทำหนังใหญ่ระดับคุณภาพ 2 เรื่องคือ The New Morning of Billy the Kid (สร้างจากรวมเรื่องสั้นแนวโพสต์-โมเดิร์นของ เก็นอิชิโร่ ทากาฮาชิ) กับ So What (สร้างจากมังงะ ของ โอโตโมะ คัตสุฮิโร่)
โชคร้ายที่สตูดิโอขนาดเล็กที่ให้ทุนสร้างหนังของเขาเกิดล้มตึงขึ้นมา เขาจึงกลับไปทำ มังงะ ตามเดิม ก่อนกลับมาทำหนังสั้น หนังวีดีโอแบบทิ้งช่วงนานหลายปี ซึ่งแต่ละเรื่องคาดว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
อ่าน Near Dark ของ Murakami และ Godard
http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/murakami-and-godard.html
No comments:
Post a Comment