7/18/08

[ ศิลปะแห่งความว่าง ]

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

ในเมื่อนิยามความหมายดั้งเดิมของคำว่า ‘ศิลปะ’ ได้กำหนดไว้ว่ามันคือสิ่งสร้างสรรค์อันเป็นผลงานของมนุษย์ที่ใช้สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกภายใน แต่หากว่าผลงาน ‘ศิลปะ’ ของศิลปินรายใดกลับกลายเป็นความว่างเปล่าปราศจากสารัตถะหรือความหมายใด ๆ มันจะยังเป็นงาน ‘ศิลปะ’ อยู่อีกไหม?

คำถามเชิงปรัชญาศิลปะนี้ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในวงการ เมื่อศิลปินอเมริกันนามอุโฆษอย่าง Robert Rauschenberg ได้เปิดการแสดงผลงานทัศนศิลป์นามว่า The White Paintings ณ Black Mountain College รัฐ North Carolina เมื่อปี ค.ศ. 1951 และได้สร้างกระแสแปลกใหม่ให้กับวงการศิลปะในทันที ผลงานชุด The White Paintings นี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการแสดงผืนผ้าใบที่ฉาบทาด้วยสีขาว โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นแถบริ้วหรือรูปทรงต่าง ๆ โดยปราศจากรูปร่างหรือสีสันอื่นใดอีกเลย ผืนผ้าใบสีขาวอันว่างเปล่านั้นสร้างความฉงนสนเท่ห์ในความไม่มีอะไรให้แก่ผู้เข้าชมการแสดงในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก แนวคิดอันแปลกใหม่นี้ Robert Rauschenberg ได้พัฒนามาจากศิลปะในกลุ่ม Abstract Expressionism ที่ปล่อยให้ศิลปินเอาสีมาสาดละเลงกันตามอำเภอใจโดยไม่ต้องนำพารูปร่างหรือรูปทรงใด ๆ กันอีก แต่ใน The White Paintings นี้ Robert Rauschenberg ได้ก้าวไปอีกหนึ่งขั้นด้วยการหันหลังให้กับองค์ประกอบเชิงศิลปะของชิ้นงานแทบทั้งมวลจนเหลือเพียง concept หลักของการเป็น The White Paintings ที่ Robert Rauschenberg ตั้งใจเพียงเท่านั้น การลดทอนองค์ประกอบของ Robert Rauschenberg ในงานชิ้นนี้ถือเป็นรากฐานของศิลปะในกลุ่ม Minimalism ซึ่งจะได้รับความนิยมในเวลาต่อมา

Robert Rauschenberg ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ไว้ว่า เขาไม่คิดว่าภาพต่าง ๆ ในชุด The White Paintings จะเป็นงานศิลปะ (ถึงแม้ว่ามันจะถูกจัดแสดงในฐานะงานศิลปะก็ตาม) หากเป็นเพียงประสบการณ์ทางการมองเห็นอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยมันขึ้นอยู่กับผู้ชมแต่ละรายว่าจะมองภาพเหล่านี้ไปในทางใด ระหว่างความว่างเปล่าจนเกินไปหรือความขาวที่ถูกระบายจนแน่นเต็ม!

ภาพ The White Painting ฉบับสามแถบริ้ว โดย Robert Rauschenberg

ผลงาน The White Paintings ของ Rauschenberg นับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ John Cage นักประพันธ์ดนตรีหัวก้าวหน้าได้แต่งบทคีตนิพนธ์ชื่อ 4’33” ในปีต่อมา บทประพันธ์ชิ้นนี้ John Cage ประพันธ์ขึ้นสำหรับเครื่องดนตรีหรือวงดนตรีชนิดใดก็ได้ โดยนักดนตรีจะต้องนั่งเฉย ๆ ไม่บรรเลงตัวโน้ตใด ๆ เป็นระยะเวลา 4 นาที 33 วินาที ตามชื่อของบทประพันธ์ แนวคิดของคีตนิพนธ์บทนี้ต่อยอดมาจากดนตรีในกลุ่ม Chance Music ที่ John Cage เป็นหนึ่งในหัวหอกในช่วงปี 1950s สำหรับดนตรี Chance Music นี้ผู้ประพันธ์จะมุ่งเน้นการเลือกตัวโน้ตและจังหวะในการบรรเลงจากหลักความน่าจะเป็น โดยกำหนดให้ตัวโน้ตแต่ละตัวรวมทั้งความสั้นยาวของมันถูกเลือกอย่างสุ่มด้วยวิธีการจับสลาก แต่ถึงแม้ว่าผู้บรรเลงจะเปิดโอกาสให้ทุกตัวโน้ตและจังหวะสั้นยาวต่าง ๆ มีโอกาสในการถูกเลือกใช้อย่างเท่าเทียมกันอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้มักจะกลายเป็นเสียงแห่งความโกลาหลวุ่นวายหาความไพเราะไม่ได้อยู่นั่นเอง หากแต่ศิลปินแห่งวงการดนตรี Chance Music กลับมองว่า เสียงเหล่านี้ต่างหากที่สะท้อนถึงดนตรีธรรมชาติได้ดียิ่งกว่าสุ้มเสียงแห่งการประดิดประดอยของการเรียงร้อยทำนองตามขนบการประพันธ์แบบดั้งเดิมเสียด้วยซ้ำ

หัวใจสำคัญในการบรรเลงบทประพันธ์ 4’33” จึงไม่ได้อยู่ที่ ‘ความเงียบ’ ของเสียงดนตรี หากแต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้ฟังได้สนใจฟังเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากผู้บรรเลงและหมู่ผู้ชม เช่นเสียงขยับตัว เสียงกระแอมไอ หรือเสียงกระซิบกระซาบพูดคุยกันเป็นต้น 4’33” ออกแสดงครั้งแรกในงานแสดงดนตรีสมัยใหม่ของ Woodstock Artists Association ณ กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1952 โดยมี David Tudor นักดนตรีแนว Avant-garde รับหน้าที่เป็นผู้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีเปียโน ความแหวกแนวแบบสุดโต่งของการแสดงในครั้งนี้ทำให้เหล่านักวิชาการดนตรีต้องหันกลับมาทบทวนนิยามความหมายของ ‘ดนตรี’ กันใหม่เลยทีเดียว


บทประพันธ์ 4’33” ของ John Cage นี้ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ Peters โดยใน score ของดนตรีนั้น John Cage ได้แบ่งบทประพันธ์ออกเป็นสามกระบวนท่อนด้วยกัน และในแต่ละกระบวนท่อน John Cage จะใช้คำศัพท์ทางดนตรีภาษาลาติน TACET ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ความเงียบ’ มากำกับ คำศัพท์ TACET นี้โดยปกติแล้วจะใช้บ่งบอกแนวบรรทัดของเครื่องดนตรีบางชิ้นที่ร่วมบรรเลงในวงดุริยางค์ขนาดใหญ่เพื่อแจ้งให้นักดนตรีทราบว่า บทประพันธ์ในท่อนกระบวนนั้น ๆ ไม่ต้องการการบรรเลงจากเครื่องดนตรีชนิดนั้น

Score บรรเลงของบทประพันธ์ 4’33” โดย John Cage ที่มีเพียงคำสั่งกำกับว่า TACET ในทั้งสามกระบวนท่อน

เมื่อ ‘ความว่าง’ ได้รุกรานวงการศิลปะมาถึงสองแขนงแล้ว ในแวดวงวรรณกรรมเองก็ดูจะมิได้น้อยหน้า เมื่อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมไทยมายาวนานกว่า 30 ปี ได้ประพันธ์เรื่องสั้นเชิงทดลองชื่อว่า ‘ความว่าง’ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ช่อการะเกด ฉบับที่ 36 มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ให้การเกี่ยวกับเรื่องสั้น ‘ความว่าง’ นี้ว่า มันเป็นเรื่องสั้นสาธิตที่สามารถอธิบายความหมายแท้ ๆ ของ ‘งานประพันธ์แนวทดลอง’ ได้เป็นอย่างดี และตัวเขาเองที่เป็นผู้บัญญัติคำว่า “แนวทดลอง” และ “เรื่องสั้นแนวทดลอง” ขึ้นเป็นคนแรก โดยมีหลักฐานจาก ‘บทกล่าวนำ’ ในเรื่องสั้นชุด ช่อปาริชาต: ฝนหยดเดียว (พ.ศ. 2535) ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการเป็นเครื่องยืนยัน


บางส่วนของเรื่องสั้นชื่อ ‘ความว่าง’ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘ช่อการะเกด’ ฉบับที่ 36


เรื่องสั้น ‘ความว่าง’ นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งใน ‘กถาบรรณาธิการ’ ประจำฉบับที่ 36 ของนิตยสาร ช่อการะเกด ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ใช้เป็นพื้นที่สื่อสารกับผู้อ่านในฐานะบรรณาธิการ โดยเรื่องสั้นเรื่องนี้ประกอบไปด้วยชื่อ ‘ความว่าง’ พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่สีขาวขอบดำบริเวณกลางหน้า 11 จากนั้นเนื้อหาของเรื่องสั้นก็จะมีแต่ความว่างเปล่าไปจนกระทั่งถึงส่วนต้นของหน้า 14 จึงจะมีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าสีดำทึบขนาดเล็กแสดงตำแหน่งจบของเรื่อง ‘ความว่าง’ จึงนับเป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึง ‘ความว่าง’ โดยใช้ความว่างจริง ๆ มาเป็นเครื่องมือบอกเล่า โดยผู้ประพันธ์มีวัตถุประสงค์ในการแสดงวิธีการอันเปิดกว้างของแนวทาง ‘ทดลอง’ ที่ควรจะต้องมีอิสระอยู่เหนือกรอบเกณฑ์ทั้งมวล

เรื่องสั้น ‘ความว่าง’ ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งในรวมเรื่องสั้นชุด ความว่าง ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี โดยสำนักพิมพ์สามัญ-ชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยมีการจัดเรียงหน้าและใช้รูปแบบตัวอักษรแบบใหม่รวมทั้งมีความยาวเพิ่มขึ้นจาก ‘ความว่าง’ ฉบับช่อการะเกดอยู่หลายเท่าตัว


สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจ ‘ศิลปะแห่งความว่าง’ ในงานภาพยนตร์ สามารถร่วมชมภาพยนตร์แห่งความว่างเรื่อง ABSOLUTE โดย ‘กัลปพฤกษ์’ ได้ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เวลา 15.00 น. ณ งานหนังสั้นมาราธอน ห้องฉาย ASYLUM ชั้น 3 อาคารอาณารักษ์ ถนนสีลม ซอย 3


โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง ABSOLUTE (2008)



No comments: