6/25/13

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (บันทึกโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล) รีวิวโดย Pichaya Anantarasate


ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (บันทึกโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

รีวิวโดย Pichaya Anantarasate



ผมอยู่กรุงเทพ ไม่เคยมองเห็นว่าฟ้ามันต่ำ และไม่เคยรู้ว่าแผ่นดินที่เหยียบอยู่มันสูงขนาดไหน
ก็อย่างว่าแหละครับ ศูนย์กลางของทุกๆอย่างในประเทศ กรุงเทพคือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพ คนบางคนตลอดชีวิตก็ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศกรุงเทพอะไรก็ตามที่สร้างผลกระทบกับกรุงเทพ ก็เหมือนกันสั่นคลอนฐานล่างของปิรามิด ที่เรามักจะเคยผ่านตาเวลาอ่านตำราเศรษฐศาสตร์ ในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา สายธารแห่งการเมืองภาคประชาชนไหลบ่าเข้ามาในเมืองหลวงอย่างยากที่จะควบคุม กลุ่มคนที่มีหน้าที่ตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง ต่างก็นั่งทำงานในห้องแอร์ ในทำเนียบรัฐบาล ในสภาผู้ทรงเกียรติ ไม่ว่าพวกท่านจะคิดอ่านเช่นไร คนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนเดินดินกินข้าวแกง (ข้าวเยอะแต่กับแห้งแล้ง
ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ อ๊อด

อ๊อด เป็นชาวศรีสะเกษ ไปโตที่จันทบุรี ก่อนจะกลับมาบวชเรียนที่บ้านเกิดแล้วสึกมาเป็นทหาร ลงไปประจำการที่อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส มีช่วงหนึ่งที่อ๊อดต้องขึ้นมาที่กรุงเทพ ช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นฝ่ายที่เข้าควบคุมการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว จนเขาปลดประจำการ เขาไปทำงานเป็นคนทำฉากในกองถ่าย
อ๊อดได้มารู้จักกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล

เหมือนเป็นการกำหนดของโชคชะตาฟ้าต่ำแผ่นดินสูงจึงเริ่มต้นขึ้น
นนทวัฒน์ พาผู้ชมเริ่มต้นการเดินทางไปยังบ้านของอ๊อด ที่บ้านเสลา ตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ สารคดีได้เกริ่นถึงบรรยากาศของงานปีใหม่ที่สี่แยกราชประสงค์ ก่อนจะมาบรรจบเมื่อรถมาจอดหน้าบ้านอ๊อด



นนทวัฒน์ ไม่ได้ตื่นเช้ามานาน

ดินที่แห้งกรัง แดดที่ส่องเต็มฟ้า เด็กๆวิ่งเล่นไปมา บ้างก็ปีนต้นไม้เล่น กิจวัตรของคนต่างจังหวัด ทำให้นนทวัฒน์ตื่นตาตื่นใจพอสมควรแบบคนเมือง จึงถ่ายทอดความเป็น Exotic ได้อย่างมีเสน่ห์ วิถีชีวิตเรียบง่าย พายเรือหาปลา ส่องไฟหาแมงอีนูน จิ้งหรีด เขียด (และดูท่าทางจะชอบถ่ายหมาเป็นพิเศษ )
ผมเองนึกสนุกๆอยู่ในใจว่า นี่อาจจะเป็นสารคดีว่าด้วยความ Exotic ของบ้านนอก จนอาจทำให้นักแสวงความเรียบง่ายนิยม ปวารณาตัวเองไปเป็นผู้บ่าวบ้านนา นอนเล่นที่เถียงนา ตกเย็นก็สำราญกับเหล้าขาวและไข่มดแดง

จนกระทั่งเสียงปืนที่ ภูมิซรอลดังขึ้น



ทิศทางในการนำเสนอของนนทวัฒน์เป็นสิ่งที่ผมสนใจ ถ้าโดยเริ่มแรกเราผู้ชมไร้ข้อมูลใดๆในหัว อาจจะมึนงงกับทิศทาง และข้างของสารคดีเรื่องนี้ เขาพาตัวเองประหนึ่งนักเดิน พาผู้ชมไปสู่พรมแดนในเชิงภูมิศาสตร์และทางการรับรู้ข่าวสารของผู้ชม โครงเรื่องที่เหมือนจะไม่ชัดเจน ก็ดูจะชัดเจนขึ้นมาทันทีทันใดยามเมื่อเราต่อติดกับเรื่องราว ผมชื่นชมที่การเล่าเรื่องของนนทวัฒน์ที่ทำให้เราพบเห็นความหมายที่ไม่ได้มีแค่ระดับเดียว แต่มีความหมายซ้อนๆๆกันไว้ อยู่ที่ว่าเราจะลงลึกได้ขนาดไหน เฉกเช่นประตูที่ซ้อนๆกันไว้หลายบาน 
นนทวัฒน์สร้างความเรียบง่ายในการนำเสนอ โดยเน้นที่ตัวชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งต้องกลายเป็นผู้อพยพชั่วคราวจากการปะทะกันของทหาร เราได้รับรู้ถึงเหตุการณ์จากทั้งชาวบ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ). ทหารตระเวนชายแดน อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย ทหารถือปืนก็ไม่อยากจะต้องมาสู้รบหรอก พวกเขาก็กลัวตายเป็นเหมือนกัน

แล้วเมื่อผ่านมาครึ่งเรื่อง นนทวัฒน์ก็พาเราไปฟังเสียงจากอีกข้างหนึ่ง เสียงจากฝั่งกัมพูชา
นี่คือส่วนที่ตื่นเต้นที่สุดสำหรับฟ้าต่ำแผ่นดินสูงสุ้มเสียงของการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของไทย ได้รับการถ่ายทอดอย่างซื่อสัตย์ เราได้ยินสิ่งที่ชาวกัมพูชาพูดถึงคนไทย ในแบบที่ต่อมดัดจริตที่ชาวชาตินิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ต่อมรักชาติ สั่นกระเพื่อมในระดับ 8 ริตเตอร์ได้ง่ายๆ เราได้รับรู้ความสัมพันธ์ในระดับชาวบ้านที่ต่างก็พูดภาษาของกันและกันได้ ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ มองพรมแดนที่ชนชั้นบางชนชั้นเคร่งเครียดในการตราบทบัญญัติควบคุมและสมมุติความหมายขึ้นมาในอากาศ ว่าเป็นแค่คันนาให้เดินข้าม เป็นภูเขาที่เชื่อมให้ป้าร้านอาหารตามสั่ง เอากับข้าวไปขายทหารกัมพูชา เป็นที่ๆทหารทั้งสองฝ่ายต่างมองหน้ากัน บางครั้งก็แอบยิ้มหรือส่งหนังสือพิมพ์สตาร์ซ๊อคเกอร์ให้ยืมอ่านกัน เวลาที่สถานการณ์ยังปกติ ก่อนหน้าที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลทั้งสองประเทศ จะประเคนกลเกมทางการเมืองใส่กัน


คำพูดหนึ่งที่ฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยต่างพูดขึ้นมาอย่างไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าคือ ต่างฝ่ายต่างก็เสียหาย 




ผมเคยดูหนังสั้นเรื่อง โลกปะราชญ์ ผลงานเรื่องแรกของนนทวัฒน์ ผมก็จำวันเวลาไม่ได้เพราะมันนานเหลือเกิน แต่ผมยังจดจำได้ว่า เขาเป็นคนทำหนังที่มีความน่าสนใจในการนำเสนอเรื่องราวที่เขาอยากเล่าฟ้าต่ำแผ่นดินสูงจึงเป็นหมุดหมายสำคัญของนนทวัฒน์ ในการจับประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อการดราม่า และมีประโยชน์ต่อการใคร่ครวญและถกเถียง ถึงแม้ว่า จังหวะการเล่าเรื่องจะยังมีความเวิ่นเว้อกล่าวคือ การเชื่อมเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ด้วยการตั้งกล้องนิ่ง ผมมองว่ามันเยอะไป แต่ไม่ถึงกับล้นมากจนน่าเขวี้ยงรองเท้าใส่จอหนัง เพราะในองค์รวม นนทวัฒน์มีความสามารถในการดำเนินเรื่องที่มีความซับซ้อนให้เรียบง่าย และมีอารมณ์ขันที่เป็นธรรมชาติและการมองเหตุการณ์ที่เป็นปมความขัดแย้งของชาติด้วยความซื่อสัตย์ต่อความจริงจากปากทีละฝ่าย ผมคิดว่า เราซะอีกที่ควรทำหน้าที่หลังจากหนังจบลง คือการพูดคุยกัน ให้พลังของหนังสร้างวัฒนธรรมในการถกเถียงอย่างมีภูมิปัญญา ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะดูถูกหนังเรื่องนี้ด้วยการเดินออกจากโรงหนังแล้วลืมๆมันไปซะเพื่อจะพาตัวเองไปสู่หนังเรื่องอื่นๆอย่างหิวกระหายและไม่รู้จักพอ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นลายเซ็นของ ผู้บันทึก อย่างชัดเจน นนทวัฒน์เป็นนักทำหนังที่มีความเฟี้ยวเงาะอยู่ในตัว และความเฟี้ยวของนนทวัฒน์ก็ดูจะเข้ากันดีกับวิธีการเล่าเรื่องแบบเฉพาะตัวทั้งวิธีการลำดับภาพและเพลงประกอบ ถึงแม้บางทัศนะจะมองเขาว่าเป็นผู้อ่อนประสบการณ์ เพราะไม่อาจหาความเป็นลุ่มลึกในหนัง แต่นนทวัฒน์ก็สร้างการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์ชวนให้ติดตาม และเป็นผู้กำกับน้อยคนนักที่จะพาคนดูไปสู่โลกที่เราไม่เคยได้สัมผัสจากสื่อกระแสหลักได้ตื่นตาตื่นใจ แม้จะไม่โลดโผนท่ายากเยอะแบบหนังเรื่องอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกัน



เพราะภารกิจของฟ้าต่ำแผ่นดินสูงที่ประสบความสำเร็จในความคิดของผม คือการเป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านริมชายแดน ให้คนดูตามเมืองใหญ่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมือง เราควรจะต้องการอะไรมากกว่ากัน การแย่งชิงเก้าอี้ในรัฐบาล หรือ การนั่งบนเก้าอี้เพื่อกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัว โดยไม่ต้องกลัวว่าเมื่อไหร่ลูกปืนจะหล่นใส่หลังคาบ้าน
มาถึงตรงนี้ ผมก็ไม่รู้ว่า ผมจะมีโอกาสไปสัมผัสสถานที่จริงแบบที่นนทวัฒน์พาไปดูไหม
อย่างมาก ผมก็คงไปขี่มอเตอร์ไซค์เลียบชายแดน หรือไม่ก็ไปเป็นผู้บ่าวหน้าห้าง เวทีหมอลำที่ไหนสักแห่ง
แต่ผมก็พอจะเข้าใจถึงความหมายของ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง อยู่บ้าง ในแบบที่ผมคิดเองเออเอง

ยามเมื่อเรายืนอยู่บนจุดที่ฟ้ามันสูง เราก็มองว่าแผ่นดินมันต่ำ
ยามเมื่อเรายืนอยู่บนจุดที่ฟ้ามันต่ำ เราก็คิดว่าแผ่นดินมันสูง

เราคงไม่อาจถมดินแดนแทนที่พระเจ้าได้
แต่ผมว่าเราก็อยู่กันได้แบบทะเลาะกันบ้าง ยิ้มให้กันบ้าง ขอแค่ไม่ฆ่ากันเพราะคิดต่าง มันก็พอจะอยู่ได้

แต่ถ้าจะให้เราอยู่โดยปฎิเสธสัจจะของความคิดและความจริง 
เราก็คงอยู่กันยาก ไม่ว่าฟ้าจะสูง หรือแผ่นดินจะต่ำ

48 ภาพยนตร์โดย SUSANA de SOUSA DIAS วิจารณ์โดย Pichaya Anantarasate


48 (กำกับโดย SUSANA de SOUSA DIAS/2009/โปร์ตุเกส)

 บทวิจารณ์โดย  Pichaya Anantarasate


มันเริ่มต้นด้วยความมืด

มืดจนไม่อาจหยั่งรู้สิ่งใด
มืดเหมือนไร้กาลเวลา ไร้ความคิด ไร้ความหวัง
มันเป็นความมืดที่อยู่ขั้วตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความว่างเปล่า เป็นความมืดที่ไม่อาจจำแนกได้ว่าสิ่งใดกำลังเคลื่อนไหว
แล้วมันก็ค่อยๆเผยออกมา . . . . รูปใบหนึ่งปรากฏขึ้น

รูปสีขาวดำแกมน้ำตาลเก่าๆ บุคคลในรูปถ่ายหน้าตรงบ้าง ถ่ายด้านข้าง ในแววตานั้นมีความมึนงง สับสน เราไม่มีทางรู้ว่า พวกเขาเห็นอะไรในยามมองกล้อง มันจึงเป็นรูปธรรมดาๆใบนึง ถ้ามันไม่มีเรื่องเล่าต่อไปนี้
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรตุเกสภายใต้การนำของอันโตนิโอ เดอ โอลิเวรา ซาลาซาร์ (António de Oliveira Salazar) ได้ใช้วิธีการปกครองในแนวทาง ฟาสซิสต์ เป็นแนวทางการปกครอง จนในที่สุดก็นำไปสู่การปฎิวัติที่เราคงรู้จักกันดีสำหรับผู้เรียนประวัติศาสตร์ยุโรป คือการปฏิวัติคาร์เนชัน (Carnation Revolution) แต่ก็น้อยคนนักที่จะทราบว่าก่อนจะถึงช่วงเวลานั้น ซาลาซาร์ได้ก่อตั้งหน่วยตำรวจลับ หรือ PIDE (The Polícia Internacional e de Defesa do Estado /International and State Defence Police) ขึ้น เพื่อดูแลและสอดส่องการกระทำผิดที่มีผลต่อความมั่นคง พวกเขาได้จับกุม “ผู้ต้องสงสัย” มากมาย โดยไม่มีการไต่สวนตามครรลองของกฎหมาย แต่ใช้วิธีบุกจับ และนำไปสอบสวน จนถึงขึ้นทรมานนักโทษ ทั้งที่ยังเป็นแค่ “ผู้ต้องสงสัย” และไม่มีหลักฐาน




นี่จึงเป็นที่มาของ สารคดีเรื่อง 48 ที่บอกเล่าวิบากกรรมอันสุดแสนสาหัส ของเหล่าผู้บริสุทธิ์ ทั้งหลาย ผู้ซึ่งโดนความอัปลักษณ์ของกฎระเบียบแห่งยุคเผด็จการ พลัดพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชีวิต
นี่คือหนังที่ท้าทายต่อการรับชม เป็นสารคดีที่เรียกร้องความอดทนและเพ่งพิจารณาของผู้ชมอย่างมหาศาล วิธีการเล่าเรื่องนั้นสุดแสนสามัญ เพียงแค่การฉายรูปของบุคคลต่างๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่ทำให้ผมช็อกคือ นี่คือรูปของประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่กลับถูกตำรวจลับจับไปสอบสวนและจำคุกอยู่ในคุกลับของ PIDE คุณคงเคยเห็นเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ในหน้าข่าวอาชญากรรม ถึงวิธีการถ่ายรูปนักโทษของตำรวจ
ใช่ครับ นี่คือรูปนักโทษ




ในสารคดีนั้น ผู้กำกับสร้างความช๊อกให้กับคนดูอย่างผมอีกครั้ง ด้วยการให้ตัวจริง มาบรรยายถึงช่วงเวลาก่อนโดนจับไปจนถึงการปล่อยตัว ทุกคนต่างเล่าด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ บางคนก็พยายามหัวเราะกลบเกลื่อนความทุกข์ทรมานของการรื้อฟื้น ฝันร้าย เหมือนการกรีดแผลเป็นเพื่อมองหาแผลสดในอดีต จากปากคำของพวกเขา ต่างมีรูปตัวเองอย่างน้อย 3 เวอร์ชั่น

เวอร์ชั่นแรก คือก่อนโดนจับ แต่ละคนมักจะจำได้ลางๆถึงทรงผมตัวเอง บางคนยังแอบพูดติดตลกถึงความเยาว์วัย พวกเขาและพวกเธอยังเป็นแค่วัยรุ่นเท่านั้น บ้างยังไม่บรรลุภาวะดีด้วยซ้ำ เหมือนห้องสีขาวที่จู่ๆไฟในห้องก็ดับในพริบตา





เวอร์ชั่นที่สอง พวกเขาและเธอต่างจดจำได้ดีในความทรงจำที่พวกเขาอยากลืมมากที่สุด มันคือช่วงเวลาที่พวกเขาต้องถูกคุมขังในคุกลับ ทุกคนแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า......การตายเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนั้น ทุกคนต่างโดนทำร้าย โดนตบ โดนฟาด โดนช็อกไฟฟ้า โดนทำให้นอนไม่หลับตลอดระยะเวลาที่อยู่ในคุก คิดว่าพวกเขาอยู่กันนานเท่าไหร่ครับ สำหรับในฐานะผู้ต้องสงสัย........บางคนอยู่ต้องติดคุกถึง 17-20 ปี ทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในห้วงเวลานั้น ยิ่งวันเวลาผ่านไป พวกเขายิ่งลืมทุกสิ่งทุกอย่าง...........ลืมแม้กระทั่ง ความเป็นคนธรรมดาคืออะไร

เวอร์ชั่นที่สาม เป็นรูปที่เมื่อเจ้าตัวเห็นก็ต่างร่ำไห้ เพราะแทบจะจำไม่ได้ว่านั่นเป็นตัวเขา บางสีหน้าบ่งบอกถึงความบาดเจ็บเรื้อรัง บางคนบอกเล่าว่า สุดท้ายจากคนรูปร่างกำยำก็ต้องกลายเป็นคนพิการ บางคนต้องพบว่า ครอบครัวพวกเขาได้ล่มสลายไปสิ้น ลูก เมีย พี่น้อง เพื่อน พวกเขาออกมาจากการขุมขังเพื่อพบว่า ชีวิตพวกเขาไม่เหลืออะไรอีกแล้ว และที่เลวร้ายที่สุด บางคนก็ไม่ได้ออกมาจากคุก...อีกเลย ถ้าให้ผมยกตัวอย่างจากหนัง ก็มีรูปหนึ่งที่ลูกชายของคนในภาพมาบอกเล่าว่า ความรู้สึกแรกที่เขาเห็นรูปของแม่ระหว่างอยู่ในคุกคือ นี่มันไม่ใช่แม่ของเขา ไม่ใช่แม่ที่เขารู้จัก เขาไม่อาจทนรับความจริงว่านี่คือแม่ที่ผ่านการถูกทรมานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอด10กว่าปีที่อยู่ในคุก







มาถึงตรงนี้ คงพอจะเดาได้ใช่มั้ยครับ ว่าผมทุกข์ทรมานขนาดไหนในการชมสารคดีเรื่องนี้ ผมเกือบจะหัวใจวายตาย เมื่อเรื่องเล่าต่างๆได้พรั่งพรูออกมาจากบุคคลในรูป มันมืดมนในการเล่าเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการ หนังแทบจะไม่มีเสียงดนตรีอะไรเลยทั้งสิ้น การลำดับเรื่องราวมีเพียงแค่การเอารูปต่างๆ มาร้อยเรียงเรื่องราว แต่ทว่า มันคือการส่งผ่านความสยดสยอง ความโหดเหี้ยมทารุณ และความเศร้าสลดที่พวยพุ่งมาจากการบอกเล่า ส่งต่อมาให้คนดูอย่างผม............ผมไม่สามารถบรรยายความรู้สึกเป็นตัวอักษรจริงๆ

ใช่ครับ ผมทรมานกับสารคดีเรื่องนี้ แต่ว่ากันจากหัวใจ ผมรักสารคดีเรื่องนี้ ถึงแม้มันไม่ได้ใหม่ในการใช้เทคนิคเล่าเรื่อง แต่ด้วยเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง มันมีอำนาจมหาศาลเกินคณานับโดยไม่จำเป็นต้องเล่าด้วยวิธีการทั่วไป ทำให้คนทั่วไปที่ถึงแม้จะไม่ได้รับรู้ถึงช่วงเวลาของเผด็จการซาราซาร์ หรืออย่างเลวที่สุดคือไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์การเมืองในภาคพื้นยุโรปเลย ก็ยังไม่วายต้องสะทกสะท้านไปถึงก้นบึ้งของจิตวิญญาณความเป็นคนที่เท่าคน





ผมทรมาน เพราะผมได้เห็นความอยุติธรรมของระบบ ของกฎ ที่ลิดรอนสิทธิความเป็นคน ผมทรมาน เพราะมันทำให้ผมรับรู้สัจธรรมข้อนึงที่ผมเจ็บใจทุกครั้งยามได้ยิน คือประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย
ผมทรมาน เพราะ ประเทศเราก็ไม่ต่างอะไรกันเลย

อากง อำพล ตั้งนพกุล ตายในเรือนจำคลองเปรม ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 อากง เป็นผู้เป็นผู้ต้องหาตามความผิดอาญา ม.112 และถูกตัดสินโทษจำคุกยี่สิบปี ซึ่งเป็นโทษจำคุกที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และก็เป็นคนแก่ธรรมดาที่อยู่บ้านช่วยเลี้ยงหลาน เป็นสามีของป้ารสมาลิน



สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจำคุกเป็นเวลา 11 ปี สมยศเป็นผู้ต้องหาตามความผิดอาญา ม.112 และเป็นบรรณาธิการ วอยซ์ออฟทักษิณ เป็นคนทำหนังสือคนหนึ่ง
สมอลล์ บัณฑิต อานียา หรือ จือเซ็ง แซ่โค้ว ต้องโทษในคดีตามความผิดอาญา ม.112 เขาเป็นนักเขียนผู้ได้ชื่อว่า ต่ำต้อยด้อยค่าที่สุดในประเทศนี้ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา

นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เมืองนนท์ ถูกจำคุกเป็นเวลา 13 ปี เป็นผู้ต้องหาตามความผิดอาญา ม.112 เขาเป็นผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ และเป็นพ่อที่ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดู น้องเว็ป ลูกชายวัยประมาณ 13 ปี ในตอนนี้
นี่ยังเป็นส่วนน้อยเท่าที่ผมนึกออกเกี่ยวกับนักโทษการเมืองในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย





พวกเขา.....พวกเรา ต่างกันตรงไหน


ทั้งพวกเขาและพวกเรา แม้กาลเวลาจะผันผ่าน ประวัติศาสตร์ก็ยังคำเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย เราไม่เคยมองเห็นความอยุติธรรมในสังคมที่ดูเหมือนจะร่มเย็นและสงบสุขเลย ผมเองต้องขอสารภาพว่า อดทนอย่างมากในการเขียน ให้ปราศจากความรู้สึกเคียดแค้นที่มีต่อความอัปลักษณ์ของ มาตราทางกฎหมาย นี่คือบทวิจารณ์หนัง มันควรจะเป็นกลาง ที่ชี้ชัดว่า หนังดีหรือไม่ ถ้าจะโชว์ความเจ๋งหน่อยก็ชำแหละเรื่องการเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ คอสตูม แต่งหน้า เพลงประกอบ เทคนิคพิเศษ หรือนักแสดง
ผมพยายามอย่างมากที่จะใคร่ครวญทุกความคิดต่างๆในหัวให้ตกตะกอน ผมสามารถ เขียนถึงหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องด้วยคำ 3 คำ แบบที่วัยรุ่นฮิตกัน เช่น หนัง ดี มาก , โคตร ง่วง เลย , กู เบื่อ มาก แค่บรรทัดเดียวก็ได้ จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาพักผ่อนของผม

แต่ความเป็นคน คือสิ่งที่คอยย้ำให้ผม อยากจะฝากสารบางอย่างถึงผู้อ่าน
ผมอยากให้คุณได้ดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ด้วยความทรมาน ด้วยความเจ็บปวด ด้วยความเคียดแค้น ด้วยความโศกเศร้า อยากให้พวกคุณได้รับฟังจากปากคำของทุกคนในหนังที่แอบแฝงด้วยขุมนรกอเวจีในทุกพยางค์และทุกอณูของความทรงจำ
และเมื่อถึงจุดนึงที่คุณผ่านพ้นมันไปได้หรือเกินที่ตัวเองจะรับไหว ผมอยากให้คุณมองรอบๆตัว
แล้วถามตัวเองว่า คุณจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับเปลือกนอกที่คุณเห็นแต่แก่นกลางมันเน่าเฟะได้อย่างไร คุณกล้าบอกกับทุกๆคนบนโลกได้ไหมว่าคุณอยู่ในสังคมที่ดำรงซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมและเสรีภาพที่คู่ควรกับประชาชนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เป็นเจ้าหรือเป็นไพร่ หรือเป็นคนที่คุณมองว่าเค้าเหมือนเราทั้งในเชิงศักดิ์ศรีและขนาดของเงาที่ฉาบบนพื้นยามต้องแสงตะวัน
คุณจะบอกกับตัวเองได้ไหมว่า คุณสามารถเฉยชากับการเห็น คนที่โดนปรักปรำ คนที่ต้องคดีในความผิดที่ไม่ยุติธรรม คุณจะเฉยชาต่อการกดขี่เหยียดหยามความเป็นมนุษย์ในสังคมหรือไม่
คุณจะทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมต่อไปอีกนานเท่าไหร่ คุณบอกตัวคุณเองได้ไหม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสะกิด “ความเป็นคน” ในตัวคุณได้มากขนาดไหน คุณต้องหาคำตอบเอง

เพราะสำหรับผม โลกที่ไร้เสรีภาพ มันก็คือก้อนขี้หมาลอยอยู่ในอวกาศเท่านั้นเอง


นี่คือบทวิจารณ์หนัง หรือถ้าคุณเห็นเป็นอย่างอื่น เชิญเรียกอะไรก็ได้ตามสบาย 






                                              (ภาพผู้กำกับ Susana De Sousa)



ข้อมูลอ้างอิง
1) http://en.wikipedia.org/wiki/António_de_Oliveira_Salazar
2) http://en.wikipedia.org/wiki/PIDE ข้อมูลของหน่วยตำรวจลับ
3)http://th.wikipedia.org/wiki/อำพล_ตั้งนพกุล ข้อมูลอากง
4) http://thaienews.blogspot.com/2011/03/13-112.html ข้อมูล แดง เมืองนนท์
5)วารสารอ่าน ปีที่3 ฉบับที่3 เมษายน-กันยายน 2554 บท “คู่มือเพื่อคุณ:ถอดบทเรียนจากอาชญากรทางความคิดรุ่นพี่” โดย เมตตา วงศ์รัต


ขอขอบคุณ คุณ Asingilo Ok Nakhon ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลทางประวัติศาสตร์โปรตุเกส ถึงแม้ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของผมจะไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์ได้ครอบคลุม เลยไม่สามารถใช้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์มากๆในการเขียนบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ แต่ก็ขอขอบคุณในน้ำใจที่ให้กันผ่านสังคมออนไลน์ครับ


ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ สารคดี THE ACT OR REALITIES
ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2556 - 30 มิถุนายน2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โทรศัพท์ 0-2613-3529หรือ 0-2613-3530


ชมฟรี!!!(โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)
ตารางฉายหนังไปดูได้ที่ Facebook : Bookvirus&filmvirus หรือ Facebook: Wiwat Filmsick Lertwiwatwongsa และอีกช่องทางนึงคือ http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html

6/13/13

Two years at sea ประสบการณ์การชมหนังของ Ben Rivers โดย Pichaya Anantarasate


Two years at sea ( Directed by Ben Rivers, 2011)

โดย Pichaya Anantarasate




1.  เบื้องบนเป็นแผ่นฟ้ากว้าง
เบื้องล่างเขาเป็นชายแก่กลางหุบเขา เป็นชายแก่ที่อาศัยอยู่เพียงตัวคนเดียว และแมว 1 ตัว ในบ้านหลังใหญ่ บ้านหลังเดียวในรัศมีหลาย 10 กิโลเมตร เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เรารู้แค่ว่า วันนี้เป็นหน้าหนาว หิมะโปรยละอองเริงระบำในความอึมครึม เขาตื่นเช้าอยู่บนเตียงเก่าๆ ออกเดินไปบนถนนพื้นโคลนเหนอะหนะ เปิดเพลงแนวอินเดีย-ร็อค แบบฉบับชาวบุปฝาชน เขามีรถบ้านเก่าๆคันหนึ่ง เขากวาดและเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไป ปัดที่นอน หมอน และผ้าห่ม จากนั้นก็นอนหลับ 

หลับ..........หลับ.........หลับ........หลับ........หลับ.......หลับ.......หลับ........หลับ.......หลับ.....หลับ.......หลับ........หลับ..........ลั.......

บางขณะ เขาออกไปเดินในป่าสนกลางหิมะที่ตกหนัก เดินด้วยก้าวย่างที่คุ้นเคย จังหวะการก้าวเดินของเขา เหมือนเขาเดินด้วยจังหวะนี้มาหลายพันครั้ง ในป่าแห่งนี้ ป่าที่มีอาณาเขตลากเลื้อยไปจนสุดแนวเขา บางครา เขาเดินผ่านพื้นที่รกร้าง จากการตัดไม้ มองออกไปไกลแสนไกล ถนนที่คดเคี้ยว ยาวไกลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขามองทางที่อยู่ตรงหน้า บางทีก็มองขึ้นไปสบตากับก้อนเมฆสีหม่นเทา ลอยละเลียดยอดไม้ คลุกเคล้ากับทิวเขา เป็นดั่งเช่นจินตนาการของศิลปินแนวธรรมชาตินิยม ที่มิอาจบรรยายด้วยคำพูด ชายแก่คงอยากจะพูดอะไรสักอย่าง พูดกับสิ่งที่อยู่รอบตัว สิ่งที่เป็นดั่งสังคมเดียวที่เขามี เป็นโลกทั้งใบที่ประครองเขาไว้ แต่เขาก็เดินต่อไป

เดิน.....เดิน......เดิน......เดิน.....เดิน....เดิน.....เดิน.....เดิน....เดิน....เดิน......เดิน........เดิน......เดิน.......เดิน...............เดิน....................................ดิ...............................................

ท้องฟ้าสีเทาหม่น เหมือนแสงแดดจะขอแอบลาหยุด เพื่อยกพื้นที่ให้ความหม่นหมองเปล่งประกายอย่างงดงามที่สุด ลมที่พัดแผ่วบางส่งเสียงคำรามเบาๆในซอกเขา ชายแก่ทำโน่นทำนี่เรื่อยเปื่อย ตัดฟืนบ้าง เขียนอนุทินประจำวันบ้าง ทำกับข้าวกลางแจ้งบ้าง คล้ายกาลเวลาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาฬิกาทุกชนิดบนโลก ที่แห่งนี้ซึ่งเขาเหยียบยืน จึงปราศจากเงื่อนไขทั้งหลายทั้งมวลที่สังคมพื้นฐานยึดถือ ที่นี่มีแต่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เขามีขอบเขตที่ไม่จำกัดในการจะเผาผลาญวัน เดือน และปี โดยการกระซิบบอกของหัวใจ เขาจึงหอบหิ้วเบาะสูบลม ถังพลาสติค 4 ถึง และโครงไม้ มุ่งหน้าไป ทะเลสาบแห่งหนึ่ง เขานั่งประกอบเรือของเขาอย่างเงียบงัน บรรจงวางลงบนพื้นน้ำ พาตัวลอยออกไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็หลับ กลางผืนน้ำนั้น เขาหลับในขณะที่ลอย และเขาลอยในขณะที่หลับ



2.   ด้วยการไร้กรอบ ไร้กฎเกณฑ์เรื่องเงื่อนไขเวลา ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Two years at sea จึงอาจดูเป็นของแสลง สำหรับผู้ติดใจความวูบวาบ ผู้ต้องดำรงชีวิตความเร็วรีบในชั่วโมงที่เร่งร้อนของแต่ละวันในช่วงชีวิต มันอาจจะตั้งต้นด้วยความทรมาณกับการดูหนังที่ ไม่มีอะไรเลย แต่ ทุกๆครั้งที่ผมจะเตรียมใจ ละสายตาจากหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อม มาสู่สภาวะการเข้าถึง ภาพยนต์แห่งณาน ( Comtemplative Cinema) มันก็ไม่ต่างอะไรกับการนั่งสมาธิ นั่นคือ ปล่อยใจให้นิ่ง แล้วลอยเข้าไปสู่บริบทของภาพยนตร์เฉกเช่นการสำรวจหัวใจตนเองยามหายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ่

หนังสวนกระแสความเร่งรีบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงกับจะดัดจริตแบบกระแส Slow living หนังไม่ถึงกับหยุดอยู่กับที่ แล้วตั้งกล้องไว้เฉยๆเพื่อให้ได้ภาพอย่างมักง่าย แต่หนังซื่อสัตย์กับโจทย์ในเรื่อง จึงตามถ่ายโดยไม่มีการต้องมาจัดฉากให้ช้าแต่อย่างใด ทว่า ผู้กำกับสามารถควบคุม พื้นที่ทางกาลเวลา ไม่ให้ดูน่าเบื่อ แต่ก็สามารถบรรจงพาความรู้สึกเคว้งคว้างในบรรยากาศสีเทาหม่น ค่อยๆเกาะกุมหัวใจไปทีละน้อย ซึ่งสามารถขับเน้นประเด็นสำคัญของหนังแห่งความเนิบช้านี้ได้ 4 ประการ



1.  ไร้เนื้อเรื่อง (Plotlessness) ไม่มีเนื้อเรื่องให้จับต้อง หากแต่ผู้กำกับก็แอบแง้มถึงที่มาบางอย่างที่ทำให้ชายแก่ มาปักหลักในพื้นที่รกร้างแห่งนี้ แต่ผู้กำกับก็ฉลาดพอที่จะให้คนดูปะติดปะต่อเอาเอง เหมือนเอาก้อนเมฆมาต่อจิ๊กซอว์

2.  ไร้ถ้อยคำ (Wordlessness) ชายแก่ในเรื่องพูดน้อยมากๆ การพูดแต่ละครั้งจึงเป็นเสียงงืมงำที่จับใจความได้ยาก เราจะเห็นแค่การดำเนินชีวิตของเขาเป็นการเล่าเรื่อง แต่ก็มีสรรพเสียงต่างๆมากมายในเรื่องนี้ เสียงใบสนที่เสียดสียามต้องลม เสียงผิวปาก และเสียงดนตรีแนวไซคีเดอริค ที่โผล่พรวดขึ้นมากลางลำ ทำลายความเงียบที่สั่งสมมา นำไปสู่ความหลอกหลอนของบรรยากาศป่าหน้าหนาวในหนังขาวดำ

3.   มีลักษณะของความเนิบช้า (Slowness) การปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นอย่างเนิบช้าและไร้ความหมาย ดูเป็นการจงใจให้เราได้เพ่งพินิจ สำรวจตรวจทาน ทั้งชีวิตของชายแก่ในเรื่อง และตัวเราในใจตัวเอง การปล่อยให้เราตืออยู่กับสภาวะไร้เวลา เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง ที่เมื่อข้ามพ้นข้อจำกัดที่เราสร้างขึ้นมาเอง มันจะนำพาเราไปสู่พรมแดนที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน

4.   มีลักษณะของความแปลกแยก (Alienation) ความแปลกแยก เปลี่ยวเหงา ของโจทย์ในเรื่อง ก่อให้เกิดอะไรหลายๆอย่างในใจ คำถามมากมายก่อขึ้นและเฝ้าถามตัวเราเอง เขาเป็นใคร? ทำไมเขามาอยู่ที่นี่ ? เขาสูญสิ้นสิ่งใดจึงละทิ้งสังคมมาอยู่ที่นี่? หรือเขาจะผิดหวังบางสิ่ง? ความคิด? ความศรัทธา? ความเชื่อ? หรือ ความรัก? นี่คงเป็นสิ่งที่เราคงต้องนึกเอาเอง



สิ่งที่ไม่พูด ไม่ได้เด็ดขาดคือ นี่เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายด้วย ฟิล์ม 16 มม. นี่คงเป็นสิ่งเดียวในเรื่องที่ผมไม่อาจบรรยายถึงความงดงามได้ด้วยอักษร นี่เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก ที่เราควรได้มีโอกาสดูหนังจากฟิล์ม โดยเครื่องฉายฟิล์ม เพราะ ว่ากันตามจริง แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้ดูหนังจากฟิล์ม 16 มม. ด้วยเครื่องฉายจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และถือเป็นความกล้าหาญอย่างมหาศาล ที่ผู้กำกับเลือกจะใช้ฟิล์ม 16 มม. บันทึกความงามที่ไร้กาลเวลา มันงดงามจนบอกไม่ถูกจริงๆครับ



เมื่อผมดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมก็คงนอนหลับ หลับอย่างสงบเพื่อตื่นมาพบกับความวุ่นวายต่างๆนาๆที่เคยชิน ผมมักจะเจอเพื่อนฝูงและคนรู้จักหลายๆคนที่อยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเองอาจจะด้วยเพราะความเบื่อหน่ายสังคม การอยากหาที่ทางให้กับชีวิต หรือดูทีวีเห็นดาราไปมีบ้านที่ต่างจังหวัด ก็อยากมีบ้าง

ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็คงไม่คิดอะไร แต่ตอนนี้ ผมอาจจะนึกถึงชายแก่ที่ลอยกลางทะเลสาบคนนั้น




บ้านนอกมันไม่โรแมนติคและการปลีกวิเวกไม่ใช่เรื่องสนุกผมคิดแบบนี้เสมอ แต่ก็ไม่ใช่ว่ารังเกียจ เพราะโดยพื้นฐานชีวิต ผมมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง เป็นบ้านนอกที่เด็กๆแถวบ้านผมติดยาบ้า บ้านทรงไทยที่ติด Wi-Fi และเคเบิ้ลทีวี และมีการยิงกันทุกครั้งเวลามีงานวัด

ผมก็พอจะเข้าใจเหตุผลบางอย่างของชายแก่ เป็นเหตุผลที่ผมขอเก็บไว้ในใจอย่างเงียบๆ

ผมไม่มีทางรู้ได้หรอกครับ ว่าวันนึงข้างหน้าผมจะไปอยู่แห่งหนใด

อาจเป็นตึกสูง บ้านหลังใหญ่
หรือแค่ที่ๆมีกาน้ำ 1 ใบ กับกองฟืนที่วางอยู่เรียงราย




ข้อมูลอ้างอิง::: คอลัมน์ Deep focus ตอน ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ โดย กฤษฎา ขำยัง . นิตยสาร Bioscope ฉบับ 127 สิงหาคม 2555

ขอขอบคุณ เพลงคนเก็บฟืน โดย เล็ก คาราบาว ที่ให้แรงบันดาลใจกับงานชิ้นนี้



ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ดวงกมล ฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ สารคดี THE ACT OR REALITIES
ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2556 - 30 มิถุนายน 2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 . เป็นต้นไป
ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ) ติดตามโปรแกรมที่ http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html ตามนี้

6/4/13

5 Broken Cameras (บทวิจารณ์ของ Pichaya Anantarasate)

5 BROKEN CAMERAS (2011) Emad Burnat and Guy Davidi 
A+++++++++++++++++++++++++


บทวิจารณ์ของ Pichaya Anantarasate

ตลอดเวลากว่า 18 ปีของการฉายหนังโปรแกรม ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ไม่บ่อยนักที่คนดูหนังจะแชร์ความเห็นหลังหนังจบกับเรา  ขอบคุณคุณ Pichaya มาก ๆ ที่ช่วยบันทึกความทรงจำแทนฮาร์ดดิสค์และกล้องของนักข่าวผู้อุทิศตนทั่วโลก โลกยังต้องการนักคิก (นักเตะ) นักเขียน ที่พยุงไม่ให้เรายอมจำนนกับความเป็นจริงแสนสิ้นหวังในจิตใจคับแคบและเร่งร้อนของหมู่เรา โลกควรจะสำนึกในบุณคุณของผู้กล้าจารึกที่ร่วมแชร์และสะท้อนความคิดถึงหนังเรื่องนี้ให้อีกหลายคนได้รับทราบ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่งฉายไปในโปรแกรมภาพยนตร์ฟิล์มไวรัส เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านสามารถติดตามชมโปรแกรมสารคดีชุดนี้เรื่องอื่น ๆ  ได้ที่บล็อก ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) DK Filmhouse: 

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html  








ดูสารดคีจากปาเลสไตน์เรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึง ช่างภาพชาวอิตาลีคนหนึ่ง และชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งฟาบิโอโปเลงกี เป็นสื่อมวลชนจากประเทศอิตาลี และ ฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ เป็นนักข่าวรอยเตอร์ ทั้ง 2 มาทำข่าวการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ของกลุ่ม นปช

ทั้ง 2 คนเสียชีวิตในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ ตายกลางถนนในประเทศไทยอันเป็นเมืองพุทธ
คดีของฮิโรยูกิ จากการสืบสวน พบว่าเป็นเพราะกระสุนจากฝั่งเจ้าพนักงาน และเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลได้มีการชี้แจงคำไต่สวนกรณีการเสียชีวิตของ ฟาบิโอ โปเลงกี ว่า

“เหตุแห่งความตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผล กระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนที่มาควบคุมพื้นที่ จากทางแยกศาลาแดง มุ่งหน้าแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”
เขาตายลง ในขณะที่แขวนป้ายสื่อมวลชนไว้ที่คอ


Flashback มาที่ ปาเลสไตน์ ในปี 2005 ณ หมู่บ้านเบอิน ในเขตเวสแบงค์ ติมพรมแดน อิสราเอล
เอมัต เบอนัต ได้ซื้อกล้องถ่ายวีดีโอธรรมดาๆมาตัวหนึ่ง เพื่อต้อนรับ ลูกชายคนที่4 ที่พึ่งเกิดไม่นาน เอมัตเป็นพ่อของลูกชาย 4 คน เป็น ลูกชายของพ่อแม่ ที่มีพี่น้องน่าจะประมาณ 3 คน เพราะในหนังไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมาก แต่เมื่อเอมัตเป็นคนๆเดียวในหมู่บ้านที่มีกล้องถ่ายวีดีโอ จึงกลายเป็นบุคคลที่ชุมชนต้องการตัวทุกครั้ง ที่มีงานรื่นเริงต่างๆ มีการแสดงโดยนักกายกรรมผู้เป็นขวัญใจของเด็กๆในหมู่บ้าน เอมัตเปรียบได้กับ ช่างภาพประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย ทุกๆเหตุการณ์ น่าจะพูดได้ว่าล้วนผ่านเลนส์และเม็มโมรี่การ์ดในกล้องของเอมัตทั้งสั้น

จนกระทั่งทหารอิสรเอล เริ่มเข้ามารื้อสวนมะกอกของชาวบ้าน โดยอ้างว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงเนื่องจากติดกับชายแดน 


กล้องของเอมัตได้เป็นประจักษ์พยานถึงการรุกรานของรถขนดิน และ แบ็กโฮ การกั้นแนวกำแพงลวดหนามในพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อน ชาวบ้านเดินไปมาอย่างเสรี การชุมนุมประท้วงที่ลงท้ายด้วยการที่ทหารยิงแก๊ซน้ำตาใส่ และยิงกระสุนซ้อมยิงใส่ผู้ประท้วง มีการจับกุมผู้ประท้วงไปคุมขัง แต่บางครั้งเหตุการณ์ก็เลยเถิดจนทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสจากลูกหลง รวมทั้ง กล้องของเอมัต





5 BROKEN CAMERAS เริ่มต้นจาก กล้องตัวแรกที่เอมัตตั้งใจแค่ว่าจะมาถ่ายลูกชายแต่ลงท้ายต้องมาเสียเพราะเหตุประท้วง จากนั้นกล้องตัวที่ 2 ตัวที่3 ตัวที่4 ตัวที่5 ก็เริ่มกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจดบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงในเขตเวสแบงค์ และตัวเอมัตเอง ก็เปลี่ยนจากการ ถ่ายโดยไม่คิดอะไร เป็น การถ่ายเพื่ออุดมการณ์ เพื่อสักวันหนึ่ง ภาพและเสียงเหล่านี้จะส่งตอให้ชาวโลก และ ลูกชาย ทั้ง 4 คนของเขา ให้สานต่อเจตนารมณ์ที่จะเป็นกระบอกเล็กๆ จากพื้นที่ ซึ่งทุกวันนี้ความรุนแรงก็ยังไม่สงบลง


ตลอดเวลากว่า 1 ชม. กว่าๆที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้ แม้ภาพจากกล้องจะดูไม่ค่อยดี เพราะเป็นกล้องธรรมดาๆ ภาพจึงออกมาในสภาพคล้ายๆ โฮมวีดีโอ แต่เหตุการณ์ในเรื่อง ทำให้ผมต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา ภาพทุกภาพคือภาพจริง เหตุการณ์จริง และเป็นสารคดี ที่เลือกข้างอย่างชัดเจน ยิ่งเอมัตเปลี่ยนมาเป็นกล้อง ที่ 3 และ 4 เหตุการณ์ก็ยิ่งชวนให้ระทึกขวัญยิ่งขึ้น ทั้งการที่ทหารบุกเข้ามาที่บ้านของเอมัต กลางดึกคืนหนึ่ง เพื่อจะไล่ให้ครอบครัวออกไปจากพื้นที่ทหาร ในขณะที่ทหารที่มากัน 4 นาย มีอาวุธครบมือ เอมัตมีแค่กล้องวีดีโอตัวนึง ที่เค้ายื่นใส่หน้าของทหารพร้อมกับกดบันทึกภาพ เพื่อปกป้องทุกคนในครอบครัว ยังรวมทั้ง การที่กล้องของเอมัตเสีย ล้วนเกิดจากลูกหลงจากการเข้าปะทะของทหาร จุดที่รุนแรงที่สุดของสารคดีคือ การที่ต้องเป็นประจักษ์พยานของ การฆ่าคนที่ไร้อาวุธ และการเล็งปืนใส่กล้อง พร้อมกับลั่นไก บางครั้งกล้องก็รับเคราะห์แทน แต่ตัวเอมัตเองก็เกือบตายเช่นกัน 


แต่ทำไม เอมัต ถึงไม่ยอมหยุดที่จะทำตัวเป็น สื่อมวลชน โดนไม่สนใจคำทักท้วงของภรรยา ?
อุดมการณ์อย่างเดียวเหรอ ? เขาไม่กลัวว่า ลูกทั้ง 4 คน จะกลายเป็นลูกไม่มีพ่อในชั่วข้ามคืนเหรอ?
ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้ เอมัต ยืนหยัดที่จะถ่ายต่อไป เป็นสิ่งเดียวกับที่ โทนี่ แมนเด็ซ พูดไว้ในหนังเรื่อง Argo ว่า “ผมเชื่อว่า หนังของผมเป็นสิ่งเดียวกันระหว่างปืนกับหัวคุณ”
ถ้าความจริง ไม่มีปากที่จะสื่อสารกับโลกได้ เครื่องมืออย่างกล้องวีดีโอ ก็จะเป็นปากเป็นเสียงที่ความจริงจะได้ตะโกนบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นไป เพราะฉะนั้นน่ากล่าวได้ถูกต้องว่า ถ้ารู้จักใช้ กล้องวีดีโอก็มีพลังอำนาจเทียบเท่าได้กับปืนกระบอกนึง ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีไว้ลั่นกระสุนใส่ แต่สิ่งที่มันได้ถ่ายไว้ จะมีพลังอำนาจพอๆกับกระสุนปืนเลยทีเดียว


นั่นคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมพบข้อสรุปได้ว่า ความชั่ว ความอยุติธรรม มักจะกลัวกล้องยามเมื่อมันกดบันทึกภาพ
เอมัต กำลังต่อสู้กับกระสุนปืน คาวเลือด และแก๊ซน้ำตา ด้วยกล้องวีดีโอตัวหนึ่ง ถึงแม้มันจะพังเพราะโดนทำร้าย ก็จะมีตัวสำรอง พร้อมจะบันทึกความจริงเสมอ


และนี่เอง ทำให้ผมคิดถึง ฟาบิโอ และ ฮิโรยูกิ


พวกเขาก็ไม่ต่างจาก เอมัต เลย ที่มีแค่กล้องในมือ และมีหน้าที่ถ่าย ความจริง ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพียงแต่ว่าทั้ง 2 คน โชคร้าย เพราะถึงพวกเขาจะอยู่ห่างพื้นที่ ที่มีความรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมากขนาดข้ามทวีป มาทำงานในพื้นที่ของประเทศไทย ที่คิดอันดับเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แต่พวกเขาก็ยังต้องตายจากกระสุนโดนยิงจากฝั่งเจ้าพนักงาน ท่ามกลางการให้ข่าวของสื่อกระแสหลักที่ว่า ทหารใช้กระสุนซ้อมยิงเท่านั้น
เวสแบงค์ ปาเลสไตน์ กรุงเทพ ประเทศไทย ถึงไกลกัน ก็ ใกล้กัน หลังจากผมได้ดูภาพยนตร์ ที่ผมกล้าจะกล่าวว่า ถ้ายกเอาคำว่า สารคดี ออกไป นี่คือ ภาพยนตร์เกี่ยวกับตะวันออกกลาง ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยดูม
เมื่อเครดิตจบขึ้น ผมพูดกับตัวเองในความมืด ว่า ถึงปืนจะฆ่าคนได้ แต่ฆ่าความจริง ไม่ได้

ขออุทิศบทความนี้ให้แก่ดวงวิญญาณของ ฟาบิโอ โปเลงกี , ฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ และสื่อมวลชนทุกคนที่เสียชีวิตระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ ทั้งในสงคราม และในการจลาจลที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก

ข้อมูลอ้างอิง

1. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1370061673&grpid&catid=02&subcatid=0201
2. http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMk9Ua3lOamc1T1E9PQ%3D%3D&sectionid
3. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1331268901&grpid=01&catid=01




(ข้างบนคือบทวิจารณ์โดย Pichaya Anantarasate)

นี่คืออีก 1 ในชุดภาพยนตร์สารคดี ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ จัดฉายในชื่อ THE ACT OR REALITIES

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2556 - 30 มิถุนายน2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี  พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!!(โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)


ย้ำอีกครั้ง ตารางฉายหนังดูได้ที่ บล็อก ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส): http://dkfilmhouse.blogspot.com/2013/05/the-act-of-realities_24.html