6/15/09

กัลปพฤกษ์ - สัมภาษณ์ Peter Todd จาก BFI

สัมภาษณ์ Peter Todd จากสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ (BFI)

โดย กัลปพฤกษ์

(ส่งตรงจากลอนดอน)

หมายเหตุ ฟิล์มไวรัส:

เรื่องราวที่จะตีพิมพ์ต่อไปนี้อาจมีประโยชน์หรือใกล้ตัวแค่ไหนสำหรับผู้อ่านและคนดูหนังคงยากจะคาดเดา แต่ข้อมูลจากแฟ้มลับ BFI (มิใช่ FBI) ที่จะตีพิมพ์ต่อไปนี้นั้นอาจจะชี้ที่มาสำคัญส่วนหนึ่งในการศึกษามรดกภาพยนตร์โลก ซึ่งเราท่านในปัจจจุบันต่างได้รับบุญกุศลตกทอดมาให้อ่านผ่านโลกอินเตอร์เน็ต ยิ่งหากท่านใดยังเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์รักษาฟิล์มและเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าภาพยนตร์ในโลกอนาคตจะถูกจ้องมองผ่านวัสดุสื่อสารชนิดใดก็ตาม กิจกรรมของหอภาพยนตร์ในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะใกล้เคียงกับสถาบันภาพยนตร์ BFI เท่านั้นอันจะเป็นตัวแทนและภารกิจหลักในการปูภาพลักษณ์อดีต-ปัจจุบันให้มนุษย์ในกาลหน้าได้ศึกษา

กัลปพฤกษ์ รายงานพิเศษจากเกาะอังกฤษ

สัมภาษณ์ PETER TODD
ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลภาพยนตร์ของสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (BFI)


สัมภาษณ์และถ่ายภาพโดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’

kalapapruek@hotmail.com

‘กัลปพฤกษ์’ : ก่อนอื่นขอให้คุณ Peter ช่วยเล่าความเป็นมาของ BFI หรือ British Film Institute (สถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร) ให้ผู้อ่านที่อาจจะยังไม่ทราบความเป็นมาสักเล็กน้อย

Peter : BFI หรือ British Film Institute นี่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ซึ่งก็นับว่ายาวนานและผ่านการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด วัตถุประสงค์หลักของ BFI คือการให้การศึกษาด้านภาพยนตร์ การเก็บรักษาฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์และโปรแกรมโทรทัศน์ รวมถึงการนำเอาผลงานเหล่าออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนด้วย นอกจากนี้ BFI ยังมีส่วนของการเก็บข้อมูลข่าวสารในลักษณะของห้องสมุดหนังซึ่งผมดูแลอยู่โดยตรง ในส่วนนี้เราก็จะเน้นด้านการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหนัง ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชันโน้ต วารสาร บทวิจารณ์ที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ในช่วงที่หนังออกฉาย


‘กัลปพฤกษ์’ : ในส่วนนี้นี่จำกัดเฉพาะหนังอังกฤษหรือเปล่า?

Peter : ไม่ครับ เราเก็บหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหนังจากประเทศไหน โดยเฉพาะหนังอเมริกันซึ่งอังกฤษก็ถือว่ามีความผูกพันด้วยมาก ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็จะมีกลุ่มหนังจากต่างประเทศเข้ามาฉายที่นี่อย่างกลุ่ม French New Wave กลุ่มหนังยุโรปตะวันออก หนังจากเอเชีย ลาตินอเมริกา เพราะฉะนั้นถึงแม้จะได้ชื่อว่า British Film Institute แต่จริง ๆ แล้วสโคปงานของเราน่าจะเรียกได้ว่าครอบคลุมถึงกลุ่ม World Cinema มากกว่า ซึ่งอันนี้จะเห็นได้ชัดจากงานเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอนที่เน้นนำเอาภาพยนตร์เด่นในรอบปีจากทั่วทุกมุมโลกมาฉาย ซึ่งในส่วนนี้เราก็จะมีข้อมูลต่าง ๆ เก็บไว้ในรูปแบบของสูจิบัตรเทศกาล ซึ่งก็รวมไปถึงสูจิบัตรงานเทศกาลชื่อดังอื่น ๆ เช่น คานส์ แบร์ลิน เวนิส ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในด้านการติดต่อสำหรับผู้จัดการเทศกาลทั้งหลายที่บางครั้งอยากได้หนังที่ไม่ได้รับการจัดจำหน่ายจากเทศกาลดัง ๆ ไปจัดฉาย

‘กัลปพฤกษ์’ : ข้อมูลเหล่านี้นี่เก็บรักษามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 เลยหรือเปล่า?

Peter : ไม่ใช่ แค่ปี 1933 ครับ แต่ BFI ยังย้อนกลับไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่จุดแรกเริ่มของกำเนิดภาพยนตร์เลยทีเดียว รวมทั้งการค้นหาและบูรณะฟิล์มเก่า ๆ เหล่านี้ด้วย

‘กัลปพฤกษ์’ : ถ้าเช่นนั้นพอจะสรุปคร่าว ๆ ได้ไหมว่า หนังทุกเรื่องที่ได้เข้าฉายในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 จะได้รับการพิทักษ์รักษาจาก BFI?

Peter : คงยังไม่ถึงขนาดนั้นครับ คือลักษณะมันจะไม่เหมือนกับ British Library ที่มีกฎว่าสำนักพิมพ์จะต้องส่งหนังสือมาให้ British Library ทุกครั้งที่มีการพิมพ์เล่มใหม่ ในส่วนของ BFI มันจะเป็นลักษณะของความสมัครใจมากกว่า คือหนังส่วนใหญ่ที่เราได้มาจะมาจากการบริจาคจากทั้งบุคคล และบริษัทหนัง ซึ่งก็คงไม่สามารถยืนยันได้ว่าเราจะเก็บได้ทั้งหมด

‘กัลปพฤกษ์’ : ฟังดูเป็นภาระที่ต้องใช้เงินทองมากพอสมควร อย่างนี้ BFI ได้รับทุนจากแหล่งไหนบ้าง?

Peter : จริง ๆ BFI ก็มีการปรับเปลี่ยนมาหลายรูปแบบเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเรามีลักษณะเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้นเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐบาล แต่ส่วนหนึ่งเราก็ยังมีรายได้จากระบบการสมัครเป็นสมาชิกของคนทั่วไปทั้ง การเป็นสมาชิกของโรงภาพยนตร์ NFT หรือ National Film Theatre หรือนิตยสาร Sight and Sound ซึ่งเราเป็นผู้จัดพิมพ์ด้วย หรือบางครั้งเราก็ได้เงินสนับสนุนจากองค์กรอิสระอื่น ๆ เช่น David Lynch Foundation ที่ช่วยออกเงินในการบูรณะฟิล์มหนังของ David Lynch อย่างนี้เป็นต้น

‘กัลปพฤกษ์’ : ซึ่งในจุดนี้ดูเหมือน BFI จะให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะในแต่ละเดือนจะมีการบูรณะฟิล์มหนังคลาสสิกเก่า ๆ เพื่อนำมาออกฉายใหม่อย่างสม่ำเสมอ


Peter : ใช่ครับ คือเราพยายามสนับสนุนให้ผู้ชมมีโอกาสได้สัมผัสกับหนังเหล่านี้ในสภาพที่เหมือนกับตอนที่หนังออกฉายใหม่ ๆ การทำ print ใหม่จึงถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของ BFI

‘กัลปพฤกษ์’ : ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะหนังอังกฤษอีกเช่นกัน?

Peter : ใช่ครับ BFI เองก็เคยบูรณะหนังจากประเทศอื่น ๆ ด้วย คือตอนนี้ Film Archive ในแต่ประเทศค่อนข้างจะให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกัน บางครั้งเราต้องการฉายหนังของผู้กำกับต่างชาติรายใดเราก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก Film Archive ประเทศนั้น ๆ มันจึงเป็นลักษณะของการช่วยกันรักษาสมบัติของวงการภาพยนตร์โลกมากกว่าจะดูแลเฉพาะหนังของตัวเองเพียงชาติเดียว

‘กัลปพฤกษ์’ : ขอถามเรื่องลิขสิทธิ์การจัดฉายของหนังที่ BFI ได้รับบริจาคมา ปกติแล้วเมื่อมีการบริจาคฟิล์มให้กับ BFI จะถือว่าผู้บริจาคได้ให้สิทธิ์ในการจัดฉายแก่ BFI โดยอัตโนมัติเลยหรือไม่?

Peter : ไม่เสมอไปครับ ปกติแล้วเวลา BFI ได้รับบริจาคฟิล์มก็จะมีการทำสัญญาตกลงกับเจ้าของสิทธิ์ผู้บริจาคอย่างชัดเจนเลยว่า BFI จะมีสิทธิ์ในการเผยแพร่หนังเรื่องนั้น ๆ ในลักษณะไหน อันนี้ต้องแล้วแต่เจ้าของสิทธิ์ผู้บริจาคเลย ซึ่งก็จะมีทั้งให้สิทธิ์การจัดฉายอย่างเสรี สามารถจัดฉายได้ภายในช่วงเวลานั้นเวลานี้ หรืออนุญาตให้เก็บรักษาเพื่อการศึกษาได้อย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้บริจาคก็จะให้สิทธิ์ในการจัดฉายมาพร้อม ๆ กับฟิล์มหนังด้วย โดยทางเราก็มีฝ่ายกฎหมายที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้โดยตรง

‘กัลปพฤกษ์’ : แต่หนังเหล่านี้ก็ดูจะไม่ได้ฉายที่ NFT แห่งเดียว เพราะหลาย ๆ เรื่องก็ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปที่อื่น ๆ ด้วย

Peter : ใช่ครับ คือถ้าเจ้าของสิทธิ์อนุญาตเราก็พยายามจะเผยแพร่หนังเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ดังนั้นโรงหนังต่าง ๆ ก็สามารถจะเช่าฟิล์มจาก archive ของเราไปฉายเป็นเทศกาลเล็ก ๆ ของเขาเองได้

‘กัลปพฤกษ์’ : ที่สนใจในจุดนี้ เพราะผู้ก่อตั้งกลุ่มฟิล์มไวรัสเคยเล่าว่าได้มาอาศัยอยู่ที่นี่ในช่วงทศวรรษ 1980s แล้ว และมีโอกาสได้ชมการฉายหนังในลักษณะ double bill หรือหนังควบที่นำเอาผลงานหาชมยากของผู้กำกับดังในยุคก่อน ๆ มาฉายให้ดูกันเป็นคู่ ๆ หรือเป็นชุด ไม่ว่าเป็น Everyman Cinema, Roxy Cinema หรือ Scala ซึ่งปัจจุบันนี้ดูเหมือนวัฒนธรรมนี้จะตายไปหมดแล้ว คุณ Peter พอจะลองประเมินได้ไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมยุคสมัยนี้จึงไม่ค่อยมีการจัดฉายหนังแบบ double bill อย่างคับคั่งเหมือนเมื่อก่อน


Peter :อืม ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว เราคงต้องมองด้วยว่าวิธีการดูหนังของเราในยุคสมัยนี้มันเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ตอนนี้เราก็มีเทคโนโลยี DVD เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่สามารถ download หนังมาดูได้ ตรงนี้อาจจะมีส่วนด้วย เพราะวัฒนธรรมมันเปลี่ยนไป คือคนอาจจะอยากดูหนังอยู่เหมือนเดิม แต่ตอนนี้เขาอาจจะมีทางเลือกมากขึ้นว่าจะดูจาก DVD ด้วย laptop หรือจอโทรทัศน์ หรือจะดูจากจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ในแบบฉบับดั้งเดิม ทางเราจึงพยายามเปิดทางเลือกให้ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าจะดูจาก DVD ที่สามารถย้อนกลับไปดูกี่ครั้งก็ได้ หรืออยากได้รับประสบการณ์ในลักษณะของการชมภาพยนตร์ในโรงจริง ๆ

‘กัลปพฤกษ์’ : แม้แต่หนังเงียบก็จะมีการจ้างนักเปียโนมาบรรเลงกันสด ๆ ให้ได้ฟังกันด้วย

Peter : ใช่ครับ เราพยายามจะรักษาบรรยากาศของการชมภาพยนตร์ให้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่หนังออกฉายมากที่สุด

‘กัลปพฤกษ์’ : ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะหนังบางเรื่องที่ NFT มีโปรแกรมฉาย ทาง BFI ก็มี DVD ออกวางจำหน่ายในราคาที่บางครั้งก็ใกล้เคียงกัน แถมบางเรื่องยังมีบริการให้ดูฟรีใน Booth ดูหนังอีกด้วย

Peter : ใช่ครับ เราพยายามเปิดช่องทางให้หลากหลาย ซึ่งแต่ละวิธีที่จะเข้าถึงหนังมันก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ที่เกริ่นว่าประเด็นการฉายหนังควบนี่น่าสนใจเพราะในนิตยสาร Sight and Sound เมื่อปีที่แล้วเราได้จัดทำฉบับพิเศษให้นักวิจารณ์ช่วยกันจัดหนัง double bill ในจินตนาการรำลึกถึงบรรยากาศการฉายหนังในยุคสมัยก่อนนี้ด้วย

‘กัลปพฤกษ์’ : อืม ได้เห็นอยู่เหมือนกัน ไม่อยากจะบอกเลยว่าทางกลุ่มฟิล์มไวรัสก็ได้ยืมไอเดียนี้ไปใช้ในงานฉลองครบรอบสิบสามปีที่เพิ่งผ่านมาด้วย เราได้ให้นักวิจารณ์หลาย ๆ คนเสนอไอเดียในการจัดโปรแกรมหนังควบในจินตนาการ ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวทางที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างน่าสนใจมาก


Peter : จริงหรือครับ? น่าสนุกจัง และไม่ใช่แค่ double bill เท่านั้น สมัยก่อนยังมีการการฉายหนังแบบโต้รุ่งสามเรื่องตลอดคืนให้ได้ดูกันด้วย

‘กัลปพฤกษ์’ : สำหรับฟิล์มที่ทาง BFI เก็บไว้ใน Archive นี่มีการอนุญาตให้ นักเรียนนักศึกษา นักวิจัย หรือผู้สนใจทั่วไปชมได้หรือเปล่า?


Peter : มีครับ เรามีบริการ Viewing Service ที่สำนักงานลอนดอน ตรงถนน Stephen Street ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องเสียค่าบริการเป็นรายชั่วโมง แต่ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็จะมีส่วนลดให้ครึ่งราคา สำหรับฟิล์มหนังเราจะมีเครื่องฉายที่คล้าย ๆ โต๊ะตัดต่อที่คุณสามารถใช้ดูได้ ส่วนโปรแกรมโทรทัศน์หรือภาพยนตร์บางเรื่องที่เรามีเป็นม้วนวิดีโอเราก็จะมีจอโทรทัศน์และเครื่องเล่นให้ดู คือเราถือว่าเราต้องให้บริการผู้ที่สนใจศึกษาวิจัยในด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ในฐานะแหล่งสุดท้ายที่พวกเขาจะหาผลงานหากชมยากที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นได้

‘กัลปพฤกษ์’ : อืม น่าสนใจจัง ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ไหน อย่างไร?

Peter : คุณสามารถเข้ามาที่เว็บไซต์ http://www.bfi.org.uk/filmtvinfo/ ส่วนของห้องสมุดหนังและการให้บริการข้อมูลได้เลยครับ เรามีรายละเอียดต่าง ๆ แจ้งไว้แล้ว แต่อาจจะต้องจองล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ สัก 2-3 สัปดาห์นะครับ เพราะปกติตารางห้องฉายของเราจะค่อนข้างแน่นไม่น้อยเหมือนกัน

No comments: