6/25/13

48 ภาพยนตร์โดย SUSANA de SOUSA DIAS วิจารณ์โดย Pichaya Anantarasate


48 (กำกับโดย SUSANA de SOUSA DIAS/2009/โปร์ตุเกส)

 บทวิจารณ์โดย  Pichaya Anantarasate


มันเริ่มต้นด้วยความมืด

มืดจนไม่อาจหยั่งรู้สิ่งใด
มืดเหมือนไร้กาลเวลา ไร้ความคิด ไร้ความหวัง
มันเป็นความมืดที่อยู่ขั้วตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความว่างเปล่า เป็นความมืดที่ไม่อาจจำแนกได้ว่าสิ่งใดกำลังเคลื่อนไหว
แล้วมันก็ค่อยๆเผยออกมา . . . . รูปใบหนึ่งปรากฏขึ้น

รูปสีขาวดำแกมน้ำตาลเก่าๆ บุคคลในรูปถ่ายหน้าตรงบ้าง ถ่ายด้านข้าง ในแววตานั้นมีความมึนงง สับสน เราไม่มีทางรู้ว่า พวกเขาเห็นอะไรในยามมองกล้อง มันจึงเป็นรูปธรรมดาๆใบนึง ถ้ามันไม่มีเรื่องเล่าต่อไปนี้
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรตุเกสภายใต้การนำของอันโตนิโอ เดอ โอลิเวรา ซาลาซาร์ (António de Oliveira Salazar) ได้ใช้วิธีการปกครองในแนวทาง ฟาสซิสต์ เป็นแนวทางการปกครอง จนในที่สุดก็นำไปสู่การปฎิวัติที่เราคงรู้จักกันดีสำหรับผู้เรียนประวัติศาสตร์ยุโรป คือการปฏิวัติคาร์เนชัน (Carnation Revolution) แต่ก็น้อยคนนักที่จะทราบว่าก่อนจะถึงช่วงเวลานั้น ซาลาซาร์ได้ก่อตั้งหน่วยตำรวจลับ หรือ PIDE (The Polícia Internacional e de Defesa do Estado /International and State Defence Police) ขึ้น เพื่อดูแลและสอดส่องการกระทำผิดที่มีผลต่อความมั่นคง พวกเขาได้จับกุม “ผู้ต้องสงสัย” มากมาย โดยไม่มีการไต่สวนตามครรลองของกฎหมาย แต่ใช้วิธีบุกจับ และนำไปสอบสวน จนถึงขึ้นทรมานนักโทษ ทั้งที่ยังเป็นแค่ “ผู้ต้องสงสัย” และไม่มีหลักฐาน




นี่จึงเป็นที่มาของ สารคดีเรื่อง 48 ที่บอกเล่าวิบากกรรมอันสุดแสนสาหัส ของเหล่าผู้บริสุทธิ์ ทั้งหลาย ผู้ซึ่งโดนความอัปลักษณ์ของกฎระเบียบแห่งยุคเผด็จการ พลัดพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชีวิต
นี่คือหนังที่ท้าทายต่อการรับชม เป็นสารคดีที่เรียกร้องความอดทนและเพ่งพิจารณาของผู้ชมอย่างมหาศาล วิธีการเล่าเรื่องนั้นสุดแสนสามัญ เพียงแค่การฉายรูปของบุคคลต่างๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่ทำให้ผมช็อกคือ นี่คือรูปของประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่กลับถูกตำรวจลับจับไปสอบสวนและจำคุกอยู่ในคุกลับของ PIDE คุณคงเคยเห็นเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ในหน้าข่าวอาชญากรรม ถึงวิธีการถ่ายรูปนักโทษของตำรวจ
ใช่ครับ นี่คือรูปนักโทษ




ในสารคดีนั้น ผู้กำกับสร้างความช๊อกให้กับคนดูอย่างผมอีกครั้ง ด้วยการให้ตัวจริง มาบรรยายถึงช่วงเวลาก่อนโดนจับไปจนถึงการปล่อยตัว ทุกคนต่างเล่าด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ บางคนก็พยายามหัวเราะกลบเกลื่อนความทุกข์ทรมานของการรื้อฟื้น ฝันร้าย เหมือนการกรีดแผลเป็นเพื่อมองหาแผลสดในอดีต จากปากคำของพวกเขา ต่างมีรูปตัวเองอย่างน้อย 3 เวอร์ชั่น

