10/22/07

เชิญลงคะแนนเสียง

ขอเชิญร่วม Vote

บล็อกนี้สมควรปิดกิจการหรือไม่

ข้อแรก ตอบ A = ใช่ สมควรปิดกิจการ เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง
B = ควรลดจำนวนบทความลง
C = การอ่านบทความและหนังสือของ Filmvirus เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ควรปรับปรุงใหม่ได้แล้ว โดยการหาคนเขียนและบทความใหม่ที่น่าสนใจกว่านี้
D = ไม่ต้องการแสดงความคิดเห็น

เลือกตอบ A, B , C หรือ D ได้ตามชอบ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2550

(การเลือกข้อ D หรือนิ่งเงียบไม่แสดงความเห็นใด ๆ ย่อมมีค่าเท่ากับข้อ A และข้อ C รวมกัน)

10/20/07

THE 8 MASTERS ที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ

THE 8 MASTERS ที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ
Rainer Werner Fassbinder, Ritwik Ghatak, Werner Herzog, Jacques Rivette, Jacques Tati, Shuji Terayama and Wim Wenders in THE 8 MASTERS (OPENBOOKS / FILMVIRUS)














The 8 Masters ของ ฟิล์มไวรัส สำนักพิมพ์ openbooks
ผลงานของ 8 ผู้กำกับหนัง auteur ระดับโลก
ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์, ริทวิก กาฎัก, แวร์เนอร์ แฮร์โซก, อากิ เคาริสมากิ , ฌ้ากส์ รีแวตต์, ฌ้ากส์ ตาติ, ชูจิ เทรายาม่า, วิม เวนเดอร์ส













แวะซื้อได้ที่งานมหกรรมหนังสือ ระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคม ที่ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
หาซื้อได้ที่ บู๊ธสำนักพิมพ์โอเพ่น บริเวณ L 02 แพลนนารีฮอลล์ และ อัลเทอร์เนทีฟ ไรเตอร์ บริเวณ บู๊ธ N 36 โซน C1 (ชั้นล่าง)





































10/16/07

Derek Jarman ตำนานหนังชายขอบ

Derek Jarman ตำนานหนังชายขอบชาวอังกฤษ













มีให้อ่านแล้วใน
Filmvirus 05 ฉบับ ปฏิบัติการหนังทุนน้อย ของ ฟิล์มไวรัส
*** หาซื้อได้ที่ บู๊ธ อัลเทอร์เนทีฟ ไรเตอร์ (N 36 โซน 4) งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคม 2550
โปรแกรมภาพยนตร์ของ Fred Kelemen ที่ Esplanade Cineplex

Fallen (Krisana) ฉาย วันที่ 26 ตุลาคม 2550 เวลา 17. 40 น. และรอบสอง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 เวลา 20.20 น. (เฉพาะในรอบสองมีพูดคุยกับผู้กำกับ Fred Kelemen)

หนังของ Bela Tarr ที่ Fred Kelemen เป็นผู้กำกับภาพ คือเรื่อง The Man from London ฉาย วันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 เวลา 20.10 น. และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา 15.30 น.



เฟรด เคเลเม็น คือใครใน บทความ ราตรีวิเวกกับ Fred Kelemen http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/fred-kelemen.html

อีกครั้งกับ Joseph Cornell

สืบเนื่องจากรูปสีที่อยากให้เห็นในคอลัมน์ “ศิลปะส่องทางให้กัน” ของ filmvirus ใน ช่อการะเกด ฉบับ 42












(ช่อการะเกด 42 มีวางจำหน่ายจำนวนจำกัดไม่เกิน 100 เล่มในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ที่ บู๊ธของ สำนักพิมพ์สามัญชน และ บู๊ธอัลเทอร์เนทีฟ ไรเตอร์)









เวย์น หวัง คืนฟอร์มที่เทศกาลหนังนานาชาติที่ ซาน เซบาสเตียน

เวย์น หวัง ชนะรางวัลที่เทศกาลหนังนานาชาติ San Sebastian
Wayne Wang won top award at San Sebastian International Film Festival

(เก็บตกจากข่าวปลายเดือนกันยายน 2550)
เทศกาลหนังนานาชาติ San Sebastian ครั้งที่ 55 ที่ประเทศสเปนเปิดงานด้วย Eastern Promises ของผู้กำกับแคนาดา เดวิด โครเนนเบิร์ก และมีหนัง 16 เรื่องเข้าร่วมประกวด เวย์น หวัง ชนะรางวัลหนังยอดเยี่ยมด้วยหนังเรื่อง A Thousand Years of Good Prayers ซึ่งสร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Yiyun Li

A Thousand Years of Good Prayers เป็นเรื่องราวของพ่อม่ายชราที่เดินทางไปเยี่ยมลูกสาวถึงอเมริกา ขณะที่เธอซึ่งเพิ่งผ่านการหย่าร้างมานั้นมักมีปัญหาไม่ลงรอยกับคนพ่ออยู่โดยตลอด

เป็นการกลับมาอย่างเกริกเกียรติสู่รากเหง้าเดิมของ ผู้กำกับอเมริกัน-ฮ่องกง ที่เคยโด่งดังสูงสุดจากหนังแสดงชีวิตคนเอเชียในอเมริกาอย่าง Chan is Missing, The Joy Luck Club, Dim Sum และเรื่อง Smoke ที่ถ่ายทอดชีวิตชนชายขอบชาวนิวยอร์ค ซึ่งเรื่องหลังนี้ได้นักเขียนนิยายระดับ Paul Auster มาช่วยเขียนบทให้ (นอกจากนี้ พอล ออสเตอร์ ซึ่งเคยผิดใจกันเมื่อคราวทำบทเรื่อง The Center of the World ให้ เวย์น หวัง ก็ได้มาร่วมเป็นกรรมการในงานครั้งนี้ด้วย)

เวย์น หวัง ในวัย 58 ปี ได้กลับมาทำหนังขนาดเล็กกินใจดังฝันอีกครั้ง โดยเลิกง้อฟิล์ม 35 มม. หันมาหากล้องวีดีโอดิจิตอลแทน หลังจากเปลืองพลังงานชีวิตทำหนังสตูดิโอฮอลลีวู้ดอย่าง Anywhere But Here (นาตาลี พอร์ตแมน), Because of Winn-Dixie (แอนนา โซเฟีย รอบบ์), Maid in Manhattan (เจนนิเฟอร์ โลเปซ) และ Last Holiday (ควีน ลาติฟาห์)

เฮนรี่ โอ นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายจีนวัย 79 ปี ก็เป็นอีกผู้หนึ่งจากหนังของ เวย์น หวัง ที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม หลายคนคงคุ้นหน้าเขากันดีจากหนังทีวีซีรี่ส์เรื่อง The Soprano, ER, The West Wing และหนังของ แบร์นาโด แบร์โตลุคชี่ เรื่อง The Last Emperor

Blanca Portillo รับรางวัลนักแสดงนำหญิงจาก Seven Billiards Tables (Siete Mesas) ของผู้กำกับ Gracia Querejeta

จอห์น เซลส์ (John Sayles) ผู้กำกับอเมริกันระดับตำนานหนังอินดี้ยุคลายคราม แชร์รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Honeydripper ร่วมกับ Seven Billiards Tables ของผู้กำกับ Gracia Querejeta

Nick Broomfield ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The Battle for Haditha ที่แสดงให้เห็นความไร้มนุษยธรรมของทหารอเมริกันในสงครามกับอิรัก

ฮาน่า มัคมาบาฟ น้องสาวคนเล็กวัย 18 ปี ของตระกูลมัคมาลบาฟ นักทำหนังดังชาวอิหร่าน มาประกาศศักดาของหนังอิหร่านอีกครั้งด้วยเรื่อง Buddha Collapsed Out of Shame ได้รับรางวัล Jury Prize

ริชาร์ด เกียร์ กับ ลิฟ อุลมานน์ ได้รับรางวัลเกียรติยศตลอดชีวิต Lifetime Achivement Award

หนังเรื่อง The Princess of Nebraska ที่แสดงชีวิตชาวอเมริกันเชื้อสายจีน และได้ร่วมฉายในงานเทศกาลนี้นอกสายประกวด ก็สร้างจากเรื่องสั้นของ Yiyun Li เช่นเดียวกับหนังของ เวย์น หวัง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติละเอียดของ เวย์น หวัง และ จอห์น เซลส์ ได้ใน Filmvirus 05 ปฏิบัติการหนังทุนน้อย

10/12/07

The Box Artist - โจเซฟ คอร์เนลล์

The Box Artist - โจเซฟ คอร์เนลล์

สืบเนื่องจากคอลัมน์ "ศิลปะส่องทางให้กัน" ของ filmvirus ใน "ช่อการะเกด 42"


ยังมีอีกหลายภาพที่อยากลงแบบรูปสี














หนังสือแห่งปี ช่อการะเกด ฉบับที่ 42 (ออกแล้ว)


หนังสือแห่งปี *** ช่อการะเกด ฉบับที่ 42
จะเป็นอื่นคงไม่ได้นอกจาก ช่อการะเกด
เปิดตัวกันไปแล้วเมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 50)
การกลับมาหลังจากการรอคอยยาวนานกว่า 9 ปี กับบรรณาธิการคนเดิม สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง ที่แวดวงวรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์ท้าทดลองรู้จักกันดี

ภายใต้อ้อมแขนอันมั่นคงของ ดอนเวียง กับ ดอนเช็ค (วชิระ บัวสนธ์ + สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) คาดว่างานนี้สนามนักเขียนไทยรุ่นใหม่คงไม่แล้งอนาคตอีกต่อไป





งานนี้ filmvirus ได้มีโอกาสร่วมกองบรรณาธิการช่อการะเกดยุคใหม่กับเขาด้วย คราวแรกจึงขอประเดิมคอลัมน์ “ศิลปะส่องทางให้กัน” ที่ว่าด้วย โจเซฟ คอร์เนลล์ - ศิลปินนักทำกล่อง ผู้ซึ่งเหล่านักเขียนมือทองชาวอเมริกันต่างคารวะและรำลึกถึงผ่านงานเรื่องสั้นและบทกวี

10/10/07

จอยซ์ แครอล โอตส์ ฉบับแปลไทย

จอยซ์ แครอล โอตส์
Joyce Carol Oates in Thai Translation

ไม่ได้หนังสือฟรี แต่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้
แม้ชื่อของ จอยซ์ แครอล โอตส์ จะไม่ใช่บัตรทองที่กรายใกล้กับงานเขียนแนวนี้ แต่จากที่ Filmvirus เคยประทับใจเรื่องสั้นของเธอมาบ้าง เหตุผลที่หนังสือของเธอแทบไม่มีโอกาสแปลไทย เท่านี้ก็สมควรค่าแก่การเชียร์ ซื้อภาษาอังกฤษไว้นานแล้ว คราวนี้อ่านฉบับแปลไทยเลยดีมั้ง

“คือเธอที่เปลี่ยนฉัน” แปลจาก Big Mouth & Ugly Girl โดย วนาลี เศรษฐกุล

10/4/07

Mrs. Dalloway เรื่องเอกของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟฟ์ มีแปลไทยแล้ว

Mrs. Dalloway - a first Thai Translation
นิยายเรื่องสำคัญของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟฟ์ มีแปลไทยแล้ว

หนังสือของนางพญาแห่งสวนอักษรคนนี้ใช้เวลาเดินทางเป็นชาติกว่าจะเขยกมาเป็นภาษาไทย แต่มาช้าย่อมดีกว่าไม่มา สำหรับคอหนังคงพอจะคุ้นเคยดีกับการเล่นกลซ้อนนิยายเรื่อง Mrs. Dalloway ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟฟ์ ในนิยายเรื่อง The Hours ของ ไมเคิล คันนิ่งแฮม (อีกที) ที่กลายเป็นหนังชื่อเดียวกันแสดงโดย ดาราสาวน้อย-กลาง-ใหญ่ อย่าง แคลร์ เดนส์ นิโคล คิดแมน จูลี่ แอนน์มัวร์ และ เมอรีล สตรีพ ประชันบทกันจนกรรมการออสการ์ตัดสินใจไม่ค่อยถูก

จะเป็นด้วยลีลาการเขียนแนวกระแสสำนึกสั่งมาของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟฟ์ ที่เข้าใจยากซับซ้อนเกินไปในการแปล นอกกระแสตลาดระบบการพิมพ์เชิงล่ำซำ หรือจะเป็นที่สมองของคนอ่านไทยล้นเต็มเสียแล้วด้วยข้อมูลเว็บไซต์ก็ไม่ทราบได้ เท่าที่ผ่านมาจึงดูเหมือนว่ามีแต่คุณ ภัควดี วีระภาสพงษ์ เท่านั้นที่เคยรับมือกับการแปลเรื่องสั้นใน สยามรัฐ คราวนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสดีจริง ๆ ที่นักแปลลายครามอย่าง ดลสิทธิ์ บางคมบาง แห่งสำนักพิมพ์คมบางหาญจับงานหินเช่นนี้

หากยังพิศวงงงงวยกันไม่พอกับสำนวนการแปล เฟอร์ดีเดิร์ก ถนนจระเข้ และเรื่องสั้นของ ฟรานซ์ คาฟก้า นักอ่านทั้งหลายเตรียมใจควักกระเป๋ากันไว้เลยตั้งแต่บัดนี้
วางจำหน่ายครั้งแรกที่ งานมหกรรมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 วันที่17-28 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 น. – 21.00 น. สำนักพิมพ์คมบาง บู๊ท N 54 โซนซี ชั้นล่าง

หมายเหตุ: นิยายเรื่อง Mrs. Dalloway เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย 1 ในสุดยอดนักแสดงหญิงชาวอังกฤษ วาเนสซ่า เรดเกรฟ (Blow-Up) และกำกับโดย มาร์ลีน กอร์ริส เจ้าของหนังผู้หญิงระดับแถวหน้าอย่าง A Question of Silence, Broken Mirrors, Last Island และ Antonia’s Line ซึ่งทั้งหมดต่างได้รับการยอมรับในระดับโลก รวมทั้งรางวัลหนังออสการ์สาขาต่างประเทศ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ W=Woolf, เวอร์จิเนีย วูล์ฟฟ์ ใน Bookvirus 02 ของ สนธยา ทรัพย์เย็น, สำนักพิมพ์ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

10/2/07

จางอ้ายเจีย ที่เทศกาลหนัง World Film BKK 2007

A Tribute to Sylvia Chang in the 5th World Film BKK 2007

จางอ้ายเจีย นักแสดง-นักร้องระดับอมตะของไต้หวันมาเมืองไทยที่งานเทศกาลหนัง World Film Bangkok 2007 พร้อมกับผลงานการแสดงชั้นนำของเธอทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่าง “ความรักในหอแดง” (Dream of the Red Chamber / 1977) ที่เธอแสดงร่วมกับ หลินชิงเสีย และ หมีเซียะ, Full Moon in New York (1990) ที่แสดงกับ จางมั่นอี้ รวมทั้งผลงานเขียนบท-กำกับภาพยนตร์เรื่อง 20-30-40 (ปี 2004)

เธอเคยแสดงหนังที่ปลุกปั้นคนทำหนังไต้หวันหน้าใหม่ในทศวรรษ 80 อย่าง In Our Time (1982) และ That Day, on the Beach (1983) ซึ่งขณะนั้น เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang / หยางเต้อชาง) เป็น 1 ในผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรง

นอกจากนั้นเธอยังมีผลงานการแสดงระดับนานาชาติคือเรื่อง Sour Sweet (1988) หนังอังกฤษของ Mike Newell และหนังแคนาดา / อิตาลี่ / อังกฤษเรื่อง The Red Violin (1998)

(ภาพ จางอ้ายเจีย จาก “ความรักในหอแดง”)

นิทรรศการของเจ้าแม่หนังเฮี้ยนฮา Ulrike Ottinger

นิทรรศการและงานฉายหนังของเจ้าแม่หนังเฮี้ยนฮา Ulrike Ottinger

ทางออฟฟิศของ Ulrike Ottinger ที่เยอรมนี แจ้งข่าวให้ ฟิล์มไวรัส มาได้สักพักใหญ่ว่า ขณะนี้กำลังมีงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย แฟชั่นเสื้อผ้า งานออกแบบหลุดโลกของ ราชินีหนังเฮี้ยน (ห้าว) เยอรมัน Ulrike Ottinger คนเดียวกับที่เคยฝากงานพิลึกพิกลหลายเรื่องมาฉายเป็นชุดแบบ Retrospective ที่เทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok เมื่อ 2 ปีก่อน และดูเหมือนว่าในคราวนั้นทั้งตัวเธอเอง และหนังเด็ดอย่าง Madame X, Dorian Gray, Ticket of No Return และ Freak Orlando ได้สั่นประสาทคอหนังชาวไทยไปพอควร

จึงเรียนมาให้ทราบ หากแฟนพันธุ์แท้อยากแวะไปชมงานของ อุลริเค่อ อ็อททิงเงอร์ ถึงเยอรมนี งานนี้ยังมีจัดที่ Deutsche Kinemathek เมืองเบอร์ลิน ต่อไปถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2550

ราตรีวิเวกของ Fred Kelemen

รัตติกาลอันตรายกับ Fred Kelemen
The Nocturnal World of Fred Kelemen
บทความโดย สนธยา ทรัพย์เย็น
filmvirus@gmail.com

(ดัดแปลงใหม่จากบทความเดิมใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 2 / ธันวาคม 2544)
(กรุณาอ่านเพิ่มเติมบทสัมภาษณ์ Fred Kelemen โดย สนธยา ทรัพย์เย็น ใน filmvirus 2)


None to accompany me on this path:
Nightfall in autumn.
Matsuo Bashō

เดือนมกราคมปี 2000 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปให้กำลังใจ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นำ “ดอกฟ้าในมือมาร” (Mysterious Object at Noon) หนังเรื่องแรกของเขาไปเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองร็อตเตอร์ดาม ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะกองทุน ฮิวเบิร์ท บาลส์ ของชาวดัทช์ เป็นกองทุนแรกในโลกที่ให้การสนับสนุนเพื่อนผมมาตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้าชาวฝรั่งเศส ชาวออสเตรีย หรือกระทั่งคนไทย


และในโรงเดียวกับที่ฉาย “ดอกฟ้า” ผมได้มีโอกาสค้นพบหนังของหนุ่มชาวเยอรมันนาม เฟรด เคเลเม็น (Fred Kelemen) และหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมทึ่งในตัวเขาคือเรื่อง Abendland (Nightfall)

Abendland ก็คงคล้ายกับหนังใหญ่เรื่องอื่นๆ ที่ เฟรด เคเลเม็น กำกับคือ Fate กับ Frost และ Fallen (Krisana) คือดูเพียงผิวเผินนั้นราวกับว่าทุกอณูในตัวหนังนั้น ดูเหมือนจะประกอบขึ้นจากความมืด ไร้ซึ่งมิตรภาพ ความหวัง ความอาทรระหว่างมนุษย์


ตัวเหตุการณ์ในหนังนั้นเกิดขึ้นภายในคืนเดียว โดยเน้นที่ตัวละครหนุ่มสาว 2 คน คือชายหนุ่มตกงานคนหนึ่งชื่อ อันต็อน และหญิงสาวรับจ้างรีดผ้านาม เลนี ทั้งสองอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ ที่เมืองลับแลขมุกขมัวที่ใดสักแห่งในยุโรป สภาพสิ้นหวังและความเงียบของ อันต็อน สร้างความอึดอัดให้ เลนี อย่างมาก ทั้งสองมีปากเสียงกันและแยกย้ายออกไปเผชิญหน้ากับโลกที่ไม่เป็นมิตร


แทรกเลาะท่ามกลางช่องแคบของลมเกรี้ยวและเสียงอุทานที่ขาดห้วง อันต็อน และ เลนี ได้ค้นพบวิถีทางเอาตัวรอดแบบเฉพาะตัว โดยเขาต้องสบตากับสภาพอารมณ์ทึบร้างของตัวเองซึ่งซุกแอบไว้นาน ส่วนเธอก็ได้สัมผัสกับความโกรธอันมืดบอดที่จิตใจเฝ้าปฏิเสธ พร้อมๆ กับคลำทางหาพลังใจมาต่อกรกับหงส์ดำที่กำลังสยายปีกครอบคลุมตัวคนรักของเธอไว้


หนังในสไตล์ เคเลเม็น นั้นส่วนใหญ่เป็นงานภาพขาวดำ หรือหนังสีที่ให้อารมณ์หม่นหมองแบบหนังโลหิตจาง ความยาวของตัวหนังเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง - 4 ชั่วโมง ยิ่งบวกกับจังหวะการเล่าเรื่องที่เนิบนาบ คงเดาได้ไม่ยากว่าแฟนหนังของเขาจะหยิบมือแค่ไหน เพราะคนที่เรียกหนัง อภิชาติพงศ์ ว่าอาร์ตสุดขั้วแล้ว เจอรายนี้ต้องเหวอหนักกว่า เรียกได้ว่าคนทั่วไปมีโอกาสดูหนังของเขาน้อยมาก ๆ เฉพาะโรงหนังอาร์ตที่ไม่แคร์รายได้เท่านั้นที่จะกล้าจัดฉายหนังแบบนี้


แต่คนดูหนังกลุ่มเล็กๆ เริ่มเห็นแววการทำหนังละเอียดอ่อนเชิงกวีของ เคเลเม็น ซึ่งโชว์ความงามของรัตติกาลอันตรายเข้าให้แล้ว ยิ่งช่วง 3 ปีหลังนี้ หนังของเขาถูกรวบรวมไปฉายครบครันเป็นการคารวะให้เกียรติตัวเขาโดยเฉพาะ ทั้งที่นิวยอร์ค ลอนดอน หรือที่อื่นๆ ในยุโรป นอกจากนั้น เคเลเม็น ยังได้รับเชิญไปบรรยายหรือสอนภาพยนตร์ที่ต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ซ้ำเขายังชอบเดินทางไปทั่วโลก ยิ่ง ฮ่องกง หรือ ญี่ปุ่นนั้นเขาคุ้นเคยดี


เคเลเม็น ต่างจากผู้กำกับอีกหลายคน คือเขามีความสามารถทั้งด้าน การเขียนบท-กำกับ-ถ่ายภาพยนตร์ พร้อมสรรพในตัวเอง ซ้ำยังชอบไปรับงานถ่ายหนังให้เพื่อนเก่าก็อีกบ่อย (หนึ่งในนั้นคือหนังของผู้กำกับ เบล่า ทาร์ ที่กำลังจะมาฉายที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม เรื่อง The Man from London)

เดิมเขานั้นเกิดในเยอรมันตะวันตก แม่เป็นชาวฮังกาเรียน ส่วนพ่อเป็นชาวเยอรมัน เขาศึกษาสายจิตรกรรม ดนตรี และปรัชญามาก่อนที่จะทำงานผู้ช่วยกำกับละครเวที เขาเข้าศึกษาที่สถาบันภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่เบอร์ลินเมื่อปี 1989 จบมาก็ทำงานเป็นตากล้องหลายเรื่องให้ผู้กำกับคนอื่น


หลังจากที่เริ่มกำกับหนังของตัวเอง ตั้งแต่ปี 1995 เขาก็ได้รับเชิญไปสอนที่โรงเรียนภาพยนตร์คาตาเลเนีย ที่เมืองบาเซโลน่า ประเทศสเปน โดยระหว่างนั้นเขาผลิตงานวีดีโอที่ร่วมสร้างกับนักศึกษาหลายเรื่อง รวมทั้งไม่นานมานี้ยังไปสอนที่ประเทศแลตเวีย และกำกับภาพยนตร์เรื่อง Fallen (Krisana) ที่นั่น

ที่ร็อตเตอร์ดาม ผมถามเขาว่าการตัดสินใจเลือกถ่ายหนังเป็นวีดีโอในงานเรื่อง Fate เป็นความตั้งใจแต่แรกจริงๆ หรือเกิดจากเงินทุนจำกัดบังคับ ซึ่งเขาก็ยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาเลือกตั้งแต่แรกว่าเหมาะสม นอกเหนือจากข้อจำกัดทางงบประมาณซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำหนังหน้าใหม่ เขาชื่นชอบมากกับลักษณะภาพแห้งเย็นชาของสื่อชนิดนี้ แล้วนำมาใช้ตลอดในหนังทุกเรื่อง แม้แต่ Abendland หนังเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายในระบบฟิล์ม 35 มม. ก็ยังคงแทรกภาพวีดีโอมาในบางฉาก

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ แอนดรูว์ เจ. ฮอร์ตั้น จาก Central Europe Review ว่า เขาเกลียดคำว่า “ความหวัง” เพราะความหวังนั้นไม่อาจเทียบได้กับการมี “วิสัยทัศน์” (Vision) โดยเขามองว่า “ความหวัง” เป็นเรื่องของความนิ่งดูดายทำร้ายคนทางอ้อม ให้จมอยู่กับความหวังลมๆ แล้งๆ นั่นจึงไม่แปลกที่ตัวละครในหนังของเขาดูเหมือนจะเลือกการจมปลักกับโคลนตม มากกว่าการฝันโรแมนติกถึงทางออกแบบบริสุทธิ์สะอาด

นักร้องคนหนึ่งใน Abendland พูดว่า “นกที่เชื่องขับขานเพลงแห่งเสรีภาพ ส่วนนกป่านั้นเลือกที่จะโผบิน”


7 ปีผ่านไป ผมนึกว่าจะหมดหวังชมหนังเรื่องอื่นๆ ของ เฟรด เคเลเม็น เสียแล้ว แต่แล้วการเชียร์สนุกปากกับ อาร์มแชร์มีพนัก เจ้าหน้าที่เทศกาลหนัง World Film กลับได้ผลเกินคาด แถม เคเลเม็น ไม่ได้รับปากแค่จะมาตอบคำถามหลังฉายหนังเรื่อง Fallen และ The Man from London ที่โรงภาพยนตร์ Major Esplanade เท่านั้น เขายังจะมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลที่กรุงเทพ ฯ อีกด้วย

แค่นั้นผมก็ได้โอกาสยิงประตูซ้ำ เขียนอีเมลเชิญเขามาเปิดงาน Master Class “ราตรีวิเวก ของ เฟรด เคเลเม็น” (The Nocturnal World of Fred Kelemen) ฉายผลงานหนังและละครเวทีที่เขาเคยทำควบไปด้วยเลย 4 วัน คือวันที่ 5-8 พฤศจิกายน ศกนี้ โดย 2 วันแรก จะจัดที่ สถาบันเกอเธ่ ส่วน 2 วันหลัง จะจัดที่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เข้าชมฟรี รายละเอียดติดตามได้ที่ http://www.dkfilmhouse.blogspot.com/


ตรวจสอบโปรแกรมภาพยนตร์เรื่อง Fallen และ The Man from London (เคเลเม็น ถ่ายภาพ / เบล่า ทาร์ กำกับ) ที่โรงภาพยนตร์ Major Esplanade ได้จากเว็บเทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม - http://www.worldfilmbkk.com/

มหัศจรรย์แผ่นหนังควบของ Monte Hellman

มหัศจรรย์แผ่น VCD หนังควบของ Monte Hellman

The Shooting ของ Monte Hellman เป็นหนังคาวบอยซึ่งทำให้ ฟิล์มไวรัส หันมาให้ความสำคัญกับหนังคาวบอยอย่างจริงจัง หลังจากที่เคยไม่เจริญอารมณ์กับหนังคลาสสิกของ จอห์น ฟอร์ด (แต่ตอนนี้กลับมาคืนดีกันแล้ว)
มีหลายสิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับบทหนังสุดประหลาด การถ่ายภาพหมองหม่น จังหวะอึมครึม และท่าทีหน่ายแหนงโลกของบรรดาตัวละคร โดยเฉพาะตัวเอกที่ได้ วอร์เรน โอ๊ตส์ นักแสดงมากฝีมือที่ถูกมองข้ามมานาน ร่วมด้วย มิลลี่ เพอร์กิ้นส์ (จาก Diary of Anne Frank) ในบทสาวแสบ กับ วิล ฮัทชินส์ และมี แจ๊ค นิโคลสัน ร่วมแสดงในบทสมทบ


เมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว วีดีโอเทปม้วนเก่าเรื่อง The Shooting ถูกค้นพบที่ร้านวีดีโอร้านหนึ่งในห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน มันเป็นหนังที่ฉีกแนวหนังคาวบอยแบบเก่า ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง แสนพิสดารมากกว่าหนัง Revisionist Westerns ของ แซม แพ็คคินพาห์ ทุกเรื่องรวมกัน


ต่อมา ฟิล์มไวรัส ได้อ่านพบบทความของ Quentin Tarantino ในนิตยสาร Sight and Sound ว่านอกจาก The Shooting แล้ว ยังมีหนังคู่หูของมันอีกเรื่องที่ถ่ายทำพร้อมกันแบบหัวชนท้าย ทีมงานและนักแสดงบางส่วนต่างมีบทบาทในหนังทั้ง 2 เรื่อง

หนังคู่หูอีกเรื่องก็คือ Ride in the Whirlwind ซึ่งนำแสดงและเขียนบทโดย แจ็ค นิโคลสัน เรื่องนี้ก็เป็นหนังคาวบอยที่พิสดารไม่เบา ต่างจาก The Shooting อยู่พอสมควร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันต่างจากหนังคาวบอยทั่วไปที่เน้นพล็อตเรื่องอย่างมาก ๆ


ทั้ง The Shooting และ Ride in the Whirlwind เป็นหนังคาวบอยราคาประหยัดที่ใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดได้อย่างเต็มพิกัด ความเป็นหนังสไตล์พิลึกสเกลจิ๋วได้ทำให้มันกลายเป็นหนัง Cult Classic ในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อนับรวมกับ Two Lane Blacktop หนังแนว Road Movie ขนาดย่อมอีกเรื่องของ Monte Hellman ก็ทำให้ผู้กำกับหนังเกรดบีคนนี้ มีผลงานหนัง Cult Classic ถึง 3 เรื่อง (นี่ยังไม่นับรวม Back Door to Hell, Iguana และ Cockfighter หนังเกรดต่ำอีก 3 เรื่องที่เราชื่นชมไม่แพ้กัน)


ณ วันนี้ The Shooting และ Ride in the Whirlwind มีให้ชมแล้วในฉบับพากย์ไทย เรื่องแรกตั้งชื่อว่า “2 สิงห์ฝ่าตะวันเดือด” อีกเรื่องชื่อ “บทบัญญัติกระสุนปิดบัญชี” ทั้ง 2 เรื่องเป็นหนังค่าย Elephant Media Link ที่ผลิตหนังเกรดบี และหนังฮอลลีวู้ดคลาสสิกชั้นดีมาหลายเรื่อง เช่น The Searchers, Rebel without A Cause และบางเรื่องคงระบบภาพไวด์สกรีนไว้ด้วย เพราะเขาทำดีเช่นนี้ เราจึงประชาสัมพันธ์ให้เอง ไม่ได้รับสินบนจากไหน

สำหรับผู้ชมที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แนะนำให้ไม่แตะแผ่นซาวนด์แทร็คของต่างประเทศ เพราะฟังยากและไม่มีคำบรรยายอังกฤษ ทาง ฟิล์มไวรัส ยังไม่ได้ทดลองดูทั้งแผ่น แต่จากผลงานวีซีดีเรื่องก่อน ๆ ของค่ายนี้ก็น่าจะรับประกันได้พอสมควร เชื่อได้ว่า อย่างน้อยคงทำให้ดูหนังรู้เรื่องมากกว่าการดูแผ่นซาวนด์แทร็ครอบแรกแน่