10/22/09

หนังบ้านที่หอภาพยนตร์ศาลายา 2552- Death is Everywhere

I’ve seen Death Everywhere

เวลาที่ตายแล้ว เวลาที่สาบสูญ ไม่มีหนังประเภทไหนอีกแล้วที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่จีรังที่มากระชากคอหอยได้เท่ากับการดู หนังบ้าน (Home Movies) ชีวิตคนแปลกหน้าที่เหมือนภาพอดีตตายแล้ว ซึ่งบางทีอาจไม่สมควรได้รับการปลุกเสกให้ฟื้นมาจากไหแม่นาคอีกครั้งหนึ่ง เพราะการชุบชีวิตคืนให้โลกมืดบนแผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์นั้นเป็นไปได้เพราะ – การที่สายตาคนเราไปจับจ้องมองมันอีกครั้งนั่นเอง –

ใช่แล้ว Death at Work ดังคำที่ Jean Cocteau กวี / ศิลปิน / ผู้กำกับฝรั่งเศสว่าไว้ ประเด็นนี้คือเรื่องที่ ฟิล์มไวรัส บ่นซ้ำซากไปหลายครั้งหลายคราว แล้วก็เพิ่งเขียนลงวารสารอ่านไปหยก ๆ (บทความ ‘ หนังส่วนตัวหน้าธารกำนัล’ http://www.readjournal.org/read-journal/2008-10-vol-3/read-pic/) แต่กับหนังประเภทเขียนบทแสดงทั่วไป มิติแห่งความเป็นความตายมันไม่คอขาดบาดตายเท่านี้ แต่กับหนังที่ถ่ายของจริง บันทึกชีวิตจริงนี่มันเป็นอะไรที่บอกไม่ถูก เมื่อชีวิตส่วนตัวเหล่านั้นถูกนำมาฉายขึ้นจอ

มันทำให้นึกถึงวัฏจักรแอบเสิร์ดการปลงตกของชีวิต ตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตายที่วนเวียน ความทรงจำที่ทั้งสวยงาม เศร้าสร้อย ร้ายกาจ น่าเกรงกลัว

มันชวนให้นึกถึงชื่อหนังของ แฟรงค์ คาปรา หรือใครสักคน ที่ชื่อว่า Lady for a Day หรือไม่ก็หนัง Ginger and Fred ของ Federico Fellini ที่ตัวประกอบหน้าเหมือนเลียนแบบคนดัง มีโอกาสได้ออกทีวีแสดงโชว์คนละไม่กี่นาที มีคนหน้าเหมือนดารา มีคนหน้าเหมือนนักเขียน ฟรานซ์ คาฟก้า โผล่มาล้นประดังจนตาลาย เรียกได้ว่าทุกคน Got their 3 minutes of fame ก่อนจะกลับไปเป็นคนสามัญธรรมดา

หนังที่มีคุณค่าสำหรับคนถ่ายและคนที่ถูกถ่ายในเวลาโน้น อาจหมดคุณค่าหรือถูกลูกหลาน / และผู้ชมมองข้ามไปเลยก็ได้ กลายเป็นคนแปลกหน้าของหลานเหลนรุ่นใหม่ ๆ นั่นพ่อฉัน แม่ฉันเคยไปเที่ยวที่ไหน นั่น ปู่ฉัน ย่าฉันคุยกับใครที่ฉันไม่รู้จัก เที่ยวที่ใดที่ฉันไม่เคยมีประสบการณ์ร่วม ประสบการณ์ที่สลักสำคัญมากในวันนั้นกลับกลายเป็นอดีตที่ไม่ถูกจดจำ หรือหลงเหลือคุณค่าอย่างใดกับใครในปัจจุบัน

แต่บางที บางคราวในอีกมุมหนึ่ง ภาพส่วนตัวพวกนั้น มันก็มีอะไรกระซิบลึก ๆ กับคนอื่น ครอบครัวอื่น หรือสังคมวงกว้างได้ด้วย แฟชั่นการแต่งตัว ค่านิยมของยุคสมัยหนึ่ง ๆ ลักษณะการโพสต์ท่า หันข้างยืนเรียงแถวเท้าสะเอวเรียงกันหลายคน แต่ละคนปล่อยปลายผ้าเช็ดหน้าเหยียดยาวไปที่พื้น ลักษณะบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ปฏิกิริยาธรรมชาติเวลาที่ชาวบ้านชาวช่องในแบ็คกราวนด์มองตอบ หรือสะท้อนกลับมาที่หน้าเลนส์ ความไม่คงทนของเนื้อฟิล์มที่เริ่มเสื่อมสภาพ ส่งอาการเน่าเปื่อยสีแปลก แตกเกรนหลงเหลือแค่แม่สีหลักเพียงไม่กี่ตัว กลายเป็นก้อนสีแดงอมส้มแจ๋นจ้าที่ขัดตากับพื้นสีตุ่น ๆ

* จินตนาการดูเถอะ

หนังของคุณ ชาคริต จรรยากุลวินิต ภาพสมาชิกในครอบครัวทั้งเด็กและแก่เฒ่าอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา เที่ยวเล่น กินข้าวร่วมกัน ผู้บรรยายที่นำภาพมาฉายให้เราดูกัน บอกกับผู้ชมว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กในภาพ เด็กคนที่ฟันหลอ เขากล่าวถึงภาพที่พ่อพาไปเที่ยวว่าพ่อเสียไปยี่สิบปีแล้ว ส่วนลูกน้องของพ่อในภาพที่มาสอนเขาเล่นปืน ตอนนี้ก็คงตายไปแล้ว

ภาพแดงเถือกของหนุ่มสาวในวันสมรส ของ คุณ อุดม ศรีเมลืองกุล ในภาพมีเพื่อนหรือใครสักคนกำลังอวยพรหรือเชียร์บ่าวสาวอย่างออกหน้าออกตา เราไม่อาจรู้ว่าเขากำลังพูดว่าอะไร เพระมันเป็นแค่หนังใบ้ แต่ท่าทางเขาเอาจริงเอาจังเหลือเกิน จนดูเหมือนกับกร้าวร้าว ส่วนคู่สมรสเอง โดยเฉพาะหญิงสาวที่สวยสะพรั่งก้มหน้ากึ่งเหนียมอายกึ่งวิตก เธอคิดอะไรกัน ในภาพต่อมาเธอกำลังแต่งผมหน้ากระจก สีหน้าเธอดูเป็นกังวล (ต่ออนาคต? หรือเธออึดอัดกับพิธีกรรม? ใครเล่าจะบอกได้?)


หาบข้าว นวดข้าว สีข้าว หนังขาวดำของคุณ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เห็นภาพชนบทหลายสิบปีก่อนที่คุณยายสามสี่คนสาธิตกระบวนการทำข้าว มีฉากคุณยายสี่คนยืนเรียงกัน ฝ่ามือพิงตัวบ้าน แล้วย่ำสองเท้านวดข้าว น่ารักมาก ภาพอย่างนี้ฟิล์มราชการแบบหนังในหลวงไม่รู้จะมีให้ดูไหม เป็นมุมเล็ก ๆ ที่โชคดีมีคนบันทึกไว้

เวทีประกวดนางสาวพะเยาเมื่อปี 2497 ของคุณ วิศเวท วัฒนสุข ฟิล์ม 8 มม. ได้เปลี่ยนสีเป็นสีแดงประหลาด ๆ หลุดจากแบ็คกราวนด์ นางงามแต่ละคนเดินนวยนาดสโลโมชั่น ส่ายหัวซ้ายที ขวาทียิ้มให้ผู้ชมและกรรมการ ภาพบางนี้ไม่ได้เห็นคงนึกไม่ออกว่า เมื่อก่อนนางงามเขาเดินกันแบบนี้ เรียกเสียงฮากันตึง หากนางสาวไทยในปัจจุบันรับรูปแบบมาใช้

นอกจากนี้ก็มีภาพหน้าโรงหนังเฉลิมกรุง ฉายเรื่อง โยยิมโบ (ไม่แน่ใจว่าอันเดียวกับของ คุโรซาว่าไหม) หนังที่ถ่ายวันแห่ศพ มิตร ชัยบัญชา งานวันเปิดบริษัท บี กริมม์ แอนด์ โก สาขาใหม่ เห็นเขาว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทเยอรมันเก่าแก่ที่เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม ซึ่งมาเปิดเมื่อ 130 ปีแล้ว ดูรายละเอียดที่นี่ http://www.siamtakeang.com/webboard/index.php?topic=662.0
ในภาพเป็นพิธีอัญเชิญตราครุฑพระราชทาน แขวนบนยอดสูง มีฝรั่งอ้วน ๆ ใส่สูทขาวหน้าตาเหมือนลุงนายพล KFC ที่ถ่ายกับหมู่พระกำลังสวด แล้วฝรั่งคนนี้ก็เดินลงไปที่ริมน้ำ ไม่รู้ไปทำอะไร

บางแง่มุมของหนังบ้านชวนให้นึกถึงหนังประเทศเชกเรื่องนี้ Private Century ที่ทำขึ้นจากหนังบ้านของประชาชนประเทศเขา http://twilightvirus.blogspot.com/2009/09/private-century.html

นึกถึงโครงการ Images for the Future ในอนาคต ฟิล์มไวรัส อยากจะรวบรวมหนังบ้านพวกนี้จากทุคภาคในประเทศไทย ก่อนที่ลูกหลานจะโยนอดีตของพ่อแม่ตัวเองทิ้งไป เอามาฉายโชว์ เก็บสต็อค จัดหมวดหมู่ เป็นวัตถุดิบที่เชิญคนทำหนังไทยหลาย ๆ คนมาตัดหนังคอลลาจในแบบของตัวเอง คงเป็น Anthology Films ที่น่าสนใจ แข่งกับ ปารีส เฌอแตม

นึกถึงอีกเรื่อง Lisbon Story ของ Wim Wenders (http://www.youtube.com/watch?v=yGTm7XlrUeA) มีตัวผู้กำกับที่หนีการทำหนัง ไปเป็นคนเร่ร่อนสะพายกล้องติดหลัง ให้กล้องมันถ่ายของมันเอง ถ่ายไปเพื่อเก็บวีดีโอให้คนรุ่นอนาคตดู (แต่เจ้าตัวไม่ดู) ไม่รู้มีใครจำได้ไหม

นั่นล่ะ หนังบ้าน ฉายกันไปในงานวันหนังบ้านสากล ปีนี้เพิ่งฉายไปเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2552 ที่โรงหนังศรีศาลายา หอภาพยนตร์แห่งชาติ อดีตที่ล่วงลับ กับบางอดีตที่ฟื้นคืน ไม่ต่างมากนักจากนิยายเรื่อง The Brief History of the Dead ของ Kevin Brockmeier http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-3-brief-history-of-dead.html ที่ความทรงจำถึงตัวคนตาย จะยังคงอยู่ก็ต่อเมื่อยังมีคนที่มีชีวิตคนใดสักคนซึ่งยังทะนุถนอมความทรงจำนั้นไว้

ทั้งน่าสลดและน่าซาบซึ้งว่า ความชอบ ความหลงใหล ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของที่เราถือมั่น และบางคราวเลือกใช้ฟิล์มจับต้อง บันทึกภาพไว้ เก็บภาพ “ความตายที่กำลังดำเนินการ” death at work (เพราะคิดว่ามันจะอยู่คงทนด้วยการสลักเสลาผ่านห้วงเวลา- sculpting in time) นั้นสุดท้ายแล้ว หลายอย่างก็สลายกายภาพและพลังเจิดจ้าของมันลงไปจนไร้ความจีรังยั่งยืน เว้นแต่ฟิล์มนั้นจะสามารถจับความบางชนิดที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นสากลทางจิตใจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผ่านการลำดับภาพที่มีทิศทาง) เมื่อนั้นกายภาพที่เสื่อมสูญก็คงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไรอีก เพราะแรงขับ แรงปรารถนาดี (หรือกระทั่งแรงอาฆาตแนว Michael Haneke) ซึ่งบ่มเพาะไว้ผ่านอากาศธาตุ ก็เพียงพอให้คนจำนวนมากได้รู้สึกถึงแรงสัมผัส แม้จะไม่อาจมองเห็นโดยตาเปล่าได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณค่าของบางสิ่งย่อมแตกต่างกันไปโดยขึ้นตรงต่อผู้ดู / ผู้รับ คล้องจองกันไหมนะกับกรณี The Eye of the Beholder ชื่อนิยายนักสืบชั้นยอดของ Marc Behm (ที่กลายเป็นหนังสุดห่วยของผู้กำกับ Stephen Elliott - Priscilla, Queen of the Desert ร่วมด้วยช่วยกันห่วยโดย Ewan Mcgregor)

3 comments:

FILMSICK said...

ขอจองเป็นคนตัดด้วยได้ไหม พี่

หนังคอลลาจคืองาน(หลัก)ของเราอยู่แล้ว

Filmvirus said...

จองได้ แต่ใครจะนำโครงการไปจัดทำและค้นหาฟุตเตจนี่สิ รวมชายด้วยใช่ไหม

Filmvirus said...

นี่ของฝรั่ง เกี่ยวกับวันหนังบ้านนานาชาติของปี 2003

http://www.nytimes.com/2003/08/18/movies/18FILM.html