2/4/08

รีวิว Good Morning, Night

Good Morning, Night
2003, อิตาลี, 103 นาที


นำแสดงโดย Maya Sansa, Roberto Herlitzka, Luigi Lo Cascio
กำกับภาพยนตร์โดย : Marco Bellocchio
บทความโดย ธเนศน์ นุ่นมัน

เชียร่า ฝัน มันช่างงดงามเสียเหลือเกิน โลกที่อุดมการณ์ของเธอและเพื่อน ๆ ถูกมวลชนอุ้มชู มันช่างงดงามเสียเหลือเกิน เธอคิดเช่นนั้น แม้ฝันของเธอจะปรากฏเป็นภาพเก่าฟิล์มขาว-ดำ ขนาด16มิลลิเมตร ที่รอเวลาเสื่อมสภาพ

ปี1978 ระบบการเมืองทั่วโลกสั่นคลอน ด้วยเหตุที่มือซ้ายและมือขวา เล่นชักคะเย่อโดยลืมไปว่า ถึงข้างไหนจะชนะ ก็ยังต้องใช้ร่างเดิมร่วมกัน สงครามทุกระดับอุณหภูมิถือสิทธิที่ไม่ต้องขออนุญาตใครคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ตลอดยุค 80 โลกเหม็นคลุ้งไปด้วย กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ที่มาจากความเสื่อมทราม การย่อยสลายโดยไม่เลือกที่ของวัฒนธรรมขยะ


นี่เป็นปีที่คริสต์ศาสนิกชนปลื้มปิติที่ได้พระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 (Pope John Paul II) มาเป็นประมุข แม้พระองค์จะประสูติในโปแลนด์ ซึ่งถือว่า ไม่ใช่ ชาว อิตาเลียน แท้

และนี่ก็เป็นปีที่ชาวอิตาเลี่ยนจำนวนหนึ่งลืมไม่ลง พวกเขาจดจำได้ดี หลายคนนั่งเฝ้าจอทีวีเพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหว พวกเขาอยากรู้ว่า นาย อัลโด โมโร นายกรัฐมนตรีของเขาที่ถูกลักพาตัวไป มีชะตากรรมเป็นอย่างไร Good Morning, Night เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง


หนังเปิดเรื่องด้วยคู่รักคู่หนึ่ง กำลังเลือกห้องพัก ฝ่ายชายสำรวจขนาดมุมหนึ่งของห้องด้วยการวัดจำนวนก้าว พวกเขาตกลงที่จะเช่าห้อง ย้ายเข้าอยู่ในทันที มุมที่ชายหนุ่มสำรวจไว้ ถูกดัดแปลงเป็นห้องลับโดยใช้ชั้นหนังสือพรางตาไว้ พวกเขาเป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่ม Red Brigades ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ คิดการใหญ่เพื่อหวังซื้อใจกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยการ ลักพาตัวนายกรัฐมนตรี เชียร่า บรรณารักษ์สาว หนึ่งในสมาชิกแอบมอง อัลโด โมโร อย่างรู้สึกปั่นป่วนในอารมณ์ นี่เป็นงานใหญ่เกินตัวสำหรับเธอ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อุดมการณ์ของเธอและเพื่อนๆ เติบโตอย่างมีหลักประกัน (เป็นตัวประกัน)

ที่สำคัญคือ มันเป็นงานที่ทำให้เธอมีชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงโดยสมบูรณ์ เธอต้องคอยระแวงว่า ทางการจะตามกลิ่นพบเข้าสักวัน บรรยากาศการเมืองที่ไว้ใจใครไม่ได้ ทำให้ทุกคนตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้โดยง่าย หลายคนถูกจับไปสอบสวนทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด ทันทีที่สัญลักษณ์ของผู้ก่อการร้ายปรากฏขึ้นใกล้ตัว มันย่อมหมายความถึงภัยคุกคามที่อยู่ใกล้ตัวกำลังหายใจรดต้นคอไปด้วย ในข้อนี้ทำให้เชียร่าดูจะอึดอัดใจกว่าคนอื่นๆ เพราะเธอต้องแสร้งใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ถึงขนาดยอมเป็นคู่รักอุปโลกน์ กับเพื่อนร่วมกลุ่ม จุดอ่อนของเธอก็คือ เธอเป็นคนอ่อนไหว มากจินตนาการ พวกเขาผลัดกันเป็นยามเฝ้าโมโร หลายครั้งที่ เชียร่า พบว่าการทำงานของกลุ่มหละหลวม แม้แผนการที่วางกันมาจะละเอียด รอบคอบแต่ในจินตนาการ เชียร่าเห็นว่า โมโรสามารถหนีจากการควบคุมตัวไปได้โดยง่าย ลึกๆ แล้วเธออยากให้เป็นอย่างนั้น


แน่นอนการมีหัวเรี่ยวใหญ่ของฝ่าย คริสต์เตียน ประชาธิปไตย ย่อมหมายถึง การมีอำนาจต่อรองทางการเมืองระดับหนึ่ง แต่สิ่งนั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่กลุ่ม Red Brigades คิดไปเอง 54 วันผ่านไป พวกเขาได้รับคำตอบจากรัฐบาล อิตาลี ว่าจะไม่การเจรจาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า ชีวิตของ อัลโด โมโร จะสังเวยอุดมการณ์ที่ไปไม่ถึงฝั่งใดๆ ไปอย่างเปล่าเปลือง

สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับ Good Morning, Night ก็คือการเลือกมุมที่จะเล่า หนังที่ว่าด้วยเรื่องการจับตัวประกันแทบทั้งหมดที่เคยสร้างกันมา มักจะมีฉากแอคชั่นเป็นไคลแมก แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ นอกจากจะไม่มีฉากแอคชั่นแล้ว ยังไม่มีภาพความรุนแรงใด ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าการเมืองที่เลือกข้างความรุนแรงจะลงเอยเช่นไร บางทีผู้กำกับ มาร์โค เบลลอคชิโอ (Marco Bellocchio) อาจจะพิจารณาแล้วว่า เราเห็นเรื่องพวกนั้นกันมาพอแล้วจากทุกๆ สื่อ ไม่จำเป็นต้องเปลืองงบ เสียเวลา ทำสิ่งที่คนดูที่สนใจเรื่องทำนองกันนี้รู้ดีอยู่แล้ว เขาทุ่มเทกับการเล่าเรื่องจนทำให้เราเห็นว่าถึงแม้จะไม่มีฉากพวกนั้น Good Morning, Night ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าขาดอะไรไปเลย
ฉากที่น่ายกย่องที่สุดเห็นจะเป็นฉากจบที่เราได้เห็น อัลโด โมโร ในจินตนาการของเชียร่า เดินออกมาจากที่คุมขังเหมือนละครฉากนี้จบลงแล้ว เธอกับฉันหมดหน้าที่แล้ว ต้องวางบทบาทที่ได้รับกันมาทิ้งไปเสียที อีกฉากก็คือฉากที่ โมโร เขียนจดหมายอำลาถึง โป๊ป และครอบครัว แล้วใช้วิธีทดสอบใจความ ว่าถ้อยคำที่อยู่ในจดหมาย ซาบซึ้งใจหรือไม่ด้วยการอ่านให้ทุกคนฟัง และที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือการเลือกใช้เพลงประกอบจากวง พิ้งค์ฟลอยด์ ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว เข้ากับห้วงความคิดและอารมณ์ของตัวละครเหลือเกิน

ต้นทศวรรษที่ 90 ระบอบคอมมิวนิสต์ ในรัสเซีย ล่มสลาย ฝันอันแสนงดงามของเชียร่า ที่เคยสว่างพรึบในมโนสำนึก โลกที่อุดมการณ์ของเธอและเพื่อน ๆ ถูกมวลชนอุ้มชู โบกธงชัยให้ด้วยความชื่นชม บัดนี้ กลายเป็นเพียงภาพเก่าฟิล์มขาว-ดำ ขนาด16มิลลิเมตร ที่รอเวลาเสื่อมสภาพ มันฉายซ้ำอยู่ในมโนสำนึกที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับฟิล์มม้วนนั้น อุดมการณ์นั้นหรือ ก็แค่หลักการที่อาศัยอารมณ์เคลิ้มฝันของหนุ่ม-สาว เป็นเชื้อไฟเติบโต แล้วก็ปล่อยให้เวลาดูดกลืนหายไปในที่สุด นั่นแหละที่เป็นอยู่

(อ่านเกี่ยวกับ Fists in the Pocket โดย ธเนศน์ นุ่นมัน ได้ในหนังสือ 151 Cinema ของ filmvirus / openbooks)

No comments: