9/22/07

Mario Bava ปรมาจารย์หนังเกรดบีอิตาเลี่ยน ตอน 1

Mario Bava
ปรมาจารย์หนังเกรดบีอิตาเลี่ยน ตอน 1

อ่าน Tim Lucas และหนังสือ Bava Book
ได้ที่นี่: http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/mario-bava.html

(ข้อความต่อไปนี้ดัดแปลงจากข้อมูลที่แปลและเรียบเรียงโดย แม่นาง MDS)

เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากอิตาลีในทศวรรษ 1950-1970 จะเต็มไปด้วยผู้กำกับหนังเกรดเออย่าง Ermanno Olmi, Francesco Rosi, Elio Petri, Vittorio de Sica, Roberto Rossellini, Michelangelo Antonioni, Federico Fellini, Pier Paolo Pasolini, Luchino Visconti, Ettore Scola อิตาลียังผลิตหนังเกรดบีที่โดดเด่นจนกลายเป็น genre ที่โด่งดังมาจนถึงยุคปัจจุบันอีกหลาย genre ไม่ว่าจะเป็นหนังคาวบอยอิตาลี, หนังฆาตกรรม หนังผีอิตาลี, หนังซอมบี้อิตาลี และรวมไปถึงหนังจักรๆ วงศ์ๆ อิตาลี ผู้กำกับหลายคน ซึ่งรวมถึง มาริโอ บาว่า ต่างก็เคยสร้างหนังแนวๆ นี้มาแล้วหลายเรื่อง โดยตัว บาว่าเองนั้นเคยทำทั้งหนังจักรๆ วงศ์ๆ, หนังคาวบอย, หนังฆาตกรรม และหนังผี ในขณะที่เซอร์จิโอ ลีโอเน่ ผู้กำกับหนังคาวบอยอิตาลีชื่อดังก็เคยเขียนบทหนังจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง Duel of the Titans


มาริโอ บาว่า เกิดในปี 1914 และเสียชีวิตในปี 1980 ด้วยอาการหัวใจวาย เขาเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง Danger : Diabolik (1968) (A-) ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีชื่อเสียงด้านการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญ ผลงานของเขารวมถึงเรื่อง Rabid Dogs (1974),



Baron Blood (1972 / วีดีโอพากย์ไทยชื่อ “สยองคืนชีพ”), Shock หรือ Beyond the Door 2, Twitch of the Death Nerve, Five Dolls for a August Moon (1970), An Axe for the Honeymoon (1970), Kill Baby Kill, Viking Massacre (1966), Fashion House of Death, The Devil in the House of Exorcism, Dr. Goldfoot and the Girl Bombs, Hercules in the Haunted World, Black Sunday (1961) และ Black Sabbath




(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Mario Bava ได้จาก filmvirus เล่ม 4 : สางสำแดง)

เว็บไซท์ http://www.imagesjournal.com/ ระบุว่าบาว่าเคยทำงานเป็นตากล้องให้กับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังหลายคน ซึ่งรวมถึง โรแบร์โต รอสเซลลินี่, จี ดับเบิลยู พาบส์ท, ราอูล วอลช์ และโรเบิร์ต แซด เลียวนาร์ด นอกจากนี้สไตล์การถ่ายภาพของเขายังมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลิกที่โดดเด่นให้กับดาราอย่างจิน่า ลอลโลบริจิดา และสตีฟ รีฟส์ด้วย

บาว่าชื่นชอบวรรณกรรมรัสเซีย เขาเคยนำนิยายเรื่อง Vij ของ นิโคไล โกโกล มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Black Sunday ในปี 1960 และภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จขึ้นมาในทันที โดยความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังส่งผลให้บาร์บารา สตีล นางเอกของเรื่องได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีภาพยนตร์สยองขวัญ” คนแรกของโลกด้วย

ภาพยนตร์ดังอีกเรื่องของบาว่าคือ Kill Baby Kill (1966) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทุนต่ำที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ถูกหลอกหลอนด้วยวิญญาณเด็กผู้หญิงเล่นลูกบอล ซึ่งการปรากฎตัวของผีเด็กคนนี้มักทำให้ชาวบ้านต้องฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ภาพยนตร์แนวจิตวิทยาเรื่องนี้ได้รับคำชมอย่างมากจาก ลูชิโน วิสคอนติ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอิตาลีและส่งอิทธิพลไปยังผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอีกหลายคน ซึ่งรวมถึง เฟเดอริโก เฟลลีนี่ ในภาพยนตร์เรื่อง Toby Dammit, มาร์ติน สกอร์เซซี่ ในภาพยนตร์เรื่อง The Last Temptation of Christ และยังรวมถึงผู้กำกับอย่าง เดวิด ลินช์ ในภาพยนตร์เรื่อง Twin Peaks : Fire Walk with Me



แนะนำหนังอีก 25 เรื่องของมาริโอ บาว่า
1.Ulysses (1955)
กำกับร่วมกับ Mario Camerini

เคิร์ค ดักลาส รับบทเป็นยูลิซิส ในขณะที่แอนโธนี ควินน์ รับบทเป็นแอนตีนูส ในหนังที่สร้างจากตำนานของโฮเมอร์เรื่องนี้

ยูลิซิส เป็นราชาแห่งเมืองอิธาคา และเป็นสามีของเพเนโลปีกับพ่อของเตเลมาคัส เขาเข้าร่วมรบในสงครามกรุงทรอยและหลังจากสิ้นสุดสงคราม เขาก็พยายามเดินทางกลับบ้าน แต่กลับเผชิญกับอุปสรรคและการผจญภัยต่างๆ มากมายเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ก่อนจะได้กลับถึงบ้าน


ยูลิซิสพบตัวเองอยู่ที่ชายฝั่งและหลงลืมความทรงจำในอดีต เขาพยายามนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และหนังเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องย้อนหลังไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับยักษ์ไซคลอปส์ที่เป็นลูกชายของโปไซดอน ราชาแห่งท้องทะเล, เรื่องของนางไซเรนที่ใช้เสียงของตัวเองล่อลวงบรรดาลูกเรือให้ไปสู่ความตาย, เรื่องของนางแม่มดเซอร์ซีที่ปลอมตัวเป็นภรรยาของเขาและสาปลูกเรือให้กลายเป็นหมู

ยูลิซิสได้พบกับเจ้าหญิงนอซิกา (Rossana Podesta) ซึ่งตกหลุมรักเขา และได้ต่อสู้กับแชมป์มวยปล้ำแห่ง Phaeacia ด้วย

ซิลวานา แมงกาโน (1930-1989) รับบทเป็นเพเนโลปี และเซอร์ซีในเรื่องนี้ เพเนโลปีเป็นหญิงที่ซื่อสัตย์ต่อสามี แม้สามีจะหายไปนานเกือบ 10 ปี เธอไม่ยอมแต่งงานใหม่แม้จะมีคนมาสู่ของมากมาย ซึ่งรวมถึงแอนตินุส ที่ชอบพากลุ่มผู้ชายที่ชั่วร้ายมาที่วังของเพเนโลปี เขาพยายามทำให้เพเนโลปีเชื่อว่ายูลิซิสตายไปแล้ว (อย่าจำ Ulysses เรื่องนี้สลับกับหนังเรื่อง Ulysses ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ เจมส์ จอยซ์)

2. The Vampires (I Vampiri) (1956)
(มาริโอ บาว่า ร่วมกำกับกับ ริคคาร์โด เฟรด้า และถ่ายภาพโดย บาว่า)
อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่ http://www.kinoeye.org/02/18/abbott18.php
พล็อต : นักข่าวคนหนึ่งพยายามสืบหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องที่คล้ายกับฝีมือของผีดูดเลือด

หนังเรื่องนี้คือหนึ่งในต้นกำเนิดของหนังสยองขวัญอิตาลี และเป็นหนังที่มาก่อนหนัง “สยองขวัญยุคใหม่” ซึ่งหนังในกลุ่มนี้รวมถึง Alfred Hitchcock’s Psycho (1960), Georges Franju’s Les Yeux sans visage (Eyes without a Face, 1959) และ George Romero’s Night of the Living Dead (1968)


I Vampiri เป็นหนังที่ดัดแปลงตำนานแวมไพร์ให้กลายเป็นสิ่งทันสมัย โดยแวมไพร์ในหนังเรื่องนี้กลายเป็นผลผลิตของโลกยุคใหม่ แทนที่จะเป็นศัตรูกับโลกยุคใหม่เหมือนหนังแวมไพร์เรื่องอื่นๆ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในหนังเรื่องแรกๆ ที่นำเสนอแวมไพร์ท่ามกลางฉากโลกยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ถึงแม้หนังเรื่อง Martin (1977) ของ จอร์จ เอ.โรเมโร จะแสดงให้เห็นภาพของแวมไพร์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากอเมริกายุคใหม่ ไม่ใช่ผลพวงจากอดีต แต่หนังของบาวา/ริคคาร์โด เฟรดา เรื่องนี้ก็นำเสนอในสิ่งที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่เปลี่ยนฉากมาเป็นยุโรป และสร้างก่อนหนังเรื่อง Martin ถึง 20 ปี

I Vampiri ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานของเคาน์เตสบาโธรี ซึ่งเป็นสตรีสูงศักดิ์ชาวฮังการีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ฆ่าหญิงสาวไปกว่า 650 คน ในแบบที่โหดร้ายและซาดิสม์ โดยตำนานระบุว่าเคาน์เตสผู้นี้เชื่อว่าการได้อาบเลือดของหญิงพรหมจรรย์จะช่วยให้เธอรักษาความสาวไว้ได้ ทั้งนี้หนังเรื่อง Daughters of Darkness ที่กำกับโดย แฮร์รี คูเมล ซึ่ง ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยจัดฉายฉายที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานนี้เช่นกัน โดยมี เดลฟีน ซีริก (Last Year at Marienbad, India Song, The Discreet Charm of the Bourgeoisie) ผู้งามสง่ารับบทเป็นเคาน์เตสปีศาจ

หนังเรื่อง Countess Dracula (1970) ของสตูดิโอแฮมเมอร์ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเดียวกัน

3. Caltiki, The Undying Monster (1959)
มาริโอ บาวา รับหน้าที่กำกับหนังเรื่องนี้ต่อให้เสร็จหลังจาก Riccardo Freda ผู้กำกับคนก่อนถอนตัวออกไป โดยหนังสยองขวัญของอิตาลีเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายหนังสยองขวัญของสหรัฐอย่างมาก

พล็อตเรื่องนี้เกี่ยวกับทีมนักโบราณคดีชุดหนึ่งที่ค้นพบสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายวุ้น (คล้ายสัตว์ประหลาดในเรื่อง The Blob) ที่อาศัยอยู่ในวิหารโบราณของชาวมายามาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเชื่อกันว่าสัตว์ประหลาดนี้ทำหน้าที่เฝ้าวิหารเพื่อป้องกันผู้บุกรุก



ทีมนักโบราณคดีได้ค้นพบความจริงที่ว่าสัตว์ประหลาดที่มีกัมมันตภาพรังสีตัวนี้สามารถกินเนื้อมนุษย์ได้ถ้าหากไปถูกตัวมัน หรือไม่ก็ทำให้คนที่รอดชีวิตกลายเป็นคนบ้าที่อาละวาดฆ่าคนอื่น นอกจากนี้ สัตว์ตัวนี้ยังเกี่ยวข้องกับดาวหางที่เคยเดินทางมาเยือนโลกในอดีต และอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้อารยธรรมมายันล่มสลาย โดยดาวหางดวงนี้กำลังจะกลับมาเยือนโลกอีกครั้งด้วย

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือฝีมือการถ่ายภาพของบาว่า โดยเขาทำงานนี้โดยใช้ชื่อปลอมว่า John Foam

4. Black Sunday (1961)
หนังสยองขวัญคลาสสิคของอิตาลีเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่มดคนหนึ่งที่สาบานว่าจะแก้แค้นลูกหลานของกลุ่มคนที่เคยฆ่าเธออย่างโหดเหี้ยมเมื่อหลายศตวรรษก่อน โดยชื่อเรื่องของหนังเรื่องนี้หมายความถึงวันที่จะเกิดขึ้นเพียงวันเดียวในเวลาหนึ่งศตวรรษ ซึ่งเป็นวันที่ซาตานจะขึ้นมาผงาดอยู่บนพื้นโลก

หนังขาวดำเรื่องนี้มีจุดเด่นที่การถ่ายภาพและการกำกับศิลป์ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าขนลุกและเหนือจริงให้กับเรื่อง


ดารานำคือ Barbara Steele, John Richardson, Ivo Garrani และ Andrea Checci

อ่านเรื่องของ Barbara Steele ได้อย่างละเอียดในบทความ
Barbara Steele’s Ephemeral Skin : Feminism, Fetishism and Film ที่ http://www.sensesofcinema.com/contents/02/22/steele.html

อ่านบทความเกี่ยวกับ Black Sunday ได้ที่
http://www.sensesofcinema.com/contents/03/25/cteq/black_Sunday.html

5. Hercules in the Haunted World (1961)
เฮอร์คิวลิส (เร็ก ปาร์ค) ต้องเดินทางไปยังนรกเพื่อไปค้นหาต้นพืชวิเศษที่เป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถใช้ในการรักษาเจ้าหญิงที่กำลังจะตาย หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังแนว swords & sandals ที่ยอดเยี่ยมที่สุด


เร็ก ปาร์ค เคยแสดงนำใน Hercules and the Captive Women (1961) และ Maciste in King Solomon’s Mines (1964) และเคยได้รับตำแหน่ง Mr.Universe ในปี 1951, 1958 และ 1965

6. The Wonders of Aladdin (1961)
(กำกับร่วมกับ Henry Levin)

หนังแนวเบาสมองเรื่องนี้เป็นการนำตำนานคลาสสิคเกี่ยวกับอลาดินและตะเกียงวิเศษมาเล่าใหม่ โดยอลาดิน (โดนัลด์ โอ’คอนเนอร์) เป็นเด็กข้างถนนในตะวันออกกลางที่ได้พบกับจาลมา (โนเอลล์ อดัม) บุตรีของท่านสุลต่านที่ได้รับคำสั่งจากพ่อให้หาสามีให้ได้โดยเร็ว


อลาดินและจาลมาตกหลุมรักกัน แต่แกรนด์ วิเซียร์ (เฟาส์โต ตอซซี) ผู้ชั่วร้ายที่ดำรงตำแหน่งรองจากสุลต่านก็ตั้งใจจะแต่งงานกับจาลมาเช่นกันเพื่อที่เขาจะได้ดำรงตำแหน่งสุลต่านต่อไป เขาพยายามขัดขวางความรักระหว่างอลาดินกับจาลมา

อลาดินพบกับตะเกียงวิเศษในถ้ำมหัศจรรย์ และเมื่อเขาถูตะเกียง เขาก็ได้พบกับภูติที่สามารถให้พรแก่เขา 3 อย่าง

7. The Last of the Vikings (1961)
กำกับร่วมกับ Giacomo Gentilomo

ฮารัลด์ (Cameron Mitchell) และกุนทาร์ (George Ardisson) ซึ่งเป็นน้องชาย เดินทางกลับมานอร์เวย์หลังจากจากไปนาน 3 ปี พวกเขาพบว่าพ่อของเขาถูกฆ่าตายและที่ดินของพวกเขาตกเป็นของกษัตริย์สเวโน (Edmund Purdom) ผู้ชั่วร้าย



ฮารัลด์วางแผนที่จะปลุกระดมไวกิ้งให้ต่อสู้กับทรราชย์คนนี้ และเขาก็ปลอมตัวเป็นทูตเดนมาร์คเพื่อจะได้เข้าไปในที่มั่นของสเวโน เขาตกหลุมรักกับฮิลเด (Isabelle Corey) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องซองสเวโน และฮิลเดก็ถูกบังคับให้หมั้นหมายกับกษัตริย์เดนมาร์คทั้งๆ ที่เธอไม่เต็มใจ ฮารัลด์จำเป็นต้องคิดแผนใหม่ขึ้นมาในขณะที่กุนทาร์ถูกสเวโนจับตัวไปและทูตเดนมาร์คตัวจริงเดินทางมาถึง
*ภาพประกอบจากหนังของ บาว่า เรื่อง Fury of The Vikings (The Invaders)*

8. Erik the Conqueror (1961)
ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 เอริค (George Ardisson) และเอรอน (คาเมรอน มิทเซลล์) ซึ่งเป็นพี่น้องกันเห็นพ่อแม่ของตัวเองถูกชาวอังกฤษฆ่าตายในขณะที่ชาวอังกฤษบุกเข้ามาในหมู่บ้านไวกิ้งของพวกเขา ราชินีแอนน์ได้นำตัวเอริคกลับไปอังกฤษและเลี้ยงดูเธอเหมือนกับเป็นลูกชายของตัวเอง ในขณะที่เอรอนใช้ชีวิตอย่างทุกข์ระทมขมขื่น

เวลาหลายปีผ่านไป เอรอน ได้วางแผนร่วมกับชาวไวกิ้งในการโจมตีอังกฤษ ในขณะที่ เอริค ซึ่งเป็นนายทหารเรืออังกฤษ ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีไวกิ้ง พี่น้องทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้ง และทั้งสองก็ตัดสินใจร่วมมือกันในการโจมตีเซอร์ รัฟฟอร์ด (Andrea Checchi) ซึ่งเป็นเจ้านายผู้ชั่วร้ายของเอริค

9. The Girl Who Knew Too Much (1962)
หลายคนถือว่านี่คือหนังแนว giallo ที่แท้จริงเรื่องแรก และเป็นหนังทริลเลอร์สไตล์เก๋ที่นำแสดงโดย Leticia Roman ในบทของนอร่า หญิงสาวที่เดินทางไปกรุงโรมเพื่อไปเยี่ยมคุณป้าที่กำลังป่วย ปรากฏว่าคุณป้าตายในคืนนั้น และนอร่าก็ต้องกลายมาเป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม ตำรวจและ ดร.บาสซี่ (จอห์น แซกซัน) ไม่เชื่อคำพูดของเธอ และเนื่องจากเธอไม่รู้จักใคร เธอจึงต้องไปอาศัยอยู่กับครอบครัวคราเวน ซึ่งเป็นเพื่อนของป้า



มีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นตามมาเรื่อยๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมที่ดำเนินต่อเนื่องมานาน 10 ปี โดยฆาตกรจะเลือกฆ่าเหยื่อเรียงตามตัวอักษรของนามสกุลของเหยื่อ ตอนจบของหนังเรื่องนี้ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในขณะที่ Valentina Cortese ก็เล่นได้ดีในบทประกอบที่น่าขันในเรื่องนี้
(อย่าจำชื่อหนังเรื่องนี้สลับกับ The Man Who Knew Too Much ของฮิทช์ค็อค และสลับกับเรื่อง The Man Who Knew Too Little)

10. The Whip and the Body (1963)
อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่ http://www.metajasylum.com/ragingbull/movies/whipandthebody.html

มาริโอ บาว่าได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของหนัง giallo ของอิตาลี เขามีอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นต่อๆ มาอย่าง Dario Argento, Lucio Fulci, Martin Scorsese, Ridley Scott, Tim Burton และโดยเฉพาะ เควนติน ทาแรนติโน่ (Quentin Tarantino)



The Whip and the Body เป็นหนังสยองขวัญแฟนตาซีโกธิคที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านภาพของบาว่าในขั้นสุดยอด หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นความรุนแรงเหมือนหนัง giallo ทั่วไป แต่มีจุดเด่นที่ความชำนิชำนาญในการจัดแสงและการจัดองค์ประกอบภาพที่นุ่มนวล ซึ่งส่งผลให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนัง cult ระดับคลาสสิคที่พูดถึงเรื่องของความลวงตาและความวิปริตที่แฝงอยู่ในความเป็นจริง

The Whip and the Body ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องตามแบบแผนดั้งเดิม โดยตัวเอกของเรื่องคือเคิร์ท เมนลิฟฟ์ (คริสโตเฟอร์ ลี) ผู้กลับมายังปราสาทของพ่อ เขาได้พบกับหญิงรับใช้ (แฮร์เรียต เมดิน) ที่จ้องมองไปที่กริซเล่มหนึ่งอย่างลึกลับ และเธอก็พูดกับตัวเองว่าเคิร์ทจะต้องตายด้วยการถูกกริซเชือดคอเหมือนกับที่ลูกสาวของเธอเคยโดนมาแล้ว

เคิร์ท มีพี่ชายชื่อ Christian (Tony Menliff) ซึ่งมีภรรยาชื่อ Novenka (Daliah Lavi) และคริสเตียนก็กลัวว่าโนเวนกาอาจจะโดนเคิร์ททำร้าย ทั้งนี้ในอดีตนั้นโนเวนกาเคยมีความสัมพันธ์กับเคิร์ทมาก่อน และเมื่อเคิร์ทพบโนเวนกาเดินอยู่บนชายหาด เขาก็ใช้แส้เฆี่ยนตีเธอขณะที่เธอร้องครวญครางด้วยอารมณ์สุขสม ในขณะที่ม้าตัวหนึ่งที่อยู่ในบริเวณนั้นพยายามเดินหนีคลื่นที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง ทั้งนี้นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าฉากที่อีโรติกฉากนี้ให้อารมณ์คล้ายกับนิยายของ ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ (ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์)

11. Black Sabbath (1964)


หนังเรื่องนี้ประกอบด้วยหนังสยองขวัญ 3 เรื่องที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ โดยมีจุดเด่นที่การสร้างบรรยากาศ โดยหนัง 3 เรื่องนี้ได้แก่ The Wurdalak ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผีดูดเลือดและนำแสดงโดยบอริส คาร์ลอฟฟ์, A Drop of Water ที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ อังตอน เชคอฟ และ The Telephone โดยมี Mark Damon กับ Suzy Andersen ร่วมแสดง

12. Blood and Black Lace (1964)



หนังสยองขวัญเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตที่ไล่ฆ่าคนในวงการนางแบบ โดยมี Cameron Mitchell กับ Eva Bartok นำแสดง

13. Arizona Bill หรือ The Road to Fort Alamo (1964)
นี่คือหนึ่งในหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้เรื่องแรกๆ และบาว่าก็ใช้ทุนที่ต่ำมากในการสร้างหนังเรื่องนี้ เขาถ่ายหนังเรื่องนี้ในพื้นที่ที่ดูเหมือนเหมืองหินในอิตาลีที่มีขนาดใหญ่เพียง 2 เอเคอร์ และเขาก็นำต้นตะบองเพชรพลาสติกมาใช้ประกอบฉาก โดยย้ายตำแหน่งของต้นไม้พลาสติกนี้ไปๆ มาๆ เพื่อให้ดูเหมือนฉากเปลี่ยนไป นอกจากนี้เขายังพยายามสร้างฝุ่นควันขนาดใหญ่เพื่อสร้างอารมณ์ให้เหมือนกับหนังคาวบอยอีกด้วย


เนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเพื่อนสองคน (บีลและสลีม), แก๊งอาชญากร, กองหทารม้า, อินเดียนแดง, การปลอมตัวเป็นคนอื่น, การข่มขืน, ภรรยาของนายทหาร, โรซี โอเกรดี, การปล้นธนาคาร และสงครามกลางเมืองของสหรัฐ จุดที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือสีเหลืองและสีแดงที่ปรากฏอยู่ในฝุ่นควันอันงดงาม และความงุ่มง่ามของดาราประกอบที่มารับบทเป็นอินเดียนแดง โดยนักแสดงเหล่านี้แสดงให้เห็นต่อหน้ากล้องอย่างแทบไม่อับอายเลยว่าพวกเขายิงธนูไม่เป็น

นำแสดงโดย Ken Clark, Jany Clair, Michel Lemoine, Andreina Paul, Kirk Bert

14. Planet of the Vampires (1965) (B-)
Planet of the Vampires ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยเปิดฉายที่ห้องสมุดวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผลงานการกำกับของมาริโอ บาว่า และเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในปี 1965 แต่กลับส่งอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดต่อภาพยนตร์เรื่อง Alien ที่สร้างขึ้นในอีกสิบกว่าปีต่อมา โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาวอวกาศ 2 ลำชื่ออาร์โกส กับเกลเลียต ที่สืบสวนหาต้นตอของสัญญาณแปลกประหลาดมาเป็นเวลานาน 2 ปี และในที่สุดยานอวกาศ 2 ลำนี้ก็พบว่าต้นตอดังกล่าวมาจากดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มเมฆ

เกิดอุบัติเหตุขึ้นขณะที่ยานอวกาศจะลงจอด และส่งผลให้ลูกเรือยานอาร์โกสหมดสติ อย่างไรก็ดี พลังอันลึกลับช่วยให้ยานลำนี้ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล และลูกเรือในยานก็ตื่นขึ้นพร้อมกับความรู้สึกอยากฆ่าคน พวกเขาพยายามฆ่าคนอื่นๆ แต่ในที่สุดแต่ละคนก็ได้สติในเวลาต่อมาและจดจำเหตุการณ์ขณะพยายามฆ่าคนอื่นไม่ได้



ลูกเรืออาร์โกสพยายามตามหาลูกเรือเกลเลียต พวกเขาต้องเดินทางข้ามดินแดนอันแปลกประหลาดและพบว่าลูกเรือเกลเลียตก็ตกอยู่ภายใต้พลังลึกลับเช่นกัน อย่างไรก็ดี ลูกเรือเกลเลียตไม่สามารถเรียกสติกลับคืนมาได้ พวกเขาฆ่าคนไป 7 คน และอีก 2 คนหายตัวไป

ลูกเรืออาร์โกสคนหนึ่งทำหน้าที่เฝ้ายามในขณะที่ลูกเรือคนอื่นๆ ออกตามหาลูกเรือเกลเลียตที่หายสาบสูญ อย่างไรก็ดีลูกเรือที่ทำหน้าที่เป็นยามก็หายตัวไปเช่นกัน และศพในยานอวกาศก็หายไปด้วย

กัปตันยานอวกาศสั่งให้นำศพที่เหลือไปฝัง แต่ในคืนนั้นศพในหลุมก็ค่อยๆ ลุกขึ้นมาจากหลุม พร้อมๆ กับที่ลูกเรือบนยานก็มีอาการละเมอเดินขณะนอนหลับ ต่อมาในวันรุ่งขึ้นลูกเรือก็ค้นพบว่ามียานอวกาศเก่าแก่ลำหนึ่งอยู่บนดาวดวงนี้ด้วยเช่นกัน แต่คนบนยานกลายเป็นศพไปหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ายานอาร์โกสไม่ใช่ยานลำแรกที่ถูกสัญญาณลึกลับล่อลวงให้มาที่ดาวเคราะห์มรณะดวงนี้

อะไรคือสิ่งที่ชักพาพวกเขามาที่นี่ อะไรคือสิ่งที่เข้าสิงลูกเรือขณะนอนหลับ ศพหายไปไหน และทำไมกัปตันยานจึงมักสั่งให้ลูกเรือคนหนึ่งอยู่เวรยามทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกเรืออาจหายสาบสูญไป ปริศนาเหล่านี้จะได้รับการคลี่คลายในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้

15. Dr. Goldfoot and the Girl Bombs (1966)
ดร.โกลด์ฟุต (วินแซนท์ ไพรซ์) ต้องการจะเป็นผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก ดังนั้นเขาก็เลยสร้างหุ่นยนต์สาวสวยขึ้นมาเพื่อให้หุ่นยนต์เหล่านี้แต่งงานกับผู้ชายที่รวยที่สุดในโลกคนปัจจุบัน แต่ฟาเบียง (บิล เด็กซ์เตอร์) ก็เข้ามาขัดขวางแผนการของเขา


หนังเรื่องนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ซึ่งรวมถึง Dr. Goldfoot and the ‘S’ Bombs, Dr.Goldfoot and the Love Bomb, Dr.Goldfoot and the Sex Bombs, Spies Come from Half-Cold, The Spy Came from the Semi-Cold, Two Mafia Guys from the FBI

อ่าน Mario Bava ตอน 2 ได้ที่: http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/mario-bava-2.html

No comments: