วงกตแห่งเนื้อนางของ Alain Robbe-Grillet
โดย Filmvirus
http://www.dkfilmhouse.blogspot.com/
(ดัดแปลงจากบทความเดิมในคอลัมน์ Artvirus ที่ http://www.onopen.com/ หรือ http://www.onopen.com/2007/02/1815)
Alain Robbe-Grillet
The French Writer of Nouveau Roman
Welcome to the world of Death and the Maiden in Fragments by Alain Robbe-Grillet
ยินดีต้อนรับสู่งานจิ๊กซอว์เขาวงกตของ อแลง-รอบบ์ กรีเยต์ (Alain Robbe-Grillet) ผู้สร้างภาพยนตร์แนวปริศนาสุดยอกย้อนที่พร่าเลือนอดีต ปัจจุบัน อนาคต จินตนาการเข้าไว้ด้วยกัน หนำซ้ำยังอุดมไปด้วยกลเกมแห่งกฤษณาและภาพร่างสาวนุ่งน้อยวับแวมอาบคาวโลหิต
เดิมที อแลง-รอบบ์-กรีเยต์ เป็นนักเขียนที่ปะยี่ห้อกลุ่ม “นูโว โรม็อง” (Nouveau Roman หรือ นวนิยายแนวใหม่) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในช่วงกลางทศวรรษ 50 และโด่งดังเต็มที่ถึงประมาณกลางยุค 60 กลุ่มนักเขียนฝรั่งเศสหลายคนที่ถูกจับยัดเข้าในกลุ่มนี้ อาทิ Marguerite Duras, Michel Butor, Nathalie Sarraute, Maurice Blanchot และ Claude Simon นั้นมีลักษณะผลงานแตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมกันในการปฏิเสธโครงสร้างของนวนิยายยุคเก่าที่ยังยึดถือลักษณะบุคลิกนิสัยตัวละคร การพัฒนาโครงเรื่อง เนื้อหาสาระตามแนวประเพณีนิยมเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ นักเขียนนิยายกลุ่ม นูโว โรม็อง มักสนใจ “วิธี” การเขียนมากกว่า “เนื้อหา” ที่นำมาเขียน
ร็อบบ์-กรีเยต์ มีผลงานนิยาย สมุดนิยายภาพ และบทภาพยนตร์แปลเป็นภาษาอังกฤษหลายเล่ม ผลงานเขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ Last Year at Marienbad เป็นภาพยนตร์คลาสสิกชื่อดังที่กำกับโดย Alain Resnais ซึ่งได้รับรางวัลที่เทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ปี 1961
หนังเรื่องแรกที่เขากำกับคือ L’ Immortelle เมื่อปี 1963 นับถึงปัจจุบันในวัย 85 ปี มีผลงานกำกับเพียง 9 เรื่อง ห่างจากการกำกับหนังไปเกือบ 10 ปี ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาคือ Gradiva เพิ่งฉายโชว์ที่เทศกาลหนังเวนิสไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และเพิ่งเปิดฉายที่ฝรั่งเศสไปเมื่อเดือน พฤษภาคม 2007
ทาง ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ได้เคยจัดฉายผลงานหนังของ อแลง-รอบบ์ กรีเยต์ ไปแล้วหลายเรื่องตั้งแต่ที่ร้านหนังสือดวงกมล สาขาห้างซีคอนสแควร์ และที่ หอสมุดปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เรื่องที่เคยฉายไปก็ได้แก่ L’ Immortelle, The Man Who Lies, Eden and After และ Trans Europ-Express
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ทึ่งกับหนังแนวสำนึกพิพักพิพ่วนอย่าง Adaptation, Being John Malkovich, Reconstruction, Run Lola Run, I am a Cyborg, but That’s OK (หนังเรื่องแรกของหนุ่มเกาหลี Rain), Stay ของ Marc Forster หรือ Following และ Memento ของ Chris Nolan กรุณาสำเหนียกไว้บ้างว่า งานต่อจิ๊กซอว์ของ อแลง-รอบบ์ กรีเยต์ อาจเป็นบิดาของหนังเหล่านั้น หากเพียงหนังเหล่านั้นเรียงลำดับความเนื้อเรื่องน้อยลง รวมทั้งลดทอนเรื่องเล่าของตัวเองลงจนถึงขั้น re-loop แบบเรื่องสั้นหลาย ๆ ของ Jorge Luis Borges (อ่าน Bookvirus 2) หรือนิยาย If on A Winter’s Night a Traveller ของ Italo Calvino (มีแปลแล้ว)
สิ่งที่มักวนเวียนปรากฏซ้ำไปมาในงานของ อแลง ร็อบบ์-กรีเยต์ ก็เช่น ตัวละครเชิงนักสืบ ฮีโร่ พล็อตเชิงสายลับ เขย่าขวัญ-สยองขวัญ ที่ทำทีว่ากำลังสืบสวนปริศนาของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นเรื่องขององค์กรลับ หรือสาวสวยมากเสน่ห์ ซึ่งนำลีลาและร่างเปลือยยวนเย้าของตัวละครชายไปสู่จุดจบอนาถ
แต่ว่าลักษณะการเล่าเรื่องแบบ ร็อบบ์-กรีเยต์ นั้นเห็น พล็อตเรื่องเป็นเพียงตัวตั้ง แต่เจ้าสิ่งที่โผล่มาหารกลางน่ะสิคือปัญหาที่คนดูต้องทำความเข้าใจจัดแต่งโครงสร้างกระจัดกระจายเอาเอง โดยระหว่างทางท่านผู้กำกับเจ้าเล่ห์ได้โยนเบี้ยไล่รายทางเอาไว้ให้เล่นสนุก
ขาดไม่ได้เลยที่หนังของเขาจะต้องมีฉากหลังเป็นแบบ exotic เช่นประเทศห่างไกลแบบดินแดนอาณานิคม ที่ชวนให้ตัวเอกฝรั่งผิวขาวไปค้นพบเสน่ห์ร้อนของหญิงงาม ที่มากด้วยอิทธิฤทธิ์และแรงดึงดูดทางเพศ เธอมักปรากฏตัวในชุดขาวโปร่งใส หรือเปิดเปลือยหมดจดในร่างอาบโลหิต (ในลักษณะแปลกแยกกับความหมายของคำว่าอีโรติก)
แต่หลังจากที่เธอจุดไฟร้อนแรงในจินตนาการของเขาขึ้นมา เขากลับต้องยิ่งงุนงงมากขึ้นอีกระหว่างการค้นหาที่สิ้นหวังของเขา ที่ต้องฟันฝ่าไปตามทางเดิน ระเบียง หรือสถานที่โล่งร้าง ซึ่งอ้างอิงถึงงานศิลป์ชนิดต่าง ๆ และพบปะร่างผู้คนที่มีสภาพไม่ต่างจากวัตถุศิลปะงานปั้น หรือทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ความทรงจำของใครกัน
ชมหนัง อแลง ร็อบบ์-กรีเยต์ (Alain Robbe-Grillet) ได้ฟรีในวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2550 ที่ห้อง เรวัติ พุทธินันทน์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ตามโปรแกรมที่ :
http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/2550.html
http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/2550.html
No comments:
Post a Comment