9/30/08

The game is Over

ประกาศ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

ตามที่ได้เคยประกาศไว้ว่า ฟิล์มไวรัส จะจัดแสดงงาน “3 ทศวรรษศิลปะภาพยนตร์ผ่านงานวิจารณ์หนัง” ระหว่างวันที่ 9 – 28 มกราคม 2552 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น

ปัจจุบันขอยกเลิกงานเป็นการถาวร ขอขอบคุณนักวิจารณ์ทุกท่านที่ไม่มีความภูมิใจและไม่ศรัทธาในวิชาชีพของตัวเอง อีกทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือมา ณ ที่นี้
งวดนี้ไม่มีคำว่า รอ หรือคำว่า ทวง

9/29/08

I am a Sex Addict VCD

I am a Sex Addict VCD

I am a Sex Addict
หนังดังจากเทศกาลหนัง Rotterdam, Tribeca ของ Caveh Zahedi (ผู้กำกับอินดี้ชื่อดังจากหนังหาดูยากมากเรื่อง A Little Stiff) ในฉบับวีซีดีลิขสิทธิ์พากย์ไทย

I am a Sex Addict เจ้าของรางวัล “หนังยอดเยี่ยมที่ไม่ได้ฉายใกล้บ้านท่าน” ที่งาน Gotham Awards ปี 2005 มีจำหน่ายแล้วในชื่อไทยว่า “แบบว่า....ผมบ้าเสียว” Caveh Zahedi กำกับ-เขียนบทและนำแสดง โดยดัดแปลงจากเรื่องราวบางส่วนในชีวิตจริงของเขาเอง

(หมายเหตุ: สำหรับคนที่ชอบหนังเสียว.....แบบว่านี่ไม่ใช่หนังโป๊ครับท่าน)

9/28/08

ศาลาเฉลิมรักษ์ ตอนอำลา Paul Newman

Farewell to Paul Newman

วีรบุรุษคนนอกในยุค 60-70 ต้องมีคนนี้คนหนึ่ง
พอล นิวแมน ตายศุกร์ที่ 26 กันยายน 2551 ด้วยโรคมะเร็ง

9/25/08

Roger Corman in Thailand

Roger Corman in Thailand (again?)

ต้อนรับการมาร่วมงาน Bangkok International Film Festival 2008 ที่เมืองไทยของ Roger Corman ตำนานเจ้าพ่อหนังทุนน้อยอเมริกัน (อ่านเพิ่มเติมใน Filmvirus เล่ม 5 ฉบับปฏิบัติการหนังทุนน้อย)

นอกจากวีซีดี Litle Shop of Horrors ที่ Filmsick เคยแนะนำไปแล้วที่ http://filmsick.exteen.com/20080918/little-shop-of-horrors-roger-corman-1960

ก็ยังมีวีซีดีพากย์ไทยเรื่อง Big Bad Mama ที่มี แองจี้ ดิกกินสัน เล่นเป็นเจ้าแม่ม็อบ กับอีกเรื่อง Boxcar Bertha ที่ โรเจอร์ คอร์แมน อำนวยการสร้าง แต่ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เป็นผู้กำกับ

9/22/08

มูอัลลัฟ (The Convert)

หมายเหตุ : Ninamori ลูกสาวที่รักจำต้องไปปฏิบัติงานสำคัญเป็นเวลานานที่ปัตตานี และนี่คือตัวอย่างของบทบันทึกอันหนึ่งที่เธอเขียนค้างไว้ - filmvirus

มูอัลลัฟ (The Convert)
กำกับโดย ภาณุ อารี, ก้อง ฤทธิ์ดี, กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์

เขียนโดย Ninamori

เมื่อไม่นานมานี้ที่ร้านอาหารอิสลาม มีเด็กผู้หญิงใส่ชุดเนตรนารีคนหนึ่ง เธอนับถือศาสนาพุทธ และเป็นลูกค้าประจำของร้าน เธอตะโกนบอกพ่อ ซึ่งเปิดร้านขายส้มตำไก่ย่างใกล้ๆ กัน เธอเห็นว่าร้านของพ่อไม่ค่อยมีลูกค้า แต่ร้านอิสลามมีคนเข้าร้านเยอะ เธอจึงบอกกับพ่อว่า “โตขึ้นหนูจะเปิดร้านอาหารอิสลาม” เธอเข้าใจว่าเพียงแค่เขียนป้ายว่า “ร้านอาหารอิสลาม” ก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว แต่เธอไม่ได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริงที่ว่าคนขายก็ต้องเป็นมุสลิมด้วย อาหารและเครื่องปรุงที่ใช้ก็ต้องสะอาดถูกหลักอนามัย ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกอาหาร การล้างทำความสะอาด ตลอดจน การปรุงอาหาร ล้วนมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาทั้งสิ้น

ฉันว่ามันยากจริง ๆ ที่คนศาสนาอื่นจะเข้าใจคนศาสนาอิสลามได้แม้แต่น้อย แต่อย่างน้อยฉันก็ดีใจ ถ้าคนที่ต่างศาสนากันคนไหน ไม่หมดความพยายามที่จะเข้าใจกันและกันของพวกเขาไปเสียก่อน อย่างที่ได้เห็นจากหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง

“มูอัลลัฟ” คือหนังเรื่องที่ว่า หนังเรื่องนี้มันกำเนิดจากการที่ 3 หนุ่มอิสลามอยากรู้ว่าเพื่อนของเขาที่เป็นสาวไทยพุทธจะปรับตัวยังไง เมื่อได้มารักและแต่งงานกับผู้ชายอิสลาม มันเป็นชีวิตคนธรรมดาเรียบ ๆ ง่าย ๆ ที่ไม่น่าจะประหลาดหรือดูสนุก แต่มันก็น่าแปลกที่ชีวิตเรียบง่ายแบบนี้นี่แหละที่น่าสนใจเอามาก ๆ ซึ่งที่จริงเราควรจะได้ดู หรือทำความรู้จักกันมาตั้งนานแล้ว แต่น่าเสียดายว่าไม่มีรายการทีวีช่องไหนสนใจไปบันทึกมา

สาว “จูน” เป็นคนที่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง เธอไม่ใช่คนที่จะรอหมอดูบอกดวง เมื่อเธอรู้ตัวเองแล้วว่ารักชอบกับ เอก – ผู้ชายอิสลาม เธอปรึกษากับพ่อ แล้วก็ตัดสินใจได้เลยว่าเธอจะเลือกทางชีวิตยังไง แม้ว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนชีวิตของเธออย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สำหรับเธออะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ขอแค่ทำมันให้ดีที่สุดก็พอแล้ว

จูน เป็นคนต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพอย่างอิสระเสรี เหมือนนกที่บินในอากาศ เธอเป็นคนสดใส คุยสนุก ยิ้มแย้ม และเข้ากับคนได้ง่าย เธอจึงมาอยู่ในใจฉันอย่างง่ายดาย เกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ฉันเฝ้าติดตามดูชีวิตของเธอกับแฟนหนุ่ม หนังถ่ายทอดเรื่องราวได้สะเทือนใจ ทำให้รู้จักรสชาติของชีวิต หลายๆ ฉาก ฉันถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อเห็นจูนลำบาก และยังมีอุปสรรคก้อนโตรอเธออยู่ บางครั้งรู้สึกว่าเธอจะยอมแพ้ไหมนะ เพราะแค่รักกันสองคนยังว่ายาก แต่นี่กฎเกณฑ์ทางศาสนาวัฒนธรรม มันทำให้ชีวิตที่ยุ่งยากพอแล้วยิ่งหนักหนาเข้าไปอีก ไม่ง่ายเลยหนอชีวิตคน อย่างไรก็เถอะ ฉันเฝ้าขอพรจากพระเจ้า ขอจงโปรดประทานให้เธอโชคดี ปลอดภัย

มูอัลลัฟ เป็นหนังที่แสดงชีวิตจริงของคนสองคน แม้ว่าจะเป็นชีวิตที่ถูกคัดเลือกมาแล้วจากฟุตเตจ 140 ม้วน ก็ตาม แต่มันก็บริสุทธิ์จากการปรุงแต่งหรือชี้นำ มันไม่ใช่หนังที่คนทำจะเข้าไปพยายามก้าวก่ายหรือประเมินตัวละครว่าเลือกทางชีวิตถูกหรือผิด หนังเลือกเส้นทางที่เหมาะกว่า คือ ไม่สนใจที่จะรับใช้แนวคิดสถาบันไหน หรือ หลักศีลธรรมของใคร

ในช่วงต้นเรื่องหนังได้พาคนดูทำความรู้จักกับชีวิตของจูน เธอเป็นคนขยัน และชอบหาประสบการณ์ชีวิต เธอบริหารจัดการเวลาได้อย่างลงตัว ทำงาน 2 อย่าง กลางวันเป็นสาวออฟฟิศให้กับนิตยสาร Daco งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน ต้องคอยแอ็คทีฟตัวเองตลอดว่า หาข้อมูลข่าวสารให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน (เมื่อก่อนฉันส่งโปรแกรมหนังของดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ฯ ไปลง Daco เป็นประจำ ไม่แน่นะเราอาจเคยคุยกันทางโทรศัพท์มาแล้วก็เป็นได้) ส่วนหลังเลิกงานตอนเย็น เธอหารายได้พิเศษด้วยการขายเสื้อผ้ามือสอง ถึงจะเหนื่อยเมื่อยล้า แต่เธอก็มีความสุขในความสำเร็จจากหยาดเหงื่อของเธอ

บางคนอาจมองว่า “มูอัลลัฟ” ไม่ใช่หนังสารคดีที่สมบูรณ์ในแบบที่ควรจะเป็น ผู้กำกับต้องแจกแจงความถูกต้อง และรับผิดชอบหนังที่สร้าง นั่นถือเป็นความคิดที่ผิดค่ะ ไม่ยุติธรรมเท่าไรนัก ขอแค่ผู้ชมอย่ายึดติดกับสูตรสำเร็จ ผู้กำกับเป็นเพียงผู้นำเสนอชีวิตของคนคนหนึ่ง และถ่ายทอดเรื่องราวให้เราได้รับรู้เท่านั้น ผู้กำกับไม่ใช่ผู้ตัดสินความถูกต้อง ถามหน่อยเถอะ หากให้เลือกระหว่าง คน ชาติ ศาสนา... ว่าอย่างไหนสำคัญกว่า ก็คงเถียงกันใหญ่ เพราะสำหรับคนที่ขวาจัดก็จะมองว่า “ ชาติสิสำคัญที่สุด ต้องมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด ” แต่สำหรับคนที่เคร่งศาสนามากก็อาจมองว่า “ เฮ้ ! ศาสนาสิ ศาสนาต้องสำคัญกว่าอยู่แล้ว จะออกนอกหลู่นอกทางไม่ได้เด็ดขาด ” แต่บางทีนะ ถ้าแต่ละคนตอบอย่างจริงใจ ไม่ใช่หรอกหรือที่คุณค่าของจิตใจ “คน” นั้นควรจะเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญก่อนอื่น (ตราบใดที่เขาไม่ไปทำร้ายหรือลบหลู่ใคร) ส่วนกรอบเกณฑ์ทางสังคมน่ะก็จำเป็น แต่ไม่ใช่มีไว้ครอบหัวคิด

สำหรับเรื่อง “ มูอัลลัฟ” อยากให้มองที่ตัวบุคคล ซึ่งเป็นแกนสำคัญของเรื่อง ก็พูดกันไม่ใช่หรือว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี แล้วถ้าคนเคร่งศาสนาประพฤติไม่เหมาะสม แถมแอบอ้างศาสนาทำลายคนอื่น เขายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า จึงอยากให้ดูหนังอย่างเปิดใจ อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรทั้งนั้น ให้ดูว่า จูน และ เอก นั้น เป็นคนไม่ดีจริงๆ หรือเปล่า ในโลกนี้ไม่มีใครอยากทำผิดหรอก ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ยิ่งเป็นศาสนาที่ตัวเองไม่ได้นับถือตั้งแต่แรกยิ่งแล้วใหญ่ เพราะจะมีเรื่องให้เข้าใจผิดได้ง่ายๆ

ชีวิตของจูนก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าเธอจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ชีวิตการเป็นมุสลิมเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น หนทางข้างหน้ายังอีกไกลโข แต่เราคนดูก็อดเป็นกำลังใจช่วยให้เขาพยายามฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้ ตอนแรกคนดูอาจมีอึ้ง เมื่อฟัง จูน ให้สัมภาษณ์ว่า รักชอบกับเอก หลังจากเพิ่งรู้จักกับเอกแค่ไม่ถึงอาทิตย์เท่านั้น อะไรทำให้เธอถึงตอบตกลงแต่งงานกับเอก ทำไมเธอถึงไว้วางใจเอกมากขนาดนั้น อะไรทำให้เธอเชื่อว่าเอกน่าจะเป็นผู้ชายคนสุดท้ายที่จะรักและดูแลเธอตลอดไป ส่วนเอก เราไม่สงสัยเท่าไรนัก เพราะเขาเฝ้าชื่นชมจูนอยู่ห่างๆ มานานเกือบ 4 ปี สำหรับเอกแล้ว เขามั่นใจว่า “จูน” คือ คู่ชีวิตที่พระเจ้าประทานมาให้และต้องการให้เขาดูแลเท่าชีวิต

ฟังดูชีวิตน่าจะไปได้สวยนะ แต่ยังก่อน ช้าก่อน เพราะนี่เป็นเพียงการทดสอบที่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น เพราะความรักอาจสำคัญก็จริง แต่ชีวิตจริงคือความรับผิดชอบ สถานการณ์นั้นน่าเป็นห่วง เพราะค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวันบังคับให้สองคนนี้ต้องกลับมาทำงานในกรุงเทพ มันยังมีปัญหาความหย่อนความเคร่งครัดในหลักปฏิบัติทางมุสลิม ซึ่งทั้ง จูน และ เอก ต่างก็เป็น

ความเด็ดเดี่ยวใจกล้าของ จูน ที่เดินหน้าแล้วไม่ยอมหันหลัง นั้นเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง เราคนดูเองก็ยิ่งสมควรเคารพ ยอมรับ และให้กำลังใจกับการตัดสินใจครั้งสำคัญอันนี้ เพราะมันไม่ใช่เพียงการเริ่มต้นชีวิตกับอีกหนึ่งคนเท่านั้น แต่มันเป็นการยินยอมตกลงใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ จากที่นับถือศาสนาพุทธ เปลี่ยนมาเป็นอิสลามตามสามี เรียกว่า “มูอัลลัฟ” (บุคคลต่างศาสนาที่เข้ารับเป็นอิสลาม) ซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับหลักศาสนาที่รายล้อมด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เรียกได้ว่าชีวิตของสองคนนี้เป็นตัวอย่างของศรัทธาที่เราคนดูควรหล่อเลี้ยงไว้ให้ได้

นี่หรือพลังของความรัก มันช่างยิ่งใหญ่นัก มันมีอานุภาพที่สามารถทำให้คนคนหนึ่งก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ กล้าทำทุกสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต ยิ่งตอนที่รู้ว่าถึงเวลาถือศีลอดในเดือนรอมฏอน (1) ซึ่งเธอก็ทำได้ดี ผ่านบททดสอบนี้โดยไม่เป็นอะไร แถมยังสามารถทำงานบ้านปกติได้

และนี่คือชีวิตของ จูน ชีวิตที่ยังต้องต่อสู้อีกมากมาย ณ เวลานั้นตอนที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ แม้ว่าเธอจะเพิ่งเข้ารับเป็นอิสลามเพียงไม่กี่เดือน แต่เราก็เห็นความพยายามของเธอ และฉันเชื่อว่าในอนาคตเธอจะเป็นมุสลิมที่ดี ขอเป็นกำลังใจให้ จูน สู้ สู้

เหนือสิ่งอื่นใด ฉันคิดว่าคนทำหนังสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมานั้นได้ทำบุญวาสนาที่สุดพิเศษ การที่เราคนดูได้มีโอกาสเข้าไปติดตามดูชีวิตใกล้ชิดของเพื่อนมนุษย์สักคน โดยเฉพาะชีวิตที่มีค่ามีความหมายต่อชีวิตของคนแปลกหน้าอย่างฉันนั้น คงไม่มีของขวัญที่มีค่าแก่ชีวิตไปกว่านี้อีกแล้ว

"มูอัลลัฟ” หรือ The Convert จะฉายอีกครั้งในงานเทศกาลหนังนานาชาติกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 23-30 ก.ย.51

(1) รอมฏอน คือ การงดอาหาร เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่เช้ามืดถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ช่วงเวลา 4.30 น. ถึง 18.30 น. ในเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนจนคนรวย เพราะความหิวโหยทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกถึงความอ่อนแอของตัวเอง เขาผู้นั้นจะไม่หยิ่งผยองอวดอ้างว่าตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เกิดความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาอยากช่วยเหลือผู้ยากไร้ และในทางการแพทย์การอดอาหารถือว่าเป็นการล้างพิษที่ดีอย่างหนึ่ง

9/20/08

PUT THE GUN DOWN!

THIRD CLASS CITIZEN presents
THIRD CLASS CINEMA : PROGRAMME 009

PUT THE GUN DOWN!
: WEERASAK SUYALA RETROSPECTIVE


จะเป็นอย่างไรเมื่อตำรวจวางปืน
หันมาถือกล้อง และ ออกลาดตระเวนถ่ายหนังนอกเวลาราชการ !

เดือนนี้ THIRD CLASS CITIZEN ฉายผลงานหนังสั้นอภิมหาอาวองการ์ดแบบโอท็อป

จาก ดาบตำรวจวีระศักดิ์ สุยะลา ตำแหน่งงานป้องกันปราบปราม ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ สถานีตำรวจภูธรพิบูลมังสาหาร
จ.อุบลราชธานี

หนังของดาบตำรวจวีระศักดิ์สร้างความมึนงงแก่ผู้ชมมาแล้วกลางเทศกาลหนังสั้น 12 เพราะหนังของคุณพี่เขาหักทุกกฎของการสร้างภาพยนตร์ ไม่สนใจเทคนิคใดๆ ทั้งสิ้น และตั้งหน้าเล่าเรื่องที่อยากเล่าแบบลุยดะ จนกลายมาเป็นหนังที่หลายคนดูแล้วต้อง
เหวอว่า ‘พี่เอางี้เลยเรอะ !!’

PUT THE GUN DOWN
ฉายวันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม 2551
เวลา 19.00 น. / BIOSCOPE THEATER
(ซ.รัชดา 22 / MRT รัชดา ประตู 4)
และพูดคุยกับดาบตำรวจวีระศักดิ์ ที่ลงทุนเดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี
เพื่องานนี้โดยเฉพาะ

ชมฟรี ไม่ต้องจองที่นั่งจ้า

รายละเอียดอีกมากมายที่
http://thirdclasscitizen.exteen.com/
http://thirdclasscitizen.hi5.com/

อีเมล์ที่
thirdclasscitizen@hotmail.com, merveillesxx@hotmail.com, nawee4@hotmail.com

โทร 089-685-5253

9/6/08

Happy Birthday to Werner Herzog

ฉลองวันเกิดย้อนหลัง 5 กันยายน ครบรอบ 66 ปี แวร์เนอร์ แฮร์โซก (Werner Herzog)

Happy Birthday to Werner Herzog, one of the greatest living filmmaker in the world.


วีซีดีลิขสิทธิ์ไทย Aguirre, Wrath of God และ Cobra Verde
http://twilightvirus.blogspot.com/2008/01/werner-herzog.html

รีวิว Aguirre, Wrath of God โดย อุทิศ เหมะมูล ที่ Artvirus / Onopen
http://www.onopen.com/2005/02/108

อ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียดเกี่ยวกับ Werner Herzog ได้ในหนังสือ The 8 Masters ของ filmvirus / onopen

9/5/08

โครงการภาพยนตร์เพื่อสันติภาพ Please Peace Me

โครงการภาพยนตร์เพื่อสันติภาพ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เชิญชมหนังสั้นเพื่อสันติภาพจาก 50 ผู้กำกับไทย


สถานที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน 2551
เวลา 13.00 น. –18.00 น.
ติดต่อ : พัฒนะ จิระวงษ์
08-18-758-064

อีเมล ptnchirawong@hotmail.com

ประกวดบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ

ขอเชิญส่งบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครเข้าประกวด เพื่อรับรางวัล บทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ประจำปี 2551

คณะกรรมการบริหารกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ จะจัดให้มีการประกวดบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2551

บทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. เป็นบทวิจารณ์ที่วิจารณ์ภาพยนตร์ ละครเวที ไทยหรือต่างประเทศ
2. เป็น บทวิจารณ์ที่เขียนเป็นภาษาไทย ไม่ได้คัดลอกดัดแปลงหรือแปลจากงานของผู้อื่น ยกเว้นในกรณีที่ใช้ในการอ้างอิงโดยระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
3 เป็นบทวิจารณ์ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน หรือที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่แล้วระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2551
4. ผู้มีสิทธิ์ส่งบทวิจารณ์ ได้แก่ ผู้เขียนบทวิจารณ์เอง หรือผู้อื่นที่ได้รับความยินยอมเป็น ลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียน
5. ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วสามารถส่งบทวิจารณ์เข้าประกวดได้อีก

กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาให้รางวัลดีเด่น 1 รางวัล (20,000.- บาท) หรืออาจมีรางวัลชมเชย 1 รางวัล (10,000.- บาท) ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ในกรณีที่บทวิจารณ์มีคุณภาพทัดเทียมกันกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอาจพิจารณาให้ รางวัลได้มากกว่า 1 รางวัล และอาจงดไม่ให้รางวัลหากพิจารณาว่า ไม่มีบทวิจารณ์ใดได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้

ผู้ส่งบทวิจารณ์เข้ารับการพิจารณาเพื่อรับรางวัล จะต้องส่งบทวิจารณ์ 3 บทต่อผู้เขียน 1 คนไปยัง ฝ่ายเลขานุการกองทุน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ อาคารศศปาฐศาลา ชั้น 9 ซอยจุฬา 12 ถนนพญาไท กรุงเทพฯ 10330 ภายในวันที่ 30 กันยายน 2551 (โทรศัพท์ 02-218-3896)

9/4/08

ประกวดหนังสั้น นักมวยเด็ก

คุณคิดอย่างไรหากศิลปะมวยไทยที่มีคุณค่า.....กลายเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัวของคนแค่บางกลุ่ม และที่ยิ่งกว่านั้น... มันยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงต่อเยาวชนของชาติอีกด้วยทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีชกมวยอาชีพ อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยก็ระบุไว้เช่นกันว่า เยาวชนต้องได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้วงการมวยไทยกลับคราคร่ำไปด้วยนักมวยเด็กนับหมื่นราย! และเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขายอมขึ้นไปเจ็บตัวบนเวทีคือเงินค่าชกเพียง 50 – 600 บาทต่อครั้งเพื่อช่วยฐานะทางบ้านอันยากจน แม้จะสูญเสียโอกาสทางการศึกษาและสุ่มเสี่ยงต่อ ความตาย และ ความพิการ ในอนาคต หากสังคมยังไม่เกิดความตระหนักในปัญหานี้ เยาวชนเหล่านั้นคงเป็นเพียงสินค้าที่กอบโกยความร่ำรวยและสะใจของคนกลุ่มหนึ่งต่อไป ภายใต้ข้ออ้างว่าอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนที่ห่วงใยปัญหานี้มาช่วยกันใช้พลังของสื่อภาพยนตร์สร้างทัศนคติที่เหมาะสมแก่สังคม โดยรายละเอียดเข้าร่วมโครงการมีง่ายๆ ดังนี้

- เปิดรับผู้สนใจทุกเพศทุกวัย โดยส่งเรื่องย่อไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 หัวข้อ ‘นักมวยเด็ก...ศิลปะหรือสะใจ? กีฬาหรือความรุนแรง?’ ของหนังสั้นความยาวไม่เกิน 20 นาทีมาที่ นิตยสาร ‘ฟิ้ว’ 410/118 ซ.รัชดาภิเษก 22 ถ.รัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม. 10310

หรือส่งทางอีเมล์ที่ fuse@bioscopemagazine.com ก่อน 15 ตุลาคม 2551 (ไม่จำกัดแนวทางของหนัง / จะทำคนเดียวหรือเป็นทีมก็ได้ / ส่งคนละหรือทีมละกี่เรื่องก็ได้) - ผลงานทั้งหมดจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 เรื่อง เพื่อเข้ามาอธิบายรายละเอียดต่อคณะกรรมการ ก่อนจะตัดสินเลือกเรื่องเดียวที่จะได้รับทุน 100,000 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นหนังสั้นให้เสร็จสมบูรณ์ และจัดฉายพร้อมเสวนาเกี่ยวกับปัญหาด้านนี้ ให้สังคมวงกว้างเกิดความเข้าใจต่อไป

หมายเหตุ1. อ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์นักมวยเด็กในประเทศไทย ได้จากนิตยสาร ฟิ้ว ฉบับที่ 20 (กันยายน 2551)2. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ bioscopemagazine.com หรือ โทร. 02-5415318 ต่อ 15 (ติดต่อ นพ, ไอซ์)

9/2/08

ฟิ้วแคมป์ 16 : ตอน 'หนังสยอง'

ฟิ้วแคมป์ 16 : ตอน 'หนังสยอง'

เสาร์ 20 กันยายน 2551TK PARK ห้องมินิเธียเตอร์ 2 เวลา 13.00 เป็นต้นไปขอเชิญผู้กำกับที่มีงานภาพเคลื่อนไหว (ไม่จำกัดรูปแบบ หนังสั้น, สารคดี, เอ็มวี, โมชั่นกราฟฟิก ฯลฯ) ที่เป็นแนวหนังสยองร่วมงานฟิ้วแคมป์ครั้งนี้ได้เลยจ้ะ จะเป็น สยองหลอน, สยองระทึก, สยองแหวะ, สยองเลือดสาด, สยองฮาก๊าก, สยองตลกร้าย, สยองสุดมึน, สยองบ้านๆ หรือ สยองอาร์ตแตก ก็ได้ทั้งนั้น

ส่วนใครไม่มีงานมาโชว์ ก็มาดู + แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้งานนี้เข้าชมฟรี แล้วพบกันในงานจ้า

* รบกวนผู้ที่จะโชว์ผลงานลงชื่อที่ fuse@bioscopemagazine.com หรือ 02-541-5318 (ต่อสาย แอ็ค วรรณ แอน หรือ นพ) ด้วย แต่ถ้าไม่สะดวกก็เจอกันหน้างานเลยก็ได้ครับรายละเอียดเพิ่มเติม http://fuseblog.exteen.com/ (คลิกตรง Fuse Camp)