1/13/08

The Ring Finger: เสน่ห์มืดในแสงบรรเจิด

บทความที่เหลือในสต็อคนำทยอยลงพิมพ์ ณ ที่นี้ “นิมิตวิกาล”- filmvirus
(บางส่วนของบทความนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Pulp)

The Ring Finger:
Diane Bertrand at the Bangkok International Film Festival 2006
เสน่ห์มืดในแสงบรรเจิด
บทความและบทสัมภาษณ์โดย สนธยา ทรัพย์เย็น

สำหรับคนดูหนังและผู้อำนวยการสร้าง หนังฝีมือผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงลงหลักปักฐาน อาจเป็นได้ทั้งความเสี่ยงทางทุนรอนหรือประสบการดูหนังแบบใหม่ ๆ โชคดีที่สาวฝรั่งเศส ดิยาน แบร์ทรองด์ (Diane Bertrand) / ออกเสียงคล้าย “เดียน”) คงไม่ใช่คนที่ทำให้คนอื่นต้องลุ้นจนตัวโก่ง เพราะแม้ว่าเธอจะจัดเป็นคนทำหนังรุ่นค่อนข้างใหม่ เพิ่งทำหนังใหญ่แค่เรื่องที่สอง แต่ก็มีประสบการณ์ในแวดวงบันเทิงมาพอตัว ทั้งเคยทำละครเวที ออกแบบท่าเต้น ทำหนังสารคดีกับหนังทีวีอย่างละ 2 เรื่อง หนังสั้นก็มีพอเป็นพิธี เช่นหนังสั้นเรื่องแรกของเธอคือ December 1958, 10 h36 ที่ได้รางวัลซีซาร์ - รางวัลใหญ่ระดับชาติของฝรั่งเศสในปี 1992 ส่วนหนังใหญ่เรื่องแรกของเธอคือ Un Samedi soir sur la terre (A Saturday on Earth) ก็ได้เคยรับเชิญให้ฉายโชว์ในสาขา Un Certain Regard ที่เมืองคานส์ในปี 1996 มาแล้วด้วย (ไม่ง่ายที่ผู้กำกับน้องใหม่จะเข็นหนังเข้าคานส์) แต่หากย้อนกลับไปใกล้จุดเริ่มต้นเข้าไปเรื่อย ๆ เธอเคยร่วมแสดงและช่วย ฌอง-ปิแอร์ เจอเน่ต์ (ผู้สร้าง Amelie) ทำหนังสั้นของเขาเรื่อง Foutaises (ปี 1989) หนำซ้ำเธอยังเรียนจบมหาวิทยาลัยมาทางสายชาติพันธุ์วิทยา, สังคมวิทยา ตามด้วยสาขาเศรษฐศาสตร์ นับว่าเธอนั้นรอบทิศจริง ๆ


ประมาณ 9 ปีระหว่างหนังใหญ่เรื่องแรกและเรื่องที่สองอาจจะทิ้งห่างกันนาน แต่ในโลกของทุนนิยมคำตอบคงไม่เสมอเท่าคำถาม ขอเอาคุณภาพผลงานเป็นตัวตั้ง คะแนนใจจากคนดูเป็นตัวหารก็คงพอบรรเทาอาการขัดยอกของการยืนรอไปได้บ้าง และกลับมาครั้งนี้ เธอก็ไม่ทำให้ผิดหวัง สนองตอบให้พอใจกันทั้งคอหนังที่ชอบฝึกสมองและคอหนังที่สมัครใจใฝ่หาสารกระตุ้น



ข้อความต่อไปนี้เล่าเรื่องหนังบางส่วน แต่ไม่ได้เฉลยบทสรุป
The Ring Finger (L’ Annulaire) เล่าเรื่อง ไอริส เด็กสาวที่วันดีคืนดีประสบอุบัติเหตุในโรงงาน นิ้วสวยถูกเฉือนแหว่ง เธอจึงออกเดินทางไปยังเมืองที่ไม่คุ้นเคยเพื่อหางานใหม่ เนื่องจากห้องพักที่โรงแรมเต็ม เธอต้องแชร์ห้องกับกะลาสีหนุ่มนายหนึ่ง โดยเขากลับมานอนช่วงกลางวัน ส่วนเธอกลับห้องในตอนเย็น ทั้งคู่ไม่มีโอกาสพบหน้ากัน ได้แต่ตรวจตราข้าวของส่วนตัว และจินตนาการถึงหน้าตาของอีกฝ่าย


ไอริส ได้งานที่บริษัทแห่งหนึ่ง เป็นห้องแล็บรับฝากสิ่งของอันเป็นที่รักของผู้คนมากหน้าหลายตา ข้าวของที่อาจดูไร้ค่าจำพวก ปอยผม โน๊ตดนตรี ฟันปลอม รอยแผลเป็น ปากกา ฯลฯ ถือเป็นวัตถุ “ตัวอย่าง” (specimen / ศัพท์นี้มักใช้ในงานทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์– เช่น ตัวอย่างเชื้อ, ปัสสาวะ, เลือด, น้ำลาย ที่บอกเอกลักษณ์เฉพาะ) เธอต้องคอยบรรจุ ลงทะเบียน “ตัวอย่าง” ชนิดต่าง ๆ ในแฟ้ม และดูแลรักษามันอย่างดี เพื่อไม่ให้เสียศรัทธาของเจ้าของดั้งเดิม แม้จะไม่เคยมีใครกลับมาทอดสายตาเยี่ยมชมมันอีกเลยก็ตาม

ไอริส เริ่มผูกพันกับอาชีพพิลึกของเธอมากขึ้นทุกที พร้อม ๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับชายเจ้าของบริษัทก็ก้าวไปอย่างพิกลพอกัน

นั่นคือเรื่องราวคร่าว ๆ ในหนังของ ดิยาน แบร์ทรองด์ ซึ่งเธอเขียนบทดัดแปลงจากนิยายเล่มเล็กของนักเขียนญี่ปุ่น โยโกะ โอกาว่า (Yoko Ogawa) นอกจากได้เปิดตัวฉายที่ฝรั่งเศสและตระเวนตามเทศกาลไม่กี่แห่ง เช่นเทศกาลหนังโตรอนโต้ ที่แคนาดา ปี 2005 ก็ไม่ได้อวดโฉมมากมายนัก นับว่าน่าเสียดายทีเดียว เพราะหนังเรื่องนี้อบอวลไปด้วยเสน่ห์ประหลาดทั้งจากนักแสดงนำชาย (มาร์ค บาร์เบ / Marc Barbé หนุ่มเลือดเย็นจาก Sombre) นักแสดงนำหญิงหน้าใหม่ (สาวตาโตที่เพิ่งผ่านการแสดงเรื่อง Hitman และกำลังจะกลายเป็นสาวบอนด์คนใหม่ ในหนังชุด เจมส์ บอนด์ ตอนที่ 22 เรื่อง Quantam of Solace -โอลก้า คูรีเลนโก้ / Olga Kurylenko) การจัดฉาก จัดแสงถ่ายภาพ (โดยเฉพาะการใช้เลนส์ซูม) เพลงวังเวงเยือกเย็นของ เบ็ธ กิบบ้อนส์ จากวง Portishead ที่สำคัญตัวเรื่องก็ลึกลับเย้ายวนชวนพิศวงตั้งแต่ต้นจนจบ จัดเป็นประเภทหลอนสวยงาม มากกว่าหลอนสยอง คงดูไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ชมขาประจำตามโรงลิโด้หรือเฮ้าส์ ตัวหนังอาจไม่สนุกรวดเร็วระทึกใจ หรือใฝ่สูงวาดหวังรางวัลอะไร แต่มันก็ไม่ได้หนักอึ้ง ต้องถกปัญญาจนสาหัส หวังว่าหนัง ดิยาน แบร์ทรองด์ คงโชคดีในเร็ววันได้รับการจัดจำหน่ายในวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ไปถึงฝั่งอเมริกา หรืออังกฤษ เพราะจากนั้นก็คงไม่ยากเกินที่จะฝ่ามรสุมกลับมาขึ้นอ่าวไทยใหม่


เท่าที่ทราบแม้แต่ในขณะนี้ (มกราคม 2008) หนังเรื่อง The Ring Finger นี้ก็ยังไม่ได้ถูกซื้อไปจัดจำหน่ายในวงกว้างที่ประเทศซึ่งพูดภาษาอังกฤษ (ที่อเมริกาได้แค่ฉายรอบพิเศษในเทศกาลหนังบรู๊คลินและได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิง โอลก้า คูรีเลนโก้ / Olga Kurylenko) ซึ่งนั่นย่อมทำให้ดีวีดีที่มีผลิตนั้นไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษไปโดยอัตโนมัติ (แต่น่าแปลกที่หนังเข้าฉายตามโรงที่ไต้หวันและญี่ปุ่น)



สนธยา : คุณทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาก่อนหรือเปล่าครับ?
ดิยาน : ก็มีบ้างค่ะ ทำหนังโฆษณา ทำละครเวที ออกแบบท่าเต้นด้วย แล้วฉันก็เริ่มทำหนังสั้น หนังความยาวปานกลาง แล้วก็เริ่มทำหนังใหญ่เรื่องแรกในปี 1996 เรื่องนี้ได้ฉายในเมืองคานส์ แล้วก็ทำหนังโฆษณากับหนังสำหรับฉายทางทีวี จนกระทั่งเรื่องนี้เป็นหนังใหญ่เรื่องที่สอง
สนธยา : ผู้กำกับฝรั่งเศสหลายคนมักจะมาจากอาชีพนักเขียน แต่งนิยายหรือเขียนบทหนังมาก่อน
ดิยาน: ฉันเขียนบทหนังเอง แต่ฉันไม่เคยเป็นนักเขียนในแง่ที่คุณว่า ส่วนใหญ่การเป็นผู้กำกับมักจะมาเริ่มต้นจาก 2 อย่างคือ ถ้าไม่ไปเรียนทำหนัง ก็ต้องทำหนังสั้นหรือผ่านงานอื่นมาก่อน เริ่มเรียนรู้ผ่านอะไรแบบนี้อย่างที่ฉันทำมา แต่ฉันก็เขียนบทเองตลอดมา

สนธยา: หนังสั้นของคุณเรื่องที่ชื่อ 25 December 1958, 10h 36 คุณพอจะช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมครับว่าเกี่ยวกับอะไร ทำไมถึงเจาะจงเลขนี้?
ดิยาน: คือวันนั้นมันมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เขาประสบอุบัติเหตุจักรยานล้มแล้วเสียชีวิตทันที เขาอายุแค่ 7 ขวบ เรื่องราวของหนังก็เกี่ยวกับคนที่รู้จักและข้องเกี่ยวกับเด็กชายคนนี้ในเวลา 20 ปีต่อมา ความสัมพันธ์โยงใยของเหตุการณ์คราวนั้นที่มีผลต่อชีวิตของคนที่ยังอยู่
สนธยา: 20 ปีให้หลังเหรอครับ แล้วเป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ในอดีตของคุณด้วยหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่เรื่องแต่ง?
ดิยาน: ไอเดียมันเข้ามาเอง แต่บางทีมันอาจจะเป็นเพราะหนังเรื่อง Short Cuts ที่ฉันชอบมากก็เป็นได้
สนธยา: Short Cuts ของ โรเบิร์ท อัลท์แมน (Robert Altman) หรือครับ?
ดิยาน: ค่ะ เรื่องราวที่เกี่ยวกับโชคชะตา อะไรจะเกิดขึ้นเวลาคนเรามาพบกัน เหตุการณ์ชีวิตที่หักเหไปเพียงเพราะพวกเขาเลือกไปซ้ายหรือขวา เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในหนังของฉันที่ตอนแรกตัวละครวางแผนจะทำอะไรสักอย่าง แล้วพวกเขาเปลี่ยนใจไม่ทำ พอเพื่อนคนหนึ่งเสนอว่าให้ไปอีกที่หนึ่ง ก็เปลี่ยนความตั้งใจเดิมไป แล้วก็ไปประสานงากับจักรยานของเด็กคนนี้

สนธยา: แล้ว A Saturday on Earth (Un Samedi sur la Terre) หนังใหญ่เรื่องแรกของคุณล่ะครับ?
ดิยาน: ก็มีไอเดียบางอย่างที่คล้ายกันอยู่ แต่ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว เกี่ยวกับพี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งที่ถูกแยกจากกันในวัยเด็ก เพราะไม่มีพ่อ ส่วนแม่ก็ไม่ได้เลี้ยงดูลูกเอง ลูกสาวไปอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ส่วนลูกชายไปเข้าอีกโรงเรียนหนึ่ง แต่แล้ววันหนึ่งทั้งคู่ก็ได้มาเจอกันโดยบังเอิญ พี่ชายได้พลั้งมือฆ่าน้องสาวตายโดยไม่เจตนา ทั้ง ๆ ที่จริงเขาเองต่างหากที่ตั้งใจฆ่าตัวตาย แล้วเขาก็ไม่รู้ด้วยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นน้อง ตัวหนังก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับแค่คนสองคนนี้ โชคร้ายที่เขานัดมาเจอกันเป็นครั้งที่สอง (หัวเราะ)


สนธยา: นี่คือหนังใหญ่เรื่องแรกก่อนที่คุณจะมาทำ The Ring Finger แล้วคุณก็มีอีกเรื่องที่ทำมาไม่นานมานี้
ดิยาน: นั่นมันหนังสั้น แล้วก็หนังใหญ่เรื่องแรก แล้วก็หนังทีวี
สนธยา: ดูเหมือนหนังสั้นคุณจะมีตัวละครเยอะแยะ แต่พอมาทำ The Ring Finger ตัวละครน้อยลงไปเยอะ
ดิยาน: ค่ะ จริงค่ะ

สนธยา: ผมจำเรื่องราวตอนหนึ่งใน Short Cuts ได้ มีเรื่องบังเอิญที่เด็กคนหนึ่งถูกรถชน อันนั้นคือแรงบันดาลใจอันหนึ่งใช่ไหมครับ?
ดิยาน: อ๋อ ฉันจำได้ค่ะ มันอาจจะไม่ใช่ที่มาโดยตรง......บางทีฉันว่าฉันอาจทำก่อน Short Cuts นะ (คิดทบทวน) ตอนนั้นหนังของฉันมันน่าจะปี 1991
สนธยา: อาจจะทำก่อน Short Cuts (ตามข้อมูล Short Cuts ฉายทีหลังเมื่อปี 1993- สนธยา)
ดิยาน: อาจจะเป็นได้

สนธยา แล้วคุณก็เลยได้รางวัลซีซาร์จากหนังเรื่องนั้น ทำให้คุณได้มาทำหนังเป็นอาชีพต่อมา
ดิยาน: ค่ะ
สนธยา: โยโกะ โอกาว่า (ผลงานเช่นเรื่อง The Gift of Numbers) - ผู้หญิงคนที่แต่งเรื่อง The Ring Finger นี่ เธอมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ ฮารูกิ มูรากามิ ไหมครับ?
ดิยาน: เธอน่าจะอายุสัก 40, 42 หรือ 43 นะ ส่วน มูรากามิ นี่ฉันไม่แน่ใจ (หลังจากเช็คข้อมูลแล้วผมพบว่า โอกาว่า เกิดปี 1962 ส่วน มูรากามิ 1949– สนธยา)


สนธยา: จริง ๆ เรื่องที่เธอแต่งนี่ออกแนวลึกลับ หรือสยองขวัญมากกว่ากันครับ?
ดิยาน: ออกไปทางเรื่องลึกลับ แฟนตาซีมากกว่าค่ะ เรื่อง The Ring Finger นี่มันเป็นอารมณ์ของเด็กสาวคนหนึ่ง ในส่วนของตัวนิยายนั้น เธอบรรยายทำนองว่า ฉันอยู่ที่โรงงานนั่นนะ ฉันนิ้วแหว่งไปข้างหนึ่ง ฉันไม่รู้จะทำยังไงต่อไป ฉันก็เลยออกจากโตเกียว ฉันมาเจอสถานที่แปลกประหลาดแห่งหนึ่ง เจอโฆษณารับสมัครงาน คิดไปมาแล้วก็ลองสมัครดู.........เธอบรรยายเรื่องราวที่เกิดกับตัวเธอด้วยท่าทีเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่ปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ถัดจากนั้นคุณก็ค่อย ๆ มองภาพออก ถึงเรื่องที่เกิดมันอาจจะพิลึกอยู่สักหน่อย คุณไม่อาจแน่ใจได้ว่าเรื่องที่เกิดนั้นเป็นเรื่องจริง หรือเธอกุขึ้นมาเอง ตัวฉันเองนั้นประทับใจมากตอนที่อ่านนิยาย.... มันบรรยายยากนะ ฉันอยากทำอะไรที่มันดูเรียบง่าย ไม่มีโครงสร้างซับซ้อน เพราะหนังของฉันเรื่องก่อน ๆ ค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร เรื่องที่เริ่มขึ้นในวันหนึ่งแล้วมันก็จบลงในอีกวัน ในระหว่างนั้นคุณก็ได้พบกับความลึกลับของความเป็นจริงกับโลกแฟนตาซี บรรยากาศของสถานที่ ความร้อน คราบเหงื่อเหนียวตัว


สนธยา: ตอนรอบฉายเมื่อวานคุณบอกว่า ตัวผู้หญิงในฉบับนิยายนั้นเขียนบันทึกเล่าเรื่องตัวเอง และเรื่องราวมันก็ค่อนข้างหดหู่มากกว่าในหนังของคุณ
ดิยาน: ค่ะ ก็ทำนองนั้น
สนธยา: ปกติเรื่องที่มาจากของญี่ปุ่นมักจะจบเรื่องแบบสิ้นหวัง แต่ในหนังของคุณมาแปลก ดูเหมือนว่าคุณมีสัมผัสเบามือ กลับทำให้ดูมีแสงสว่างของความหวัง เหมือนกับว่ามีแสงสว่างคอยคานรับกับความมืดอยู่ตลอด ทำให้หนังไม่ได้มืดมนจนขีดสุด
ดิยาน: จริงค่ะ
สนธยา: โดยเฉพาะการใช้เพลงของ....(นึกชื่อไม่ออก)
ดิยาน: เบ็ธ กิบบอนส์ (วง Portishead)
สนธยา: ครับ ๆ นั่นทำให้มันดูมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ ตอนที่ผมดูหนังของคุณ มันชวนให้ผมหวนนึกถึงหนังสยองขวัญของ โรมัน โปลันสกี้ เรื่อง The Tenant ที่สร้างจากหนังสือของ โรลองด์ ตอปอร์ (Roland Topor)
ดิยาน: เรื่องไหนนะ
สนธยา: รู้สึกชื่อฝรั่งเศสจะ La Locataire หรือ Le Locataire (The Tenant)
ดิยาน: อ๋อ Le Locataire ใช่ค่ะ หนังดีมากเรื่องนั้น


สนธยา: ตอนดูผมก็คาดเดาประมาณว่าเรื่องของคุณคงจะดิ่งตรงไปสู่ห้วงนรกแบบเรื่องนั้น หรือแบบหนังออสเตรียของ เยสสิก้า เฮ้าส์เนอร์ (Jessica Hausner) เรื่อง Hotel แนวทางมันใกล้เคียงกัน แต่ว่าวิธีการของคุณมีความขัดแย้งที่น่าสนใจมาก
ดิยาน: ก็จริงค่ะ แต่ว่าคุณรู้สึกขัด ๆ หรือเปล่า?
สนธยา: หมายถึงในแง่ไหนครับ?
ดิยาน: ในแง่ที่ว่าคุณรู้สึกว่าวิธีการเล่าเรื่องมันผิดเพี้ยน มันไม่เฉลยเรื่องราวให้ชัดเจนตามที่ควรจะเป็น
สนธยา: ผมคิดว่าวิธีการของคุณนั้นน่าสนใจกว่า เพราะว่ามันคาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า โดยเฉพาะตัวละครของเด็กสาวที่คุณเองก็พูดว่า เธอยินดีที่จะเลือกไปให้ถึงที่สุด ไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมา และเธอก็ไม่ได้ถูกใครบังคับ หรือถูกเหตุการณ์บีบให้จำยอมด้วย (ไม่จบอย่างหนังเรื่องอื่นที่ผมเอ่ยถึง)
ดิยาน: ค่ะ แน่นอนค่ะ มันแตกต่างกันทีเดียว นี่เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากทีเดียว และที่น่าตลกอย่างหนึ่งก็คือ ในตัวนิยายนั้นค่อนข้างวิปริตกว่าในฉบับหนัง ตอนที่ฉันเพิ่งอ่านหนังสือจบ ฉันรู้สึกว่าเรื่องราวทั้งหมดอาจจะเป็นแค่ความฝัน แต่ในแง่หนึ่งมันก็สร้างความรู้สึกปลอดโปร่งสดใสเอามาก ๆ ฉันก็เลยไม่อยากจะใส่ใจเอาความจริง หรือไปคิดเรื่องความรัก เสน่ห์ดึงดูด ประเด็นทางเพศ หรืออะไรอื่น ๆ มันมีอะไรที่ค่อนข้างลึกลับ ความพึงพอใจบางอย่างที่อาจจะได้มาจากสถานการณ์ที่บางครั้งเราเองก็ไม่ได้หวังหรือต้องการมัน แต่มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว มันผสมผสานทั้งความสุขและความกลัวเข้าด้วยกัน มันยากจะอธิบายอารมณ์อันนี้ แต่ในชีวิตจริงบางทีมันก็อาจเกิดขึ้นได้ ถึงจะไม่ใช่บ่อย ๆ เพราะเรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและอาจมีอันตรายแอบซ่อน บางทีเราต้องสร้างกำแพงขึ้นมาป้องกัน แล้วตัวเด็กสาวในเรื่องก็ยังเด็กอยู่ เธอยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตมากนัก ในแง่หนึ่งเธอก็ไม่คิดมากว่าจะมีอะไรให้เสียกันนักหนา เธอกำลังอยู่ในจุดที่กำลังจะก้าวพ้นจากความเป็นเด็กสาวไปสู่ความเป็นผู้หญิงเต็มตัว มันช่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ มีทั้งความบริสุทธิ์และความต้องห้าม เหมือนในเทพนิยายเรื่อง Barbe Bleue


สนธยา: หมายถึงเทพนิยายของฝรั่งเศสโดยเฉพาะหรือเปล่าครับ?
ดิยาน: Barbe Bleue เรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่แต่งงานกับมารใจร้าย เขาให้ทรัพย์สินเธอทุกอย่าง เขาบอกเธอว่าจะไปทำธุระที่อื่น เธออยู่บ้านจะทำอะไรก็ทำได้ เชิญเพื่อนมาฉลอง ใช้จ่ายเงินได้ตามใจ อย่างเดียวที่ห้ามทำก็คือ อย่าเข้าไปในห้องต้องห้าม จำได้ไหมในหนังมีกุญแจดอกหนึ่ง เธอทนความอยากรู้อยากเห็นไม่ไหว แล้วก็นั่นล่ะ ผู้หญิงหรือภรรยาทุกคนที่ได้เข้าไปในห้องนั้นต้องตายหมด นั่นคือเทพนิยายเรื่อง Barbe Bleue ชื่อภาษาอังกฤษน่าจะชื่อ Blue…..Beard
สนธยา: Bluebeard อ๋อครับ ๆ เรื่องนี้รู้สึกจะเป็นสากลเหมือนกัน (มีสร้างหนังด้วยเช่นเรื่อง Bluebeard หนังอเมริกันของ เอ็ดการ์ อุลเมอร์ (Edgar Ulmer) และหนังของ ชาลี แชปปลิน เรื่อง Monsieur Verdoux)
ดิยาน: แล้วก็มีเทพนิยายอีกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กสาวกับรองเท้า Cinderella เธอต้องได้รองเท้าที่เหมาะกับเธอแล้วก็ได้พบกับเจ้าชาย
สนธยา: อ้อ ซินเดอเรลล่า (หัวเราะ)
ดิยาน: แล้วในนิยายก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับซินเดอเรลล่า อยู่เหมือนกัน รายละเอียดเรื่องเล็ก ๆน้อย ๆเกี่ยวกับคนที่เดินทางมาจากที่ไกลโพ้น มีรายละเอียดทางจิตวิทยาแฝงอยู่.....ไม่มีใครเอ่ยถึงประเด็นนี้ อย่างที่คนนำวัตถุมาจากที่ไหนสักแห่ง แล้วก็ทิ้งให้อยู่ในการดูแลของผู้ชายคนนี้ ถ้าเจ้าของอยากแวะมาเยี่ยมชมของชิ้นนั้นอีกก็ทำได้ แต่ลำพังการฝากวัตถุนี้ไว้กับบริษัทนี้ก็เป็นการช่วยบรรเทาใจของพวกเขาได้เปลาะหนึ่งแล้ว มันมีรายละเอียดตรงนั้นที่น่าแปลกและน่าสนใจมากทีเดียว
สนธยา: ทำไมเจ้าของถึงไม่อยากกลับมาดูสมบัติของตัวเองอีกล่ะครับ?
ดิยาน: อาจเป็นเพราะ.....ก็คงคล้ายกับเวลาที่คุณรักใครสักคน แล้วเขาให้ของสำคัญอะไรคุณมาสักอย่าง ถ้าเขาตาย พลัดหายหรือถูกกีดกันให้ห่างคุณ ถ้าคุณเจ็บปวดที่จะมีของสิ่งนั้นไว้กับตัว มันก็คงดีกว่าที่คุณจะเอามันแยกไปไว้ที่ไหนสักแห่ง ขณะเดียวกันคุณก็ตัดใจเอามันไปโยนลงโถส้วมไม่ได้ (หัวเราะ)
สนธยา: ประมาณว่าทำใจทำลายมันไม่ลง
ดิยาน: ใช่ค่ะ คุณก็คงอยากให้ใครสักคนเก็บของสิ่งนั้นไว้ให้แทน นี่ล่ะเป็นไอเดียจุดเริ่ม แน่นอนว่าเรื่องนี้มันไม่มีจริง แต่ถ้ามีมันก็อาจจะดีก็ได้นะ ในโลกความเป็นจริงคุณอาจอยากกลับไปดูมันอีกก็ได้ แต่ในนิยายไม่มีใครกลับไปเยี่ยมชมมันอีกเลย พวกเขาฝากมันไว้แล้วไม่เคยกลับมาอีกเลย สถานที่แห่งนั้นทำให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้น คุณไม่ต้องกลับไปหามันอีกต่อไป น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ



สนธยา: มันเป็นเรื่องที่ส่อลางไม่ชอบมาพากล ฟังดูคล้ายหนัง ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ เรื่อง La Chambre Verte (The Green Room) ด้วยเหมือนกัน
ดิยาน: อ๋อค่ะ La Chambre Verte (ทรุฟโฟต์ นำแสดงและกำกับหนังซึ่งเกี่ยวกับชายที่ฝังใจอยู่กับคนตายและเครื่องเตือนใจถึงอดีต มากกว่าจะอยู่กับคนเป็น – สนธยา)
สนธยา: มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง ที่ผมสนใจก็คือประเด็นของเด็กสาวที่ถูกเย้ายวนในกลิ่นอายแห่งอันตราย ผมว่ามันก็เกิดขึ้นกับผู้ชายได้เหมือนกัน แต่สำหรับเด็กสาวอาจจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า.......คุณคุ้นเคยกับนักเขียนคนนี้ไหม (หยิบหนังสือ The Blindfold ของ Siri Hustvedt ให้เธอดู) เธอเป็นภรรยาของ พอล อ้อสเตอร์ (Paul Auster / นักเขียนนิยายไตรภาคชุด The New York Trilogy และเขียนบทหนังเรื่อง Smoke กับ Blue in the Face ให้ เวย์น หวัง (Wayne Wang / อ่านเพิ่มเติมใน ฟิล์มไวรัส 5: ปฏิบัติการหนังทุนน้อย) รวมทั้งเคยกำกับหนังเอง 2 เรื่องคือ Lulu on the Bridge กับ The Inner Life of Martin Frost - สนธยา)
ดิยาน: อ๋อ ค่ะ อันนี้นิยายเล่มล่าสุดของเธอใช่ไหมคะ
สนธยา: ไม่ใช่ครับ อันนี้เป็นเรื่องแรกของเธอ เกี่ยวกับหญิงสาวที่ไปทำงานคล้าย ๆ กับเลขา เธอไปรับจ้างแปลหนังสือวิปริตเล่มหนึ่ง ซ้ำร้ายเธอยังถูกผู้ชายคนหนึ่งถ่ายภาพใบหน้าของเธอแล้วเอาไปแสดงในแกลเลอรี่ พอเธอเห็นภาพที่ออกมาเพี้ยน ๆ ภาพนั้น เธอเหมือนสูญเสียตัวตน หมดสภาพไปเลย
ดิยาน: อ้า ค่ะ แต่ฉันยังไม่ได้อ่านเล่มนี้ ฉันเพิ่งซื้อนิยายเล่มอื่นของเธอมา เล่มนี้ฉันยังไม่มี
สนธยา: ผมคิดว่าเรื่องราวทำนองนี้ เรื่องของการที่คนเราถูกอันตรายมาหว่านเสน่ห์เย้ายวน ผมอยากให้คุณพูดถึงประเด็นนี้หน่อยครับ คุณมองว่าผู้หญิงวัยสาวในสังคมมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งในตัวเองเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้หรือเปล่า


ดิยาน: เรื่องน่าแปลกที่ฉันเจอมาก็คือ มีเด็กสาวหลายคนทีเดียวที่เคยบอกฉันว่า ประสบการณ์ทำนองนี้มันอาจเกิดขึ้นได้จริงกับพวกเธอ คนกลุ่มนี้เป็นสาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่นะ ไม่ใช่สาวญี่ปุ่น แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจริง มีผู้หญิงบางรายที่กลัวไม่อยากจะดูอะไรทำนองนี้ สาวที่ชอบคงเป็นพวกที่ชอบจินตนาการ มีบางอย่างที่น่าแปลกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเด็กสาวกับพ่อ มีความสัมพันธ์ลักษณะนั้นระหว่างตัวผู้ชายและเด็กสาวอยู่ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ในเชิงชู้สาวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันรู้สึกได้ถึงตรงนั้นเวลาที่ โอลก้า / Olga Kurylenko - ตัวนักแสดงหญิงอยู่กับ มาร์ค บาเบ / Marc Barbé – นักแสดงชาย เธอนั่งคุกเข่าก้มเก็บชิ้นส่วนของไพ่นกกระจอกที่กระจายหล่นอยู่ตามพื้น อันที่จริงเธอชอบที่จะอยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนแบบนี้ ฉันคิดว่าเธอรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่มีผลกระทบกับเธอ ถัดจากนั้นเมื่อเธอเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของตัวผู้ชาย เธอก็กลายสภาพเป็นเด็กทารก แล้วบอกว่า (ร้องอ้อนเสียงสูง) “หนูอยากจะไปห้องแล็บ”

แน่นอนว่าตัวเธอนั้นกำลังอิจฉาผู้หญิงคนอื่น ผู้หญิงอีกคนที่มีแผลเป็น เธออิจฉาอยากเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ชายคนนั้นเลือก อะไรทำนองนี้ซึ่งปลูกฝังมาหลายชั่วคน ผู้หญิงทุกคนอยากจะเป็นเจ้าหญิง หญิงในฝันของผู้ชายของเธอ แม้กระทั่งในทุกวันนี้ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันไม่ง่ายที่จะอยู่กับผู้ชายสักคน ทำงาน ครองรักอย่างคงทน ฯลฯ เรื่องราวทำนองนี้มันไม่ได้ไกลจากความฝันของเด็กสาวทั่ว ๆ ไปเลย แน่นอนล่ะว่ามันเต็มไปด้วยเหตุผลคัดง้างต่าง ๆ นานา ในขณะเดียวกันพวกเธอก็อยากจะควบคุมสถานการณ์ตัวเองได้ด้วย แต่ลึก ๆ แล้วจากที่ฉันรู้จักผู้หญิงมา ฉันค่อนข้างแน่ใจว่า ผู้หญิงหลายคน ต่อให้พวกเธอมีการงานเลิศเลอ ลูกเต้าแสนดี แต่เวลาพบกับเหตุการณ์เฉพาะพิเศษ พวกเธอก็กลายเป็นเด็ก ๆ ไปเลย กับผู้ชายก็เกิดได้เช่นกันใช่ไหม ผู้หญิงบางคนก็พูดว่า “แฟนฉันเหมือนเด็กเลย ฉันเหมือนเป็นแม่ของเขามากกว่า” (หัวเราะ)

สนธยา: แต่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะพิสมัยกับการถูกครอบงำมากกว่าใช่ไหมครับ ที่สำคัญผมคิดว่าคงมีผู้กำกับน้อยคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำกับที่เป็นผู้หญิง) ที่จะกล้าไปจนสุดโต่งแบบคุณ และผมมองว่าคุณไม่ได้ตัดสินพฤติกรรมตัวละคร
ดิยาน: ใช่เลย
สนธยา: เพราะมันง่ายที่จะตัดสิน อาจจะด้วยมุมมองเฟมินิสต์หรืออะไรก็แล้วแต่ ออกตัวว่าทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง
ดิยาน: ค่ะ อันนั้นแน่นอนเลย (หัวเราะ) เราไม่จำเป็นต้องออกมาตัดสินตัวละคร มันไม่ใช่หน้าที่เราที่จะทำแบบนั้น ต่อให้เราทำหนังเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกศีลธรรมหรือควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ตอนแรกฉันก็นึกดูเหมือนกันว่าเฟมินิสต์ดูแล้วคงร้อง ว้าว อะไรเนี่ย ? แต่จริง ๆ ก็เปล่า เราไม่ได้เจอท่าทีอย่างนั้นสักเท่าไร น่าเสียดาย (หัวเราะ)
สนธยา: อาจจะไม่เจอในฝรั่งเศส.......
ดิยาน: คุณว่าในเมืองไทยคงจะโดนว่าเหรอ.........
สนธยา: ผู้หญิงไทยอาจจะคุ้นเคยกับการถูกครอบงำจนไม่รู้สึกอะไรก็ได้ หรือบางทีผู้หญิงสมัยใหม่อาจจะรับไม่ได้ ถามผมไม่ได้หรอก ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ (หัวเราะ)
ดิยาน: อ้าว ไม่ใช่เหรอ (หัวเราะ)

สนธยา: ในหนังของคุณไม่ปล่อยให้เห็นครอบครัวของตัวเด็กสาวเลย พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนฝูงของเธอก็ไม่มี แล้วคุณเปิดเรื่องที่โรงงาน ผมคิดว่าผมพอเข้าใจว่าทำไมคุณถึงจงใจไม่ปล่อยให้ญาติพี่น้องออกมาเลย บางทีในตัวนิยายก็ไม่มีตัวละครพวกนี้ด้วยหรือเปล่า?
ดิยาน: ในนิยายเธอบรรยายทำนองว่า “ฉันทำงานในโรงงานที่อยู่ใกล้ ๆ ริมทะเล ฉันเคยมีแฟนคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้พิเศษอะไรนัก ฉันไม่รู้ว่าจะไปไหนดี” แล้วเธอก็มาถึงสถานที่แห่งนี้ จากนั้นเธอก็ไม่ได้ออกจากที่นั่นเลย ในนิยายเราไม่ได้เห็นเธอไปไหนเลย เหตุการณ์ก็อยู่ที่สถานที่นั้นแห่งเดียว มีผู้หญิงแก่คนหนึ่งเสียชีวิตที่นั่น ในเรื่องเขาบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ เหมือนเป็นปกติเอามาก ๆ นี่ทำให้ฉันรู้สึกว่าน่าประหลาด แต่ฉันจำเป็นต้องดึงเอาตัวละครออกมาจากที่นั่นบ้าง (ในหนังเด็กสาวต้องเดินทางไปกลับระหว่างโรงแรมและที่ทำงาน- สนธยา)

สนธยา: ผมคิดว่าตัวหนังที่เป็นอยู่นั้นก็ดีอยู่แล้ว แค่สงสัยว่าจะดีกว่านี้ไหมถ้ามีสักฉากที่แสดงให้เห็นครอบครัวของเธอ มีฉากขนข้าวของจากบ้านออกเดินทาง มันอาจช่วยคนดูหนังให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เธอไม่มีที่อื่นเหลือให้ไป เธอถึงเลือกจะไปจนสุดโต่งอย่างที่เห็นในตอนจบ
ดิยาน: จริง ๆ ในฉากแรก ๆ มีแสดงตรงนี้หน่อยนึงนะ ตอนที่เธอมาถึงโรงแรมแล้วบอกว่าอยากขอเช่าห้อง เจ้าของโรงแรมบอกว่าห้องเต็มแล้ว แต่เห็นว่าเธอเหนื่อยมาก ทั้งวันไม่ได้กินอะไร เขาจึงดูพาสปอร์ตของเธอแล้วพูดว่า เธอไม่ใช่คนแถวนี้นี่ เธอบอกว่าเปล่า ก่อนหน้านี้ฉันก็ถ่ายฉาก 3 ฉากที่มีโสเภณีออกมา มีตอนหนึ่งที่ฉันตัดออกไป เป็นฉากที่โสเภณีผมบลอนด์ถามเด็กสาวว่ามาทำไมแถวนี้ แถวนี้ไม่เหมาะกับคนอย่างเธอ และเด็กสาวก็ไม่เข้าใจภาษา แต่ก็พยายามอธิบายว่า เธอมาจากเกาะแห่งหนึ่งในรัสเซีย แต่ฉันตัดฉากนั้นออก แต่ถึงตัดออกไป คนดูหนังก็เข้าใจได้ว่าเธอไม่มีญาติที่ไหน ทำไมมาอยู่ลำพังคนเดียว แต่แก่นของอุบัติเหตุเรื่องนิ้วใน Ring Finger ก็คือ เธอไม่เหมาะกับงานเก่า เธอถึงได้ออกไปเดินทางหาประสบการณ์ใหม่ ๆ

สนธยา: ทำไมคนในฮัมบวร์ก (เยอรมนี) เขาถึงได้พูดภาษาฝรั่งเศสกัน?
ดิยาน: แต่คนดูไม่จำเป็นต้องรู้นี่ว่ามันเป็นเมืองไหน
สนธยา: อ้าว ไม่ควรรู้หรอกเหรอครับ?
ดิยาน: นั่นสิ แล้วคุณรู้ได้ไงว่าเป็นฮัมบวร์ก ?
สนธยา : ก็เห็นในเรื่องย่อก็เขียนอย่างนั้นนี่ครับ รู้สึกในหนังก็เอ่ยถึงด้วย
ดิยาน: เปล่า ไม่มีนะ จริง ๆ มันก็แค่บริษัทหนังที่ร่วมสร้างเป็นบริษัทเยอรมัน แต่ในหนังเราไม่มีเอ่ยว่าฮัมบวร์กนี่ แม้กระทั่งคอยจับจ้องดู คุณก็จะไม่เห็นอะไรเลยที่เจาะจงว่าเป็นประเทศเยอรมนี มันเป็นประเทศไหนก็ได้ในโลก วันไหนก็ได้ ทั้งวันนี้ วันหน้า หรือวันก่อนนี้

สนธยา: ผมเห็นหน้า ฮานส์ ซิคช์เล่อร์ (Hans Zischler) ในบทเจ้าของโรงแรม เขาเคยแสดงหนังของ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) เรื่อง Kings of the Road และเขาเพิ่งแสดงเรื่อง Munich ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ด้วย
ดิยาน: ค่ะ ใช่ค่ะ ฉันชอบเขาแสดงค่ะ แล้วเขาก็บอกว่าชอบบท จึงตกลงยอมเล่น
สนธยา: แล้วผู้ชายอีกคนที่เล่นเป็นกะลาสีเรือล่ะครับ?
ดิยาน: ค่ะ เขาก็เป็นดาราเยอรมันด้วยเหมือนกัน เดิมเขาเป็นโครเอเชีย มาจากฝั่งตะวันออก เดี๋ยวนี้เขาพอเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้วในเยอรมนี มีหนัง 2 เรื่องซึ่งเขาแสดงได้ฉายที่คานส์
สนธยา: ใช่เรื่อง The Edukators หรือเปล่าครับ?
ดิยาน: ใช่ค่ะ

สนธยา: ฉากนั้นที่เขาเอาชุดนอนของเธอออกมาแขวนที่หน้าต่างรับลมและแสงแดด แล้วนอนมองชุดของเธอ คุณกำลังจะบอกคนดูหนังหรือเปล่าว่าเสื้อผ้าของเธอได้กลายเป็นร่องรอยหลงเหลือ หรือเป็นเหมือน “ตัวอย่าง” (specimen) ทิ้งให้ผู้ชายคนนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการเปรียบเปรยที่เข้าที คุณจงใจสื่อถึงจุดนี้หรือเปล่า?
ดิยาน: ค่ะ ทำไมจะไม่ล่ะ (หัวเราะกัน) .........จริง ๆ แล้วสำหรับฉันมันก็เหมือนกับว่า เวลาที่เราแชร์ห้องกันกับใครสักคนที่ไม่เคยได้มีโอกาสเห็นหน้ากันเลย ทุกๆ อย่างก็กลายเป็นมีค่า มีความหมายขึ้นมา โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดนั้น ทำให้เกิดจินตนาการร้อยแปดเกี่ยวกับตัวเธอ เหมือนมองเห็นใครในจังหวะเวลาส่วนตัวที่เขากำลังทำอะไรสักอย่าง ในหนังนั้นอาจจะดูเป็นลีลากวีหน่อย แต่มองอีกแง่มันก็อาจจะดูพิรี้พิไรเสียเวลาไปเปล่า ๆ ก็ได้ (หัวเราะ)
สนธยา: ผมว่ามันดูโรแมนติคลึกลับดีออกนะ .............. แต่ในส่วนของกะลาสีนี่ไม่ได้มาจากนิยายเลยใช่ไหมครับ
ดิยาน: ในนิยายไม่มีค่ะ
สนธยา: แล้วเธอก็ไม่ได้พักห้องเดียวกับใครด้วย
ดิยาน: ค่ะ เธอพักคนเดียว

สนธยา: เป็นการเพิ่มรายละเอียดที่เข้าท่ามากครับ (หัวเราะ).............แล้วคุณเคยดูหนัง Woman in the Dunes ไหม หนังญี่ปุ่นที่ผู้ชายคนหนึ่งตกลงไปในหลุมทราย แล้วมีผู้หญิงกับบ้านหลังหนึ่งอยู่ก้นหลุม
ดิยาน: ไม่รู้จักค่ะ
สนธยา: มันก็สร้างมาจากนิยายญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน คนแต่งคือ โกโบะ อาเบะ
ดิยาน: สร้างเมื่อไหร่นะ เร็ว ๆ นี้เหรอคะ
สนธยา: นานแล้วครับ สมัยยุค 60
ดิยาน: อ้า โอเค
สนธยา: ผมไม่ได้หมายความว่ามันเหมือนกันนะ...............แล้วฉากโรงแรมที่เห็นในเรื่องเป็นของจริง ไม่ใช่ฉากใช่ไหมครับ?
ดิยาน: ค่ะ เป็นโรงแรมจริงที่เราเจอในฮัมบวร์ก อยู่แถวท่าเรือ
สนธยา: ของจริงหมดเหรอครับ? คุณมองเห็นเรือทั้งลำเต็ม ๆ ผ่านกรอบหน้าต่างเหรอครับ?
ดิยาน: ค่ะ บางเวลานะ

สนธยา: ทำไมพอคนเอาโน๊ตดนตรีมาฝากไว้ แล้วเขาต้องนำมาบรรเลงให้ฟังก่อนถึงจะเก็บรักษาได้ครับ?
ดิยาน: มันเป็นส่วนหนึ่งของการบริการไงคะ
สนธยา: ทำไมเขาถึงไม่แค่เก็บใส่กล่องแก้วไป ทำไมพวกเขาถึงได้กระตือรือร้นที่จะฟังเพลงครับ?
ดิยาน: เพราะว่าในกรณีของโน๊ตเพลงมันละเอียดอ่อนกว่า มันไม่ใช่แค่วัตถุปกติทั่วไป การที่นำมันมาบรรเลงก่อน มันก็เหมือนกับว่าช่วยเรียกให้วัตถุมีตัวตน
สนธยา: อันนั้นผมก็เห็นด้วยครับ (หัวเราะกัน) ผมคิดว่าผู้ชายที่ดูแลบริษัท (มาร์ค บาเบ) เขาคงชอบงานที่เขาทำแหละ ไม่งั้นเขาคงเก็บโน๊ตเข้าตู้ไปเลย ไม่จำเป็นต้องมาบรรเลงเป็นเพลงก่อน
ดิยาน: แต่ อาจจะเป็นได้ด้วยว่าเขาอยากให้เธอมาแทนที่เด็กสาวคนอื่นๆ เพราะฉากที่มีเล่นเปียโนนี้เป็นเหมือนฉากเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขา ทำให้เธอรู้สึก.....มันเป็นฉากต่อจากฉากที่เธอมาถึงที่ทำงานในสภาพตัวเปียกโชก แล้วเขาก็ขอให้เธอไปฟังเพลงบรรเลงท่อนนั้นด้วย เป็นฉากที่ทั้งคู่แลกเปลี่ยนประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน


สนธยา: แล้วคุณรำคาญไหมที่คนดูหนังอยากให้คุณอธิบายตัวหนัง? นอกจากเมืองไทยแล้วมีที่อื่นอีกไหมที่อยากให้คุณมานั่งอธิบายความหมายของหนัง
ดิยาน: มันก็แล้วแต่สถานการณ์ ฉันจำได้ว่าเคยมีผู้กำกับถูกคนดูบ่นว่า ทำไมไม่ยอมอธิบายความหมายของหนังให้ฟัง แล้วผู้กำกับก็ตอบว่าก็ไม่เห็นมีอะไรต้องอธิบายนี่ ทุก ๆอย่างก็น่าจะแจ่มชัดดีแล้วสำหรับทุกคน (หัวเราะ) ใครจะตีความอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นเรื่องของจินตนาการ และการที่คุณไม่เข้าใจมันเสียทีเดียว มันก็น่าจะดีกับสมอง เพราะว่าวันหนึ่งคุณก็จะเข้าใจมันได้เองในแบบของคุณ โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องตรงกับของใครก็ได้ มันเป็นเจตนาของฉันเองที่ต้องการทำให้หนังออกมาเป็นแบบนี้ ขนาด เดวิด ลิ้นช์ (David Lynch) ก็ยังไม่ได้อธิบายอะไรตั้งหลายอย่าง แม้แต่ มิฆาเอล ฮาเนเก้ (Michael Haneke) อย่างเรื่อง Hidden
สนธยา: เดวิด ลิ้นช์ เคยพูดเหมือนกันว่า เขาไม่ยอมไปหาจิตแพทย์ เพราะกลัวว่าหมอจะวิเคราะห์ความคิดเขาออกมาหมด แล้วพอเขาเข้าใจอะไรทุกอย่างปรุโปร่งก็จะทำหนังในแบบที่เขาทำได้ไม่ดี
ดิยาน: เขาพูดอย่างนั้นเหรอคะ?
สนธยา: เขาบอกว่าถ้ารู้จักฝันเพี้ยน ๆ ของตัวเองดีเกิน มันก็เปล่าประโยชน์ แล้วจะทำหนังออกมาอีกทำไม
ดิยาน: (หัวเราะ) เขาตอบดีนะ

สนธยา: ผมคิดว่าหนังของคุณก็ชัดเจนดีแล้ว ถ้าบอกอะไรมากเกิน เสน่ห์มันก็จะหายไป......แล้วมีคนดูหนังในประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการทราบคำตอบที่ชัดเจนในตอนจบแบบคนดูหนังเมื่อคืนหรือเปล่าครับ
ดิยาน: เปล่า ไม่มีค่ะ คนส่วนใหญ่จะไม่ถามเรื่องนั้น
สนธยา: แต่นั่นเป็นคำถามแรกที่ถามออกมาเมื่อคืน
ดิยาน: ไม่ใช่นะคะ ผู้หญิงคนที่ถามฉัน เธอแค่เกริ่นว่า “แล้วคุณไม่อยากรู้หรือว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนจบ” แต่ฉันบอกว่าเก็บไว้ให้คิดดีกว่า อย่าพูดไป
สนธยา: แต่คนอื่น ๆ เขาก็ดูอยากจะให้อธิบายนี่ครับ
ดิยาน: (หัวเราะ) ใช่ นั่นแหละค่ะ

สนธยา: คุณมีเพื่อนเป็นพวกผู้กำกับบ้างไหม?
ดิยาน: หมายถึงที่ฝรั่งเศสหรือคะ ฉันก็รู้จักบางคน เจอกันเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเพื่อนสนิท ก่อนหน้านี้ฉันค่อนข้างสนิทกับ ฌอง-ปิแอร์ เจอเน่ต์ (เธอเคยช่วยเขาทำหนังสั้นด้วย- สนธยา) ฉันรู้จัก กาสปาร์ โน้ย (Irreversible) อยู่บ้าง แล้วก็คนที่ทำเรื่อง Blueberry คุณรู้จักไหม?
สนธยา: Blueberry หนังฝรั่งเศสเหรอครับ? (หมายเหตุ : สร้างจากการ์ตูนดังของ Moebius-มีดีวีดีลิขสิทธิ์)
ดิยาน: ยาน คูนเน่น (Jan Kounen)
สนธยา: อ๋อ คนนั้นเอง คนที่ทำ Dobermann ?
ดิยาน: ฉันรู้จัก ฟิลิป เบลอเก้ต์ แล้วก็อย่าง อานน์ ฟองเตน, คาธรีน เบรญาต์ แต่ก็ไม่สนิทอะไร

สนธยา: แล้วมีคนทำหนังฝรั่งเศสคนไหนในฝรั่งเศสที่คุณชื่นชมบ้างไหม?
ดิยาน: ในฝรั่งเศสเหรอคะ?
สนธยา: ครับ
ดิยาน: ฉันชอบ พาทริซ เชอโร (Patrice Chereau) , ฌาคส์ โอดิยาร์ด (Jacques Audiard), เบอนัวต์ ฌ้าคโค่ต์ (Benoît Jacquot / อ่านบทสัมภาษณ์ ฌ้าคโค่ต์ ได้จากนิตยสาร Pulp มีนาคม 2548 หรือ http://www.onopen.com/2006/02/242 ) ก็ทำหนังบางเรื่องดีมากนะ ฉันไม่ได้ชอบหนังของเขาทุกเรื่อง แต่เรื่องล่าสุดของเขานี่ดีจริง ๆ แต่คนทำหนังฝรั่งเศสฉันก็ไม่ได้ทึ่งมากมาย ฉันชอบคนทำหนังชาติอื่นมากกว่า
สนธยา: ใครบ้างครับ อย่าง โรเบิร์ท อัลท์แมน หรือเปล่า มาร์ติน สกอร์เซซี่ ?
ดิยาน: ค่ะ ฉันชอบ โรเบิร์ท อัลท์แมน.......(หัวเราะเขินๆ) ฉันชอบ มังเควิทช์ (สำเนียงฝรั่งเศส)
สนธยา: จอห์น มัลโควิช ?
ดิยาน: ไม่ใช่ค่ะ มังเควิทช์
สนธยา: โอ้....คุณหมายถึง โจเซฟ แมนคีวิทซ์ ? (Joseph L. Mankiewicz / ผู้กำกับคนนี้ชื่อเสียงเลื่องลือด้านการเขียนบท โดยเฉพาะบทสนทนา ผลงานเช่น All About Eve, Letter to 3 Wives, The Quiet American, The Barefoot Contessa – สนธยา)
ดิยาน: ค่ะ (หัวเราะ) แต่ถ้าคนทำหนังร่วมสมัย ฉันชอบ โซลแว็ง โซเดนเบิร์ก
สนธยา: คุณหมายถึง สตีเว่น โซเดอเบิร์ก (Steven Soderbergh) ?
ดิยาน: ฉันชอบหนังที่มีทักษะทางศิลปะน่าสนใจ มีคนทำหนังเก่ง ๆ เยอะมากในโลกใบนี้ เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg) ฉันก็ชอบมาก
สนธยา: แล้วอย่าง มอร์ริซ เปียลาต์ (Maurice Pialat) ชอบไหมครับ
ดิยาน: เขาก็ทำหนังแรงนะ หนังรุ่นนั้นต่างจากเรามาก เขาทำหนังดีแหละ ในแง่หนึ่งหนังของ ทรุฟโฟต์ ก็ดีมากเหมือนกัน

สนธยา: แล้วละครเวทีน่าสนใจสำหรับคุณมากกว่าบ้างไหม?
ดิยาน: ในแง่ที่ช่วยให้ทำงานกับนักแสดงก็อาจใช่
สนธยา: แล้วคุณรู้สึกยังไงกับเทศกาลหนังกรุงเทพฯ ครับ นี่เป็นเทศกาลหนังที่ค่อนข้างใหม่
ดิยาน: การเดินทางมาครั้งนี้ก็ดีนะ แต่ระบบการจัดการก็ค่อนข้างขลุกขลักอยู่สักหน่อย
สนธยา: ก็จริงครับ แล้วนี่คุณมาเมืองไทยครั้งแรกหรือเปล่าครับ
ดิยาน: เปล่าค่ะ เคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 5 ปีก่อน มาเที่ยวเฉย ๆ
สนธยา: มาเที่ยวทะเลเหรอครับ
ดิยาน: ค่ะ เกาะสมุย เที่ยวทางใต้ ดีค่ะ

ขอขอบคุณ Bonnie Volland ในการประสานงานสัมภาษณ์
บางส่วนของบทความนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Pulp

บทความและบทสัมภาษณ์โดย สนธยา ทรัพย์เย็น

หมายเหตุ: Olga Kurylenko ดารานำหญิงของหนังเรื่องนี้ The Ring Finger ต่อมาได้นำแสดงเป็นสาวบอนด์ ในหนังเจมส์บอนด์ตอนใหม่ Quantum of Solace

No comments: