7/31/08

TOOTSIE ชื่อนี้มีที่มา

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์kalapapruek@hotmail.com

TOOTSIE เป็นชื่อของภาพยนตร์ตลกโรแมนติกระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ของผู้กำกับ Sydney Pollack ซึ่งเพิ่งจะลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อกลางปี 2008 ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี 1982 เรื่องนี้นับเป็นการรับบทบาทการแสดงที่โดดเด่นและน่าประทับใจมากที่สุดบทหนึ่งของนักแสดงชายระดับแถวหน้าของวงการอย่าง Dustin Hoffman เลยทีเดียว

Dustin Hoffman รับบทบาทเป็น Michael Dorsey นักแสดงหนุ่มผู้ตกอับที่ไม่มีผู้กำกับละครรายไหนยอมให้เขาได้รับเล่นบทใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเล็กบทน้อยเพียงไหนก็ตาม เมื่อเริ่มหมดสิ้นหนทาง Michael จึงตัดสินใจลุกขึ้นปลอมตัวเองเป็นผู้หญิงแล้วไปสมัครคัดเลือกนักแสดงโดยใช้ชื่อ Dorothy Michaels เพื่อรับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของโรงพยาบาลในละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศตอนกลางวันเรื่อง Southwest General Hospital จนกระทั่งได้บท! Michael ในร่างของ Dorothy จึงต้องใช้ความสามารถทางการแสดงในการ ‘เล่นละคร’ ตบตาทั้งคนดูและทีมงานในกองถ่ายโดยไม่มีใครระแคะระคายเลยว่า Dorothy มิใช่หญิงแท้! เหตุการณ์เริ่มวุ่นวายมากขึ้นเมื่อละครเรื่องนี้เกิดดังเป็นพลุแตกจากบทหญิงเหล็กผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ชายหน้าไหนของ Dorothy ที่ Michael แสดงออกมาได้อย่างเยี่ยมยอดนั่นเอง ซึ่งก็ทำให้ Dorothy กลายเป็นวีรสตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในสื่อโทรทัศน์และตามหน้านิตยสารต่าง ๆ ในชั่วเวลาข้ามคืน

ด้วยฐานะของหญิงเก่งยุคใหม่ท่ามกลางกาลสมัยแห่งการลุกขึ้นเรียกร้องความเท่าเทียมของอิสตรี Michael เริ่มรู้สึกหนักใจเมื่อความดังของละครทำให้เขาได้รับข้อเสนอให้ต่อสัญญาเพื่อรับบทบาทนี้ไปอีกหนึ่งปี แถมเขายังไปแอบมีใจให้กับ Julie Nichols (แสดงโดย Jessica Lange) แม่ลูกอ่อนที่รับบทบาทเป็นนางพยาบาลในละครเรื่องเดียวกัน อีกทั้งยังถูกนักแสดงชายวัยทองผู้บ้ากามและบิดาบังเกิดเกล้าของ Julie มายื่นแหวนขอแต่งงานกับเขาอีกด้วย! Michael จะหาทางออกต่อสถานการณ์นี้อย่างไร คงต้องขอเชิญชวนให้ได้หาโอกาสติดตามกันจากหนังตลกชั้นดีมากมีรสนิยมเรื่องนี้

ความสนุกของหนังนอกจากจะอยู่ที่มุกโปกฮาของการรับมือกับสถานการณ์วุ่นวายรอบด้านของ Michael ในขณะที่ต้องปลอมตัวเป็น Dorothy แล้ว หนังยังมีน้ำเสียงของการเสียดสีที่ให้สาระด้านการยกชูการเรียกร้องสิทธิสตรีได้อย่างน่ารักน่าชังอีกด้วย ด้วยสถานการณ์ที่ผูกรัดให้ Michael จะต้องรับบทบาททั้งนอกจอและในจออย่างแนบเนียน ผู้ชายแท้ทั้งแท่งอย่างเขาจึงต้องหันมาสนใจเรื่องราวสวย ๆ งาม ๆ ต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่า จะใช้ mascara หรือ eye-shadow สีใดดี หากสวมเสื้อลายนี้กับกะโปรงตัวนี้แล้วมันจะเข้ากันไหม ไปจนถึงการแสดงกิริยารักนวลสงวนตัวเยี่ยงกุลสตรีที่จะไม่ยอมตกเป็นวัตถุทางอารมณ์จากบรรดาหนุ่มใหญ่จอมตัณหาอย่างหยิ่งทะนง! ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับเสียงชื่นชมจากกลุ่ม Feminist ทั้งหลายในช่วงเวลานั้นอย่างท่วมท้น เพราะการที่หนังได้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์จำเป็นที่ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะมีโอกาสได้รับรู้รสชาติของการเป็น ‘ผู้หญิง’ ดูบ้างนั้น มันช่างเป็นเรื่องชวนสะใจที่จะทำให้ฝ่าย ‘ผู้ชาย’ ได้สำเหนียกและเรียนรู้กันเสียบ้างว่า การเป็นผู้หญิงนั้นมันลำบากขนาดไหน!

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงบนเวทีออสการ์เมื่อหนังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลต่าง ๆ ถึง 9 สาขารวมทั้งสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี โดยมี Jessica Lange เป็นผู้คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้เพลงประกอบหนังอย่าง It Might Be You ซึ่งแต่งและร้องโดย Stephen Bishop ก็ยังกลายเป็นเพลงฮิตติดหูเป็นที่นิยมฟังกันจนถึงทุกวันนี้

สำหรับชื่อหนัง TOOTSIE นั้น คือชื่อเรียกล้อที่ผู้จัดละครชายใช้เรียกขาน Dorothy ขณะสั่ง take ในการถ่ายทำฉากหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ Dorothy เกิดอาการวีนแตกขึ้นมาทันทีเมื่อเธอถูกเรียกขานอย่างไม่ให้เกียรติ พร้อมสำทับกลับไปอย่างทันควันว่า ชื่อของเธอนั้นคือ Dorothy, D-O-R-O-T-H-Y ไม่ใช่ TOOTSIE โปรดเรียกขานใหม่ให้ถูกต้องด้วย! คำว่า TOOTSIE นี้ เป็นคำแสลงภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเด็กผู้หญิง เทียบกับคำไทยแล้วน่าจะแปลได้ว่า ‘อีหนู!’ หรือ ‘น้องสาว!’ ซึ่งคำนี้ Dustin Hoffman เป็นผู้เสนอให้ใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง โดยเขายืมมาจากชื่อเล่นของสุนัขที่มารดาของเขาเลี้ยงไว้ในเวลานั้น

เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสได้เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2526 คำว่า ‘ตุ๊ดซี่’ จึงได้กลายเป็นคำฮิตติดปากในหมู่คนไทยใช้เรียกชายกะเทยที่นิยมการแต่งเนื้อแต่งตัวและแสดงจริตกิริยาเยี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ตุ๊ด’ แต่ก็มีผู้สันทัดกรณีหลายรายยืนยันว่า มีการใช้คำว่า ‘ตุ๊ด’ เรียกชายกะเทยกันในเมืองไทยมาก่อนหน้าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในอเมริกาเสียด้วยซ้ำ โดยสันนิษฐานกันว่ามันน่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า toots ซึ่งมีความหมายเดียวกับ tootsie แต่มีการแผลงความหมายใช้เรียกชายที่มีบุคลิกตุ้งติ้งนุ่มนวลเพิ่มเติมจากนิยามความหมายเดิมของคำศัพท์ที่จำกัดเฉพาะผู้หญิงแต่เพียงอย่างเดียว

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวชีวิตอันหลากหลายของ ‘ตุ๊ดซี่’ ‘เกย์’ ‘กะเทย’ ‘เก้ง’ ‘กวาง’ ‘ทอม’ ‘ไบ’ ‘ดี้’ ‘เบี้ยน’ รวมทั้งกลุ่ม ‘คนข้ามเพศ’ ทั้งหลาย สามารถติดตามอ่านได้จากหนังสือ “QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks ซึ่งจะมีงานเปิดตัว เริ่มวางจำหน่าย พร้อมทั้งฉายหนังบางเรื่องให้ได้ดูกันในวันที่ 2-3 สิงหาคม 2551 ณ People Space Gallery

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.onopen.com/2008/editor-spaces/3101

No comments: