12/23/09

ปะทุ 15 ปี DK Filmhouse (FILMVIRUS)

ฉลองผ่าน 13 ปีไปหยก ๆ แต่หลังคริสต์มาสนี้เราก็จะผ่าน 14 ปีไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่น่าเชื่อว่า ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่เปิดทำการเมื่อปี 2538 มาบัดนี้กำลังจะขึ้นปีที่ 15 แล้ว! นี่เราอยู่เกะกะคนไทยมานานขนาดนี้แล้วเหรอเนี่ย

ปีนี้เราไม่มีทุนรอนที่จะจัดฉลองพิเศษแฮปปี้เบิร์ธเดย์หรืออะไร แต่ก็อยากจะขอบคุณเพื่อน น้อง ๆ และคนดูหนังทุกคนที่ทำให้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ยืนหยัดยาวนานมาจนป่านนี้ ที่จริงแว่วจะจอดไปตั้งแต่สองปีที่แล้ว แต่ก็ดันทุรังไปได้เรื่อยเปื่อย ก็เพราะแรงถีบหลังที่สมาชิกจัดหาให้มาแท้ ๆ

ระหว่างนี้ออฟฟิศ filmvirus ที่มีพนักงานเฝ้าดูแลกันอยู่แค่สองคน คือผม กับโมรีมาตย์ กำลังวางแผนเปลี่ยนอาชีพกันอย่างขวักไขว่ ด้วยตระหนักดีว่าลีลาชีวิตแบบเดิม ๆ คงมีแต่อนาคตที่จบลงแบบเฉาเอ้ย เฉาหว่า บทบาทการดูหนัง ทำหนังสือหนังคงจะต้องยุติให้เด็ดขาดเสียที ให้สมกับที่เคยอ้างไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนการจัดโปรแกรมหนังก็คงต้องฝากฝังไว้กับ บิ๊ก, กัลปพฤกษ์, filmsick, CelineJulie, เต้ และ อาดาดล แห่งว้าวซีนีมาเธค ที่จะสืบสานกันไปตามกำลังมี โดยไม่ลืมว่าคนเหล่านี้และชาวฟิล์มไวรัสทั้งหมดไม่เคยได้รับสินจ้าง หรือรายได้เงินเดือนแต่อย่างใด และคงต้องขอเสียงปรบมือให้คนเหล่านั้นด้วย ณ ที่นี้

แม้ว่าหนังสือหนัง filmvirus จะจบชุดไปแล้ว (เว้นแต่เล่ม “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” กับเล่ม “อังเดร ทาร์คอฟสกี้” ที่จะอยู่ดองเค็มเสี้ยมใจคนทำต่อไปอีกนาน) แต่ถ้าคนชอบเรื่องสั้น-วรรณกรรมแปลยังให้การสนับสนุนติดตามอ่าน เราก็หวังว่าจะได้ออก BookVirus ออกมาอีกเป็นระยะอีกสัก 2-3 เล่ม เท่าที่กำลังมี ความเห็นของคนอ่านเท่านั้นที่จะเป็นกำลังใจให้คนทำ (ไม่ใช่เรื่องเงินที่เราต้องปลงมานานแล้ว) หวังว่าอ่านแล้วคิดยังไง ไม่ชอบอย่างไรก็วานบอกได้เสมอ no hard feelings อย่าเงียบงันเมินชา ชอบหนังเรื่องใดที่ฉาย อ่านเรื่องใดที่ชอบ-ไม่ชอบ เราก็ไม่เคยได้รู้

กับ 15 ปีที่เรากำลังจะเริ่มนับ สำหรับเสียงต่อว่าจากบางท่าน เราคงต้องขออภัยอย่างยิ่ง หากหนังที่เราเชียร์ สร้างความขุ่นข้องหมองใจและรบกวนการดูหนังของท่านให้หมดความสุข ขอยืนยันว่าทั้งหมดที่เราทำไปมิใช่การปั้นคดีความ หรือการมุ่งหวังเอาเท่ส่วนตัว (อันหารับประทานได้ไม่) แต่เป็นเพียงการพยายามให้ความสำคัญ และให้เกียรติกับหนังด้อยโอกาสและแรงงานดี ๆ ที่ถูกละเลยเท่านั้น ท่าทีอาจปริ่มล้นเกินปริมาณไปบ้างล้วนเป็นข้อจำกัดส่วนตัว อย่าได้ถือสาเป็นตายกับมาตรฐานมนุษย์เดินดินฉี่เหนียวเลย

นักทำหนังแนว essay film นาม Peter Thompson (ความสุขของป๋าดัน)


“perhaps the most original and important Chicago filmmaker you never heard of.”
Jonathan Rosenbaum


หนังแนว essay film ของคนทำหนังชาวชิคาโก- Peter Thompson
เชียร์โดย Michael Almereyda
Top Ten Artforum April 2009
http://www.chicagomediaworks.com/2mediawks/3media_shaman/shamanreviews.html

12/22/09

Hooray to Kido Skie


Hooray to Kido Skie

ขอบคุณน้องใหญ่ ดีใจที่ได้เจอตัวจริง ซึ้งน้ำใจมากหลาย พี่ไม่เคยเห็นมีใครด่า “ทุเรศ” ได้น่ารักขนาดนี้

ชมภาพขยายของ Kido Skie ได้ที่นี่

http://filmvirus.wordpress.com/2009/11/14/kido-skie-%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%a7%e0%b8%a7/

12/20/09

หนัง The Yellow Handkerchief ฉบับญี่ปุ่น, ฉบับ สรพงศ์ ชาตรี, ฉบับอเมริกัน Kristen Stewart

หนัง The Yellow Handkerchief เวอร์ชั่นญี่ปุ่น, ไทย, อเมริกัน


เพิ่งรู้ว่าหนังญี่ปุ่นของผู้กำกับ โยจิ ยามาดะ (Yoji Yamada) ที่แท้ทำมาจากนิยายอเมริกันของ Pete Hamill

'The Yellow Handkerchief' ('Shiawase no kiiroi hankachi') หนังญี่ปุ่นปี 1977 ที่เป็นหนัง Road Movie ขายซึ้งเกี่ยวกับการเดินทางชายสอง หญิงหนึ่ง ที่กำกับโดย โยจิ ยามาดะ (โทร่าซัง และ My Son) และเคยถูกสร้างเป็นหนังไทยเรื่อง “ถ้าเธอยังมีรัก” (2524) ของ มจ. ชาตรี เฉลิมยุคล เรื่องที่มี สรพงศ์, เนาวรัตน์ และมี ตุ๊กตา จินดานุช กับ ปัญญา นิรันดร์กุล ซึ่งเป็นบทประกอบที่โดดเด่นมาก (วัยรุ่นที่เกิดไม่ทัน เห็นหน้า ปัญญา คงนึกถึงแต่รายการ ชิงร้อยชิงล้าน และ ทศกัณฑ์)

ส่วน 'The Yellow Handkerchief' ฉบับอเมริกันของผู้กำกับชาวอินเดีย Udayan Prasad ที่เพิ่งฉายปีนี้ ได้ใบบุญของ Kristen Stewart นางเอก Twilight ทำให้พระเอกดังรุ่นเก๋าอย่าง William Hurt ลืมตาเห็นแสงเดือนดาวอีกครั้ง ได้ปรักบกับ Maria Bello ไม่งั้นคงต้องนอนหง่าวขึ้นหิ้งถูกดองไปอีกนาน

Western - Asian Connection
ตลกดี นิยายอเมริกันไปทำเป็นหนังญี่ปุ่นก่อน เสร็จแล้วกลายเป็นหนังไทย แล้วก็ถูกยืมชื่อไปเป็นซีรี่ส์เกาหลี กว่าจะถูกสร้างเป็นหนังอเมริกันครั้งแรกก็ในทศวรรษนี้ (โดยผู้กำกับอินเดีย) อย่างนี้ยกให้เป็นหนังแห่งทศวรรษเลยดีไหม

12/19/09

Young Love

Young Love


Kärleken Väntar ของ Kent
Dedicated to More Life, Less Film GMBH and all energetic filmlovers

http://www.youtube.com/watch?v=syR0msLOI_w&feature=channel

12/18/09

Bad Lieutenant: Port of New Orleans บุกเชียงใหม่


ชาวเหนือทั้งหลายจงระวัง Werner Herzog และ Nicholas Cage เข้าฉายแล้วที่ วิสต้า กาดสวนแก้ว

อ่านรายละเอียดที่: http://dkfilmhouse.blogspot.com/2009/09/bad-lieutenant-port-of-call-new-orleans.html

12/17/09

Noah Buschel : Who is He?


Noah Buschel

ไม่รู้ว่าคนนี้คือใคร ทำหนังอะไร แต่ชอบที่เขาเขียนในนิตยสาร Filmmaker http://filmmakermagazine.com/webexclusives/2009/11/loneliness-of-long-distance-filmmaker.php

12/15/09

หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” เล่มเดียวในโลก

เมื่อของปลอมกลายเป็นของแท้ หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” เล่มเดียวในโลก

ในที่สุดก็พิมพ์เสร็จสมบูรณ์ - แบบหนึ่งเดียวคนนี้


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าคนทำหนังสือจะต้องกลายเป็นโจรเสียเอง
พิมพ์พันเล่มก็ไม่ได้ พิมพ์ร้อยเล่มก็ไม่ดี ก็ขอพิมพ์มันแค่เล่มเดียวพอ
ทำมันเป็นเล่มปกแข็ง กระดาษอาร์ต พร้อมภาพสีและขาวดำ


แล้ว ฟิล์มไวรัส ก็บรรลุถึงสัจธรรมที่ว่า ป่วยการที่จะทำหนังสือโดยนึกถึงแต่คนอ่านและคนอื่นเป็นที่ตั้ง คงจะดีกว่าเยอะ หากเปลี่ยนบทบาทเป็นโจร เอ๊ย คนทำหนังเสียเอง แล้วดูแลตัวเองให้รอดคงเป็นการพอ

ตลกดีกับข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เล่มเดียว ก็อปปี๊เดียว ที่ไม่มีวางขาย แต่ก็ดันมีข้อมูลบรรณานุกรมพร้อมสรรพสำหรับหอสมุดแห่งชาติ ครบทั้ง บาร์โค้ดและ ISBN อย่างนี้ก็ถือเป็นหนังสือโดยถูกกฏหมายเหมือนกันใช่ไหม ถึงแม้มันจะเป็นลูกบ้าสิ้นคิดเที่ยวเดียวของคนทำก็ตามเถอะ

ขายสองร้อยมันขายยาก (ไม่น่าศรัทธาด้วย) เอาเป็นว่าขายสองพัน - ซื้อไหม?

Martin Donovan: Surviving Desire


Martin Donovan

ได้ดู Surviving Desire ของ Hal Hartley อีกรอบ และเห็นหน้า มาร์ติน โดโนแวน อีกครั้ง

เวลานี้คอหนังรู้จัก หลี่คังเช็ง ในหนังของ ไฉ่มิ่งเหลียง แต่ใครจำ มาร์ติน โดโนแวน ได้บ้าง ทั้งคู่เคยสร้างชื่อเสียงขึ้นมาในยุคไล่เลี่ยกันมาก

มาร์ติน โดโนแวน ที่เคยเป็นดาราคู่บุญของ Hal Hartley คนที่แสดงประกบกับ เอเดรียนน์ เชลลี่ ใน Trust

เรียกได้ว่าใครเห็นหน้า มาร์ติน โดโนแวน ต้อง นึกถึงหนังของ Hal Hartley เช่นเดียวกับดู Denis Lavant แล้วต้องนึกถึงหนังของ Leos Carax


มาบัดนี้ ไม่น่าเชื่อว่า Hal Hartley เลิกทำหนังหันไปกำกับโอเปร่า ส่วน มาร์ติน โดโนแวน หลังจาก Portrait of A Lady กับ เจ๊ เจน แคมเปี้ยน และ Insomnia ของ Christopher Nolan แล้วก็เล่นแต่หนังทีวี

* * * อ้อมีเล่นเรื่องนี้ด้วย เพิ่งนึกออก มาร์ติน เล่นกับ ไอรีน จาค็อบ ใน The Pornographer: A Love Story เรื่องนี้ก็ชอบ ถึงตัวหนังจะไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงเท่าไหร่ เคยมาฉายในงานบางกอกฟิล์มหรือเวิล์ดฟิล์มด้วย ผู้กำกับ Alan Wade ก็มา ใครที่ชอบ Three Colors: Red น่าจะโอเคกับ ไอรีน จาค็อบในเรื่องนี้ ปัญหาคือ มาร์ติน กับ ไอรีน ดูไม่มี chemistry ระหว่างกันเลย หรือจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ไอรีน หรือดารายุโรปส่วนใหญ่มักจะไม่เคยเล่นหนังพูดภาษาอังกฤษแล้วดูกลมกลืนเป็นคนรักกับใครได้เลย ไม่ว่าจะเป็น Willlem Dafoe, Bill Pullman หรือ Lawrence Fishburne * * *

หนังของ Hal Hartley ที่มีออกวีซีดีลิขสิทธิ์ในบ้านเรา ไม่มีหนังที่ มาร์ติน เล่นสักเรื่อง แต่กลับมีแค่เรื่อง The Unbelievable Truth (สาปสาวสวาท) และ No Such Thing (จอมปีศาจตะลุยเมืองป่วน) เรื่องแรก มี เอเดรียนน์ เชลลี่ ประกบกับ โรเบิร์ต จอห์น เบิร์ค ส่วนเรื่องหลัง มีเบิร์ค แสดงกับ ซาร่าห์ พอลลี่ย์ อีกทั้งยังมี เฮเลน เมียร์เรน กับ จูลี่ คริสตี้ ด้วย (ก็ ซาร่าห์ เธอรู้จักกับ จูลี่จากทำงานเรื่องนี้แล้วชวนกันไปทำ Away from Her จนได้ดิบได้ดีกันไปทั้งคู่)

12/12/09

Men in The Dunes: หนังร่วมสร้างจีน-ญี่ปุ่น The Warrior and The Wolf


Men in The Dunes: หนังร่วมสร้างจีน-ญี่ปุ่น The Warrior and The Wolf

Wolverines Double Bill

The Warrior and The Wolf (狼災記) + Twilight New Moon

The Warrior and The Wolf หนังใหม่ของ เถียนจวงจวง (Tian Zhuangzhuang-ผู้กำกับ The Horse Thief และ The Blue Kite) ขยายเรื่องสั้นของ Inoue Yasushi โดยแต่งเรื่องเพิ่มเติมแปะหัวท้าย

ดูจอใหญ่ที่สกาลา ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (เริ่มแล้วเมื่อวาน 10 ธันวาคม)

12/11/09

ดองเค็ม หนังสือ "ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ"

ยังถูกแช่งแข็งไม่ได้ออกทันงานหนังสือเดือนตุลาคม และตอนนี้ยังเลื่อนพิมพ์ออกไปโดยไม่มีกำหนด

หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” หนังสือลูกหลง หรือลูกนอกสมรสในเครือ filmvirus ที่กะจะมาส่งท้ายให้อ่านคู่กับ หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” (ฟิล์มไวรัสเล่ม 5) เพราะเล่ม “ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” นั้นเกี่ยวกับการทำหนังงบน้อยของคนต่างชาติ แต่เล่มใหม่นี้เกี่ยวกับคนทำหนังไทยที่ได้รับทุนต่างชาติ

ขายไม่ออกก็รู้สึกผิด ไม่ได้พิมพ์ก็กลัวทีมงานตี๊บ

นับวันการทำหนังสือยิ่งดูเป็นสิ่งไร้เกียรติและไร้ค่าลงไปทุกที อนาคตช่างมืดมนโดยแท้

เรื่องของคนไม่กราบฝรั่ง Ing K. Strikes back!


คนไม่กราบหมาฝรั่ง (ไม่ใช่หมากฝรั่ง) แต่หมายถึง ฝรั่งหมาๆ และกระทรวงเพาะสุนัข

(ภาพประกอบ: อิ๋ง เค ที่ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์)

12/1/09

I Comme Icare (I for Icarus) แผนสังหารประธานาธิบดี – คารวะ DVD ของทริปเปิ้ลเอ็กซ์ฟิล์ม และคุณ สุชาติ วุฒิชัย แห่งเครือ Apex

I for Icarus) แผนสังหารประธานาธิบดี

บันทึกโดย filmvirus

ชื่อเรื่อง I Comme Icare (I for Icarus)
ชื่อไทย “ฆ่าประธานาธิบดี” / “แผนสังหาร”

ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องอัพบล็อกอยู่หลายที เพราะเบื่อภาษาตัวเองจนจะอ้วก แต่ก็อยากจะให้กำลังใจคนเผยแพร่หนังดี ๆ สักหน่อย

ภาพปกชวนนึกถึงเรื่อง The Day of the Jackal หนังสือของ Frederick Forsyrth และหนังของ Fred Zinnemann ที่มีฉากดักยิงประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ แต่พอเห็นแผ่นดีวีดี I for Icarus ชัดตาก็ขนลุกซู่ เพราะนี่คือหนังที่รอมานานแล้ว หวังนานเหลือหลายว่าเมื่อไรจะได้ดูอีก รอนานจนคิดว่าต้องกลับไปเกิดใหม่เสียแล้ว

I Comme Icare หรือ I for Icarus หนังฝรั่งเศสที่นำแสดงโดย อีฟส์ มองตองด์ (Yves Montand) อดีตเด็กปั้นและหวานใจของซูเปอร์ซิงเกอร์- เอดิธ เพียฟ (Edith Piaf เจ้าของเพลงอมตะและที่มาหนังประวัติชีวิต La Vie En Rose) ก่อนที่เขาจะไปกลายเป็นคู่ชีวิตของ ซีโมน ซินญอเรต์ (Simone Signoret / Room at the Top) ดาราหญิงคนแรกของฝรั่งเศส (ที่ได้รางวัลออสการ์ก่อน จูเลียต บิโนช- Juliet Binoche) และต่อมา อีฟส์ ก็ไปมีสัมพันธ์ลึกล้ำกับ มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) ตอนที่เธอยังอยู่กินกับนักเขียนดัง Arthur Miller เจ้าของ “อวสานเซลส์แมน” และ “The Crucible” (ก็อสสิปสตาร์พอไหม?)

เรื่องนี้เห็นที่กล่องเขียนว่าเข้าฉายไทยที่โรงสกาล่าปี 2524 ตอนนั้นยังเด็กเกินกว่าที่จะไปดูโรง แต่ได้ดูตอนที่นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดฉายประมาณปี 2527 (?) ฉายที่หอประชุมเล็ก เป็นฟิล์มเก่า ๆ มาฉาย ติดใจจนตอนไปฝรั่งเศสยังไปซื้อโปสเตอร์หนังมาเก็บ ที่ตอนแรกประทับใจมากเพราะทำให้นึกถึงหนังมินิซีรี่ส์ฮ่องกงเรื่องหนึ่งที่เคยดูก่อนหน้านั้น ที่ชื่อว่า “แผนสังหาร” หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เรื่องที่มี จูเจียง พระเอกเจ้าเก่าหนังทีวีชุด “ฤทธิ์มีดสั้น” นำแสดง หนังฮ่องกงลอกเรื่องลอกบทฉบับฝรั่งเศสกันแบบแนบเนื้อสุด ๆ คือในเรื่องมีการฆ่าปิดปากผู้นำคนหนึ่ง จากนั้นก็มีการฆ่าปิดปากคนในเหตุการณ์ที่อยู่ในภาพถ่ายทีละคน ก็นั่นแหละมาจากหนัง I for Icarus เรื่องนี้เอง ซึ่งว่ากันว่าได้แรงบันดาลใจมาจากคดีสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้อีกทีหนึ่ง ซึ่งหนัง JFK ของ โอลิเวอร์ สโตน ที่สร้างยุคหลังก็มีอะไรคล้ายคลึงกับเรื่องนี้ไม่น้อย แต่ของฝรั่งเศสก็แน่นอน สุขุมนุ่มลึก แค่ชื่อเรื่องที่อ้างถึง Icarus ในตำนานปรณัมกรีกที่ เทพไอคารัส ทำปีกขี้ผึ้งบินหาดวงอาทิตย์จนปีกละลายก็กินขาดแล้ว ยิ่งฉากตอนจบลุ้นดี เป็นภาพถ่ายเลนส์เทเลโฟโต้ไกลจากอีกตึกหนึ่งไปที่ห้องทำงานของ อีฟส์ มองตองด์ ในอีกตึกหนึ่ง

ก็นั่นแหละ ใครชอบหนังอาชญากรรมแนวสมคบร่วมเห็น รู้เป็นรู้ตายแบบที่อเมริกาชอบสร้างในช่วงยุค 70 แนววอเตอร์เกตระแวงวรรณ ก็ต้องดู

ไม่ต้องกลัวว่า I for Icarus เป็นหนังฝรั่งเศสดูยาก ถ้าดูยากฉายในเมืองไทย แล้วจะมีคนชอบจดจำได้เยอะแยะเหรอ คนไทยชอบหนัง 2 ประเภท คือหนังบันเทิงกับหนังมีประเด็น ยิ่งถ้ามีสองอย่างอยู่ในร่างเดียวก็ลอยลำ ชอบธรรมลอยลิ่วทั้งขึ้นทั้งล่อง หนังอาร์ตประเภทที่ดูกำกวมหาจับประเด็นไม่ติด ระวังตัวไว้เถอะ (ฮ่า เกิดเป็นหนังนี่ยากแท้แสนเข็ญ)

หนังประเภทนี้ที่ทำดี ๆ ก็ เช่น The Parallax View ที่ วอร์เรน เบ็ตตี้ แสดง (มีแผ่นลิขสิทธิ์แล้ว) หรือ All The President’s Men- โรเบิร์ต เรดฟอร์ด / ดัสติน ฮอฟแมน (มีแผ่นลิขสิทธิ์แล้วเช่นกัน) นอกจากสองเรื่องยอดเยี่ยมของ อลัน เจ พาคูล่า แล้วก็มี Three Days of the Condor- หนังของซิดนี่ย์ พอลแลคผู้ล่วงลับ ที่ เรดฟอร์ด ประกบกับ เฟย์ ดันนาเวย์ แต่พอ ซิดนี่ย์ พอลแลค มาทำแนวใกล้เคียงกัน The Interpreter ให้ นิโคล คิดแมน กับ ณอน เพนน์ เล่น ก็กลับออกมาแกน ๆ ไม่รู้เพราะยุคสมัยมันไม่เสริมอารณ์หรือเปล่า

คนไทยรุ่นก่อนหลายคนที่ดูเรื่อง I For Icarus นี้ยังจำได้ไม่ลืม ถึงได้หามาทำดีวีดีจนได้ ซึ่งเท่าที่ตอนนี้เช็คดูเห็นมีแผ่นลิขสิทธิ์ออกมาแค่ 2 แห่ง คือแผ่นฝรั่งเศส (ที่ไม่มีบรรยายอังกฤษ) ส่วนแผ่นของ Koch Lorber ในแคนาดามีบรรยายอังกฤษ แต่ในอเมริกาบริษัท Koch Lorber คงไม่มีลิขสิทธิ์การผลิต (ยกเว้นต้องนำเข้า) ส่วนของไทยคงจะมาจากแผ่นของ Koch Lorber เนี่ยแหละ (หรือว่าโหลดเอา) แต่ก็ถือว่าทำการบ้านมาดี คุณภาพภาพดูนุ่มๆ ไม่คมชัดมากนัก เทียบเป็นน้องของดีวีดียี่ห้อ Criterion Collection ไม่ได้ แต่เท่านี้ก็บุญโขแล้ว

I For Icarus เป็นฝีมือกำกับ-เขียนบทและอำนวยการสร้างของ อองรี แวร์นุยล์ (Henri Verneuil) มือเก่าที่ทำหนังมาตั้งแต่โน่นปี 1947 ขณะที่นักวิจารณ์ฝรั่งเศสบ้านเขาเอง ไม่ค่อยยกย่อง หรือถือว่ามีคุณค่าความลึกซึ้งสักเท่าไร มองข้ามตัวตนในหนัง (ความเป็น auteur) ของเขาที่ซ่อนรูปและไม่ชัดเจนนักในยูนิฟอร์มหนังตลาด (จนคนทำหนังฝรั่งเศสหัวก้าวหน้ารุ่นคลื่นลูกใหม่ยุค 60 อย่าง Truffaut, Godard มองข้ามเขาไปเลย หรือถ้าเขียนถึงก็คงเสียดสีแสบสันต์) ส่วนหนึ่งเพราะหนัง แวร์นุยล์ ขายดาราดัง ๆ หลายเรื่องมีลักษณะเป็นหนังที่ผสมกับแนวทางของหนังตลาดอเมริกัน แต่เล่าเรื่องเนิบนาบกว่า รู้สึกว่าที่อังกฤษกับอเมริกาในยุคหนึ่งชื่อเสียงเขาค่อนข้างดีมาก ฮอลลีวู้ดเคยเชิญเขาไปทำหนังด้วย เห็นว่าไปทำหนังกับดาราอย่าง ชาร์ลส์ บรอนสัน, แอนโธนี่ ควินน์ และ เอวา การ์ดเนอร์ ซึ่งเป็นดาราดังยุคนั้น แต่ไม่รู้ว่าจัดเป็นหนังอเมริกันแท้ ๆ แค่ไหน เพราะเห็นชื่อหนังในกลุ่มนี้ก็เป็นภาษาฝรั่งเศส

เมื่อก่อนเคยพยายามหาดูหนังของ แวร์นุยล์ หลายเรื่อง แต่ได้ดูไม่มากนัก เท่าที่ได้ดูก็ค่อนข้างชอบเป็นส่วนใหญ่ เขาทำหนังตลาดแนวแอ็คชั่นอาชญากรรมเก่ง ยิ่งพวกหนังที่ดาราฝรั่งเศสหัวแถวอย่าง ฌอง-ปอล เบลมองโด, อแลง เดอลอง, ฌอง กาแบ็ง, ลิโน เวนตูรา และ ปาตริค เดอแวร์ เรียกว่าสนุกมีสาระ ดีคนละแบบกับหนังอาร์ตยุโรปฮาร์ดคอร์อื่น ๆ ที่ฉายกันตามคอร์สภาพยนตร์และเทศกาลหนัง น่าสังเกตว่า แวร์นุยล์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักข่าวนั้นมักจะเขียนบทเอง หรือร่วมเขียนบทเองแทบทุกเรื่อง (รวมทั้ง I for Icarus เรื่องนี้ที่คิดเรื่องและเขียนบทดั้งเดิมเอง) มีอยู่หลายเรื่องเหมือนกันเป็นหนังที่สร้างจากนิยาย แล้วบางทีได้คนเขียนบทเก่ง ๆ หรือมีเขียนบทพูดชั้นเซียน (ฝรั่งเศสชอบจ้างคนมาช่วยทำบทพูด) อย่าง Michel Audiard พ่อของ Jacques Audiard ที่ทำหนัง The Beat that My Heart Skipped ซึ่งออกแผ่นบ้านเรา แล้วก็มี Francis Veber คนนี้เก่งมากมีอารณ์ขันดี เขียนบทและกำกับหนังที่บ้านเราพอจะคุ้นเคยอย่าง Le dîner de cons หรือ The Dinner Game แล้วก็ Les fugitifs / Three Fugitives (นิค โนลเต้) ที่เขาเอามารีเมค และบทหนัง The Birdcage (โรบิน วิลเลี่ยมส์ / ยีน แฮ็คแมน) รวมทั้งบทหนัง My Father the Hero (เฌราร์ด เดอปาดิเญอ / มารี กิลแล็ง) อีกกระทงหนึ่ง

ในหนังมีประเด็นที่พูดถึงความถูกต้องของผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลระดับสูง โดยเทียบเคียงกับการทดลองในห้องแล็บวิทยาศาสตร์ที่คนสองคน ซึ่งเดิมนั้นมีความเสมอภาคกัน แต่ครั้นเมื่อถูกสลับจัดวาง ให้คนหนึ่งกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ณ การทดลองทรมานกรรมในนามที่เรียกชื่อว่า “บรรทัดฐานชอบธรรมระหว่าง ครู-ศิษย์”

บทหนังพูดชัดเจนว่าความชอบธรรมของกฏของผู้ปกครองและความถูกต้องของกฏหมู่ คือคำตอบและข้ออ้างที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะคล้อยตาม ไม่ว่าจะเพื่อปฏิเสธความผิด ความรับผิดชอบ จะเป็นเพราะเพื่อถืออำนาจเบ็ดเสร็จ หรือความสะใจซาดิสม์ของตัวเองก็ตาม ทั้งหลายทั้งมวลนี้ คนทุกคนอย่างเราท่าน ๆ อาจจะตกอยู่ในฐานะไม่แตกต่างกันเลยในท้ายสุด แล้วพร้อมจะเลือกทำ หรือพูดอย่างไรก็ได้ เพื่อแลกกับเงิน ความอยู่รอด หรือเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นหนูหรือกระต่ายทดลองเสียเอง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาระดับศีลธรรมในใจให้ดูสะอาดสะอ้านที่สุดในสายตาคนภายนอก ขนาดที่ว่าแม้แต่ตัวบทพระเอก คือ อีฟส์ มองตองด์ เอง ก็ยังต้องตรวจสอบตาชั่งใจในวิธีการของตัวเองที่ผ่านมาตลอดทั้งเรื่องด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่า อีฟส์ มองตองด์ ได้บทเด่นเรื่องนี้พอ ๆ กับที่เคยแสดงหนังรางวัลออสการ์ปี 1969 เรื่อง Z

ราวยุค 70 หนังฝรั่งเศสเคยเฟื่องในไทยเอาการ สังเกตเห็นจากดาราเก่าอย่า อแลง เดอลอง, เบลมองโด้ มีหนังออกแผ่นหลายเรื่อง ทั้งวีซีดี และดีวีดี เหมาหนังแอ็คชั่นแทบครบชุด (ไม่ยักกะมีหนังดราม่าหนัก ๆ แฮะ-ขอเพลงได้ไหมเนี่ย?) ไม่แปลกที่หนัง Borsalino และ Borsalino and Co. ซึ่งสองหนุ่มเล่น จะกลายเป็นต้นแบบของหนัง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” รวมทั้งหนังแบบนักฆ่าหน้าหยก หรือเซียนโจรกรรม แนวประมาณหนัง ฌอง-ปิแอร์ เมลวิลล์ เรื่อง Le Samourai (เวอร์ชั่นญาติสนิทคือ The Killer ของ จอห์น วู), Bob Le Flambeur (ฉบับรีเมค The Good Thief คือ นิค โนลเต้), The Red Circle (จอห์นนี่ โต๋ แห่ง Election เพิ่งดัดแปลงใหม่เป็น Vengeance หนังลูกครึ่งฝรั่งเศสฮ่องกง) หรือ The Sicilian Clan หนังดีอีกเรื่องของ อองรี แวร์นุยล์ ที่มีฉากเครื่องบินแลนดิ้งบนถนนใหญ่

เสียดายหนัง 3 เรื่องที่เคยชื่นชมไม่น้อยของ Alain Corneau คือ Serie Noire http://snoreandguzzle.com/?p=447 , Le choix des armes และ Police Python 357 http://dearcinema.com/police-python-357-by-alain-corneau-422 ทั้งสามเรื่องคงไม่เคยเข้ามาฉายเมืองไทย (2 เรื่องหลังนี้ อีฟส์ มองตองด์ แสดง) แอบหวังว่าจะมีใครออกดีวีดีในบ้านเราสักหน่อย

เปิดหมวกคารวะบริษัททริปเปิ้ลเอ็กซ์ฟิล์ม
ว่าง ๆ ค่ายทริปเปิ้ลเอ็กซ์ xxx หรือ Triple X Film อย่าลืมออกหนังดี ๆ ออกมาอีกล่ะ เห็นความตั้งใจแล้วน่านับถือ สมควรสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นหนังแอ็คชั่น มีตั้งแต่หนังไทย เช่น ไอ้หนุ่มตังเก, มนต์รักลูกทุ่ง, เรือนแพ, วิวาห์ลูกทุ่ง, เพื่อนคู่แค้น, หนังคาวบอยจังโก้, ลีแวน คลิฟ, บั๊ด สเปนเซอร์ หนังเบลมองโด้ หนังอแลง เดอลอง, มาร์ค ดามอน, มอนต์โกเมอร์รี่ วู้ด, หนังกำลังภายใน (รวมทั้งหนัง Dragon Inn ของ คิงฮู), “ขอรอยยิ้มสักนิด” (Your Smiling Face) หนังนินจา หนังเทวดาท่าจะบ๊องส์ หนังแขก โชเล่ย์, บัตเตอร์ฟลาย (เปีย ซาโดร่า ฉายาหน้าประถม นมมหาลัย), ไอ้โล้นแม็กนั่ม, หนัง “นักฆ่าเพลินสวาท” หรือ Summertime Killler ที่ คริสโตเฟอร์ มิทชั่ม ลูกชาย โรเบิร์ต นำแสดงกับ โอลิเวีย ฮัสซี่ย์ (หลังจาก Romeo and Juliet เธอแสดงกับคริสโตเฟอร์ และกรุง ศรีวิไล ในหนัง “ตัดเหลี่ยมเพชร”- H-Bomb / Operation Alpha) ไล่ไปถึงหนังคลาสสิกของ อากิระ คุโรซาว่า แบบ 7 เซียนซามูไร, ราโชมอน อะไรนั่นเลย

เรียกได้ว่ามีตั้งแต่เรือแจวยันเรือรบว่างั้นเถอะ บางเรื่องอย่าง I for Icarus นี่ฝรั่งเองยังหายาก นี่ขนาดไม่มีซับไตเติ้ลอังกฤษ ซาวด์แทร็คฝรั่งเศสล้วน ๆ หาซื้อไม่ได้ แผ่นของฝรั่งเศสเองของหมดหรือไร จนต้องมาสั่งซื้อกับคนหัวการค้าในเมืองไทยที่ไปประกาศขายแผ่นเมดอินไทยแลนด์ใน e-bay

ค่ายนี้ดูจะเป็นคนเก่าคนแก่ที่สะสมหนังและรักหนังจริง ๆ มีรูปโปสเตอร์ต้นฉบับสมัยที่ฉายเมืองไทยให้ดู ทำภาพไวด์สกรีน หรือภาพสโคป ไม่สุกเอาเผาถ่านแบบค่ายอื่น ๆ มีซาวด์แทร็ค มีคำบรรยายไทย (ว้าว)-มีพากย์ไทยให้เลือก ที่เด็ดคือ เรื่อง I for Icarus นอกจากเสียงของ พันธมิตร แล้วยังมีเสียงพากย์โบราณแบบพากย์กันสองคนทั้งเรื่อง กรรณิการ์-อมรา ให้เลือกอีกแน่ะ ฟังดูประหลาด ๆ หน่อยนึง ลองไปหาแผ่นดูที่ร้านบูมเมอแรงทุกสาขา ร้านอมรมูวี่ หรือร้าน CAP ร้านแถวฟอร์จูนรัชดา ไม่รู้ต่างจังหวัด คงหายาก (เชียงใหม่ หรือภูเก็ตมีไหม?) เพราะวัยรุ่นอาจไม่ชอบหนังเก่า หรือไม่ชอบปก เพราะปกไม่ cool พอ แต่แบบนี้ก็ดูมีเสน่ห์ดีอยู่แล้ว หรือจะลองทำปกหน้าหลังคนละแบบ ปกทันสมัยล่อตาด้านหนึ่ง แล้วเก็บโปสเตอร์ไว้ด้านหลังก็ได้

ใครชอบภาพโฆษณาหนังเก่า ๆ ที่เคยเข้าฉายเมืองไทยลองค้น หน้า ศาลาเฉลิมรักษ์ บทต่าง ๆ ในบล็อก “นิมิตวิกาล” นี้ (เช่น จังโก้ จอมสังหาร) http://twilightvirus.blogspot.com/2008/08/blog-post_26.html และตามหนังสือ ฟิล์มไวรัส เล่มเก่า ๆ จากเล่ม 1 ถึงเล่ม 4 (สางสำแดง)

แต่ขอติบริษัททริปเปิ้ลเอ็กซ์นิดหนึ่ง เครดิตภาษาอังกฤษหลังปกที่มีรูปแบบตายตัว น่าจะแก้ให้ถูกต้อง เพราะจะผิดตามกันไปถึงอนาคต คือ เครดิต Writer by และ Director by ควรแก้ใหม่เป็น Written by และ Directed by หรือใช้ Writer และ Director แล้วเน้นชื่อผู้กำกับ-คนเขียนบทเป็นตัวดำเน้นสี ส่วนเรื่องเครดิตคนเขียนบทของ I for Icarus ก็ควรแก้ให้ถูกคือ Henri Verneuil และ Henri Decoin

ขอติหน่อย แต่ก็ปลื้มใจมากที่หนังแบบนี้มีทำออกมาให้ดูกัน ขอโฆษณาให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน เห็นทำแพ็คเกจ หารูปโปสเตอร์เก่าสไตล์ไทยมาพิมพ์ อาจจะไม่ไฉไล หรือดีไซน์โดดเด้งที่สุด แต่ก็มีเอกลักษณ์ไม่มีที่อื่นอีกแล้วในโลกที่ซ้ำแบบ ก็ภาวนาขอยกย่องให้อยู่นาน ทนแดดทนฝน อย่าถอดใจไปเสียก่อน ดูเราคนทำหนังสือหนัง-หนังสือวรรณกรรมแบบ ฟิล์มไวรัส-บุ๊คไวรัส สิ ทำไปก็มีแต่แล้งตาย หาที่ขายก็ยาก หาคนอ่านก็น้อย แถมไม่มีเสียงตอบรับอีก เฮ้อ เพลียพะยะค่ะ

ปล. ไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิดซื้อหนังเรื่องนี้มาฉายในเมืองไทย เข้าฉายที่สกาล่า ต้องขอบอกว่าที่คนไทยได้ดูในวันนั้น และได้ดูอีกในวันนี้ ก็เพราะความดีของเขาคนนั้น และที่มีโรงเปิดฉาย ไม่แน่ใจว่าเป็นความดีความชอบส่วนหนึ่งของเขาคนนี้ไหม คุณ สุชาติ วุฒิชัย ครีเอทีฟแห่งเอเพ็กซ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Nikita, Leon, The Piano, The Lover ในเมืองไทย เจ้าของเสียงพากย์นุ่ม ๆ ให้โฆษณาหลายเรื่องในอดีต (รวมทั้งโฆษณาสวนนงนุชดั้วยมั้ง) เขาเคยกำกับหนังเรื่อง “น้ำค้างหยดเดียว” ที่ถ่ายแฟลตดินแดง ห้วยขวางสมัยเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ใสปิ๊ง แฟลตเก่าของ เคี้ยง-ไพสิฐ ตอนนั้นหนังเรื่องนี้ฉีกแนวหนังไทยมากหลาย เนื้อเรื่องก็ไม่แจ่มใส ดาราก็ใหม่ ทีมงานใหม่ มุมกล้องใหม่ เจ๊งเจ็บตัวแบบใหม่ ๆ คุณสุชาติ เลยกำกับหนังแค่เรื่องเดียว

ที่งานเทศกาลหนัง European Film Festival ปีนี้ยังเห็นคุณสุชาติโผล่มาดูหนังอิตาเลี่ยน อุ่นใจที่เห็นยังแข็งแรงและแวะมาดูหนังพวกนี้อีก

(บางส่วนของบทความนี้จะดัดแปลงลงนิตยสาร Vote ฉบับกลางเดือนธันวาคม 2552)

Mute Music

Quote of the day

Nevertheless, articulating the connection between music and the outer world remains devilishly difficult. Musical meaning is vague, mutable, and, in the end, deeply personal. Still, even if history can never tell us exactly what music means, music can tell us something about history. My subtitle is meant literally; this is the twentieth century heard through its music.

from The Rest is Noise: Listening to the Twentieth Century
by Alex Ross

(ภาพประกอบจากเทศกาลละครกรุงเทพปี 2552 / ขอขอบคุณไลต์เฮาส์พับลิชชิ่งสำหรับหนังสือทรงคุณค่า)