6/4/13

5 Broken Cameras (บทวิจารณ์ของ Pichaya Anantarasate)

5 BROKEN CAMERAS (2011) Emad Burnat and Guy Davidi 
A+++++++++++++++++++++++++


บทวิจารณ์ของ Pichaya Anantarasate

ตลอดเวลากว่า 18 ปีของการฉายหนังโปรแกรม ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ไม่บ่อยนักที่คนดูหนังจะแชร์ความเห็นหลังหนังจบกับเรา  ขอบคุณคุณ Pichaya มาก ๆ ที่ช่วยบันทึกความทรงจำแทนฮาร์ดดิสค์และกล้องของนักข่าวผู้อุทิศตนทั่วโลก โลกยังต้องการนักคิก (นักเตะ) นักเขียน ที่พยุงไม่ให้เรายอมจำนนกับความเป็นจริงแสนสิ้นหวังในจิตใจคับแคบและเร่งร้อนของหมู่เรา โลกควรจะสำนึกในบุณคุณของผู้กล้าจารึกที่ร่วมแชร์และสะท้อนความคิดถึงหนังเรื่องนี้ให้อีกหลายคนได้รับทราบ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่งฉายไปในโปรแกรมภาพยนตร์ฟิล์มไวรัส เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านสามารถติดตามชมโปรแกรมสารคดีชุดนี้เรื่องอื่น ๆ  ได้ที่บล็อก ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) DK Filmhouse: 

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html  








ดูสารดคีจากปาเลสไตน์เรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึง ช่างภาพชาวอิตาลีคนหนึ่ง และชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งฟาบิโอโปเลงกี เป็นสื่อมวลชนจากประเทศอิตาลี และ ฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ เป็นนักข่าวรอยเตอร์ ทั้ง 2 มาทำข่าวการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ของกลุ่ม นปช

ทั้ง 2 คนเสียชีวิตในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ ตายกลางถนนในประเทศไทยอันเป็นเมืองพุทธ
คดีของฮิโรยูกิ จากการสืบสวน พบว่าเป็นเพราะกระสุนจากฝั่งเจ้าพนักงาน และเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลได้มีการชี้แจงคำไต่สวนกรณีการเสียชีวิตของ ฟาบิโอ โปเลงกี ว่า

“เหตุแห่งความตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผล กระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนที่มาควบคุมพื้นที่ จากทางแยกศาลาแดง มุ่งหน้าแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”
เขาตายลง ในขณะที่แขวนป้ายสื่อมวลชนไว้ที่คอ


Flashback มาที่ ปาเลสไตน์ ในปี 2005 ณ หมู่บ้านเบอิน ในเขตเวสแบงค์ ติมพรมแดน อิสราเอล
เอมัต เบอนัต ได้ซื้อกล้องถ่ายวีดีโอธรรมดาๆมาตัวหนึ่ง เพื่อต้อนรับ ลูกชายคนที่4 ที่พึ่งเกิดไม่นาน เอมัตเป็นพ่อของลูกชาย 4 คน เป็น ลูกชายของพ่อแม่ ที่มีพี่น้องน่าจะประมาณ 3 คน เพราะในหนังไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมาก แต่เมื่อเอมัตเป็นคนๆเดียวในหมู่บ้านที่มีกล้องถ่ายวีดีโอ จึงกลายเป็นบุคคลที่ชุมชนต้องการตัวทุกครั้ง ที่มีงานรื่นเริงต่างๆ มีการแสดงโดยนักกายกรรมผู้เป็นขวัญใจของเด็กๆในหมู่บ้าน เอมัตเปรียบได้กับ ช่างภาพประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย ทุกๆเหตุการณ์ น่าจะพูดได้ว่าล้วนผ่านเลนส์และเม็มโมรี่การ์ดในกล้องของเอมัตทั้งสั้น

จนกระทั่งทหารอิสรเอล เริ่มเข้ามารื้อสวนมะกอกของชาวบ้าน โดยอ้างว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงเนื่องจากติดกับชายแดน 


กล้องของเอมัตได้เป็นประจักษ์พยานถึงการรุกรานของรถขนดิน และ แบ็กโฮ การกั้นแนวกำแพงลวดหนามในพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อน ชาวบ้านเดินไปมาอย่างเสรี การชุมนุมประท้วงที่ลงท้ายด้วยการที่ทหารยิงแก๊ซน้ำตาใส่ และยิงกระสุนซ้อมยิงใส่ผู้ประท้วง มีการจับกุมผู้ประท้วงไปคุมขัง แต่บางครั้งเหตุการณ์ก็เลยเถิดจนทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสจากลูกหลง รวมทั้ง กล้องของเอมัต





5 BROKEN CAMERAS เริ่มต้นจาก กล้องตัวแรกที่เอมัตตั้งใจแค่ว่าจะมาถ่ายลูกชายแต่ลงท้ายต้องมาเสียเพราะเหตุประท้วง จากนั้นกล้องตัวที่ 2 ตัวที่3 ตัวที่4 ตัวที่5 ก็เริ่มกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจดบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงในเขตเวสแบงค์ และตัวเอมัตเอง ก็เปลี่ยนจากการ ถ่ายโดยไม่คิดอะไร เป็น การถ่ายเพื่ออุดมการณ์ เพื่อสักวันหนึ่ง ภาพและเสียงเหล่านี้จะส่งตอให้ชาวโลก และ ลูกชาย ทั้ง 4 คนของเขา ให้สานต่อเจตนารมณ์ที่จะเป็นกระบอกเล็กๆ จากพื้นที่ ซึ่งทุกวันนี้ความรุนแรงก็ยังไม่สงบลง


ตลอดเวลากว่า 1 ชม. กว่าๆที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้ แม้ภาพจากกล้องจะดูไม่ค่อยดี เพราะเป็นกล้องธรรมดาๆ ภาพจึงออกมาในสภาพคล้ายๆ โฮมวีดีโอ แต่เหตุการณ์ในเรื่อง ทำให้ผมต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา ภาพทุกภาพคือภาพจริง เหตุการณ์จริง และเป็นสารคดี ที่เลือกข้างอย่างชัดเจน ยิ่งเอมัตเปลี่ยนมาเป็นกล้อง ที่ 3 และ 4 เหตุการณ์ก็ยิ่งชวนให้ระทึกขวัญยิ่งขึ้น ทั้งการที่ทหารบุกเข้ามาที่บ้านของเอมัต กลางดึกคืนหนึ่ง เพื่อจะไล่ให้ครอบครัวออกไปจากพื้นที่ทหาร ในขณะที่ทหารที่มากัน 4 นาย มีอาวุธครบมือ เอมัตมีแค่กล้องวีดีโอตัวนึง ที่เค้ายื่นใส่หน้าของทหารพร้อมกับกดบันทึกภาพ เพื่อปกป้องทุกคนในครอบครัว ยังรวมทั้ง การที่กล้องของเอมัตเสีย ล้วนเกิดจากลูกหลงจากการเข้าปะทะของทหาร จุดที่รุนแรงที่สุดของสารคดีคือ การที่ต้องเป็นประจักษ์พยานของ การฆ่าคนที่ไร้อาวุธ และการเล็งปืนใส่กล้อง พร้อมกับลั่นไก บางครั้งกล้องก็รับเคราะห์แทน แต่ตัวเอมัตเองก็เกือบตายเช่นกัน 


แต่ทำไม เอมัต ถึงไม่ยอมหยุดที่จะทำตัวเป็น สื่อมวลชน โดนไม่สนใจคำทักท้วงของภรรยา ?
อุดมการณ์อย่างเดียวเหรอ ? เขาไม่กลัวว่า ลูกทั้ง 4 คน จะกลายเป็นลูกไม่มีพ่อในชั่วข้ามคืนเหรอ?
ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้ เอมัต ยืนหยัดที่จะถ่ายต่อไป เป็นสิ่งเดียวกับที่ โทนี่ แมนเด็ซ พูดไว้ในหนังเรื่อง Argo ว่า “ผมเชื่อว่า หนังของผมเป็นสิ่งเดียวกันระหว่างปืนกับหัวคุณ”
ถ้าความจริง ไม่มีปากที่จะสื่อสารกับโลกได้ เครื่องมืออย่างกล้องวีดีโอ ก็จะเป็นปากเป็นเสียงที่ความจริงจะได้ตะโกนบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นไป เพราะฉะนั้นน่ากล่าวได้ถูกต้องว่า ถ้ารู้จักใช้ กล้องวีดีโอก็มีพลังอำนาจเทียบเท่าได้กับปืนกระบอกนึง ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีไว้ลั่นกระสุนใส่ แต่สิ่งที่มันได้ถ่ายไว้ จะมีพลังอำนาจพอๆกับกระสุนปืนเลยทีเดียว


นั่นคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมพบข้อสรุปได้ว่า ความชั่ว ความอยุติธรรม มักจะกลัวกล้องยามเมื่อมันกดบันทึกภาพ
เอมัต กำลังต่อสู้กับกระสุนปืน คาวเลือด และแก๊ซน้ำตา ด้วยกล้องวีดีโอตัวหนึ่ง ถึงแม้มันจะพังเพราะโดนทำร้าย ก็จะมีตัวสำรอง พร้อมจะบันทึกความจริงเสมอ


และนี่เอง ทำให้ผมคิดถึง ฟาบิโอ และ ฮิโรยูกิ


พวกเขาก็ไม่ต่างจาก เอมัต เลย ที่มีแค่กล้องในมือ และมีหน้าที่ถ่าย ความจริง ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพียงแต่ว่าทั้ง 2 คน โชคร้าย เพราะถึงพวกเขาจะอยู่ห่างพื้นที่ ที่มีความรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมากขนาดข้ามทวีป มาทำงานในพื้นที่ของประเทศไทย ที่คิดอันดับเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แต่พวกเขาก็ยังต้องตายจากกระสุนโดนยิงจากฝั่งเจ้าพนักงาน ท่ามกลางการให้ข่าวของสื่อกระแสหลักที่ว่า ทหารใช้กระสุนซ้อมยิงเท่านั้น
เวสแบงค์ ปาเลสไตน์ กรุงเทพ ประเทศไทย ถึงไกลกัน ก็ ใกล้กัน หลังจากผมได้ดูภาพยนตร์ ที่ผมกล้าจะกล่าวว่า ถ้ายกเอาคำว่า สารคดี ออกไป นี่คือ ภาพยนตร์เกี่ยวกับตะวันออกกลาง ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยดูม
เมื่อเครดิตจบขึ้น ผมพูดกับตัวเองในความมืด ว่า ถึงปืนจะฆ่าคนได้ แต่ฆ่าความจริง ไม่ได้

ขออุทิศบทความนี้ให้แก่ดวงวิญญาณของ ฟาบิโอ โปเลงกี , ฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ และสื่อมวลชนทุกคนที่เสียชีวิตระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ ทั้งในสงคราม และในการจลาจลที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก

ข้อมูลอ้างอิง

1. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1370061673&grpid&catid=02&subcatid=0201
2. http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMk9Ua3lOamc1T1E9PQ%3D%3D&sectionid
3. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1331268901&grpid=01&catid=01




(ข้างบนคือบทวิจารณ์โดย Pichaya Anantarasate)

นี่คืออีก 1 ในชุดภาพยนตร์สารคดี ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ จัดฉายในชื่อ THE ACT OR REALITIES

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2556 - 30 มิถุนายน2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี  พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!!(โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)


ย้ำอีกครั้ง ตารางฉายหนังดูได้ที่ บล็อก ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส): http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html  

No comments: