โดย ธเนศน์ นุ่นมัน

อาจเป็นไปได้ว่า ความวิปริตที่ ปรากฏในหนังนั้นเป็นแค่ปรากฏการณ์แห่งความบันเทิง หลายครั้ง เกินจริงไปหน่อย หากนับเป้าประสงค์ที่ปะปนกันไป บ้างตื้นเขินจนจนเป็นเรื่องชวนหัว บ้างซับซ้อนแยบยลจนสันนิษฐานว่า เป็นวิธีสอนศีลธรรมแบบหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง

อย่างไรเสีย ในเวลาต่อมา เราก็พบว่า ความวิปริตบนโลกจริงก็รุกคืบด้วยการแอบรวบวัตถุดิบจากทุกที่(และจากหนังด้วย) ขยับแซงหนังไปในที่สุด จากนั้น หนัง ที่ไม่ยอมน้อยหน้าก็เริ่มขยับหนีไปอีก...ไล่ก้นกันอยู่อย่างนี้ เหมือน การ์ตูน ทอม กับ เจอร์รี่

ความวิปริตในหนังคือภาพล้อความจริง หรือว่าเรื่องจริงนั่นแหละที่ล้อหนัง คงเป็นประเด็นที่ต้องร่ายกันยาว อาจจะต้องสาวไปถึงพฤติกรรมทางเพศของมุษย์ตั้งแต่ ยุควิคตอเรียนโน่น ในหนังสือชื่อ Marriage and Moral ของ เบอร์แทรนด์ อาเธอร์ วิลเลียม รัสเซลล์ (Bertrand Arthur William Russell) นักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา นักตรรกวิทยา เขียนไว้ว่า “ตัณหาของมนุษย์จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้นั้น แต่ในขณะเดียวกันสภาพสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ก็ย่อมมีส่วนอย่างมากทีเดียว ที่จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย ผู้ชายอังกฤษเพียงแต่เห็นหัวเข่าของสตรี ก็เกิดความรู้สึกทางเพศแล้ว แต่สำหรับปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งนี้เป็นผลมาจากแฟชั่นการแต่งกาย ของผู้หญิงที่ล้ำยุคอยู่เสมอ ถ้าหากเปลือยกายล่อนจ้อนเป็นแฟชั่นขึ้นมา มันอาจจะไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของผู้ชายเลยซักนิดเดียวก็เป็นได้ และถ้าถึงเวลานั้นอาจจะต้องมีการออกกฎหมายบังคับให้ผู้หญิงสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ เพื่อล่อใจผู้ชายขึ้นก็ได้ เหมือนคนป่าบางจำพวก เก้าในสิบของแรงกระตุ้นจากนวนิยายประเภทยั่วยุกามารมณ์ (Pornography) นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกหื่นกระหายที่จะเสพกาม ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วนนั้นเกิดจากด้านสรีรวิทยา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรออกกฎหมายห้ามตีพิมพ์สิ่งยั่วยุกามารมณ์”

หากพินิจแนวคิดของรัสเซิลล์ แล้วยกตัวอย่างจากประเทศอย่างญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศมาเป็นโจทย์ เราคงเหนื่อย ต้องไล่ตอบคำถามกันยาว ตัวอย่างจากบางแหล่งอาจจะเร้าอารมณ์จนทำให้ไขว้เขวกันไปหมด ไหนจะสารพัดประดิษฐ์กรรม แห่งการยั่วยุกามารมณ์ ละลานตาอีกเล่า ในสายตาของคนทั้งโลก (จริงๆ ก็ประเทศที่ขวัญอ่อนนั่นแหละ) การล่วงพ้นสิ่งต้องห้าม ไม่ผิดกับการสมยอมให้ตัวเองหมกไหม้ด้วยไฟนรก ขณะที่ผู้ล่วงพ้น ดูจะไม่เดือดร้อนกับโทษทัณฑ์ใด ๆ นัก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ก็ยิ่งเพิ่มความน่าตื่นเต้น

หรือพวกเขาเห็นด้วยกับแนวคิดของ รัสเซิลล์
A Snake of June เป็นเรื่องราวของ รินโกะ หญิงวัยทำงาน ภาพลักษณ์ดูกลมกลืนกับ สาวออฟฟิศทั่วๆ ไป งานประจำของเธอคือคอยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ไร้ที่พึ่งทางใจ แต่ละวันเธอต้องคุยกับคนที่เธอไม่อาจรู้ได้ว่าพวกเขามีหน้าค่าตาอย่างไร การงานของเธอไปได้ดี แต่ทว่า ชีวิตส่วนตัวของเธอกลับตรงข้าม
รินโกะ มีสามีที่ค่อนข้างระเบียบจัด โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดเรียบร้อยของบ้าน เขาแทบไม่ใส่ใจในตัวเธอเลย แต่กลับเป็นบ้าเป็นหลังทันทีที่เห็นความสะอาดของห้องน้ำต่ำกว่ามาตรฐานที่เขาตั้งไว้ เขาละเลยที่จะทำหน้าที่สามี ทิ้งให้เธอเปล่าเปลี่ยว ปลดเปลื้องอารมณ์คัดคั่งสุมทรวงด้วยจินตนาการเร่าร้อนกระเจิดกระเจิง เป็นพึ่งยามยาก

รินโกะ ไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมของเธอนั้น ถูกตากล้องโรคจิตคนหนึ่งแอบถ่ายภาพไว้ ตากล้องลึกลับคนนั้น (รับบทโดยตัวผู้กำกับเอง) ยื่นข้อเสนอให้เธอพิจารณา เพื่อแลกกับต้นฉบับฟิล์มเนกาทีฟ เธอไม่มีทางเลือกมากนัก ยอมทำทุกอย่างเพื่อแลกกับสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกเสื่อมเสียแปดเปื้อน โดยหารู้ไม่ว่า เงื่อนไขของตากล้องลึกลับ คือสิ่งที่ยิ่งทำให้เธอรู้สึกแปดเปื้อนยิ่งขึ้นไปอีก ตากล้องลึกลับ บีบบังคับให้เธอปลดเปลื้องอารมณ์ โดยไม่ปิดกั้นหรือรู้สึกผิดที่ทำอย่างนั้น รินโกะกำลังถูกต้อนให้ทะลุออกไปจากมิติเดิมๆ ของความรู้สึก ด้วยสิ่งที่เธอแอบทำมัน ระบบศีลธรรมในตัวเธอที่ออกแรงต่อต้านมันสุดกำลัง เหมือนกล้ามเนื้อที่เกร็งสุดขีดคว้าบีบทุกอย่างที่อยู่ใกล้มือโดยไม่รู้ตัว แล้วเธอก็พาศีลธรรมถึงจุดสุดยอดไปด้วย เธอได้พบตัวเอง ตัวตนปกติ ชีวิตปกติสุข จากด้านดำมืดนั้น

A Snake of June ของผู้กำกับ ชินยะ ทสึกาโมโตะ เป็นหนังขาว-ดำ หรือจะเรียกให้ถูกต้องตรงกับสิ่งที่ปรากฏก็น่าจะเป็น ขาว-สีฟ้าทึม มากว่า สีของภาพเป็นเหมือนมุมมอง ของมนุษย์ที่ถูกจำกัด สีสันที่มองเห็น หากตัดประเด็นทางภาษาภาพออกไป บางที ผู้กำกับทสึกาโมโตะ อาจจะล้อเลียนมุมมอง ของนักศิลธรรมจัดอยู่ก็เป็นได้
หนังของ ทสึกาโมโตะ ก้าวไปไกล เขามองว่าปัญหาเรื่องเพศนั้น ไม่ได้อยู่การขับเน้นไปที่ การที่ใครวิปริต แค่ไหน อย่างไร เปิดเผยหรือปกปิด แต่มันควรจะเป็นภาพสะท้อนเพื่อประโยชน์แก่การเยียวยา แบบการรักษาปัญหานี้ด้วยทางเลือกใหม่ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับบางสังคม ที่ไม่เคยคิดเลยว่า ปัญหานี้ซับซ้อนขึ้นทุกที ไม่คิดที่จะปรับตัวเองให้ซับซ้อนเท่าทันปัญหา การปิดกั้น ที่บางประเทศทำ บางครั้งก็ดูน่าเป็นห่วงกว่าตัวปัญหาที่เกิดจากการที่ได้เห็นผู้คนหมกมุ่นในเรื่องนี้เสียอีก เปรียบได้กับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่รั่วซึมอยู่นานและมากขึ้นทุกๆ ที ขณะที่เจ้าของอ่างคิดแก้ปัญหาแค่ใช้ดินน้ำมัน อุดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไว้เท่านั้น

เมื่อพิจารณาจาก A Snake of June โดยเปรียบเทียบกับ ผลงานชิ้นอื่น ๆ ของผู้กำกับทสึกาโมโตะ อย่าง Tetsuo, the Iron Man ทั้งสองภาคที่วิตถารสุดขั้ว หรือว่า Vital ปี2004 ที่ได้ ทานาโนบุ อาซาโนะ มาเล่นเป็นนักศึกษาแพทย์ที่หมกมุ่นอยู่กับร่างกายมนุษย์ และความตายของแฟนสาวจนโงหัว จะเห็นว่าตัวกำกับทสึกาโมโตะเรียนรู้ จากการอยู่กับความรุนแรง ความวิปริตทางเพศ ผิดเพี้ยนของมนุษย์ เขาเปลี่ยนมันเป็นประสบการณ์พิเศษ เป็นแบบเรียนศีลธรรมทางเลือก หนังของเขาค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย และในแง่ร้ายที่เขาเห็น มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สิ้นหวัง ตราบใดที่เขาผู้นั้นยังสมัครใจเผชิญหน้ากับปัญหา โลกจะวิปริตไปกว่าเราก็ต่อเมื่อ เราดูถูกเหยียดหยามการเรียนรู้

จริงอยู่ ที่ความวิปริตในหนังนั้นอาจจะถูกใช้เป็นจุดขายได้เสมอ สำหรับแฟนหนังรอบดึก ที่ไม่คิดอะไรมาก แต่นั่นคงไม่ยุติธรรมนักสำหรับนักทำหนังที่พยายามชี้ประเด็นอื่นโดยอาศัยความสยดสยองเป็นสื่อ หรือปล่อยให้นักดูหนังใจแคบ วัดแค่หน้าหนังหรือรูปลักษณ์ภายนอกของหนัง โดยหลีกเลี่ยงเนื้อหา ใช้เกณฑ์ตัดสินที่ง่ายๆ หน้ามึน หรือตื้นเขินเสียจนน่าขำ บ่อยครั้งเข้าก็อย่าได้หวังเลยว่านักดูวัยผู้ปกครองจะสามารถพิจารณาหนังแทนเยาวชนได้ เพราะหลายเรื่องเยาวชนอาจจะเดียงสากว่าท่านๆ เสียอีก

ถึงตอนนั้น ข้างกล่องหนังบางเรื่อง อาจต้องเขียนว่า ผู้ปกครองควรรับคำแนะนำจากเยาวชน เป็นแน่
No comments:
Post a Comment