เวอร์ชั่นแรก คือก่อนโดนจับ แต่ละคนมักจะจำได้ลางๆถึงทรงผมตัวเอง บางคนยังแอบพูดติดตลกถึงความเยาว์วัย พวกเขาและพวกเธอยังเป็นแค่วัยรุ่นเท่านั้น บ้างยังไม่บรรลุภาวะดีด้วยซ้ำ เหมือนห้องสีขาวที่จู่ๆไฟในห้องก็ดับในพริบตา





เวอร์ชั่นที่สอง พวกเขาและเธอต่างจดจำได้ดีในความทรงจำที่พวกเขาอยากลืมมากที่สุด มันคือช่วงเวลาที่พวกเขาต้องถูกคุมขังในคุกลับ ทุกคนแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า......การตายเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนั้น ทุกคนต่างโดนทำร้าย โดนตบ โดนฟาด โดนช็อกไฟฟ้า โดนทำให้นอนไม่หลับตลอดระยะเวลาที่อยู่ในคุก คิดว่าพวกเขาอยู่กันนานเท่าไหร่ครับ สำหรับในฐานะผู้ต้องสงสัย........บางคนอยู่ต้องติดคุกถึง 17-20 ปี ทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในห้วงเวลานั้น ยิ่งวันเวลาผ่านไป พวกเขายิ่งลืมทุกสิ่งทุกอย่าง...........ลืมแม้กระทั่ง ความเป็นคนธรรมดาคืออะไร

เวอร์ชั่นที่สาม เป็นรูปที่เมื่อเจ้าตัวเห็นก็ต่างร่ำไห้ เพราะแทบจะจำไม่ได้ว่านั่นเป็นตัวเขา บางสีหน้าบ่งบอกถึงความบาดเจ็บเรื้อรัง บางคนบอกเล่าว่า สุดท้ายจากคนรูปร่างกำยำก็ต้องกลายเป็นคนพิการ บางคนต้องพบว่า ครอบครัวพวกเขาได้ล่มสลายไปสิ้น ลูก เมีย พี่น้อง เพื่อน พวกเขาออกมาจากการขุมขังเพื่อพบว่า ชีวิตพวกเขาไม่เหลืออะไรอีกแล้ว และที่เลวร้ายที่สุด บางคนก็ไม่ได้ออกมาจากคุก...อีกเลย ถ้าให้ผมยกตัวอย่างจากหนัง ก็มีรูปหนึ่งที่ลูกชายของคนในภาพมาบอกเล่าว่า ความรู้สึกแรกที่เขาเห็นรูปของแม่ระหว่างอยู่ในคุกคือ นี่มันไม่ใช่แม่ของเขา ไม่ใช่แม่ที่เขารู้จัก เขาไม่อาจทนรับความจริงว่านี่คือแม่ที่ผ่านการถูกทรมานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอด10กว่าปีที่อยู่ในคุก







มาถึงตรงนี้ คงพอจะเดาได้ใช่มั้ยครับ ว่าผมทุกข์ทรมานขนาดไหนในการชมสารคดีเรื่องนี้ ผมเกือบจะหัวใจวายตาย เมื่อเรื่องเล่าต่างๆได้พรั่งพรูออกมาจากบุคคลในรูป มันมืดมนในการเล่าเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการ หนังแทบจะไม่มีเสียงดนตรีอะไรเลยทั้งสิ้น การลำดับเรื่องราวมีเพียงแค่การเอารูปต่างๆ มาร้อยเรียงเรื่องราว แต่ทว่า มันคือการส่งผ่านความสยดสยอง ความโหดเหี้ยมทารุณ และความเศร้าสลดที่พวยพุ่งมาจากการบอกเล่า ส่งต่อมาให้คนดูอย่างผม............ผมไม่สามารถบรรยายความรู้สึกเป็นตัวอักษรจริงๆ

ใช่ครับ ผมทรมานกับสารคดีเรื่องนี้ แต่ว่ากันจากหัวใจ ผมรักสารคดีเรื่องนี้ ถึงแม้มันไม่ได้ใหม่ในการใช้เทคนิคเล่าเรื่อง แต่ด้วยเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง มันมีอำนาจมหาศาลเกินคณานับโดยไม่จำเป็นต้องเล่าด้วยวิธีการทั่วไป ทำให้คนทั่วไปที่ถึงแม้จะไม่ได้รับรู้ถึงช่วงเวลาของเผด็จการซาราซาร์ หรืออย่างเลวที่สุดคือไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์การเมืองในภาคพื้นยุโรปเลย ก็ยังไม่วายต้องสะทกสะท้านไปถึงก้นบึ้งของจิตวิญญาณความเป็นคนที่เท่าคน





ผมทรมาน เพราะผมได้เห็นความอยุติธรรมของระบบ ของกฎ ที่ลิดรอนสิทธิความเป็นคน ผมทรมาน เพราะมันทำให้ผมรับรู้สัจธรรมข้อนึงที่ผมเจ็บใจทุกครั้งยามได้ยิน คือประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย
ผมทรมาน เพราะ ประเทศเราก็ไม่ต่างอะไรกันเลย

อากง อำพล ตั้งนพกุล ตายในเรือนจำคลองเปรม ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 อากง เป็นผู้เป็นผู้ต้องหาตามความผิดอาญา ม.112 และถูกตัดสินโทษจำคุกยี่สิบปี ซึ่งเป็นโทษจำคุกที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และก็เป็นคนแก่ธรรมดาที่อยู่บ้านช่วยเลี้ยงหลาน เป็นสามีของป้ารสมาลิน



สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจำคุกเป็นเวลา 11 ปี สมยศเป็นผู้ต้องหาตามความผิดอาญา ม.112 และเป็นบรรณาธิการ วอยซ์ออฟทักษิณ เป็นคนทำหนังสือคนหนึ่ง
สมอลล์ บัณฑิต อานียา หรือ จือเซ็ง แซ่โค้ว ต้องโทษในคดีตามความผิดอาญา ม.112 เขาเป็นนักเขียนผู้ได้ชื่อว่า ต่ำต้อยด้อยค่าที่สุดในประเทศนี้ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา

นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เมืองนนท์ ถูกจำคุกเป็นเวลา 13 ปี เป็นผู้ต้องหาตามความผิดอาญา ม.112 เขาเป็นผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ และเป็นพ่อที่ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดู น้องเว็ป ลูกชายวัยประมาณ 13 ปี ในตอนนี้
นี่ยังเป็นส่วนน้อยเท่าที่ผมนึกออกเกี่ยวกับนักโทษการเมืองในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย





พวกเขา.....พวกเรา ต่างกันตรงไหน


ทั้งพวกเขาและพวกเรา แม้กาลเวลาจะผันผ่าน ประวัติศาสตร์ก็ยังคำเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย เราไม่เคยมองเห็นความอยุติธรรมในสังคมที่ดูเหมือนจะร่มเย็นและสงบสุขเลย ผมเองต้องขอสารภาพว่า อดทนอย่างมากในการเขียน ให้ปราศจากความรู้สึกเคียดแค้นที่มีต่อความอัปลักษณ์ของ มาตราทางกฎหมาย นี่คือบทวิจารณ์หนัง มันควรจะเป็นกลาง ที่ชี้ชัดว่า หนังดีหรือไม่ ถ้าจะโชว์ความเจ๋งหน่อยก็ชำแหละเรื่องการเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ คอสตูม แต่งหน้า เพลงประกอบ เทคนิคพิเศษ หรือนักแสดง
ผมพยายามอย่างมากที่จะใคร่ครวญทุกความคิดต่างๆในหัวให้ตกตะกอน ผมสามารถ เขียนถึงหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องด้วยคำ 3 คำ แบบที่วัยรุ่นฮิตกัน เช่น หนัง ดี มาก , โคตร ง่วง เลย , กู เบื่อ มาก แค่บรรทัดเดียวก็ได้ จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาพักผ่อนของผม

แต่ความเป็นคน คือสิ่งที่คอยย้ำให้ผม อยากจะฝากสารบางอย่างถึงผู้อ่าน
ผมอยากให้คุณได้ดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ด้วยความทรมาน ด้วยความเจ็บปวด ด้วยความเคียดแค้น ด้วยความโศกเศร้า อยากให้พวกคุณได้รับฟังจากปากคำของทุกคนในหนังที่แอบแฝงด้วยขุมนรกอเวจีในทุกพยางค์และทุกอณูของความทรงจำ
และเมื่อถึงจุดนึงที่คุณผ่านพ้นมันไปได้หรือเกินที่ตัวเองจะรับไหว ผมอยากให้คุณมองรอบๆตัว
แล้วถามตัวเองว่า คุณจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับเปลือกนอกที่คุณเห็นแต่แก่นกลางมันเน่าเฟะได้อย่างไร คุณกล้าบอกกับทุกๆคนบนโลกได้ไหมว่าคุณอยู่ในสังคมที่ดำรงซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมและเสรีภาพที่คู่ควรกับประชาชนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เป็นเจ้าหรือเป็นไพร่ หรือเป็นคนที่คุณมองว่าเค้าเหมือนเราทั้งในเชิงศักดิ์ศรีและขนาดของเงาที่ฉาบบนพื้นยามต้องแสงตะวัน
คุณจะบอกกับตัวเองได้ไหมว่า คุณสามารถเฉยชากับการเห็น คนที่โดนปรักปรำ คนที่ต้องคดีในความผิดที่ไม่ยุติธรรม คุณจะเฉยชาต่อการกดขี่เหยียดหยามความเป็นมนุษย์ในสังคมหรือไม่
คุณจะทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมต่อไปอีกนานเท่าไหร่ คุณบอกตัวคุณเองได้ไหม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสะกิด “ความเป็นคน” ในตัวคุณได้มากขนาดไหน คุณต้องหาคำตอบเอง

เพราะสำหรับผม โลกที่ไร้เสรีภาพ มันก็คือก้อนขี้หมาลอยอยู่ในอวกาศเท่านั้นเอง


นี่คือบทวิจารณ์หนัง หรือถ้าคุณเห็นเป็นอย่างอื่น เชิญเรียกอะไรก็ได้ตามสบาย 






                                              (ภาพผู้กำกับ Susana De Sousa)



ข้อมูลอ้างอิง
1) http://en.wikipedia.org/wiki/António_de_Oliveira_Salazar
2) http://en.wikipedia.org/wiki/PIDE ข้อมูลของหน่วยตำรวจลับ
3)http://th.wikipedia.org/wiki/อำพล_ตั้งนพกุล ข้อมูลอากง
4) http://thaienews.blogspot.com/2011/03/13-112.html ข้อมูล แดง เมืองนนท์
5)วารสารอ่าน ปีที่3 ฉบับที่3 เมษายน-กันยายน 2554 บท “คู่มือเพื่อคุณ:ถอดบทเรียนจากอาชญากรทางความคิดรุ่นพี่” โดย เมตตา วงศ์รัต


ขอขอบคุณ คุณ Asingilo Ok Nakhon ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลทางประวัติศาสตร์โปรตุเกส ถึงแม้ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของผมจะไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์ได้ครอบคลุม เลยไม่สามารถใช้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์มากๆในการเขียนบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ แต่ก็ขอขอบคุณในน้ำใจที่ให้กันผ่านสังคมออนไลน์ครับ


ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ สารคดี THE ACT OR REALITIES
ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2556 - 30 มิถุนายน2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โทรศัพท์ 0-2613-3529หรือ 0-2613-3530


ชมฟรี!!!(โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)
ตารางฉายหนังไปดูได้ที่ Facebook : Bookvirus&filmvirus หรือ Facebook: Wiwat Filmsick Lertwiwatwongsa และอีกช่องทางนึงคือ http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html

No comments: