10/31/09

โปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่งาน Art Square จตุรัสศิลป์ ครั้งที่ 7

Filmvirus Wild Type at Jamjuree Gallery


โปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่งาน Art Square จตุรัสศิลป์ ครั้งที่ 7
ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2552 ในงานมีขายของที่ระลึก การแสดงดนตรี และการฉายภาพยนตร์

Art Square จตุรัสศิลป์ 7 ที่หอศิลป์จามจุรี ถัดจากมาบุญครอง (ฝั่งตรงข้ามอุเทนถวาย) ดูแผนที่ได้ที่นี่:
http://jamjureeartgallery.blogspot.com/

ชมฟรี ภาพยนตร์ฉายกลางแจ้งหน้าหอศิลป์ ฉายเวลาประมาณ 18.00 น. - 18.30 น. เป็นต้นไป

ภาพยนตร์วันที่ 15 ธันวาคม
Onechanbara +
Sukeban Deka

ภาพยนตร์วันที่ 16 ธันวาคม

Tetsuo 2 (Shinya Tsukamoto) +
Bad Taste (Peter Jackson)

ภาพยนตร์วันที่ 17 ธันวาคม


ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (Filmvirus) ภูมิใจเสนอ WILD TYPE : FILMVIRUS SHORTS! โปรแกรมหนังสั้นคัดสรรประจำปี 2552 ฉบับ ชุดเล็ก!
รวมมิตรหนังสั้นคัดสรรตกสำรวจประจำปี 52 เช่นเคย คัดเลือกโดย ราชินีนักดูหนัง Madeleine de Scudery และทาสรับใช้โลกมืดจากบ้านนา filmsick โปรแกรมยักษ์นั้นยังมาไม่ถึง แต่เราขอส่งชุดเล็ก หัวกะทิมาเรียกน้ำย่อยทุกท่านก่อนดังรายการต่อไปนี้!


โปรแกรมที่ 1 (92 นาที )
ของเหลวที่หลั่งจากกาย (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) 41 นาที
ฆาตรกรรมสวาท ประหลาดน่านฟ้า ทำให้คนหายตัวไป (เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง) 21 นาที
ต้อม (ศุภิสรา กิตติคุณารักษ์) 30 นาที

โปรแกรมที่ 2 (118 นาที)
มธุรส (ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์) 22 นาที
ตอนบ่ายตายคนเดียว( ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ) 6 นาที
กาลนิรันดร์ (อิสระ บุญประสิทธิ์) 30 นาที
สีบนถนน (วีระพษ์ วิมุกตะลพ) 62 นาที

10/30/09

ปลุกผีคอมมิวนิสต์แห่งบ้านนาบัว- กระทบไหล่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ลิเวอร์พูล

ปลุกผีคอมมิวนิสต์แห่งบ้านนาบัว
PRIMITIVE INSTALLATION @ FACT LIVERPOOL
รายงานเบื้องลึกเบื้องหลังงานแสดงศิลปะชุดล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

(ภาพประกอบจาก kickthemachine.com)

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

(ภาพ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล @ FACT Liverpool
บริเวณหน้าร้านหนังสือและ DVD ที่เต็มไปด้วยผลงานของเขา)


ทันทีที่ทราบข่าวว่างานแสดงศิลปะชุด Primitive ของคุณ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จะมาเปิดการแสดงที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๒๔ กันยายน – ๒๙ พฤศจิกายน ศกนี้ ผู้เขียนก็รีบจับจองตั๋วรถไฟเตรียมตัวเดินทางไปร่วมชมการแสดงในทันที โดยได้เลือกวันที่คุณอภิชาติพงศ์จะเดินทางมาบรรยาย masterclass เล่าถึงที่มาที่ไปรวมทั้งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนั่นคือวันที่ ๒๔ กันยายน ซึ่งเป็นวันที่เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมงานเป็นวันแรกนั่นเอง และด้วยความที่ผู้เขียนเองเคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองลิเวอร์พูลมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อครั้งเดินทางมาประเทศอังกฤษครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๒ โน่น การเดินทางกลับไปอีกครั้งในปีนี้จึงไม่ต้องวางแผนท่องเที่ยวเตร็ดเตร่เดินชมบ้านชมเมืองอะไรนักเพราะได้พบได้เห็นไปพอควรแล้ว เหลือก็แต่ต้องปรับหูให้คุ้นชินกับสำเนียง Scouse ของชาว ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ ที่ทั้งหนักและเหน่อชนิดสามารถทลายความมั่นใจทักษะในการฟังของบรรดา ‘เซียน’ ภาษาอังกฤษทั้งหลายได้อย่างราบคาบเลยทีเดียว!

เมื่อถึงวันเดินทางผู้เขียนก็ได้กะประมาณเวลาเอาไว้ให้ถึงเมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ แห่งนี้ก่อนเริ่ม masterclass ประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ๆ เมื่อเก็บข้าวของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ก็จัดการกางแผนที่ออกเดินทางตามหา FACT Liverpool หรือ Foundation for Art and Creative Technology แห่งเมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานอย่างไม่รอช้า ลัดเลาะเสาะหาอยู่ประมาณ ๑๕ นาทีผู้เขียนก็มาถึงสถานที่ จึงได้เห็นกับตาตัวเองว่ามันเป็นอาคารชุมนุมกิจกรรมทางศิลปะซึ่งมีทั้ง gallery และโรงภาพยนตร์ขนาดย่อมอีกสองโรงที่ใหญ่โตโอ่อ่าพอใช้ ยิ่งเมื่อได้เข้าไปดูข้างในก็เห็นผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วมชมงาน ณ สถานที่แห่งนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยในส่วนของการแสดงผลงานชุด Primitive ของคุณอภิชาติพงศ์นั้นจะอยู่ใน gallery ชั้นหนึ่งและสองของตัวอาคาร แต่สำหรับกิจกรรมการ masterclass ก็จะย้ายไปจัดที่โรงภาพยนตร์บริเวณชั้นสามแทน

(ภาพอาคาร FACT Liverpool ศูนย์แสดงงานศิลปะร่วมสมัยอันโอ่อ่าน่าเยี่ยมชม)
จริง ๆ แล้วงานแสดงชุด Primitive นี้ได้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์โลกไปก่อนแล้วที่ Haus der Kunst ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถาบันที่สนับสนุนการสร้างงานชิ้นนี้ร่วมกันกับ FACT Liverpool และ Animate Project แห่งกรุงลอนดอน การเดินทางมาเปิดการแสดงที่เมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ ในโอกาสนี้จึงนับเป็นรอบปฐมฤกษ์ของสหราชอาณาจักรเลยทีเดียว โดยต่อจากนี้คุณอภิชาติพงศ์ก็จะนำงานชุดเดียวกันไปจัดแสดง ณ Musee d’Art moderne de la Ville de Paris ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

เอาหละเมื่อมาถึงสถานที่และได้หยิบสูจิบัตรงานมาศึกษาดูรายละเอียดกันคร่าว ๆ แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ก็ขอเดินชมงานไปตามลำดับที่ผู้จัดเขา set ไว้ก็แล้วกันนั่นคือเริ่มต้นที่ Gallery1 บริเวณชั้นล่างก่อน แต่ยังไม่ทันที่จะได้เดินเข้าไปก็ต้องมาจ๊ะเอ๋กับจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ซึ่งกำลังฉาย music video เพลง ‘ฉันยังคงหายใจ’ หรือ ‘I’m Still Breathing’ จากอัลบัมชุด ‘ทิงนองนอย’ ของวง โมเดิร์นด็อก ฝีมือการกำกับโดยคุณอภิชาติพงศ์เองตั้งดักวางอยู่ตรงหน้า gallery และเมื่อดนตรีเริ่ม intro เราก็จะเห็นเด็กหนุ่มชาวบ้านจำนวนยี่สิบกว่านายต่างวิ่งกรูกันไปบนถนนดินแดงในท้องที่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ชวนให้ได้สงสัยกันเหลือเกินว่าพวกเขาจะรีบไปไสกันเบิ๊ดละนออ้ายเอ้ย! แต่วิ่งไปวิ่งไปก็ไม่เห็นว่าจะถึงจุดหมายปลายทางสักที จนหลายคนเริ่มมีอาการหมดแรงล้มลงไปหอบแฮ่ก ๆ นอนกองตับแลบอยู่ตรงทุ่งหญ้าข้างทาง ปล่อยให้เสียงดนตรีกระหึ่มดังด้วยจังหวะจะโคนที่รุกเร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ข้างฝ่ายชายหนุ่มที่ยังมีแรงวิ่งต่อนั้น เมื่อเห็นรถกระบะเปิดท้ายคันหนึ่งกำลังแล่นอยู่เบื้องหน้าพวกเขาก็พากันกระโจนขึ้นท้าย ‘ให้พวกข่อยห้อยไปด้วย!’ กันเป็นการใหญ่ จากนั้นก็ถอดเสื้อวาดลวดลายลีลาเต้นแร้งเต้นกาไปตามเสียงดนตรีที่ยิ่งทวีความคึกคักกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แสดงพละกำลังของชายหนุ่มวัยฉกรรจ์ชนิด hormone testosterone ทะลักพล่านท่วมล้นจนเต็มคันรถเลยทีเดียว! อืม...ก็นับว่าเป็น music video เชียร์แขกที่เรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าใคร ๆ ที่แวะผ่านมาทางนี้ต่างก็ต้องหยุดดูว่าผู้บ่าวเหล่านี้เขาครึกครื้นเฮฮาเป็นบ้าเป็นหลังกันด้วยเรื่องอะไร?

หลังเปิดประเดิมกันไปอย่างคึกคักด้วย music video เพลงแรกแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะได้เข้าไปชมผลงานใน Gallery หมายเลข ๑ กันสักที ซึ่งในส่วนของ gallery นี้ อภิชาติพงศ์ก็ได้จัดแสดงผลงานต่าง ๆ ในความมืด โดยจากพื้นที่ของ gallery ที่ค่อนข้างกว้างขวางนั้นก็มีการแบ่งผนังห้องทั้งสี่ด้านสำหรับฉาย video installation รวมทั้งสิ้น ๕ ชิ้น โดยในส่วนกลาง gallery นอกจากจะใช้เป็นที่วางเก้าอี้พับสำหรับให้ผู้ชมได้นั่งชม video ในแต่ละจอแล้ว ก็ยังมีโครงโลหะสำหรับติดตั้งลำโพงตั้งวางอยู่ และพื้นที่ว่างบริเวณกลางโครงโลหะนั้นก็มีการใช้ดวงไฟสีแดงสาดแสงส่องลงมาเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ลองเดินเข้าไปสัมผัสกับสภาวะ ‘infra-red’ หรือ การตกอยู่ภายใต้โลกสีแดงด้วยตัวเองกันอีกด้วย แต่ก่อนจะไปเล่นแปลงกายเป็นวานรสุครีพกายโกเมน ก็ขอเดินชม video installation ในแต่ละจอกันก่อนว่ามีอะไรให้ดูกันบ้าง


สำหรับจอใหญ่สุดบนผนังด้านซ้ายของทางเข้านั้นก็เป็น video ที่ชื่อ ‘Nabua’ ซึ่งก็จะแสดงภาพสถานที่ต่าง ๆ ของหมู่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในยามค่ำคืนที่ตกเป็นเป้าของสายฟ้าฟาดอสุนีบาตที่ทะลุกราดมาถึงพื้นปฐพีก่อให้เกิดประกายไฟพร้อมกลุ่มควันกันแบบไม่วายเว้น แต่ถึงแม้จะถูกรบกวนด้วยเสียงปะทุเปรี้ยงของประจุไฟฟ้ากันอย่างไร ชาวบ้านนาบัวทั้งหลายก็ดูจะไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก พวกเขากลับแต่งเนื้อแต่งตัวออกมานั่งดูชมประกายไฟกันอย่างสุขใจ ไม่เห็นจะมีใครหวั่นกลัวว่ามันจะฟาดลงมาบนกะลาหัวเลยสักนิด จากนั้น video ก็จะตัดภาพไปให้เห็นปรากฏการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้น ณ จุดต่าง ๆ จนเกือบจะทั่วหมู่บ้าน


หมู่บ้านสายฟ้าฟาด ใน ‘Nabua’
(ภาพประกอบจาก kickthemachine.com)

ส่วนจอถัดมาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าก็จะเป็น video เงียบ ชื่อ ‘An Evening Shoot’ แสดงภาพนายทหารพราน ๓-๔ นายกำลังฝึกซ้อมยิงปืนจากภายในบ้านไม้หลังหนึ่ง จากนั้นจึงตัดภาพไปยังชายหนุ่มซึ่งกำลังเดินไม่รู้ไม่ชี้อิโหน่อิเหน่อยู่ตามลำพังกลางทุ่ง ก่อนจะสะดุดล้มลงไปในทันใดราวกับถูกทำร้ายด้วยคมกระสุนปืน และถึงแม้ว่าจะภาพในจอนี้จะมิได้มีเสียงประกอบอะไรใด ๆ แต่เสียงฟ้าฟาดจากในจอ Nabua ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ก็ดูจะสร้างเสียง effect ให้กับการฝึกซ้อมยิงปืนปริศนา ณ เวลาสายัณห์ในจอ ‘An Evening Shoot’ นี้ได้อย่างเข้าทีเลยทีเดียว


กลับหลังหันมาดูอีกจอฝั่งตรงข้ามกันบ้าง สำหรับจอนี้ก็เป็น video สารคดีเงียบชื่อ ‘Making of the Spaceship’ ถ่ายทอดเบื้องหลังการสร้างยานอวกาศรูปทรงรีหน้าตาพิลึกร่วมกับชาวบ้านนาบัว เริ่มกันตั้งแต่การช่วยกันออกแบบยานอวกาศลักษณะต่าง ๆ ก่อนจะมาลงเอยกันที่รูปทรง ellipsoid จากนั้นจึงเริ่มขึ้นโครงโลหะ ปะปิดกันด้วยแผ่นไม้ แล้วใช้กระดาษทรายขัดผิวให้เรียบมันเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ โดยระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ของการสร้างยานลำนี้ อภิชาติพงศ์ก็ได้ถ่ายทอดกิจกรรมสัพเพเหระอื่น ๆ ของเหล่าวัยรุ่นแห่งบ้านนาบัวที่มาช่วยกันสร้างยานสลับกันไปอย่างไม่เร่งร้อนอีกด้วย


เสร็จจากการสร้างยานก็หันกลับไปดูอีกจอของฝั่งตรงข้ามที่ชื่อ ‘A Dedicated Machine’ คราวนี้เราก็จะได้เห็นกันด้วยตาว่ายานอวกาศที่เหล่าชาวบ้านนาบัวช่วยกันสร้างขึ้นมานั้นมันมิได้เป็นแค่โครงเหล็กหุ้มไม้ที่ทำไว้เป็น prop เพื่อความกิ๊บเก๋เท่านั้น หากมันสามารถดิ่งลอยขึ้นกลางอากาศได้จริง ๆ แม้ว่าจะต้องทิ้งตัวกลับลงมาอยู่ตำแหน่งเดิมภายในเวลาไม่ถึงนาที ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนี้ท่ามกลางฉากหลังของทุ่งป่าในเวลาพลบค่ำ แต่เมื่อดูไป ๆ ยานอวกาศลำนี้ก็ไม่เห็นมีทีท่าจะพุ่งทะยานมุ่งหน้าไปทิศไหนสักกะที เลยต้องปล่อยให้มันเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับแรงโน้มถ่วงอยู่อย่างนี้ไปตามลำพังก็แล้วกัน


และแล้วก็มาถึงจอสุดท้ายของ Gallery 1 นั่นคือจอที่ตั้งชื่อไว้ว่า ‘Primitive’ จอนี้ดูจะผิดแผกไปจากใครเพื่อนเนื่องจากมันประกอบไปด้วย video สองจอต่อกันตามแนวตั้ง โดยแต่ละส่วนก็จะถ่ายทอดเนื้อหาที่ต่างกันไปไม่ได้มีอะไรสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตรง สำหรับภาพที่ปรากฏอยู่ในทั้งสองจอของ video ชุด ‘Primitive’ นี้ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการติดตามการใช้ชีวิตของบรรดาเด็กหนุ่มแห่งบ้านนาบัวทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขาก็ประกอบไปด้วยการสวมใส่ชุดทหารแล้วเล่นรุมถอดกางเกงกันท่ามกลางพวยควันกลางทุ่งหญ้าด้วยอารมณ์คึกคะนอง การขับรถ motorcycle ไปชมวิวกันที่ประตูกักน้ำ พอตกกลางคืนพวกเขาก็ใช้ยานอวกาศที่ช่วยกันสร้างมาอาศัยเป็นที่เรียงรายหลับนอนโดยมีการติดไฟสีแดงประดับไว้ไม่รู้ว่าเพราะต้องการไล่ตะขาบยุงริ้นไรหรือด้วยเหตุผลอื่น
แต่ shot ติดตาที่ไม่สามารถจะลืมได้เลยก็คือ ภาพของปิศาจหน้าผีในชุดห่มขาวที่กำลังยืนหันหน้าอำลาดวงสุริยายามสนธยาอยู่อย่างสงบนิ่ง ครู่หนึ่งผีตนนั้นก็กลับหลังหันเดินตัดทุ่งไปตามแนวชายป่า แต่ไม่ทราบว่าไปสะดุดกระบอกตะไลหรือไฟพะเนียงอะไรเข้าจึงเกิดเป็นประกายไฟลุกขึ้นมาอย่างฉับพลัน ผ้าขาวที่ห่มร่างปริศนานั้นจึงลุกขึ้นเป็นเปลวเพลิงในขณะที่เจ้าของร่างยังคงเดินต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น! พักหนึ่งเมื่อไฟลามไหม้ผืนผ้าจนจะกลายเป็นผืนถ่านไปหมดแล้ว ร่างนั้นจึงได้สลายกลายเป็นอากาศธาตุไปราวกับไม่เคยมีตัวตนมาก่อน! เห็น shot นี้แล้วก็ชวนให้ต้องขนลุกซู่ ด้วยไม่รู้ว่าคุณอภิชาติพงศ์ ไปร่ายมนต์อัญเชิญภูตผีมาจากป่าช้าวัดไหนจึงสามารถรับบทเป็นตัวเองใน video จอนี้ได้อย่างสมจริงยิ่งนัก


(การแบ่งจอบนและจอล่าง ใน ‘Primitive’)

และระหว่างที่ video กำลังวนแสดงภาพต่าง ๆ เหล่านี้ไปเรื่อย ๆ นั้น ก็จะมีเสียงพากษ์เป็นภาษาอีสานขึ้นมาเป็นระยะ พูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ สะเปะสะปะกันไปฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เท่าที่พอจับได้ก็จะมีการว่าถึงการเดินทางข้ามเวลาไปทั้งในโลกอดีตและอนาคต การพยากรณ์สภาพของยานอวกาศลำนี้ว่าต่อไปคงไม่พ้นมีเถาวัลย์และตะไคร่ปกคลุมจนทั่ว การทำ passport ปลอม การส่งสินค้ายังแดนไกล เจ้าหญิงในความฝันที่ตัวดำดั่งผิวควาย และเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมายที่รวม ๆ แล้วคงไม่ได้ตั้งใจจะให้ผูกโยงอะไรมากนัก หมดจากจอ ‘Primitive’ นี้แล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นการแสดงใน Gallery 1 แต่ก่อนจะผละออกไปผู้เขียนไม่ลืมลองไปยืนทำตัวแดงอยู่ ณ ตำแหน่งที่เขาส่องไฟไว้สักหนึ่งครู่ ซึ่งก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้เข้าไปอยู่ในตู้ Incubator เร่งเวลาสำหรับฟักไข่อย่างไรอย่างนั้น แต่เมื่อเหลียวดูนาฬิกาแล้วเหลือเวลาก่อนจะเริ่ม masterclass อีกเพียง ๓๐ นาที ผู้เขียนจึงต้องรี่ออกจาก Gallery 1 เพื่อไปดูอะไร ๆ ใน Gallery 2 ได้ทัน

ขึ้นบันไดตรงมาแล้วหันหน้าไปทางด้านซ้ายก็จะเห็นทางเข้า Gallery 2 ซึ่งดูจะมีขนาดเล็กกว่า Gallery 1 อยู่เกือบครึ่ง ใน Gallery 2 นี้ก็จะมีการจัดแสดงงานกันในความมืดเช่นเดียวกัน โดยในภายในโถงใหญ่ของ gallery นั้นก็จะเป็นการฉายผลงานอันถือเป็น hi-light ของการแสดงนั่นคือภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ หรือ ‘A Letter to Uncle Boonmee’ ความยาว ๑๗ นาทีที่โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัล Grand Priize จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นนานาชาติแห่งเมือง Oberhausen มาได้หมาด ๆ ว่าแล้วก็ขอดูให้ฉ่ำตาหน่อยเถิดว่ามันจะวิลิศมาหราสมคำร่ำลือได้ขนาดไหน เปิดฉากขึ้นมาสิ่งแรกที่ปรากฏก็คือภาพจากมุมมองภายในของหน้าต่างบานเกล็ดของบ้านไม้ในชนบทหลังหนึ่ง จากนั้นกล้องก็ค่อย ๆ เคลื่อนไปสำรวจสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ภายในบ้านโดยเฉพาะภาพถ่ายของบรรพบุรุษ ใบประกาศเกียรติคุณ ปฏิทิน โปสเตอร์ดารา และอื่น ๆ นานาอีกสารพัดด้วยจังหวะจะโคนอันแช่มช้อยลอยละล่องอย่างเสรีไปตามส่วนต่าง ๆ ของบ้านที่ไร้ร้างผู้อยู่อาศัย โดยในระหว่างการสำรวจนี้ก็จะมีการอ่านจดหมายด้วยสำเนียงเสียงอีสานของชายผู้ไม่ปรากฏโฉมหน้าคลอประกอบไปด้วย ถ้อยความในจดหมายเขียนถึงคุณลุงที่ชื่อ ‘บุญมี’ ด้วยเนื้อหาทำนองว่า “ผมมาอยู่ที่นี่ได้สักระยะหนึ่งแล้ว ผมอยากจะเห็นชีวิตของลุงเป็นหนัง ผมจึงเสนอโครงการหนังเกี่ยวกับการระลึกชาติ แต่บ้านในแถบนาบัวนี้ไม่เหมือนกับบ้านที่ผมเขียนไว้ในบทหนังเลย บ้านของลุงเป็นอย่างไรกันนะ? มีวิวสวย ๆ แบบนี้หรือเปล่า? ไม่แน่หรอกนะบางส่วนของบ้านเหล่านี้อาจจะคล้ายกับบ้านของลุงก็ได้“ เมื่อชายคนแรกบรรยายเนื้อความในจดหมายจบลง ภาพการเลื่อนไหลไปสำรวจส่วนต่าง ๆ ของบ้านก็ยังดำเนินต่อไปแต่ในคราวนี้จะมีเสียงชายอีกคนหนึ่งมาอ่านข้อความในจดหมายนั้นซ้ำอีกครั้งด้วยสำเนียงอีสานเหมือนกันแต่ด้วยเนื้อเสียงที่ต่างออกไป เมื่อทวนเนื้อหาจนจบแล้วเราจึงได้เห็นพลทหารหน้าเหลี่ยมนายหนึ่งกำลังนั่งทานอะไรสักกะอย่างอยู่บนเรือนก่อนจะเขวี้ยงเศษลงไปให้สุนัขใต้เรือนได้กินต่อ หนังตัดภาพมาที่ภายในตัวบ้านอีกครั้งโดยคราวนี้เราจะได้พบเห็นสถานการณ์อันน่าประหลาดใจชวนให้ต้องสงสัยเมื่อลิง gorilla ตัวหนึ่งกำลังนอนเอกเขนกอยู่ภายในมุ้งสีชมพู! แต่ดูเหมือนผู้กำกับอภิชาติพงศ์จะไม่ได้ตื่นเต้นอะไรไปกะเราด้วย เขาก็ยังสั่งให้กล้องเคลื่อนที่ต่อไปราวไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจอะไรนักหนา แล้วแฉลบมาสำรวจเมียงมองบ้านอีกหลังที่นายทหารประมาณ ๓-๕ นายกำลังช่วยกันใช้จอบขุดอะไรบางอย่างอยู่ แต่ยังไม่ทันรู้ว่าพวกเขากำลังเจาะหาหรือปลูกพืชผักชนิดใด กล้องก็ไถลไปสำรวจส่วนอื่น ๆ ของตัวบ้านต่อเสียแล้ว ปล่อยให้พวกเขาเว้าอีสานคุยกันต่อไปในระดับเสียงที่ฟังไม่ได้ศัพท์นัก
แต่เอ๊ะ! แล้วนั่น! ใครอุตริเอาไก่ไปอบฟางในโอ่งน้ำใบใหญ่ เอ๊ย! ไม่ใช่! นั่นมันยานอวกาศแห่งบ้านนาบัวนี่นา! เห็นตั้งหรากลางกลุ่มควันตรงลานหลังบ้านก็นึกว่าอะไร แถมเล่นโผล่ออกมาแบบหน้าตายไม่เปิดโอกาสให้รู้ที่มาที่ไปจึงยิ่งชวนให้หลากใจว่า เออ! หมู่บ้านนี้มีอะไรแปลกดีพิลึกดีเนาะ! มิทันไรเสียงคำรามของเครื่องยนต์รถ motorcycle ก็ดังขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ก่อนจะต่อด้วยเสียงบรรยายที่แทรกขึ้นมาขณะกล้องกำลังกวาดรูปถ่ายใบหน้าของผู้ที่เคยอยู่อาศัย “ห้องนี้เคยมีทหารมาอาศัยอยู่ พวกเขาฆ่าและทรมานชาวบ้าน จนชาวบ้านทนไม่ไหวต้องหนีเข้าป่า . . .” อืมบรรยากาศชักจะเริ่มวังเวงจนน่ากลัวซะแล้วแฮะ แต่ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ก็ไม่ได้สืบสานเรื่องราวอะไรใด ๆ ต่อไป หากนำพาคนดูออกจากบริเวณบ้านไปสำรวจแนวป่าใกล้ ๆ ที่ ๆ เราจะได้เห็นทั้งลิง gorilla ตัวใหญ่ ศาลพระภูมิรกร้าง ฝอยละอองอะไรบางอย่างที่ปลิวละล่องเป็นทางอยู่เหนือยอดไม้ ซึ่งก็อาจเป็นได้ทั้งปุยนุ่น ละอองเกสรดอกไม้ กองทัพยุงหรือฝูงแมงหวี่อพยพ! ก่อนที่ความมืดจะเข้าปกคลุมจนมองไม่เห็นอะไรในที่สุด

อืม! และนั่นก็คือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ ที่เมื่อดูจบแล้วก็อดไม่ได้ที่จะตะลึงพรึงเพริดไปกับลีลาอันแสนจะวิจิตรบรรเจิดของหนัง ซึ่งถึงแม้ว่าโดยเนื้อหาแล้วมันจะไม่ได้นำเสนออะไรออกมาเป็นรูปธรรม แต่ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ก็ยังสามารถหยิบจับ ‘วิญญาณ’ แห่งสถานที่เหล่านั้นมาบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มได้อย่างทรงพลังจนน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง ด้วยทักษะและฝีไม้ลายมือในเชิงการกำกับที่สามารถเทียบชั้นระดับบรมครูอย่าง Michelangelo Antonioni หรือ Wim Wenders ได้แบบไม่น้อยหน้าเลยทีเดียว

หลังอิ่มเอมไปกับหนังสั้นเรื่องนี้แล้ว ก็ได้เวลาลุกขึ้นเหลียวซ้ายแลขวาว่ามีอะไรให้ดูใน Gallery 2 นี้อีกบ้าง และเมื่อหันกลับไปบริเวณใกล้ ๆ ประตูเข้า gallery ก็เห็นมีซอกหลืบเล็ก ๆ อยู่ซอกหนึ่งส่องแสงรำไรชวนให้ได้เข้าไปดูว่ามีอะไรอยู่ไหมหนอ? แต่ยังไม่ทันได้เดินเข้าไปก็ต้องสะดุ้งตกใจกับปิศาจยักษ์ร่างใหญ่ที่ยืนจังก้าน่าเกรงขามอยู่ในความมืด! ก็พุทโธ่ถัง! ใครหนอช่างมือพิเรนทร์ใช้ถ่านดำมาวาดรูปภูติผีเล่นบนผนังในความมืดให้ต้องตกอกตกใจกันแบบนี้! ว่าแล้วก็รีบเดินหนีไปด้วยความหวาดกลัวว่าเงาตะคุ่มที่สูงใหญ่จนท่วมหัวนั้นมันอาจมิได้เป็นเพียงแค่ภาพเขียน! ครั้นเดินลัดเข้าไปในหลืบที่ว่าจนสุดทางก็จะมีห้องเล็ก ๆ รูปสี่เหลี่ยมจุตรัสขนาดประมาณวาเศษ ๆ อยู่อีกห้องหนึ่ง โดยในห้องนี้ก็จะมีจอภาพฉาย music video ประกอบเพลงที่ชื่อ ‘Nabua Song’ ซึ่งก็เป็นเพลงที่ชาวบ้านรายหนึ่งได้แต่งและร้องขึ้นมาเองแบบง่าย ๆ ด้วยเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวคือ guitar โปร่ง โดยเนื้อหาของเพลงนั้นก็จะเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เสียงปืนแตกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ชาวบ้านนาบัวได้หยิบปืนขึ้นมาต่อสู้ปะทะกับทหารกวาดล้าง communist จากฝ่ายรัฐบาลเป็นครั้งแรก โดยในส่วนของ music video เพลงนี้ก็เป็นอะไรที่ ‘ลุงทุนและสร้างสรรค์’ มาก เพราะตลอดทั้งเพลงเราจะได้เห็นแต่เพียงใบหน้าของทหารหน้าเหลี่ยมรายเดิมจาก ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ กำลังนั่งเหม่อเปิบข้าวเหนียวปิ้ง (ถ้ามองไม่ผิด) อยู่ตามลำพัง! ซึ่งก็นับเป็นอะไรที่แปลกหูแปลกตาดีเหมือนกันเพราะคงไม่มีใครเคยคิดฝันว่าจะได้เห็นผู้กำกับสุดติสท์อย่างอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มีอุดมการณ์สร้างสรรค์งานในแนว ‘เพื่อชีวิต’ อะไรแบบนี้กะเขาได้ด้วย!

เสร็จจาก music video เพลง ‘Nabua Song’ แล้ว ก็เป็นอันจบกระบวนในส่วนงานแสดง installation ชุด Primitive ทั้งหมดแต่เพียงเท่านี้ แต่ในสูจิบัตรงานก็มีระบุข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยว่ายังมีผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้อีกสองชิ้น นั่นคือ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Phantoms of Nabua’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ online ที่ทุกท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมกันได้ที่ website: http://www.animateprojects.org/films/by_date/2009/phantoms และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง ‘Uncle Boonmee, A Man Who Can Recall His Past Lives’ ซึ่งยังไม่ได้ถ่ายทำแต่มีกำหนดออกฉายในช่วงปีหน้า
เมื่อเหลียวดูนาฬิกาอีกครั้งก็ได้เวลา ๑๖.๐๐ น. จึงต้องรีบไปรอคิวเข้าร่วมฟัง masterclass กะเขาก่อนแล้ว ขึ้นบันไดวนมาอีกหนึ่งชั้นก็จะถึงบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ที่ใช้เป็นสถานที่ บรรยาย ซึ่งก็น่ายินดีที่กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สนใจยืนออเข้าร่วมฟังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ดูเหมือนข้างในจะยังจัดการอะไรไม่เรียบร้อยดี เจ้าหน้าที่พนักงานจึงต้องร้องขานให้ท่านทั้งหลายโปรดอดใจรออีกสักครู่ สักพักประตูก็เริ่มเปิด เห็นคุณอภิชาติพงศ์และผู้ดำเนินรายการนั่งโต๊ะอยู่หน้าเครื่อง computer laptop บริเวณมุมล่างขวาของจอ ผู้เขียนก็หาที่นั่งเหมาะ ๆ บริเวณกลางโรง ในขณะที่คุณอภิชาติพงศ์ก็กำลังจัดเตรียม file ที่จะใช้ประกอบการบรรยายอยู่ เมื่อผู้สนใจเข้ามานั่งกันในโรงภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การบรรยาย masterclass จึงเริ่มต้นขึ้น

หลังจากแนะนำชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่เรียบร้อย คุณอภิชาติพงศ์ก็เริ่มต้นการบรรยายด้วยการฉาย video art เปิดประเดิมเป็นการให้พรแก่ทั้งผู้ชมและคุณอภิชาติพงศ์เอง โดย video ที่เลือกนำมาฉายนั้นก็เป็น video ที่ชื่อ ‘Emerald’ หรือ ‘มรกต’ ซึ่งเคยออกแสดงในประเทศไทยไปแล้ว หลังฉายจบ คุณอภิชาติพงศ์ ก็ได้กล่าวว่าจริง ๆ แล้วเขาตั้งใจจะฉาย video เรื่อง ‘The Anthem’ แต่เนื่องจากแผ่นมีปัญหาจึงไม่สามารถฉายได้ เลยเลือกฉายเรื่อง ‘Emerald’ นี้แทน ซึ่งคุณอภิชาติพงศ์ก็หวังว่าน่าจะเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงแนวทางในเชิงศิลปะของเขาได้ดีชิ้นหนึ่ง หลังให้พรกันไปด้วยผลงาน video สั้นแล้ว คุณอภิชาติพงศ์ก็ได้ชี้แจงว่าจะแบ่งเนื้อหาของการบรรยายออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะเป็นการกล่าวถึงประสบการณ์ในสายงาน Art Installation ของคุณอภิชาติพงศ์เองว่าเคยมีผลงานในลักษณะใดอย่างไรมาก่อนบ้าง และในส่วนครึ่งหลังก็จะเป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมาเป็นไปรวมถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานชุด Primitive นี้โดยตรง
สำหรับในส่วนของการบรรยายถึงงาน Art Installation ชุดอื่น ๆ ของคุณอภิชาติพงศ์นั้น เนื้อหาก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่คุณอภิชาติพงศ์เคยได้รวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ สัตว์วิกาล โดยกลุ่ม filmvirus จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks จึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีก คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้เองจากในหนังสือเล่มนั้น แต่ส่วนที่สองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาเป็นไปของงานชุด Primitive นี้ดูจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่หลายประการ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ได้รับทราบรับฟังกันในส่วนนี้

การบรรยายในช่วงที่สองนี้คุณอภิชาติพงศ์ได้เล่าถึงจุดกำเนิดของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชุด Primitive โดยเริ่มต้นจากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ชื่อ คนระลึกชาติได้ ที่คุณอภิชาติพงศ์ ได้รับจาก พระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงประสบการณ์การระลึกชาติของนายบุญมี ผู้เคยเป็นทั้งนายพราน เป็นเปรต เป็นกระบือและโค ก่อนจะมาเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาตินี้ คุณอภิชาติพงศ์ รู้สึกประทับใจในเรื่องราวของนายบุญมีมาก โดยเฉพาะความสามารถในการจดจำอดีตของตัวเองได้ในหลากหลายภพชาติ เขาจึงเริ่มต้นออกเดินทางตามหาลูกหลานของลุงบุญมีในท้องที่ถิ่นอีสานเพื่อสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลุงบุญมีให้ได้มากที่สุด โดยในระหว่างการเดินทางนั้น คุณอภิชาติพงศ์ ได้พบกับหญิงสาวจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อ้างว่าเธอสามารถระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นลูกชายของครอบครัวต่างหมู่บ้านครอบครัวหนึ่งซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย โดยสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือหญิงสาวรายนั้นสามารถเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวต่างหมู่บ้านนั้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำแม้จะไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนเลยก็ตาม

หลังจากนั้น คุณอภิชาติพงศ์ ก็ได้เดินทางสำรวจท้องถิ่นอีสานต่อไปเพื่อตามหาร่องรอยของลุงบุญมี กระทั่งเขาได้มาถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นั่นก็คือหมู่บ้านนาบัว ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ความทรงจำครั้งอดีตเพราะมันคือสมรภูมิการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านตาดำ ๆ กับทหารปราบปราม communist ที่จบลงด้วยการสังเวยชีวิตในวันเสียงปืนแตกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ คุณอภิชาติได้เล่าถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้ฟังว่า บ้านนาบัวเป็นหมู่บ้านที่ถูกทางรัฐบาลคาดเป้าว่าเป็นแหล่งกบดานของเหล่า communist และถึงแม้พวกเขาจะไม่รู้ว่า communist คืออะไร แต่ชาวบ้านนาบัวก็กลับถูกกล่าวหาจากรัฐบาลว่าเป็นพรรคพวกเดียวกับกลุ่ม communist อยู่เสมอ พวกเขาถูกจับตามองในทุกฝีก้าว ถูกทหารจากฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจฆ่าและข่มขืนอย่างโหดร้ายทารุณ จนผู้คนในหมู่บ้านนาบัวทนไม่ไหว ต้องหนีตายเข้าป่าไปสมทบกับฝ่าย communist อย่างไม่มีทางเลือก กระทั่งวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ จึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่าง communist ชาวบ้านกับฝ่ายทหารรัฐบาลเป็นครั้งแรก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย หลังเหตุการณ์เสียงปืนแตกในครั้งนั้น หมู่บ้านนาบัวก็ถูกจับตามองจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีการส่งกองกำลังทหารมาควบคุมสถานการณ์เพิ่มเติมอีกหลายนาย สถานการณ์จึงยิ่งทวีความเลวร้ายเป็นผลให้ชาวบ้านหนีตายเข้าป่ากันมากขึ้น
กระทั่งยี่สิบปีผ่านไปเมื่อสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตคลี่คลาย สภาวะการณ์ความตึงเครียดในหมู่บ้านนาบัวจึงเริ่มทุเลาเบาบาง ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยออกจากป่ากลับมาอาศัยในหมู่บ้านกันตามเดิม แต่สำหรับในยุคนี้ พ.ศ. นี้ เหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นดูจะไม่ได้รับความใส่ใจจากคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านนาบัวเท่าไรนัก พวกเขาต่างอยากจะฝังลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป และอดีตที่กำลังจะกลายสภาพเป็นความทรงจำที่ถูกลืมของหมู่บ้านนาบัวนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์งานชุด Primitive ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล


(ภาพคุณอภิชาติพงศ์แสดงภาพถ่ายจุดที่เกิดการยิงกันจนเสียชีวิตครั้งแรกในหมู่บ้านนาบัวท่ามกลางความมืด)

อืม! เมื่อได้ฟังความเป็นมาเป็นไปของแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้แล้ว ผู้เขียนก็เริ่มจะ ’กระจ่าง’ ในอะไร ๆ ขึ้นมาอีกเยอะ ก็แหม! คุณพี่ท่านเล่นถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ผ่านผลงานกันด้วยความทรงจำและความประทับใจโดยไม่ยอมบอกเล่าอะไรให้ได้เรื่องได้ความ เลยต้องตามมานั่งฟังการบรรยาย masterclass ในครั้งนี้นี่แหละจึงจะรู้ว่า ‘บ้านนาบัว’ ‘คนหนุ่ม’ ‘ชุดทหาร’ ‘ยานอวกาศ’ ‘ผี’ และ ‘สีแดง’ มันเกี่ยวข้องอะไรกันอย่างไร แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะที่เหตุการณ์การต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านนาบัวแห่งนี้ จะไม่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในวงกว้างเท่าไรนักจนจักต้องกลายเป็นตำนานที่ถูกหลงลืมไปกับกาลเวลาได้ง่าย ๆ ต้องขอบคุณคุณอภิชาติพงศ์ที่นอกจากจะกระตุ้นให้เราได้หันมารับรู้และใส่ใจต่อความเป็นไปในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอันนี้แล้ว เขายังมีส่วนในการร่วมบันทึกความรู้สึกต่อเหตุการณ์ผ่านผลงานที่สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องถึงการมีอยู่ของเหล่าวีรบุรุษนักสู้จากบ้านนาบัวแห่งนี้กันอีกด้วย

คุณอภิชาติพงศ์บรรยายถึงเบื้องลึกเบื้องหลังแรงบันดาลใจต่อผลงานชุด Primitive นี้จนจวนเจียนจะหมดเวลาการ masterclass ที่ยาวนานเกือบ ๒ ชั่วโมง แทบไม่เหลือเวลาให้ผู้ชมได้ซักถามคำถาม และเมื่อการบรรยายสิ้นสุดลง ผู้เขียนก็รีบจัดการเก็บข้าวของเดินลงไปปราศรัยทักทายกับคุณอภิชาติพงศ์ในฐานะคนรู้จักที่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน ทันทีที่ยกมือไหว้คุณอภิชาติพงศ์ก็ดูจะตกอกตกใจว่าผู้เขียนโผล่มาถึงเมือง ‘เหลิฟเว่อร์พู้ล’ นี้ได้อย่างไร? แต่น่าเสียดายที่หลังจากการ masterclass ที่ FACT Liverpool นี้แล้ว คุณอภิชาติพงศ์จะต้องรีบเดินทางไปบรรยายที่พิพิธภัณฑ์ Tate Liverpool ต่อ ผู้เขียนจึงไม่มีโอกาสได้พูดคุยอะไรกับคุณอภิชาติพงศ์มากนัก กิจกรรมในวันแรกนี้จึงต้องสิ้นสุดลงด้วยการกล่าวอำลาคุณอภิชาติพงศ์ไปโดยปริยาย

สำหรับวันต่อมาเนื่องจากผู้เขียนยังมีเวลาว่างในช่วงเช้าก่อนจะเดินทางกลับกรุงลอนดอนในเวลา ๑๔.๐๐ น. จึงตัดสินใจกลับไปยัง FACT Liverpool อีกครั้งเพื่อชมภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ และผลงานอื่น ๆ อีกสักหนึ่งรอบ เมื่อไปถึงสถานที่ตรงกับเวลาเปิด ๑๐.๐๐ น. พอดี จึงรี่ไปชม ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ ก่อนที่จะต้องรอวน loop แต่ถึงแม้ว่าจะตั้งใจมาดูอย่างสงบในช่วงเช้า ก็ยังไม่วายมีฝรั่งหนึ่งนายมาเป็นเพื่อนร่วมดูกับผู้เขียนอีกจนได้ เมื่อหนังจบผู้เขียนเริ่มเปิดประเด็นปราศรัยทักทายเพื่อสอบถามว่ารู้สึกอย่างไรกับหนังที่เพิ่งดูจบไปบ้าง คุยกันไปคุยกันมาจึงได้รับทราบว่าฝรั่งนายนั้นเป็นคนทำหนังชาวเยอรมันที่สนใจและติดตามผลงานของคุณอภิชาติพงศ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด แถมยังนับถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างผลงานของเขาเองอีกด้วย ฝรั่งเยอรมันผู้นี้มีนามกรว่า Mario Pfeifer โดยเขาได้ให้ความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ เอาไว้ดังนี้

“มันสวยงามและสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างมาก ผมชอบมิติทางด้านพื้นที่โดยเฉพาะวิธีที่อภิชาติพงศ์นำเสนอออกมา ทั้งในส่วนของการเคลื่อนกล้อง และการแทรก shot นิ่งเป็นระยะ ๆ ผมชอบความว่างเปล่า การที่หนังไม่ต้องอาศัยการแสดงหรือตัวละครเลย สิ่งต่าง ๆ ในหนังถูกสื่อสารด้วยวัตถุจากมุมภายในซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก นอกจากนี้ในส่วนของการบรรยายยังมีการใช้วิธีถ่ายทอดสารเดียวกันแต่ต่างน้ำเสียง อภิชาติพงศ์ไม่เพียงแต่จะสนใจเฉพาะตัวสารที่เสนอแต่เขาให้ความสำคัญต่อวิธีในการนำเสนอสารเหล่านั้นออกมาด้วย โดยรวมแล้วจึงเป็นเรื่องน่าทึ่งที่เขาสามารถถ่ายทอดภาพชนบทห่างไกลในรูปแบบของการผลิตภาพยนตร์ศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลงตัว”

หลังพูดคุยกับคุณ Mario Pfeifer เสร็จแล้วผู้เขียนก็เดินลงบันไดเพื่อไปยัง Gallery 1 ชั้นล่าง เมื่อหันไปทางร้านกาแฟก็เหลือบไปเห็นคุณอภิชาติพงศ์กำลังร่ำลากับฝรั่งอีกท่านหนึ่งอยู่พอดี ไม่รอช้าผู้เขียนรีบแทรกตัวเข้าไปทักทายกับคุณอภิชาติพงศ์อีกครั้ง โดยคราวนี้ไม่รีรอที่จะขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของหมู่บ้านนาบัวรวมถึงการสร้างสรรค์งานในโครงการ Primitive ชุดนี้ด้วย ซึ่งคุณอภิชาติพงศ์ก็กรุณาเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้พูดคุยและซักถามเพิ่มเติมในช่วงรับประทานอาหารเที่ยงก่อนผู้เขียนจะเดินทางกลับ จึงใคร่ขออนุญาตปิดท้ายรายงานการแสดงงานศิลปะชุด Primitive ในครั้งนี้ ด้วยบทสัมภาษณ์จากปากคำเจ้าตัวคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กันเสียเลย

บทสัมภาษณ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานชุด PRIMITIVE
Café @ FACT Liverpool

‘กัลปพฤกษ์’ : ในหนังเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ จะมีการกล่าวถึงทั้งในส่วนที่คุณอภิชาติพงศ์ กำลังเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นเสนอโครงการ และส่วนที่บอกว่าได้ทุนจากอังกฤษแล้ว ในส่วนนี้มีลำดับความเป็นมาอย่างไร คุณอภิชาติพงศ์ ได้ไปสำรวจพื้นที่ก่อนจะได้รับทุน หรือได้รับทุนก่อนแล้วจึงไปสำรวจพื้นที่ ช่วยเล่ารายละเอียดด้านที่มาที่ไปนี้ให้ฟังหน่อย

อภิชาติพงศ์ : จุดเริ่มต้นจริง ๆ ผมสนใจมาตั้งแต่ตอนจะทำหนังเรื่องใหม่เรื่อง ‘ลุงบุญมีผู้ระลึกชาติ’ เมื่อ ๓-๔ ปีมาแล้ว ซึ่งมันได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ คนระลึกชาติได้ แต่ก็ไม่ได้เอามาตรง ๆ นะ จะเป็นการดัดแปลงมากกว่า คือเนื้อหามันเกี่ยวข้องกับความทรงจำ ผมสนใจเรื่องความทรงจำอยู่แล้ว ทั้งความทรงจำที่ถูกทำให้หายไป เสียงหรือความคิดที่ถูกทำให้หายไป ซึ่งมันสามารถไปเชื่อมโยงกับการเซ็นเซอร์ของเมืองไทย ไม่เฉพาะภาพยนตร์ แต่ว่าหลาย ๆ อย่าง ซึ่งบางครั้งผมรู้สึกว่าเราพูดหรือทำอะไรบางอย่างไม่ได้ ก็เลยสนใจว่า เนี่ย! คนนี้เขาจำได้เป็นร้อย ๆ ปีตั้งหลายชาติ ก็เลยเขียนเป็นบทหนังยาวขึ้นมา แต่การทำหนังอย่างนี้มันหาทุนยากมาก ต้องใช้เวลา พอดี Simon Field กับ Keith Griffiths ที่เป็น producer ให้ ‘แสงศตวรรษ’ เขามี contact ในแวดวงศิลปะอยู่ อย่าง Keith นี่ก็เคย produce งานให้ Brothers Quay
วันหนึ่ง Simon กับ Keith ก็บอกว่ามีเงินทุนสำหรับงานศิลปะนะแต่ไม่ใช่ภาพยนตร์ ผมก็บอกว่า อืม! สนใจมาก เพราะอยากทำเรื่องความทรงจำกับการถูกทำให้หายไป ตอนนั้นก็เลยเดินทางไปแถวอีสาน เพราะว่าเท่าที่ผ่านมานอกจากเรื่อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ กับ ‘บ้านผีสิง’ แล้ว ผมไม่ได้ลงพื้นที่จริง ๆ ในภาคอีสานเลย แล้วหนังของผมก็ไม่ได้พูดอีสานด้วย ผมเองก็ไม่ได้พูดอีสาน เพราะไม่ได้เติบโตอย่างนั้น แต่ว่ามันน่าสำรวจในที่ที่เราโตมา ก็เลยเดินทาง แล้วได้ผ่านไปยังหมู่บ้านนาบัว ซึ่งก็รู้อยู่ว่าเป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ แต่ว่าอยากจะรู้มากกว่านั้น คือลงไปเพื่อได้ยินจากชาวบ้านที่เขาประสบจริง ๆ แล้วผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าตกใจที่ทางการไม่ได้ขอโทษ และไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมีนโยบายแลกเงินแลกที่ดินกับอาวุธเพื่อให้ชาวบ้านออกจากป่า แต่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบในแง่ของสภาพจิตใจที่พวกเขาทำกับชาวบ้าน หรือความชั่วร้ายที่ทางการและชาวบ้านอาสาสมัครช่วยปราบ communist กระทำด้วยความมือหนัก ทั้งฆ่า ข่มขืน ขโมยวัวควายชาวบ้านไปกิน ซึ่งผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ทำให้คนไทยมันด้านชา มันเป็นการถูกกระทำแล้วไม่ได้เรียกร้องอะไร ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะตอนนั้นและหมู่บ้านนั้น มันเกิดขึ้นทั่วไปจนถึงปัจจุบัน ในแง่ที่เราก็รู้อยู่ว่าคนมองภาพตำรวจทหารชั่วขนาดไหน คนเรามันก็มีทั้งดีทั้งชั่ว แต่ว่าถ้าคุณมีด้านลบกับคนในเครื่องแบบแล้ว มันเพราะอะไร ทำไมมันไม่เกิดการปรับปรุงขึ้นมา จะได้ไม่ต้องมาสร้างภาพกันอีก
นี่คือแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่อยากรู้จักกับคนพื้นถิ่นที่นี่ และอยากทำงานร่วมกัน แต่ไม่อยากพูดตรง ๆ ในเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้น เพราะว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้เจอโดยตรง ผมเองก็ไม่ได้เจอโดยตรง แต่ผมสนใจด้านการแต่งตัว เพราะมันเกาหลีมาก สนใจดนตรีที่พวกเขาฟัง เพราะมันมีอะไรที่ผมเชื่อมโยงได้ หนังต่าง ๆ ที่ผมทำนี่มันจะต้องมีอะไรที่เป็นส่วนตัวที่ผมสามารถเชื่อมโยงได้ อย่างผมคงไม่สามารถทำหนังเกี่ยวกับเดือนตุลาฯ ได้เพราะผมไม่มีประสบการณ์โดยตรง

‘กัลปพฤกษ์’ : ด้วยความที่คุณอภิชาติพงศ์ ไม่ต้องการพูดเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นโดยตรง องค์ประกอบทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จึงมีบทบาทเป็นเพียงกลิ่นอายที่สอดแทรกไว้ในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างเสื้อยืดของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีสัญลักษณ์รูปดาวแดง (สัญลักษณ์ของอุดมการณ์แบบ communist) และรอยสักที่มือของเด็กหนุ่มอีกคนที่เป็นรูปสวัสติกะ (swastika- สัญลักษณ์รูปกากบาทปลายหักของพรรคนาซีเยอรมัน)?
อภิชาติพงศ์ : จริง ๆ เสื้อยืดกับรอยสักพวกนั้นเขามีเองอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นความจงใจ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ของ communist แต่ก่อนมันถูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็น fashion ที่ไม่ได้มีความหมายเดิมอีกแล้ว ซึ่งมันก็เกิดขึ้นทั่วโลก แต่มันน่าสนใจที่มันเกิดขึ้นที่นาบัวแห่งนี้ ซึ่งปู่หรือพ่อแม่ของบางคนถูกฆ่าตาย

‘กัลปพฤกษ์’ : ขอวกกลับไปที่หนังสือ คนระลึกชาติได้ เพราะเห็นปกแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก อยากรู้ว่าเนื้อหาข้างในเป็นอย่างไรบ้าง?
อภิชาติพงศ์ : หนังสือเล่มนี้เป็นพระเขียนเกี่ยวกับเรื่องของคุณลุงบุญมีที่เขามาทำสมาธิที่วัด คุณลุงอยู่หนองบัวลำภู แต่เขามาทำสมาธิที่วัดป่าแสงอรุณที่ขอนแก่นแล้วเล่าให้พระฟัง พระก็เขียนขึ้นมาเพื่อสอนใจคนว่าให้ทำดีอย่าทำชั่วอะไรอย่างนั้น
‘กัลปพฤกษ์’ : อย่างนี้จะมีการเชื่อมโยงในแต่ละภพชาติด้วยหรือเปล่า? เช่นตอนที่เขาเกิดเป็นนายพรานเขาทำอะไรไว้ พอเขาเกิดใหม่เป็นเปรตแล้วได้รับผลอะไร? (ปกหนังสือระบุว่านายบุญมีเคยเกิดเป็น นายพราน-เปรต-กระบือ-เปรต-โค ก่อนจะมาเกิดเป็นมนุษย์)
อภิชาติพงศ์ : ไม่ได้ละเอียดมากขนาดนั้น ไม่ได้บอกเหตุผลมากว่าเพราะอะไร แต่ที่น่าสนใจคือเวลาที่เขาพูดถึงเปรต มันไม่มีภาพเปรตที่หิวโหยตลอดเวลา แต่ว่ามันเป็นเปรตที่อยู่ในโลกของการเสพสุข เสพกามตลอดเวลา แล้วเขาติดในสภาพเปรตจนไม่อยากเกิดใหม่ด้วยซ้ำ นี่คือจุดที่ผมชอบ มันไม่ได้เป็นอะไรที่เราเคยคิดไว้เกี่ยวกับเปรตเลย


‘กัลปพฤกษ์’ : ขอถามเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้บันทึกเกี่ยวกับบ้านนาบัวบ้าง เนื่องจากคุณอภิชาติพงศ์ ได้ลงไปสอบถามข้อมูลจากฝ่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปากคำเจ้าตัว แต่แน่นอนถ้าเราศึกษาข้อมูลที่เป็นทางการจากฝ่ายรัฐบาลมันย่อมไม่มีการบันทึกถึงเหตุการณ์ที่ทหารฝ่ายปราบ communist ทำร้ายชาวบ้านอย่างที่คุณอภิชาติพงศ์ได้เล่าไว้แต่จะให้ข้อมูลในอีกลักษณะหนึ่งแทน แม้กระทั่งข่าวหนังสือพิมพ์ก็ดูจะรายงานถึงเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลด้วยซ้ำว่าพวก communist นั่นแหละที่เป็นฝ่ายเริ่มต้นความรุนแรงก่อน เมื่อเจอกรณีข้อมูลขัดแย้งกันแบบนี้ คุณอภิชาติพงศ์จะจัดการอย่างไร?

อภิชาติพงศ์ : มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเป็นกลาง แต่มันมีหลักฐาน มีคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ พูดว่า มีทหารมาตั้งฐานอยู่ที่วัดในหมู่บ้าน แล้วต้องมีการ stamp มือ ต้องมีการดื่มน้ำสาบาน เอาปืนเอาระเบิดมือแช่น้ำแล้วบังคับให้ชาวบ้านดื่มน้ำสาบานว่าไม่ใช่ communist ซึ่งมันจะจริงไม่จริงผมไม่สนใจ แต่ผมสนใจส่วนที่เขาบอกว่าทหารฆ่าแล้วก็ตัดคอพวกเขา ซึ่งตัวชาวบ้านเองก็ตัดคอทหารเหมือนกัน คือผมไม่ได้มองว่าฝ่ายไหนดีฝ่ายไหนไม่ดี แต่ผมมองว่าวิธีการจัดการของรัฐบาลมันรุนแรงเกินไป มันไม่ใช่วิธีการที่จะปฏิบัติกับคน
จากการที่คุยกับชาวบ้าน ถ้ามีการถามว่าคุณเป็น communist หรือเปล่า แล้วคุณตอบว่าใช่คุณก็ถูกฆ่าเลย ถ้าไม่ใช่คุณก็ถูกตี คุณไม่มีทางเลือก คุณก็ต้องออกไปเข้าป่า พวกเขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า communist คืออะไร พวกเขาเข้าไปเพื่อหนีตาย แล้วการที่จะมีชีวิตอยู่ได้มันก็ต้องมีการร่วมกลุ่ม พวกเขาเลยต้องเข้าร่วมกับกลุ่ม communist เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะมาอ้างไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องฆ่าคนพวกนี้ มันเป็นวิธีการที่หนักมือไป มันป่าเถื่อน ไม่ว่าสองฝ่ายจะพูดต่างกันอย่างไร แต่ในเมื่อมันมีคนตายขนาดนี้ ถึงคุณจะฆ่าเขาในแง่ที่เขามีอาวุธ และคุณฆ่าเขาเพราะป้องกันตัวเอง ยังไงคุณก็ต้องออกมาขอโทษ ในฐานะที่เขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง และเขาก็เสียภาษีจ้างคุณให้ปกครองแม้จะมีความคิดต่างกัน นี่ก็คือเหตุผลที่ตั้งชื่องานชุดนี้ว่า Primitive ด้วย เพราะว่ามันล้าหลังเหลือเกินทั้งคนกระทำและผู้ถูกกระทำ และไม่ใช่แค่เหตุการณ์บ้านนาบัวนี้เท่านั้น แม้แต่ในปัจจุบันนี้มันก็ยังเป็นอยู่ และที่สำคัญคือเราลืมกันง่ายเหลือเกิน

‘กัลปพฤกษ์’ : อืม ถ้าเช่นนั้นจริง ๆ แล้วชื่อ Primitive นี่ก็สะท้อนถึงความเป็นไปในบ้านเรานี่เอง นอกจากชื่ออังกฤษแล้วโครงการนี้มีตั้งชื่อไทยเอาไว้ด้วยไหม?

อภิชาติพงศ์ : ไม่มีครับ ใช้ชื่อ Primitive เลย แต่เวลาขอทุนที่ต้องใส่ชื่อไทยก็จะใช้ว่า ‘ดึกดำบรรพ์’

‘กัลปพฤกษ์’ : คุณอภิชาติพงศ์ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านที่บ้านนาบัวนานแค่ไหน?
อภิชาติพงศ์ : ก็ร่วม ๆ ๖ เดือน ช่วงแรกนี่คือช่วงที่ไปสัมผัสพูดคุยกับชาวบ้าน แต่ช่วงที่ถ่ายทำจริง ๆ จะเป็นช่วง ๒ เดือนสุดท้าย

‘กัลปพฤกษ์’ : มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งในงานชุดนี้ ที่ผลงานทั้งหมดไม่ได้เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคุณอภิชาติพงศ์เพียงคนเดียว แต่จะมีการร่วมกันกับชาวบ้านนาบัวเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ด้วย เช่นการช่วยกันออกแบบยานอวกาศ หรือกระทั่งการแต่งและร้องเพลง ‘Nabua Song’ ที่นำมาจัดแสดงด้วย คุณอภิชาติพงศ์มองในจุดนี้อย่างไร?

อภิชาติพงศ์ : จริง ๆ ผมไม่ได้มองเป็นงานสร้างสรรค์อะไรเลยนะ ผมมองว่ามันเป็นเกมที่ผมเล่นกับเด็กบ้านนาบัวมากกว่า มันเหมือนเป็นกิจกรรมที่เราทำร่วมกันแล้วใช้ video เป็นสื่อในการบันทึกเท่านั้นเอง ไม่ถึงกับเป็นผลงานสร้างสรรค์ขนาดอะไรนั้น
‘กัลปพฤกษ์’ : อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือในหนังและ video art ชุด Primitive นี้จะมีการเล่นกับ special effect ค่อนข้างเยอะมาก แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วงานจะยังมีความดิบอย่างเป็นธรรมชาติอยู่ อยากทราบว่าคุณอภิชาติพงศ์มีการ balance ระหว่าง special effect กับความเป็นธรรมชาติอย่างไรให้ออกมาลงตัว?
อภิชาติพงศ์ : ส่วนตัวแล้วผมจะชอบงาน special effect จากหนังเก่า ๆ โดยเฉพาะหนังผีฮ่องกงหรือหนังตระกูล ‘บ้านผีปอบ’ ที่เราจะรู้สึกได้เลยว่ามีทีมงานคอยวาดสายฟ้าผ่าลงบนแผ่นฟิล์มไปทีละเฟรม ผมเลยเน้นให้งานของผมมีความรู้สึกแบบ handmade อย่างนี้อยู่ด้วย และจากใน video จะเห็นชาวบ้านมุงดูการระเบิดกันในระยะใกล้ ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการเชิญชวนให้พวกเขามาร่วมดูปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่มีส่วนผสมของทั้งความสนุกและความรุนแรงอยู่ด้วยกันซึ่งก็ถือเป็น theme หลักของโครงการนี้ ส่วนคนดูก็จะสัมผัสได้ถึงกระบวนการในการทำหนังที่มีทั้งส่วนที่เป็นการแสดงซึ่งเป็นของจริง และส่วนของงาน post-production ซึ่งเป็นส่วนสังเคราะห์

‘กัลปพฤกษ์’ : หลังจากงานศิลปะชุดนี้แล้ว คุณอภิชาติพงศ์ จะมีภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง ‘ลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้’ หรือ ‘Uncle Boonmee: A Man Who Can Recall His Past Lives’ ด้วย ตอนนี้ขั้นตอนการเตรียมงานไปถึงไหนแล้ว ได้ทุนสร้างครบแล้วหรือยัง จะเริ่มถ่ายทำช่วงไหน และคิดว่าเมื่อไหร่เราจะได้ดูกัน?
อภิชาติพงศ์ : บทหนังอย่างที่บอกว่าผมเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุนสร้างตอนนี้ได้มาจำนวนหนึ่งซึ่งคิดว่าพอที่จะเริ่มต้นถ่ายทำได้ ก็จะเริ่มถ่ายกันวันที่ ๑๕ ตุลาคม ที่จะถึงนี้ หนังน่าจะตัดเสร็จราว ๆ เดือนมีนาคมปีหน้า แต่กว่าจะได้ฉายก็คงจะเป็นช่วงปลายปี
‘กัลปพฤกษ์’ : หนังเรื่องนี้จะถ่ายทำที่นาบัวด้วยหรือเปล่า? แล้วคุณอภิชาติพงศ์ได้บ้านที่ถูกใจแล้วหรือยัง?
อภิชาติพงศ์ : ผมพยายามหาบ้านที่นาบัวแต่ก็ไม่เจอหลังในฝันเลย แต่ตอนนี้ผมได้ location ที่ถูกใจอยู่ที่จังหวัดเลย ผมเลยต้องสร้างหน้าต่าง กำแพง ระเบียงอะไรเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ให้ตรงกับส่วนประกอบของบ้านตามที่ผมชอบจากการเดินทางท่องภาคอีสาน

‘กัลปพฤกษ์’ : แล้วในส่วนของงานชุด Primitive นี้จะมีโอกาสได้จัดแสดงที่ประเทศไทยแบบครบชุดบ้างไหม? เพราะเนื้อหาของมันเป็นอะไรที่ควรจะเผยแพร่ให้คนไทยได้ร่วมรับรู้อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในส่วนของประวัติศาสตร์ที่กำลังจะถูกลืม
อภิชาติพงศ์ : คงยังไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาคือการจัดงานแบบนี้มันต้องขอความร่วมมือเยอะมาก จากประสบการณ์ที่มาจัดที่นี่ทำให้รู้ว่าทั้งสถานที่ อุปกรณ์และความช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ มันต้องพร้อมจริง ๆ ซึ่งผมห่วงว่าที่เมืองไทยจะไม่ใครยอมเหนื่อยกับเราด้วย
‘กัลปพฤกษ์’ : แต่ถ้ามีผู้สนใจอยากจะร่วมจัดจริง ๆ คุณอภิชาติพงศ์ก็ไม่ขัดข้องที่จะจัดแสดงงานชุดนี้ในประเทศไทย แม้ว่าเนื้อหาบางส่วนจะพาดพิงถึงเรื่องทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น?
อภิชาติพงศ์ : ไม่ครับ ไม่ได้ห่วงเรื่องนั้น ถ้ามีใครอยากให้จัดจริง ๆ ผมก็ยินดี
‘กัลปพฤกษ์’ : แต่ทราบว่าเร็ว ๆ นี้หนังสั้นเรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี’ จะมีฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ด้วย?
อภิชาติพงศ์ : อ๋อ! ใช่ครับ ถ้าสนใจก็ไปดูจากงานนี้ก่อนได้ . . .

หมายเหตุ: งานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ หรือ World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ ๗ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ติดตามรายละเอียดการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘จดหมายถึงลุงบุญมี ได้จาก website <http://www.worldfilmbkk.com/>


ขอขอบคุณคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นอย่างสูงที่เอื้อเฟื้อทั้งเวลาสำหรับการสัมภาษณ์และภาพประกอบ



(บางส่วนของบทความนี้จะตีพิมพ์ในนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนพฤศจิกายน)

หนังสือ ประวัติเอ๊ดการ์ แอลแลน โป

เอ๊ดการ์ แอลแลน โป
บิดาแห่งรหัสคดี
รำลึกถึงวาระ 200 ปีแห่งชาตกาล (1809-2009)
ตุลาคม 2552

เรืองเดช จันทรคีรี เรียบเรียง
อานิสงส์ ทองระอา ภาพปก


หนังสือประวัติชีวิต เอ๊ดการ์ แอลแลน โป เล่มนี้ สำนักพิมพ์รหัสคดี ลงทุนจัดทำอย่างสวยงามน่าสะสมมากแจกสมาชิกหนังสือรหัสคดี และผู้ซื้อหนังสือรหัสคดีอย่างน้อย 3 เล่ม ย้ำ ทำไว้แถม ไม่ใช่ไว้ขาย เพราะเขาพิมพ์แค่ 1,500 เล่มเท่านั้น สนใจสั่งซื้อหนังสือของ รหัสคดี ด่วน

ใครสนใจต้องติดต่อโดยตรงที่ สโมสรหนังสือรหัสคดี
ตู้ปณ. 27 ปณจ. บางกอกน้อย กรุงเทพ ฯ 10700
โทรศัพท์ / โทรสาร 02-431-7204

กำลังอ่านประวัติ Poe อีกเล่มที่เขียนโดย Peter Ackroyd อยู่พอดี โชคดีที่ได้เล่มนี้ ช่วยสรุปชีวิต โป ให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นเยอะ สำหรับคอวรรณกรรมและคอหนังตัวจริง ไม่ว่าหนังนอกหรือในกระแส ต้นกำเนิดเรื่องลึกลับเขย่าขวัญ-สยองขวัญมาจากสัญชาตญาณดำมืดและแมวดำของ โป แทบทั้งหมด อย่ามองข้ามเชียว (โดยเฉพาะคนที่อ่านหนังสือ bookvirus ฟุ้ง 03 เล่ม กาจับโลง) น่าเสียดายว่านิยายและเรื่องสั้นของโป มีแปลเป็นภาษาไทยน้อยมาก เกือบทั้งหมดแปลอย่างหละหลวม ไม่รักษาวิญญาณเดิมในภาษาแบบโป

10/29/09

Les Aventures Extrodinaire d'Adele Blanc-Sec การประทะครั้งใหญ่ระหว่างนักเขียนการ์ตูน Jacques Tardi และผู้กำกับ Luc Besson







เอาล่ะ The League of Extraordinary Gentlemen, Van Helsing, Underworld, Arsène Lupin (อาร์แซน ลูแป็ง) และ Indiana Jones เตรียมขยับหลีกไป เมื่อสองโปรแห่งกรุงปารีสขยับมาเล่นบทแอ็คชั่นลั่นทุ่ง


Filmvirus ชื่นชมลายเส้นการ์ตูนของ Jacques Tardi มานานแล้ว เรื่องบรรยากาศเมืองฝรั่งเศสต้องยกให้เขาแหละ ลายเส้นที่มีเสน่ห์ซึ่งสะท้อนเมืองปารีส และเหลือบมุมสูงมุมต่ำของถนนได้อย่างแจ่มแจ้ว คราวนี้จะได้เห็นสร้างเป็นหนังใหญ่เสียที ไม่ใช่หนังเล็ก ๆ เสียด้วย แต่เป็นโปรเจ็คท์หนังไตรภาคของผู้กำกับ Luc Besson หวังว่าคงไม่บู๊หนักกันจนเสียอรรถรสการ์ตูนฝรั่งเศสนะ

Adèle Blanc-Sec เป็นตัวละครสาวนักข่าวในการ์ตูนซึ่งใช้ฉากย้อนยุคปี 1912 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การผจญภัยของสาว อเดล บล็อง-เซค ที่พาสาวใจหาญกล้าอย่างเธอเดินทางรอบโลกไปเจอเหล่าโจรร้าย นักวิทยาศาสตร์บ้าคลั่ง ลัทธิบูชาปีศาจ มัมมี่ และไข่นกยักษ์โบราณ

นำแสดงโดย Louise Borguin, Gilles Lellouche และ Mathieu Amalric

เว็บการ์ตูน Les Aventures Extrodinaire d'Adele Blanc-Sec:
http://blancsecadele.free.fr/menu.html


ใครสนใจการ์ตูนว่าฝรั่งเศสยิ่งใหญ่หลากหลายแค่ไหน อ่านบทสนทนาระหว่าง Hayao Miyazaki และ Moebius (นามจริง Jean Giraud) ได้ในหนังสือ บุ๊คไวรัส - Bookvirus เล่ม 2 อ้อ ในเล่มมีบทความแนะนำ Enki Bilal ราชาการ์ตูนไซ-ไฟฝรั่งเศสที่ทำหนังเรื่อง Immortal ซึ่งสร้างจากหนังสือการ์ตูนที่เขาวาดเรื่อง Nikopol ด้วย (เล่มที่แปลเป็นไตรภาคนิโคโปลนั่นแหละ)

อ่านข้อมูลเรื่อง Enki Bilal เพิ่มที่นี่:
Enki Bilal ที่กรุงเทพ ฯ: http://www.onopen.com/2007/02/1879
กล่องของขวัญฝรั่งเศส- แสงเส้นเหลื่อมพิภพของ Enki Bilal: http://www.onopen.com/2007/02/1945

แด่ อุทิศ เหมะมูล My Comrade

จาก สนธยา ทรัพย์เย็น ถึง อุทิศ เหมะมูล
คำถามจาก ภาวินี อินเทพ
คำตอบบางส่วนในที่นี้ตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 23 ตุลาคม 2552
(ภาพ Laplae, Kaeng Koi ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย Marcel Barang ใน Bangkok Post -7 กันยายน 2552)

สิ่งแรกที่ผมบอกกับอุทิศหลังจากที่เขาได้รับรางวัลก็คือ “ในที่สุดเจ้าก็ได้รับในสิ่งที่เจ้าสมควรได้รับมานานแล้วเสียที” หลังจากที่เขาอุทิศตัวจริงจังให้กับการเขียนอย่างเป็นระเบียบมาหลายปี ดูเหมือนฟ้าจะเข้าข้างคนจริงบ้างก็คราวนี้ อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูหนังอาร์ตเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ของเขา แต่ก็เช่นเดียวกับคนที่ขยันเรียนรู้และตกผลึกในมุมมองของตนเองทั้งหลาย หนังสือ ภาพเขียน หรือประสบการณ์ทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเขาเป็นเพียงหนทางตัวอย่าง แต่ของจริงซึ่งทำหลอกกันไม่ได้นั้นมันก็ต้องออกมาจากข้างในอยู่ดี ไม่ใช่การหยิบยกไอเดียทื่อมะลื่อ อีกทั้งพรสวรรค์ทางภาษาและทักษะการคิดของเขาก็มีหลายมิติ ที่น่าสังเกตที่สุดก็คือ อุทิศคงจะเป็นนักเขียนวรรณกรรมไทยคนแรกที่รู้จักหนังแอฟริกัน หนังรัสเซีย หนังศรีลังกา ทัดเทียมกับที่ชื่นชม เจ เอ็ม โคเอ็ทซี จากแอฟริกาใต้ หรือ นากิบ มาห์ฟูซ ของอียิปต์ และเขารู้ดีว่ารายละเอียดต่างหาก ไม่ใช่พล็อตเรื่องที่ทำให้งานศิลปะอะไรก็ตามมีชีวิตยั่งยืน


พี่กับคุณอุทิศรู้จักกันได้ยังไง เพราะหนังชักนำมา หรือว่า รู้จักกันก่อนหน้านี้แล้ว

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าอยากให้ผมไปคุยกับรุ่นน้องของเขาที่ ม. ศิลปากร เขาคงเห็นว่าผมรู้จักหนังแปลก ๆ เลยอยากให้รุ่นน้องที่สนใจอยากทำหนังได้มีโอกาสดูหนังหลากหลาย ผมจึงได้รู้จักอุทิศและธเนศน์ นุ่นมัน สองคนนี้เขาเป็นคู่หูกันตั้งแต่ที่คณะ เขาเคยทำหนังสั้นกันด้วย จนตอนหลังเราทั้งสามคนมาทำหนังสือ 151 Cinema แต่ตอนสมัยเขาเรียน พวกเราเคยจัดฉายหนังที่คณะอยู่หลายครั้ง ฉายกันตั้งแต่รุ่นหิ้วฟิล์ม เลเซอร์ดิสค์ ยันวีดีโอเทป อุทิศเขาเคยมีวิญญาณของนักกิจกรรม ตอนนั้นพวกเราคงเหมือนกับอีกหลาย ๆ คนที่ชอบคิดว่าอยากเปลี่ยนโลก อยากให้คนได้รู้จักของดีดี แต่ยิ่งนานวันเราก็รู้ความจริงว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน และวันนี้อุทิศคิดถูกแล้วว่าคนเรามีเวลาน้อย การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าใครเห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อ ยึดถือและกระทำนั้นดี มันก็คงจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ในทางใดทางหนึ่ง

พี่มองความเป็นนักวิจารณ์เขายังไงบ้างคะ แบบมุมมองไม่เหมือนใคร หรือว่า เป็นนักวิจารณ์ฝีปากกล้า หรือว่า นักวิจารณ์ที่มีลูกขยัน อะไรประมาณนี้ที่พี่มองเห็น

มุมมองของอุทิศไม่เหมือนใครตั้งแต่ตอนเรียนแล้วครับ ถามเพื่อนหรืออาจารย์เขาก็ได้ ขนาดอาจารย์ยังต้องมีเกรงใจแก๊งของอุทิศ ไม่ค่อยมีใครกล้าเถียงด้วย ถ้าเกิดใครบื้อมา เขาไม่ใช่คนยอมใครง่าย ๆ ส่วนเรื่องฝีปากกล้า เขาอาจจะเคยเขียนกระทบกระทั่งคนในวงการแรงๆ อยู่บ้าง แต่เขามีเหตุมีผลน่าฟังเสมอ ไม่ใช่อัดใครมั่วซั่ว ยิ่งเรื่องการเขียนวิจารณ์หนังหรือหนังสือนั้น เขาเลือกเขียนเฉพาะหนังที่เขาชื่นชมด้วยความรู้สึกรื่นรมย์ของนักค้นหา นักเรียนรู้ขยันศึกษาหาความรู้ ข้อมูลเชื่อถือได้ แต่ที่นำหน้าข้อมูลคือวิจารณญาณที่ดี คือมีมุมมองเฉพาะของคนที่สนุกกับโลกแปลกใหม่ ไม่หยุดแสวงหา เพราะการเสพงานศิลปะดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เราไม่ได้แค่วัฒนธรรม หรือฝึกภาษาอังกฤษ มันไม่ได้ทำให้เราแค่ฉลาดคิด แต่แท้จริงทำให้เราฉลาดรู้สึก คนฉลาดคิดจะแค่มองมนุษย์กับสังคมเป็นโครง แต่คนฉลาดรู้สึกจะมองเห็นรายละเอียดคน หยั่งใจคน เวลาเขียนงาน ก็จะเขียนงานด้วยความอยากรู้จัก อยากเข้าอกเข้าใจ ยอมรับด้านอ่อนแอของคน ไม่ด่วนตัดสินหรือวางกรอบให้ตัวละครเป็นแค่หุ่นเชิด

ที่สำคัญการบรรยายความทั้งในงานวรรณกรรมและงานวิจารณ์ มีหลายเรื่องทีเดียวที่อุทิศบรรยายด้วยโวหารวิจิตร ไม่มีนักวิจารณ์หนังคนไหนเขียนแบบนี้หรอกครับ บางทีผมยังอดหมั่นไส้ไม่ได้ สำบัดสำนวนยังกับแต่งนิยายอยู่แน่ะ นี่ขนาดเขาเคยต้องเขียนวิจารณ์หนังสัปดาห์ละเรื่อง แน่นอนว่าการจะเขียนให้เข้าถึงลึกซึ้งทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การจับประเด็นแล้วแจกแจงให้ได้ความในพื้นที่กำหนดแต่ละฉบับ ก็ต้องมีความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องกดดันพอดู งานแบบนี้ต้องคนขยันถึงทำได้ แต่ความขยันเขียน (เพื่อค่าตอบแทนที่น้อยมาก ๆ จนน่าตกใจ) นั้น ก็มีผลดีเหมือนกันคือ ช่วยให้เขาคล่องในการเขียนหนังสือมากขึ้นด้วย ฝึกวินัยให้เขาต้องใช้สมองครุ่นคิดถึงสาระของหนังหรือหนังสือที่เขาวิจารณ์อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลดีกับเวลาทำงานวรรณกรรมในเวลาต่อมา

เท่าที่เห็น งานเขาดี โดดเด่นตั้งแต่แรกเลยไหมคะ
เพชรจะมาจากทับทิมไม่ได้หรอกครับ ช่วงเขียนวิจารณ์หนังใหม่ ๆ อาจมีกระท่อนกระแท่นบ้างตามธรรมดา แต่อุทิศเป็นคนฉลาดและพรสวรรค์ไกล เขาอาจเป็นคนดื้อ แต่เขาไม่โง่ เขาเรียนรู้เร็วกว่าผมและคนทั่วไปหลายเท่า และคนที่ฝึกฝนตัวเองบ่อยก็มักจะเรียนรู้ได้เยอะจากความผิดพลาดและผิดหวัง ตอนที่อุทิศออกนิยายเล่มแรก ผมทึ่งมาก เพราะมันไม่ใช่งานสมัครเล่นแบบที่มือใหม่หรือนักวิจารณ์หนังทั่วไปจะเขียนกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่คนที่ใช้สมองด้านวิเคราะห์จะหันมาจับสร้างงานศิลปะได้ดีพอกัน (หรือดีกว่า) น้อยคนมาก ๆ ที่จะเหมาะข้ามฟากใช้สมองสองฝั่งได้ดี ผมทึ่งตรงนี้ที่สุด

หัวข้อที่ได้คุยแลกเปลี่ยนกันมากๆ คืออะไรคะ
ถกเรื่องผู้กำกับหนังและนักเขียนบ่อยที่สุดครับ เวลาเจอหนังแปลก ๆ ประหลาด ๆ ก็มาบอกเล่ากัน ซึ่งเขาจะไม่เหมือนหลาย ๆ คนที่ยอมแพ้หนังอะไรง่าย ๆ ถึงจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม เขาก็จะพยายามเข้าใจหนังนั้นให้ได้มากที่สุด เพราะถือมันเป็นบทเรียนอันหนึ่ง ในประเทศนี้คงมีคนให้คุยแบบนี้ได้ไม่กี่คน แต่พอเราคุยกันเรื่องหนังจนเหนื่อย เราก็กลับมาคุยกันเรื่องชีวิตประจำวัน ผมว่างานศิลปะทุกอย่างมันทำให้อุทิศมองชีวิตรอบตัวได้ทะลุ รู้ว่าชีวิตมันมีทั้งสุขทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่คนขมขื่น หรือมองโลกในแง่ดีเกินไป ทำให้เขาระวังตัว แต่ก็ยอมรับความจริงได้มากขึ้น ส่วนชีวิตจริงมุมไหนที่เรายังทำใจไม่ได้ เราก็พยายามเอามุมสร้างสรรค์จากงานศิลปะมาเป็นกำลังใจสู้ต่อ ที่สำคัญคือต้องโยงศิลปะให้กลมกลืนกับชีวิตจริงได้ ถ้าเรายังเชื่อว่าศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องของภูมิปัญญาบนหอคอย เราก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมโลกกับคนเดินดินทั่วไปโดยไม่แปลกแยกมากนัก เพราะความรู้สึกขัดแย้งตรงนี้ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจที่วิเศษได้เหมือนกัน

โปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่ The Reading Room (Kafka's Amerika)

Filmvirus ประทะ Kafka กับ Straub ที่ The Reading Room

โปรแกรมฉายภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่ The Reading Room ห้องสมุดและศูนย์รวมกิจกรรมทางวัฒนธรรม
ณ ถนนเจริญกรุง 2351/4 ถนนเจริญกรุง (ปากซอย 91) ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ 02-289-0395, มือถือ 089-666-7978
เวลาทำการ พุธ-เสาร์ 13.00-18.00น.

กิจกรรมจัดฉายภาพยนตร์ห้องสมุดจะจัดฉายภาพยนตร์ทดลองและ วีดิโออาร์ต ร่วมกับกลุ่ม FilmVirus โดยจะจัดฉายเดือนละสองครั้ง (ชมฟรี) Admission Free
วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายนภาพยนตร์ของ Su Friedrich
วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม
ภาพยนตร์เรื่อง Klassenverhältnisse ของ Jean-Marie Straub และ Daniele Huillet (1984) สร้างจาก Amerika บทประพันธ์ที่เขียนไม่จบของ Franz Kafka + บทสัมภาษณ์ของ Jean-Marie Straub และ Daniele Huillet
วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม
ภาพยนตร์ของ Katsu Kanai


เว็บไซต์และที่ตั้งของ The Reading Room
http://www.readingroombkk.org/
โปรแกรมภาพยนตร์ของ Filmvirus ในงาน Art Square จตุรัสศิลป์ ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2552 ที่หอศิลป์จามจุรี: http://dkfilmhouse.blogspot.com/2009/10/art-square-7.html

เทศกาลละครกรุงเทพ 2552 Bangkok Theatre Festival 2009

เทศกาลละครกรุงเทพ 2552
Bangkok Theatre Festival 2009
Lakorn Thai Unlimited
อิ่มสุขร่วมสมัย เลือกสรรได้ไม่จำกัด
24 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2552 โดยเครือข่ายละครกรุงเทพ ร่วมกับ ประชาคมบางลำพูสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม และ กรุงเทพมหานคร

รวมการแสดงกว่า 50 ผลงาน กว่า 100 รอบการแสดง ตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ ณ สวนสันติชัยปราการร้านอาหารย่านถนนพระอาทิตย์ – ย่านบางลำพูและโรงละครโรงเล็กรายรอบกรุงเทพมหานครติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

โทร. 08-1915-7885 และ www.lakorn.org
หมายเหตุ 24 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ชมผลงานที่แสดงตามร้านอาหารย่านถนนพระอาทิตย์ – ย่านบางลำพูและโรงละครโรงเล็ก รายรอบกรุงเทพมหานคร

31 ตุลาคม 2552 พิธีฉลองเปิดเทศกาล ณ สวนสันติชัยปราการ และเริ่มชมการแสดงฟรีในสวนสันติชัยปราการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ (ส. 31 ต.ค. , อา. 1, ส. 7, อา. 8 พ.ย. 2552)

เป็นแฟนละคร กลุ่มละครไหนตามติดชม ผลงานของใครและเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ เรื่องใดจะโดดเด่นที่สุดพบกับตารางการแสดงกว่า 50 ผลงาน กว่า 100 รอบการแสดงความเคลื่อนไหวของเทศกาลละครกรุงเทพ 2552Bangkok Theatre Festival 2009ได้ที่นี่เร็ว ๆ นี้

ดูรายละเอียด http://www.lakorn.orghttp://btf2009.blogspot.com/

10/26/09

คนละครในงานเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์

เรื่องของคนมีฝีมือที่หัวใจเป็นละคร
เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ สถาบันปรีดี พนมยงค์
วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2552

10/22/09

หนังบ้านที่หอภาพยนตร์ศาลายา 2552- Death is Everywhere

I’ve seen Death Everywhere

เวลาที่ตายแล้ว เวลาที่สาบสูญ ไม่มีหนังประเภทไหนอีกแล้วที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่จีรังที่มากระชากคอหอยได้เท่ากับการดู หนังบ้าน (Home Movies) ชีวิตคนแปลกหน้าที่เหมือนภาพอดีตตายแล้ว ซึ่งบางทีอาจไม่สมควรได้รับการปลุกเสกให้ฟื้นมาจากไหแม่นาคอีกครั้งหนึ่ง เพราะการชุบชีวิตคืนให้โลกมืดบนแผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์นั้นเป็นไปได้เพราะ – การที่สายตาคนเราไปจับจ้องมองมันอีกครั้งนั่นเอง –

ใช่แล้ว Death at Work ดังคำที่ Jean Cocteau กวี / ศิลปิน / ผู้กำกับฝรั่งเศสว่าไว้ ประเด็นนี้คือเรื่องที่ ฟิล์มไวรัส บ่นซ้ำซากไปหลายครั้งหลายคราว แล้วก็เพิ่งเขียนลงวารสารอ่านไปหยก ๆ (บทความ ‘ หนังส่วนตัวหน้าธารกำนัล’ http://www.readjournal.org/read-journal/2008-10-vol-3/read-pic/) แต่กับหนังประเภทเขียนบทแสดงทั่วไป มิติแห่งความเป็นความตายมันไม่คอขาดบาดตายเท่านี้ แต่กับหนังที่ถ่ายของจริง บันทึกชีวิตจริงนี่มันเป็นอะไรที่บอกไม่ถูก เมื่อชีวิตส่วนตัวเหล่านั้นถูกนำมาฉายขึ้นจอ

มันทำให้นึกถึงวัฏจักรแอบเสิร์ดการปลงตกของชีวิต ตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตายที่วนเวียน ความทรงจำที่ทั้งสวยงาม เศร้าสร้อย ร้ายกาจ น่าเกรงกลัว

มันชวนให้นึกถึงชื่อหนังของ แฟรงค์ คาปรา หรือใครสักคน ที่ชื่อว่า Lady for a Day หรือไม่ก็หนัง Ginger and Fred ของ Federico Fellini ที่ตัวประกอบหน้าเหมือนเลียนแบบคนดัง มีโอกาสได้ออกทีวีแสดงโชว์คนละไม่กี่นาที มีคนหน้าเหมือนดารา มีคนหน้าเหมือนนักเขียน ฟรานซ์ คาฟก้า โผล่มาล้นประดังจนตาลาย เรียกได้ว่าทุกคน Got their 3 minutes of fame ก่อนจะกลับไปเป็นคนสามัญธรรมดา

หนังที่มีคุณค่าสำหรับคนถ่ายและคนที่ถูกถ่ายในเวลาโน้น อาจหมดคุณค่าหรือถูกลูกหลาน / และผู้ชมมองข้ามไปเลยก็ได้ กลายเป็นคนแปลกหน้าของหลานเหลนรุ่นใหม่ ๆ นั่นพ่อฉัน แม่ฉันเคยไปเที่ยวที่ไหน นั่น ปู่ฉัน ย่าฉันคุยกับใครที่ฉันไม่รู้จัก เที่ยวที่ใดที่ฉันไม่เคยมีประสบการณ์ร่วม ประสบการณ์ที่สลักสำคัญมากในวันนั้นกลับกลายเป็นอดีตที่ไม่ถูกจดจำ หรือหลงเหลือคุณค่าอย่างใดกับใครในปัจจุบัน

แต่บางที บางคราวในอีกมุมหนึ่ง ภาพส่วนตัวพวกนั้น มันก็มีอะไรกระซิบลึก ๆ กับคนอื่น ครอบครัวอื่น หรือสังคมวงกว้างได้ด้วย แฟชั่นการแต่งตัว ค่านิยมของยุคสมัยหนึ่ง ๆ ลักษณะการโพสต์ท่า หันข้างยืนเรียงแถวเท้าสะเอวเรียงกันหลายคน แต่ละคนปล่อยปลายผ้าเช็ดหน้าเหยียดยาวไปที่พื้น ลักษณะบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ปฏิกิริยาธรรมชาติเวลาที่ชาวบ้านชาวช่องในแบ็คกราวนด์มองตอบ หรือสะท้อนกลับมาที่หน้าเลนส์ ความไม่คงทนของเนื้อฟิล์มที่เริ่มเสื่อมสภาพ ส่งอาการเน่าเปื่อยสีแปลก แตกเกรนหลงเหลือแค่แม่สีหลักเพียงไม่กี่ตัว กลายเป็นก้อนสีแดงอมส้มแจ๋นจ้าที่ขัดตากับพื้นสีตุ่น ๆ

* จินตนาการดูเถอะ

หนังของคุณ ชาคริต จรรยากุลวินิต ภาพสมาชิกในครอบครัวทั้งเด็กและแก่เฒ่าอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา เที่ยวเล่น กินข้าวร่วมกัน ผู้บรรยายที่นำภาพมาฉายให้เราดูกัน บอกกับผู้ชมว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กในภาพ เด็กคนที่ฟันหลอ เขากล่าวถึงภาพที่พ่อพาไปเที่ยวว่าพ่อเสียไปยี่สิบปีแล้ว ส่วนลูกน้องของพ่อในภาพที่มาสอนเขาเล่นปืน ตอนนี้ก็คงตายไปแล้ว

ภาพแดงเถือกของหนุ่มสาวในวันสมรส ของ คุณ อุดม ศรีเมลืองกุล ในภาพมีเพื่อนหรือใครสักคนกำลังอวยพรหรือเชียร์บ่าวสาวอย่างออกหน้าออกตา เราไม่อาจรู้ว่าเขากำลังพูดว่าอะไร เพระมันเป็นแค่หนังใบ้ แต่ท่าทางเขาเอาจริงเอาจังเหลือเกิน จนดูเหมือนกับกร้าวร้าว ส่วนคู่สมรสเอง โดยเฉพาะหญิงสาวที่สวยสะพรั่งก้มหน้ากึ่งเหนียมอายกึ่งวิตก เธอคิดอะไรกัน ในภาพต่อมาเธอกำลังแต่งผมหน้ากระจก สีหน้าเธอดูเป็นกังวล (ต่ออนาคต? หรือเธออึดอัดกับพิธีกรรม? ใครเล่าจะบอกได้?)


หาบข้าว นวดข้าว สีข้าว หนังขาวดำของคุณ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เห็นภาพชนบทหลายสิบปีก่อนที่คุณยายสามสี่คนสาธิตกระบวนการทำข้าว มีฉากคุณยายสี่คนยืนเรียงกัน ฝ่ามือพิงตัวบ้าน แล้วย่ำสองเท้านวดข้าว น่ารักมาก ภาพอย่างนี้ฟิล์มราชการแบบหนังในหลวงไม่รู้จะมีให้ดูไหม เป็นมุมเล็ก ๆ ที่โชคดีมีคนบันทึกไว้

เวทีประกวดนางสาวพะเยาเมื่อปี 2497 ของคุณ วิศเวท วัฒนสุข ฟิล์ม 8 มม. ได้เปลี่ยนสีเป็นสีแดงประหลาด ๆ หลุดจากแบ็คกราวนด์ นางงามแต่ละคนเดินนวยนาดสโลโมชั่น ส่ายหัวซ้ายที ขวาทียิ้มให้ผู้ชมและกรรมการ ภาพบางนี้ไม่ได้เห็นคงนึกไม่ออกว่า เมื่อก่อนนางงามเขาเดินกันแบบนี้ เรียกเสียงฮากันตึง หากนางสาวไทยในปัจจุบันรับรูปแบบมาใช้

นอกจากนี้ก็มีภาพหน้าโรงหนังเฉลิมกรุง ฉายเรื่อง โยยิมโบ (ไม่แน่ใจว่าอันเดียวกับของ คุโรซาว่าไหม) หนังที่ถ่ายวันแห่ศพ มิตร ชัยบัญชา งานวันเปิดบริษัท บี กริมม์ แอนด์ โก สาขาใหม่ เห็นเขาว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทเยอรมันเก่าแก่ที่เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม ซึ่งมาเปิดเมื่อ 130 ปีแล้ว ดูรายละเอียดที่นี่ http://www.siamtakeang.com/webboard/index.php?topic=662.0
ในภาพเป็นพิธีอัญเชิญตราครุฑพระราชทาน แขวนบนยอดสูง มีฝรั่งอ้วน ๆ ใส่สูทขาวหน้าตาเหมือนลุงนายพล KFC ที่ถ่ายกับหมู่พระกำลังสวด แล้วฝรั่งคนนี้ก็เดินลงไปที่ริมน้ำ ไม่รู้ไปทำอะไร

บางแง่มุมของหนังบ้านชวนให้นึกถึงหนังประเทศเชกเรื่องนี้ Private Century ที่ทำขึ้นจากหนังบ้านของประชาชนประเทศเขา http://twilightvirus.blogspot.com/2009/09/private-century.html

นึกถึงโครงการ Images for the Future ในอนาคต ฟิล์มไวรัส อยากจะรวบรวมหนังบ้านพวกนี้จากทุคภาคในประเทศไทย ก่อนที่ลูกหลานจะโยนอดีตของพ่อแม่ตัวเองทิ้งไป เอามาฉายโชว์ เก็บสต็อค จัดหมวดหมู่ เป็นวัตถุดิบที่เชิญคนทำหนังไทยหลาย ๆ คนมาตัดหนังคอลลาจในแบบของตัวเอง คงเป็น Anthology Films ที่น่าสนใจ แข่งกับ ปารีส เฌอแตม

นึกถึงอีกเรื่อง Lisbon Story ของ Wim Wenders (http://www.youtube.com/watch?v=yGTm7XlrUeA) มีตัวผู้กำกับที่หนีการทำหนัง ไปเป็นคนเร่ร่อนสะพายกล้องติดหลัง ให้กล้องมันถ่ายของมันเอง ถ่ายไปเพื่อเก็บวีดีโอให้คนรุ่นอนาคตดู (แต่เจ้าตัวไม่ดู) ไม่รู้มีใครจำได้ไหม

นั่นล่ะ หนังบ้าน ฉายกันไปในงานวันหนังบ้านสากล ปีนี้เพิ่งฉายไปเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2552 ที่โรงหนังศรีศาลายา หอภาพยนตร์แห่งชาติ อดีตที่ล่วงลับ กับบางอดีตที่ฟื้นคืน ไม่ต่างมากนักจากนิยายเรื่อง The Brief History of the Dead ของ Kevin Brockmeier http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-3-brief-history-of-dead.html ที่ความทรงจำถึงตัวคนตาย จะยังคงอยู่ก็ต่อเมื่อยังมีคนที่มีชีวิตคนใดสักคนซึ่งยังทะนุถนอมความทรงจำนั้นไว้

ทั้งน่าสลดและน่าซาบซึ้งว่า ความชอบ ความหลงใหล ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของที่เราถือมั่น และบางคราวเลือกใช้ฟิล์มจับต้อง บันทึกภาพไว้ เก็บภาพ “ความตายที่กำลังดำเนินการ” death at work (เพราะคิดว่ามันจะอยู่คงทนด้วยการสลักเสลาผ่านห้วงเวลา- sculpting in time) นั้นสุดท้ายแล้ว หลายอย่างก็สลายกายภาพและพลังเจิดจ้าของมันลงไปจนไร้ความจีรังยั่งยืน เว้นแต่ฟิล์มนั้นจะสามารถจับความบางชนิดที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นสากลทางจิตใจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผ่านการลำดับภาพที่มีทิศทาง) เมื่อนั้นกายภาพที่เสื่อมสูญก็คงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไรอีก เพราะแรงขับ แรงปรารถนาดี (หรือกระทั่งแรงอาฆาตแนว Michael Haneke) ซึ่งบ่มเพาะไว้ผ่านอากาศธาตุ ก็เพียงพอให้คนจำนวนมากได้รู้สึกถึงแรงสัมผัส แม้จะไม่อาจมองเห็นโดยตาเปล่าได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณค่าของบางสิ่งย่อมแตกต่างกันไปโดยขึ้นตรงต่อผู้ดู / ผู้รับ คล้องจองกันไหมนะกับกรณี The Eye of the Beholder ชื่อนิยายนักสืบชั้นยอดของ Marc Behm (ที่กลายเป็นหนังสุดห่วยของผู้กำกับ Stephen Elliott - Priscilla, Queen of the Desert ร่วมด้วยช่วยกันห่วยโดย Ewan Mcgregor)

10/21/09

ลายเส้นหนุก ๆ ของ Kido Skie

ที่ระลึกจากน้อง Kido Skie


ยังไม่เคยเจอหน้าน้อง Kido Skie แต่ชอบลายเส้นสนุก ๆ ของน้องเขา เสียดายเห็นช้าไป ไม่งั้นจะเอาไปลง bookvirus ฟุ้ง 05 ฉบับ ‘นางเพลิง’ เอาเป็นว่าขอมาลงตรงนี้ก่อน แต่ลงที่ blogspot นี่ ภาพมันเล็กไป (กรุณาคลิกขยายดูรูปใหญ่) สงสัยเดี๋ยวคงต้องไปลงอีกทีที่ http://filmvirus.wordpress.com/




นี่คือบางตัวอย่าง เอาจริงต่อไปนะน้อง Kido Skie มีแววอยู่แล้วนี่นะเรา










(ใครชอบรูปไหนก็บอกน้อง Kido ได้นะครับ)

10/18/09

โรงแรมอัลฟ่าวิลล์


โรงแรม อัลฟ่าวิลล์ โดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
หนังสือดเล่มโปรดของ นิวัต พุทธประสาท นักเขียน-บรรณาธิการจากอัลเทอร์เนทีฟไรเตอร์ส และเม่นวรรณกรรม
(จากนิตยสาร GM เดือนตุลาคม 2552)

10/17/09

Filmvirus - The Return of First Episode


มันไม่ใช่เครื่องบิน มันไม่ใช่รถไฟ มันคือตัวอัปรีย์ ฟิล์มไวรัส
It’s alive! It’s back!

เพิ่งขุดพบไดโนเสาร์จากโกดัง
หนังสือ ฟิล์มไวรัส 01 ยุคบุกเบิก สมัยที่ชื่อ Godard, Kiarostami, Tarkovsky, Wong Kar wai ยังแปลกประหลาดนอกโลก กลับมาจำหน่ายแล้วในจำนวนจำกัด สภาพไม่งดงามขาวสวยเหมือนใหม่ เพราะพิมพ์มากว่า 11 ปีแล้ว (ปี 2541) ใครผู้ใด๋ ส่นใจ๊ อยากด้าย เชิญแจ่มตามสำราญ ได้ที่บู้ธอัลเทอร์เนทีฟไรเตอร์ - บู้ธ Alternative Writers โซน C ชั้น 1 เลขบู้ธ 015

รีบด่วน เพราะสต็อคมีน้อย อาจหาไม่ได้อีกแล้วในรอบหน้า ขาย 200 บาทเต็มราคา ไม่มีลดจ้า!

10/15/09

Every Day is a Holiday (Chaque Jour est une Fête) ที่งานเทศกาลหนัง Mannheim-Heidelberg 2009

3 สาวเลบานอนบุก!

เพิ่งวางตลาด 'นางเพลิง' bookvirus ฟุ้ง 05 ไปเมื่อวาน มาวันนี้ชีวิตดูมีสีสันเพราะข่าวล่าสุดที่เพิ่งได้รับจาก เทศกาลหนังมันน์ไฮม์-ไฮเดลแบร์ก
58th International Filmfestival Mannheim-Heidelberg 2009:
http://www.iffmh.de/en/Homepage/

งานนี้เคยไปมาครั้งหนึ่งเมื่อกี่ปีแล้วนะ? นึกไม่ออก แต่เห็นโปรแกรมปีนี้แล้วน่าสน เห็นมีคารวะ Atom Egoyan และโปรแกรมหนังอิหร่านอันเดอร์กราวนด์ด้วย แล้วยังมี.....

สาวสวยคนนี้ ใครจำเธอได้บ้าง Dima El-Horr สาวชาวเลบานอน คนที่ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เคยสัมภาษณ์ลงหนังสือกระจอกกระจิบชื่อ Filmvirus 01 ไงจ๊ะ มาบัดนี้เธอมีผลงานหนังใหญ่แล้วในชื่อ Every Day is a Holiday (Chaque Jour est une Fête) เข้าประกวดที่เทศกาลหนังโตรอนโต้ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง

โปรแกรมหนังที่เทศกาลโตรอนโต้
http://www.tiff.net/filmsandschedules/films/everydayisaholiday

อ่านที่ฝรั่งเขียนในโปรแกรมข้างบนแล้วขำ มันไปเอาข้อมูลจากที่ไหนว่า อภิชาติพงศ์ ปลื้มกับหนังของ ดิม่า จนต้องตามหาตัว ดิม่า มาสัมภาษณ์ มันอาจไม่รู้นิ (หรือไม่ยอมบอก) ว่าสองคนนี้เรียนรุ่นเดียวกันที่ Art Institute of Chicago แล้วใครอีกคนที่ประทับใจกับหนัง The Street จนยุเจ้ยให้สัมภาณ์เธอ

(สันนิษฐานว่าคนเขียนข้อมูลอ่านบล็อกคนไทย หนู CelineJulie แห่ง Limitless Cinema)

ตามข่าวว่า Every Day is a Holiday (Chaque Jour est une Fête) ของสาว Dima El-Horr นั้นเป็นเรื่องแนว Road Movie ของสามสาวที่ขึ้นรถเมล์มุ่งหน้าไปยังคุกชายด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป คนหนึ่งไปหาผัวที่เพิ่งถูกจับหมาด ๆ หลังเข้าหอ อีกคนอยากให้ผัวเซ็นใบหย่า ส่วนคนสุดท้ายใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เอาระเบิดไปให้ผัวที่เป็นยาม แน่นอนว่าระหว่างทางต่างคนก็ต่างค้นพบตัวเอง แล้วสะท้อนภาพความขัดแย้งร้างเรื้อกลางเมืองอะไรกันไปตามถนัด

มี Facebook ด้วยเผื่อสมัครเป็นแฟนหนัง Dima El-Horr แต่เนิ่น ๆ เชิญไปให้กำลังใจกันนะ http://www.facebook.com/group.php?gid=96878296806
Hooray for Dima!
Good Luck with your Film

10/13/09

เผยโฉมสาวโฉด ‘นางเพลิง’ bookvirus ฟุ้ง 05

เรื่องสั้นแปล ‘นางเพลิง’ bookvirus ฟุ้ง 05

กลับมาหมดแล้วหมดกันอีกครั้ง กับโลกของนักเขียนหญิง และกงการวายวุ่นของเจ้าหล่อน
ด้วย 3 เรื่องสั้นแปลของ 3 สาว 3 พิกล อวลกลิ่นกิมจิและโซบะ

ขึ้นชื่อว่า ฟิล์มไวรัส และ บุ๊คไวรัส เรื่องยอดขายไม่ต้องพูดถึง กระฉูด!

จาก ฟิล์มไวรัส เล่ม 1 (ปี 2541) พิมพ์ 3,000 เล่ม ขายมาหลายชาติกว่าจะยุบ กระทั่งถึงคราว bookvirus 03 เรื่องสั้นแปลชุด ‘กาจับโลง’ กัดฟันพิมพ์สองร้อยเล่ม มี แดนอรัญ แสงทอง ช่วยแปล แอบหวังว่าจะมีป๋าดัน เจ๊ดัน ช่วยกวาดเกลี้ยงแผง แต่ก็ยังอุตส่าห์วิ่งสโลโมชั่น http://dkfilmhouse.blogspot.com/2009/07/bookvirus-series-03.html

เล่มใหม่ bookvirus 04 ‘สนธิสัญญาอสูร’ กับ bookvirus 05 ‘นางเพลิง’ จึงพิมพ์ปกละหนึ่งร้อยเล่มเท่านั้น (หลังแจกจ่ายผู้หลักผู้ใหญ่ คงวางขายจริงไม่เกิน 80 เล่ม) เอาเข้าไป! กะแข่งกับหนังสือใบลานหรือไง อยากเห็นหน้าคนซื้อจริง ๆ ว่า ในจำนวนคนซื้อ 80 คนนี้ มีหน้าตาประหลาดจากชาวโลกไหม

สาวสวยที่ถูกยัดเยียดให้โหดตามภาพนี้คือใคร ย่อมไม่มีใครตอบถูก
ยกเว้น แก๊ง ชาร์ลี แองเจลส์ ที่เราตั้งใจจะอุทิศให้อย่างเป็นทางการ (แต่แล้วก็ด้วยปัญหาทางการจัดพิมพ์จึงต้องเปลี่ยนมาบอกป่าวกันในที่นี้)

3 สาวในเรื่องสั้นอาจจิตตกไม่ถึงพระเดชพระคุณ ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า
ขอกลับมาแก้ตัวคราวหน้ากับ La Maladie de la Mort ของ Marguerite Duras แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส (bookvirus ร่วมมือกับวารสาร อ่าน)

* หนังสือ filmvirus และ bookvirus มีอาละวาดชัวร์ที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติระหว่างวันที่ 15 – 25 ตุลาคม 2552 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ *

หนังสือในเครือ filmvirus และ bookvirus
บู๊ธ Alternative Writers โซน C ชั้น 1 หมายเลขบู๊ธ O15
ซื้อ filmvirus เฉพาะเล่ม 3 กับ สัตว์วิกาล: ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และเล่ม 151 Cinema ได้ที่บู๊ธ open - Plenary Hall บู๊ธ K 05
เฉพาะ bookvirus ซื้อได้ที่ บู๊ธของ วารสารอ่าน และ ฟ้าเดียวกัน - บู๊ธ โอ 59 โซน ซี 1
เฉพาะ bookvirus ซื้อได้ที่ บู๊ธของสำนักพิมพ์คมบาง - บู๊ธ M 32 โซน C 1 ชั้นล่าง

10/11/09

‘สนธิสัญญาอสูร’ bookvirus 04 และ ‘นางเพลิง’ bookvirus 05 อาละวาดชัวร์ที่งานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคม 2552 (เวอร์ชั่น 100 เล่มหมดแล้วหมดกัน)

‘สนธิสัญญาอสูร’ bookvirus 04 และ ‘นางเพลิง’ bookvirus 05 บุกงานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคม 2552 (พิมพ์อย่างละหนึ่งร้อยเล่ม)

bookvirus กลับมาอีกครั้งคราวนี้กับ 3 เรื่องสั้นแปลคัดสรรในแต่ละเล่ม

เพื่อให้เข้ากับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง (ขาดมือ) bookvirus 04 และ 05 จึงปรับกระแสทันแฟชั่นด้วยการลดจำนวนพิมพ์ลง จากเล่มที่แล้ว bookvirus ฟุ้ง 03 เวอร์ชั่น ‘กาจับโลง’ พิมพ์สองร้อยเล่ม http://dkfilmhouse.blogspot.com/2009/07/bookvirus-series-03.html

มาคราวนี้ ‘สนธิสัญญาอสูร’ และ ‘นางเพลิง’ ภูมิใจลดจำนวนลงเพื่อแข่งกับการสะสมใบลาน เป็นจำนวนหนึ่งร้อยเล่มเท่านั้น เบ็ดเสร็จแจกจ่ายญาติผู้ใหญ่แล้ว คาดว่าคงมีเหลือวางจำหน่ายอย่างละ 80 เล่ม ขายหมดแล้วหมดเลย ไม่มีพิมพ์ซ้ำ

งานนี้ไม่ต้องหวังลม ๆ แล้ง ๆ รอป๋าดันหรือแม่ยกเขียนเชียร์

‘สนธิสัญญาอสูร’ มีตีพิมพ์ 2 ปก ให้เลือกอย่างละ 50 เล่ม ไฉไลดีไซน์โดย นฆ ปักษนาวิน และ ภีม อุมารี (ภาพประกอบเรื่องสั้นโดย Mr. Ripley)

ซื้อหนังสือ filmvirus และ bookvirus ได้ที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติระหว่างวันที่ 15 – 25 ตุลาคม 2552 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์

หนังสือในเครือ filmvirus และ bookvirus
บู๊ธ Alternative Writers โซน C ชั้น 1 หมายเลขบู๊ธ O15
ซื้อ filmvirus บางเล่มได้ที่บู๊ธ open K 05
เฉพาะ bookvirus ซื้อได้ที่ บู๊ธของ วารสารอ่าน และ ฟ้าเดียวกัน - บู๊ธ โอ 59 โซน ซี 1
เฉพาะ bookvirus ซื้อได้ที่ บู๊ธของสำนักพิมพ์คมบาง - บู๊ธ M 32 โซน C 1 ชั้นล่าง

10/3/09

Truffaut and Rivette เมื่อคนรักหนังกระทบไหล่กับคนทำหนังระดับบรมครู

ฟังเรื่องการสัมภาษณ์ผู้กำกับในงานบางกอกฟิล์มจาก filmsick แล้ว พอวันถัดมาอ่านเจออันนี้

ในสมัยหนึ่งที่ François Truffaut กับ Jacques Rivette ยังไม่อยู่ในตำนานนักทำหนังที่โลกจดจำอย่างเช่นทุกวันนี้ มีอย่างหนึ่งที่ทั้งคู่บุกเบิกไว้ที่นิตยสาร Cahiers du cinéma นิตยสารหนังเล่มประวัติศาสตร์ (ที่ปัจจุบันอายุเกือบ 60 ปีแล้ว) นั่นคือการใช้เทปอัดสัมภาณ์ผู้กำกับ

แน่นอนสมัยนี้ใคร ๆ ก็อัดเสียงสัมภาษณ์ได้ง่ายสะดวก ปัจจุบันหนังสือสัมภาษณ์คนทำหนังในเครือสำนักพิมพ์ Faber and Faber Books ก็ทำหนังสือแบบนี้มาเยอะแยะ แต่ดั้งเดิมทีเครื่องอัดเทปเสียงยี่ห้อ Grundig นั้นน้ำหนักเกือบ 9 ปอนด์ เป็นเทปเสียงม้วนกลม ๆ ที่ต้องสาวเทปเข้าม้วนเปล่าฝั่งตรงข้าม (เหมือนฟิล์มหนัง) สมัยก่อนยังไม่มีใครเคยริเริ่มใช้อัดสัมภาษณ์ศิลปินสด ๆ แบบตีพิมพ์กันยาว ๆ มีแต่เคยใช้บันทึกความเห็นดาราหรือผู้อำนวยการสร้าง แต่ยังไม่เคยมีใครสนใจมาใช้บันทึกความเห็น หรือคุยเจาะลึกเรื่องหนังกับผู้กำกับมาก่อน (ยิ่งสมัยนั้นหนังยังไม่ถูกนับเป็นงานศิลปะ คนจึงเข้าใจกันว่าผู้กำกับไม่มีเรื่องจะพูด) ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ เห็นตัวอย่างจากการสัมภาณ์วิทยุที่ Paul Léautaud ไปสัมภาษณ์นักเขียน Robert Mallet เขาเลยลองเอามาใช้บ้าง ผลก็คือบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ Jacques Becker (ปัจจุบันนี้คนรู้จักเขาจากหนังคลาสสิกสามเรื่องคือ Casque d’ Or กับ Touchez pas au Grisbi และ Le Trou) ความยาว 12 หน้า อันเป็นบทสัมภาษณ์ระดับมาสเตอร์พีซชิ้นแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1954 ซึ่งเก็บความมาจากการคุยกว่าสามชั่วโมง


แก๊งสัมภาษณ์ของสองหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า Truffette กับ Rivaut กลายเป็นทีมคู่หู คู่สัมภาณ์ที่แยกกันไม่ออก มีผลงานต่อเนื่องมาด้วยกันหลายเล่ม ว่ากันว่าตอนแรก Jacques Becker นึกว่า สองคนนี้เป็นคู่เกย์เสียด้วยซ้ำ


ระหว่างปี 1954-1957 ทีมงานนิตยสาร Cahiers du cinéma ซึ่งรวมถึง Jean Luc-Godard และคนอื่น ๆ ร่วมกันทำบทสัมภาษณ์ผู้กำกับที่กลายเป็นครูใหญในวงการหนัง เช่น Jean Renoir, Luis Buñuel, Roberto Rossellini, Abel Gance, Alfred Hitchcock, Howard Hawks, Robert Aldrich, Joshua Logan, Anthony Mann, Max Ophüls, Vincente Minnelli, Jacques Tati, Orson Welles, Gene Kelly, Nicholas Ray, Richard Brooks, Luchino Visconti และ Fritz Lang ชึ่งผู้กำกับเกือบทั้งหมดในรายชื่อเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นสถาบันภาพยนตร์ที่ Truffaut, Rivette และเพื่อน ๆ ร่วมปลูกฝังรากฐานการศึกษาภาพยนตร์มาจนถึงทุกวันนี้



น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า คอหนังยุคใหม่ ๆ อาจจะมองข้ามฝีมือทำหนังของ François Truffaut ไป นึกว่า Truffaut มีแต่หนังของตายอย่าง Jules and Jim, Day for Night หรือ The 400 Blows จนลืมไปว่างานเล็ก ๆ อย่าง The Wild Child, Small Change, Two English Girls, The Man Who Loved Women และ The Green Room ก็น่าประทับใจไม่ใช่น้อย ไหนจะ Fahrenheit 451 และ The Last Metro อีกล่ะ ชวนให้นึกถึงตัวเองสมัยดูหนังใหม่ ๆ ว่าเคยตื่นเต้นกับ Godard, Rivette มากกว่า ทรุฟโฟต์ แค่ไหน เคยดูถูกว่า Truffaut สู้คนอื่นไม่ได้เพราะดัดแปลงหนังสือมาเป็นหนังบ่อย ๆ แต่ที่จริงหนังแบบวรรณกรรมของ Truffaut ก็น่าประทับใจไม่น้อย