ภูผาแห่ง NEW GERMAN CINEMA (ตอน 1)
โดย อุทิศ เหมะมูล
คอลัมน์นี้เคยเอ่ยถึงหนังจากประเทศเยอรมันมาก็มาก มีไม่น้อยที่กล่าวถึงหนังจากกลุ่ม New German Cinema (1960-1980) ซึ่งนักสร้างหนังรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้นที่นักดูหนังรู้จักกันดีคือ Rainer Werner Fassbinder, Werner Herzog, Volker Schlöndorff และ Wim Wenders ถึงเวลาแล้วที่จะทำความรู้จักกับอีกหนึ่งหักหอกคนสำคัญ นั่นคือผู้กำกับ Alexander Kluge ผู้กำกับผู้เป็นเสมือนคนทำคลอดกลุ่ม New German Cinema ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีบทบาทและสถานภาพหลากหลายที่น่าสรรเสริญซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป เขาเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งผู้หลบอยู่ในเงาของประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมแห่งเยอรมนี ที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำความรู้จักและเข้าใจ ผลงานและตัวตนของเขามากพอ
คอลัมน์นี้จึงขอเปิดพื้นที่ให้กับอีกหนึ่งผู้กำกับด้อยโอกาส ที่นักดูหนังทั้งหลายน่าจะรับเขาไว้ในอ้อมใจ เราจะทำความรู้จักเขาอย่างคร่าวๆ ผ่านกิจกรรมกับผลงานที่เขาสร้างไว้จำนวนหนึ่ง ด้วยบทความ 4 ตอนจบ
อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ศิลปินมากพลังความสร้างสรรค์ผู้นี้ มีบทบาทเป็นทั้งผู้กำกับหนัง นักเขียน นักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้ผลักดันการแจ้งเกิดของผู้กำกับเยอรมันเลือดใหม่ ทว่าบทบาทที่คนทั่วไปรู้จักกันดีคือ นักเขียนกับนักสร้างหนัง ในฐานะนักเขียนคลูเก้อมีผลงานตีพิมพ์ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Group 47 (Gruppe 47) กลุ่มวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของเยอรมันสมัยนั้น ซึ่งนักเขียนสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Heinrich Böll (พลเรือนเหมือนกัน) Günter Grass (กลองสังกะสี) นักเขียนสองท่านนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม Erich Kästner (เอมิลยอดนักสืบ) Siegfried Lenz ฯลฯ
ส่วนในบทบาทนักสร้างหนังนั้น คลูเก้อเริ่มต้นขยับขยายบทบาทตัวเองจากนักเขียนสู่นักวิชาการ ผู้มีบทความแถลงไขความเป็นไปของสังคมเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเสียงสำนึกที่เปิดเผยให้เห็นความน่าละอายใจในฐานะส่วนหนึ่งของคนเยอรมันกระทำต่อชาวโลกในช่วงสงคราม คลูเก้อก็มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับกึนเทอร์ กราสส์ ผู้เรียกร้องให้ชาวเยอรมันเผชิญหน้ากับความละอายใจด้วยความสำนึกเสียใจ
บ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนต่างหันหน้าหนีความพ่ายแพ้ย่อยยับและบ้างก็ไม่ยอมรับผิดกับสิ่งที่ฮิตเล่อร์ผู้นำของพวกเขาได้ทำไว้ผ่านระบบนาซีเยอรมัน ในฐานะตัวแทนเลือดใหม่แห่งศิลปวัฒนธรรม คลูเก้อเรียกร้องให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความจริงที่ปรากฏ เฉพาะอย่างยิ่งมหรสพด้านภาพยนตร์ก่อนการเกิด New German Cinema นั้น หนังเยอรมันย้อนกลับไประลึกถึงความรื่นรมย์รุ่มรวยในศตวรรษก่อน ความเรียบง่ายเพียงพอแบบภูมิใจในถิ่นเกิด หนังตลกเบาสมอง และหนังเพลง ซึ่งพร้อมใจกันหันหน้าหนีความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคมขณะนั้น
ในเวลานั้นคลูเก้อมีหนังสั้นเรื่อง BRUTALITY IN STONE หนังสั้นเกี่ยวกับความน่าขนพองสยองเกล้าของสถาปัตยกรรมอาณาจักรไรท์ของฮิตเล่อร์ (จะขอพูดถึงในวาระต่อไป) ซึ่งได้รับความสนใจ เสียงชื่นชม และรางวัลจากเทศกาลหนัง สื่อมวลชนจากต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจการเคลื่อนไหวของนักสร้างหนังเลือดใหม่แห่งเยอรมันบ้างแล้ว เหตุดังนี้เอง ต่อมา คลูเก้อและกลุ่มพวกพ้องที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงได้เขียนบทความ ‘แถลงการณ์โอเบอร์เฮาเซ่น’ เพื่อเปิดที่ทางให้กับนักสร้างหนังรุ่นใหม่มีพื้นที่ทางสังคมและได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพิ่มมากขึ้น
แถลงการณ์ดังกล่าวประกาศ ณ เทศกาลหนังสั้นนานาชาติเมืองโฮเบอร์เฮาเซ่น วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1962 โดยมีกลุ่มผู้กำกับเลือดใหม่ 26 คนร่วมลงนามเรียกร้อง ซึ่งประโยคสุดท้ายของถ้อยแถลงการณ์ กลายเป็นประโยคประวัติศาสตร์หนังเยอรมันไปทันที
"The old cinema is dead. We believe in the new cinema"
(หนังรุ่นเก่าตายแล้ว เราเชื่อในหนังของคนรุ่นใหม่)
รัฐบาลเยอรมันสนองรับแถลงการณ์ดังกล่าวโดยจัดตั้ง Board of Young German Film ในปี 1965 ให้งบประมาณในการสร้างหนังจำนวนหนึ่งในแต่ละปี ทั้งนี้อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอนุมัติผลงาน และพร้อมผลิตผลงานออกสู่สายตาชาวโลกให้เห็นถึงศักยภาพของหนังเยอรมันเลือดใหม่
นี่คือที่มาของ New German Cinema โดยมีแกนนำคนสำคัญอย่าง อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อเป็นตัวขับเคลื่อน คลูเก้อมองเห็นความสำเร็จอย่างล้นหลามผ่านหนังของเพื่อนพ้องสมาชิกอย่าง Aguirre, the Wrath of God ของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก Fear Eats the Soul และ The Marriage of Maria Braun ของ ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ King of the Road และ The American Friend รวมถึง Paris, Texas ของวิม เวนเดอร์ส กระทั่ง The Tin Drum ของ โฟลเกอร์ ชเลินดอล์ฟ
ในส่วนผลงานของคลูเก้อเองที่สร้างขึ้นในสายกระแสนี้ก็คือ Yesterday Girl หนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขาในปี 1966 ที่ประสบความสำเร็จบนเวทีนานาชาติไม่แพ้กัน ทั้งรางวัลในเทศกาลหนังเยอรมนีบ้านเกิดตัวเอง และเวนิซฟิล์มฯ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกาลต่อมาๆ ชื่อชั้นของอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อกลับค่อยๆ เงียบหาย ค่อยๆ หลบเร้นตัวเองอย่างเอียงอายไปอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพื่อนสมาชิก จนนานวันเข้าชื่อของเขาก็ถูกกลบกลืนไปกับกาลเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยหลายเหตุปัจจัย ประการแรกสุดคลูเก้อให้ความใส่ใจอย่างเข้มเครียดจริงจังกับสภาพสังคมการเมืองของบ้านเกิด จนเปรียบประหนึ่งเล่นบทนักวิจัยแห่งชาติ มากกว่าจะเปิดตัวเองไปสู่ประเด็นที่เป็นสากล เช่นสภาวะอารมณ์ความรู้สึกร่วมสากลที่สังคมโลกสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
ประการต่อมา หนังของคลูเก้อมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างยิ่ง ซึ่งยากแก่การได้ใจคนดูหมู่มาก ยากแก่การเข้าถึงและตีความ ด้วยเป็นนักทดลองด้านภาพยนตร์ (ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังเพี้ยนลึกของ ฌอง ลุค โกดาร์)
หนังของคลูเก้อมีการเล่นแง่ เลียนล้อ เล่นกับอารมณ์หลากหลายซึ่งจงใจไม่ปะติดปะต่อเรื่องราว ไม่เหมือนหนังทั่วไปที่สามารถตามติดไปได้ตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบเรื่อง คลูเก้อเล่นกับหนังของเขา เช่นเดียวกับนักเล่นแร่แปรธาตุ ผู้หยั่งหาความเป็นไปได้อันหลากล้นทางคุณสมบัติของภาพยนตร์ มากกว่าจะใช้ศักยภาพเพียงเล่าเรื่องลำดับความ
หนังของเขาจึงกลายเป็นจักรวาลทุนน้อยมากกระบวนทัศน์ เป็นแหล่งรวมประเด็นต่างๆ ประดามี ข้อสงสัย ข้อนำเสนอ ข้อชี้แย้ง นำหนังเล่าเรื่องมาเล่าสลับกับภาพประวัติศาสตร์จริงๆ ต่อจากนั้นเบี่ยงเบนไปเล่านิทานเทพนิยาย แทรกคั่นด้วยข้อเขียน คำคม ฯลฯ แต่ทั้งหลายเหล่านี้มีจุดร่วมอย่างหนึ่งก็คือ เขากำลังบอกเล่าประวัติศาสตร์กระจัดกระจาย ที่ยึดโยงขึ้นมาเป็นที่อยู่ที่ยืนของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่มองหาจุดหมายอันเป็นคุณค่าของชีวิต
ความกระจัดกระจายที่ยากแก่การเชื่อมโยงนี้เอง เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังของคลูเก้อ เร้นหายจากการรับรู้ของนักดูหนังไปในที่สุด ทว่าในทางศิลปะแล้ว หนังของคลูเก้อโดดเด่นเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ มากไปกว่านั้น เขาสามารถ ‘เก็บความ’ อันเป็นไปทางสังคมได้อย่างชวนครุ่นคิดและรู้สึกรู้สา
ตอนหน้าเราจะพิจารณาหนัง 4 เรื่อง ต่างยุคสมัยของคลูเก้อ ผ่านผลงานอย่าง BRUTALITY IN STONE, YESTERDAY GIRL, OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE และ THE POWER OF EMOTION น้อยหนึ่งมากกว่าที่กล่าวมาแล้ว ลักษณะโดดเด่นเพิ่มเติมอย่างหนึ่งในหนังคลูเก้อคือ ความมีอารมณ์ขัน ความประชดประชันปราดเปรื่อง และความรื่นรมย์สมสง่า อันมีครบถ้วนในบุรุษเช่นอเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ผู้มากปัญญาญาณ
หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Movie Time ติดต่อกัน 4 ฉบับ ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม-19 สิงหาคม 2550
หรืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ โดย สนธยา ทรัพย์เย็น ได้ในฟิล์มไวรัส เล่ม 2
ติดตามชมโปรแกรมภาพยนตร์ของ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ ในเดือนกันยายน 2550 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)
http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/edward-yang-alexander-kluge.html
และที่เว็บ onopen
http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/2084