ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (บันทึกโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล)
รีวิวโดย Pichaya Anantarasate
ผมอยู่กรุงเทพ ไม่เคยมองเห็นว่าฟ้ามันต่ำ และไม่เคยรู้ว่าแผ่นดินที่เหยียบอยู่มันสูงขนาดไหน
ก็อย่างว่าแหละครับ ศูนย์กลางของทุกๆอย่างในประเทศ กรุงเทพคือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพ คนบางคนตลอดชีวิตก็ใช้ชีวิตอยู่ใน”ประเทศกรุงเทพ” อะไรก็ตามที่สร้างผลกระทบกับกรุงเทพ ก็เหมือนกันสั่นคลอนฐานล่างของปิรามิด ที่เรามักจะเคยผ่านตาเวลาอ่านตำราเศรษฐศาสตร์ ในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา สายธารแห่งการเมืองภาคประชาชนไหลบ่าเข้ามาในเมืองหลวงอย่างยากที่จะควบคุม กลุ่มคนที่มีหน้าที่ตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง ต่างก็นั่งทำงานในห้องแอร์ ในทำเนียบรัฐบาล ในสภาผู้ทรงเกียรติ ไม่ว่าพวกท่านจะคิดอ่านเช่นไร คนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนเดินดินกินข้าวแกง (ข้าวเยอะแต่กับแห้งแล้ง)
ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ อ๊อด
อ๊อด เป็นชาวศรีสะเกษ ไปโตที่จันทบุรี ก่อนจะกลับมาบวชเรียนที่บ้านเกิดแล้วสึกมาเป็นทหาร ลงไปประจำการที่อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส มีช่วงหนึ่งที่อ๊อดต้องขึ้นมาที่กรุงเทพ ช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นฝ่ายที่เข้าควบคุมการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว จนเขาปลดประจำการ เขาไปทำงานเป็นคนทำฉากในกองถ่าย
อ๊อดได้มารู้จักกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล
เหมือนเป็นการกำหนดของโชคชะตา “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” จึงเริ่มต้นขึ้น
นนทวัฒน์ พาผู้ชมเริ่มต้นการเดินทางไปยังบ้านของอ๊อด ที่บ้านเสลา ตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ สารคดีได้เกริ่นถึงบรรยากาศของงานปีใหม่ที่สี่แยกราชประสงค์ ก่อนจะมาบรรจบเมื่อรถมาจอดหน้าบ้านอ๊อด
นนทวัฒน์ ไม่ได้ตื่นเช้ามานาน
ดินที่แห้งกรัง แดดที่ส่องเต็มฟ้า เด็กๆวิ่งเล่นไปมา บ้างก็ปีนต้นไม้เล่น กิจวัตรของคนต่างจังหวัด ทำให้นนทวัฒน์ตื่นตาตื่นใจพอสมควรแบบคนเมือง จึงถ่ายทอดความเป็น Exotic ได้อย่างมีเสน่ห์ วิถีชีวิตเรียบง่าย พายเรือหาปลา ส่องไฟหาแมงอีนูน จิ้งหรีด เขียด (และดูท่าทางจะชอบถ่ายหมาเป็นพิเศษ )
ผมเองนึกสนุกๆอยู่ในใจว่า นี่อาจจะเป็นสารคดีว่าด้วยความ Exotic ของบ้านนอก จนอาจทำให้นักแสวงความเรียบง่ายนิยม ปวารณาตัวเองไปเป็นผู้บ่าวบ้านนา นอนเล่นที่เถียงนา ตกเย็นก็สำราญกับเหล้าขาวและไข่มดแดง
จนกระทั่งเสียงปืนที่ ภูมิซรอลดังขึ้น
ทิศทางในการนำเสนอของนนทวัฒน์เป็นสิ่งที่ผมสนใจ ถ้าโดยเริ่มแรกเราผู้ชมไร้ข้อมูลใดๆในหัว อาจจะมึนงงกับทิศทาง และ “ข้าง” ของสารคดีเรื่องนี้ เขาพาตัวเองประหนึ่งนักเดิน พาผู้ชมไปสู่พรมแดนในเชิงภูมิศาสตร์และทางการรับรู้ข่าวสารของผู้ชม โครงเรื่องที่เหมือนจะไม่ชัดเจน ก็ดูจะชัดเจนขึ้นมาทันทีทันใดยามเมื่อเราต่อติดกับเรื่องราว ผมชื่นชมที่การเล่าเรื่องของนนทวัฒน์ที่ทำให้เราพบเห็น “ความหมาย” ที่ไม่ได้มีแค่ระดับเดียว แต่มีความหมายซ้อนๆๆกันไว้ อยู่ที่ว่าเราจะลงลึกได้ขนาดไหน เฉกเช่นประตูที่ซ้อนๆกันไว้หลายบาน
นนทวัฒน์สร้างความเรียบง่ายในการนำเสนอ โดยเน้นที่ตัวชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งต้องกลายเป็นผู้อพยพชั่วคราวจากการปะทะกันของทหาร เราได้รับรู้ถึงเหตุการณ์จากทั้งชาวบ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ). ทหารตระเวนชายแดน อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย ทหารถือปืนก็ไม่อยากจะต้องมาสู้รบหรอก พวกเขาก็กลัวตายเป็นเหมือนกัน
แล้วเมื่อผ่านมาครึ่งเรื่อง นนทวัฒน์ก็พาเราไปฟังเสียงจากอีกข้างหนึ่ง เสียงจากฝั่งกัมพูชา
นี่คือส่วนที่ตื่นเต้นที่สุดสำหรับ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” สุ้มเสียงของการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของไทย ได้รับการถ่ายทอดอย่างซื่อสัตย์ เราได้ยินสิ่งที่ชาวกัมพูชาพูดถึงคนไทย ในแบบที่ต่อมดัดจริตที่ชาวชาตินิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ต่อมรักชาติ สั่นกระเพื่อมในระดับ 8 ริตเตอร์ได้ง่ายๆ เราได้รับรู้ความสัมพันธ์ในระดับชาวบ้านที่ต่างก็พูดภาษาของกันและกันได้ ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ มองพรมแดนที่ชนชั้นบางชนชั้นเคร่งเครียดในการตราบทบัญญัติควบคุมและสมมุติความหมายขึ้นมาในอากาศ ว่าเป็นแค่คันนาให้เดินข้าม เป็นภูเขาที่เชื่อมให้ป้าร้านอาหารตามสั่ง เอากับข้าวไปขายทหารกัมพูชา เป็นที่ๆทหารทั้งสองฝ่ายต่างมองหน้ากัน บางครั้งก็แอบยิ้มหรือส่งหนังสือพิมพ์สตาร์ซ๊อคเกอร์ให้ยืมอ่านกัน เวลาที่สถานการณ์ยังปกติ ก่อนหน้าที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลทั้งสองประเทศ จะประเคนกลเกมทางการเมืองใส่กัน
คำพูดหนึ่งที่ฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยต่างพูดขึ้นมาอย่างไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าคือ ต่างฝ่ายต่างก็เสียหาย
ผมเคยดูหนังสั้นเรื่อง โลกปะราชญ์ ผลงานเรื่องแรกของนนทวัฒน์ ผมก็จำวันเวลาไม่ได้เพราะมันนานเหลือเกิน แต่ผมยังจดจำได้ว่า เขาเป็นคนทำหนังที่มีความน่าสนใจในการนำเสนอเรื่องราวที่เขาอยากเล่า “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของนนทวัฒน์ ในการจับประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อการดราม่า และมีประโยชน์ต่อการใคร่ครวญและถกเถียง ถึงแม้ว่า จังหวะการเล่าเรื่องจะยังมีความ “เวิ่นเว้อ” กล่าวคือ การเชื่อมเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ด้วยการตั้งกล้องนิ่ง ผมมองว่ามันเยอะไป แต่ไม่ถึงกับล้นมากจนน่าเขวี้ยงรองเท้าใส่จอหนัง เพราะในองค์รวม นนทวัฒน์มีความสามารถในการดำเนินเรื่องที่มีความซับซ้อนให้เรียบง่าย และมีอารมณ์ขันที่เป็นธรรมชาติและการมองเหตุการณ์ที่เป็นปมความขัดแย้งของชาติด้วยความซื่อสัตย์ต่อความจริงจากปากทีละฝ่าย ผมคิดว่า เราซะอีกที่ควรทำหน้าที่หลังจากหนังจบลง คือการพูดคุยกัน ให้พลังของหนังสร้างวัฒนธรรมในการถกเถียงอย่างมีภูมิปัญญา ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะดูถูกหนังเรื่องนี้ด้วยการเดินออกจากโรงหนังแล้วลืมๆมันไปซะเพื่อจะพาตัวเองไปสู่หนังเรื่องอื่นๆอย่างหิวกระหายและไม่รู้จักพอ
ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็น “ลายเซ็น” ของ ผู้บันทึก อย่างชัดเจน นนทวัฒน์เป็นนักทำหนังที่มีความเฟี้ยวเงาะอยู่ในตัว และความเฟี้ยวของนนทวัฒน์ก็ดูจะเข้ากันดีกับวิธีการเล่าเรื่องแบบเฉพาะตัวทั้งวิธีการลำดับภาพและเพลงประกอบ ถึงแม้บางทัศนะจะมองเขาว่าเป็นผู้อ่อนประสบการณ์ เพราะไม่อาจหา “ความเป็นลุ่มลึก” ในหนัง แต่นนทวัฒน์ก็สร้างการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์ชวนให้ติดตาม และเป็นผู้กำกับน้อยคนนักที่จะพาคนดูไปสู่โลกที่เราไม่เคยได้สัมผัสจากสื่อกระแสหลักได้ตื่นตาตื่นใจ แม้จะไม่โลดโผนท่ายากเยอะแบบหนังเรื่องอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกัน
เพราะภารกิจของฟ้าต่ำแผ่นดินสูงที่ประสบความสำเร็จในความคิดของผม คือการเป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านริมชายแดน ให้คนดูตามเมืองใหญ่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมือง เราควรจะต้องการอะไรมากกว่ากัน การแย่งชิงเก้าอี้ในรัฐบาล หรือ การนั่งบนเก้าอี้เพื่อกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัว โดยไม่ต้องกลัวว่าเมื่อไหร่ลูกปืนจะหล่นใส่หลังคาบ้าน
มาถึงตรงนี้ ผมก็ไม่รู้ว่า ผมจะมีโอกาสไปสัมผัสสถานที่จริงแบบที่นนทวัฒน์พาไปดูไหม
อย่างมาก ผมก็คงไปขี่มอเตอร์ไซค์เลียบชายแดน หรือไม่ก็ไปเป็นผู้บ่าวหน้าห้าง เวทีหมอลำที่ไหนสักแห่ง
แต่ผมก็พอจะเข้าใจถึงความหมายของ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง อยู่บ้าง ในแบบที่ผมคิดเองเออเอง
ยามเมื่อเรายืนอยู่บนจุดที่ฟ้ามันสูง เราก็มองว่าแผ่นดินมันต่ำ
ยามเมื่อเรายืนอยู่บนจุดที่ฟ้ามันต่ำ เราก็คิดว่าแผ่นดินมันสูง
เราคงไม่อาจถมดินแดนแทนที่พระเจ้าได้
แต่ผมว่าเราก็อยู่กันได้แบบทะเลาะกันบ้าง ยิ้มให้กันบ้าง ขอแค่ไม่ฆ่ากันเพราะคิดต่าง มันก็พอจะอยู่ได้
แต่ถ้าจะให้เราอยู่โดยปฎิเสธสัจจะของความคิดและความจริง
เราก็คงอยู่กันยาก ไม่ว่าฟ้าจะสูง หรือแผ่นดินจะต่ำ
No comments:
Post a Comment