9/27/07

ศาลาเฉลิมรักษ์ ตอน เจ้าหญิงแอ๊บแบ๊ว

ศาลาเฉลิมรักษ์ ตอน เจ้าหญิง ออเดรย์
(คอลัมน์สืบเนื่องจาก filmvirus 1, 2, 3 และ 4)

หากพูดถึงต้นตอของเจ้าแม่หนังโรแมนติกคอมเมดี้ มันอาจจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยหนังของ เจ้าแม่แอ๊บแบ๊ว ออเดรย์ แฮพเบิร์นก็จริง แต่ลักษณะที่มันคลี่คลายมาจากตลกแนวสกรูว์บอลคอมเมดี้ในทศวรรษ 30 จนมาลงเอยเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็น่าจะเริ่มจากหนังยุคของ ออเดรย์ ในช่วงต้นทศวรรษ 50 นี่เอง (อย่าเชื่อ เพราะเราเดาเอา)

อ่านเกี่ยวกับ ออเดรย์ แฮพเบิร์น ได้จาก Ninamori
http://ninamori.blogspot.com/2007/09/audrey-hepburn.html


เรื่องแรกเป็นหนังยอดนิยมปี 1961 ชื่อ Breakfast at Tiffany's ที่ทำจากเรื่องสั้นของ Truman Capote (คนที่ชีวิตตัวเองกลายเป็นหนังชื่อ Capote)

ส่วนเรื่องที่ 2 นั้น Sabrina เป็นหนังปี 1954 ที่ถูกนำมาสร้างใหม่ในปี 1995 นำแสดงโดย แฮริสัน ฟอร์ด และ จูเลีย ออร์มอนด์

อ่านคำโฆษณาสมัยโบราณได้ตามข้างล่างนี้


Breakfast at Tiffany’s (นงเยาว์นิวยอร์ค)
ฉายที่พาราเมาท์

ภาพยนตร์ชีวิตยอดเยี่ยมประดุจเพชรน้ำหนึ่งประดับเกียรติตุ๊กตาทอง 2 ตัว
“จริงหรือคะที่ผู้หญิงจะมีความสุขสมใจ เมื่อแต่งงาน ผู้หญิงอย่างดิฉัน ยินดีพลีตัวโลดแล่นอยู่ในสังคมตามลำพัง ไม่ขอยอมเปนนกน้อยในกรงขัง”

ออเดรย์ แฮพเบิร์น แสดงบท “สาวสังคม” ผู้ปรารถนาชีวิตอิสระ ไม่ยอมรู้จักคำว่ารักคืออะไร ทั้งขบขัน เศร้าสร้อยและชื่นมื่นหัวใจ

ขอเชิญคุณไปพบกับผู้หญิงที่แสนประหลาด โสภาคนนี้ให้ได้!


Sabrina (ซาบรินา) ฉายที่เฉลิมเขตร์
ตื่นตา แปลกใจ โดยการรวม 4 ดาราตุ๊กตาทอง

ฮัมฟรีย์ โบการ์ต จาก “กัปตันอาฟริกา”
ออเดรย์ แฮบเบิร์น จาก “โรมรำลึก”
วิลเลี่ยม โฮลเดน จาก “เชลยศึกจอมทรหด”
อำนวยการสร้าง และ กำกับการแสดงโดย
บิลลี่ ไวลเดอร์ จาก “เชลยศึกจอมทรหด”

9/26/07

freeform พิเศษฉบับกันยาแอ่วโลด

freeform ฉบับพิเศษขึ้นปีที่ 2 Vol. 2 / No. 13 - กันยายน 2007

ครบเครื่องไปด้วยบทความศิลปะทันสมัยเช่นเคย และพิเศษด้วยบทสัมภาษณ์ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ แบบเต็ม ๆ ไม่มีเม้ม อ่านกันจนปวดหลังไปข้าง หายงงกันไปเลยว่ามีเกย์ที่ไหนกันที่กลับใจ


จบแล้วอย่าลืมอ่านต่อ คอลัมน์ Virus Community ต้องขอขอบคุณทีมงาน freeform ที่เชิญชวน เราจึงยกเครื่องคอลัมน์ Artvirus จาก ONOPEN ไปที่นั่น ว่าด้วยบทความศิลปะและวรรณกรรมกันโดยเฉพาะ รวมความถึง การ์ตูน ดนตรี ภาพถ่าย ภาพเขียน นิยายชวนอ่าน (ส่วนเรื่อง “หนัง” น่ะเรอะ อยู่ห่าง ๆ เสียบ้างก็ดี)

วางแผงแล้ว โจมตีแผงหนังสือด่วน

แฟนคลับ นรา มีเฮ

แฟนคลับ นรา มีเฮ


สำหรับแฟนคอลัมน์วิจารณ์หนังของนรามีโอกาสกรี๊ดสลบ เมื่อสำนักพิมพ์ openbooks ตัดสินใจรวมเล่มงานวิจารณ์หนังญี่ปุ่นกันแบบกินใจชาวราเม็ง รวบรวมกันตั้งแต่หนังคลาสสิกของ ยาสุจิโร่ โอสุ, เคนจิ มิโซงุจิ, อากิระ คุโรซาว่า หนังสยองขวัญคลาสสิก Kwaidan, Onibaba และอื่น ๆ อีกมาก แบบจุอิ่มใจกว่า 290 หน้า วางตลาดเร็ว ๆ นี้

บรรณาธิการโดย อุทิศ เหมะมูล 1 ในนักเขียนไทยรุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าจับตาแห่งยุค เจ้าของผลงานนิยายและเรื่องสั้น เช่น ระบำเมถุน, ปริมาตรรำพึง และ กระจกเงา เงากระจก

Kaurismaki's Lights in the Dusk

รายงานอาการคนป่วยขั้นสุดท้ายจาก filmsick


อ่าน Lights in the Dusk หนังใหม่ของ Aki Kaurismaki ได้ที่นี่


และอ่านเกี่ยวกับหนังขันขื่นของ Kaurismaki เพิ่มเติมใน The 8 Masters โดย filmvirus และ Openbooks

9/23/07

Alphaville

Godard 's Alphaville
นำแสดงโดย Eddie Constantine, Anna Karina
กำกับโดย : Jean-Luc Godard
บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน


ในโลกอนาคต เสียงบรรยาย ที่ออกมาจากปากชายกล่องเสียงชำรุด กล่าวทำนองว่า “บางครั้ง ความเป็นจริงซับซ้อน เกินกว่าจะสื่อสารได้ด้วยการบอกเล่า ทว่า ตำนานจะทำหน้าที่แต่งแต้ม ให้มันออกรส มีเสน่ห์ จนขจรกระจายไปทั่วโลก”

ออกจะเป็นประโยค ที่มีเนื้อหาใจความที่ได้ยินกันมาบ่อย และฟังดูเหมาะแก่การเป็นประโยค เปิดตัวหนังย้อนยุค เชิดชูบุคคลในตำนาน มันเป็นประโยคที่เปิดตัว ตัวละครที่ชื่อว่าสายลับ เลมมี่ คอชั่น (รับบทโดยเอ็ดดี้ คอนสแตนติน) อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ มีบางอย่างไม่ชอบมาพากลซุ่มรอสายลับเลมมี่ อาคันตุกะ จากต่างแดน เมืองชื่อคุ้น นูวา ยอร์ค เขามาถึง อัลฟ่าวิลล์ ด้วยมาดสุขุม ใบหน้าไร้ความรู้สึก เข้าพักในโรงแรมโดยการปลอมตัวเป็นนักข่าวชื่อ อีวาน จอห์นสัน



สายลับเลมมี่ เป็นคนที่มีอุปนิสัยกักขฬะ สอดรับกับใบหน้า หลักฐานปรากฏชัดจากการที่ เขาปฏิเสธที่จะให้ทิปแกเด็กยกกระเป๋าแถมยังไล่ไปไกลๆ เขาแสดงทัศนคติตรงไป-ตรงมาและค่อนข้างโผงผาง มีท่าทีรังเกียจ ไม่รับบริการจากแม่สาวนักยั่วยวนมืออาชีพประจำโรงแรม และ เมื่อผู้บุกรุกเรียกร้องให้เขาสุภาพกับผู้หญิง พร้อมทั้งถามว่า “ไม่ชอบเธอคนนี้หรอกหรือ” เขาถามตอบว่า “แล้วน้องสาวแกล่ะ” เขาเล่นงานผู้บุกรุกอย่างไร้ความปราณี เห็นได้ชัดว่าสายลับคอชั่น เป็นสิ่งแปลกปลอมของเมืองนี้


แต่ระหว่าง-ความแปลกประหลาดของเมืองนี้ กับ-ความแปลกปลอมของเขา เป็นเรื่องที่เพิ่งเริ่มเผยตัวเอง ภารกิจต่อมาของเขาคือต้องไปพบคนสองคน คนหนึ่งคือ อองรี ดิคสัน สายลับคนก่อนที่ถูกส่งตัวมา บัดนี้ถูกกลืนไปกันคนในอัลฟ่าวิลล์ ส่วนอีกคนคือ ศาสตราจารย์ ฟอนบรอน


สาวสวยชื่อ นาตาชา ฟอนบรอน (รับบทโดย อันนา คาริน่า คู่ชีวิตของโกดาร์ในช่วงเวลานั้น เธอผูกขาดบทนางเอกในหนังของเขาหลายเรื่อง) มาขอพบสายลับเลมมี่ เธอมีนามสกุลเดียวกับบุคคลที่เขาต้องการตัว เขาอดสงสัยไม่ได้ว่าเธอมีความสัมพันธ์อะไรกับศาสตราจารย์ ฟอนบรอน และก็ได้รู้ในที่สุดว่าเป็นบิดาของเธอ


สายลับเลมมี่ ออกอุบายว่าตนต้องเขียนถึงบิดาเธอ พร้อมทั้งออกปากให้เธอเป็นฝ่ายนัดพบให้ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงตัวเขาเข้าไปสู่เรื่องประหลาดในอัลฟ่าวิลล์ เราได้รู้ว่า นาตาชา สาวสวยแห่งอัลฟ่าวิลล์ไม่รู้จักคำว่า “รัก” เมื่อใดที่เธอตอบว่า “ใช่” เธอจะตอบมันพร้อมกับการส่ายหน้า (ขัดแย้งกับอาการคนทั่วไปอย่างน่าอึดอัด) เธอเล่าให้ฟังว่าคนในเมืองนี้ถูกห้ามแสดงความรู้สึก ข้อห้ามที่ใครฝ่าฝืนและถูกจับได้จะได้รับโทษหนัก


นักสืบคอชั่น มีโอกาสได้เป็นสักขีพยานในการประหารชีวิตผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นผู้ชายจำนวนมาก เข้าแถวยาวเหยียดรอรับการประหารที่แสนพิสดาร มีคนดูยืนปรบมือเหมือนเป็นมหรสพ เจ้าหน้าที่อธิบายว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนถูกประหารจะมีอัตราส่วนอยู่ที่ชาย 50 คนต่อผู้หญิง 1คน ชายคนหนึ่งถูกประหารเพราะร้องไห้เสียใจที่สูญเสียภรรยา สายลับ เลมมี่ ถูกสอบสวนโดยคอมพิวเตอร์ (เสียงเดียวกับเสียงบรรยาย) และถูกส่งตัวไปศูนย์ควบคุม เพื่อซักถามอย่างละเอียดโดยหัวหน้าวิศวกร


สายลับเลมมี่ ได้ทราบข้อเท็จจริงในที่สุดว่า อัลฟ่าวิลล์ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า อัลฟ่า60 ระบบการทำงานของมันออกแบบขึ้นตามแนวคิด ปรัชญาในการปกครองของศาสตราจารย์ ฟรอนบรอน อัลฟ่า60 ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ธรรมดา มันสามารถคิดได้เอง มันสามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ธรรมดา ให้เหนือมนุษย์ (กลายเป็นเครื่องจักรแห่งอนาคต) มันล้างสมอง มนุษย์จากต่างแดน มาแล้วมากมาย โดยเฉพาะคน สวีเดน เยอรมัน และอเมริกัน (ไม่ยักกะมีคนฝรั่งเศสแฮะ) ใครที่ล้างสมองไม่ได้ ก็จะถูกสังหารเสีย


อัลฟ่า 60 กำลังคิดการใหญ่ ด้วยการชิงเป็นฝ่ายประกาศสงครามกับต่างแดนเสียก่อน ด้วยรู้ว่า เมื่อใดที่ต่างแดนล่วงรู้ถึงความเป็นไปในอัลฟ่าวิลล์ ที่นี่ก็จะตกเป็นเป้าโจมตีอย่างแน่นอน เมื่อสายลับ เลมมี่ เข้าไปถึงศูนย์ควบคุมอัลฟ่า 60 เขารู้ว่า อัลฟ่า 60นั้น มีแนวคิดคล้ายคลึงกับจอมเผด็จการ ฮิตเลอร์ (ก่อนหน้านี้ ในลิฟท์ แผงควบคุมมีปุ่มเขียนว่า SS เมื่อกดปุ่มนั้นก็จะได้พบกับศาสตราจารย์ ฟอนบรอน) สายลับเลมมี่สร้างความปั่นปวนให้กับอัลลฟ่า60ด้วยการร่ายกวีให้มันฟัง เขาพยายามหลบหนีจากอัลฟ่าวิลล์ โดย พาตัว นาตาชา ผู้แตกต่างจากคนอื่นๆ ใน อัลฟ่าวิลล์ไปด้วย


นี่เป็นหนังวิทยาศาสตร์ จะว่าไปแล้ว หากใครเคยเห็นภาพนิ่งของหนังเรื่องนี้ ก็คงยากที่จะนึกออกว่า จะเป็นหนังวิทยาศาสตร์ไปได้อย่างไรหนอ ความชาญฉลาดในการสร้างสร้างสรรค์นี้แล จะเปลี่ยน แต่งแต้มตำนานให้พิสดารโดยไม่ต้องหวังพึ่งพาเพียงงานสร้างให้สิ้นเปลืองหมดเปลือง หมดเงินไปโข แต่ก็ได้แค่หนังวิทยาศาสตร์ไร้มิติ แนวคิดสำเร็จรูป


หลายฉากในอัลฟ่าวิลล์นั้น เข้าใจว่า โกดาร์ ต้องการอิงกับหนังเรื่องอื่นอย่างจงใจ อย่างเช่น ฉากเปิดตัวนาตาชา ฟอนบรอน ที่คล้ายคลึงกับฉากเปิดตัว มารี ในเรื่อง To Have and Have Not ของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ อย่างกับแกะโคลนนิ่ง มารี ถามหาไม้ขีดไฟ ทันทีที่ปรากฎตัวหน้าห้องของกัปตัน แฮร์รี่ มอร์แกน ซึ่งรับบทโดย ฮัมฟรีย์ โบการ์ท ส่วน นาตาชา ถามหาไฟจุดบุหรี่ แล้วก็ได้ไฟจุดบุหรี่จากไฟแช็กที่ถูกจุดขึ้นอย่างพิสดาร (จุดด้วยปืน) หรือว่าการแต่งกายของสายลับ เลมมี่ คอชั่น ที่เป็นลักษณะเดียวกับตัวละครในหนังฟิล์มนัวร์อเมริกันยุค 40


ความคล้ายคลึงที่ถูกนำมาพลิกแพลงจนเข้ากับหนังตัวเองอย่างแนบเนียน แถมยังเรียบเรียงมุมมองจนเกิดภาษาหนังใหม่ๆ ทำให้หนัง โกดาร์ แตกต่างจากหนังลอกเลียนขี้ขโมย ที่ทำไปเพื่อการค้า-ผลกำไร เพียงถ่ายเดียวอย่างสิ้นเชิง


กล้องทำหน้าที่จับภาพเหมือนแทนสายตาของคนแปลกหน้า สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตามากมายในอัลฟ่าวิลล์ ก็คือ ด้านของฉากแอคชั่นที่ฉลาดเล่น ช่างคิด แม้เราจะไม่เห็นภาพทั้งหมดในระหว่างราวีกัน แต่คนดูแทบทุกคนก็คงพอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างนั้น ภาพที่เห็น แม้น้อยนิด แต่ก็เพียงพอสำหรับการเล่าเรื่อง จนต้องสงสัยว่า โกดาร์ คิดมันได้อย่างไรหนอ


หนังอย่าง อัลฟ่าวิลล์ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า บรรดาขุนพล เฟรนช์นิวเวฟนั้นชอบทารุณ เหน็บกัดผู้หญิง อย่างไม่ค่อยจะไว้หน้ากันนัก มีหลักฐานหลายฉาก ในหนังหลายเรื่อง ที่ใช้มัดมือได้ว่า พวกเขาให้บทบาทผู้หญิงในหนัง เป็นได้แค่ นังเพศยา (เฟรนช์นิวเวฟ ซึ่งได้แก่ François Truffaut, Jean-Luc Godard, Jacques Rivette, Claude Chabrol, and Eric Rohmer จะมีก็เพียง Rohmerเท่านั้นที่มอบภาพลักษณ์ที่ดีและสุภาพกับผู้หญิงในหนังของเขา เรื่องราวเหล่านี้ จะขยายความให้ฟังกันในลำดับถัดไป)


บางทีพวกเขาอาจจะแค่พยายามแสดงให้เห็นว่า ความสัตย์ซื่อต่อตัวเองนั้นสำคัญเพียงไร ความเป็น ออเตอร์ นั้นต้องเผยกันทุกด้าน ไม่ใช่หน้าบ้านแอคท่าเป็นสุภาพบุรุษ แต่พอผลุบไปหลังบ้านกลับแอบซ้อมภรรยา


สำหรับส่วนที่อัลฟ่าวิลล์แสดงให้เห็นว่าให้อิทธิพลกับหนังรุ่นต่อๆ มานั้น มีปรากฏให้เห็นตั้งแต่ต้นจนจบ ที่ชัดที่สุดก็คือมุมมองของ เควนติน ทาเรนติโน เล็กๆ น้อยๆ ประเภทไฟกระพริบใน Kill Bill หรือว่าฉาก นาตาชา เล่าเรื่องตลกนั้น ชวนให้นึกถึงฉากหนึ่งใน Pulp Fiction ของเขา เสียนี่กระไร

อ่านความสัมพันธ์ที่ Alphaville มีผลต่อนิยาย After Dark ของ ฮารุกิ มูรากามิ (Haruki Murakami): http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/murakami-and-godard.html

ฮารุกิ มูรากามิ กับผลงานเรื่องสั้นสุดหวง 2 เรื่อง ที่เขายินยอมให้สร้างเป็นภาพยนตร์:http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/bookvirus_14.html

9/22/07

Mario Bava VCD

Mario Bava VCD

VCD พากย์ไทยหนัง มาริโอ บาว่า ฉบับจอกว้างซีนีม่าสโคป
Hercules and the Haunted World (เฮอร์คิวลิสตะลุยขุมนรก)
บริษัท ไดนามิค จำกัด




Baron Blood (สยองคืนชีพ)


ศาลาเฉลิมรักษ์

ศาลาเฉลิมรักษ์ ตอน Mario Bava
(คอลัมน์สืบเนื่องจาก filmvirus 01, 02, 03, 04)
Black Sabbath (เดชผีดุ)
ฉายที่ เฉลิมเขตร์



"ตื่นเต้น! หวาดเสียว! เขย่าขวัญ สั่นประสาท"

"กำลังฉายวันนี้ เบื่อหน้ามนุษย์หลอกกันเองเต็มที......มาดูผีหลอกคนกันเถอะ"


Blood and Black Lace (คดีฆาตกรรมนางแบบ)

ฉายที่ ศาลาเฉลิมไทย

"ภาพยนตร์ฆาตกรรมสยองขวัญสั่นประสาท เหนือกว่าฝีมือการสร้างของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค"


The Wonders of Aladdin (ตะเกียงเนรมิต)

ฉายที่เฉลิมเขตร์


"สวยสดงดงาม วิจิตรพิสดาร ชวนคิด ชวนฝัน ตลกขบขัน ชวนเสน่ห์ เพลิดเพลิน เจริญตา ตื่นเต้น มหัศจรรย์"

Mario Bava ปรมาจารย์หนังเกรดบีอิตาเลี่ยน ตอน 1

Mario Bava
ปรมาจารย์หนังเกรดบีอิตาเลี่ยน ตอน 1

อ่าน Tim Lucas และหนังสือ Bava Book
ได้ที่นี่: http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/mario-bava.html

(ข้อความต่อไปนี้ดัดแปลงจากข้อมูลที่แปลและเรียบเรียงโดย แม่นาง MDS)

เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากอิตาลีในทศวรรษ 1950-1970 จะเต็มไปด้วยผู้กำกับหนังเกรดเออย่าง Ermanno Olmi, Francesco Rosi, Elio Petri, Vittorio de Sica, Roberto Rossellini, Michelangelo Antonioni, Federico Fellini, Pier Paolo Pasolini, Luchino Visconti, Ettore Scola อิตาลียังผลิตหนังเกรดบีที่โดดเด่นจนกลายเป็น genre ที่โด่งดังมาจนถึงยุคปัจจุบันอีกหลาย genre ไม่ว่าจะเป็นหนังคาวบอยอิตาลี, หนังฆาตกรรม หนังผีอิตาลี, หนังซอมบี้อิตาลี และรวมไปถึงหนังจักรๆ วงศ์ๆ อิตาลี ผู้กำกับหลายคน ซึ่งรวมถึง มาริโอ บาว่า ต่างก็เคยสร้างหนังแนวๆ นี้มาแล้วหลายเรื่อง โดยตัว บาว่าเองนั้นเคยทำทั้งหนังจักรๆ วงศ์ๆ, หนังคาวบอย, หนังฆาตกรรม และหนังผี ในขณะที่เซอร์จิโอ ลีโอเน่ ผู้กำกับหนังคาวบอยอิตาลีชื่อดังก็เคยเขียนบทหนังจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง Duel of the Titans


มาริโอ บาว่า เกิดในปี 1914 และเสียชีวิตในปี 1980 ด้วยอาการหัวใจวาย เขาเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง Danger : Diabolik (1968) (A-) ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีชื่อเสียงด้านการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญ ผลงานของเขารวมถึงเรื่อง Rabid Dogs (1974),



Baron Blood (1972 / วีดีโอพากย์ไทยชื่อ “สยองคืนชีพ”), Shock หรือ Beyond the Door 2, Twitch of the Death Nerve, Five Dolls for a August Moon (1970), An Axe for the Honeymoon (1970), Kill Baby Kill, Viking Massacre (1966), Fashion House of Death, The Devil in the House of Exorcism, Dr. Goldfoot and the Girl Bombs, Hercules in the Haunted World, Black Sunday (1961) และ Black Sabbath




(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Mario Bava ได้จาก filmvirus เล่ม 4 : สางสำแดง)

เว็บไซท์ http://www.imagesjournal.com/ ระบุว่าบาว่าเคยทำงานเป็นตากล้องให้กับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังหลายคน ซึ่งรวมถึง โรแบร์โต รอสเซลลินี่, จี ดับเบิลยู พาบส์ท, ราอูล วอลช์ และโรเบิร์ต แซด เลียวนาร์ด นอกจากนี้สไตล์การถ่ายภาพของเขายังมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลิกที่โดดเด่นให้กับดาราอย่างจิน่า ลอลโลบริจิดา และสตีฟ รีฟส์ด้วย

บาว่าชื่นชอบวรรณกรรมรัสเซีย เขาเคยนำนิยายเรื่อง Vij ของ นิโคไล โกโกล มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Black Sunday ในปี 1960 และภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จขึ้นมาในทันที โดยความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังส่งผลให้บาร์บารา สตีล นางเอกของเรื่องได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีภาพยนตร์สยองขวัญ” คนแรกของโลกด้วย

ภาพยนตร์ดังอีกเรื่องของบาว่าคือ Kill Baby Kill (1966) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทุนต่ำที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ถูกหลอกหลอนด้วยวิญญาณเด็กผู้หญิงเล่นลูกบอล ซึ่งการปรากฎตัวของผีเด็กคนนี้มักทำให้ชาวบ้านต้องฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ภาพยนตร์แนวจิตวิทยาเรื่องนี้ได้รับคำชมอย่างมากจาก ลูชิโน วิสคอนติ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอิตาลีและส่งอิทธิพลไปยังผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอีกหลายคน ซึ่งรวมถึง เฟเดอริโก เฟลลีนี่ ในภาพยนตร์เรื่อง Toby Dammit, มาร์ติน สกอร์เซซี่ ในภาพยนตร์เรื่อง The Last Temptation of Christ และยังรวมถึงผู้กำกับอย่าง เดวิด ลินช์ ในภาพยนตร์เรื่อง Twin Peaks : Fire Walk with Me



แนะนำหนังอีก 25 เรื่องของมาริโอ บาว่า
1.Ulysses (1955)
กำกับร่วมกับ Mario Camerini

เคิร์ค ดักลาส รับบทเป็นยูลิซิส ในขณะที่แอนโธนี ควินน์ รับบทเป็นแอนตีนูส ในหนังที่สร้างจากตำนานของโฮเมอร์เรื่องนี้

ยูลิซิส เป็นราชาแห่งเมืองอิธาคา และเป็นสามีของเพเนโลปีกับพ่อของเตเลมาคัส เขาเข้าร่วมรบในสงครามกรุงทรอยและหลังจากสิ้นสุดสงคราม เขาก็พยายามเดินทางกลับบ้าน แต่กลับเผชิญกับอุปสรรคและการผจญภัยต่างๆ มากมายเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ก่อนจะได้กลับถึงบ้าน


ยูลิซิสพบตัวเองอยู่ที่ชายฝั่งและหลงลืมความทรงจำในอดีต เขาพยายามนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และหนังเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องย้อนหลังไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับยักษ์ไซคลอปส์ที่เป็นลูกชายของโปไซดอน ราชาแห่งท้องทะเล, เรื่องของนางไซเรนที่ใช้เสียงของตัวเองล่อลวงบรรดาลูกเรือให้ไปสู่ความตาย, เรื่องของนางแม่มดเซอร์ซีที่ปลอมตัวเป็นภรรยาของเขาและสาปลูกเรือให้กลายเป็นหมู

ยูลิซิสได้พบกับเจ้าหญิงนอซิกา (Rossana Podesta) ซึ่งตกหลุมรักเขา และได้ต่อสู้กับแชมป์มวยปล้ำแห่ง Phaeacia ด้วย

ซิลวานา แมงกาโน (1930-1989) รับบทเป็นเพเนโลปี และเซอร์ซีในเรื่องนี้ เพเนโลปีเป็นหญิงที่ซื่อสัตย์ต่อสามี แม้สามีจะหายไปนานเกือบ 10 ปี เธอไม่ยอมแต่งงานใหม่แม้จะมีคนมาสู่ของมากมาย ซึ่งรวมถึงแอนตินุส ที่ชอบพากลุ่มผู้ชายที่ชั่วร้ายมาที่วังของเพเนโลปี เขาพยายามทำให้เพเนโลปีเชื่อว่ายูลิซิสตายไปแล้ว (อย่าจำ Ulysses เรื่องนี้สลับกับหนังเรื่อง Ulysses ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ เจมส์ จอยซ์)

2. The Vampires (I Vampiri) (1956)
(มาริโอ บาว่า ร่วมกำกับกับ ริคคาร์โด เฟรด้า และถ่ายภาพโดย บาว่า)
อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่ http://www.kinoeye.org/02/18/abbott18.php
พล็อต : นักข่าวคนหนึ่งพยายามสืบหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องที่คล้ายกับฝีมือของผีดูดเลือด

หนังเรื่องนี้คือหนึ่งในต้นกำเนิดของหนังสยองขวัญอิตาลี และเป็นหนังที่มาก่อนหนัง “สยองขวัญยุคใหม่” ซึ่งหนังในกลุ่มนี้รวมถึง Alfred Hitchcock’s Psycho (1960), Georges Franju’s Les Yeux sans visage (Eyes without a Face, 1959) และ George Romero’s Night of the Living Dead (1968)


I Vampiri เป็นหนังที่ดัดแปลงตำนานแวมไพร์ให้กลายเป็นสิ่งทันสมัย โดยแวมไพร์ในหนังเรื่องนี้กลายเป็นผลผลิตของโลกยุคใหม่ แทนที่จะเป็นศัตรูกับโลกยุคใหม่เหมือนหนังแวมไพร์เรื่องอื่นๆ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในหนังเรื่องแรกๆ ที่นำเสนอแวมไพร์ท่ามกลางฉากโลกยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ถึงแม้หนังเรื่อง Martin (1977) ของ จอร์จ เอ.โรเมโร จะแสดงให้เห็นภาพของแวมไพร์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากอเมริกายุคใหม่ ไม่ใช่ผลพวงจากอดีต แต่หนังของบาวา/ริคคาร์โด เฟรดา เรื่องนี้ก็นำเสนอในสิ่งที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่เปลี่ยนฉากมาเป็นยุโรป และสร้างก่อนหนังเรื่อง Martin ถึง 20 ปี

I Vampiri ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานของเคาน์เตสบาโธรี ซึ่งเป็นสตรีสูงศักดิ์ชาวฮังการีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ฆ่าหญิงสาวไปกว่า 650 คน ในแบบที่โหดร้ายและซาดิสม์ โดยตำนานระบุว่าเคาน์เตสผู้นี้เชื่อว่าการได้อาบเลือดของหญิงพรหมจรรย์จะช่วยให้เธอรักษาความสาวไว้ได้ ทั้งนี้หนังเรื่อง Daughters of Darkness ที่กำกับโดย แฮร์รี คูเมล ซึ่ง ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยจัดฉายฉายที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานนี้เช่นกัน โดยมี เดลฟีน ซีริก (Last Year at Marienbad, India Song, The Discreet Charm of the Bourgeoisie) ผู้งามสง่ารับบทเป็นเคาน์เตสปีศาจ

หนังเรื่อง Countess Dracula (1970) ของสตูดิโอแฮมเมอร์ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเดียวกัน

3. Caltiki, The Undying Monster (1959)
มาริโอ บาวา รับหน้าที่กำกับหนังเรื่องนี้ต่อให้เสร็จหลังจาก Riccardo Freda ผู้กำกับคนก่อนถอนตัวออกไป โดยหนังสยองขวัญของอิตาลีเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายหนังสยองขวัญของสหรัฐอย่างมาก

พล็อตเรื่องนี้เกี่ยวกับทีมนักโบราณคดีชุดหนึ่งที่ค้นพบสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายวุ้น (คล้ายสัตว์ประหลาดในเรื่อง The Blob) ที่อาศัยอยู่ในวิหารโบราณของชาวมายามาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเชื่อกันว่าสัตว์ประหลาดนี้ทำหน้าที่เฝ้าวิหารเพื่อป้องกันผู้บุกรุก



ทีมนักโบราณคดีได้ค้นพบความจริงที่ว่าสัตว์ประหลาดที่มีกัมมันตภาพรังสีตัวนี้สามารถกินเนื้อมนุษย์ได้ถ้าหากไปถูกตัวมัน หรือไม่ก็ทำให้คนที่รอดชีวิตกลายเป็นคนบ้าที่อาละวาดฆ่าคนอื่น นอกจากนี้ สัตว์ตัวนี้ยังเกี่ยวข้องกับดาวหางที่เคยเดินทางมาเยือนโลกในอดีต และอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้อารยธรรมมายันล่มสลาย โดยดาวหางดวงนี้กำลังจะกลับมาเยือนโลกอีกครั้งด้วย

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือฝีมือการถ่ายภาพของบาว่า โดยเขาทำงานนี้โดยใช้ชื่อปลอมว่า John Foam

4. Black Sunday (1961)
หนังสยองขวัญคลาสสิคของอิตาลีเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่มดคนหนึ่งที่สาบานว่าจะแก้แค้นลูกหลานของกลุ่มคนที่เคยฆ่าเธออย่างโหดเหี้ยมเมื่อหลายศตวรรษก่อน โดยชื่อเรื่องของหนังเรื่องนี้หมายความถึงวันที่จะเกิดขึ้นเพียงวันเดียวในเวลาหนึ่งศตวรรษ ซึ่งเป็นวันที่ซาตานจะขึ้นมาผงาดอยู่บนพื้นโลก

หนังขาวดำเรื่องนี้มีจุดเด่นที่การถ่ายภาพและการกำกับศิลป์ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าขนลุกและเหนือจริงให้กับเรื่อง


ดารานำคือ Barbara Steele, John Richardson, Ivo Garrani และ Andrea Checci

อ่านเรื่องของ Barbara Steele ได้อย่างละเอียดในบทความ
Barbara Steele’s Ephemeral Skin : Feminism, Fetishism and Film ที่ http://www.sensesofcinema.com/contents/02/22/steele.html

อ่านบทความเกี่ยวกับ Black Sunday ได้ที่
http://www.sensesofcinema.com/contents/03/25/cteq/black_Sunday.html

5. Hercules in the Haunted World (1961)
เฮอร์คิวลิส (เร็ก ปาร์ค) ต้องเดินทางไปยังนรกเพื่อไปค้นหาต้นพืชวิเศษที่เป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถใช้ในการรักษาเจ้าหญิงที่กำลังจะตาย หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังแนว swords & sandals ที่ยอดเยี่ยมที่สุด


เร็ก ปาร์ค เคยแสดงนำใน Hercules and the Captive Women (1961) และ Maciste in King Solomon’s Mines (1964) และเคยได้รับตำแหน่ง Mr.Universe ในปี 1951, 1958 และ 1965

6. The Wonders of Aladdin (1961)
(กำกับร่วมกับ Henry Levin)

หนังแนวเบาสมองเรื่องนี้เป็นการนำตำนานคลาสสิคเกี่ยวกับอลาดินและตะเกียงวิเศษมาเล่าใหม่ โดยอลาดิน (โดนัลด์ โอ’คอนเนอร์) เป็นเด็กข้างถนนในตะวันออกกลางที่ได้พบกับจาลมา (โนเอลล์ อดัม) บุตรีของท่านสุลต่านที่ได้รับคำสั่งจากพ่อให้หาสามีให้ได้โดยเร็ว


อลาดินและจาลมาตกหลุมรักกัน แต่แกรนด์ วิเซียร์ (เฟาส์โต ตอซซี) ผู้ชั่วร้ายที่ดำรงตำแหน่งรองจากสุลต่านก็ตั้งใจจะแต่งงานกับจาลมาเช่นกันเพื่อที่เขาจะได้ดำรงตำแหน่งสุลต่านต่อไป เขาพยายามขัดขวางความรักระหว่างอลาดินกับจาลมา

อลาดินพบกับตะเกียงวิเศษในถ้ำมหัศจรรย์ และเมื่อเขาถูตะเกียง เขาก็ได้พบกับภูติที่สามารถให้พรแก่เขา 3 อย่าง

7. The Last of the Vikings (1961)
กำกับร่วมกับ Giacomo Gentilomo

ฮารัลด์ (Cameron Mitchell) และกุนทาร์ (George Ardisson) ซึ่งเป็นน้องชาย เดินทางกลับมานอร์เวย์หลังจากจากไปนาน 3 ปี พวกเขาพบว่าพ่อของเขาถูกฆ่าตายและที่ดินของพวกเขาตกเป็นของกษัตริย์สเวโน (Edmund Purdom) ผู้ชั่วร้าย



ฮารัลด์วางแผนที่จะปลุกระดมไวกิ้งให้ต่อสู้กับทรราชย์คนนี้ และเขาก็ปลอมตัวเป็นทูตเดนมาร์คเพื่อจะได้เข้าไปในที่มั่นของสเวโน เขาตกหลุมรักกับฮิลเด (Isabelle Corey) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องซองสเวโน และฮิลเดก็ถูกบังคับให้หมั้นหมายกับกษัตริย์เดนมาร์คทั้งๆ ที่เธอไม่เต็มใจ ฮารัลด์จำเป็นต้องคิดแผนใหม่ขึ้นมาในขณะที่กุนทาร์ถูกสเวโนจับตัวไปและทูตเดนมาร์คตัวจริงเดินทางมาถึง
*ภาพประกอบจากหนังของ บาว่า เรื่อง Fury of The Vikings (The Invaders)*

8. Erik the Conqueror (1961)
ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 เอริค (George Ardisson) และเอรอน (คาเมรอน มิทเซลล์) ซึ่งเป็นพี่น้องกันเห็นพ่อแม่ของตัวเองถูกชาวอังกฤษฆ่าตายในขณะที่ชาวอังกฤษบุกเข้ามาในหมู่บ้านไวกิ้งของพวกเขา ราชินีแอนน์ได้นำตัวเอริคกลับไปอังกฤษและเลี้ยงดูเธอเหมือนกับเป็นลูกชายของตัวเอง ในขณะที่เอรอนใช้ชีวิตอย่างทุกข์ระทมขมขื่น

เวลาหลายปีผ่านไป เอรอน ได้วางแผนร่วมกับชาวไวกิ้งในการโจมตีอังกฤษ ในขณะที่ เอริค ซึ่งเป็นนายทหารเรืออังกฤษ ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีไวกิ้ง พี่น้องทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้ง และทั้งสองก็ตัดสินใจร่วมมือกันในการโจมตีเซอร์ รัฟฟอร์ด (Andrea Checchi) ซึ่งเป็นเจ้านายผู้ชั่วร้ายของเอริค

9. The Girl Who Knew Too Much (1962)
หลายคนถือว่านี่คือหนังแนว giallo ที่แท้จริงเรื่องแรก และเป็นหนังทริลเลอร์สไตล์เก๋ที่นำแสดงโดย Leticia Roman ในบทของนอร่า หญิงสาวที่เดินทางไปกรุงโรมเพื่อไปเยี่ยมคุณป้าที่กำลังป่วย ปรากฏว่าคุณป้าตายในคืนนั้น และนอร่าก็ต้องกลายมาเป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม ตำรวจและ ดร.บาสซี่ (จอห์น แซกซัน) ไม่เชื่อคำพูดของเธอ และเนื่องจากเธอไม่รู้จักใคร เธอจึงต้องไปอาศัยอยู่กับครอบครัวคราเวน ซึ่งเป็นเพื่อนของป้า



มีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นตามมาเรื่อยๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมที่ดำเนินต่อเนื่องมานาน 10 ปี โดยฆาตกรจะเลือกฆ่าเหยื่อเรียงตามตัวอักษรของนามสกุลของเหยื่อ ตอนจบของหนังเรื่องนี้ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในขณะที่ Valentina Cortese ก็เล่นได้ดีในบทประกอบที่น่าขันในเรื่องนี้
(อย่าจำชื่อหนังเรื่องนี้สลับกับ The Man Who Knew Too Much ของฮิทช์ค็อค และสลับกับเรื่อง The Man Who Knew Too Little)

10. The Whip and the Body (1963)
อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่ http://www.metajasylum.com/ragingbull/movies/whipandthebody.html

มาริโอ บาว่าได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของหนัง giallo ของอิตาลี เขามีอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นต่อๆ มาอย่าง Dario Argento, Lucio Fulci, Martin Scorsese, Ridley Scott, Tim Burton และโดยเฉพาะ เควนติน ทาแรนติโน่ (Quentin Tarantino)



The Whip and the Body เป็นหนังสยองขวัญแฟนตาซีโกธิคที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านภาพของบาว่าในขั้นสุดยอด หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นความรุนแรงเหมือนหนัง giallo ทั่วไป แต่มีจุดเด่นที่ความชำนิชำนาญในการจัดแสงและการจัดองค์ประกอบภาพที่นุ่มนวล ซึ่งส่งผลให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนัง cult ระดับคลาสสิคที่พูดถึงเรื่องของความลวงตาและความวิปริตที่แฝงอยู่ในความเป็นจริง

The Whip and the Body ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องตามแบบแผนดั้งเดิม โดยตัวเอกของเรื่องคือเคิร์ท เมนลิฟฟ์ (คริสโตเฟอร์ ลี) ผู้กลับมายังปราสาทของพ่อ เขาได้พบกับหญิงรับใช้ (แฮร์เรียต เมดิน) ที่จ้องมองไปที่กริซเล่มหนึ่งอย่างลึกลับ และเธอก็พูดกับตัวเองว่าเคิร์ทจะต้องตายด้วยการถูกกริซเชือดคอเหมือนกับที่ลูกสาวของเธอเคยโดนมาแล้ว

เคิร์ท มีพี่ชายชื่อ Christian (Tony Menliff) ซึ่งมีภรรยาชื่อ Novenka (Daliah Lavi) และคริสเตียนก็กลัวว่าโนเวนกาอาจจะโดนเคิร์ททำร้าย ทั้งนี้ในอดีตนั้นโนเวนกาเคยมีความสัมพันธ์กับเคิร์ทมาก่อน และเมื่อเคิร์ทพบโนเวนกาเดินอยู่บนชายหาด เขาก็ใช้แส้เฆี่ยนตีเธอขณะที่เธอร้องครวญครางด้วยอารมณ์สุขสม ในขณะที่ม้าตัวหนึ่งที่อยู่ในบริเวณนั้นพยายามเดินหนีคลื่นที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง ทั้งนี้นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าฉากที่อีโรติกฉากนี้ให้อารมณ์คล้ายกับนิยายของ ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ (ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์)

11. Black Sabbath (1964)


หนังเรื่องนี้ประกอบด้วยหนังสยองขวัญ 3 เรื่องที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ โดยมีจุดเด่นที่การสร้างบรรยากาศ โดยหนัง 3 เรื่องนี้ได้แก่ The Wurdalak ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผีดูดเลือดและนำแสดงโดยบอริส คาร์ลอฟฟ์, A Drop of Water ที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ อังตอน เชคอฟ และ The Telephone โดยมี Mark Damon กับ Suzy Andersen ร่วมแสดง

12. Blood and Black Lace (1964)



หนังสยองขวัญเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตที่ไล่ฆ่าคนในวงการนางแบบ โดยมี Cameron Mitchell กับ Eva Bartok นำแสดง

13. Arizona Bill หรือ The Road to Fort Alamo (1964)
นี่คือหนึ่งในหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้เรื่องแรกๆ และบาว่าก็ใช้ทุนที่ต่ำมากในการสร้างหนังเรื่องนี้ เขาถ่ายหนังเรื่องนี้ในพื้นที่ที่ดูเหมือนเหมืองหินในอิตาลีที่มีขนาดใหญ่เพียง 2 เอเคอร์ และเขาก็นำต้นตะบองเพชรพลาสติกมาใช้ประกอบฉาก โดยย้ายตำแหน่งของต้นไม้พลาสติกนี้ไปๆ มาๆ เพื่อให้ดูเหมือนฉากเปลี่ยนไป นอกจากนี้เขายังพยายามสร้างฝุ่นควันขนาดใหญ่เพื่อสร้างอารมณ์ให้เหมือนกับหนังคาวบอยอีกด้วย


เนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเพื่อนสองคน (บีลและสลีม), แก๊งอาชญากร, กองหทารม้า, อินเดียนแดง, การปลอมตัวเป็นคนอื่น, การข่มขืน, ภรรยาของนายทหาร, โรซี โอเกรดี, การปล้นธนาคาร และสงครามกลางเมืองของสหรัฐ จุดที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือสีเหลืองและสีแดงที่ปรากฏอยู่ในฝุ่นควันอันงดงาม และความงุ่มง่ามของดาราประกอบที่มารับบทเป็นอินเดียนแดง โดยนักแสดงเหล่านี้แสดงให้เห็นต่อหน้ากล้องอย่างแทบไม่อับอายเลยว่าพวกเขายิงธนูไม่เป็น

นำแสดงโดย Ken Clark, Jany Clair, Michel Lemoine, Andreina Paul, Kirk Bert

14. Planet of the Vampires (1965) (B-)
Planet of the Vampires ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยเปิดฉายที่ห้องสมุดวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผลงานการกำกับของมาริโอ บาว่า และเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในปี 1965 แต่กลับส่งอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดต่อภาพยนตร์เรื่อง Alien ที่สร้างขึ้นในอีกสิบกว่าปีต่อมา โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาวอวกาศ 2 ลำชื่ออาร์โกส กับเกลเลียต ที่สืบสวนหาต้นตอของสัญญาณแปลกประหลาดมาเป็นเวลานาน 2 ปี และในที่สุดยานอวกาศ 2 ลำนี้ก็พบว่าต้นตอดังกล่าวมาจากดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มเมฆ

เกิดอุบัติเหตุขึ้นขณะที่ยานอวกาศจะลงจอด และส่งผลให้ลูกเรือยานอาร์โกสหมดสติ อย่างไรก็ดี พลังอันลึกลับช่วยให้ยานลำนี้ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล และลูกเรือในยานก็ตื่นขึ้นพร้อมกับความรู้สึกอยากฆ่าคน พวกเขาพยายามฆ่าคนอื่นๆ แต่ในที่สุดแต่ละคนก็ได้สติในเวลาต่อมาและจดจำเหตุการณ์ขณะพยายามฆ่าคนอื่นไม่ได้



ลูกเรืออาร์โกสพยายามตามหาลูกเรือเกลเลียต พวกเขาต้องเดินทางข้ามดินแดนอันแปลกประหลาดและพบว่าลูกเรือเกลเลียตก็ตกอยู่ภายใต้พลังลึกลับเช่นกัน อย่างไรก็ดี ลูกเรือเกลเลียตไม่สามารถเรียกสติกลับคืนมาได้ พวกเขาฆ่าคนไป 7 คน และอีก 2 คนหายตัวไป

ลูกเรืออาร์โกสคนหนึ่งทำหน้าที่เฝ้ายามในขณะที่ลูกเรือคนอื่นๆ ออกตามหาลูกเรือเกลเลียตที่หายสาบสูญ อย่างไรก็ดีลูกเรือที่ทำหน้าที่เป็นยามก็หายตัวไปเช่นกัน และศพในยานอวกาศก็หายไปด้วย

กัปตันยานอวกาศสั่งให้นำศพที่เหลือไปฝัง แต่ในคืนนั้นศพในหลุมก็ค่อยๆ ลุกขึ้นมาจากหลุม พร้อมๆ กับที่ลูกเรือบนยานก็มีอาการละเมอเดินขณะนอนหลับ ต่อมาในวันรุ่งขึ้นลูกเรือก็ค้นพบว่ามียานอวกาศเก่าแก่ลำหนึ่งอยู่บนดาวดวงนี้ด้วยเช่นกัน แต่คนบนยานกลายเป็นศพไปหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ายานอาร์โกสไม่ใช่ยานลำแรกที่ถูกสัญญาณลึกลับล่อลวงให้มาที่ดาวเคราะห์มรณะดวงนี้

อะไรคือสิ่งที่ชักพาพวกเขามาที่นี่ อะไรคือสิ่งที่เข้าสิงลูกเรือขณะนอนหลับ ศพหายไปไหน และทำไมกัปตันยานจึงมักสั่งให้ลูกเรือคนหนึ่งอยู่เวรยามทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกเรืออาจหายสาบสูญไป ปริศนาเหล่านี้จะได้รับการคลี่คลายในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้

15. Dr. Goldfoot and the Girl Bombs (1966)
ดร.โกลด์ฟุต (วินแซนท์ ไพรซ์) ต้องการจะเป็นผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก ดังนั้นเขาก็เลยสร้างหุ่นยนต์สาวสวยขึ้นมาเพื่อให้หุ่นยนต์เหล่านี้แต่งงานกับผู้ชายที่รวยที่สุดในโลกคนปัจจุบัน แต่ฟาเบียง (บิล เด็กซ์เตอร์) ก็เข้ามาขัดขวางแผนการของเขา


หนังเรื่องนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ซึ่งรวมถึง Dr. Goldfoot and the ‘S’ Bombs, Dr.Goldfoot and the Love Bomb, Dr.Goldfoot and the Sex Bombs, Spies Come from Half-Cold, The Spy Came from the Semi-Cold, Two Mafia Guys from the FBI

อ่าน Mario Bava ตอน 2 ได้ที่: http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/mario-bava-2.html

Mario Bava ปรมาจารย์หนังเกรดบีอิตาเลี่ยน ตอน 2

Mario Bava
ปรมาจารย์แห่งหนังเกรดบีอิตาเลี่ยน ตอน 2





16. Gunman Called Nebraska (1966)
ชายพเนจรที่เรียกตัวเองว่าเนบราสกา (Ken Clark) ได้ทำงานในไร่ของมาร์ธี ฮิลแมน (Alfonso Rojas) และเคย์ (Yvonne Bastien) ซึ่งเป็นภรรยาของมาร์ธี โดยทั้งสองกำลังต่อสู้กับบิล เจ้าของที่ดินผู้โหดร้ายที่พยายามขู่กรรโชกเอาเงินจากบรรดาชาวไร่ปศุสัตว์
เมื่อบิลต้องการตัวเคย์ เนบราสกาก็ตัดสินใจว่าเขาจะไม่อยู่นิ่งเฉยอีกต่อไป เขาตัดสินใจช่วยเหลือมาร์ธีจากบรรดาลูกสมุนของบิล และตัดสินใจช่วยเหลือเคย์

Antonio Roman ร่วมกำกับหนังคาวบอยอิตาลีเรื่องนี้

17. Knives of the Avenger หรือ Viking Massacre (1966) หรือ Bladestorm
ในอาณาจักไวกิ้งที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ของชนเผ่าต่างๆ กษัตริย์ฮารัลด์ (เจียโคโม รอสซี-สจ็วร์ต) หลงทางในทะเลและปล่อยให้ราชินีคาเรน (Elissa Pichelli) กับโมกี (Luciano Pollentin) ซึ่งเป็นโอรสของเขาตกอยู่ในเงื้อมมือของนายพลฮาเกน (Fausto Tozzi) ผู้มีความทะเยอทะยานสูงและก่อสงครามมานานหลายสิบปี

คาเรนและโมกีหนีไปซ่อนตัวที่ชายหาด และทั้งสองได้รับความช่วยเหลือจากชายพเนจรที่มีชื่อจริงว่ารูริค (Cameron Mitchell) โดยรูริคนั้นเคยเป็นพันธมิตรกับฮาเกน แต่เขาแปรพักตร์เมื่อฮาเกนฆ่าครอบครัวของเขาตายเมื่อหลายปีก่อน


นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บาวาสร้างหนังที่มีคุณภาพโดยใช้ต้นทุนต่ำมาก หนังเรื่องนี้ใช้ชายหาดที่ปรากฏในหนังของบาว่ามาแล้วบ่อยครั้ง, ใช้ภูมิประเทศที่เหมือนกับเหมืองหินในหนังเรื่องอื่นๆ ของบาวา หนังเรื่องนี้มีฉากที่ถ่ายในตัวอาคารเพียงไม่กี่ฉาก และมีอาคารไวกิ้งหลังหนึ่งปรากฏในหนังเป็นเวลาสั้นมากจนนักวิจารณ์คาดการณ์ว่า บาว่า คงหยิบยืมอาคารไวกิ้งนี้มาจากกองถ่ายหนังเรื่องอื่น

คาเมรอน มิทเซลล์ ซึ่งร่วมงานกับบาวามาแล้วหลายเรื่องรับบทที่คล้ายกับเฮนรี ฟอนดา ใน Once Upon a Time in the West ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบทของผู้ชายที่กร้าวแกร่ง นอกจากนี้นักวิจารณ์ยังตั้งข้อสังเกตว่าหนังไวกิ้งเรื่องนี้ที่จริงแล้วคล้ายคลึงกับหนังคาวบอยเรื่อง Shane ซึ่งรวมถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างรูริคกับเมียและลูกของคนอื่น

รูริคมีความสามารถด้านการขว้างมือเป็นอย่างมาก ซึ่งยิ่งทำให้ตัวละครตัวนี้เหมือนหลุดออกมาจากหนังคาวบอยอิตาลีมากยิ่งขึ้น โดยเขาสามารถขว้างมีดได้ 2-3 เล่มในครั้งเดียวและพุ่งเข้าปักคนร้ายได้อย่างเหมาะเหม็ง ทั้งนี้ เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนังทุนต่ำเรื่องนี้ก็คือในหนังไม่มีกองทหาร, ไม่มีปราสาท, ไม่มีเรือ แต่มีเพียงม้าไม่กี่ตัวเท่านั้น

18. Four Times That Night (1969)
หนังเรื่องนี้เป็นการนำ Rashomon มาดัดแปลงใหม่ให้เป็นหนังเบาสมองปนเซ็กส์ตามสไตล์ทศวรรษ 1960 โดยมีจุดเด่นที่เทคนิคแพรวพราวด้านการถ่ายภาพตามแบบฉบับของมาริโอ บาว่า โดยเนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่งที่มีผู้เล่าออกมาไม่ตรงกัน 4 เวอร์ชั่น โดยหญิงคนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่มีคนพยายามจะข่มขืนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนฝ่ายชายก็เล่าว่าเขาถูกล่อลวง ทางด้านคนเฝ้าประตูกะกลางคืนกลับเล่าถึงเรื่องราวของคู่รักอีกคู่หนึ่ง และเรื่องของคู่รักเพศเดียวกัน ในขณะที่จิตแพทย์คนหนึ่งกลับมองเรื่องนี้ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป


นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าผู้ชมขาประจำของบาว่าอาจไม่ชอบหนังเรื่องนี้เท่าใดนัก และคงต้องการให้มีคนบ้ามาใช้ขวานไล่ฆ่าตัวละครในเรื่องให้ตายให้หมดซะมากกว่า อย่างไรก็ดีจุดดีของหนังเรื่องนี้คือการแสดงของ Pascale Petit ซึ่งเคยเป็นดาราที่งดงามเมื่อ 10 ปีก่อน แต่หนังเรื่องนี้คือบทบาทการแสดงครั้งสุดท้ายของเธอ และเธอก็ทำได้อย่างน่าประทับใจมาก

ดารานำได้แก่ Daniela Giordano, Brett Halsey, Dick Randall, Michael Hinz และ Brigitte Skay

19. Roy Colt and Winchester Jack (1970)


Brett Halsey รับบทเป็น Roy Colt ในขณะที่ Charles Southwood รับบทเป็น Winchester Jack ทั้งสองเป็นบุคคลนอกกฎหมายที่แข่งขันกับอีกคนหนึ่งเพื่อแย่งชิงแผนที่ขุมทรัพย์ที่จะนำไปพบกับทองคำที่ถูกฝังไว้ โดยหนึ่งในสองคนนี้ร่วมมือกับเจ้าพ่ออาชญากรที่เคยเป็นพระซาดิสท์มาก่อน ในขณะที่สาวอินเดียนแดงคนหนึ่งช่วยเหลือชายหนุ่มทั้งสอง และพยายามปั่นหัวให้ทั้งสองทะเลาะกัน

20. Hatchet for the Honeymoon (1970)
หนังเรื่องนี้เขียนบท, กำกับ, และถ่ายภาพโดยบาว่า และมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายที่ไร้สมรรถภาพทางเพศผู้ระบายความอัดอั้นตันใจด้วยการฆาตกรรม ตัวเอกของเรื่องคือดีไซเนอร์และเจ้าของธุรกิจออกแบบแฟชั่น (สตีเฟน ฟอร์ไซธ์) ที่ฆ่านางแบบของห้องเสื้อของตัวเอง และเมื่อเขาตัดสินใจฆ่าภรรยาของเขา เธอก็กลายมาเป็นผีหลอกหลอนเขา

หนังเรื่องนี้เป็นหนังสยองขวัญที่มีสไตล์ฉูดฉาดตามแบบฉบับของบาว่า และถือว่าเป็นหนังสยองขวัญที่มีมาตรฐานสูงกว่าหนังสยองขวัญทั่วไป

21. Five Dolls for an August Moon (1970)
นำแสดงโดย William Berger, Edwige Fenech, Renato Rossini
หนังเรื่องนี้เป็นหนังทริลเลอร์ทั่วไป และดูเหมือนว่าใจจริงแล้วบาว่าไม่ต้องการกำกับเรื่องนี้ แต่จำเป็นต้องทำงานตามสัญญาที่ทำไว้ หนังเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีพล็อตคล้ายคลึงกับบทประพันธ์ Ten Little Indians หรือ And
Then There Were None ของอกาธา คริสตี้ โดยในเรื่องนี้นักลงทุนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปที่เกาะแห่งหนึ่ง และพวกเขาก็ถูกฆ่าตายไปทีละคนๆ


หนังเรื่องนี้ถ่ายภาพชายหาดได้อย่างงดงาม และมีภาพของศพที่ห้อยอยู่ในห้องเก็บเนื้อ ซึ่งเป็นภาพที่มีการจัดองค์ประกอบได้อย่างดีมาก จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือสไตล์การถ่ายภาพและการออกแบบงานสร้าง แต่จุดด้อยก็คือพล็อตที่ซ้ำซาก

22. Baron Blood (1972)
อ่านบทวิจารณ์ที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้ได้ที่ http://www.kinoeye.org/02/18/laccino18.php
ปีเตอร์ วอน ไคลส์ท นักศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐค้นพบว่าครอบครัวของเขามีสายสัมพันธ์กับตระกูลที่บ้าเลือดที่สุดตระกูลหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในออสเตรีย ปีเตอร์สนใจในต้นตระกูลของเขา ดังนั้นเขาจึงเดินทางไปออสเตรียและได้รับการต้อนรับจากคาร์ล ฮุมเมล ซึ่งเป็นคุณลุง คาร์ลบอกกับปีเตอร์ว่าบรรพบุรุษของเขาคือบารอน ออตโตแวน ไคลส์ท โดยออตโตนั้นเป็นเจ้าของปราสาทโกธิคหลังหนึ่งที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทรมาน

ปราสาทแห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว และคาร์ลก็แนะนำให้ปีเตอร์รู้จักกับอีวา อาร์โนลด์ ผู้เก็บบันทึกรายการทรัพย์สมบัติของแวน ไคลส์ท และรู้จักกับฟริทซ์ ผู้ชายตัวเล็กท่าทางปัญญาอ่อนที่ดูแลปราสาท หลังจากนั้นปีเตอร์กับอีวาก็เดินทางไปกินข้าวเย็นที่บ้านของคาร์ล

คาร์ลเล่าให้ปีเตอร์ฟังถึงสิ่งที่บารอน ออตโตเคยทำไว้ โดยเขาเคยก่อกรรมทำเข็ญไว้มากจนกระทั่งชาวบ้านเรียกเขาว่าบารอน บลัด เขาเคยจับคนที่เป็นศัตรูเขามาฆ่าตายและเสียบประจานไว้บนกำแพงปราสาท แต่ต่อมาบารอนก็ได้เจอกับศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งก็คือแม่มดชื่ออลิซาเบธ ฮอลลี โดยบารอนนำแม่มดคนนี้ไปเผาไฟ แต่ก่อนตายเธอได้สาปแช่งเขา โดยเธอแช่งให้เขาตายอย่างทุกข์ทรมานเท่ากับจำนวนคนที่เขาฆ่า และเธอก็ได้สาปให้บารอนสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกเพื่อที่เขาจะได้ถูกทรมานมากยิ่งขึ้น โดยคำสาปของการฟื้นคืนชีพนี้บรรจุอยู่ในม้วนเอกสารโบราณชุดหนึ่งที่อยู่ในความครอบครองของครอบครัวของปีเตอร์ และปีเตอร์ก็นำมันติดตัวมาด้วย

ปีเตอร์กับอีวาไปที่ปราสาทของบารอนและท่องคำสวดฟื้นคืนชีพในม้วนเอกสารโบราณชิ้นนั้นเพื่อความสนุกสนาน ก่อนที่ทั้งสองจะเริ่มตระหนักว่าเรื่องพวกนี้อาจเป็นเรื่องจริง ในที่สุดบารอน บลัดก็ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจริงๆ และเริ่มออกฆ่าคนอีกครั้ง

23. The Devil in the House of Exorcism (1975)
หนังเรื่องนี้เคยใช้ชื่อว่า House of Exorcism โดยในเรื่องนี้แอลเฟรด ลีโอเน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้าง ได้นำฟุตเตจจากหนังเรื่อง Lisa and the Devil, ฟุตเตจที่ถ่ายโดยบาวา และฟุตเตจที่ถ่ายโดยลีโอเนเองมายำเข้าด้วยกัน ในขณะที่ตัวหนังนั้นก็ลอกเลียนมาจาก The Exorcist

ดารานำคือ Elke Sommer, Robert Alda และ Telly Savalas


24. Beyond the Door 2 (1979) หรือ Shock
หนังเรื่องนี้ได้รับคำชมว่าดีกว่าภาคแรกมาก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกพลังอำนาจของนรกเข้าสิงและผู้คนหลายคนก็ต้องจบชีวิตเพราะเรื่องนี้
นำแสดงโดย Daria Nicolodi, John Steiner, David Colin Jr.


ส่วน Beyond the Door (1974) ภาคแรกนั้นเป็นภาพยนตร์ที่ลอกเลียนมาจาก The Exorcist โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิง (จูเลียต มิลส์) ที่ถูกผีสิง โดยมี Richard Johnson กับ David Colin Jr. ร่วมแสดงและกำกับโดย Oliver Hellman หรือ Ovidio Assonitis

Beyond the Door 3 มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักศึกษามหาลัยคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของเจ้าชายแห่งรัตติกาล โดยหนังเรื่องนี้มีสเปเซียล เอฟเฟคท์ที่น่าขันมาก หนังเป็นผลงานการกำกับของ Jeff Kwitny และนำแสดงโดย Mary Kohnert

25. The Venus of Ille (1981)
กำกับร่วมกับ Lamberto Bava (ลูกชาย บาว่า)


Mr.De Peyhorrade (Mario Maranzana) เศรษฐีเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ได้ค้นพบรูปปั้นบรอนซ์รูปวีนัสในที่ดินของเขา หลังจากนั้นเขาก็ได้ขอให้แมทธิว (มาร์ค โพเรล) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาสำรวจรูปปั้นนี้และยืนยันราคาของมัน แต่เมื่อแมทธิวเดินทางมาถึงเขาก็ลุ่มหลงในคลารา (ดาเรีย นิโคโลดี) ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ของ Mr.De Peyhorrade และเป็นคนที่มีลักษณะคล้ายกับรูปปั้นนั้นจนน่าขนลุก


อ่าน Mario Bava ตอน 1 ได้ที่: http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/mario-bava-1.html