Two years at sea ( Directed by Ben Rivers, 2011)
โดย Pichaya Anantarasate
1. เบื้องบนเป็นแผ่นฟ้ากว้าง
เบื้องล่างเขาเป็นชายแก่กลางหุบเขา เป็นชายแก่ที่อาศัยอยู่เพียงตัวคนเดียว และแมว 1 ตัว ในบ้านหลังใหญ่ บ้านหลังเดียวในรัศมีหลาย 10 กิโลเมตร เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เรารู้แค่ว่า วันนี้เป็นหน้าหนาว หิมะโปรยละอองเริงระบำในความอึมครึม เขาตื่นเช้าอยู่บนเตียงเก่าๆ ออกเดินไปบนถนนพื้นโคลนเหนอะหนะ เปิดเพลงแนวอินเดีย-ร็อค แบบฉบับชาวบุปฝาชน เขามีรถบ้านเก่าๆคันหนึ่ง เขากวาดและเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไป ปัดที่นอน หมอน และผ้าห่ม จากนั้นก็นอนหลับ
หลับ..........หลับ.........หลับ........หลับ........หลับ.......หลับ.......หลับ........หลับ.......หลับ.....หลับ.......หลับ........หลับ......ห....ลั.......บ
บางขณะ เขาออกไปเดินในป่าสนกลางหิมะที่ตกหนัก เดินด้วยก้าวย่างที่คุ้นเคย จังหวะการก้าวเดินของเขา เหมือนเขาเดินด้วยจังหวะนี้มาหลายพันครั้ง ในป่าแห่งนี้ ป่าที่มีอาณาเขตลากเลื้อยไปจนสุดแนวเขา บางครา เขาเดินผ่านพื้นที่รกร้าง จากการตัดไม้ มองออกไปไกลแสนไกล ถนนที่คดเคี้ยว ยาวไกลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขามองทางที่อยู่ตรงหน้า บางทีก็มองขึ้นไปสบตากับก้อนเมฆสีหม่นเทา ลอยละเลียดยอดไม้ คลุกเคล้ากับทิวเขา เป็นดั่งเช่นจินตนาการของศิลปินแนวธรรมชาตินิยม ที่มิอาจบรรยายด้วยคำพูด ชายแก่คงอยากจะพูดอะไรสักอย่าง พูดกับสิ่งที่อยู่รอบตัว สิ่งที่เป็นดั่งสังคมเดียวที่เขามี เป็นโลกทั้งใบที่ประครองเขาไว้ แต่เขาก็เดินต่อไป
เดิน.....เดิน......เดิน......เดิน.....เดิน....เดิน.....เดิน.....เดิน....เดิน....เดิน......เดิน........เดิน......เดิน.......เดิน...............เดิน........เ............................ดิ...............................................น
ท้องฟ้าสีเทาหม่น เหมือนแสงแดดจะขอแอบลาหยุด เพื่อยกพื้นที่ให้ความหม่นหมองเปล่งประกายอย่างงดงามที่สุด ลมที่พัดแผ่วบางส่งเสียงคำรามเบาๆในซอกเขา ชายแก่ทำโน่นทำนี่เรื่อยเปื่อย ตัดฟืนบ้าง เขียนอนุทินประจำวันบ้าง ทำกับข้าวกลางแจ้งบ้าง คล้ายกาลเวลาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาฬิกาทุกชนิดบนโลก ที่แห่งนี้ซึ่งเขาเหยียบยืน จึงปราศจากเงื่อนไขทั้งหลายทั้งมวลที่สังคมพื้นฐานยึดถือ ที่นี่มีแต่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เขามีขอบเขตที่ไม่จำกัดในการจะเผาผลาญวัน เดือน และปี โดยการกระซิบบอกของหัวใจ เขาจึงหอบหิ้วเบาะสูบลม ถังพลาสติค 4 ถึง และโครงไม้ มุ่งหน้าไป ทะเลสาบแห่งหนึ่ง เขานั่งประกอบเรือของเขาอย่างเงียบงัน บรรจงวางลงบนพื้นน้ำ พาตัวลอยออกไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็หลับ ณ กลางผืนน้ำนั้น เขาหลับในขณะที่ลอย และเขาลอยในขณะที่หลับ
2. ด้วยการไร้กรอบ ไร้กฎเกณฑ์เรื่องเงื่อนไขเวลา ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Two years at sea จึงอาจดูเป็นของแสลง สำหรับผู้ติดใจความวูบวาบ ผู้ต้องดำรงชีวิตความเร็วรีบในชั่วโมงที่เร่งร้อนของแต่ละวันในช่วงชีวิต มันอาจจะตั้งต้นด้วยความทรมาณกับการดูหนังที่ ไม่มีอะไรเลย แต่ ทุกๆครั้งที่ผมจะเตรียมใจ ละสายตาจากหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อม มาสู่สภาวะการเข้าถึง ภาพยนต์แห่งณาน ( Comtemplative Cinema) มันก็ไม่ต่างอะไรกับการนั่งสมาธิ นั่นคือ ปล่อยใจให้นิ่ง แล้วลอยเข้าไปสู่บริบทของภาพยนตร์เฉกเช่นการสำรวจหัวใจตนเองยามหายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ่
หนังสวนกระแสความเร่งรีบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงกับจะดัดจริตแบบกระแส Slow living หนังไม่ถึงกับหยุดอยู่กับที่ แล้วตั้งกล้องไว้เฉยๆเพื่อให้ได้ภาพอย่างมักง่าย แต่หนังซื่อสัตย์กับโจทย์ในเรื่อง จึงตามถ่ายโดยไม่มีการต้องมาจัดฉากให้ช้าแต่อย่างใด ทว่า ผู้กำกับสามารถควบคุม พื้นที่ทางกาลเวลา ไม่ให้ดูน่าเบื่อ แต่ก็สามารถบรรจงพาความรู้สึกเคว้งคว้างในบรรยากาศสีเทาหม่น ค่อยๆเกาะกุมหัวใจไปทีละน้อย ซึ่งสามารถขับเน้นประเด็นสำคัญของหนังแห่งความเนิบช้านี้ได้ 4 ประการ
1. ไร้เนื้อเรื่อง (Plotlessness) ไม่มีเนื้อเรื่องให้จับต้อง หากแต่ผู้กำกับก็แอบแง้มถึงที่มาบางอย่างที่ทำให้ชายแก่ มาปักหลักในพื้นที่รกร้างแห่งนี้ แต่ผู้กำกับก็ฉลาดพอที่จะให้คนดูปะติดปะต่อเอาเอง เหมือนเอาก้อนเมฆมาต่อจิ๊กซอว์
2. ไร้ถ้อยคำ (Wordlessness) ชายแก่ในเรื่องพูดน้อยมากๆ การพูดแต่ละครั้งจึงเป็นเสียงงืมงำที่จับใจความได้ยาก เราจะเห็นแค่การดำเนินชีวิตของเขาเป็นการเล่าเรื่อง แต่ก็มีสรรพเสียงต่างๆมากมายในเรื่องนี้ เสียงใบสนที่เสียดสียามต้องลม เสียงผิวปาก และเสียงดนตรีแนวไซคีเดอริค ที่โผล่พรวดขึ้นมากลางลำ ทำลายความเงียบที่สั่งสมมา นำไปสู่ความหลอกหลอนของบรรยากาศป่าหน้าหนาวในหนังขาวดำ
3. มีลักษณะของความเนิบช้า (Slowness) การปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นอย่างเนิบช้าและไร้ความหมาย ดูเป็นการจงใจให้เราได้เพ่งพินิจ สำรวจตรวจทาน ทั้งชีวิตของชายแก่ในเรื่อง และตัวเราในใจตัวเอง การปล่อยให้เราตืออยู่กับสภาวะไร้เวลา เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง ที่เมื่อข้ามพ้นข้อจำกัดที่เราสร้างขึ้นมาเอง มันจะนำพาเราไปสู่พรมแดนที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน
4. มีลักษณะของความแปลกแยก (Alienation) ความแปลกแยก เปลี่ยวเหงา ของโจทย์ในเรื่อง ก่อให้เกิดอะไรหลายๆอย่างในใจ คำถามมากมายก่อขึ้นและเฝ้าถามตัวเราเอง เขาเป็นใคร? ทำไมเขามาอยู่ที่นี่ ? เขาสูญสิ้นสิ่งใดจึงละทิ้งสังคมมาอยู่ที่นี่? หรือเขาจะผิดหวังบางสิ่ง? ความคิด? ความศรัทธา? ความเชื่อ? หรือ ความรัก? นี่คงเป็นสิ่งที่เราคงต้องนึกเอาเอง
สิ่งที่ไม่พูด ไม่ได้เด็ดขาดคือ นี่เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายด้วย ฟิล์ม 16 มม. นี่คงเป็นสิ่งเดียวในเรื่องที่ผมไม่อาจบรรยายถึงความงดงามได้ด้วยอักษร นี่เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก ที่เราควรได้มีโอกาสดูหนังจากฟิล์ม โดยเครื่องฉายฟิล์ม เพราะ ว่ากันตามจริง แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้ดูหนังจากฟิล์ม 16 มม. ด้วยเครื่องฉายจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และถือเป็นความกล้าหาญอย่างมหาศาล ที่ผู้กำกับเลือกจะใช้ฟิล์ม 16 มม. บันทึกความงามที่ไร้กาลเวลา มันงดงามจนบอกไม่ถูกจริงๆครับ
เมื่อผมดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมก็คงนอนหลับ หลับอย่างสงบเพื่อตื่นมาพบกับความวุ่นวายต่างๆนาๆที่เคยชิน ผมมักจะเจอเพื่อนฝูงและคนรู้จักหลายๆคนที่ “อยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง” อาจจะด้วยเพราะความเบื่อหน่ายสังคม การอยากหาที่ทางให้กับชีวิต หรือดูทีวีเห็นดาราไปมีบ้านที่ต่างจังหวัด ก็อยากมีบ้าง
ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็คงไม่คิดอะไร แต่ตอนนี้ ผมอาจจะนึกถึงชายแก่ที่ลอยกลางทะเลสาบคนนั้น
“บ้านนอกมันไม่โรแมนติคและการปลีกวิเวกไม่ใช่เรื่องสนุก” ผมคิดแบบนี้เสมอ แต่ก็ไม่ใช่ว่ารังเกียจ เพราะโดยพื้นฐานชีวิต ผมมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง เป็นบ้านนอกที่เด็กๆแถวบ้านผมติดยาบ้า บ้านทรงไทยที่ติด Wi-Fi และเคเบิ้ลทีวี และมีการยิงกันทุกครั้งเวลามีงานวัด
ผมก็พอจะเข้าใจเหตุผลบางอย่างของชายแก่ เป็นเหตุผลที่ผมขอเก็บไว้ในใจอย่างเงียบๆ
ผมไม่มีทางรู้ได้หรอกครับ ว่าวันนึงข้างหน้าผมจะไปอยู่แห่งหนใด
อาจเป็นตึกสูง บ้านหลังใหญ่
หรือแค่ที่ๆมีกาน้ำ 1 ใบ กับกองฟืนที่วางอยู่เรียงราย
ข้อมูลอ้างอิง::: คอลัมน์ Deep focus ตอน ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ โดย กฤษฎา ขำยัง . นิตยสาร Bioscope ฉบับ 127 สิงหาคม 2555
ขอขอบคุณ เพลงคนเก็บฟืน โดย เล็ก คาราบาว ที่ให้แรงบันดาลใจกับงานชิ้นนี้
ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ดวงกมล ฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ สารคดี THE ACT OR REALITIES
ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2556 - 30 มิถุนายน 2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530