9/15/07

เกร็ดข่าว เกล็ดมายา ตอน 2: อีกบทหนังของ Kieslowski

เกร็ดข่าว เกล็ดมายา ตอน 2: อีกบทหนังของ Kieslowski

Another great film from a previously unfilmed script by Krzysztof Kieslowski

อ่านเกี่ยวกับหนังใหม่ Hope อีก 1 บทหนังในไตรภาคสุดท้ายของ Krzysztof Kieslowski ได้ที่นี่ http://twilightvirus.blogspot.com/2008/02/kieslowski.html


ตัวตาย งานอยู่

ไม่ใช่แค่บทหนังของ คิชตอฟ คิชลอฟสกี้ (Krzysztof Kieslowski) จำพวกไตรภาค Heaven, Hell กับ Purgatory (เรื่องหลังยังเลือกผู้กำกับอยู่) เท่านั้นที่ได้ทำเป็นหนัง หลังจากเจ้าตัวตาย ยังมีคิวบทอื่น ๆ ซ่อนอยู่อีกมาก ทำนองของดีของดัง ย่อมมีคนเห็นค่าเสมอว่างั้นเถอะ

พ่อยอดชายนาย Jerzy Stuhr นักแสดงที่คนโปแลนด์รู้จักกันดีนั้น เรียกได้ว่าคุ้นเคยกับ คิชลอฟสกี้ มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเคยแสดงในหนังดังอย่าง Camera Buff (ถ้ารัก คิชลอฟสกี้ จริง ห้ามพลาดเรื่องนี้) กับตอนหนึ่งในหนังชุดบัญญัติ 10 ประการ Dekalog และก็อีกเรื่องหนึ่งที่เขาแสดงเป็นตัวรอง คือเรื่อง White ที่มีจูลี่ เดลพี (Before Sunrise, 2 Days in Paris) เป็นนางเอก


ก็ คิชลอฟสกี้ เองน่ะแหละ ที่สนับสนุนเลื่อนขั้นให้ Stuhr เริ่มงานกำกับเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาลับให้คำแนะนำในการเขียนบทหนังเรื่องแรก ๆ เป็นพิเศษอีกด้วย นั่นคือเหตุที่ว่าทำไมลักษณะคำถามทางจริยธรรม และโชคชะตาเล่นตลกของ คิชลอฟสกี้ จึงมักปรากฏในหนังของ Stuhr อยู่เสมอ


The List of Lovers (Spis cudzoloznic /1995) กับ Historis Milosne (Love Stories/ 1997) คือหนัง 2 เรื่องแรกของ Stuhr ที่ คิชลอฟสกี้ มีส่วนช่วยเพื่อนทำบทหนัง (เรื่อง Love Stories มีคำอุทิศให้เขาตอนท้ายเรื่อง) ส่วนเรื่องที่ 3 ชื่อ A Week in the Life of A Man (Tydzien z zycia mezczyzny / 1999) นั้น Stuhr เขียนบทเองคนเดียว แต่ก็ยังติดกลิ่น คิชลอฟสกี้ ไว้ ไม่ห่างหาย

ที่ต่างและขาดไป ก็คงมีแต่ลักษณะอุปมาอุปไมยภาพในสไตล์จัดจ้านของหนัง Three Colors: Blue, White, Red เพราะดูได้สัมผัสของชีวิตจริงมากกว่า โดยเฉพาะการถ่ายทอดรสจริงตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของประเทศคอมมิวนิสต์เดิม


ถัดจาก Historis Milosne (Love Stories/ หนังรางวัล Fipresci จากเวนิสเรื่องนี้ เคยเป็นตัวแทนโปแลนด์มาฉายในเทศกาลหนังยุโรปที่กรุงเทพ - อ่านเพิ่มเติมใน 151 Cinema / ฟิล์มไวรัส / openbooks) ที่ Stuhr เคยเปรียบเปรยได้สวยถึงชีวิตชาย 4 คน (ที่นำแสดงโดยเขาเพียงคนเดียว) คราวนี้ The Big Animal สร้างออกมาฉายในปี 2000 ก็เป็นเรื่องที่ติดกลิ่น คิชลอฟสกี้ มาไม่น้อย เพราะสร้างขึ้นจากบทหนังเก่าที่เจ้าตัวไม่ได้สร้าง



Big Animal ที่ว่าคือเจ้าอูฐตัวใหญ่ที่โรงละครสัตว์ทอดทิ้งจากคณะ วันหนึ่งสามีภรรยาคู่หนึ่ง (ฝ่ายชายนำแสดงโดย Stuhr) พบเจ้าอูฐที่ลานหน้าบ้าน แล้วตัดสินใจรับเลี้ยงมันไว้ ซ้ำยังแต่งองค์ทรงเครื่องให้มัน พร้อมกับพาทัวร์ไปทั่วเมืองเหมือนเป็นของวิเศษ เพื่อนบ้าน และเด็ก ๆ ตอนแรกก็รังเกียจเดียดฉันท์ แต่ต่อมาก็เริ่มหันมาดีด้วย เพราะเห็นลู่ทางบางอย่าง บางคนมองเห็นลู่ทางในการตลาดมาติดต่อขอซื้อ แต่คู่ผัวเมียกลับรู้สึกผูกพันรักใคร่ และรับไม่ได้กับคนโลภที่หวังแต่ผลประโยชน์


เรื่องง่ายๆ กะอีแค่จะจดทะเบียน คำว่า “อูฐ” ยังไม่มามารถจะจดทะเบียนให้ถูกจดหมายได้ ซ้ำทางราชการก็หวังจะได้เจ้าอูฐไปเป็นของรางวัลล็อตเตอรี่ พอเจ้าของปฏิเสธก็พยายามโยนข้อหาเล็กน้อยต่าง ๆ นานา ยิ่งนานทั้งคนทั้งอูฐต่างรู้สึกแปลกแยกกับสังคมตัวเองมากขึ้นทุกวันจนกลายเป็นคนนนอก ขาดคนยอมรับนับถือในสังคม


ที่เล่ามานี้เป็นเพียงบทหนึ่งของหนังเปรียบเปรยสังคมที่น่าจดจำ ลักษณะหนังโปแลนด์ยุคแรก ๆ ของ คิชลอฟสกี้ ยังมีตรงนี้อยู่ชัด จนถึงเรื่อง Blind Chance (ชะตาพลิกผันชีวิตคนคนเดียวกัน 3 แบบ-ต้นแบบ Sliding Doors ของ กวินเนธ พัลโทรว์) ก่อนที่จะได้คนเขียนบท คิชตอฟ พีซีวิช (Krzysztof Piesiewicz) อดีตทนายความเก่ามาเขียนบทให้ ทำให้ได้กลิ่นจิตวิญญาณประมาณ เบิร์กแมน กับ ทาร์คอฟสกี้ เข้ามาผสม เริ่มจาก No End และ Dekalog และข้ามมาจนถึงหนังฝรั่งเศสยุค The Double Life of Veronique และหนัง 3 สีอันลือลั่น

ในทศวรรษถัดไป เชื่อขนมกินได้ว่า บทหนัง บทละครเก่า ๆ ของผู้กำกับระดับมาสเตอร์ผู้ล่วงลับอย่าง ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์, อังเดร ทาร์คอฟสกี้ จะถูกขุดกรุขึ้นมาอีกมากมาย

หวังว่าในหลายกรณีคงเป็นข่าวดี มากกว่าข่าวร้าย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้กำกับ คิชตอฟ คิชลอฟสกี้ (Krzysztof Kieslowski) ได้จาก Filmvirus เล่ม 1 (2541)

No comments: