8/21/08

Dawn of the Dead


Dawn of the Dead
1978, 126 นาที
นำแสดงโดย David Emge, Ken Foree, Scott H. Reiniger, Gaylen Ross
กำกับภาพยนตร์โดย : George A. Romero

แนะนำโดย ธเนศน์ นุ่นมัน

ท่ามกลางเสียบ่น (เบาๆ) ที่อึมครึมอบอวนรายรอบหนังเรื่อง Land of the Dead ของผู้กำกับ George A. Romero มาตั้งแต่ช่วงที่ออกฉายในโรง บ้างก็บอกว่าสนุกน้อยกว่าที่คิด ผู้ที่รู้ปูมหลังของผู้กำกับก็อาจจะบ่นว่าผู้กำกับ Romero น่าจะเลิกหากินกับซากศพได้แล้ว...ก็แล้วแต่จะพูดกันไป ในกรณีนี้สำหรับผม (คนเดียวก็ได้...เอ้า!) ที่ไม่ได้คิดว่า Land of the Dead จะเป็นหนังที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับ ผู้กำกับหรือต้นฉบับคลาสสิคของเขา

แต่อย่างไร ผมกลับคิดว่าเป็นบุญคุณล้นพ้นที่ Romero กลับมาสานต่อ จำลองโลกซอมบี้ในแบบของเขาให้ดูกันอีกครั้ง( อืม...เจ้าเก่า ดั้งเดิม ต้องรับประกันอะไรๆ ได้บ้างแหละน่า) และถ้าหากดูหนังซอมบี้ แล้วรู้สึกว่า (อย่างที่เกิดกับหนังซอมบี้ชวนแหวะเป็นจุดขายของผู้กำกับคนอื่นๆ) หงุดหงิดผิดหวังอย่างที่สุด ผมก็มักจะปลอบใจตัวเองว่า เอ้อ! จะเอาอะไรมากกับหนังซอมบี้หว่า?

เอาเป็นว่าเรามาย้อนตำนานซากศพเดินได้ของ Romero กันเสียหน่อยดีกว่า

หลังจาก Night of the Living Dead หนังสยองยามวิกาลที่ออกฉายในปี1968 เก็บเกี่ยวชื่อเสียงไปพอสมควร ผู้กำกับ George A. Romero (ซึ่งก่อนหน้านี้ วางมือจาก ซากศพเดินได้ไปทำหนังชิ้นเยี่ยมอย่าง The Crazies ปี1973 และ Martin ปี1976) ก็ตัดสินใจคลอดภาคต่อมาของหนังสกุล‘Dead’ ที่ว่าด้วยเรื่องของซากศพเดินได้ออกมาเสียที (หลังจาก Dawn of the Dead ฉบับนี้เขายังสร้างภาคต่อที่ชื่อว่า Day of the Dead ก่อนจะให้กำเนิดฉบับล่าสุดอย่าง Land of the Dead) Romero ทิ้งให้แฟนๆ ต้องรอนับสิบปี สิบปีที่ขัดเกลาเรื่องของซากศพเดินได้ให้สุกงอม ข้นคลั่ก

ในภาคนี้เขาใช้ชื่อว่า Dawn of the Dead และด้วยทุนที่หนาขึ้นทำให้เขาสามารถขยับขยายขนาดของหนังให้ใหญ่ขึ้นไปด้วย –เม็ดเงินทำให้เขาได้โอกาสในการย้ายสถานที่เกิดเหตุไปยังที่ที่หรูหราโออ่าขึ้น ครั้งนี้เขาเลือกห้างสรรพสินค้าเป็นที่มั่น ที่คุมขัง ตัวละครหลักของเขา และยังใช้ฟิล์มสีในการถ่ายทำอีกด้วย

Dawn of the Dead เป็นเรื่องของคนสี่คน ที่ตัดสินใจลงเรือลำเดียวกัน (อันที่จริงแล้วเป็นเฮลิคอปเตอร์) เพื่อเอาตัวรอดจากเหล่าซอมบี้กระหายเลือด ซึ่งบัดนี้ยึดครองไปแทบทุกอณูของผืนแผ่นดิน เฮลิคอปเตอร์ของพวกเขามีน้ำมันไม่พอทำให้ต้องร่อนลงจอดบนดาดฟ้าของช็อปปิ้งมอลล์ - ที่นี่นอกจากพวกเขาจะต้องรับมือกับเหล่าซอมบี้ ที่แม้ห้างปิดก็ยังไม่ยอมกลับบ้านแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญหน้ากับแก๊งกวนเมือง (แก๊งมอเตอร์ไซค์ สัญลักษณ์แห่งการกวนเมืองในระดับสากล) อีกด้วย

Dawn of the Dead ไม่ใช่หนังโผงผาง (มีบ้างก็บางช่วง) ซึ่งตรงกับเนื้อเรื่องเนื้อหาและเจตนาที่ Romero วางไว้แต่แรกนั้น คือการกวาดต้อนตัวละครไปสู่โลกที่ไม่วันสมบูรณ์พร้อม สำหรับมนุษย์ผู้หาเป้าหมายที่แท้จริงไม่มีวันเจอ บางที Romero อาจจะกำลังสร้างภาพเปรียบเปรยระหว่างปรากฏการณ์ซอมบี้กับโลกบริโภคนิยมแบบอเมริกันอยู่ ด้วยการขังตัวละครไว้โลกที่พร้อมสรรพสำหรับผู้บริโภค (ตามคำโฆษณาของทุกๆ ห้างสรรพสินค้าที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน) แต่ตัวละครของเขาก็รู้ได้ในที่สุดว่า นี่เป็นแค่เพียงโลกสมบูรณ์พร้อมปลอมๆ ที่จะหมดอายุลงในวันใดวันหนึ่ง และถ้าวันนั้นมาถึงอายุของพวกเขาในฐานะมนุษย์ก็จะพาลหมดลงไปด้วยในที่สุด

ถ้า ‘อเมริกันดรีม’ (หมายถึงคนปกติที่ยังมี ความฝัน ความหวัง ทางเลือก เป้าหมายที่ล่องลอยอยู่ในอนาคตในที่ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตต่อไป) นั้นฟุ้งเฟ้อ โรแมนติค มากเรื่อง เอาใจยากเกินไป ‘อเมริกันคอนซูมเมอร์’ (ณ กรณีนี้ ในเรื่องนี้ ขออนุญาตตั้งขึ้นเองว่าเป็นซอมบี้- ผู้ซึ่งมีความชัดเจนในการบริโภค และเป็นขั้วตรงข้ามที่แท้จริงของคนปกติ ทุกคนที่เดินเหินอยู่ในเรื่อง) เรียบง่าย ชัดเจน เหมาะสมกับยุคสมัยกว่า ก็ในเมื่อฝัน (จะแบบอเมริกันหรือแบบไหนก็ได้) เป็นสิ่งเกินเอื้อมไปเสียแล้ว เราๆ ก็น่าจะยอมรับสถานภาพว่าง่าย แบบซอมบี้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยดีกว่า Romero กำลังบอกเรากลายๆ ว่าถ้าเราไม่ต่อสู้ ไม่เข้มแข็งโลกนี้อาจจะเหมาะสำหรับคนแค่เพียงสองกลุ่ม ไม่กักขฬะแบบแก๊งมอเตอร์ไซด์ ก็แบบซอมบี้ผู้ว่าง่ายนั่นแหละ

แน่นนอน Dawn of the Dead ของ Romero ยังคงมีประเด็นการเมืองแอบแฝงอยู่ มันเป็นประเด็นที่แตกแขนงออกไปตั้งคำถามในวงที่กว้างขึ้น อันที่จริงแล้วแม้กระทั่ง Land of the Dead เรื่องใหม่ของเขาก็ยังมีการพูดถึงประเด็นนี้อยู่ แถม Romero ยังขยายอาณาเขตออกไปสู่การเมืองระดับสากลด้วยซ้ำไป ถ้าหากจะโฟกัสไปที่ประเด็นที่เขาเริ่มจะปล่อยให้เหล่าซอมบี้ใน Land of the Dead มีความรู้สึกนึกคิด (ตรงนี้เป็นการลดความเป็นอสุรกายลง) และทำท่าจะ อพยพไปหาดินแดนของตัวเอง ราวกับจะบอกอเมริกันชนว่า ช่วยลดการมองกลุ่มชนที่ต่างจากตนว่าเป็นแค่เพียงอสุรกายลงเสียบ้างก็น่าจะดี

หนังเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างใหม่เมื่อปี 2004 โดยใช้ชื่อเดียวกัน โครงสร้างของเรื่องก็คล้ายๆ กัน ที่ต่างกันลิบลับก็เห็นจะเป็นเรื่องของรายละเอียดต่างๆ จนไปถึงอาชีพของตัวละคร ฉบับรีเมคนั้น เปลี่ยนการเคลื่อนไหวของเหล่าซอมบี้จากที่เดินกันอย่างซึมกระทือ เป็นวิ่งควบได้ นั่น! ทำให้หนังมีดีกรีความบู๊เพิ่มขึ้น ตัวละครต้องขยับก้าวให้ว่องไวเพื่อหนีให้ทัน ก็ได้รสชาติที่ต่างกันไปอีกแบบ บางทีผู้กำกับ Zack Snyderในฉบับรีเมค ที่ได้ Romero มานั่งเก้าอี้ร่วมเขียนบทอาจจะตีความซอมบี้เสียใหม่ เพิ่มความว่องไวในการบริโภค ให้ใกล้เคียงกับความบ้าคลั่งในการบริโภคที่พอกโตขึ้นตามช่วงเวลาที่ผ่านมา ในจุดนี้เป็นมุมมองที่มีต่อซอมบี้ที่ต่างจาก Romero อย่างค่อนข้างชัดเจน เพราะซอมบี้ใน Land of the Dead ก็ยังคงเคลื่อนไหวช้าเช่นเดิม หากจะไม่ฟังดูเป็นการหาแง่งามที่ฟุ้งเกินความบันเทิง ผมยังคงเชื่อเสมอว่าหนังซอมบี้ เป็น ‘ปรากฏการณ์นามธรรม’ ที่น่าคิดไม่น้อย

(เดิมบทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Movietime)

No comments: