วีดีโอสามัญประจำบ้าน ตอน Housekeeping
"ครอบครัวเป็นเรื่องชั่วคราว"
(ประโยคนี้จากบทวิจารณ์ Tokyo Sonata ของ กัลปพฤกษ์ ในนิตยสาร Filmax)
ม้วนวีดีโอเก่าม้วนนี้เป็นม้วนที่มีค่าที่สุดอันหนึ่งในบ้านของผม ถึงมันจะเป็นหนังพากย์ไทยในชื่อเชย ๆ ว่า “สายใยแห่งรัก” แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่า มันเป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่มีการสร้างหนังกันมา
ในสมัยหนึ่งใครที่เป็นคอหนังคงต้องพอรู้จักหนังอย่าง Local Hero ที่เป็นสุดยอดขวัญใจคอหนังและคนรักชนบท ทะนุบำรุงสภาพแวดล้อมเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง หรือไม่ก็ทึ่งกับเพลงเหงาของ Mark Knopfler หลายคนได้ดูหนังเรื่องนี้ทางวีดีโอเทปลักลอบ และต่อมาเมื่อเข้าโรงเล็กจิ๋วบนสยามเซ็นเตอร์มั้ง (ถ้าจำไม่ผิดนะ-ต่อมากลายเป็นร้าน Tower Records) ก็ยังไปดูอีกรอบ และอีกรอบ แต่จะมีใครบ้างสักกี่คนที่รู้จักหนังเรื่อง Housekeeping ท่าทางจะน้อยนัก
Housekeeping หนังของ Bill Forsyth ผู้กำกับชาวสก็อตคนเดียวกันกับคนที่สร้าง Local Hero เขาจับนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนหญิงชื่อ Marilynne Robinson (เธอแต่งนิยายเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วหายยาวโลดจนเพิ่งกลับมามีนิยายเรื่องที่สองและสามเมื่อ 2-3 ปีนี้เอง) บิล ฟอร์ไซทห์ กลายเป็นคนที่เหมาะในการทำนิยายเรื่องนี้ที่เป็นชีวิตชาวอเมริกันบ้านนอกได้อย่างเศร้าลึก แฝงอารมณ์ขันร้ายกาจในคราบความนุ่มนวล เขาต่อสู้เพื่อทำโครงการนี้โดยยอมจากบ้านที่สก็อตแลนด์ซึ่งเขาทำหนังมาตลอด ย้ายไปอยู่ในอเมริกาอยู่ 2 ปี แล้วก็ไปถ่ายโลเกชั่นในแคนาดาที่ใกล้เคียงมากกว่าตามภาพในท้องเรื่อง น่าเสียดายว่าตอนนี้ บิล ฟอร์ไซทห์ เลิกทำหนังไปซะแล้ว เพราะเสียใจและผิดหวังกับวงการหนัง (และคนดูหนัง) ที่ดูเหมือนไร้อนาคต เพราะ Housekeeping นี่ก็ดันเจ๊ง หนังเรื่องต่อมาก็ทำแบบไม่มีอิสระในระบบฮอลลีวู้ด แต่ตอนนี้คนอเมริกันกับคนอังกฤษเพิ่งสำนึกผิดตามหาดีวีดี Housekeeping กันให้ควั่ก แต่เสียใจด้วยต้องกลับไปพึ่งเทปวีดีโอเท่านั้น
หนังเป็นมุมมองของเด็กหญิงกำพร้าสองคน คือ รูธี่ กับ ลูซิลล์ ที่เล่าถึงชะตาตุปัดตุเป๋ที่มาจบลงในเมืองบ้านนอกอย่าง ฟิงเกอร์โบน โดยย้อนเล่าไปนิดหนึ่งถึงยุคสมัยที่คุณตาของเธอเลือกเมืองเล็กไกลปืนเที่ยงแห่งนี้เป็นที่พำนัก ก่อนที่จะจบชีวิตลงพร้อมกับรถไฟที่เขารัก หายจมลงไปในทะเลน้ำแข็ง
แม่ของพวกเธอก็มาแนวประหลาดไม่แพ้กัน จู่ ๆ เช้าวันหนึ่งก็ทิ้งเด็กน้อยสองคนหายไปซะงั้น ขับรถลงหน้าผาแบบไม่รู้ฟ้ารู้ฝน เด็กทั้งสองจึงต้องอยู่กับยาย ครั้นพอยายไปสวรรค์ก็มีญาติผู้ใหญ่คนอื่น ๆ (ผู้หญิงทั้งนั้น) เวียนหน้ากันมาดูแล ก่อนจะเวียนไม้ให้น้าสาวชื่อ ซิลวี (บทมหัศจรย์ของ Christine Lahti)
ซิลวี เป็นผู้หญิงแปลกกว่าที่เด็กทั้งสองคนเคยพบเห็น และที่จริงก็แปลกกว่าผู้หญิงคนไหน ๆ หรือใครคนใด เพศใดซะด้วย เธอไม่สนใจประเพณีหรือแนวปฏิบัติทั่วไปของคนดี ๆ ปกติ และเธอก็ไม่ลังเลใจที่จะนอนบนเก้าอี้สาธารณะในสายตาใคร ๆ วัน ๆ เธอก็ท่อม ๆ ไปดูนั่นนี่ หาเรื่องพิศวงสนใจไปตามเรื่อง แล้วเก็บหนังสือพิมพ์เก่ากับกระป๋องเปล่ามากองทั่วบ้าน ที่จริงก็ไม่มีอะไรที่แปลกหรือพิสดารเกินไปสำหรับน้าสาวคนนี้ เช่นเดียวกับที่เธอเองก็ไม่สามารถเล่าถึงแม่ของสองเด็ก (รวมทั้งพ่อเด็ก) ให้ทั้งคู่ได้รู้จักลึกซึ้งมากขึ้นไปได้กว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่เธอบอกว่าทั้งคู่นั้นเคยสนิทกันมาก
ในสังคมที่การยอมรับจากชุมชนเป็นใหญ่สูงสุด จะเป็นนายฟัก หรือนางฝัก ก็ไม่อาจละเลยสายตาแหลมคมทางจริยธรรมของคนพวกนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ ซิลวี ป้านิสัยประหลาดที่นอกจากจะไม่มีวันเป็นตัวแทนและที่พึ่งให้แก่เด็กสาวแรกรุ่น - แทนเพศผู้ (ที่เหมือนหายหน้าจากหนังไปอย่างเกือบสิ้นเชิง) - แล้วน้าคนนี้ยังไม่อาจเป็นหลักมั่นคงทางความอบอุ่นในแบบเพศหญิงได้เสียอีกด้วย และนั่นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่น้องสองคนที่ตัวแทบติดกัน ต้องแยกออกเป็นสองฝักฝ่าย ฝ่ายที่เลือกเดินตามแรงน้าวของสังคม กับฝ่ายที่มองเห็นความมหัศจรรย์ในการเดินทางโดดเดี่ยว
ที่ผ่านมานี้เขียนไม่น่าสนใจเอาเสียเลย ทำหนังเขาเสียหาย เอาเป็นว่าจบกันแค่นี้ด้วน ๆ (ไม่ควรฝืนสังขารตั้งแต่แรก) ถ้าใครมีโอกาสครั้งหน้าเวลาผ่านกองวีดีโอราคาถูก อย่าลืมมองหาดูล่ะ
6 comments:
เอาไปลงกลแสงต่อได้ปะพี่
ฉันเลยโอเค
เคยเห็นภาพจากหนังเรื่องนี้ลงในนิตยสาร ENTERTAIN เมื่อราว 20 ปีก่อน ตอนนั้นดูไม่ออกว่าหนังเรื่องนี้เป็นแนวอะไรกันแน่ แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้อีกเลย
เคยดู GREGORY’S TWO GIRLS (1999, Bill Forsyth, B+ ) แต่จำอะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้เลย สาเหตุนึงเป็นเพราะว่าได้ดูแบบไม่มีซับไตเติล แล้วเราก็ฟังสำเนียงอังกฤษในหนังเรื่องนี้ไม่ออก เราก็เลยนั่งบ้าใบ้ถือใยบัวขณะดูหนังเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ
เรารู้สึกชอบ LOCAL HERO แค่ในระดับ A มั้ง เราไม่ได้รู้สึกจี๊ดอะไรกับหนังเรื่องนี้ตอนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อราว 20 ปีก่อน สาเหตุเป็นเพราะเราไม่เคยคิดที่จะช่วยเหลืออะไรสังคมอยู่แล้ว ฮ่าๆๆๆ จำได้ว่าช่วงนั้นหนังที่เราอินสุดขีดกรี๊ดคลั่งมากๆ คือ BETRAYED (Costa-Gavras) กับ CASUALTIES OF WAR (Brian De Palma) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า BETRAYED มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงที่ฆ่าผู้ชายที่เธอรัก ส่วน CASUALTIES OF WAR มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชาย (ไมเคิล เจ ฟ็อกซ์) ที่ส่งผู้มีพระคุณ (ฌอน เพนน์) ที่เคยช่วยชีวิตเขาไปเข้าคุก หนังสองเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นหนังในดวงใจในช่วงวัยรุ่นของเราในทันที
เคยดูหนังที่ Christine Lahti กำกับด้วย เรื่อง MY FIRST MISTER (2001, A-) จัดว่าเป็นหนังอินดี้ระดับปานกลาง เราดูแล้วไม่ค่อยอินเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้อินกับบทผู้ชายวัยกลางคนในหนังเรื่องนี้ และไม่อินกับบทเด็กสาวที่ไปหลงรักผู้ชายวัยกลางคนที่มีหน้าตาแบบนั้น เราก็เลยไม่รู้สึกว่าหนังอินดี้เรื่องนี้มีอะไรที่โดดเด้งเป็นพิเศษ
พอเอา Local Hero มาดูใหม่แล้วจะรู้เลยว่าหนังมันไม่พิเศษมากมาย ที่ขายได้เสมอคือเนื้อหาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ต่างจาก Housekeeping ซึ่งฟันธงได้ยากว่าตัวละครเป็นไง มันเรียบง่ายซึมลึกจนน่ากลัว และมีอารมณ์ขันซึ่งแอบหดหู่ลึก ๆ
ในไต้หล้านี้ คนที่เหมาะจะรับมือเขียนหนังเรื่องนี้คือ filmsick เท่านั้นน่ะ
อ้าว โยนกันซะงั้น !
อนึ่ง เพิ่งได้ดู MR.FREEDOMไป
แร่ดทุกวินาทีจริงๆ
Post a Comment