* หมายเหตุ: ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในรอบพิเศษในงานเทศกาลหนังฮอลลีวู้ดยุคคลาสสิคเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ *
รีวิวดีวีดี North by Northwest
บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน
ปีที่หนังออกฉาย : 1959
ปีที่หนังออกฉาย : 1959
ปีที่ออกเป็นดีวีดี: 2006สี (Technicolor)
ระบบเสียง Mono (Westrex Recording System)
คำบรรยาย English
ความยาว 136 นาที
นำแสดงโดย Cary Grant, Eva Marie Saint
กำกับการแสดงโดย : Alfred Hitchcock
ระบบเสียง Mono (Westrex Recording System)
คำบรรยาย English
ความยาว 136 นาที
นำแสดงโดย Cary Grant, Eva Marie Saint
กำกับการแสดงโดย : Alfred Hitchcock
กระแสของแผ่นบลูเรย์ และเอ็ชดีดีวีดี ยังไม่เปรี้ยงปร้างนัก ถึงแม้ว่าหลายบริษัทเริ่มทยอยผลิตเครื่องเล่นที่สามารถเล่นแผ่น บลูเรย์มาให้ผู้บริโภคชิมลางแล้วหลายรุ่น (โซนี่ เพลย์สเตชัน 3 ,โซนี่ รุ่น BDP-S1 ,ซัมซุง รุ่น BD-P1000 ,พานาโซนิค รุ่น DMP-BD10 ,ไพโอเนียร์ รุ่น BDP-HD1 ,ฟิลิปส์ รุ่น BDP9000 ,ชาร์ป รุ่น DV-BP1 ,แอลจี รุ่น BD100 ,ไลท์-ออน รุ่น BDP-X1) อย่างที่เคยล้อกันเล่นๆ ว่าก่อนจะคิดแผ่นที่มีความจุเยอะๆ ออกมาจำหน่าย (บลูเรย์เลเยอร์เดียว 25 GB ถ้า 2เลยอร์ ก็อีกเท่าหนึ่ง ส่วนเอ็ชดีดีวีดีแบบเลเยอร์เดียว มี 15 GB และสองเลเยอร์มี 30 GB) จำจะต้องตั้งข้อสงสัยว่า ความจุตั้งมากมายขนาดนั้น จะเอามาบรรจุอะไร
หากเป็นบรรดาเกมคอมพิวเตอร์ คอนโซลไหนก็เถิด สิ้นสุดวิวัฒนาการที่กราฟิกสวยงาม สมจริง ต้องการหน่วยความจำเยอะหน่อย ก็ดูจะพอนึกออกว่าลงเอยอย่างไร แต่ถ้าเป็นหนัง น่าจะหมายถึงขั้นตอนอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย เช่นว่า ถ้าจะเก็บหนังเก่าก็ต้องเอาหนังเก่าเรื่องนั้นๆ มาผ่านกระบวนการบูรณะ(ที่สำคัญคือต้องเก่าและมีชื่อเสียงในระดับหนึ่งด้วย) ถ้าใครที่เคยเห็นหรือได้ดูหนังเก่าที่บูรณะใหม่ คงพอนึกออกว่าหนังบางเรื่องถึงกับต้องตกแต่งเสียงเสียใหม่ จำลองส่วน ตกแต่งภาพส่วนที่เสียหาย ซึ่งอาจจะหมายถึงต้องขจัดภาพที่มืดมัว จนชวนให้คิดว่าฟิล์มต้นฉบับส่ออาการร่อแร่เพียงไร ขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังไม่ให้การบูรณะใหม่ ใหม่จนเกินงาม ภาพชัดแจ๋ว เสียงสมจริงเกินเหตุ ขาดอรรถรส บรรยากาศ เดิมๆ อย่างที่หนังเก่าควรจะเป็น การบูรณะทั้งหมด ที่กล่าวมา อาจจะอาศัย หน่วยความจำ เท่าที่แผ่นดีวีดี พึงจุไว้ได้ เพียงพอ และสมเหตุสมผล ถ้าเป็นแผ่นนอกกฎหมายประเภทรวมหนังสิบเรื่องไว้ในแผ่นเดียวก็ยังพอนึกถึงความเป็นไปได้ออก แต่ค่ายใหญ่ๆ ที่ผลิตหนังออกมาจะยอมให้เป็นอย่างนั้นหรือ เราจะได้เห็นแผ่นบลูเรย์ บรรจุไตรภาค สไปเดอร์-แมน หรือว่าเรื่องไหน ที่มีภาคต่อในแผ่นเดียวหรือ ใครจะไปรู้ วันข้างหน้า อะไรก็เกิดขึ้นได้ จริงไหม
ถ้าจะให้คิดกันแบบเพลย์เซฟว่ามีผลงานของปรมาจารย์ นักทำหนังที่ควรค่าแก่การนำมาบูรณะใหม่ บ้างชื่อแรกๆ ที่คนนึกออกก็น่าจะเป็น ชาลี แชปลิน และคนต่อมาก็น่าเป็น อัลเฟรด ฮิตช์ค็อค แน่นอน หนังหลายเรื่องของ ฮิตช์ค็อค คงจะอยู่ในชั้นสะสมของนักดูหนังหลายคนเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่มีเรื่องนี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีในการแนะนำ
North by Northwest เป็นหนังลำดับที่สิบเอ็ด ของฮิตช์ค็อค ที่เล่าเรื่องของ นาย โรเจอร์ ธอร์นฮิลล์ (รับบทโดย แครี่ แกรนท์) ผู้บริหารบริษัทโฆษณาที่ถูกแก๊งจารชนเข้าใจว่าตัวเขาคือสายลับชาวอเมริกันที่ชื่อว่า จอร์จ แคปแลน ไม่ว่าเขาพยายามอธิบายว่าตัวเขาเป็นใคร สักเท่าใดก็ไร้ประโยชน์ แก๊งจารชน จับเขากรอกเหล้า หมายอำพรางการตายของเขาเป็นอุบัติเหตุ แต่ ธอร์นฮิลล์ ก็รอดมาได้ เขาพยายามเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทางการฟังและพิสูจน์ให้เห็น ว่าชีวิตของเขากำลังตกอยู่ในอันตรายแต่ก็ไร้ผล ซ้ำร้าย ความพยายามยิ่งทำให้ตัวเขาถลำลึกลงไปในวังวนนี้
ธอร์นฮิลล์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการสังหารนักการทูตในที่ทำการสหประชาชาติ ตัวเขากลายเป็นบุคคลที่ทั้งจารชนและทางการต้องการตัว ต้องหนีหัวซุกหัวซุน บนรถไฟ ระหว่างหลบหนี เขาได้รับการช่วยเหลือจากสาวสวย ลึกลับที่ชื่อ อีฟ เคนดัลล์ (รับบทโดย อีวา มารี เซนต์) การที่เธอช่วยเหลือเขานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ธอร์นฮิลล์น่าจะเฉลียวใจเรื่องนี้ แต่เขาก็คิดมันออกหลังจากเกิดปัญหาแล้วเสมอ เขารู้ว่าแท้จริงแล้ว อีฟคือสายลับที่แฝงตัวอยู่กับจารชน ส่วน จอร์จ แคปแลน นั้นเป็นชื่อที่ทางการอุปโลกน์ขึ้นเพื่อเบนความสนใจของจารชน เคราะห์กรรมตกกระไดพลอยโจน จี้ดันแผ่นหลังให้ ธอร์นฮิลล์ เล่นบทที่ไม่อยากเล่นเท่าใดนักต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเขารู้ว่า สายลับสาวอย่าง อีฟ ถูกทิ้งให้เอาตัวรอดจากเหล่าจารชนด้วยตัวเอง ธอร์นฮิลล์กระโดดเข้าไปเล่นบทพระเอกเต็มตัว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ---เขารักเธอเข้าแล้ว---
ฮิตช์ค็อคเคยกล่าวถึง North by Northwest ทำนองว่า นี่เป็นหนังที่ผ่อนคลายที่สุดสำหรับเขา เข้าใจว่าเขาคงหมายถึงเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างโลดโผน คนดู (โดยเฉพาะในยุคนั้น) คงไม่รู้สึกเห็นด้วยกับข้อนี้นัก เพราะถึงมันจะไปใช่หนังที่ต้องขบคิดจนหัวแตก หวาดผวา สิ่งที่จะเกิดขึ้นในหนัง แต่มันก็เป็นหนังที่ทำให้คนดูต้องลุ้นกันตัวโก่ง ใจหายใจคว่ำกับหลายๆ ฉาก (โดยเฉพาะฉากเครื่องบินไล่หลัง แครี่ แกรนท์ หรือว่าฉากไล่ล่ากันตรงผา รัชมอร์ ที่กลายเป็น หนึ่งในสัญลักษณ์,เครื่องหมายการค้า สำคัญ ของฮิตช์ค็อก...รองจาก Psycho)
ความเป็นเอกอุในการเลือกใช้ภาษาภาพเล่าเรื่อง ทำให้ North by Northwest ยังคงเป็นหนังที่ดูได้สนุก ตราบจนทุกวันนี้และตลอดไป ชื่อ North by Northwest เป็นชื่อที่ เออร์เนสต์ เลห์แมน คนเขียนบทหยิบยืมมาจากส่วนหนึ่งของบทละครเรื่อง แฮมเล็ต ของเช็คสเปียร์ นอกจากจะเป็นหนังต้นแบบให้หนังผจญภัย ในยุคต่อมาเดินตามแล้ว North by Northwest ยังเป็นหนังที่ประความสำเร็จด้านของรายได้ อย่างงดงาม เป็นความสำเร็จที่พอจะปลอบประโลม ให้หายผิดหวังจากการพลาดรางวัลได้บ้าง
ในฉบับดีวีดี North by Northwest ถูกบูรณะใหม่ อย่างไม่สมบูรณ์เต็มร้อยนัก ที่น่าตำหนิที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องของความละเอียดของภาพ ที่เกือบๆ จะทำให้เผลอนึกว่ากำลังดูจากแผ่นวีซีดี อยู่เนือง ๆ ใครที่หวังจะฉายด้วยเครื่องโปรเจ็คเตอร์ คงต้องอดทนกับความละเอียดของภาพ ที่หวังจะให้คมชัดพอๆ กับเรื่องอื่นๆ คงไม่ได้ ก็ยังดีที่เป็นฉบับที่คงความเป็นภาพจอกว้างไว้ หวังว่าในอนาคต เราจะได้ดู North by Northwest ในแผ่นรวม ที่บรรจุผลงานของ ฮิตช์ค็อคไว้ครบในแผ่นเดียว (หรือชุดเดียว) ฉบับที่ภาพละเอียด แต่คงอรรถรสเดิมไว้ได้
บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน
No comments:
Post a Comment