6/4/11

หรรษาประสาอิตาลีกับ MARIO MONICELLI ที่เทศกาล MOVIEMOV 2011

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com



ยิ่งใหญ่และน่าสนใจกว่าทุก ๆ ปี สำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์อิตาลี ประจำปี ค.ศ. 2011 นี้ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน ณ โรงภาพยนตร์ SFX CINEMA ชั้น 6 ศูนย์การค้า EMPORIUM ซึ่งทางสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย พร้อมแนวร่วมทั้งหลายได้ผนึกกำลังกันขนหนังเด่นหนังดีมาให้ผู้ชมชาวไทยได้ดูกันถึงที่ โดยกิจกรรมนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะวัฒนธรรมอิตาลีทั้งยังมีการตั้งชื่อใหม่ให้ฟังดูเก๋ไก๋ว่า MOVIEMOV ครั้งที่ 1 ซึ่งก็นับเป็นงานอีกที่บอกได้วลีเดียวว่า ‘จงไป’ เพราะนอกจากจะฉายพร้อมคำบรรยายภาษาไทยแล้วทุกเรื่องยังเชิญชวนให้ดูแบบฟรี ๆ ชนิดมิต้องออกแรงควักกระเป๋าซื้อตั๋วกันเลยทีเดียว ใจดีกันถึงขนาดนี้หากจะมีการแจก panini กับ macchiato ให้ได้ดื่มเคี้ยวกันในโรงด้วยนี่ก็คงไม่แปลกใจ เพราะผู้จัดงานเขาเหมือนตั้งใจจะให้บริการกันแบบไม่ยอมให้เราต้องหมดเปลืองแม้แต่สลึงเฟื้องเดียวเลยจริง ๆ
เหลียวดูโปรแกรมหนังที่จะนำมาฉาย นอกเหนือจากหนังอิตาลีของผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากเทศกาลต่าง ๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนก็มีอันต้องสะดุดตากับกิจกรรมในสาย Classic Retrospective ที่เป็นการเปิดเวทีสดุดีผลงานของ Mario Monicelli ผู้กำกับที่เพิ่งจะลาจากโลกนี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลาย จนอดไม่ได้ที่จะต้องขอออกหน้าอาสาเป็นกองเชียร์ชักชวนผู้ที่สนใจทั้งหลายให้ได้ลองสัมผัสกับงานของหนึ่งในปรมาจารย์ด้านการทำหนังตลกรายสำคัญของโลกท่านนี้ดู Mario Monicelli เป็นผู้กำกับเพียงไม่กี่รายที่สามารถสร้างงานที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการตลาดและการกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ในฐานะงานศิลปะ จากผลงานหนังขนาดยาวจำนวน 50 กว่าเรื่องที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ. 1950 - 2006 Monicelli มีทั้งหนังที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมจนต้องทำออกมาเป็นภาคต่ออย่าง Totò Looks for an Apartment (1950) Big Deal on Madonna Street (1958) For Love and Gold (1966) กับ My Friends (1975) พร้อม ๆ กับการเป็นผู้กำกับมือรางวัลเจ้าของรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสจากเรื่อง The Great War (1959) ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีหนังเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ถึง 5 วาระ แถมยังจะเคยคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินมาแล้วถึง 3 เด้ง เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้งานของ Monicelli สามารถชนะใจได้ทั้งในหมู่ผู้ชม นักวิจารณ์ รวมทั้งคณะกรรมการก็คือ หนังของเขาเป็นงานที่สนุกและดูง่ายจนแทบไม่ต้องป่ายปีนกระได หากยังแฝงไว้ด้วยเนื้อหาสาระที่สะท้อนธรรมชาติทั้งด้านดีและร้ายของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งคมคายไม่แพ้ผู้กำกับชื่อดังรายอื่นไหนเลย งานของเขาจึงน่าจะใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีว่าสาระและความบันเทิงมิใช่สองสิ่งที่จำเป็นจะต้องเดินสวนทางกัน ทุกอย่างมันขึ้นกับ ‘ฝีมือ’ ของคนทำมากกว่าว่าจะรักษาองค์ประกอบสองส่วนนี้ได้อย่างเข้มข้นแค่ไหน ดังที่ Monicelli ได้เคยแสดงไว้ในผลงานหลาย ๆ ชิ้นของเขา
สำหรับงานเทศกาล MOVIEMOV ครั้งนี้ก็จะมีหนังของ Mario Monicelli มาฉายให้ดูจำนวนทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนก็ขอถือโอกาสหยิบเอาผลงานจำนวน 4 เรื่องที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูแล้วมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านที่อาจยังไม่ได้ดูได้รับฟัง สำหรับงานเทศกาล MOVIEMOV ครั้งนี้ก็จะมีหนังของ Mario Monicelli มาฉายให้ดูจำนวนทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนก็ขอถือโอกาสหยิบเอาผลงานจำนวน 4 เรื่องที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูแล้วมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านที่อาจยังไม่ได้ดูได้รับฟัง ว่าหนังของ Monicelli จะมีมุกกวน ๆ ฮา ๆ แบบไหนอย่างไรมาให้เราได้หัวร่องอหายกันบ้าง . . .

BIG DEAL ON MADONNA STREET (1958)



หนึ่งในหนังที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดของ Mario Monicelli เรื่องนี้ยังมีดีกรีเป็นหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี ค.ศ. 1959 อีกด้วย Big Deal on Madonna Street เป็นหนังที่จะพาเราไปติดตามเบื้องหลังการทำงานของกลุ่มโจรกระจอกที่วางแผนจะจารกรรมเงินในตู้นิรภัยของโรงรับจำนำของรัฐบาล โดยพวกเขาจะบุกผ่าน apartment หลังที่อยู่ติดกันในยามวิกาลด้วยการงัดแงะและเจาะผนังโดยปราศจากเสียงดังเพื่อแอบเข้าไปยังจุดเก็บเงิน ซึ่งจอมโจรทั้งสี่นี้ก็ประกอบไปด้วย Peppe (Vittorio Gassman) อดีตนักมวยหนุ่มผู้ตกอับ Tiberio (Marcello Mastroianni) หัวขโมยพ่อลูกอ่อน Capannelle (Carlo Pisacane) โจรชราจอมตะกละ และ Ferribotte (Tiberio Murgia) ลูกสมุนหนวดงาม และแม้ว่าพวกเขาจะวางแผนการต่าง ๆ ไว้อย่างดิบดีเพียงไร แต่ความเฟอะฟะไม่เอาไหนของพวกเขาก็มีอันต้องทำให้อะไร ๆ ต้องผิดแผนได้เสมอ
ความเจ็บแสบของ Big Deal on Madonna Street คงไม่ได้อยู่ที่วิธีการที่เหมือนจะแยบยลของจารชนกลุ่มนี้ แต่กลับอยู่ที่การนำเสนอตัวละครของ Monicelli ที่แสดงความเป็น ‘มิจฉาชีพ’ ของพวกเขาราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่สืบทอดทางสายเลือดและมันอาจเป็นครรลองชีวิตเพียงรูปแบบเดียวที่พวกเขาสามารถยึดถือได้ในสภาวการณ์อันโหดร้ายของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น หนังจงใจถ่ายทอดให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของแหล่งชุมชนแออัดในกรุงโรมกันอย่างตรงไปตรงมา ชวนให้รู้สึกว่าคนอิตาลีนี่เขาช่างกล้าเปิดเผยความเป็นไปในแง่ร้ายของบ้านเขาเมืองเขาให้เราได้ดูกันอย่างจริงใจโดยไม่ต้องเสียเวลามาสร้างภาพอะไรกันให้เหนื่อยเพลีย หนังเกี่ยวกับจอมโจรมาเฟีย หรือนักการเมือง corruption ทั้งหลาย จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปอวดโฉมในเวทีระดับนานาชาติได้ ไม่ยักกะเหมือนบ้านเราเลยสักนิด Monicelli เล่าเรื่องราวทั้งหมดใน Big Deal on Madonna Street ด้วยบทสนทนาที่ช่างคิดช่างหาแก๊กมาได้อย่างสุดยียวน ชวนให้ต้องส่ายหัวไปกับความบ้าบอคอแตกของเหล่าตัวละครกลุ่มนี้ และถึงแม้ว่าหนังจะสร้างมาแล้วกว่า 50 ปี แต่เนื้อหาและความฮาของมันกลับไม่มีอะไรตกสมัยไปกับกาลเวลาเลย

THE GREAT WAR (1959)



ถัดจาก Big Deal on Madonna Street เพียงหนึ่งปี Monicelli ก็มีโอกาสทำหนังแดกดันสงครามเรื่อง The Great War ที่ได้นักแสดงคู่บุญอย่าง Alberto Sordi มารับบทคู่กับ Vittorio Gassman หนังได้เข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส และสามารถคว้ารางวัลใหญ่อย่างสิงโตทองคำมาได้พร้อม ๆ กับเรื่อง Generale della Rovere (1959) ของ Roberto Rossellini สำหรับใน The Great War นี้ Monicelli ได้เล่าถึงประสบการณ์ในกองทัพของสองหนุ่ม Oreste (Sordi) และ Giovanni (Gassman) ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารอย่างไม่เต็มใจในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งสันดานของการเป็นคนหัวใสของทั้ง Oreste และ Giovanni ก็ทำให้พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะหนีห่างจากภารกิจจำเป็นในครั้งนี้ แต่ฟ้าก็ยังอุตส่าห์ลิขิตให้พวกเขาไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ แถมยังต้องเสี่ยงอันตรายไปร่วมรบในแนวหน้าคอยหลบห่ากระสุนจากข้าศึกกันอย่างอุตลุดอลเวง
หนังเริ่มต้นด้วยเนื้อหาแนว ‘กองพันทหารเกณฑ์’ เล่าเรื่องราวสนุกสนานของทหารใหม่ในกองทัพกันอย่างเบาสมอง ก่อนที่ประสบการณ์ของทั้ง Oreste กับ Giovanni จะค่อย ๆ นำพาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวสะเทือนใจ เมื่อพวกเขาต้องเสียเพื่อนร่วมรบไป แถมยังจะได้เจอกับภรรยาของทหารกล้ารายนั้นโดยบังเอิญที่สถานีรถไฟในภายหลัง โทนหนังในช่วงนี้จะค่อย ๆ ทวีความจริงจังผ่านการตั้งคำถามต่อความไร้สาระของสงครามมากขึ้น ๆ ซึ่งก็จะนำไปสู่บทสรุปอันน่าใจหายที่อาจจะพัฒนาจากความตลกโปกฮาไปเสียไกลจนไม่น่าจะมีใครกล้าหัวเราะได้อย่างเต็มเสียงอีก เรื่องราวที่อิงกับบริบทของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในบางช่วงอาจเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจสำหรับผู้ชมชาวไทย แต่เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของ The Great War ก็ยังสากลพอที่ ‘คนนอก’ อย่างเรา ๆ จะสามารถร่วมสัมผัสและเข้าใจไปกับความรู้สึกเจ็บปวดเหล่านั้นได้ จนกลายเป็นหนังตลกที่ชวนให้ขื่นใจได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของ Monicelli เลยทีเดียว นอกจากจะได้รับรางวัลสิงโตทองคำมาแล้ว The Great War ยังติดโผเป็นหนึ่งในหนังที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี ค.ศ. 1960 เช่นเดียวกับ Big Deal on Madonna Street อีกด้วย

AN AVERAGE LITTLE MAN (1977)



แม้จะสร้างมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Vincenzo Cerami แต่ An Average Little Man ฉบับหนังนี้ก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็น Monicelli ไม่แพ้หนังที่เขาเขียนบทเองเรื่องอื่น ๆ เลย An Average Little Man เราเรื่องราวขำขันของ Giovanni (รับบทโดยขาประจำ Alberto Sordi ) เจ้าหน้าที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ปลดเกษียณ ณ หน่วยราชการแห่งหนึ่ง ผู้ซึ่งอาศัยอยู่กับภรรยาและบุตรชายในกรุงโรม เมื่อบุตรชายอายุถึงวัยที่จะได้ออกทำงาน Giovanni จึงวาดฝันที่จะให้เขาเจริญรอยตามความสำเร็จที่คุณพ่อได้ปูทางเอาไว้ในที่ทำงานแห่งนี้ ด้วยการพยายามทำทุกวิถีทางที่จะดันให้ทายาทของตัวเองสามารถช่วงชิงตำแหน่งเก้าอี้นักบัญชีที่มีผู้สนใจสมัครกันเป็นจำนวนหลักพันให้จงได้
หนังใช้เรื่องราวของ Giovanni มาตีแผ่เบื้องหลังการทำงานของหน่วยราชการในอิตาลี ที่โต๊ะทำงานของพนักงานแต่ละรายล้วนพะเนินเทินทึกไปด้วยกองเอกสารจากงานที่คั่งค้างซึ่งตั้งกองเอาไว้จนสูงท่วมหัว แถมตัวเจ้านายเองก็ดูจะห่วงกับปริมาณรังแคบนหนังศีรษะมากกว่าจะใส่ใจกับภาระงานตรงหน้า แต่ที่แสบเสียยิ่งกว่าก็คงเป็นการแฉถึงกระบวนการในการใช้เส้นใช้สายที่อาศัยความสนิทชิดใกล้มาเป็นเครื่องมือในการลำเลิกความเห็นใจจากผู้มีอำนาจทั้งหลายโดยไม่แคร์ถึงความยุติธรรม และแน่นอนว่าการจงใจลำเอียงช่วยเหลือกันเช่นนี้คงมิใช่สิ่งที่จะทำกันให้เปล่า ๆ ได้ คุณพ่อ Giovanni จึงจำใจต้องละศักดิ์ศรีของตัวเองทิ้งไป ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้มีอนาคตที่มั่นคง ณ สำนักงานแห่งนี้ แต่หลังจากที่หนังกัดแขวะการทำงานในระบบราชการของอิตาลีกันจนหนำใจ ก็จะถึงเวลา surprise ด้วยพลิกเรื่องราวไปสู่โหมดสะเทือนขวัญกันแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยการนำเสนอบุคลิกในอีกมุมด้านของ Giovanni ที่ถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องแสดงอารมณ์เบื้องลึกบางอย่างออกมา ซึ่งก็ต้องขอเชิญชวนให้ได้ลองติดตามกันด้วยตาตัวเองว่าเนื้อหาของมันจะพัฒนาจนเลยพ้นจากความคาดหมายได้ถึงขนาดไหน! หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี ค.ศ. 1977

THE MARQUIS OF GRILLO (1981)



หนังตลกย้อนยุคที่อ้างอิงจากชีวประวัติที่เล่าขานกันมาของขุนนาง Onofrio del Grillo ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมี Alberto Sordi รับบทเป็นขุนนาง Marquis del Grillo จอมทะเล้นที่เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องเล่นไม่เว้นแม้กระทั่งการปั่นหัวพระสันตะปาปา ขุนนาง Marquis del Grillo เป็นชายที่มีพร้อมทั้งสมบัติพัสถานและอำนาจสั่งการ แต่วัน ๆ เขากลับมุ่งหาความสำราญแกล้งคนโน้นแกล้งคนนี้โดยไม่เคยมีกะจิตกะใจจะดูแลราษฎร ความกะล่อนแบบไม่เกรงใจใครของ Marquis del Grillo อาจทำให้หลาย ๆ คนไม่ชอบขี้หน้า แต่เขาก็สามารถทำตัวเป็นพ่อปลาไหลเลื้อยมาเลื้อยไปจนใคร ๆ ก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทันเลยสักที ชนิดถ้าได้เจอกับคุณพี่ ‘ศรีธญชัย’ ก็คงจะควงแขนไปวัดไปวาด้วยกันได้ ค่าที่ต่างก็หัวหมอและช่างฉ้อในระดับพอ ๆ กัน
The Marquis of Grillo อาจเป็นหนังที่ สนุก ครื้นเครง โกลาหล และอลเวง ได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของ Monicelli เพราะดูเหมือนครั้งนี้เขาจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมสำราญกับเรื่องราวอย่างเต็มที่โดยไม่มีเรื่องหนัก ๆ ให้ต้องเสียจังหวะความฮา แต่สุดท้ายเนื้อหาของมันก็ยังอุตส่าห์สะท้อนสัจธรรมได้ประการหนึ่งว่า ลักษณะของการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้นั้นบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยคุณธรรมจริยธรรม เพียงสามารถทำตัวกะล่อนยอกย้อนปลิ้นปล้อนเล่นละครจนมะกอกร้อยตะกร้าก็ปาไม่ถูกเท่านั้น ก็คงไม่มีวันที่ใครจะทำอะไรได้ตราบใดที่พวกเขาฉลาดพอ ดั่งที่จะเห็นจากกรณีของพ่อขุนนาง Marquis of Grillo รายนี้เป็นต้น หนังเรื่องนี้ได้เข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินและคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่สามจากเวทีนี้แก่ Monicelli หลังจากที่ Like Father, Like Son (1957) กับ Caro Michele (1976) เคยทำสำเร็จมาก่อนแล้ว

สำหรับภาพยนตร์อีก 3 เรื่องที่เหลือที่ฉายในโปรแกรมนี้ บางเรื่องนี่ต้องขอเตือนไว้เลยว่าอาจยังไม่สามารถหาดูในรูปแบบ DVD หรือ VDO ที่มีคำบรรยายภาษาใด ๆ ได้ เพราะฉะนั้นหากคุณผู้อ่านสนใจจะชมเรื่องไหนก็ขอให้รีบติดต่อสำรองที่นั่งกันที่ moviemovitalfilm2011@gmail.com อย่างเร็วไว เพราะของดี ๆ ฟรี ๆ แบบนี้มีหรือที่ใคร ๆ จะไม่อยากดู!

ติดตามรายละเอียดโปรแกรมเทศกาล MOVIEMOV ทั้งหมดได้ที่
http://www.thaitch.org/news/moviemov-bangkok-italian-film-festival-2011


No comments: