10/2/07

ราตรีวิเวกของ Fred Kelemen

รัตติกาลอันตรายกับ Fred Kelemen
The Nocturnal World of Fred Kelemen
บทความโดย สนธยา ทรัพย์เย็น
filmvirus@gmail.com

(ดัดแปลงใหม่จากบทความเดิมใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 2 / ธันวาคม 2544)
(กรุณาอ่านเพิ่มเติมบทสัมภาษณ์ Fred Kelemen โดย สนธยา ทรัพย์เย็น ใน filmvirus 2)


None to accompany me on this path:
Nightfall in autumn.
Matsuo Bashō

เดือนมกราคมปี 2000 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปให้กำลังใจ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นำ “ดอกฟ้าในมือมาร” (Mysterious Object at Noon) หนังเรื่องแรกของเขาไปเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองร็อตเตอร์ดาม ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะกองทุน ฮิวเบิร์ท บาลส์ ของชาวดัทช์ เป็นกองทุนแรกในโลกที่ให้การสนับสนุนเพื่อนผมมาตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้าชาวฝรั่งเศส ชาวออสเตรีย หรือกระทั่งคนไทย


และในโรงเดียวกับที่ฉาย “ดอกฟ้า” ผมได้มีโอกาสค้นพบหนังของหนุ่มชาวเยอรมันนาม เฟรด เคเลเม็น (Fred Kelemen) และหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมทึ่งในตัวเขาคือเรื่อง Abendland (Nightfall)

Abendland ก็คงคล้ายกับหนังใหญ่เรื่องอื่นๆ ที่ เฟรด เคเลเม็น กำกับคือ Fate กับ Frost และ Fallen (Krisana) คือดูเพียงผิวเผินนั้นราวกับว่าทุกอณูในตัวหนังนั้น ดูเหมือนจะประกอบขึ้นจากความมืด ไร้ซึ่งมิตรภาพ ความหวัง ความอาทรระหว่างมนุษย์


ตัวเหตุการณ์ในหนังนั้นเกิดขึ้นภายในคืนเดียว โดยเน้นที่ตัวละครหนุ่มสาว 2 คน คือชายหนุ่มตกงานคนหนึ่งชื่อ อันต็อน และหญิงสาวรับจ้างรีดผ้านาม เลนี ทั้งสองอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ ที่เมืองลับแลขมุกขมัวที่ใดสักแห่งในยุโรป สภาพสิ้นหวังและความเงียบของ อันต็อน สร้างความอึดอัดให้ เลนี อย่างมาก ทั้งสองมีปากเสียงกันและแยกย้ายออกไปเผชิญหน้ากับโลกที่ไม่เป็นมิตร


แทรกเลาะท่ามกลางช่องแคบของลมเกรี้ยวและเสียงอุทานที่ขาดห้วง อันต็อน และ เลนี ได้ค้นพบวิถีทางเอาตัวรอดแบบเฉพาะตัว โดยเขาต้องสบตากับสภาพอารมณ์ทึบร้างของตัวเองซึ่งซุกแอบไว้นาน ส่วนเธอก็ได้สัมผัสกับความโกรธอันมืดบอดที่จิตใจเฝ้าปฏิเสธ พร้อมๆ กับคลำทางหาพลังใจมาต่อกรกับหงส์ดำที่กำลังสยายปีกครอบคลุมตัวคนรักของเธอไว้


หนังในสไตล์ เคเลเม็น นั้นส่วนใหญ่เป็นงานภาพขาวดำ หรือหนังสีที่ให้อารมณ์หม่นหมองแบบหนังโลหิตจาง ความยาวของตัวหนังเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง - 4 ชั่วโมง ยิ่งบวกกับจังหวะการเล่าเรื่องที่เนิบนาบ คงเดาได้ไม่ยากว่าแฟนหนังของเขาจะหยิบมือแค่ไหน เพราะคนที่เรียกหนัง อภิชาติพงศ์ ว่าอาร์ตสุดขั้วแล้ว เจอรายนี้ต้องเหวอหนักกว่า เรียกได้ว่าคนทั่วไปมีโอกาสดูหนังของเขาน้อยมาก ๆ เฉพาะโรงหนังอาร์ตที่ไม่แคร์รายได้เท่านั้นที่จะกล้าจัดฉายหนังแบบนี้


แต่คนดูหนังกลุ่มเล็กๆ เริ่มเห็นแววการทำหนังละเอียดอ่อนเชิงกวีของ เคเลเม็น ซึ่งโชว์ความงามของรัตติกาลอันตรายเข้าให้แล้ว ยิ่งช่วง 3 ปีหลังนี้ หนังของเขาถูกรวบรวมไปฉายครบครันเป็นการคารวะให้เกียรติตัวเขาโดยเฉพาะ ทั้งที่นิวยอร์ค ลอนดอน หรือที่อื่นๆ ในยุโรป นอกจากนั้น เคเลเม็น ยังได้รับเชิญไปบรรยายหรือสอนภาพยนตร์ที่ต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ซ้ำเขายังชอบเดินทางไปทั่วโลก ยิ่ง ฮ่องกง หรือ ญี่ปุ่นนั้นเขาคุ้นเคยดี


เคเลเม็น ต่างจากผู้กำกับอีกหลายคน คือเขามีความสามารถทั้งด้าน การเขียนบท-กำกับ-ถ่ายภาพยนตร์ พร้อมสรรพในตัวเอง ซ้ำยังชอบไปรับงานถ่ายหนังให้เพื่อนเก่าก็อีกบ่อย (หนึ่งในนั้นคือหนังของผู้กำกับ เบล่า ทาร์ ที่กำลังจะมาฉายที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม เรื่อง The Man from London)

เดิมเขานั้นเกิดในเยอรมันตะวันตก แม่เป็นชาวฮังกาเรียน ส่วนพ่อเป็นชาวเยอรมัน เขาศึกษาสายจิตรกรรม ดนตรี และปรัชญามาก่อนที่จะทำงานผู้ช่วยกำกับละครเวที เขาเข้าศึกษาที่สถาบันภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่เบอร์ลินเมื่อปี 1989 จบมาก็ทำงานเป็นตากล้องหลายเรื่องให้ผู้กำกับคนอื่น


หลังจากที่เริ่มกำกับหนังของตัวเอง ตั้งแต่ปี 1995 เขาก็ได้รับเชิญไปสอนที่โรงเรียนภาพยนตร์คาตาเลเนีย ที่เมืองบาเซโลน่า ประเทศสเปน โดยระหว่างนั้นเขาผลิตงานวีดีโอที่ร่วมสร้างกับนักศึกษาหลายเรื่อง รวมทั้งไม่นานมานี้ยังไปสอนที่ประเทศแลตเวีย และกำกับภาพยนตร์เรื่อง Fallen (Krisana) ที่นั่น

ที่ร็อตเตอร์ดาม ผมถามเขาว่าการตัดสินใจเลือกถ่ายหนังเป็นวีดีโอในงานเรื่อง Fate เป็นความตั้งใจแต่แรกจริงๆ หรือเกิดจากเงินทุนจำกัดบังคับ ซึ่งเขาก็ยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาเลือกตั้งแต่แรกว่าเหมาะสม นอกเหนือจากข้อจำกัดทางงบประมาณซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำหนังหน้าใหม่ เขาชื่นชอบมากกับลักษณะภาพแห้งเย็นชาของสื่อชนิดนี้ แล้วนำมาใช้ตลอดในหนังทุกเรื่อง แม้แต่ Abendland หนังเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายในระบบฟิล์ม 35 มม. ก็ยังคงแทรกภาพวีดีโอมาในบางฉาก

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ แอนดรูว์ เจ. ฮอร์ตั้น จาก Central Europe Review ว่า เขาเกลียดคำว่า “ความหวัง” เพราะความหวังนั้นไม่อาจเทียบได้กับการมี “วิสัยทัศน์” (Vision) โดยเขามองว่า “ความหวัง” เป็นเรื่องของความนิ่งดูดายทำร้ายคนทางอ้อม ให้จมอยู่กับความหวังลมๆ แล้งๆ นั่นจึงไม่แปลกที่ตัวละครในหนังของเขาดูเหมือนจะเลือกการจมปลักกับโคลนตม มากกว่าการฝันโรแมนติกถึงทางออกแบบบริสุทธิ์สะอาด

นักร้องคนหนึ่งใน Abendland พูดว่า “นกที่เชื่องขับขานเพลงแห่งเสรีภาพ ส่วนนกป่านั้นเลือกที่จะโผบิน”


7 ปีผ่านไป ผมนึกว่าจะหมดหวังชมหนังเรื่องอื่นๆ ของ เฟรด เคเลเม็น เสียแล้ว แต่แล้วการเชียร์สนุกปากกับ อาร์มแชร์มีพนัก เจ้าหน้าที่เทศกาลหนัง World Film กลับได้ผลเกินคาด แถม เคเลเม็น ไม่ได้รับปากแค่จะมาตอบคำถามหลังฉายหนังเรื่อง Fallen และ The Man from London ที่โรงภาพยนตร์ Major Esplanade เท่านั้น เขายังจะมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลที่กรุงเทพ ฯ อีกด้วย

แค่นั้นผมก็ได้โอกาสยิงประตูซ้ำ เขียนอีเมลเชิญเขามาเปิดงาน Master Class “ราตรีวิเวก ของ เฟรด เคเลเม็น” (The Nocturnal World of Fred Kelemen) ฉายผลงานหนังและละครเวทีที่เขาเคยทำควบไปด้วยเลย 4 วัน คือวันที่ 5-8 พฤศจิกายน ศกนี้ โดย 2 วันแรก จะจัดที่ สถาบันเกอเธ่ ส่วน 2 วันหลัง จะจัดที่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เข้าชมฟรี รายละเอียดติดตามได้ที่ http://www.dkfilmhouse.blogspot.com/


ตรวจสอบโปรแกรมภาพยนตร์เรื่อง Fallen และ The Man from London (เคเลเม็น ถ่ายภาพ / เบล่า ทาร์ กำกับ) ที่โรงภาพยนตร์ Major Esplanade ได้จากเว็บเทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม - http://www.worldfilmbkk.com/

No comments: