10/29/09

แด่ อุทิศ เหมะมูล My Comrade

จาก สนธยา ทรัพย์เย็น ถึง อุทิศ เหมะมูล
คำถามจาก ภาวินี อินเทพ
คำตอบบางส่วนในที่นี้ตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 23 ตุลาคม 2552
(ภาพ Laplae, Kaeng Koi ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย Marcel Barang ใน Bangkok Post -7 กันยายน 2552)

สิ่งแรกที่ผมบอกกับอุทิศหลังจากที่เขาได้รับรางวัลก็คือ “ในที่สุดเจ้าก็ได้รับในสิ่งที่เจ้าสมควรได้รับมานานแล้วเสียที” หลังจากที่เขาอุทิศตัวจริงจังให้กับการเขียนอย่างเป็นระเบียบมาหลายปี ดูเหมือนฟ้าจะเข้าข้างคนจริงบ้างก็คราวนี้ อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูหนังอาร์ตเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ของเขา แต่ก็เช่นเดียวกับคนที่ขยันเรียนรู้และตกผลึกในมุมมองของตนเองทั้งหลาย หนังสือ ภาพเขียน หรือประสบการณ์ทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเขาเป็นเพียงหนทางตัวอย่าง แต่ของจริงซึ่งทำหลอกกันไม่ได้นั้นมันก็ต้องออกมาจากข้างในอยู่ดี ไม่ใช่การหยิบยกไอเดียทื่อมะลื่อ อีกทั้งพรสวรรค์ทางภาษาและทักษะการคิดของเขาก็มีหลายมิติ ที่น่าสังเกตที่สุดก็คือ อุทิศคงจะเป็นนักเขียนวรรณกรรมไทยคนแรกที่รู้จักหนังแอฟริกัน หนังรัสเซีย หนังศรีลังกา ทัดเทียมกับที่ชื่นชม เจ เอ็ม โคเอ็ทซี จากแอฟริกาใต้ หรือ นากิบ มาห์ฟูซ ของอียิปต์ และเขารู้ดีว่ารายละเอียดต่างหาก ไม่ใช่พล็อตเรื่องที่ทำให้งานศิลปะอะไรก็ตามมีชีวิตยั่งยืน


พี่กับคุณอุทิศรู้จักกันได้ยังไง เพราะหนังชักนำมา หรือว่า รู้จักกันก่อนหน้านี้แล้ว

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าอยากให้ผมไปคุยกับรุ่นน้องของเขาที่ ม. ศิลปากร เขาคงเห็นว่าผมรู้จักหนังแปลก ๆ เลยอยากให้รุ่นน้องที่สนใจอยากทำหนังได้มีโอกาสดูหนังหลากหลาย ผมจึงได้รู้จักอุทิศและธเนศน์ นุ่นมัน สองคนนี้เขาเป็นคู่หูกันตั้งแต่ที่คณะ เขาเคยทำหนังสั้นกันด้วย จนตอนหลังเราทั้งสามคนมาทำหนังสือ 151 Cinema แต่ตอนสมัยเขาเรียน พวกเราเคยจัดฉายหนังที่คณะอยู่หลายครั้ง ฉายกันตั้งแต่รุ่นหิ้วฟิล์ม เลเซอร์ดิสค์ ยันวีดีโอเทป อุทิศเขาเคยมีวิญญาณของนักกิจกรรม ตอนนั้นพวกเราคงเหมือนกับอีกหลาย ๆ คนที่ชอบคิดว่าอยากเปลี่ยนโลก อยากให้คนได้รู้จักของดีดี แต่ยิ่งนานวันเราก็รู้ความจริงว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน และวันนี้อุทิศคิดถูกแล้วว่าคนเรามีเวลาน้อย การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าใครเห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อ ยึดถือและกระทำนั้นดี มันก็คงจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ในทางใดทางหนึ่ง

พี่มองความเป็นนักวิจารณ์เขายังไงบ้างคะ แบบมุมมองไม่เหมือนใคร หรือว่า เป็นนักวิจารณ์ฝีปากกล้า หรือว่า นักวิจารณ์ที่มีลูกขยัน อะไรประมาณนี้ที่พี่มองเห็น

มุมมองของอุทิศไม่เหมือนใครตั้งแต่ตอนเรียนแล้วครับ ถามเพื่อนหรืออาจารย์เขาก็ได้ ขนาดอาจารย์ยังต้องมีเกรงใจแก๊งของอุทิศ ไม่ค่อยมีใครกล้าเถียงด้วย ถ้าเกิดใครบื้อมา เขาไม่ใช่คนยอมใครง่าย ๆ ส่วนเรื่องฝีปากกล้า เขาอาจจะเคยเขียนกระทบกระทั่งคนในวงการแรงๆ อยู่บ้าง แต่เขามีเหตุมีผลน่าฟังเสมอ ไม่ใช่อัดใครมั่วซั่ว ยิ่งเรื่องการเขียนวิจารณ์หนังหรือหนังสือนั้น เขาเลือกเขียนเฉพาะหนังที่เขาชื่นชมด้วยความรู้สึกรื่นรมย์ของนักค้นหา นักเรียนรู้ขยันศึกษาหาความรู้ ข้อมูลเชื่อถือได้ แต่ที่นำหน้าข้อมูลคือวิจารณญาณที่ดี คือมีมุมมองเฉพาะของคนที่สนุกกับโลกแปลกใหม่ ไม่หยุดแสวงหา เพราะการเสพงานศิลปะดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เราไม่ได้แค่วัฒนธรรม หรือฝึกภาษาอังกฤษ มันไม่ได้ทำให้เราแค่ฉลาดคิด แต่แท้จริงทำให้เราฉลาดรู้สึก คนฉลาดคิดจะแค่มองมนุษย์กับสังคมเป็นโครง แต่คนฉลาดรู้สึกจะมองเห็นรายละเอียดคน หยั่งใจคน เวลาเขียนงาน ก็จะเขียนงานด้วยความอยากรู้จัก อยากเข้าอกเข้าใจ ยอมรับด้านอ่อนแอของคน ไม่ด่วนตัดสินหรือวางกรอบให้ตัวละครเป็นแค่หุ่นเชิด

ที่สำคัญการบรรยายความทั้งในงานวรรณกรรมและงานวิจารณ์ มีหลายเรื่องทีเดียวที่อุทิศบรรยายด้วยโวหารวิจิตร ไม่มีนักวิจารณ์หนังคนไหนเขียนแบบนี้หรอกครับ บางทีผมยังอดหมั่นไส้ไม่ได้ สำบัดสำนวนยังกับแต่งนิยายอยู่แน่ะ นี่ขนาดเขาเคยต้องเขียนวิจารณ์หนังสัปดาห์ละเรื่อง แน่นอนว่าการจะเขียนให้เข้าถึงลึกซึ้งทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การจับประเด็นแล้วแจกแจงให้ได้ความในพื้นที่กำหนดแต่ละฉบับ ก็ต้องมีความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องกดดันพอดู งานแบบนี้ต้องคนขยันถึงทำได้ แต่ความขยันเขียน (เพื่อค่าตอบแทนที่น้อยมาก ๆ จนน่าตกใจ) นั้น ก็มีผลดีเหมือนกันคือ ช่วยให้เขาคล่องในการเขียนหนังสือมากขึ้นด้วย ฝึกวินัยให้เขาต้องใช้สมองครุ่นคิดถึงสาระของหนังหรือหนังสือที่เขาวิจารณ์อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลดีกับเวลาทำงานวรรณกรรมในเวลาต่อมา

เท่าที่เห็น งานเขาดี โดดเด่นตั้งแต่แรกเลยไหมคะ
เพชรจะมาจากทับทิมไม่ได้หรอกครับ ช่วงเขียนวิจารณ์หนังใหม่ ๆ อาจมีกระท่อนกระแท่นบ้างตามธรรมดา แต่อุทิศเป็นคนฉลาดและพรสวรรค์ไกล เขาอาจเป็นคนดื้อ แต่เขาไม่โง่ เขาเรียนรู้เร็วกว่าผมและคนทั่วไปหลายเท่า และคนที่ฝึกฝนตัวเองบ่อยก็มักจะเรียนรู้ได้เยอะจากความผิดพลาดและผิดหวัง ตอนที่อุทิศออกนิยายเล่มแรก ผมทึ่งมาก เพราะมันไม่ใช่งานสมัครเล่นแบบที่มือใหม่หรือนักวิจารณ์หนังทั่วไปจะเขียนกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่คนที่ใช้สมองด้านวิเคราะห์จะหันมาจับสร้างงานศิลปะได้ดีพอกัน (หรือดีกว่า) น้อยคนมาก ๆ ที่จะเหมาะข้ามฟากใช้สมองสองฝั่งได้ดี ผมทึ่งตรงนี้ที่สุด

หัวข้อที่ได้คุยแลกเปลี่ยนกันมากๆ คืออะไรคะ
ถกเรื่องผู้กำกับหนังและนักเขียนบ่อยที่สุดครับ เวลาเจอหนังแปลก ๆ ประหลาด ๆ ก็มาบอกเล่ากัน ซึ่งเขาจะไม่เหมือนหลาย ๆ คนที่ยอมแพ้หนังอะไรง่าย ๆ ถึงจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม เขาก็จะพยายามเข้าใจหนังนั้นให้ได้มากที่สุด เพราะถือมันเป็นบทเรียนอันหนึ่ง ในประเทศนี้คงมีคนให้คุยแบบนี้ได้ไม่กี่คน แต่พอเราคุยกันเรื่องหนังจนเหนื่อย เราก็กลับมาคุยกันเรื่องชีวิตประจำวัน ผมว่างานศิลปะทุกอย่างมันทำให้อุทิศมองชีวิตรอบตัวได้ทะลุ รู้ว่าชีวิตมันมีทั้งสุขทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่คนขมขื่น หรือมองโลกในแง่ดีเกินไป ทำให้เขาระวังตัว แต่ก็ยอมรับความจริงได้มากขึ้น ส่วนชีวิตจริงมุมไหนที่เรายังทำใจไม่ได้ เราก็พยายามเอามุมสร้างสรรค์จากงานศิลปะมาเป็นกำลังใจสู้ต่อ ที่สำคัญคือต้องโยงศิลปะให้กลมกลืนกับชีวิตจริงได้ ถ้าเรายังเชื่อว่าศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องของภูมิปัญญาบนหอคอย เราก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมโลกกับคนเดินดินทั่วไปโดยไม่แปลกแยกมากนัก เพราะความรู้สึกขัดแย้งตรงนี้ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจที่วิเศษได้เหมือนกัน

1 comment:

Filmvirus said...

พอมาอ่านดูอีกที เออนะเรา แหมทำพูดดี แต่ชีวิตจริงไม่เห็นทำได้แบบที่พูด