7/31/08

Youssef Chahine ตาย! ปิดฉากตำนานหนังอียิปต์บทสำคัญ

Youssef Chahine ตาย! ปิดฉากตำนานหนังอียิปต์บทสำคัญ

รายงานโดย สำนักข่าวฟิล์มไวรัส

มรณะ เมื่ออายุ 82 ปี วันที่ 27 กรกฎาคม 2551

"In Chahine’s films, reality is always enchanting".
Jean Renoir

นอนโรงแรมดูข่าว TV5 ของฝรั่งเศสเมื่อ 3-4 วันก่อน เลยได้เห็นพิธีศพของ ยูซเซฟ ชาฮีน (Youssef Chahine) ผู้กำกับอียิปต์ที่เคยปลื้มมาก ๆ จากเรื่อง Silence……We Are Rolling (2001) ซึ่งเคยฉายในงานเวิล์ดฟิล์มเมื่อปีแรก ๆ (อย่างที่บันทึกไว้ในหนังสือ 151 Cinema ของ filmvirus และ openbooks)

จำได้ว่าหนังเรื่องแรกของ ชาฮีน ที่เคยดูจากเทศกาลหนัง 35 มม. ที่สมาคมฝรั่งเศส คือเรื่อง Adieu, Bonaparte (1985) เรื่องนี้มี Michel Piccoli นำแสดง แต่ดูแล้วหลับโลด

คนส่วนใหญ่รวมทั้งในเมืองไทยอาจเห็นคุณค่าของ ชาฮีน ผ่าน ๆ ในทางอ้อมโลก หากมีใครบอกพวกเขาว่านี่แหละคือคนที่ค้นพบเพชรเม็ดงามแห่งวงการหนัง - โอมาร์ ชารีฟ (Omar Sharif) นักแสดงชาวอียิปต์ที่มาเด่นดังทั่วโลกจากการแสดงเป็นคนรัสเซียในเรื่อง Dr. Zhivago

คนฝรั่งเศสปลื้ม ชาฮีน มานานแล้ว เพราะทำหนังได้ทุนฝรั่งเศสตลอด พอตายปุ๊ปก็มีหนังสารคดีสดุดีตัวเขากับหนังเก่าที่เขาเคยทำออกมาฉายทาง TV 5 ทันที แล้วพากย์ฝรั่งเศสทับเสียด้วย

ส่วนคนอเมริกันส่วนใหญ่น่าจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร ถ้าพอมีคนรู้จักบ้างก็น่าจะรู้จักเขาจากดีวีดีหนังชุดไตรภาคชีวประวัติส่วนตัว Alexandria Why? (1978), An Egyptian Story (1982) และ Alexandria Again and Forever (1990) แถมตอนหลังยังตามมาด้วย Alexandria…. New York (2004) พาตัวละครที่เป็นชีวิตของตัวเขาเองกลับไปอเมริกาอีกครั้ง

หนังเขาบางทีก็เมโลดราม่าดูโบราณเหลือเกิน แต่บางทีก็เซอร์แตก ร้องเพลง เหาะเหินขึ้นมาเสียดื้อ ๆ อย่างใน Alexandria Again and Forever ที่มี ชาฮีน ออกมาเต้นรำกับตัว alter-ego ของตัวเอง หรือใน Silence, we are rolling ที่เล่นล้อสูตรหนังน้ำเน่าได้อย่างสุดมันส์และสุดซึ้ง หลายเรื่องรวมทั้ง Silence ก็เกี่ยวกับวงการหนังและมีการถ่ายหนังซ้อนหนังอีกด้วย

อิซาแบล อัดจานี่ (Isabelle Adjani) นางเอกสุดสวยที่แจ้งเกิดจากหนังของ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ เรื่อง Story of Adele H. เคยเป็นผู้ประกาศมอบรางวัลหนังให้ Youssef Chahine ที่เมืองคานส์ปี 1997 ถ้าจำไม่ผิดคงจะเป็นรางวัล 50th anniversary Lifetime Award ภาพตอนรับรางวัลนี้มีให้ดูด้วยในหนังสั้นที่ ชาฮีน ถ่ายสำหรับหนังชุด 11 กันยายน 11'09''01 - September 11 (มีดีวีดีพากย์ไทย) ที่รวมผู้กำกับนานาชาติจากทั่วโลกอย่าง Sean Penn, Samira Makhmalbaf, Alejandro González Iñárritu (Babel), Ken Loach, Shohei Imamura, Amos Gitai และ Mira Nair เป็นต้น

ช่วงหลัง ๆ ชาฮีน ออกมาต่อว่ารัฐบาลอาหรับเรื่องการปกครองบ่อย ๆ หนังอเมริกันก็โดนเขาแดกว่ามีแต่ความรุนแรงใช้กำลังเหมือนการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ อย่างนี้คนมีอคติคงหาว่าเพราะด่าชาติอื่นล่ะสิ คนฝรั่งเศสถึงได้เห่อกันนัก

TOOTSIE ชื่อนี้มีที่มา

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์kalapapruek@hotmail.com

TOOTSIE เป็นชื่อของภาพยนตร์ตลกโรแมนติกระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ของผู้กำกับ Sydney Pollack ซึ่งเพิ่งจะลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อกลางปี 2008 ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี 1982 เรื่องนี้นับเป็นการรับบทบาทการแสดงที่โดดเด่นและน่าประทับใจมากที่สุดบทหนึ่งของนักแสดงชายระดับแถวหน้าของวงการอย่าง Dustin Hoffman เลยทีเดียว

Dustin Hoffman รับบทบาทเป็น Michael Dorsey นักแสดงหนุ่มผู้ตกอับที่ไม่มีผู้กำกับละครรายไหนยอมให้เขาได้รับเล่นบทใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเล็กบทน้อยเพียงไหนก็ตาม เมื่อเริ่มหมดสิ้นหนทาง Michael จึงตัดสินใจลุกขึ้นปลอมตัวเองเป็นผู้หญิงแล้วไปสมัครคัดเลือกนักแสดงโดยใช้ชื่อ Dorothy Michaels เพื่อรับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของโรงพยาบาลในละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศตอนกลางวันเรื่อง Southwest General Hospital จนกระทั่งได้บท! Michael ในร่างของ Dorothy จึงต้องใช้ความสามารถทางการแสดงในการ ‘เล่นละคร’ ตบตาทั้งคนดูและทีมงานในกองถ่ายโดยไม่มีใครระแคะระคายเลยว่า Dorothy มิใช่หญิงแท้! เหตุการณ์เริ่มวุ่นวายมากขึ้นเมื่อละครเรื่องนี้เกิดดังเป็นพลุแตกจากบทหญิงเหล็กผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ชายหน้าไหนของ Dorothy ที่ Michael แสดงออกมาได้อย่างเยี่ยมยอดนั่นเอง ซึ่งก็ทำให้ Dorothy กลายเป็นวีรสตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในสื่อโทรทัศน์และตามหน้านิตยสารต่าง ๆ ในชั่วเวลาข้ามคืน

ด้วยฐานะของหญิงเก่งยุคใหม่ท่ามกลางกาลสมัยแห่งการลุกขึ้นเรียกร้องความเท่าเทียมของอิสตรี Michael เริ่มรู้สึกหนักใจเมื่อความดังของละครทำให้เขาได้รับข้อเสนอให้ต่อสัญญาเพื่อรับบทบาทนี้ไปอีกหนึ่งปี แถมเขายังไปแอบมีใจให้กับ Julie Nichols (แสดงโดย Jessica Lange) แม่ลูกอ่อนที่รับบทบาทเป็นนางพยาบาลในละครเรื่องเดียวกัน อีกทั้งยังถูกนักแสดงชายวัยทองผู้บ้ากามและบิดาบังเกิดเกล้าของ Julie มายื่นแหวนขอแต่งงานกับเขาอีกด้วย! Michael จะหาทางออกต่อสถานการณ์นี้อย่างไร คงต้องขอเชิญชวนให้ได้หาโอกาสติดตามกันจากหนังตลกชั้นดีมากมีรสนิยมเรื่องนี้

ความสนุกของหนังนอกจากจะอยู่ที่มุกโปกฮาของการรับมือกับสถานการณ์วุ่นวายรอบด้านของ Michael ในขณะที่ต้องปลอมตัวเป็น Dorothy แล้ว หนังยังมีน้ำเสียงของการเสียดสีที่ให้สาระด้านการยกชูการเรียกร้องสิทธิสตรีได้อย่างน่ารักน่าชังอีกด้วย ด้วยสถานการณ์ที่ผูกรัดให้ Michael จะต้องรับบทบาททั้งนอกจอและในจออย่างแนบเนียน ผู้ชายแท้ทั้งแท่งอย่างเขาจึงต้องหันมาสนใจเรื่องราวสวย ๆ งาม ๆ ต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่า จะใช้ mascara หรือ eye-shadow สีใดดี หากสวมเสื้อลายนี้กับกะโปรงตัวนี้แล้วมันจะเข้ากันไหม ไปจนถึงการแสดงกิริยารักนวลสงวนตัวเยี่ยงกุลสตรีที่จะไม่ยอมตกเป็นวัตถุทางอารมณ์จากบรรดาหนุ่มใหญ่จอมตัณหาอย่างหยิ่งทะนง! ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับเสียงชื่นชมจากกลุ่ม Feminist ทั้งหลายในช่วงเวลานั้นอย่างท่วมท้น เพราะการที่หนังได้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์จำเป็นที่ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะมีโอกาสได้รับรู้รสชาติของการเป็น ‘ผู้หญิง’ ดูบ้างนั้น มันช่างเป็นเรื่องชวนสะใจที่จะทำให้ฝ่าย ‘ผู้ชาย’ ได้สำเหนียกและเรียนรู้กันเสียบ้างว่า การเป็นผู้หญิงนั้นมันลำบากขนาดไหน!

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงบนเวทีออสการ์เมื่อหนังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลต่าง ๆ ถึง 9 สาขารวมทั้งสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี โดยมี Jessica Lange เป็นผู้คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้เพลงประกอบหนังอย่าง It Might Be You ซึ่งแต่งและร้องโดย Stephen Bishop ก็ยังกลายเป็นเพลงฮิตติดหูเป็นที่นิยมฟังกันจนถึงทุกวันนี้

สำหรับชื่อหนัง TOOTSIE นั้น คือชื่อเรียกล้อที่ผู้จัดละครชายใช้เรียกขาน Dorothy ขณะสั่ง take ในการถ่ายทำฉากหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ Dorothy เกิดอาการวีนแตกขึ้นมาทันทีเมื่อเธอถูกเรียกขานอย่างไม่ให้เกียรติ พร้อมสำทับกลับไปอย่างทันควันว่า ชื่อของเธอนั้นคือ Dorothy, D-O-R-O-T-H-Y ไม่ใช่ TOOTSIE โปรดเรียกขานใหม่ให้ถูกต้องด้วย! คำว่า TOOTSIE นี้ เป็นคำแสลงภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเด็กผู้หญิง เทียบกับคำไทยแล้วน่าจะแปลได้ว่า ‘อีหนู!’ หรือ ‘น้องสาว!’ ซึ่งคำนี้ Dustin Hoffman เป็นผู้เสนอให้ใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง โดยเขายืมมาจากชื่อเล่นของสุนัขที่มารดาของเขาเลี้ยงไว้ในเวลานั้น

เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสได้เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2526 คำว่า ‘ตุ๊ดซี่’ จึงได้กลายเป็นคำฮิตติดปากในหมู่คนไทยใช้เรียกชายกะเทยที่นิยมการแต่งเนื้อแต่งตัวและแสดงจริตกิริยาเยี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ตุ๊ด’ แต่ก็มีผู้สันทัดกรณีหลายรายยืนยันว่า มีการใช้คำว่า ‘ตุ๊ด’ เรียกชายกะเทยกันในเมืองไทยมาก่อนหน้าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในอเมริกาเสียด้วยซ้ำ โดยสันนิษฐานกันว่ามันน่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า toots ซึ่งมีความหมายเดียวกับ tootsie แต่มีการแผลงความหมายใช้เรียกชายที่มีบุคลิกตุ้งติ้งนุ่มนวลเพิ่มเติมจากนิยามความหมายเดิมของคำศัพท์ที่จำกัดเฉพาะผู้หญิงแต่เพียงอย่างเดียว

