บทความโดย . . .
ไม่บ่อยครั้งนักที่คนทำหนังเพียงลำพังจะสามารถสร้างตระกูลหนังขึ้นมาใหม่ได้โดยไม่อาจหาใครลอกเลียนแบบ
แต่ผู้กำกับรัสเซีย Yevgeny Yufit ก็ได้สร้างปรากฏการณ์นี้ไว้เรียบร้อยแล้วกับหนังสกุล
Necrorealism หรือ
'สัจนิยมแห่งความตาย' ที่เขาได้บุกเบิกเอาไว้ตั้งแต่ ช่วงกลางทศวรรษ 1980's และยังไม่สามารถหาใครมาสานต่อปณิธานอันนี้อีกได้นอกจากตัวของเขาเอง

Yevgeny Yufit เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1961 ณ เมือง Leningrad (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Saint Petersburg) ในรัสเซีย และได้เข้าศึกษาที่ Leningrad Technical Institute ในช่วงต้นทศวรรษ 1980's ซึ่งก็เป็นช่วงที่เขาเริ่มมีผลงานด้านภาพเขียนและภาพถ่าย เมื่อจบการศึกษา Yevgeny Yufit ก็เริ่มหันมาสนใจงานภาพยนตร์ เขาได้ร่วมกับผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งกลุ่มหนังอิสระ Mazhalala Film ผลิตผลงานหนังสั้นใต้ดิน เพื่อทวนกระแสหนังตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากสตูดิโอ Goskino ซึ่งถูกควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาล
กลุ่มหนังสั้นของ Mazhalala Film ในช่วงทศวรรษ 1980's นี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของหนังตระกูล Necrorealism ซึ่ง Yevgeny Yufit ตั้งใจจะเย้ยหยันศิลปะแนว Socialist Realism ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โซเวียตพยายามสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างภาพลักษณ์อันดีงามของระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม

ผลงานเด่นของ Mazhalala Film ในช่วงนี้อย่าง
Werewolf Orderlies (1984) ,
Spring (1987) และ
Suicide Monsters (1988) มักจะถ่ายทำกันด้วยฟิล์มขาวดำหมดอายุ ให้ภาพที่แลดูดิบหยาบราวกับเป็นหนังที่สร้างกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1910's แล้วเพิ่งจะมีการค้นพบ โดยภาพที่ปรากฏในหนังมักจะเป็นการสะท้อนถึงการ 'ถูกกระทำ' ทางจิตวิญญาณของผู้คนในรัสเซียอันเป็นผลมาจากระบอบการปกครอง ซึ่งรังแต่จะลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้คนลงจนแทบจะไม่เหลือความเป็นคนอีกต่อไป หนังสั้นในยุคนี้จึงอุดมไปด้วยภาพการถูกสังหารและทารุณกรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาจากคนในเครื่องแบบที่เป็นตัวแทนของฝั่งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น ทหาร หรือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถึงแม้ว่าการกระทำในหลาย ๆ ฉากจะชวนให้หวาดเสียว แต่ Yevgeny Yufit ก็ดูจะระมัดระวังในการคุมโทนออกมาไม่ให้แลดูน่ากลัวจนประเจิดประเจ้อแบบที่เห็นกันบ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ เพื่อให้ฉากต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีน้ำหนักในฐานะภาพเปรียบเปรยถึงสิ่งที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนของเขามากกว่าจะเป็นการสร้างความน่ากลัวกันอย่างไร้เหตุผล
Suicide Monsters (1988)

ถึงแม้ว่าจุดประสงค์หลักของหนังกลุ่ม Necrorealism นี้จะมุ่งเน้นการโจมตีการสร้างภาพลวงของการส่งเสริมศิลปะสกุล Socialist Realism ของรัฐบาล แต่ Yevgeny Yufit ก็มิได้นำเสนอสารเหล่านี้อย่างกราดเกรี้ยวตรงไปตรงมา ตรงกันข้ามเขากลับถ่ายทอดเนื้อหาอย่างนามธรรม ปลอดจากการเล่าเรื่องราวที่เป็นแก่นสารกันอย่างชัดเจน ฉากต่าง ๆ ทั้งจากการถ่ายทำ และภาพ reel footage เก่า ๆ ของ เครื่องบิน เรือรบ รถไฟ และกิจกรรมการสวนสนามรวมทั้งการเล่นกีฬากายกรรม จึงถูกทำมาร้อยเรียงอย่างสะเปะสะปะ คล้ายจะเป็นการหลบเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมในการเชื่อมโยงภาพต่าง ๆ เพื่อรับทราบ 'อารมณ์และความรู้สึก' ในฐานะผู้ถูกกระทำที่หนังได้แฝงเอาไว้ด้วยตนเอง
Spring (1987)

หลังจากทำหนังสั้นอยู่ได้ราว 5 ปี Yevgeny Yufit ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้กำกับ
Alexander Sokourov ให้เข้าเรียนในสถาบันสอนภาพยนตร์ของ Lenfilm Studio ที่เขาได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1989 ซึ่งก็เป็นโอกาสอันดีที่ Yevgeny Yufit และผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เคยเป็นทีมงานและนักแสดงในหนังสั้นของเขาจะได้มีโอกาสทำหนังขนาดยาวด้วยฟิล์ม 35 มม. ซึ่งผลงานเด่นในยุคนี้ที่ถือเป็นตัวแทนของหนังกลุ่ม Necrorealism ได้ดีอีกเรื่องหนึ่งเลยก็คือ
The Wooden Room หนังความยาวชั่วโมงเศษ ๆ ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1995

เมื่อได้ถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35 มม. ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็มีโอกาสที่จะทดลองแนวทางการกำกับภาพใหม่ ๆ ในแบบฉบับของตัวเองได้คล่องตัวมากขึ้น จากการปะติดปะต่อภาพจากแหล่งต่าง ๆ โดยสะเปะสะปะในหนังสั้นของเขา Yevgeny Yufit ก็เริ่มหันมาสนใจการถ่ายภาพมนุษย์ท่ามกลางธรรมชาติของทุ่งหญ้าและป่าโปร่งด้วยจังหวะหนังที่ลากยาวแบบ Long-Take มากขึ้น และถึงแม้ว่าผู้กำกับจะมีอิสระในการเลือกถ่ายทำหนังด้วยฟิล์มสี แต่เขาก็ยังคงยึดมั่นที่จะถ่ายทอดบรรยากาศอันหดหู่แห้งแล้งไร้ชีวิตด้วยฟิล์มขาวดำซึ่งก็จะกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวในงานภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ ไปของเขาด้วย
เนื้อหาใน
The Wooden Room ยากแก่การบอกเล่า เพราะหนังมุ่งถ่ายทอดภาพและบรรยากาศในเชิงนามธรรมของซากชีวิตที่สถิตอยู่ในดินแดนอันเป็นรอยต่อระหว่างโลกของความเป็นและความตาย โดยแกนหลักของหนังก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการสะท้อนสภาพชีวิตที่ไม่ต่างจากผีดิบของคนในชนบทของรัสเซียที่ความสิ้นไร้จิตวิญญาณใด ๆ ของพวกเขาชวนเรารู้สึกได้ว่าบางครั้งการปลิดชีวิตตัวเองลงเสียเพื่อจะได้ไม่ต้องหายใจอาจจะเป็นอะไรที่ดีกว่าการดำรงอยู่โดยปราศจากความหมาย หนังจึงเต็มไปด้วยภาพการประกอบอัตวินิบาตกรรมสุดพิสดาร ไม่ว่าจะเป็นการผูกห้อยชิงช้าไม้กระดานไว้กับต้นไม้ใหญ่แล้วใช้มีดฟันเชือกล่ามให้หัวโหม่งกระทบต้นไม้อีกต้นจนตาย หรือการใช้เชือกผูกคอไว้แล้วโยนก้อนหินให้สุนัขวิ่งลากจนหมดลม!

ถึงแม้อารมณ์โดยรวมใน
The Wooden Room นี้จะอุดมไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวังซังกะตาย แต่ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็ดูจะใช้เทคนิคด้านภาพด้วยลีลาสวิงสวายที่จัดวางตำแหน่งระยะใกล้ไกลของผู้คนและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างมีสีสันแปลกหูแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นการจัดภาพด้วยเทคนิค Deep Focus การกระจายตำแหน่งของตัวละครจนทั่วเฟรม หรือการเล่นภาพมุมก้มและเฉียงที่เอนเอียงไปจากความสมดุล นอกเหนือจากลีลาอันอลังการในด้านงานภาพเหล่านี้แล้ว The Wooden Room ยังมีการใช้ลูกเล่นหนังซ้อนหนัง โดยการให้ภาพบางช่วงเป็นภาพที่เกิดจากการฉายด้วยแผ่นฟิล์มของตัวละคร ซึ่งก็ดูจะมีเป็นการเล่นมิติเชิงซ้อนที่ชวนให้ฉงนฉงายกันได้อีกหนึ่งชั้นว่ามันกำลังสื่อถึงอะไรหรือ? สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่จะปรากฏให้เห็นในหนังของผู้กำกับรายนี้อีกหลายครั้งก็คือภาพของผืนน้ำที่ค่อย ๆ กระเพื่อมไหลไปอย่างสงบนิ่งแฝงพลัง รวมทั้งการชำระล้างร่ายกายและการทอดร่างนอนตายของทั้งมนุษย์และสัตว์ในสายน้ำที่ดูคล้ายจะมีการพาดพิงถึงประเด็นทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการชำระล้างทางจิตวิญญาณ แม้ว่าหลาย ๆ จุดใน The Wooden Room จะไม่ได้ให้ความกระจ่างชัดแก่คนดูสักเท่าไร แต่ด้วยอารมณ์หนังที่ทั้งแหวก ทั้งแปลก และสุดแสนจะประหลาดพิสดาร ก็ทำให้มันกลายเป็นงานที่น่าศึกษามากที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้กำกับ Yevgeny Yufit เลยทีเดียว
The Wooden Room (1995)

หลังจาก The Wooden Room แล้ว Yevgeny Yufit ก็หันเหมาสนใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะข้อมูลเชิงชีวภาพและวิวัฒนาการของมนุษย์มากขึ้น ดังที่จะปรากฏชัดในผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่องต่อมาคือ
Silver Heads (1998) และ
Killed by Lightning (2002) โดยใน
Silver Heads นั้น Yevgeny Yufit ก็ได้เล่าถึงการทดลองทางชีววิทยาของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการจะผสมลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์และต้นไม้เข้าด้วยกันเพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงกว่า ด้วยเครื่องมือพิสดารที่จะสามารถกระทุ้งไม้ปลายแหลมและโปรยเศษไม้ให้เข้าไปในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ Yevgeny Yufit จงใจเล่าเรื่องราวการทดลองอันนี้เพื่อเสียดเย้ยนโยบายการพัฒนามนุษย์ให้มีศักยภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ว่าจะพยายามมากเท่าไร ผลสรุปสุดท้ายที่ได้ก็ยังคงหนีไม่พ้นการตระหนักซึ้งถึงความเปราะบางทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของมนุษย์ที่เหมือนจะไม่สามารถทนทานต่ออะไร ๆ ได้อย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีการใช้บทสนทนาและมีการเล่าเรื่องมากกว่าผลงานก่อน ๆ หน้า แต่ Yevgeny Yufit ก็ยังคงเอกลักษณ์ลีลาด้วยการใช้ภาพขาวดำที่คลาคล่ำไปด้วยมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ท่ามกลางการห้อมล้อมด้วยผืนน้ำและสภาพธรรมชาติ แถมด้วยฉากการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองอันเป็นลายเซ็นพิสดาร ซึ่งก็มีให้เห็นกันตั้งแต่การลื่น skate ให้ตกตลิ่งตาย หรือการเอาตัวไปดันกิ่งไม้ให้ทะลุกลางอก กันเลย

ส่วนใน
Killed by Lightning ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็เหมือนจะมุ่งสำรวจความเป็นมาเป็นไปของมนุษย์ตั้งแต่ยุคสมัยที่บรรพบุรุษของเรายังเป็นวานร พัฒนากันมาอย่างมีลำดับขั้นตอนจนกลายเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน ผ่านการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้กำลังเตรียมเอกสารสำหรับการประชุมวิชาการครั้งสำคัญ แต่ดันถูกไวรัสคอมพิวเตอร์รบกวนขณะกำลังง่วนอยู่กับการพิมพ์งาน เธอจึงหันไปย้อนนึกถึงอดีตในวัยเด็กก่อนที่พ่อของเธอซึ่งเป็นทหารในเรือดำน้ำรัสเซียจะเสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อค้นหาคำตอบสำคัญให้กับตัวเองว่า มนุษย์เติบโตมีวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ 'สูงส่ง' กว่าบรรพบุรุษของเราจริง ๆ หรือ? Yevgeny Yufit ได้ให้เครดิตเอาไว้ว่าเขาได้อ้างอิงบทภาพยนตร์เรื่องนี้จากเรื่องสั้น
The Murders in the Rue Morgue ของ
Edgar Allan Poe แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว หนังเรื่องนี้กลับแทบจะไม่มีส่วนใดที่ไปข้องแวะกับเรื่องราวในเรื่องสั้นสยองขวัญอมตะชิ้นนี้กันเลยนอกจากภาพของลิงอุรังอุตังที่ปรากฏให้เห็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น การอ้างอิงถึง
The Murders in the Rue Morgue ใน
Killed by Lightning จึงน่าจะเป็นการได้รับแรงบันดาลใจมากกว่าจะเป็นการดัดแปลงเรื่องราวจากบทประพันธ์ เพราะนอกเหนือจากเรื่องราวที่ได้เล่าเอาไว้ข้างต้นแล้วนั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังก็ยังคงนำเสนอด้วยลีลาเชิงนามธรรมไม่ผิดไปจากผลงานเรื่องอื่น ๆ ของเขาเลย จุดที่แตกต่างแต่เพียงเล็กน้อยก็คือการใช้ภาพโทนซีเปียบอกเล่าเรื่องราวในภาพถ่ายเก่าสลับกับการนำเสนอภาพขาวดำของเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการใช้สีโทนน้ำตาลมาช่วยสร้างความสว่างให้กับหนังได้บ้าง แต่มันก็ยังจัดอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความหม่นหมองซึมเซาที่ไม่ได้ต่างอะไรจากการนำเสนอด้วยแสงเงาขาวดำ บรรยากาศโดยรวมของ Killed by Lightning จึงยังคงความเป็น Necrorealism ในแบบฉบับของ Yevgeny Yufit ได้อย่างหนักแน่น แม้หนังจะโดยโครงหลักของมันจะดู 'เป็นเรื่องเป็นราว' มากกว่าผลงานชิ้นใด ๆ ที่เขาเคยทำมาก็ตาม
Silver Heads (1998)
แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจมากอย่างหนึ่งในหนังแทบทุกเรื่องของ Yevgeny Yufit ก็คือ ถึงแม้ว่าเนื้อหา ภาพ และบรรยากาศต่าง ๆ ในหนังของเขาจะฟังดูชวนให้ขนลุกขนพองได้มากมายขนาดไหน แต่เขาก็ไม่เคยใช้หยิบใช้กลเม็ดใด ๆ มาช่วยสร้างความตื่นเต้นระทึกใจให้กับคนดูเลยแม้แต่ฉากเดียว ภาพการทารุณกรรม การประกอบอัตวินิบาตกรรม และการทดลองทางชีววิทยาต่าง ๆ อาจจะเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมรุนแรงก็จริง แต่ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ก็ยังคงยึดมั่นนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในมุมมองของนักทำหนังแบบ Necrorealism ซึ่งจะต้องมองพฤติกรรมทั้งหมดด้วยสายตาอันสิ้นไร้จิตวิญญาณใด ๆ จนไม่อาจจะสร้างความตื่นเต้นอันแสดงให้เห็นถึงความ 'มีชีวิต' กันต่อไปได้ หนังของ Yevgeny Yufit จึงเปรียบเสมือนการเฝ้ามองความเสื่อมถอยของอารยธรรมนุษย์กันจากดินแดนปรภูมิ ณ ภาคภพที่รสนิยมทางศิลปะทั้งหลายต้องกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ และจะสัมผัสได้ก็ด้วยหัวใจที่ไร้สิ้นซึ่งจริตแห่งสัมปะชัญญะเท่านั้น . . .

คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามชมภาพยนตร์ทุกเรื่องของ Yevgeny Yufit ที่กล่าวถึงในบทความนี้ จากกิจกรรมการจัดฉายภาพยนตร์ในโปรแกรม
"ชุมนุมหนังไซไฟพันธุ์พิลึกจากยุโรป" ของ
ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัศ) ในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
No comments:
Post a Comment