1/31/08

Björk กับ Tarkovsky

Björk กับ Tarkovsky

บียอร์ก - บีเยิร์ก (Björk / Vespertine, Homogenic) กับ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Andrey Tarkovsky) มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ไม่ใช่แค่จากมิวสิควีดีโอเก่า ๆ ของ บียอร์ก เท่านั้น
ลองฟังเพลง Dull Flame of Desire ซึ่งเนื้อเพลงได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีรัสเซียในฉากจบของหนังเรื่อง Stalker (อังเดร ทาร์คอฟสกี้)

บียอร์ก เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Wow and Flutter ว่าจากที่เคยหงุดหงิดตอนดูหนังของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ ครั้งแรก ๆ กว่าที่จะปรับใจยอมรับและชื่นชมหนังทาร์คอฟสกี้ได้ ต้องใช้เวลาและความพยายามนานไม่น้อย กว่าเธอจะหลงรักหนังของทาร์คอฟสกี้ในที่สุด

(ภาพจาก บัตรคอนเสิร์ต ของ บียอร์ก ที่อินดอร์สเตเดี้ยม กรุงเทพ ฯ และหนังสือเล่มเขื่องชื่อ Tarkovsky ของสำนักพิมพ์ Black Dog : http://www.blackdogonline.com/all-books/tarkovsky.html ที่รวมบทความของหัวกะทิหลายคน รวมทั้ง ฌอง ปอล-ซาร์ตร์ และ มาร์ค ฟอร์สเตอร์)

ฟังเสียงและเพลงประกอบหนังของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ได้ที่ http://www.myspace.com/forandrei

Mr. Magorium's Wonder Emporium


Now Showing

in Bangkok

Naughty, Bitchy Cukor

Naughty, Bitchy Cukor





Tata…… Tart
นัง หล่อน อี จับตบคว่ำ
รสสะเด็ดของ George Cukor

Irish Video Works


Heavier-than-air flying machines are impossible

ผลงานวีดีโอส่าสุดของกลุ่มศิลปินชาวไอร์ริช คัดสรรโดย Pallas Contemporary Project

วันที่: 22 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2551

เวลา: 12.00 – 17.00 น.

สถานที่: ห้องสมุดวิลเลี่ยม วอร์เรน ชั้น 4 อาคารเฮนรี่ บี ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระราม 1
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพ

ศิลปิน / ผลงาน:
Fiona Whitty – ‘Waiting room’
Aideen Barry – ‘Levitating’
Anne Maree Barry – ‘Covered road’
Cliona Harmey – ‘Seneca’
Kelly O’Conner – ‘Navigating the Mortgage’
Daren Bolger – ‘Benzo dreams’
Gavin Murphy – ‘Sketches for a Light/Heavy Monument’ (detail)

จากบทพิสูจน์ของการมองความจริงนอกกรอบเดิมๆที่เคยมีมา นำมาซึ่งความภูมิใจที่จะนำเสนอ นิทรรศการ งานวีดีโอเปิดกรอบ ของกลุ่มศิลปินร่วมสมัย จากประเทศไอร์แลนด์ จัดโดย Pallas Contemporary Project ร่วมกับ โปรเจค 304 (Project 304) โดยงานนิทรรศการ Heavier-than-air flying machines are impossible นี้ ถือเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะออกสู่สายตาผู้ชมในกรุงเทพมหานคร เป็นครั้งแรก งานนิทรรศการนี้ เชื่อมโยงเป็นวงจรกับงานนิทรรศการ Head or Tail โดย คุณกฤติยา กาวีวงศ์ และคุณไมเคิล เชาวนาศัย ซึ่งนำเสนอผลงานวีดีโอร่วมสมัย จากศิลปินในประเทศไทย ณ.Pallas Contemporary Project gallery เมือง ดับลิน เมื่อวันที่ 19ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา

ศิลปินเหล่านี้รื้อกรอบความจริงที่เคยมีและนำมาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นใหม่ ภายใต้การตั้งขอสงสัยกับบรรทัดฐานของสังคม รวมถึงความเคยชินในการใช้ชีวิตแต่ละวัน จากการเคลื่อนไหวของคำถามและข้องสงสัยที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของศิลปินเหล่านี้ว่า กฎเกณฑ์ต่างๆสามารถยึดถือได้มากน้อยแค่ไหน? เบื้องลึกจริงๆของกฎเหล่านั้นคืออะไร? เราสามารถเสนอในสิ่งที่ไม่มีข้อพิสูจน์ได้หรือไม่? ความเป็นจริงอยู่ที่ไหนกันแน่? และเป็นไปได้ไหมที่จะมองความเป็นจริงของพวกเราให้ชัดๆอีกสักครั้ง? งานนิทรรศการ Heavier-than-air flying machines are impossible จะทำหน้าที่เป็นเครื่องวัด และเครื่องตรวจสอบความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงบนโลกนี้ และนำมาซึ่งผลที่ไม่ตายตัว

Pallas ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยเหล่าบรรดาศิลปินในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ วัตถุประสงค์เพื่อมอบโอกาส และพื้นที่ในการแสดงงานให้กับศิลปินร่วมสมัย จนได้รับรางวัลต่างๆมากมาย จนถึงปัจจุบัน Pallas ได้ร่วมงานกับศิลปินทั้งในสายศิลปะแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ร่วมหลายร้อยท่าน จากทั้งในประเทศไอร์แลนด์เองและต่างประเทศ และเนื่องจากในปี 2007 ได้ถึงกำหนดการการรื้อถอนพื้นที่แสดงงานเดิม Pallas Heights [www.pallasheights.org] Pallas จึงได้เปิดพื้นที่แสดงงานขึ้นใหม่ในเดือนมกราคม 2007 ที่ผ่านมา [www.pallasprojects.org]

โปรเจค 304 (Project 304) เป็นองค์กรศิลปะอิสระ ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 เพื่อสนับสนุนศิลปินร่วมสมัย และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ผ่านทางนิทรรศการงานศิลปะ รวมทั้งสื่อ และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึง เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ Bangkok Experimental Film Festival (BEFF) ด้วย ถึงแม้ว่าขณะนี้ พื้นที่สำหรับการจัดแสดงงานของโปรเจค 304 (Project 304) ได้ปิดทำการไปแล้ว แต่โปรเจค 304 (Project 304) ยังคงทำงานจัดการ และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในท้องถิ่น และนานาชาติ

Pallas โดยการสนับสนุนจาก The Arts Council of Ireland and Dublin City Council

1/25/08

วีดีโอสามัญประจำบ้าน ตอน Werner Herzog

วีดีโอสามัญประจำบ้าน ตอน Werner Herzog
วีซีดี 2 เรื่องของยอดผู้กำกับเยอรมัน แวร์เนอร์ แฮร์โซก (Werner Herzog)
ผลงานนำแสดง 2 เรื่องของ เคล้าส์ คินสกี้ (Klaus Kinski) ดาราคู่บุญของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก
ผลงานเรื่องแรกที่ทั้งสองจับคู่กันคืองานคลาสสิก Aguirre, The Wrath of God ชื่อไทยว่า “ผู้กล้าแดนทมิฬ” (วีซีดีของบริษัท Elephant Media Link)
และผลงานอีกเรื่องที่ทั้งคู่ร่วมงานกันเป็นครั้งสุดท้าย Cobra Verde ชื่อไทยว่า “ยอดนักสู้แดนทมิฬ” (วีซีดีของบริษัทยูนิคอร์นพิคเจอร์จำกัด) คุณภาพแผ่นพากย์ไทยอาจไม่ดีนัก แต่ขอลงบันทึกไว้ว่าหนังน่าสนใจในห้างบิ๊กซี-โลตัสหรือปั๊มน้ำมันใกล้บ้านคุณก็ยังพอมี (ขนาด El Topo หรือหนัง อังเดร ทาร์คอฟสกี้ก็ยังมีแล้วตั้ง 2 เรื่อง) อ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียดเกี่ยวกับ Werner Herzog และหนังของเขาที่ถ่ายทำในเมืองไทยได้จากหนังสือ The 8 Masters ของ filmvirus / openbooks อ่านรายละเอียดที่นี่ http://www.onopenbooks.com/product.detail_0_th_1037515 และอ่านวิจารณ์ Aguirre, Wrath of God ได้ที่ http://www.onopen.com/2005/02/108

1/21/08

YEVGENY YUFIT นักทำหนังผู้คลั่งไคล้ความตาย'!


Yevgeny Yufit
นักทำหนังผู้คลั่งไคล้ความตาย
บทความโดย . . . 'กัลปพฤกษ์'





ไม่บ่อยครั้งนักที่คนทำหนังเพียงลำพังจะสามารถสร้างตระกูลหนังขึ้นมาใหม่ได้โดยไม่อาจหาใครลอกเลียนแบบ

แต่ผู้กำกับรัสเซีย Yevgeny Yufit ก็ได้สร้างปรากฏการณ์นี้ไว้เรียบร้อยแล้วกับหนังสกุล Necrorealism หรือ 'สัจนิยมแห่งความตาย' ที่เขาได้บุกเบิกเอาไว้ตั้งแต่ ช่วงกลางทศวรรษ 1980's และยังไม่สามารถหาใครมาสานต่อปณิธานอันนี้อีกได้นอกจากตัวของเขาเอง

Yevgeny Yufit เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1961 ณ เมือง Leningrad (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Saint Petersburg) ในรัสเซีย และได้เข้าศึกษาที่ Leningrad Technical Institute ในช่วงต้นทศวรรษ 1980's ซึ่งก็เป็นช่วงที่เขาเริ่มมีผลงานด้านภาพเขียนและภาพถ่าย เมื่อจบการศึกษา Yevgeny Yufit ก็เริ่มหันมาสนใจงานภาพยนตร์ เขาได้ร่วมกับผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งกลุ่มหนังอิสระ Mazhalala Film ผลิตผลงานหนังสั้นใต้ดิน เพื่อทวนกระแสหนังตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากสตูดิโอ Goskino ซึ่งถูกควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาล

กลุ่มหนังสั้นของ Mazhalala Film ในช่วงทศวรรษ 1980's นี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของหนังตระกูล Necrorealism ซึ่ง Yevgeny Yufit ตั้งใจจะเย้ยหยันศิลปะแนว Socialist Realism ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โซเวียตพยายามสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างภาพลักษณ์อันดีงามของระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม


ผลงานเด่นของ Mazhalala Film ในช่วงนี้อย่าง Werewolf Orderlies (1984) , Spring (1987) และ Suicide Monsters (1988) มักจะถ่ายทำกันด้วยฟิล์มขาวดำหมดอายุ ให้ภาพที่แลดูดิบหยาบราวกับเป็นหนังที่สร้างกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1910's แล้วเพิ่งจะมีการค้นพบ โดยภาพที่ปรากฏในหนังมักจะเป็นการสะท้อนถึงการ 'ถูกกระทำ' ทางจิตวิญญาณของผู้คนในรัสเซียอันเป็นผลมาจากระบอบการปกครอง ซึ่งรังแต่จะลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้คนลงจนแทบจะไม่เหลือความเป็นคนอีกต่อไป หนังสั้นในยุคนี้จึงอุดมไปด้วยภาพการถูกสังหารและทารุณกรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาจากคนในเครื่องแบบที่เป็นตัวแทนของฝั่งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น ทหาร หรือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถึงแม้ว่าการกระทำในหลาย ๆ ฉากจะชวนให้หวาดเสียว แต่ Yevgeny Yufit ก็ดูจะระมัดระวังในการคุมโทนออกมาไม่ให้แลดูน่ากลัวจนประเจิดประเจ้อแบบที่เห็นกันบ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ เพื่อให้ฉากต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีน้ำหนักในฐานะภาพเปรียบเปรยถึงสิ่งที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนของเขามากกว่าจะเป็นการสร้างความน่ากลัวกันอย่างไร้เหตุผล

Suicide Monsters (1988)

ถึงแม้ว่าจุดประสงค์หลักของหนังกลุ่ม Necrorealism นี้จะมุ่งเน้นการโจมตีการสร้างภาพลวงของการส่งเสริมศิลปะสกุล Socialist Realism ของรัฐบาล แต่ Yevgeny Yufit ก็มิได้นำเสนอสารเหล่านี้อย่างกราดเกรี้ยวตรงไปตรงมา ตรงกันข้ามเขากลับถ่ายทอดเนื้อหาอย่างนามธรรม ปลอดจากการเล่าเรื่องราวที่เป็นแก่นสารกันอย่างชัดเจน ฉากต่าง ๆ ทั้งจากการถ่ายทำ และภาพ reel footage เก่า ๆ ของ เครื่องบิน เรือรบ รถไฟ และกิจกรรมการสวนสนามรวมทั้งการเล่นกีฬากายกรรม จึงถูกทำมาร้อยเรียงอย่างสะเปะสะปะ คล้ายจะเป็นการหลบเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมในการเชื่อมโยงภาพต่าง ๆ เพื่อรับทราบ 'อารมณ์และความรู้สึก' ในฐานะผู้ถูกกระทำที่หนังได้แฝงเอาไว้ด้วยตนเอง

Spring (1987)

หลังจากทำหนังสั้นอยู่ได้ราว 5 ปี Yevgeny Yufit ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้กำกับ Alexander Sokourov ให้เข้าเรียนในสถาบันสอนภาพยนตร์ของ Lenfilm Studio ที่เขาได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1989 ซึ่งก็เป็นโอกาสอันดีที่ Yevgeny Yufit และผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เคยเป็นทีมงานและนักแสดงในหนังสั้นของเขาจะได้มีโอกาสทำหนังขนาดยาวด้วยฟิล์ม 35 มม. ซึ่งผลงานเด่นในยุคนี้ที่ถือเป็นตัวแทนของหนังกลุ่ม Necrorealism ได้ดีอีกเรื่องหนึ่งเลยก็คือ The Wooden Room หนังความยาวชั่วโมงเศษ ๆ ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1995


เมื่อได้ถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35 มม. ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็มีโอกาสที่จะทดลองแนวทางการกำกับภาพใหม่ ๆ ในแบบฉบับของตัวเองได้คล่องตัวมากขึ้น จากการปะติดปะต่อภาพจากแหล่งต่าง ๆ โดยสะเปะสะปะในหนังสั้นของเขา Yevgeny Yufit ก็เริ่มหันมาสนใจการถ่ายภาพมนุษย์ท่ามกลางธรรมชาติของทุ่งหญ้าและป่าโปร่งด้วยจังหวะหนังที่ลากยาวแบบ Long-Take มากขึ้น และถึงแม้ว่าผู้กำกับจะมีอิสระในการเลือกถ่ายทำหนังด้วยฟิล์มสี แต่เขาก็ยังคงยึดมั่นที่จะถ่ายทอดบรรยากาศอันหดหู่แห้งแล้งไร้ชีวิตด้วยฟิล์มขาวดำซึ่งก็จะกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวในงานภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ ไปของเขาด้วย

เนื้อหาใน The Wooden Room ยากแก่การบอกเล่า เพราะหนังมุ่งถ่ายทอดภาพและบรรยากาศในเชิงนามธรรมของซากชีวิตที่สถิตอยู่ในดินแดนอันเป็นรอยต่อระหว่างโลกของความเป็นและความตาย โดยแกนหลักของหนังก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการสะท้อนสภาพชีวิตที่ไม่ต่างจากผีดิบของคนในชนบทของรัสเซียที่ความสิ้นไร้จิตวิญญาณใด ๆ ของพวกเขาชวนเรารู้สึกได้ว่าบางครั้งการปลิดชีวิตตัวเองลงเสียเพื่อจะได้ไม่ต้องหายใจอาจจะเป็นอะไรที่ดีกว่าการดำรงอยู่โดยปราศจากความหมาย หนังจึงเต็มไปด้วยภาพการประกอบอัตวินิบาตกรรมสุดพิสดาร ไม่ว่าจะเป็นการผูกห้อยชิงช้าไม้กระดานไว้กับต้นไม้ใหญ่แล้วใช้มีดฟันเชือกล่ามให้หัวโหม่งกระทบต้นไม้อีกต้นจนตาย หรือการใช้เชือกผูกคอไว้แล้วโยนก้อนหินให้สุนัขวิ่งลากจนหมดลม!

ถึงแม้อารมณ์โดยรวมใน The Wooden Room นี้จะอุดมไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวังซังกะตาย แต่ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็ดูจะใช้เทคนิคด้านภาพด้วยลีลาสวิงสวายที่จัดวางตำแหน่งระยะใกล้ไกลของผู้คนและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างมีสีสันแปลกหูแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นการจัดภาพด้วยเทคนิค Deep Focus การกระจายตำแหน่งของตัวละครจนทั่วเฟรม หรือการเล่นภาพมุมก้มและเฉียงที่เอนเอียงไปจากความสมดุล นอกเหนือจากลีลาอันอลังการในด้านงานภาพเหล่านี้แล้ว The Wooden Room ยังมีการใช้ลูกเล่นหนังซ้อนหนัง โดยการให้ภาพบางช่วงเป็นภาพที่เกิดจากการฉายด้วยแผ่นฟิล์มของตัวละคร ซึ่งก็ดูจะมีเป็นการเล่นมิติเชิงซ้อนที่ชวนให้ฉงนฉงายกันได้อีกหนึ่งชั้นว่ามันกำลังสื่อถึงอะไรหรือ? สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่จะปรากฏให้เห็นในหนังของผู้กำกับรายนี้อีกหลายครั้งก็คือภาพของผืนน้ำที่ค่อย ๆ กระเพื่อมไหลไปอย่างสงบนิ่งแฝงพลัง รวมทั้งการชำระล้างร่ายกายและการทอดร่างนอนตายของทั้งมนุษย์และสัตว์ในสายน้ำที่ดูคล้ายจะมีการพาดพิงถึงประเด็นทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการชำระล้างทางจิตวิญญาณ แม้ว่าหลาย ๆ จุดใน The Wooden Room จะไม่ได้ให้ความกระจ่างชัดแก่คนดูสักเท่าไร แต่ด้วยอารมณ์หนังที่ทั้งแหวก ทั้งแปลก และสุดแสนจะประหลาดพิสดาร ก็ทำให้มันกลายเป็นงานที่น่าศึกษามากที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้กำกับ Yevgeny Yufit เลยทีเดียว

The Wooden Room (1995)


หลังจาก The Wooden Room แล้ว Yevgeny Yufit ก็หันเหมาสนใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะข้อมูลเชิงชีวภาพและวิวัฒนาการของมนุษย์มากขึ้น ดังที่จะปรากฏชัดในผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่องต่อมาคือ Silver Heads (1998) และ Killed by Lightning (2002) โดยใน Silver Heads นั้น Yevgeny Yufit ก็ได้เล่าถึงการทดลองทางชีววิทยาของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการจะผสมลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์และต้นไม้เข้าด้วยกันเพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงกว่า ด้วยเครื่องมือพิสดารที่จะสามารถกระทุ้งไม้ปลายแหลมและโปรยเศษไม้ให้เข้าไปในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ Yevgeny Yufit จงใจเล่าเรื่องราวการทดลองอันนี้เพื่อเสียดเย้ยนโยบายการพัฒนามนุษย์ให้มีศักยภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ว่าจะพยายามมากเท่าไร ผลสรุปสุดท้ายที่ได้ก็ยังคงหนีไม่พ้นการตระหนักซึ้งถึงความเปราะบางทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของมนุษย์ที่เหมือนจะไม่สามารถทนทานต่ออะไร ๆ ได้อย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีการใช้บทสนทนาและมีการเล่าเรื่องมากกว่าผลงานก่อน ๆ หน้า แต่ Yevgeny Yufit ก็ยังคงเอกลักษณ์ลีลาด้วยการใช้ภาพขาวดำที่คลาคล่ำไปด้วยมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ท่ามกลางการห้อมล้อมด้วยผืนน้ำและสภาพธรรมชาติ แถมด้วยฉากการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองอันเป็นลายเซ็นพิสดาร ซึ่งก็มีให้เห็นกันตั้งแต่การลื่น skate ให้ตกตลิ่งตาย หรือการเอาตัวไปดันกิ่งไม้ให้ทะลุกลางอก กันเลย


ส่วนใน Killed by Lightning ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็เหมือนจะมุ่งสำรวจความเป็นมาเป็นไปของมนุษย์ตั้งแต่ยุคสมัยที่บรรพบุรุษของเรายังเป็นวานร พัฒนากันมาอย่างมีลำดับขั้นตอนจนกลายเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน ผ่านการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้กำลังเตรียมเอกสารสำหรับการประชุมวิชาการครั้งสำคัญ แต่ดันถูกไวรัสคอมพิวเตอร์รบกวนขณะกำลังง่วนอยู่กับการพิมพ์งาน เธอจึงหันไปย้อนนึกถึงอดีตในวัยเด็กก่อนที่พ่อของเธอซึ่งเป็นทหารในเรือดำน้ำรัสเซียจะเสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อค้นหาคำตอบสำคัญให้กับตัวเองว่า มนุษย์เติบโตมีวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ 'สูงส่ง' กว่าบรรพบุรุษของเราจริง ๆ หรือ? Yevgeny Yufit ได้ให้เครดิตเอาไว้ว่าเขาได้อ้างอิงบทภาพยนตร์เรื่องนี้จากเรื่องสั้น The Murders in the Rue Morgue ของ Edgar Allan Poe แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว หนังเรื่องนี้กลับแทบจะไม่มีส่วนใดที่ไปข้องแวะกับเรื่องราวในเรื่องสั้นสยองขวัญอมตะชิ้นนี้กันเลยนอกจากภาพของลิงอุรังอุตังที่ปรากฏให้เห็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น การอ้างอิงถึง The Murders in the Rue Morgue ใน Killed by Lightning จึงน่าจะเป็นการได้รับแรงบันดาลใจมากกว่าจะเป็นการดัดแปลงเรื่องราวจากบทประพันธ์ เพราะนอกเหนือจากเรื่องราวที่ได้เล่าเอาไว้ข้างต้นแล้วนั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังก็ยังคงนำเสนอด้วยลีลาเชิงนามธรรมไม่ผิดไปจากผลงานเรื่องอื่น ๆ ของเขาเลย จุดที่แตกต่างแต่เพียงเล็กน้อยก็คือการใช้ภาพโทนซีเปียบอกเล่าเรื่องราวในภาพถ่ายเก่าสลับกับการนำเสนอภาพขาวดำของเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการใช้สีโทนน้ำตาลมาช่วยสร้างความสว่างให้กับหนังได้บ้าง แต่มันก็ยังจัดอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความหม่นหมองซึมเซาที่ไม่ได้ต่างอะไรจากการนำเสนอด้วยแสงเงาขาวดำ บรรยากาศโดยรวมของ Killed by Lightning จึงยังคงความเป็น Necrorealism ในแบบฉบับของ Yevgeny Yufit ได้อย่างหนักแน่น แม้หนังจะโดยโครงหลักของมันจะดู 'เป็นเรื่องเป็นราว' มากกว่าผลงานชิ้นใด ๆ ที่เขาเคยทำมาก็ตาม

Silver Heads (1998)

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจมากอย่างหนึ่งในหนังแทบทุกเรื่องของ Yevgeny Yufit ก็คือ ถึงแม้ว่าเนื้อหา ภาพ และบรรยากาศต่าง ๆ ในหนังของเขาจะฟังดูชวนให้ขนลุกขนพองได้มากมายขนาดไหน แต่เขาก็ไม่เคยใช้หยิบใช้กลเม็ดใด ๆ มาช่วยสร้างความตื่นเต้นระทึกใจให้กับคนดูเลยแม้แต่ฉากเดียว ภาพการทารุณกรรม การประกอบอัตวินิบาตกรรม และการทดลองทางชีววิทยาต่าง ๆ อาจจะเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมรุนแรงก็จริง แต่ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็ยังคงยึดมั่นนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในมุมมองของนักทำหนังแบบ Necrorealism ซึ่งจะต้องมองพฤติกรรมทั้งหมดด้วยสายตาอันสิ้นไร้จิตวิญญาณใด ๆ จนไม่อาจจะสร้างความตื่นเต้นอันแสดงให้เห็นถึงความ 'มีชีวิต' กันต่อไปได้ หนังของ Yevgeny Yufit จึงเปรียบเสมือนการเฝ้ามองความเสื่อมถอยของอารยธรรมนุษย์กันจากดินแดนปรภูมิ ณ ภาคภพที่รสนิยมทางศิลปะทั้งหลายต้องกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ และจะสัมผัสได้ก็ด้วยหัวใจที่ไร้สิ้นซึ่งจริตแห่งสัมปะชัญญะเท่านั้น . . .

คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามชมภาพยนตร์ทุกเรื่องของ Yevgeny Yufit ที่กล่าวถึงในบทความนี้ จากกิจกรรมการจัดฉายภาพยนตร์ในโปรแกรม "ชุมนุมหนังไซไฟพันธุ์พิลึกจากยุโรป" ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัศ) ในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก

1/20/08

เทศกาลหนังเด็กนานาชาติกรุงเทพ ฯ 2008

Bangkok International Children's Film Festival 2008

19-27 มกราคม 2551

ไม่ได้มีแค่ในต่างประเทศ หรือว่าต้องไปที่ Frankfurt แต่มีให้ดูแล้วที่เมืองไทย
ดูได้แล้ววันนี้ที่โรงหนังเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ปิ่นเกล้า และ TK Park เซ็นทรัลเวิล์ด

รายละเอียด งานเทศกาลหนังเด็กนานาชาติกรุงเทพ ฯ ครั้งที่ 2 ปี 2551
ดูได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ มีคำบรรยายไทย และ พากย์ไทย


คลิ้กดูที่นี่:http://bangkokchildrenfilm.multiply.com/

หรือที่เว็บไซต์ของ มูลนิธิหนังไทย:http://www.thaifilm.com/

1/16/08

Sunflower – ดอกไม้ในแสงแดด


อีกครั้งกับการแสดงของ 2 หนุ่ม 1 สาวที่มืออาชีพบนจอทีวีต้องยอมหลีกหลบ

เส้นแบ่งเขตระหว่างความรัก ความหลง และความใคร่ – มันช่างบางเหลือเกิน

ละครเวที multimedia จากนักแสดงรุ่นใหม่

Sunflower – ดอกไม้ในแสงแดด

โรงละครเล็ก crescentmoon space สถาบันปรีดี พนมยงค์สุขุมวิท 55 ทองหล่อ

แสดงวันที่ 18 19 20 มกราคม เวลา 19.30 เสาร์ อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.30

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม – 086- 814 1676

หรือ ข้อมูลที่ บล็อกพระจันทร์เสี้ยว: http://crescentmoonspace.blogspot.com/

อันดับ Top 10 Artvirus ที่รวมละครของพระจันทร์เสี้ยวการละคร : http://www.onopen.com/2008/editor-spaces/2514

1/14/08

สวรรค์ส่งมาโปรด : อีกครั้งกับ Monte Hellman

สวรรค์ส่งมาโปรด : อีกครั้งกับ Monte Hellman

Cockfighter หนังอีกเรื่องของ มอนตี้ เฮลแมน (Monte Hellman) ในฉบับพากย์ไทยว่า “ตำนานไก่ชนบันลือโลก”

นำแสดงโดย วอร์เรน โอ๊ตส์ (Warren Oates) นักแสดงจากงานคลาสสิคเรื่อง The Shooting และ Two Lane Blacktop ของ มอนตี้ เฮลแมน (เรื่องหลังจะกลับมาฉายอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ในโปรแกรมอเมริกันอินดี้ฉบับเพชรซ่อนคมของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ / ฟิล์มไวรัส)

อ่านเกี่ยวกับหนังของ มอนตี้ เฮลแมน (Monte Hellman) ได้ที่ มหัศจรรย์แผ่นหนังควบของ มอนตี้ เฮลแมน ณ นิมิตวิกาล : http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/monte-hellman.html

มอนตี้ เฮลแมน เคยกำกับ แจ็ค นิโคลสัน สมัยเพิ่งแสดงหนังใหม่ ๆ ในเรื่อง Flight to Fury (ซึ่ง นิโคลสันร่วมเขียนเรื่องด้วย) เป็นหนังคั้ลท์ประหลาดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับผู้โดยสารที่เครื่องบินตกในฟิลิปปินส์ หนังเรื่องนี้ถ่ายทำควบพร้อมกันกับ Back Door to Hell งานอีกเรื่องที่นิโคลสัน กับ เฮลแมน ผนึกกำลังถ่ายคู่เพื่อประหยัดสตางค์ให้ โรเจอร์ คอร์แมน (อ่านประวัติ คอร์แมน จาก ฟิล์มไวรัส 5: ฉบับปฏิบัติการหนังทุนน้อย) เสียดายอยากดูซ้ำอีก แต่เข้าใจว่าในปัจจุบันยังไม่มีออกดีวีดี

1/13/08

The Ring Finger: เสน่ห์มืดในแสงบรรเจิด

บทความที่เหลือในสต็อคนำทยอยลงพิมพ์ ณ ที่นี้ “นิมิตวิกาล”- filmvirus
(บางส่วนของบทความนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Pulp)

The Ring Finger:
Diane Bertrand at the Bangkok International Film Festival 2006
เสน่ห์มืดในแสงบรรเจิด
บทความและบทสัมภาษณ์โดย สนธยา ทรัพย์เย็น

สำหรับคนดูหนังและผู้อำนวยการสร้าง หนังฝีมือผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงลงหลักปักฐาน อาจเป็นได้ทั้งความเสี่ยงทางทุนรอนหรือประสบการดูหนังแบบใหม่ ๆ โชคดีที่สาวฝรั่งเศส ดิยาน แบร์ทรองด์ (Diane Bertrand) / ออกเสียงคล้าย “เดียน”) คงไม่ใช่คนที่ทำให้คนอื่นต้องลุ้นจนตัวโก่ง เพราะแม้ว่าเธอจะจัดเป็นคนทำหนังรุ่นค่อนข้างใหม่ เพิ่งทำหนังใหญ่แค่เรื่องที่สอง แต่ก็มีประสบการณ์ในแวดวงบันเทิงมาพอตัว ทั้งเคยทำละครเวที ออกแบบท่าเต้น ทำหนังสารคดีกับหนังทีวีอย่างละ 2 เรื่อง หนังสั้นก็มีพอเป็นพิธี เช่นหนังสั้นเรื่องแรกของเธอคือ December 1958, 10 h36 ที่ได้รางวัลซีซาร์ - รางวัลใหญ่ระดับชาติของฝรั่งเศสในปี 1992 ส่วนหนังใหญ่เรื่องแรกของเธอคือ Un Samedi soir sur la terre (A Saturday on Earth) ก็ได้เคยรับเชิญให้ฉายโชว์ในสาขา Un Certain Regard ที่เมืองคานส์ในปี 1996 มาแล้วด้วย (ไม่ง่ายที่ผู้กำกับน้องใหม่จะเข็นหนังเข้าคานส์) แต่หากย้อนกลับไปใกล้จุดเริ่มต้นเข้าไปเรื่อย ๆ เธอเคยร่วมแสดงและช่วย ฌอง-ปิแอร์ เจอเน่ต์ (ผู้สร้าง Amelie) ทำหนังสั้นของเขาเรื่อง Foutaises (ปี 1989) หนำซ้ำเธอยังเรียนจบมหาวิทยาลัยมาทางสายชาติพันธุ์วิทยา, สังคมวิทยา ตามด้วยสาขาเศรษฐศาสตร์ นับว่าเธอนั้นรอบทิศจริง ๆ


ประมาณ 9 ปีระหว่างหนังใหญ่เรื่องแรกและเรื่องที่สองอาจจะทิ้งห่างกันนาน แต่ในโลกของทุนนิยมคำตอบคงไม่เสมอเท่าคำถาม ขอเอาคุณภาพผลงานเป็นตัวตั้ง คะแนนใจจากคนดูเป็นตัวหารก็คงพอบรรเทาอาการขัดยอกของการยืนรอไปได้บ้าง และกลับมาครั้งนี้ เธอก็ไม่ทำให้ผิดหวัง สนองตอบให้พอใจกันทั้งคอหนังที่ชอบฝึกสมองและคอหนังที่สมัครใจใฝ่หาสารกระตุ้น



ข้อความต่อไปนี้เล่าเรื่องหนังบางส่วน แต่ไม่ได้เฉลยบทสรุป
The Ring Finger (L’ Annulaire) เล่าเรื่อง ไอริส เด็กสาวที่วันดีคืนดีประสบอุบัติเหตุในโรงงาน นิ้วสวยถูกเฉือนแหว่ง เธอจึงออกเดินทางไปยังเมืองที่ไม่คุ้นเคยเพื่อหางานใหม่ เนื่องจากห้องพักที่โรงแรมเต็ม เธอต้องแชร์ห้องกับกะลาสีหนุ่มนายหนึ่ง โดยเขากลับมานอนช่วงกลางวัน ส่วนเธอกลับห้องในตอนเย็น ทั้งคู่ไม่มีโอกาสพบหน้ากัน ได้แต่ตรวจตราข้าวของส่วนตัว และจินตนาการถึงหน้าตาของอีกฝ่าย


ไอริส ได้งานที่บริษัทแห่งหนึ่ง เป็นห้องแล็บรับฝากสิ่งของอันเป็นที่รักของผู้คนมากหน้าหลายตา ข้าวของที่อาจดูไร้ค่าจำพวก ปอยผม โน๊ตดนตรี ฟันปลอม รอยแผลเป็น ปากกา ฯลฯ ถือเป็นวัตถุ “ตัวอย่าง” (specimen / ศัพท์นี้มักใช้ในงานทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์– เช่น ตัวอย่างเชื้อ, ปัสสาวะ, เลือด, น้ำลาย ที่บอกเอกลักษณ์เฉพาะ) เธอต้องคอยบรรจุ ลงทะเบียน “ตัวอย่าง” ชนิดต่าง ๆ ในแฟ้ม และดูแลรักษามันอย่างดี เพื่อไม่ให้เสียศรัทธาของเจ้าของดั้งเดิม แม้จะไม่เคยมีใครกลับมาทอดสายตาเยี่ยมชมมันอีกเลยก็ตาม

ไอริส เริ่มผูกพันกับอาชีพพิลึกของเธอมากขึ้นทุกที พร้อม ๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับชายเจ้าของบริษัทก็ก้าวไปอย่างพิกลพอกัน

นั่นคือเรื่องราวคร่าว ๆ ในหนังของ ดิยาน แบร์ทรองด์ ซึ่งเธอเขียนบทดัดแปลงจากนิยายเล่มเล็กของนักเขียนญี่ปุ่น โยโกะ โอกาว่า (Yoko Ogawa) นอกจากได้เปิดตัวฉายที่ฝรั่งเศสและตระเวนตามเทศกาลไม่กี่แห่ง เช่นเทศกาลหนังโตรอนโต้ ที่แคนาดา ปี 2005 ก็ไม่ได้อวดโฉมมากมายนัก นับว่าน่าเสียดายทีเดียว เพราะหนังเรื่องนี้อบอวลไปด้วยเสน่ห์ประหลาดทั้งจากนักแสดงนำชาย (มาร์ค บาร์เบ / Marc Barbé หนุ่มเลือดเย็นจาก Sombre) นักแสดงนำหญิงหน้าใหม่ (สาวตาโตที่เพิ่งผ่านการแสดงเรื่อง Hitman และกำลังจะกลายเป็นสาวบอนด์คนใหม่ ในหนังชุด เจมส์ บอนด์ ตอนที่ 22 เรื่อง Quantam of Solace -โอลก้า คูรีเลนโก้ / Olga Kurylenko) การจัดฉาก จัดแสงถ่ายภาพ (โดยเฉพาะการใช้เลนส์ซูม) เพลงวังเวงเยือกเย็นของ เบ็ธ กิบบ้อนส์ จากวง Portishead ที่สำคัญตัวเรื่องก็ลึกลับเย้ายวนชวนพิศวงตั้งแต่ต้นจนจบ จัดเป็นประเภทหลอนสวยงาม มากกว่าหลอนสยอง คงดูไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ชมขาประจำตามโรงลิโด้หรือเฮ้าส์ ตัวหนังอาจไม่สนุกรวดเร็วระทึกใจ หรือใฝ่สูงวาดหวังรางวัลอะไร แต่มันก็ไม่ได้หนักอึ้ง ต้องถกปัญญาจนสาหัส หวังว่าหนัง ดิยาน แบร์ทรองด์ คงโชคดีในเร็ววันได้รับการจัดจำหน่ายในวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ไปถึงฝั่งอเมริกา หรืออังกฤษ เพราะจากนั้นก็คงไม่ยากเกินที่จะฝ่ามรสุมกลับมาขึ้นอ่าวไทยใหม่


เท่าที่ทราบแม้แต่ในขณะนี้ (มกราคม 2008) หนังเรื่อง The Ring Finger นี้ก็ยังไม่ได้ถูกซื้อไปจัดจำหน่ายในวงกว้างที่ประเทศซึ่งพูดภาษาอังกฤษ (ที่อเมริกาได้แค่ฉายรอบพิเศษในเทศกาลหนังบรู๊คลินและได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิง โอลก้า คูรีเลนโก้ / Olga Kurylenko) ซึ่งนั่นย่อมทำให้ดีวีดีที่มีผลิตนั้นไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษไปโดยอัตโนมัติ (แต่น่าแปลกที่หนังเข้าฉายตามโรงที่ไต้หวันและญี่ปุ่น)



สนธยา : คุณทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาก่อนหรือเปล่าครับ?
ดิยาน : ก็มีบ้างค่ะ ทำหนังโฆษณา ทำละครเวที ออกแบบท่าเต้นด้วย แล้วฉันก็เริ่มทำหนังสั้น หนังความยาวปานกลาง แล้วก็เริ่มทำหนังใหญ่เรื่องแรกในปี 1996 เรื่องนี้ได้ฉายในเมืองคานส์ แล้วก็ทำหนังโฆษณากับหนังสำหรับฉายทางทีวี จนกระทั่งเรื่องนี้เป็นหนังใหญ่เรื่องที่สอง
สนธยา : ผู้กำกับฝรั่งเศสหลายคนมักจะมาจากอาชีพนักเขียน แต่งนิยายหรือเขียนบทหนังมาก่อน
ดิยาน: ฉันเขียนบทหนังเอง แต่ฉันไม่เคยเป็นนักเขียนในแง่ที่คุณว่า ส่วนใหญ่การเป็นผู้กำกับมักจะมาเริ่มต้นจาก 2 อย่างคือ ถ้าไม่ไปเรียนทำหนัง ก็ต้องทำหนังสั้นหรือผ่านงานอื่นมาก่อน เริ่มเรียนรู้ผ่านอะไรแบบนี้อย่างที่ฉันทำมา แต่ฉันก็เขียนบทเองตลอดมา

สนธยา: หนังสั้นของคุณเรื่องที่ชื่อ 25 December 1958, 10h 36 คุณพอจะช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมครับว่าเกี่ยวกับอะไร ทำไมถึงเจาะจงเลขนี้?
ดิยาน: คือวันนั้นมันมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เขาประสบอุบัติเหตุจักรยานล้มแล้วเสียชีวิตทันที เขาอายุแค่ 7 ขวบ เรื่องราวของหนังก็เกี่ยวกับคนที่รู้จักและข้องเกี่ยวกับเด็กชายคนนี้ในเวลา 20 ปีต่อมา ความสัมพันธ์โยงใยของเหตุการณ์คราวนั้นที่มีผลต่อชีวิตของคนที่ยังอยู่
สนธยา: 20 ปีให้หลังเหรอครับ แล้วเป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ในอดีตของคุณด้วยหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่เรื่องแต่ง?
ดิยาน: ไอเดียมันเข้ามาเอง แต่บางทีมันอาจจะเป็นเพราะหนังเรื่อง Short Cuts ที่ฉันชอบมากก็เป็นได้
สนธยา: Short Cuts ของ โรเบิร์ท อัลท์แมน (Robert Altman) หรือครับ?
ดิยาน: ค่ะ เรื่องราวที่เกี่ยวกับโชคชะตา อะไรจะเกิดขึ้นเวลาคนเรามาพบกัน เหตุการณ์ชีวิตที่หักเหไปเพียงเพราะพวกเขาเลือกไปซ้ายหรือขวา เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในหนังของฉันที่ตอนแรกตัวละครวางแผนจะทำอะไรสักอย่าง แล้วพวกเขาเปลี่ยนใจไม่ทำ พอเพื่อนคนหนึ่งเสนอว่าให้ไปอีกที่หนึ่ง ก็เปลี่ยนความตั้งใจเดิมไป แล้วก็ไปประสานงากับจักรยานของเด็กคนนี้

สนธยา: แล้ว A Saturday on Earth (Un Samedi sur la Terre) หนังใหญ่เรื่องแรกของคุณล่ะครับ?
ดิยาน: ก็มีไอเดียบางอย่างที่คล้ายกันอยู่ แต่ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว เกี่ยวกับพี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งที่ถูกแยกจากกันในวัยเด็ก เพราะไม่มีพ่อ ส่วนแม่ก็ไม่ได้เลี้ยงดูลูกเอง ลูกสาวไปอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ส่วนลูกชายไปเข้าอีกโรงเรียนหนึ่ง แต่แล้ววันหนึ่งทั้งคู่ก็ได้มาเจอกันโดยบังเอิญ พี่ชายได้พลั้งมือฆ่าน้องสาวตายโดยไม่เจตนา ทั้ง ๆ ที่จริงเขาเองต่างหากที่ตั้งใจฆ่าตัวตาย แล้วเขาก็ไม่รู้ด้วยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นน้อง ตัวหนังก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับแค่คนสองคนนี้ โชคร้ายที่เขานัดมาเจอกันเป็นครั้งที่สอง (หัวเราะ)


สนธยา: นี่คือหนังใหญ่เรื่องแรกก่อนที่คุณจะมาทำ The Ring Finger แล้วคุณก็มีอีกเรื่องที่ทำมาไม่นานมานี้
ดิยาน: นั่นมันหนังสั้น แล้วก็หนังใหญ่เรื่องแรก แล้วก็หนังทีวี
สนธยา: ดูเหมือนหนังสั้นคุณจะมีตัวละครเยอะแยะ แต่พอมาทำ The Ring Finger ตัวละครน้อยลงไปเยอะ
ดิยาน: ค่ะ จริงค่ะ

สนธยา: ผมจำเรื่องราวตอนหนึ่งใน Short Cuts ได้ มีเรื่องบังเอิญที่เด็กคนหนึ่งถูกรถชน อันนั้นคือแรงบันดาลใจอันหนึ่งใช่ไหมครับ?
ดิยาน: อ๋อ ฉันจำได้ค่ะ มันอาจจะไม่ใช่ที่มาโดยตรง......บางทีฉันว่าฉันอาจทำก่อน Short Cuts นะ (คิดทบทวน) ตอนนั้นหนังของฉันมันน่าจะปี 1991
สนธยา: อาจจะทำก่อน Short Cuts (ตามข้อมูล Short Cuts ฉายทีหลังเมื่อปี 1993- สนธยา)
ดิยาน: อาจจะเป็นได้

สนธยา แล้วคุณก็เลยได้รางวัลซีซาร์จากหนังเรื่องนั้น ทำให้คุณได้มาทำหนังเป็นอาชีพต่อมา
ดิยาน: ค่ะ
สนธยา: โยโกะ โอกาว่า (ผลงานเช่นเรื่อง The Gift of Numbers) - ผู้หญิงคนที่แต่งเรื่อง The Ring Finger นี่ เธอมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ ฮารูกิ มูรากามิ ไหมครับ?
ดิยาน: เธอน่าจะอายุสัก 40, 42 หรือ 43 นะ ส่วน มูรากามิ นี่ฉันไม่แน่ใจ (หลังจากเช็คข้อมูลแล้วผมพบว่า โอกาว่า เกิดปี 1962 ส่วน มูรากามิ 1949– สนธยา)


สนธยา: จริง ๆ เรื่องที่เธอแต่งนี่ออกแนวลึกลับ หรือสยองขวัญมากกว่ากันครับ?
ดิยาน: ออกไปทางเรื่องลึกลับ แฟนตาซีมากกว่าค่ะ เรื่อง The Ring Finger นี่มันเป็นอารมณ์ของเด็กสาวคนหนึ่ง ในส่วนของตัวนิยายนั้น เธอบรรยายทำนองว่า ฉันอยู่ที่โรงงานนั่นนะ ฉันนิ้วแหว่งไปข้างหนึ่ง ฉันไม่รู้จะทำยังไงต่อไป ฉันก็เลยออกจากโตเกียว ฉันมาเจอสถานที่แปลกประหลาดแห่งหนึ่ง เจอโฆษณารับสมัครงาน คิดไปมาแล้วก็ลองสมัครดู.........เธอบรรยายเรื่องราวที่เกิดกับตัวเธอด้วยท่าทีเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่ปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ถัดจากนั้นคุณก็ค่อย ๆ มองภาพออก ถึงเรื่องที่เกิดมันอาจจะพิลึกอยู่สักหน่อย คุณไม่อาจแน่ใจได้ว่าเรื่องที่เกิดนั้นเป็นเรื่องจริง หรือเธอกุขึ้นมาเอง ตัวฉันเองนั้นประทับใจมากตอนที่อ่านนิยาย.... มันบรรยายยากนะ ฉันอยากทำอะไรที่มันดูเรียบง่าย ไม่มีโครงสร้างซับซ้อน เพราะหนังของฉันเรื่องก่อน ๆ ค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร เรื่องที่เริ่มขึ้นในวันหนึ่งแล้วมันก็จบลงในอีกวัน ในระหว่างนั้นคุณก็ได้พบกับความลึกลับของความเป็นจริงกับโลกแฟนตาซี บรรยากาศของสถานที่ ความร้อน คราบเหงื่อเหนียวตัว


สนธยา: ตอนรอบฉายเมื่อวานคุณบอกว่า ตัวผู้หญิงในฉบับนิยายนั้นเขียนบันทึกเล่าเรื่องตัวเอง และเรื่องราวมันก็ค่อนข้างหดหู่มากกว่าในหนังของคุณ
ดิยาน: ค่ะ ก็ทำนองนั้น
สนธยา: ปกติเรื่องที่มาจากของญี่ปุ่นมักจะจบเรื่องแบบสิ้นหวัง แต่ในหนังของคุณมาแปลก ดูเหมือนว่าคุณมีสัมผัสเบามือ กลับทำให้ดูมีแสงสว่างของความหวัง เหมือนกับว่ามีแสงสว่างคอยคานรับกับความมืดอยู่ตลอด ทำให้หนังไม่ได้มืดมนจนขีดสุด
ดิยาน: จริงค่ะ
สนธยา: โดยเฉพาะการใช้เพลงของ....(นึกชื่อไม่ออก)
ดิยาน: เบ็ธ กิบบอนส์ (วง Portishead)
สนธยา: ครับ ๆ นั่นทำให้มันดูมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ ตอนที่ผมดูหนังของคุณ มันชวนให้ผมหวนนึกถึงหนังสยองขวัญของ โรมัน โปลันสกี้ เรื่อง The Tenant ที่สร้างจากหนังสือของ โรลองด์ ตอปอร์ (Roland Topor)
ดิยาน: เรื่องไหนนะ
สนธยา: รู้สึกชื่อฝรั่งเศสจะ La Locataire หรือ Le Locataire (The Tenant)
ดิยาน: อ๋อ Le Locataire ใช่ค่ะ หนังดีมากเรื่องนั้น


สนธยา: ตอนดูผมก็คาดเดาประมาณว่าเรื่องของคุณคงจะดิ่งตรงไปสู่ห้วงนรกแบบเรื่องนั้น หรือแบบหนังออสเตรียของ เยสสิก้า เฮ้าส์เนอร์ (Jessica Hausner) เรื่อง Hotel แนวทางมันใกล้เคียงกัน แต่ว่าวิธีการของคุณมีความขัดแย้งที่น่าสนใจมาก
ดิยาน: ก็จริงค่ะ แต่ว่าคุณรู้สึกขัด ๆ หรือเปล่า?
สนธยา: หมายถึงในแง่ไหนครับ?
ดิยาน: ในแง่ที่ว่าคุณรู้สึกว่าวิธีการเล่าเรื่องมันผิดเพี้ยน มันไม่เฉลยเรื่องราวให้ชัดเจนตามที่ควรจะเป็น
สนธยา: ผมคิดว่าวิธีการของคุณนั้นน่าสนใจกว่า เพราะว่ามันคาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า โดยเฉพาะตัวละครของเด็กสาวที่คุณเองก็พูดว่า เธอยินดีที่จะเลือกไปให้ถึงที่สุด ไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมา และเธอก็ไม่ได้ถูกใครบังคับ หรือถูกเหตุการณ์บีบให้จำยอมด้วย (ไม่จบอย่างหนังเรื่องอื่นที่ผมเอ่ยถึง)
ดิยาน: ค่ะ แน่นอนค่ะ มันแตกต่างกันทีเดียว นี่เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากทีเดียว และที่น่าตลกอย่างหนึ่งก็คือ ในตัวนิยายนั้นค่อนข้างวิปริตกว่าในฉบับหนัง ตอนที่ฉันเพิ่งอ่านหนังสือจบ ฉันรู้สึกว่าเรื่องราวทั้งหมดอาจจะเป็นแค่ความฝัน แต่ในแง่หนึ่งมันก็สร้างความรู้สึกปลอดโปร่งสดใสเอามาก ๆ ฉันก็เลยไม่อยากจะใส่ใจเอาความจริง หรือไปคิดเรื่องความรัก เสน่ห์ดึงดูด ประเด็นทางเพศ หรืออะไรอื่น ๆ มันมีอะไรที่ค่อนข้างลึกลับ ความพึงพอใจบางอย่างที่อาจจะได้มาจากสถานการณ์ที่บางครั้งเราเองก็ไม่ได้หวังหรือต้องการมัน แต่มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว มันผสมผสานทั้งความสุขและความกลัวเข้าด้วยกัน มันยากจะอธิบายอารมณ์อันนี้ แต่ในชีวิตจริงบางทีมันก็อาจเกิดขึ้นได้ ถึงจะไม่ใช่บ่อย ๆ เพราะเรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและอาจมีอันตรายแอบซ่อน บางทีเราต้องสร้างกำแพงขึ้นมาป้องกัน แล้วตัวเด็กสาวในเรื่องก็ยังเด็กอยู่ เธอยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตมากนัก ในแง่หนึ่งเธอก็ไม่คิดมากว่าจะมีอะไรให้เสียกันนักหนา เธอกำลังอยู่ในจุดที่กำลังจะก้าวพ้นจากความเป็นเด็กสาวไปสู่ความเป็นผู้หญิงเต็มตัว มันช่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ มีทั้งความบริสุทธิ์และความต้องห้าม เหมือนในเทพนิยายเรื่อง Barbe Bleue


สนธยา: หมายถึงเทพนิยายของฝรั่งเศสโดยเฉพาะหรือเปล่าครับ?
ดิยาน: Barbe Bleue เรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่แต่งงานกับมารใจร้าย เขาให้ทรัพย์สินเธอทุกอย่าง เขาบอกเธอว่าจะไปทำธุระที่อื่น เธออยู่บ้านจะทำอะไรก็ทำได้ เชิญเพื่อนมาฉลอง ใช้จ่ายเงินได้ตามใจ อย่างเดียวที่ห้ามทำก็คือ อย่าเข้าไปในห้องต้องห้าม จำได้ไหมในหนังมีกุญแจดอกหนึ่ง เธอทนความอยากรู้อยากเห็นไม่ไหว แล้วก็นั่นล่ะ ผู้หญิงหรือภรรยาทุกคนที่ได้เข้าไปในห้องนั้นต้องตายหมด นั่นคือเทพนิยายเรื่อง Barbe Bleue ชื่อภาษาอังกฤษน่าจะชื่อ Blue…..Beard
สนธยา: Bluebeard อ๋อครับ ๆ เรื่องนี้รู้สึกจะเป็นสากลเหมือนกัน (มีสร้างหนังด้วยเช่นเรื่อง Bluebeard หนังอเมริกันของ เอ็ดการ์ อุลเมอร์ (Edgar Ulmer) และหนังของ ชาลี แชปปลิน เรื่อง Monsieur Verdoux)
ดิยาน: แล้วก็มีเทพนิยายอีกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กสาวกับรองเท้า Cinderella เธอต้องได้รองเท้าที่เหมาะกับเธอแล้วก็ได้พบกับเจ้าชาย
สนธยา: อ้อ ซินเดอเรลล่า (หัวเราะ)
ดิยาน: แล้วในนิยายก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับซินเดอเรลล่า อยู่เหมือนกัน รายละเอียดเรื่องเล็ก ๆน้อย ๆเกี่ยวกับคนที่เดินทางมาจากที่ไกลโพ้น มีรายละเอียดทางจิตวิทยาแฝงอยู่.....ไม่มีใครเอ่ยถึงประเด็นนี้ อย่างที่คนนำวัตถุมาจากที่ไหนสักแห่ง แล้วก็ทิ้งให้อยู่ในการดูแลของผู้ชายคนนี้ ถ้าเจ้าของอยากแวะมาเยี่ยมชมของชิ้นนั้นอีกก็ทำได้ แต่ลำพังการฝากวัตถุนี้ไว้กับบริษัทนี้ก็เป็นการช่วยบรรเทาใจของพวกเขาได้เปลาะหนึ่งแล้ว มันมีรายละเอียดตรงนั้นที่น่าแปลกและน่าสนใจมากทีเดียว
สนธยา: ทำไมเจ้าของถึงไม่อยากกลับมาดูสมบัติของตัวเองอีกล่ะครับ?
ดิยาน: อาจเป็นเพราะ.....ก็คงคล้ายกับเวลาที่คุณรักใครสักคน แล้วเขาให้ของสำคัญอะไรคุณมาสักอย่าง ถ้าเขาตาย พลัดหายหรือถูกกีดกันให้ห่างคุณ ถ้าคุณเจ็บปวดที่จะมีของสิ่งนั้นไว้กับตัว มันก็คงดีกว่าที่คุณจะเอามันแยกไปไว้ที่ไหนสักแห่ง ขณะเดียวกันคุณก็ตัดใจเอามันไปโยนลงโถส้วมไม่ได้ (หัวเราะ)
สนธยา: ประมาณว่าทำใจทำลายมันไม่ลง
ดิยาน: ใช่ค่ะ คุณก็คงอยากให้ใครสักคนเก็บของสิ่งนั้นไว้ให้แทน นี่ล่ะเป็นไอเดียจุดเริ่ม แน่นอนว่าเรื่องนี้มันไม่มีจริง แต่ถ้ามีมันก็อาจจะดีก็ได้นะ ในโลกความเป็นจริงคุณอาจอยากกลับไปดูมันอีกก็ได้ แต่ในนิยายไม่มีใครกลับไปเยี่ยมชมมันอีกเลย พวกเขาฝากมันไว้แล้วไม่เคยกลับมาอีกเลย สถานที่แห่งนั้นทำให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้น คุณไม่ต้องกลับไปหามันอีกต่อไป น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ



สนธยา: มันเป็นเรื่องที่ส่อลางไม่ชอบมาพากล ฟังดูคล้ายหนัง ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ เรื่อง La Chambre Verte (The Green Room) ด้วยเหมือนกัน
ดิยาน: อ๋อค่ะ La Chambre Verte (ทรุฟโฟต์ นำแสดงและกำกับหนังซึ่งเกี่ยวกับชายที่ฝังใจอยู่กับคนตายและเครื่องเตือนใจถึงอดีต มากกว่าจะอยู่กับคนเป็น – สนธยา)
สนธยา: มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง ที่ผมสนใจก็คือประเด็นของเด็กสาวที่ถูกเย้ายวนในกลิ่นอายแห่งอันตราย ผมว่ามันก็เกิดขึ้นกับผู้ชายได้เหมือนกัน แต่สำหรับเด็กสาวอาจจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า.......คุณคุ้นเคยกับนักเขียนคนนี้ไหม (หยิบหนังสือ The Blindfold ของ Siri Hustvedt ให้เธอดู) เธอเป็นภรรยาของ พอล อ้อสเตอร์ (Paul Auster / นักเขียนนิยายไตรภาคชุด The New York Trilogy และเขียนบทหนังเรื่อง Smoke กับ Blue in the Face ให้ เวย์น หวัง (Wayne Wang / อ่านเพิ่มเติมใน ฟิล์มไวรัส 5: ปฏิบัติการหนังทุนน้อย) รวมทั้งเคยกำกับหนังเอง 2 เรื่องคือ Lulu on the Bridge กับ The Inner Life of Martin Frost - สนธยา)
ดิยาน: อ๋อ ค่ะ อันนี้นิยายเล่มล่าสุดของเธอใช่ไหมคะ
สนธยา: ไม่ใช่ครับ อันนี้เป็นเรื่องแรกของเธอ เกี่ยวกับหญิงสาวที่ไปทำงานคล้าย ๆ กับเลขา เธอไปรับจ้างแปลหนังสือวิปริตเล่มหนึ่ง ซ้ำร้ายเธอยังถูกผู้ชายคนหนึ่งถ่ายภาพใบหน้าของเธอแล้วเอาไปแสดงในแกลเลอรี่ พอเธอเห็นภาพที่ออกมาเพี้ยน ๆ ภาพนั้น เธอเหมือนสูญเสียตัวตน หมดสภาพไปเลย
ดิยาน: อ้า ค่ะ แต่ฉันยังไม่ได้อ่านเล่มนี้ ฉันเพิ่งซื้อนิยายเล่มอื่นของเธอมา เล่มนี้ฉันยังไม่มี
สนธยา: ผมคิดว่าเรื่องราวทำนองนี้ เรื่องของการที่คนเราถูกอันตรายมาหว่านเสน่ห์เย้ายวน ผมอยากให้คุณพูดถึงประเด็นนี้หน่อยครับ คุณมองว่าผู้หญิงวัยสาวในสังคมมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งในตัวเองเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้หรือเปล่า


ดิยาน: เรื่องน่าแปลกที่ฉันเจอมาก็คือ มีเด็กสาวหลายคนทีเดียวที่เคยบอกฉันว่า ประสบการณ์ทำนองนี้มันอาจเกิดขึ้นได้จริงกับพวกเธอ คนกลุ่มนี้เป็นสาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่นะ ไม่ใช่สาวญี่ปุ่น แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจริง มีผู้หญิงบางรายที่กลัวไม่อยากจะดูอะไรทำนองนี้ สาวที่ชอบคงเป็นพวกที่ชอบจินตนาการ มีบางอย่างที่น่าแปลกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเด็กสาวกับพ่อ มีความสัมพันธ์ลักษณะนั้นระหว่างตัวผู้ชายและเด็กสาวอยู่ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ในเชิงชู้สาวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันรู้สึกได้ถึงตรงนั้นเวลาที่ โอลก้า / Olga Kurylenko - ตัวนักแสดงหญิงอยู่กับ มาร์ค บาเบ / Marc Barbé – นักแสดงชาย เธอนั่งคุกเข่าก้มเก็บชิ้นส่วนของไพ่นกกระจอกที่กระจายหล่นอยู่ตามพื้น อันที่จริงเธอชอบที่จะอยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนแบบนี้ ฉันคิดว่าเธอรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่มีผลกระทบกับเธอ ถัดจากนั้นเมื่อเธอเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของตัวผู้ชาย เธอก็กลายสภาพเป็นเด็กทารก แล้วบอกว่า (ร้องอ้อนเสียงสูง) “หนูอยากจะไปห้องแล็บ”

แน่นอนว่าตัวเธอนั้นกำลังอิจฉาผู้หญิงคนอื่น ผู้หญิงอีกคนที่มีแผลเป็น เธออิจฉาอยากเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ชายคนนั้นเลือก อะไรทำนองนี้ซึ่งปลูกฝังมาหลายชั่วคน ผู้หญิงทุกคนอยากจะเป็นเจ้าหญิง หญิงในฝันของผู้ชายของเธอ แม้กระทั่งในทุกวันนี้ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันไม่ง่ายที่จะอยู่กับผู้ชายสักคน ทำงาน ครองรักอย่างคงทน ฯลฯ เรื่องราวทำนองนี้มันไม่ได้ไกลจากความฝันของเด็กสาวทั่ว ๆ ไปเลย แน่นอนล่ะว่ามันเต็มไปด้วยเหตุผลคัดง้างต่าง ๆ นานา ในขณะเดียวกันพวกเธอก็อยากจะควบคุมสถานการณ์ตัวเองได้ด้วย แต่ลึก ๆ แล้วจากที่ฉันรู้จักผู้หญิงมา ฉันค่อนข้างแน่ใจว่า ผู้หญิงหลายคน ต่อให้พวกเธอมีการงานเลิศเลอ ลูกเต้าแสนดี แต่เวลาพบกับเหตุการณ์เฉพาะพิเศษ พวกเธอก็กลายเป็นเด็ก ๆ ไปเลย กับผู้ชายก็เกิดได้เช่นกันใช่ไหม ผู้หญิงบางคนก็พูดว่า “แฟนฉันเหมือนเด็กเลย ฉันเหมือนเป็นแม่ของเขามากกว่า” (หัวเราะ)

สนธยา: แต่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะพิสมัยกับการถูกครอบงำมากกว่าใช่ไหมครับ ที่สำคัญผมคิดว่าคงมีผู้กำกับน้อยคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำกับที่เป็นผู้หญิง) ที่จะกล้าไปจนสุดโต่งแบบคุณ และผมมองว่าคุณไม่ได้ตัดสินพฤติกรรมตัวละคร
ดิยาน: ใช่เลย
สนธยา: เพราะมันง่ายที่จะตัดสิน อาจจะด้วยมุมมองเฟมินิสต์หรืออะไรก็แล้วแต่ ออกตัวว่าทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง
ดิยาน: ค่ะ อันนั้นแน่นอนเลย (หัวเราะ) เราไม่จำเป็นต้องออกมาตัดสินตัวละคร มันไม่ใช่หน้าที่เราที่จะทำแบบนั้น ต่อให้เราทำหนังเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกศีลธรรมหรือควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ตอนแรกฉันก็นึกดูเหมือนกันว่าเฟมินิสต์ดูแล้วคงร้อง ว้าว อะไรเนี่ย ? แต่จริง ๆ ก็เปล่า เราไม่ได้เจอท่าทีอย่างนั้นสักเท่าไร น่าเสียดาย (หัวเราะ)
สนธยา: อาจจะไม่เจอในฝรั่งเศส.......
ดิยาน: คุณว่าในเมืองไทยคงจะโดนว่าเหรอ.........
สนธยา: ผู้หญิงไทยอาจจะคุ้นเคยกับการถูกครอบงำจนไม่รู้สึกอะไรก็ได้ หรือบางทีผู้หญิงสมัยใหม่อาจจะรับไม่ได้ ถามผมไม่ได้หรอก ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ (หัวเราะ)
ดิยาน: อ้าว ไม่ใช่เหรอ (หัวเราะ)

สนธยา: ในหนังของคุณไม่ปล่อยให้เห็นครอบครัวของตัวเด็กสาวเลย พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนฝูงของเธอก็ไม่มี แล้วคุณเปิดเรื่องที่โรงงาน ผมคิดว่าผมพอเข้าใจว่าทำไมคุณถึงจงใจไม่ปล่อยให้ญาติพี่น้องออกมาเลย บางทีในตัวนิยายก็ไม่มีตัวละครพวกนี้ด้วยหรือเปล่า?
ดิยาน: ในนิยายเธอบรรยายทำนองว่า “ฉันทำงานในโรงงานที่อยู่ใกล้ ๆ ริมทะเล ฉันเคยมีแฟนคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้พิเศษอะไรนัก ฉันไม่รู้ว่าจะไปไหนดี” แล้วเธอก็มาถึงสถานที่แห่งนี้ จากนั้นเธอก็ไม่ได้ออกจากที่นั่นเลย ในนิยายเราไม่ได้เห็นเธอไปไหนเลย เหตุการณ์ก็อยู่ที่สถานที่นั้นแห่งเดียว มีผู้หญิงแก่คนหนึ่งเสียชีวิตที่นั่น ในเรื่องเขาบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ เหมือนเป็นปกติเอามาก ๆ นี่ทำให้ฉันรู้สึกว่าน่าประหลาด แต่ฉันจำเป็นต้องดึงเอาตัวละครออกมาจากที่นั่นบ้าง (ในหนังเด็กสาวต้องเดินทางไปกลับระหว่างโรงแรมและที่ทำงาน- สนธยา)

สนธยา: ผมคิดว่าตัวหนังที่เป็นอยู่นั้นก็ดีอยู่แล้ว แค่สงสัยว่าจะดีกว่านี้ไหมถ้ามีสักฉากที่แสดงให้เห็นครอบครัวของเธอ มีฉากขนข้าวของจากบ้านออกเดินทาง มันอาจช่วยคนดูหนังให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เธอไม่มีที่อื่นเหลือให้ไป เธอถึงเลือกจะไปจนสุดโต่งอย่างที่เห็นในตอนจบ
ดิยาน: จริง ๆ ในฉากแรก ๆ มีแสดงตรงนี้หน่อยนึงนะ ตอนที่เธอมาถึงโรงแรมแล้วบอกว่าอยากขอเช่าห้อง เจ้าของโรงแรมบอกว่าห้องเต็มแล้ว แต่เห็นว่าเธอเหนื่อยมาก ทั้งวันไม่ได้กินอะไร เขาจึงดูพาสปอร์ตของเธอแล้วพูดว่า เธอไม่ใช่คนแถวนี้นี่ เธอบอกว่าเปล่า ก่อนหน้านี้ฉันก็ถ่ายฉาก 3 ฉากที่มีโสเภณีออกมา มีตอนหนึ่งที่ฉันตัดออกไป เป็นฉากที่โสเภณีผมบลอนด์ถามเด็กสาวว่ามาทำไมแถวนี้ แถวนี้ไม่เหมาะกับคนอย่างเธอ และเด็กสาวก็ไม่เข้าใจภาษา แต่ก็พยายามอธิบายว่า เธอมาจากเกาะแห่งหนึ่งในรัสเซีย แต่ฉันตัดฉากนั้นออก แต่ถึงตัดออกไป คนดูหนังก็เข้าใจได้ว่าเธอไม่มีญาติที่ไหน ทำไมมาอยู่ลำพังคนเดียว แต่แก่นของอุบัติเหตุเรื่องนิ้วใน Ring Finger ก็คือ เธอไม่เหมาะกับงานเก่า เธอถึงได้ออกไปเดินทางหาประสบการณ์ใหม่ ๆ

สนธยา: ทำไมคนในฮัมบวร์ก (เยอรมนี) เขาถึงได้พูดภาษาฝรั่งเศสกัน?
ดิยาน: แต่คนดูไม่จำเป็นต้องรู้นี่ว่ามันเป็นเมืองไหน
สนธยา: อ้าว ไม่ควรรู้หรอกเหรอครับ?
ดิยาน: นั่นสิ แล้วคุณรู้ได้ไงว่าเป็นฮัมบวร์ก ?
สนธยา : ก็เห็นในเรื่องย่อก็เขียนอย่างนั้นนี่ครับ รู้สึกในหนังก็เอ่ยถึงด้วย
ดิยาน: เปล่า ไม่มีนะ จริง ๆ มันก็แค่บริษัทหนังที่ร่วมสร้างเป็นบริษัทเยอรมัน แต่ในหนังเราไม่มีเอ่ยว่าฮัมบวร์กนี่ แม้กระทั่งคอยจับจ้องดู คุณก็จะไม่เห็นอะไรเลยที่เจาะจงว่าเป็นประเทศเยอรมนี มันเป็นประเทศไหนก็ได้ในโลก วันไหนก็ได้ ทั้งวันนี้ วันหน้า หรือวันก่อนนี้

สนธยา: ผมเห็นหน้า ฮานส์ ซิคช์เล่อร์ (Hans Zischler) ในบทเจ้าของโรงแรม เขาเคยแสดงหนังของ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) เรื่อง Kings of the Road และเขาเพิ่งแสดงเรื่อง Munich ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ด้วย
ดิยาน: ค่ะ ใช่ค่ะ ฉันชอบเขาแสดงค่ะ แล้วเขาก็บอกว่าชอบบท จึงตกลงยอมเล่น
สนธยา: แล้วผู้ชายอีกคนที่เล่นเป็นกะลาสีเรือล่ะครับ?
ดิยาน: ค่ะ เขาก็เป็นดาราเยอรมันด้วยเหมือนกัน เดิมเขาเป็นโครเอเชีย มาจากฝั่งตะวันออก เดี๋ยวนี้เขาพอเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้วในเยอรมนี มีหนัง 2 เรื่องซึ่งเขาแสดงได้ฉายที่คานส์
สนธยา: ใช่เรื่อง The Edukators หรือเปล่าครับ?
ดิยาน: ใช่ค่ะ

สนธยา: ฉากนั้นที่เขาเอาชุดนอนของเธอออกมาแขวนที่หน้าต่างรับลมและแสงแดด แล้วนอนมองชุดของเธอ คุณกำลังจะบอกคนดูหนังหรือเปล่าว่าเสื้อผ้าของเธอได้กลายเป็นร่องรอยหลงเหลือ หรือเป็นเหมือน “ตัวอย่าง” (specimen) ทิ้งให้ผู้ชายคนนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการเปรียบเปรยที่เข้าที คุณจงใจสื่อถึงจุดนี้หรือเปล่า?
ดิยาน: ค่ะ ทำไมจะไม่ล่ะ (หัวเราะกัน) .........จริง ๆ แล้วสำหรับฉันมันก็เหมือนกับว่า เวลาที่เราแชร์ห้องกันกับใครสักคนที่ไม่เคยได้มีโอกาสเห็นหน้ากันเลย ทุกๆ อย่างก็กลายเป็นมีค่า มีความหมายขึ้นมา โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดนั้น ทำให้เกิดจินตนาการร้อยแปดเกี่ยวกับตัวเธอ เหมือนมองเห็นใครในจังหวะเวลาส่วนตัวที่เขากำลังทำอะไรสักอย่าง ในหนังนั้นอาจจะดูเป็นลีลากวีหน่อย แต่มองอีกแง่มันก็อาจจะดูพิรี้พิไรเสียเวลาไปเปล่า ๆ ก็ได้ (หัวเราะ)
สนธยา: ผมว่ามันดูโรแมนติคลึกลับดีออกนะ .............. แต่ในส่วนของกะลาสีนี่ไม่ได้มาจากนิยายเลยใช่ไหมครับ
ดิยาน: ในนิยายไม่มีค่ะ
สนธยา: แล้วเธอก็ไม่ได้พักห้องเดียวกับใครด้วย
ดิยาน: ค่ะ เธอพักคนเดียว

สนธยา: เป็นการเพิ่มรายละเอียดที่เข้าท่ามากครับ (หัวเราะ).............แล้วคุณเคยดูหนัง Woman in the Dunes ไหม หนังญี่ปุ่นที่ผู้ชายคนหนึ่งตกลงไปในหลุมทราย แล้วมีผู้หญิงกับบ้านหลังหนึ่งอยู่ก้นหลุม
ดิยาน: ไม่รู้จักค่ะ
สนธยา: มันก็สร้างมาจากนิยายญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน คนแต่งคือ โกโบะ อาเบะ
ดิยาน: สร้างเมื่อไหร่นะ เร็ว ๆ นี้เหรอคะ
สนธยา: นานแล้วครับ สมัยยุค 60
ดิยาน: อ้า โอเค
สนธยา: ผมไม่ได้หมายความว่ามันเหมือนกันนะ...............แล้วฉากโรงแรมที่เห็นในเรื่องเป็นของจริง ไม่ใช่ฉากใช่ไหมครับ?
ดิยาน: ค่ะ เป็นโรงแรมจริงที่เราเจอในฮัมบวร์ก อยู่แถวท่าเรือ
สนธยา: ของจริงหมดเหรอครับ? คุณมองเห็นเรือทั้งลำเต็ม ๆ ผ่านกรอบหน้าต่างเหรอครับ?
ดิยาน: ค่ะ บางเวลานะ

สนธยา: ทำไมพอคนเอาโน๊ตดนตรีมาฝากไว้ แล้วเขาต้องนำมาบรรเลงให้ฟังก่อนถึงจะเก็บรักษาได้ครับ?
ดิยาน: มันเป็นส่วนหนึ่งของการบริการไงคะ
สนธยา: ทำไมเขาถึงไม่แค่เก็บใส่กล่องแก้วไป ทำไมพวกเขาถึงได้กระตือรือร้นที่จะฟังเพลงครับ?
ดิยาน: เพราะว่าในกรณีของโน๊ตเพลงมันละเอียดอ่อนกว่า มันไม่ใช่แค่วัตถุปกติทั่วไป การที่นำมันมาบรรเลงก่อน มันก็เหมือนกับว่าช่วยเรียกให้วัตถุมีตัวตน
สนธยา: อันนั้นผมก็เห็นด้วยครับ (หัวเราะกัน) ผมคิดว่าผู้ชายที่ดูแลบริษัท (มาร์ค บาเบ) เขาคงชอบงานที่เขาทำแหละ ไม่งั้นเขาคงเก็บโน๊ตเข้าตู้ไปเลย ไม่จำเป็นต้องมาบรรเลงเป็นเพลงก่อน
ดิยาน: แต่ อาจจะเป็นได้ด้วยว่าเขาอยากให้เธอมาแทนที่เด็กสาวคนอื่นๆ เพราะฉากที่มีเล่นเปียโนนี้เป็นเหมือนฉากเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขา ทำให้เธอรู้สึก.....มันเป็นฉากต่อจากฉากที่เธอมาถึงที่ทำงานในสภาพตัวเปียกโชก แล้วเขาก็ขอให้เธอไปฟังเพลงบรรเลงท่อนนั้นด้วย เป็นฉากที่ทั้งคู่แลกเปลี่ยนประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน


สนธยา: แล้วคุณรำคาญไหมที่คนดูหนังอยากให้คุณอธิบายตัวหนัง? นอกจากเมืองไทยแล้วมีที่อื่นอีกไหมที่อยากให้คุณมานั่งอธิบายความหมายของหนัง
ดิยาน: มันก็แล้วแต่สถานการณ์ ฉันจำได้ว่าเคยมีผู้กำกับถูกคนดูบ่นว่า ทำไมไม่ยอมอธิบายความหมายของหนังให้ฟัง แล้วผู้กำกับก็ตอบว่าก็ไม่เห็นมีอะไรต้องอธิบายนี่ ทุก ๆอย่างก็น่าจะแจ่มชัดดีแล้วสำหรับทุกคน (หัวเราะ) ใครจะตีความอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นเรื่องของจินตนาการ และการที่คุณไม่เข้าใจมันเสียทีเดียว มันก็น่าจะดีกับสมอง เพราะว่าวันหนึ่งคุณก็จะเข้าใจมันได้เองในแบบของคุณ โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องตรงกับของใครก็ได้ มันเป็นเจตนาของฉันเองที่ต้องการทำให้หนังออกมาเป็นแบบนี้ ขนาด เดวิด ลิ้นช์ (David Lynch) ก็ยังไม่ได้อธิบายอะไรตั้งหลายอย่าง แม้แต่ มิฆาเอล ฮาเนเก้ (Michael Haneke) อย่างเรื่อง Hidden
สนธยา: เดวิด ลิ้นช์ เคยพูดเหมือนกันว่า เขาไม่ยอมไปหาจิตแพทย์ เพราะกลัวว่าหมอจะวิเคราะห์ความคิดเขาออกมาหมด แล้วพอเขาเข้าใจอะไรทุกอย่างปรุโปร่งก็จะทำหนังในแบบที่เขาทำได้ไม่ดี
ดิยาน: เขาพูดอย่างนั้นเหรอคะ?
สนธยา: เขาบอกว่าถ้ารู้จักฝันเพี้ยน ๆ ของตัวเองดีเกิน มันก็เปล่าประโยชน์ แล้วจะทำหนังออกมาอีกทำไม
ดิยาน: (หัวเราะ) เขาตอบดีนะ

สนธยา: ผมคิดว่าหนังของคุณก็ชัดเจนดีแล้ว ถ้าบอกอะไรมากเกิน เสน่ห์มันก็จะหายไป......แล้วมีคนดูหนังในประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการทราบคำตอบที่ชัดเจนในตอนจบแบบคนดูหนังเมื่อคืนหรือเปล่าครับ
ดิยาน: เปล่า ไม่มีค่ะ คนส่วนใหญ่จะไม่ถามเรื่องนั้น
สนธยา: แต่นั่นเป็นคำถามแรกที่ถามออกมาเมื่อคืน
ดิยาน: ไม่ใช่นะคะ ผู้หญิงคนที่ถามฉัน เธอแค่เกริ่นว่า “แล้วคุณไม่อยากรู้หรือว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนจบ” แต่ฉันบอกว่าเก็บไว้ให้คิดดีกว่า อย่าพูดไป
สนธยา: แต่คนอื่น ๆ เขาก็ดูอยากจะให้อธิบายนี่ครับ
ดิยาน: (หัวเราะ) ใช่ นั่นแหละค่ะ

สนธยา: คุณมีเพื่อนเป็นพวกผู้กำกับบ้างไหม?
ดิยาน: หมายถึงที่ฝรั่งเศสหรือคะ ฉันก็รู้จักบางคน เจอกันเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเพื่อนสนิท ก่อนหน้านี้ฉันค่อนข้างสนิทกับ ฌอง-ปิแอร์ เจอเน่ต์ (เธอเคยช่วยเขาทำหนังสั้นด้วย- สนธยา) ฉันรู้จัก กาสปาร์ โน้ย (Irreversible) อยู่บ้าง แล้วก็คนที่ทำเรื่อง Blueberry คุณรู้จักไหม?
สนธยา: Blueberry หนังฝรั่งเศสเหรอครับ? (หมายเหตุ : สร้างจากการ์ตูนดังของ Moebius-มีดีวีดีลิขสิทธิ์)
ดิยาน: ยาน คูนเน่น (Jan Kounen)
สนธยา: อ๋อ คนนั้นเอง คนที่ทำ Dobermann ?
ดิยาน: ฉันรู้จัก ฟิลิป เบลอเก้ต์ แล้วก็อย่าง อานน์ ฟองเตน, คาธรีน เบรญาต์ แต่ก็ไม่สนิทอะไร

สนธยา: แล้วมีคนทำหนังฝรั่งเศสคนไหนในฝรั่งเศสที่คุณชื่นชมบ้างไหม?
ดิยาน: ในฝรั่งเศสเหรอคะ?
สนธยา: ครับ
ดิยาน: ฉันชอบ พาทริซ เชอโร (Patrice Chereau) , ฌาคส์ โอดิยาร์ด (Jacques Audiard), เบอนัวต์ ฌ้าคโค่ต์ (Benoît Jacquot / อ่านบทสัมภาษณ์ ฌ้าคโค่ต์ ได้จากนิตยสาร Pulp มีนาคม 2548 หรือ http://www.onopen.com/2006/02/242 ) ก็ทำหนังบางเรื่องดีมากนะ ฉันไม่ได้ชอบหนังของเขาทุกเรื่อง แต่เรื่องล่าสุดของเขานี่ดีจริง ๆ แต่คนทำหนังฝรั่งเศสฉันก็ไม่ได้ทึ่งมากมาย ฉันชอบคนทำหนังชาติอื่นมากกว่า
สนธยา: ใครบ้างครับ อย่าง โรเบิร์ท อัลท์แมน หรือเปล่า มาร์ติน สกอร์เซซี่ ?
ดิยาน: ค่ะ ฉันชอบ โรเบิร์ท อัลท์แมน.......(หัวเราะเขินๆ) ฉันชอบ มังเควิทช์ (สำเนียงฝรั่งเศส)
สนธยา: จอห์น มัลโควิช ?
ดิยาน: ไม่ใช่ค่ะ มังเควิทช์
สนธยา: โอ้....คุณหมายถึง โจเซฟ แมนคีวิทซ์ ? (Joseph L. Mankiewicz / ผู้กำกับคนนี้ชื่อเสียงเลื่องลือด้านการเขียนบท โดยเฉพาะบทสนทนา ผลงานเช่น All About Eve, Letter to 3 Wives, The Quiet American, The Barefoot Contessa – สนธยา)
ดิยาน: ค่ะ (หัวเราะ) แต่ถ้าคนทำหนังร่วมสมัย ฉันชอบ โซลแว็ง โซเดนเบิร์ก
สนธยา: คุณหมายถึง สตีเว่น โซเดอเบิร์ก (Steven Soderbergh) ?
ดิยาน: ฉันชอบหนังที่มีทักษะทางศิลปะน่าสนใจ มีคนทำหนังเก่ง ๆ เยอะมากในโลกใบนี้ เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg) ฉันก็ชอบมาก
สนธยา: แล้วอย่าง มอร์ริซ เปียลาต์ (Maurice Pialat) ชอบไหมครับ
ดิยาน: เขาก็ทำหนังแรงนะ หนังรุ่นนั้นต่างจากเรามาก เขาทำหนังดีแหละ ในแง่หนึ่งหนังของ ทรุฟโฟต์ ก็ดีมากเหมือนกัน

สนธยา: แล้วละครเวทีน่าสนใจสำหรับคุณมากกว่าบ้างไหม?
ดิยาน: ในแง่ที่ช่วยให้ทำงานกับนักแสดงก็อาจใช่
สนธยา: แล้วคุณรู้สึกยังไงกับเทศกาลหนังกรุงเทพฯ ครับ นี่เป็นเทศกาลหนังที่ค่อนข้างใหม่
ดิยาน: การเดินทางมาครั้งนี้ก็ดีนะ แต่ระบบการจัดการก็ค่อนข้างขลุกขลักอยู่สักหน่อย
สนธยา: ก็จริงครับ แล้วนี่คุณมาเมืองไทยครั้งแรกหรือเปล่าครับ
ดิยาน: เปล่าค่ะ เคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 5 ปีก่อน มาเที่ยวเฉย ๆ
สนธยา: มาเที่ยวทะเลเหรอครับ
ดิยาน: ค่ะ เกาะสมุย เที่ยวทางใต้ ดีค่ะ

ขอขอบคุณ Bonnie Volland ในการประสานงานสัมภาษณ์
บางส่วนของบทความนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Pulp

บทความและบทสัมภาษณ์โดย สนธยา ทรัพย์เย็น

หมายเหตุ: Olga Kurylenko ดารานำหญิงของหนังเรื่องนี้ The Ring Finger ต่อมาได้นำแสดงเป็นสาวบอนด์ ในหนังเจมส์บอนด์ตอนใหม่ Quantum of Solace

1/11/08

รีวิวดีวีดี North by Northwest

บทความในสต็อคจะทยอยลงต่อไปเท่าที่หาได้ - ฟิล์มไวรัส
* หมายเหตุ: ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในรอบพิเศษในงานเทศกาลหนังฮอลลีวู้ดยุคคลาสสิคเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ *

รีวิวดีวีดี North by Northwest
บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน
ปีที่หนังออกฉาย : 1959
ปีที่ออกเป็นดีวีดี: 2006สี (Technicolor)
ระบบเสียง Mono (Westrex Recording System)
คำบรรยาย English
ความยาว 136 นาที
นำแสดงโดย Cary Grant, Eva Marie Saint
กำกับการแสดงโดย : Alfred Hitchcock
กระแสของแผ่นบลูเรย์ และเอ็ชดีดีวีดี ยังไม่เปรี้ยงปร้างนัก ถึงแม้ว่าหลายบริษัทเริ่มทยอยผลิตเครื่องเล่นที่สามารถเล่นแผ่น บลูเรย์มาให้ผู้บริโภคชิมลางแล้วหลายรุ่น (โซนี่ เพลย์สเตชัน 3 ,โซนี่ รุ่น BDP-S1 ,ซัมซุง รุ่น BD-P1000 ,พานาโซนิค รุ่น DMP-BD10 ,ไพโอเนียร์ รุ่น BDP-HD1 ,ฟิลิปส์ รุ่น BDP9000 ,ชาร์ป รุ่น DV-BP1 ,แอลจี รุ่น BD100 ,ไลท์-ออน รุ่น BDP-X1) อย่างที่เคยล้อกันเล่นๆ ว่าก่อนจะคิดแผ่นที่มีความจุเยอะๆ ออกมาจำหน่าย (บลูเรย์เลเยอร์เดียว 25 GB ถ้า 2เลยอร์ ก็อีกเท่าหนึ่ง ส่วนเอ็ชดีดีวีดีแบบเลเยอร์เดียว มี 15 GB และสองเลเยอร์มี 30 GB) จำจะต้องตั้งข้อสงสัยว่า ความจุตั้งมากมายขนาดนั้น จะเอามาบรรจุอะไร

หากเป็นบรรดาเกมคอมพิวเตอร์ คอนโซลไหนก็เถิด สิ้นสุดวิวัฒนาการที่กราฟิกสวยงาม สมจริง ต้องการหน่วยความจำเยอะหน่อย ก็ดูจะพอนึกออกว่าลงเอยอย่างไร แต่ถ้าเป็นหนัง น่าจะหมายถึงขั้นตอนอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย เช่นว่า ถ้าจะเก็บหนังเก่าก็ต้องเอาหนังเก่าเรื่องนั้นๆ มาผ่านกระบวนการบูรณะ(ที่สำคัญคือต้องเก่าและมีชื่อเสียงในระดับหนึ่งด้วย) ถ้าใครที่เคยเห็นหรือได้ดูหนังเก่าที่บูรณะใหม่ คงพอนึกออกว่าหนังบางเรื่องถึงกับต้องตกแต่งเสียงเสียใหม่ จำลองส่วน ตกแต่งภาพส่วนที่เสียหาย ซึ่งอาจจะหมายถึงต้องขจัดภาพที่มืดมัว จนชวนให้คิดว่าฟิล์มต้นฉบับส่ออาการร่อแร่เพียงไร ขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังไม่ให้การบูรณะใหม่ ใหม่จนเกินงาม ภาพชัดแจ๋ว เสียงสมจริงเกินเหตุ ขาดอรรถรส บรรยากาศ เดิมๆ อย่างที่หนังเก่าควรจะเป็น การบูรณะทั้งหมด ที่กล่าวมา อาจจะอาศัย หน่วยความจำ เท่าที่แผ่นดีวีดี พึงจุไว้ได้ เพียงพอ และสมเหตุสมผล ถ้าเป็นแผ่นนอกกฎหมายประเภทรวมหนังสิบเรื่องไว้ในแผ่นเดียวก็ยังพอนึกถึงความเป็นไปได้ออก แต่ค่ายใหญ่ๆ ที่ผลิตหนังออกมาจะยอมให้เป็นอย่างนั้นหรือ เราจะได้เห็นแผ่นบลูเรย์ บรรจุไตรภาค สไปเดอร์-แมน หรือว่าเรื่องไหน ที่มีภาคต่อในแผ่นเดียวหรือ ใครจะไปรู้ วันข้างหน้า อะไรก็เกิดขึ้นได้ จริงไหม
ถ้าจะให้คิดกันแบบเพลย์เซฟว่ามีผลงานของปรมาจารย์ นักทำหนังที่ควรค่าแก่การนำมาบูรณะใหม่ บ้างชื่อแรกๆ ที่คนนึกออกก็น่าจะเป็น ชาลี แชปลิน และคนต่อมาก็น่าเป็น อัลเฟรด ฮิตช์ค็อค แน่นอน หนังหลายเรื่องของ ฮิตช์ค็อค คงจะอยู่ในชั้นสะสมของนักดูหนังหลายคนเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่มีเรื่องนี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีในการแนะนำ
North by Northwest เป็นหนังลำดับที่สิบเอ็ด ของฮิตช์ค็อค ที่เล่าเรื่องของ นาย โรเจอร์ ธอร์นฮิลล์ (รับบทโดย แครี่ แกรนท์) ผู้บริหารบริษัทโฆษณาที่ถูกแก๊งจารชนเข้าใจว่าตัวเขาคือสายลับชาวอเมริกันที่ชื่อว่า จอร์จ แคปแลน ไม่ว่าเขาพยายามอธิบายว่าตัวเขาเป็นใคร สักเท่าใดก็ไร้ประโยชน์ แก๊งจารชน จับเขากรอกเหล้า หมายอำพรางการตายของเขาเป็นอุบัติเหตุ แต่ ธอร์นฮิลล์ ก็รอดมาได้ เขาพยายามเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทางการฟังและพิสูจน์ให้เห็น ว่าชีวิตของเขากำลังตกอยู่ในอันตรายแต่ก็ไร้ผล ซ้ำร้าย ความพยายามยิ่งทำให้ตัวเขาถลำลึกลงไปในวังวนนี้
ธอร์นฮิลล์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการสังหารนักการทูตในที่ทำการสหประชาชาติ ตัวเขากลายเป็นบุคคลที่ทั้งจารชนและทางการต้องการตัว ต้องหนีหัวซุกหัวซุน บนรถไฟ ระหว่างหลบหนี เขาได้รับการช่วยเหลือจากสาวสวย ลึกลับที่ชื่อ อีฟ เคนดัลล์ (รับบทโดย อีวา มารี เซนต์) การที่เธอช่วยเหลือเขานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ธอร์นฮิลล์น่าจะเฉลียวใจเรื่องนี้ แต่เขาก็คิดมันออกหลังจากเกิดปัญหาแล้วเสมอ เขารู้ว่าแท้จริงแล้ว อีฟคือสายลับที่แฝงตัวอยู่กับจารชน ส่วน จอร์จ แคปแลน นั้นเป็นชื่อที่ทางการอุปโลกน์ขึ้นเพื่อเบนความสนใจของจารชน เคราะห์กรรมตกกระไดพลอยโจน จี้ดันแผ่นหลังให้ ธอร์นฮิลล์ เล่นบทที่ไม่อยากเล่นเท่าใดนักต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเขารู้ว่า สายลับสาวอย่าง อีฟ ถูกทิ้งให้เอาตัวรอดจากเหล่าจารชนด้วยตัวเอง ธอร์นฮิลล์กระโดดเข้าไปเล่นบทพระเอกเต็มตัว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ---เขารักเธอเข้าแล้ว---

ฮิตช์ค็อคเคยกล่าวถึง North by Northwest ทำนองว่า นี่เป็นหนังที่ผ่อนคลายที่สุดสำหรับเขา เข้าใจว่าเขาคงหมายถึงเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างโลดโผน คนดู (โดยเฉพาะในยุคนั้น) คงไม่รู้สึกเห็นด้วยกับข้อนี้นัก เพราะถึงมันจะไปใช่หนังที่ต้องขบคิดจนหัวแตก หวาดผวา สิ่งที่จะเกิดขึ้นในหนัง แต่มันก็เป็นหนังที่ทำให้คนดูต้องลุ้นกันตัวโก่ง ใจหายใจคว่ำกับหลายๆ ฉาก (โดยเฉพาะฉากเครื่องบินไล่หลัง แครี่ แกรนท์ หรือว่าฉากไล่ล่ากันตรงผา รัชมอร์ ที่กลายเป็น หนึ่งในสัญลักษณ์,เครื่องหมายการค้า สำคัญ ของฮิตช์ค็อก...รองจาก Psycho)

ความเป็นเอกอุในการเลือกใช้ภาษาภาพเล่าเรื่อง ทำให้ North by Northwest ยังคงเป็นหนังที่ดูได้สนุก ตราบจนทุกวันนี้และตลอดไป ชื่อ North by Northwest เป็นชื่อที่ เออร์เนสต์ เลห์แมน คนเขียนบทหยิบยืมมาจากส่วนหนึ่งของบทละครเรื่อง แฮมเล็ต ของเช็คสเปียร์ นอกจากจะเป็นหนังต้นแบบให้หนังผจญภัย ในยุคต่อมาเดินตามแล้ว North by Northwest ยังเป็นหนังที่ประความสำเร็จด้านของรายได้ อย่างงดงาม เป็นความสำเร็จที่พอจะปลอบประโลม ให้หายผิดหวังจากการพลาดรางวัลได้บ้าง



ในฉบับดีวีดี North by Northwest ถูกบูรณะใหม่ อย่างไม่สมบูรณ์เต็มร้อยนัก ที่น่าตำหนิที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องของความละเอียดของภาพ ที่เกือบๆ จะทำให้เผลอนึกว่ากำลังดูจากแผ่นวีซีดี อยู่เนือง ๆ ใครที่หวังจะฉายด้วยเครื่องโปรเจ็คเตอร์ คงต้องอดทนกับความละเอียดของภาพ ที่หวังจะให้คมชัดพอๆ กับเรื่องอื่นๆ คงไม่ได้ ก็ยังดีที่เป็นฉบับที่คงความเป็นภาพจอกว้างไว้ หวังว่าในอนาคต เราจะได้ดู North by Northwest ในแผ่นรวม ที่บรรจุผลงานของ ฮิตช์ค็อคไว้ครบในแผ่นเดียว (หรือชุดเดียว) ฉบับที่ภาพละเอียด แต่คงอรรถรสเดิมไว้ได้

บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน

1/10/08

ศาลาเฉลิมรักษ์ ตอน Rear Window


ภาพยนตร์ของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค
ดัดแปลงจากนิยายของ คอร์เนลล์ วูลริช
นำแสดงโดย เจมส์ สจ๊วต และ เกรซ เคลลี่

วีดีโอสามัญประจำบ้าน ตอน หมายเหตุฆาตกรรม

สร้างจากนิยายขนาดสั้นของนักเขียนรางวัลโนเบล การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
(Gabriel Garcia Marquez)


นำแสดงโดย Rupert Everett และ Ornella Muti

กำกับโดย Francesco Rosi

วีดีโอลิขสิทธิ์ของไทยชื่อว่า “บันทึกฆาตกรรม”

วีดีโอสามัญประจำบ้าน ตอน Dario Argento และ Asia Argento


ดาริโอ้ อาร์เจนโต้ กับ เอเชีย อาร์เจนโต้
สองพ่อลูกคู่ขวัญแห่งหนังสยองขวัญอิตาลี่

กับ Trauma วีดีโอลิขสิทธิ์ชื่อไทยว่า “ทรอม่า ทุบแล้วเชือด”

1/7/08

Top 10 Artvirus ส่งท้ายปี 2007

Top 10 Artvirus ส่งท้ายปี 2007

วนมาอีกครั้ง (สุดท้าย) กับ Top 10 Artvirus ด้วยการรวมแรงจากสมาชิกทีมงาน ฟิล์มไวรัส และเพื่อนพ้อง เข้ามาร่วมกันบอกกล่าวความลับความชอบสุดขีดคลั่งในใจประจำปี 2550 (เวอร์ไปนั่น)

อ่าน Top 10 Artvirus ของรักของชอบเรื่อง หนัง-ละครเวที-ศิลปะ ได้ที่นี่ :
http://www.onopen.com/2008/02/2502
คราวหน้าเตรียมพบโฉมหน้าใหม่ของ นิมิตวิกาล ฉบับสั้น!

ภาพประกอบ (บน) จากละครเวที เมื่อผมหลับในคืนปฏิวัติ ของคณะหน้ากากเปลือย
ภาพประกอบ (ล่าง) Eden and After หนังของ Alain Robbe-Grillet คัดเลือกโดย filmsick ใน Top 10 Artvirus 2007
อ่านเกี่ยวกับ Alain Robbe-Grillet ได้ที่: