นี่เป็นบทความเก่าที่เคยเขียนลงคอลัมน์เล็ก ๆ ในนิตยสาร “คนมีสี” (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Vote) เมื่อราว 4 ปีก่อน
มาอ่านตอนนี้ก็แค่ขำ ๆ คงจะช่วยคนดูไม่ได้อะไรมากนัก
แต่ตอนนี้มีจัดงาน retrospective ที่งานเวิล์ดฟิล์ม ก็อยากให้ลองไปดูกัน
เพราะมีหนังเขาฉาย 6 เรื่อง รวมทั้ง Ponette
(อ่านเพิ่มเติมในหนังสือ 151 Cinemaของ ฟิล์มไวรัส)
และก็มีพูดถึง Jacques Doillon เรื่อง Le Jeune Werther ในหนังสือ bookvirus 01 - หนังวรรณกรรม
(Le Jeune Werther มีแปลแล้ว - หนังสือเล่มนี้ของ เกอเธ่ “แวร์เธอร์ระทม”) ลองค้นดูที่ G = Goethe
หนังธรรมดาเดินดินแบบ Jacques Doillon
โดย สนธยา ทรัพย์เย็น
ในทุกกาลสมัยที่ผู้กำกับหนังส่วนใหญ่ชอบหมกเม็ดความอ่อนหัด สมอ้างความดีความชอบที่ควรจะยกยอดให้ทีมงานคนอื่นๆ เอาไว้เอง จนคนดูหนังหลงกราบกรานงานสร้างอลังการ เอฟเฟ็คท์หรูเลิศ แทนที่จะใส่ใจกับเรื่องราวสามัญของมนุษย์มนา
โชคดีเหลือเกินยังมีคนทำหนังพันธุ์สงวนจำนวนน้อยนิดอยู่ในข้อยกเว้น
และ ฌ้าคส์ ดัวญง (Jacques Doillon) คือหนึ่งในจำนวนน้อยที่ว่านั่น
ทั้ง ๆ ที่เขียนบท และกำกับหนังมา 30 กว่าปี (บางครั้งก็แสดงร่วมกับลูกสาวด้วย) แต่หนังของเขาไม่เคยเข้าโรงภาพยนตร์เมืองไทยเลย แม้แต่ในอเมริกา
หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหลายก็หาคนรู้จักหนังของเขาได้ยากเย็น ดีวีดีก็แทบไม่มีให้หาดู ขนาดหาอ่านบทความเกี่ยวกับตัวเขาในภาษาอังกฤษก็ยังยาก
หนังของ ดัวญง ไม่มีอะไรผิดประหลาดหลุดโลก ทั้งเนื้อเรื่องที่สุดแสนเรียบง่าย ตั้งแต่คู่ผัวเมียที่บ้านแตกเพราะผู้หญิงรายใหม่ (บางครั้งมากกว่า 3 คน) พ่อลูกต่อความกันไม่ติด หญิงสาวที่ทำใจไม่ได้ว่าถูกแฟนทิ้ง เด็กที่เคว้งคว้างในสังคม
โลกของเด็กที่จิ๊บจ๊อยเกินกว่าผู้ใหญ่จะใส่ใจ เหล่านี้ที่ถูกมองว่าหาแก่นสารไม่ได้ หรือถูกนำเสนอด้วยลักษณะรีดเค้นอารมณ์จนโอเวอร์ จนคนดูยอมรับเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นสิ่งที่ ดัวญง จับจ้องเขม็ง ทุ่มเวลาสังเกตการณ์มันอย่างใจเย็น จนหลายครั้งคนดูเป็นฝ่ายอับอายที่ร่วมเป็นพยานรับรู้ในสถานการณ์นั้น
ด้วยว่าหนังของ ดัวญง นั้นดูจริงจนเจ็บ เขาไม่ลังเลที่จะหักหาญใจคนดู
ไอ้เรื่องเข้าข้างตัวละคร หรือแคร์ศีลธรรมไม่ได้อยู่ในหัวเขาหรอก
ดัวญง สนใจใบหน้า ท่าทาง คำพูด ความรู้สึกของคนเป็นที่ตั้ง เด็กกับผู้หญิง เป็นหัวใจสำคัญที่รวมแก่นความของเขาทั้งหมด
ไม่ใช่เพราะคนพวกนี้ขี้แยเรียกน้ำตา เพราะแม้ตัวละครเหล่านั้นจะร้องไห้อยู่บ่อยครั้ง (ดูชื่อเรื่องสิ The Woman Who Cried)
แต่อย่าคาดหวังการประคบประหงม สิ่งที่คนลืมนึกไปก็คือ แม้แท้จริงแล้วตัวละครกลุ่มนี้อาจอ่อนแอไร้ปากเสียง แต่ก็จริงใจในความรู้สึกของตนเอง และแฝงความเด็ดเดี่ยวแบบที่ผู้ชายโต ๆ ส่วนใหญ่คาดไม่ถึง
ผู้ชายกระทำเอาเปรียบ หรือตัดสินใจแทนเธอ (และพวกเด็ก ๆ ) ได้
แต่บางครั้งเราก็จะได้เห็นปฏิกิริยางัดข้อกลับของร่างบอบบางเล็กจ้อยนั้น ว่าใครกันแน่ที่มีสติ เหตุผล และความอดทนสูงกว่า รายละเอียดในวิธีการพูด สีหน้า และนิ้วมือที่ซ่อนอารมณ์คั่งใจต่างหากที่ทำให้เราสะอึก ไม่ใช่พล็อตเรื่อง
เพราะฉากที่ไม่ส่งให้เรื่องเดินหน้า หรือขาดความสละสลวย บางครั้งก็ช่วยฉายความดิบกร้านดึกดำบรรพ์ ที่เรามักแอบซ่อนไว้ ไม่แสดงให้ใครเห็น (แม้กับตัวเราเอง)
ในหนังของเขาที่ผมชอบมาก 5 เรื่องคือ La Vie de Famillle, The Woman Who Cried, La Puritaine, L'amoureuse และ Ponette ดัวญง ถ่ายทอดความอีลักอีเหลื่อของชีวิตพ่อลูก และความรักชายหญิงที่ประสานแก้วร้าวต่อแทบไม่ติด
โดยเฉพาะใน La Vie de Famille (1985) ที่ตัวพ่อขับรถเดินทางไปเที่ยวกับลูกสาว แต่ตลอดทางหาวิธีจูนติดกันไม่ได้สักอย่าง ทั้งสองฝ่ายหมดหนทางที่จะคุยแบบเปิดใจต่อกันได้ จนต้องหันมาพึ่งกล้องวีดีโอเป็นประตูใจ
ซึ่งความจริงที่บรรจุลงกล้องนั้น สุดท้ายแล้วก็รุนแรงจนพ่อลูกยากจะยอมรับได้ง่าย ๆ
หนังเรื่องนี้ถือได้ว่ามาก่อนกาลในแง่ที่ว่า นำกล้องวีดีโอเทปมาพูด “เรื่องอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างคน” เรียกว่าสร้างก่อนหนังดังอย่าง sex, lies and videotape ของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก หรือ Family Viewing ของ อตอม อีโกแยน เสียอีก
มันไม่ง่ายสำหรับเด็กที่จะใช้ชีวิตในโลกของผู้ใหญ่ แต่ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็เข้าใจเด็กไม่ได้ง่าย ๆ
เพราะลำพังคู่ผัวเมียก็ยังเอาตัวไม่รอด อดไม่ได้ผลัดกันจิ้มแผลเป็น ทำร้ายกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดั่งคนไม่เคยหลาบจำ
(เดิมบทความนี้เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ FILMVIRUS / นิตยสาร คนมีสี)
7 comments:
Postscript - เพิ่มเติม
ฌ้าคส์ ดัวญง อาจมองเด็กอย่างอุดมคติอยู่บ้าง แต่เขาเชื่อในความเป็นตัวของตัวเองของเด็ก และเขาพร้อมจะรับฟังการตัดสินใจของเด็ก ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิดก็ตาม ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะต้องมาคอยตัดสินความถูกต้อง เด็กในหนังของ ดัวญง กล้าตอบโต้กลับ ชกกลับ ตีกลับ ด่ากลับ กัดตอบพ่อแม่ ผู้ปกครอง (ดัวญง ชอบใส่ฉากผู้ใหญ่กำลังวิ่งไล่ตามเด็กที่วิ่งหนี)
ถ้าเทียบกับ Maurice Pialat เด็กในหนังของ ดัวญง ดูเหมือนจะมีจิตใจแข็งแกร่งกว่า และมีความหวังรออยู่ข้างหน้ามากกว่า ในแง่นี้เขาจึงไม่สามารถตอบแทนใจพวกคนดูหนังกลุ่มที่มองโลกในแง่ร้ายสุดโต่งได้
เกี่ยวกับงาน Workshop Jacques Doillon เมื่อวาน (วันที่ 4 พ.ย.) อาจารย์ เจอราร์ด ฟูเกต์ คอหนังรุ่นลายครามที่เคยทำวิทยานิพนธ์หนังไทย แกใจดี เห็นหน้าแกมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ซึ้งใจแกที่สุดก็ตอนนี้ แกพยายามแปล และอธิบายความให้มากกว่าล่ามที่แปล แกย้ำว่าใน Ponette ดัวญง ทำหนังเกี่ยวกับเด็ก “โปแน็ตต์” ไม่ใช่ทำหนังเกี่ยวกับตัวเขาเอง
เห็นได้ชัดว่า อาจารย์ เจอราร์ด ฟูเกต์ แกพยายามหวังดีอยากจะช่วยเด็กนักศึกษาภาพยนตร์ โดยเฉพาะเด็กวารสาร ธรรมศาสตร์ที่ระบบการศึกษาด้านภาพยนตร์ขุนไม่ขึ้น แม้ว่าจะมีความตั้งใจดีอุตส่าห์ดูหนังมาตั้ง 1 เรื่อง คือ ทุกคนดูมาแต่ Ponette (นี่เราคาดเค้นเด็กมากเกินไปใช่ไหม? แล้วทำไมผู้กำกับคนหนึ่งต้องถูกตัดสินด้วยหนังเรื่องเดียวเสมอ? หนังชีวิตผู้ใหญ่เขาก็ทำ และทำได้ดีด้วย อย่าง Raja, L'amoureuse หรือ The Woman Who Cried)
พระเจ้าช่วย คำถามของตายจากนักศึกษาที่เตรียมมาถาม “คุณได้แรงบันดาลใจในการทำหนังมาจากไหน”, “ทำไมชอบใช้ลองเทคและโคลสอัพ” (สองอันนี้ยังพอไหว), แต่อันนี้ “Ponette พูดเรื่องความตาย ปรัชญาของใครที่เป็นแบบอย่างให้คุณในการทำหนังเรื่องนี้ ใช่นักปรัชญาแบบ Aristotle ไหม” (กรี๊ด ฉลาดจังคำถามนี้)
โถ หนังเกี่ยวกับคน คุยกันเรื่องสัมพันธ์แบบคนได้ไหม ลากกันไปแต่เรื่องเปลือก
พอ ดัวญง แกเอ่ยขึ้นมาเองว่า ไม่ยักมีใครสนใจเรื่องประเด็นของคนหรือเรื่องแอ็คติ้งสักเท่าไร อาจารย์ เจอราร์ด ฟูเกต์ แกเลยได้ทีย้ำสะใจว่า น่าผิดหวังที่ แผนกสอนภาพยนตร์ทำไมไม่มีหน่วยนี้ สอนกันแต่เรื่องเทคนิค เรื่องกล้อง (สองพิธีกรดูจะสนใจจอมอนิเตอร์ที่ถ่ายภาพ ดัวญง และล่ามบนเวทีมากกว่าจะสนใจฟังสิ่งที่ ดัวญง พูด) อนิจจัง ปลง วันถัดไปพวกนี้ก็คงลืม ดัวญง แล้ว แล้วรอดู Avatar 2
ดัวญง - มาย ฮีโร่ มาเมืองไทยทั้งที มีคนต้อนรับเยอะ แต่ใครบ้างที่ดูหนังเขาจริง ๆ ฟิล์มไวรัส ก็เคยหอบฟิล์มหนังเขามาฉายตั้งหลายเรื่อง (ม้วนฟิล์มหนักนะม้วน ๆ หนึ่ง) ทั้งหนังสารคดี Jacques Doillon: Words and Emotion เราก็เคยฉายในงาน 13 ปีดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ แต่ไม่เคยมีคนสนใจมากเท่านี้ ทั้งที่หนังก็หนังเรื่องเดียวกัน
Post a Comment