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวชีวิตอันหลากหลายของ ‘ตุ๊ดซี่’ ‘เกย์’ ‘กะเทย’ ‘เก้ง’ ‘กวาง’ ‘ทอม’ ‘ไบ’ ‘ดี้’ ‘เบี้ยน’ รวมทั้งกลุ่ม ‘คนข้ามเพศ’ ทั้งหลาย สามารถติดตามอ่านได้จากหนังสือ “QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks ซึ่งจะมีงานเปิดตัว เริ่มวางจำหน่าย พร้อมทั้งฉายหนังบางเรื่องให้ได้ดูกันในวันที่ 2-3 สิงหาคม 2551 ณ People Space Gallery

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.onopen.com/2008/editor-spaces/3101

สมมติฐานและการทดลองของ ตุลพบ แสนเจริญ

THIRD CLASS CITIZEN presents
THIRD CLASS CINEMA : PROGRAMME 007

HYPOTHESIS

สมมติฐานและการทดลองของ ตุลพบ แสนเจริญ

HYPOTHESIS คือการรวมผลงานวิดีโอของนาย ตุลพบ แสนเจริญ นักเรียนไทยที่กำลังโลดแล่นเรียนปริญญาตรีที่ School of the Art Institute of Chicago (ที่มีศิษย์เก่าปริญญาโทอย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ไมเคิล เชาวนาศัย) งานของตุลพบพร้อมที่จะตั้งสมมติฐานและทดลองสิ่งต่างๆลงไปในผลงาน โดยไม่สนใจว่าผลลัพธ์จะออกหัวหรือก้อย ผิดหรือถูก ทำให้งานของตุลพบนั้นไม่ง่ายที่จะเข้าใจ แต่มันก็ไม่ยากที่จะเข้าถึง ถ้าเราลองตั้งสมมติฐานและทดลองดูงานของเขาไปพร้อมๆกัน

การจัดฉายหนังครั้งนี้ ขอแถมด้วยการแสดงงานด้านเสียงของตุลพบที่เคยทำเก็บเอาไว้ รวมถึงผลงานของเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ตุลพบเลือกสรรมาเปิดฉายให้ชมกัน พร้อมพูดคุยกันสนุกๆในหัวข้อเรื่องการไปเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยเมืองนอกที่ว่าดีนั้น ดีจริงหรือเปล่า ถ้าดีนั้นดีอย่างไร แล้วไม่ดีอย่างไร เหมาะสำหรับคนที่สงสัยมานานแล้วว่าที่เขาไปเรียนศิลปะเมืองนอกน่ะ เขาไปทำอะไรกันบ้าง

HYPOTHESIS
ฉายวัน ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2551
เวลา 19.00 น. / BIOSCOPE THEATER (ซ.รัชดา 22 / MRT รัชดา ประตู 4)
และคุยกับตุลพบ ทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียนกันต่อได้อย่างสนุกสนาน

ชมฟรี ไม่ต้องจองที่นั่งจ้า

ข้อมูลเพิ่มเติมที่
HTTP://THIRDCLASSCITIZEN.EXTEEN.COM

สอบถาม
thirdclasscitizen@hotmail.com / 089-685-5253

7/26/08

คอย ก. ด.

พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ New Theatre Society เสนอ

การรอคอยของ... สินีนาฏ เกษประไพ จารุนันท์ พันธ์ชาติ สุมณฑา สวนผลรัตน์ ฟารีดา จิราพันธุ์

ใน
ละครแอ๊บแบ๊ว..เล่นไป..ร้องไป..คอยไป..

"คอย ก.ด."
สืบเนื่องมาจากบทเรื่องนั้นของ ซามูเอล เบ็กเก็ตต์
ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ กำกับการแสดง

22 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2551 ณ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ รอคอยทุกคืนเวลา 19.30 น. (เว้นคืนวันจันทร์)

สำรองที่นั่งคอยได้ที่โทร 086 787 7155
รับผู้ชมเพียง 30 คนต่อรอบเท่านั้น

7/18/08

[ ศิลปะแห่งความว่าง ]

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

ในเมื่อนิยามความหมายดั้งเดิมของคำว่า ‘ศิลปะ’ ได้กำหนดไว้ว่ามันคือสิ่งสร้างสรรค์อันเป็นผลงานของมนุษย์ที่ใช้สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกภายใน แต่หากว่าผลงาน ‘ศิลปะ’ ของศิลปินรายใดกลับกลายเป็นความว่างเปล่าปราศจากสารัตถะหรือความหมายใด ๆ มันจะยังเป็นงาน ‘ศิลปะ’ อยู่อีกไหม?

คำถามเชิงปรัชญาศิลปะนี้ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในวงการ เมื่อศิลปินอเมริกันนามอุโฆษอย่าง Robert Rauschenberg ได้เปิดการแสดงผลงานทัศนศิลป์นามว่า The White Paintings ณ Black Mountain College รัฐ North Carolina เมื่อปี ค.ศ. 1951 และได้สร้างกระแสแปลกใหม่ให้กับวงการศิลปะในทันที ผลงานชุด The White Paintings นี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการแสดงผืนผ้าใบที่ฉาบทาด้วยสีขาว โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นแถบริ้วหรือรูปทรงต่าง ๆ โดยปราศจากรูปร่างหรือสีสันอื่นใดอีกเลย ผืนผ้าใบสีขาวอันว่างเปล่านั้นสร้างความฉงนสนเท่ห์ในความไม่มีอะไรให้แก่ผู้เข้าชมการแสดงในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก แนวคิดอันแปลกใหม่นี้ Robert Rauschenberg ได้พัฒนามาจากศิลปะในกลุ่ม Abstract Expressionism ที่ปล่อยให้ศิลปินเอาสีมาสาดละเลงกันตามอำเภอใจโดยไม่ต้องนำพารูปร่างหรือรูปทรงใด ๆ กันอีก แต่ใน The White Paintings นี้ Robert Rauschenberg ได้ก้าวไปอีกหนึ่งขั้นด้วยการหันหลังให้กับองค์ประกอบเชิงศิลปะของชิ้นงานแทบทั้งมวลจนเหลือเพียง concept หลักของการเป็น The White Paintings ที่ Robert Rauschenberg ตั้งใจเพียงเท่านั้น การลดทอนองค์ประกอบของ Robert Rauschenberg ในงานชิ้นนี้ถือเป็นรากฐานของศิลปะในกลุ่ม Minimalism ซึ่งจะได้รับความนิยมในเวลาต่อมา

Robert Rauschenberg ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ไว้ว่า เขาไม่คิดว่าภาพต่าง ๆ ในชุด The White Paintings จะเป็นงานศิลปะ (ถึงแม้ว่ามันจะถูกจัดแสดงในฐานะงานศิลปะก็ตาม) หากเป็นเพียงประสบการณ์ทางการมองเห็นอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยมันขึ้นอยู่กับผู้ชมแต่ละรายว่าจะมองภาพเหล่านี้ไปในทางใด ระหว่างความว่างเปล่าจนเกินไปหรือความขาวที่ถูกระบายจนแน่นเต็ม!

ภาพ The White Painting ฉบับสามแถบริ้ว โดย Robert Rauschenberg

ผลงาน The White Paintings ของ Rauschenberg นับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ John Cage นักประพันธ์ดนตรีหัวก้าวหน้าได้แต่งบทคีตนิพนธ์ชื่อ 4’33” ในปีต่อมา บทประพันธ์ชิ้นนี้ John Cage ประพันธ์ขึ้นสำหรับเครื่องดนตรีหรือวงดนตรีชนิดใดก็ได้ โดยนักดนตรีจะต้องนั่งเฉย ๆ ไม่บรรเลงตัวโน้ตใด ๆ เป็นระยะเวลา 4 นาที 33 วินาที ตามชื่อของบทประพันธ์ แนวคิดของคีตนิพนธ์บทนี้ต่อยอดมาจากดนตรีในกลุ่ม Chance Music ที่ John Cage เป็นหนึ่งในหัวหอกในช่วงปี 1950s สำหรับดนตรี Chance Music นี้ผู้ประพันธ์จะมุ่งเน้นการเลือกตัวโน้ตและจังหวะในการบรรเลงจากหลักความน่าจะเป็น โดยกำหนดให้ตัวโน้ตแต่ละตัวรวมทั้งความสั้นยาวของมันถูกเลือกอย่างสุ่มด้วยวิธีการจับสลาก แต่ถึงแม้ว่าผู้บรรเลงจะเปิดโอกาสให้ทุกตัวโน้ตและจังหวะสั้นยาวต่าง ๆ มีโอกาสในการถูกเลือกใช้อย่างเท่าเทียมกันอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้มักจะกลายเป็นเสียงแห่งความโกลาหลวุ่นวายหาความไพเราะไม่ได้อยู่นั่นเอง หากแต่ศิลปินแห่งวงการดนตรี Chance Music กลับมองว่า เสียงเหล่านี้ต่างหากที่สะท้อนถึงดนตรีธรรมชาติได้ดียิ่งกว่าสุ้มเสียงแห่งการประดิดประดอยของการเรียงร้อยทำนองตามขนบการประพันธ์แบบดั้งเดิมเสียด้วยซ้ำ

หัวใจสำคัญในการบรรเลงบทประพันธ์ 4’33” จึงไม่ได้อยู่ที่ ‘ความเงียบ’ ของเสียงดนตรี หากแต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้ฟังได้สนใจฟังเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากผู้บรรเลงและหมู่ผู้ชม เช่นเสียงขยับตัว เสียงกระแอมไอ หรือเสียงกระซิบกระซาบพูดคุยกันเป็นต้น 4’33” ออกแสดงครั้งแรกในงานแสดงดนตรีสมัยใหม่ของ Woodstock Artists Association ณ กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1952 โดยมี David Tudor นักดนตรีแนว Avant-garde รับหน้าที่เป็นผู้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีเปียโน ความแหวกแนวแบบสุดโต่งของการแสดงในครั้งนี้ทำให้เหล่านักวิชาการดนตรีต้องหันกลับมาทบทวนนิยามความหมายของ ‘ดนตรี’ กันใหม่เลยทีเดียว


บทประพันธ์ 4’33” ของ John Cage นี้ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ Peters โดยใน score ของดนตรีนั้น John Cage ได้แบ่งบทประพันธ์ออกเป็นสามกระบวนท่อนด้วยกัน และในแต่ละกระบวนท่อน John Cage จะใช้คำศัพท์ทางดนตรีภาษาลาติน TACET ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ความเงียบ’ มากำกับ คำศัพท์ TACET นี้โดยปกติแล้วจะใช้บ่งบอกแนวบรรทัดของเครื่องดนตรีบางชิ้นที่ร่วมบรรเลงในวงดุริยางค์ขนาดใหญ่เพื่อแจ้งให้นักดนตรีทราบว่า บทประพันธ์ในท่อนกระบวนนั้น ๆ ไม่ต้องการการบรรเลงจากเครื่องดนตรีชนิดนั้น

Score บรรเลงของบทประพันธ์ 4’33” โดย John Cage ที่มีเพียงคำสั่งกำกับว่า TACET ในทั้งสามกระบวนท่อน

เมื่อ ‘ความว่าง’ ได้รุกรานวงการศิลปะมาถึงสองแขนงแล้ว ในแวดวงวรรณกรรมเองก็ดูจะมิได้น้อยหน้า เมื่อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมไทยมายาวนานกว่า 30 ปี ได้ประพันธ์เรื่องสั้นเชิงทดลองชื่อว่า ‘ความว่าง’ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ช่อการะเกด ฉบับที่ 36 มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ให้การเกี่ยวกับเรื่องสั้น ‘ความว่าง’ นี้ว่า มันเป็นเรื่องสั้นสาธิตที่สามารถอธิบายความหมายแท้ ๆ ของ ‘งานประพันธ์แนวทดลอง’ ได้เป็นอย่างดี และตัวเขาเองที่เป็นผู้บัญญัติคำว่า “แนวทดลอง” และ “เรื่องสั้นแนวทดลอง” ขึ้นเป็นคนแรก โดยมีหลักฐานจาก ‘บทกล่าวนำ’ ในเรื่องสั้นชุด ช่อปาริชาต: ฝนหยดเดียว (พ.ศ. 2535) ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการเป็นเครื่องยืนยัน


บางส่วนของเรื่องสั้นชื่อ ‘ความว่าง’ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘ช่อการะเกด’ ฉบับที่ 36


เรื่องสั้น ‘ความว่าง’ นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งใน ‘กถาบรรณาธิการ’ ประจำฉบับที่ 36 ของนิตยสาร ช่อการะเกด ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ใช้เป็นพื้นที่สื่อสารกับผู้อ่านในฐานะบรรณาธิการ โดยเรื่องสั้นเรื่องนี้ประกอบไปด้วยชื่อ ‘ความว่าง’ พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่สีขาวขอบดำบริเวณกลางหน้า 11 จากนั้นเนื้อหาของเรื่องสั้นก็จะมีแต่ความว่างเปล่าไปจนกระทั่งถึงส่วนต้นของหน้า 14 จึงจะมีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าสีดำทึบขนาดเล็กแสดงตำแหน่งจบของเรื่อง ‘ความว่าง’ จึงนับเป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึง ‘ความว่าง’ โดยใช้ความว่างจริง ๆ มาเป็นเครื่องมือบอกเล่า โดยผู้ประพันธ์มีวัตถุประสงค์ในการแสดงวิธีการอันเปิดกว้างของแนวทาง ‘ทดลอง’ ที่ควรจะต้องมีอิสระอยู่เหนือกรอบเกณฑ์ทั้งมวล

เรื่องสั้น ‘ความว่าง’ ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งในรวมเรื่องสั้นชุด ความว่าง ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี โดยสำนักพิมพ์สามัญ-ชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยมีการจัดเรียงหน้าและใช้รูปแบบตัวอักษรแบบใหม่รวมทั้งมีความยาวเพิ่มขึ้นจาก ‘ความว่าง’ ฉบับช่อการะเกดอยู่หลายเท่าตัว


สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจ ‘ศิลปะแห่งความว่าง’ ในงานภาพยนตร์ สามารถร่วมชมภาพยนตร์แห่งความว่างเรื่อง ABSOLUTE โดย ‘กัลปพฤกษ์’ ได้ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เวลา 15.00 น. ณ งานหนังสั้นมาราธอน ห้องฉาย ASYLUM ชั้น 3 อาคารอาณารักษ์ ถนนสีลม ซอย 3


โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง ABSOLUTE (2008)



7/12/08

C = Cronos H = Hellboy

Hellboy
Hellboy
Hellboy
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro

หน้านี้มอบให้ กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ ผู้กำกับ Mimic, Hellboy, Cronos, The Devil’s Blackbone และ Pan’s Labyrinth


ต้อนกับการมาเยือนของ Hellboy 2

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ และ Cronos ได้ใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 5 : ฉบับปฏิบัติการหนังทุนน้อย)

(ภาพจากปกวีซีดีไทย Cronos)

7/5/08

เกียรติยศสูงสุดอีกครั้งของของคนไทย

เกียรติประวัติของคนไทย

เครื่องอิสริยาภรณ์สำหรับคนทำหนังไทยระดับโลก



อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กำลังจะเข้ารับเครื่องอิสริยาภรณ์เกียรติยศ Chevalier des Arts et des letters ซึ่งนับเป็นของสูงในแวดวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ถือเป็นเกียรติระดับเกือบสูงสุดเท่าที่คนฝรั่งเศสเองภูมิใจและคนต่างชาติมากมาย (ได้แต่) ฝันใฝ่

คนดังวงการศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ที่เคยรับเกียรติได้มาก่อนหน้านี้ก็เช่น


Michael Haneke
กงลี่
Paul Auster (อ่านที่ http://www.onopen.com/2006/02/1247)
David Bowie
Anthony Burgess
Ray Bradbury (คนนี้เจ้ยตัวจริงมาแล้วพร้อมสอยลายเซ็นต์)
William Faulkner
Nan Goldin
Bob Dylan
Celine Dion
Nadine Gordimer
Hal Hartley (อ่านประวัติใน filmvirus เล่ม 5)
Patricia Highsmith
กิมย้ง
Kazuo Ishiguro
Emir Kusturica
Jude Law
Jackson Pollock
Merlyn Streep
Patti Smith
Salman Rushdie
Mrinal Sen
Robert Redford
Toni Morrison
Rudolf Nureyev
Hayao Miyazaki
Ella Fitzgerald

ขนาดชาวต่างประเทศอย่างป๋า Clint Eastwood ยังมาได้ไอ้เครื่องอิสริยาภรณ์นี่ตอนแก่
แล้ว อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นใคร

เจ้ย อภิชาติพงศ์ - เขาคือคนที่ชาติไทย และรัฐบาลไทยไม่ต้องการให้ลงสมัครพรรคไหน
เฮ้ มีพรรคของตัวเองดีกว่า พรรค Kick the Machine ไง มีคอหนังตัวจริงเป็นแนวร่วมดีกว่าที่ต้องซื้อเสียงจ่ายเงินกินต้มยำกุ้งกับฮะเก๋า

กำลังจะมีพิธีงานเลี้ยงรับรองที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ
วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เวลา 18.00 น.
จบรายงานข่าว-สำนักข่าวฟิล์มไวรัส
(ภาพประกอบโดย Filmvirus)

เอ้า ใครยังไม่มีหนังสือ สัตว์วิกาล: ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (Unknown Forces: The Illuminated Art of Apichatpong Weerasethakul) ของ ฟิล์มไวรัส / openbooks ก็เชิญหาซื้อเถิด ก่อนจะกลายเป็นของสะสมหายาก

รายละเอียดตามนี้เลย : http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/10/blog-post.html

ใช่! นี่มันโฆษณากันชัด ๆ
ประกาศโฆษณาติดต่อ : ฟิล์มไวรัส

7/4/08

THIRD CLASS CINEMA : PROGRAMME 006

THIRD CLASS CITIZEN presents



THIRD CLASS CINEMA : PROGRAMME 006
I’M FINE, THANK YOU. AND YOU?

ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ ไม่มีนางสาวไทย ไม่มีใครสอบเอนทรานซ์
เพียงมีแค่ ความฝันที่ยังไม่ได้ทำก่อนจากไป เท่านั้นเอง...

I’M FINE, THANK YOU. AND YOU? คือ สารคดีขนาดยาวเรื่องใหม่ล่าสุดจากนักทำสารคดีมือดีชื่อ พัฒนะ จิรวงศ์ เจ้าของหนังสั้นรางวัลอย่าง Tears, Looking through the Glasses และ สุทธ์ แถมยังเป็นคนไทยที่ได้รับเลือกให้ไปทำหนังที่เกาหลีในโครงการ One man band project มาแล้ว

งานล่าสุดของพัฒนะเรื่องนี้บันทึกเรื่องราวของความฝันและชีวิตช่วงสุดท้ายของเด็กๆ 5 คน ก่อนที่ ‘มะเร็ง’ จะมาจับมือพาพวกเขาเดินจากโลกนี้ไป แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกเวลาที่ดำเนินไปในแต่ละวันของเด็กๆ เหล่านี้ก็เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะราวกับว่าพวกเขานั้น ‘สบายดี’

I’M FINE, THANK YOU. AND YOU?
ฉายวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2551
เวลา 19.00 น. / BIOSCOPE THEATER (ซ.รัชดาภิเษก 22 / MRT รัชดา ประตู 4)
และคุยกับ พัฒนะ จิรวงศ์ หลังฉายหนังครับ

ชมฟรี ไม่ต้องจองที่นั่งเจ้า

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://thirdclasscitizen.exteen.com/